Image
โลกธรณี โตนงาช้าง
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“โตน” ภาษาพื้นถิ่นใต้หมายถึงน้ำตก
ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คือที่ตั้ง “โตนงาช้าง”

น้ำตกใหญ่เจ็ดชั้น มีชื่อต่างกันในแต่ละชั้น สวยสุดคือชั้น ๓ เป็นที่มาของความภาคภูมิของ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง” เด่นด้วยทางน้ำสองสายไหลแรงเป็นลำยาวสีขาวโพลน ชวนจินตภาพถึง “งา” ของเจ้าป่าที่อาศัยร่วมกับสรรพสัตว์น้อยใหญ่อีกกว่า ๒๐๐ ชนิด

โลกจริงของสัตว์ป่า งาอันแข็งแกร่งคือชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อ การถ่ายเทของสายน้ำที่ไหลลงปะทะกับมวลน้ำในแอ่งพื้นทรายด้านล่างอย่างต่อเนื่องก็ให้ความรู้สึกนั้น หนาแน่นแต่จับไม่ได้ และงาสองข้างไม่เคยเท่ากันในแต่ละวัน ข้างใดจะสั้นหรือมีรูปร่างกลมกว่าอีกข้างขึ้นอยู่กับธรรมชาติอยากรังสรรค์

แปลกที่หินแกรนิตของภูผาก็พลอยมีลักษณะ-สีสันดั่งหัวช้างขนาดใหญ่

ชั้นหินสำคัญโดยมากคือหินไบโอไทต์-มัสโคไวต์แกรนิต หินแอไพลต์ และหินเพกมาไทต์ เนื้อละเอียดถึงเนื้อหยาบ เนื้อดอก แร่ดอก ส่วนใหญ่เป็นโพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ที่มีรูปผลึกชัดเจน

โขดหินน้อยใหญ่ทั่วบริเวณ ยามแดดจัดจะเห็นเป็นสีเทาปรากฏร่องแตกตามวิถีธรณี คล้ายผิวหนังหนาของช้าง
ที่เต็มไปด้วยรอยย่น ยามต้องน้ำจะเห็นเป็นหินสีดำขลับไม่ต่างจากหนังช้างสุขภาพดีที่ลื่นมากแต่ก็แห้งเร็ว เพียงเดี๋ยวก็สลับเป็นหนังช้างผิวด้านกร้านแดด

หากใครฝ่าป่าดิบชื้นขึ้นสู่จุดสูงสุดของยอดเขาที่ ๙๓๒ เมตรจากระดับน้ำทะเล มองทิศตะวันออกจะเห็นทัศนียภาพแปลกตาของหน้าผาสูงชัน และมองเห็นทะเลสาบสงขลาได้

แต่เส้นทางสู่สันหลังช้างไม่ง่าย เพราะช้างป่าไม่เหมาะจะมีควาญช้าง