Image
ประโยชน์ของความเหงา
วิทย์คิดไม่ถึง 
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
คนยุคนี้ส่วนใหญ่คุ้นเคยดีกับความเชื่อที่ว่า คนเป็น “สัตว์สังคม” และต้องการอยู่เป็นหมู่เหล่า เพราะช่วยให้เอาตัวรอดได้ดีกว่าอยู่คนเดียว โดยเฉพาะในสิ่งแวดล้อมแบบบุพกาล  ความคุ้นชินที่ว่านี้ทำให้หากมีใครสักคนที่รักสันโดษแยกตัวไปอยู่คนเดียว ก็อาจจะโดนมองว่าผิดปรกติ
ถ้าความต้องการอยู่เป็นหมู่เหล่าเป็นเรื่องดี แล้วทำไมผู้คนยังคงรู้สึก “เปลี่ยวเหงา” ?

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ลักษณะที่มองเห็นได้ง่ายคืออวัยวะต่าง ๆ และลักษณะที่มองไม่เห็นคือนิสัยใจคอและพันธุกรรมต่าง ๆ ซึ่งถ่ายทอดต่อไปให้ลูกหลาน ไม่ตกหล่นสูญหายไปไหนนั้น พวกนักชีว-วิทยาเชื่อว่ามันต้องมีประโยชน์อะไรบางอย่างเสมอ ไม่เช่นนั้นก็น่าจะโดนกำจัดหมดไปแล้ว

มีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนว่าการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มมีประโยชน์มากจึงเป็นลักษณะที่ “ฝัง” อยู่ในเนื้อในตัว มีกลไกทั้งทางระบบประสาท ฮอร์โมน และพันธุกรรมที่สนับสนุนความเป็นสัตว์สังคม

ยกตัวอย่าง คนปรกติเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็อยากมีคู่ทั้งนั้น เห็นเพศตรงข้ามแล้วขนลุกเอาง่าย ๆ เพราะโดนขับดันด้วยพลังของฮอร์โมน  ถ้าให้เลือกได้คนทั่วไปน่าจะเลือกอยู่กันเป็นหมู่เหล่า เป็นเผ่า หรือเป็นชุมชนมากกว่าจะแยกตัวออกไปอยู่คนเดียว

อย่างน้อยคนก็ต้องอยากมีคู่

อันที่จริงนักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่าการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ขนาดใหญ่นี่เองที่ทำให้เราอยู่รอดมาได้ ขณะที่พี่น้องใกล้ชิดในสกุล โฮโม ของเราล้มตายหายสาบสูญหมดแล้ว  เรื่องนี้รวมความสามารถในการสื่อสารด้วย เพราะช่วยให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะเริ่มสงสัยว่า อารมณ์ที่ส่งผลร้ายรุนแรงอย่าง “อารมณ์เหงา” ที่ทำให้เจ็บปวดใจ ยิ่งถ้าเป็นบ่อย ๆ หรือนาน ๆ ก็ถึงกับก่อให้เกิดอาการแพ้หรือมีภูมิต้านทานลดลงได้ รวมทั้งนำไปสู่อาการเจ็บป่วยสารพัด ตั้งแต่โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง หรือแม้แต่ความจำเสื่อม

ทำไมอารมณ์เช่นนี้จึงยังหลงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ?
Image
ผลเสียที่กล่าวมาอาจจะเพิ่งมาแสดงร้ายแรงในยุคหลัง ๆ ก็เป็นได้ ขณะที่การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมก็ไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป

การอยู่ร่วมกันแม้จะทำให้มีโอกาสหาและแบ่งอาหารมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องมีการแย่งชิงทรัพยากรในกลุ่มด้วยเช่นกัน  ปรากฏการณ์แบบนี้เห็นได้ชัดในฝูงลิงหลายจำพวก ลิงที่มี “ลำดับชั้น” ต่ำกว่า ซึ่งก็รวมไปถึงลูกของพวกมันด้วย จะได้กินทีหลังและในปริมาณน้อยกว่า จึงทำให้ไม่แข็งแรงและมีโอกาสรอดชีวิตน้อยกว่าตัวอื่นในฝูง

ข้อเสียอีกอย่างก็คือ การมารวมอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มยังทำให้แพร่กระจายเชื้อโรค เป็นโรคติดต่อได้ง่ายและบ่อยมากขึ้น ยิ่งอยู่กันหนาแน่นเท่าไร ความเสี่ยงก็ยิ่งมาก ยิ่งขนาดของกลุ่มใหญ่เท่าใดก็ย่อมเสี่ยงจากโรคร้ายแรงมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเท่านั้น

แต่นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่า ความเหงาอาจมีความสำคัญในแง่การเป็น “ปัจจัยผลักดัน” และเป็นตัวคอยป้องกันไม่ให้แต่ละคนอยากแยกตัวออกจากกลุ่ม จึงคงความเป็นกลุ่มและทำให้เกิดความร่วมมือกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การล่าสัตว์ โดยที่ความเจ็บปวดจากความรู้สึกว้าเหว่จะผลักดันให้เราเร่งสร้างสายสัมพันธ์เชิงสังคมขึ้นใหม่อีกครั้งเพื่อให้เราอยู่รอดได้ดีขึ้น

