Image
จ๋า-ณฐา ชัยเพชร ใช้แกระเกี่ยว “ข้าวหอมจันทร์” ข้าวพันธุ์พื้นถิ่นของสงขลา เพื่อนำไปบริโภคและเก็บรักษาไว้ในธนาคารเมล็ดพันธุ์
ข้าวไร่สงขลา
ห้องเรียนท้องนาบ้านคลองยอ
SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : ภูวมินทร์ อินดี
ไร่ข้าวขนาดราว ๒ ไร่ ซ่อนตัวอยู่หลังเนินเขา ห้อมล้อมด้วยสวนปาล์มและป่ายาง ข้าง ๆ กันมีแปลงผักสวนครัวและศาลาหลังเล็กสำหรับพักหลบแดด  ที่นี่คือห้องเรียนท้องนาบ้านคลองยอ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรพื้นบ้านและการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่น
“ปีนี้เราปลูกข้าวช่อขิง ข้าวช่อลุง  ที่เห็นรวงสุกเต็มที่สีน้ำตาลแดง ๆ นั่นคือข้าวที่เราจะมาเก็บวันนี้ ชื่อสายพันธุ์ว่าข้าวหอมจันทร์” ณฐา ชัยเพชร หรือ “จ๋า” เกษตรกรพื้นบ้านวัย ๕๓ ปี ผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้แนะนำเรากับข้าวทั้งสามสายพันธุ์

จ๋าเริ่มต้นการเกี่ยวข้าวด้วยการสวดขอขมาพระแม่โพสพก่อนจะคว้า “แกระ” เครื่องมือเกี่ยวข้าวดั้งเดิมของภาคใต้ที่เป็นกระดานสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดพอดีฝ่ามือด้านหนึ่งติดใบมีดยาวสัก ๕ เซนติเมตร มีด้ามเสียบขวางกับอีกด้านเป็นด้ามจับมือขวาเธอถือแกระด้วยสามนิ้วส่วนอีกสองนิ้วคือนิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือคว้าจับรวงข้าวมาทาบกับคมมีดของแกระเพื่อตัดข้าวไปทีละรวง ๆ อย่างคล่องแคล่ว มืออีกข้างคอยกำรวงข้าวที่ตัดแล้วรวมกันพอเต็มกำมือเธอก็หมุนควงมัดรวงข้าวทั้งกำด้วยลำต้นข้าวนั้นเอง

“ที่ภาคใต้มีที่ราบลุ่มไม่มาก เกษตรกรเลยเลือกปลูกพันธุ์ข้าวไร่ ขนาดแปลงไม่ใหญ่ พันธุ์ข้าวไร่พื้นบ้านของเราจะมีลำต้นสูง พอข้าวสุก น้ำหนักของรวงข้าวจะทำให้ข้าวล้มราบลง เราจึงต้องค่อย ๆ เก็บทีละรวง พอได้หนึ่งมัดแบบนี้จะเรียกว่า ‘เรียง’ เพราะเราจะเอามัดข้าวไปวางเรียงกันที่คันนาตากแดดให้แห้ง ไล่ความชื้นก่อนเก็บเข้าเรินข้าว (ฉางข้าว)” จ๋าอธิบายวิธีการเก็บข้าวแบบพื้นบ้านภาคใต้ให้เราฟังขณะสองมือยังเก็บข้าวไปเรื่อย ๆ

เรียงข้าวที่วางเรียงราย ส่วนหนึ่งจะใช้บริโภคในครัวเรือน อีกส่วนหนึ่งคัดพันธุ์เก็บไว้ในธนาคารเมล็ดพันธุ์ของเครือข่ายเพื่ออนุรักษ์ให้พันธุกรรมข้าวท้องถิ่นยังคงอยู่

“ถ้าถามว่าเรามาทำงานอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านได้ยังไง ต้องย้อนกลับไปเกือบ ๒๐ ปี สมัยนั้นเรายังไม่มีแปลงข้าวของตัวเอง อาชีพหลักทำสวนยางแบบพืชเชิงเดี่ยวคือไถพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่ต้นยางออกหมด จนปี ๒๕๔๗ เราเข้าร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ภายใต้มูลนิธิเกษตรยั่งยืน ได้ไปอบรมเรื่องเกษตรผสมผสาน การปลูกป่าร่วมยาง ได้รู้ว่าจริง ๆ เราปลูกพืชชนิดอื่นควบคู่กับยางได้ ก็เลยลองไม่ไถสวนยาง ๒ ปี แค่เราทิ้งไว้ไม่ไปยุ่ง ในสวนก็มีพืชต่าง ๆ ค่อย ๆ งอกเงยขึ้นมาเอง”
Image
 ข้าวช่อขิง ข้าวช่อลุง และข้าวหอมจันทร์ ข้าวสามสายพันธุ์ ออกรวงสีเหลืองทองรอเก็บเกี่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนได้มาเรียนรู้การดำนาและเกี่ยวข้าว
พันธุ์พืชบางส่วนอาจอยู่ในดินตรงนั้นอยู่แล้ว บางส่วนอาจมีนกมีแมลงพามาจากพื้นที่โดยรอบ เพียงแค่มนุษย์ไม่เข้าไปขัดขวาง ระบบนิเวศก็มีหนทางฟื้นฟูตัวเองกลับมา

“จากเดิมที่เราทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำสวนยางอย่างเดียว ความคิดเราก็เปลี่ยนไป ใช้เวลาแค่ ๒ ปี สวนเราก็มีพืชผักมากมายหลายชนิด อยากกินแกงเลียง แกงจืด หรือหาผักมาจิ้มน้ำพริก ก็เก็บได้ในสวนในไร่ของเราเอง” เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจเรื่องพันธุกรรมพืชท้องถิ่นในชุมชน
Image
ช่วงปี ๒๕๔๙ จ๋าเดินทางไปที่จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเรียนรู้เรื่องการคัดสายพันธุ์ข้าวกับ “มูลนิธิข้าวขวัญ” ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น รวมถึงอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวและพืชพื้นบ้าน

“เราเห็นความสำคัญของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านมากขึ้น ว่าคือพันธุกรรมที่ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและระบบนิเวศของบ้านเรา พอกลับมาสงขลาก็เลยชักชวนพี่น้องเกษตรกรที่อำเภอสะบ้าย้อยขับเคลื่อนเรื่องข้าวอินทรีย์ รวบรวมพันธุ์ข้าวที่สมาชิกเครือข่ายปลูก พันธุ์ข้าวไร่เราได้มา ๑๔ สายพันธุ์ และถ้านับพันธุ์ข้าวนาด้วยก็อีกมากกว่า ๔๐ สายพันธุ์”

จ๋าอธิบายว่าคนใต้ปลูกข้าวไร่ไว้กินเอง มีเหลือถึงขาย ตอนเก็บเกี่ยวแต่ละบ้านจะแบ่งเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งไว้ใช้ปลูกปีต่อไป พันธุ์ข้าวที่แต่ละครัวเรือนถือครองอยู่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ถือเป็นพันธุกรรมของท้องถิ่นที่สืบต่อมายาวนาน

เครือข่ายของจ๋าใช้วิธีอนุรักษ์พันธุ์ข้าวผ่านการช่วยกันถือครองและรักษา สมาชิกคนหนึ่งจะถือครองข้าวพื้นบ้านอย่างน้อยสามสายพันธุ์ เป็นข้าวเบาหนึ่งสายพันธุ์ ข้าวกลางหนึ่งสายพันธุ์ และข้าวหนักหนึ่งสายพันธุ์ ซึ