เรื่องนี้สำคัญต่อการสร้างความเชื่อใจ ความร่วมมือ และการทำเรื่องต่าง ๆ ด้วยกัน

สรุปว่าความเหงาอาจจะเป็น “สัญญาณทางชีวภาพ” คอยกระตุ้นให้เราโหยหาความสัมพันธ์แบบกลุ่มและเร่งสร้างความสัมพันธ์อีกครั้งให้เร็วที่สุด
นักประสาทวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่าร่างกายมนุษย์กระหายน้ำและอาหาร (มีสัญญาณทางเคมีออกมาจากเซลล์และเนื้อเยื่อว่าขาดน้ำหรืออาหาร) เพราะต้องการพวกมันมาหล่อเลี้ยงร่างกายส่วนความเหงาก็เป็นดัง “ความหิวทางสังคม” เพราะต้องการสายสัมพันธ์มาบำรุงเลี้ยงร่างกายเชิงสังคมเช่นกัน

น่าสนใจว่าเรื่องนี้ก็มีความย้อนแย้งอยู่ด้วย

ขณะที่ความเหงาส่งสัญญาณไปยังสมองว่าถึงเวลาที่ต้องสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ตัวอารมณ์เหงาเองก็กระตุ้นให้ระแวดระวังและคอยมองหาอันตรายจากการสร้างสัมพันธ์ไปพร้อม ๆ กัน เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่เราสร้างสัมพันธ์ด้วยจะดีหรือร้ายประการใดแน่

สัญชาตญาณแบบนี้อาจเรียกว่าเป็น “กลไกป้องกันตัวเองทางสังคม” ก็พอได้

สถานการณ์จะเป็นไปในแบบที่คุณอาจรู้สึกโดดเดี่ยว แม้จะมีคนอื่นแวดล้อมเต็มไปหมด เพราะจิตใต้สำนึกเกิดความกังวลใจว่า คนหรือกลุ่มคนที่คุณกำลังพยายามสร้างความสัมพันธ์ด้วยอาจไม่จริงใจ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องว่าไม่ได้ช่วยให้คุณอยู่รอดได้ดีขึ้น

เรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเหมือนกันหมด แต่ละคนมีระดับความเป็น “คนขี้เหงา” มากน้อยไม่เท่ากัน

อันที่จริงแล้วตัวกำหนดความเป็นคนเหงาง่าย ส่งผลร่วมกันทั้งพันธุกรรมของแต่ละคนและผลจากการเลี้ยงดู

มีงานวิจัยที่สรุปว่าปัจจัยทางพันธุ-กรรมรับผิดชอบต่อความขี้เหงาด้วย โดยอาจส่งผลกระทบราว ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์
แปลให้เข้าใจง่าย ๆ คือ แต่ละคนเกิดมาเป็นคนเหงาง่ายยากไม่เท่ากัน

ความเหงายังมีส่วนเชื่อมโยงอาการกระวนกระวายใจ ความซึมเศร้า โรคหัวใจหรือแม้แต่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
Image
สำหรับเรื่องการเลี้ยงดูนั้น พอจะคาดเดาได้ว่าเด็กที่ได้รับความเอาอกเอาใจมาก ก็มีโอกาสจะกลายเป็นคนรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวได้ง่ายมากขึ้นตามไปด้วยเมื่อโตขึ้น

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ แม้ว่าคนขี้เหงาฝันจะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น แต่ก็มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่จมอยู่กับความคิดฝันของตัวเอง ซึ่งก็จะยิ่งกระตุ้นให้รู้สึกเปลี่ยวเหงาเพิ่ม จนอาจถึงกับสิ้นหวังได้ กลายเป็นวงจรอุบาทว์วนไป

วิธีการแก้ไขคือต้องตัดวงจรดังกล่าว โดยออกมาพบปะเจอะเจอผู้คนและสร้างสายสัมพันธ์ให้มากขึ้น ทิ้งความกังวลเรื่องจะถูกหลอกไว้เบื้องหลัง

อีกเรื่องหนึ่งที่พบบ่อยคือ การรู้สึกโดดเดี่ยวไม่จำเป็นต้องเป็นเพราะแยกตัวออกมา เรารู้สึกโดดเดี่ยวได้แม้แต่ในยามที่ล้อมรอบด้วยผู้คน โดยพบบ่อยในกรณีของคนที่ต้องพบความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น นักศึกษาปริญญาตรีปี ๑ ที่ต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัยห่างไกลบ้านและครอบครัว หรือทหารที่เพิ่งเข้าประจำการและต้องออกปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ

ทั้งสองกลุ่มนี้อาจมีคนมากมายอยู่รอบตัวตลอดเวลา แต่ก็ยังรู้สึกเหงาอยู่ดี

หากเกิดอาการเหงาไม่มากและไม่บ่อยไม่มีอาการจมดิ่งอย่างฉุดไม่อยู่ ก็อาจเป็นเรื่องปรกติ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยจนส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวันก็ควรปรึกษาแพทย์
ไม่ควรรอให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นก่อน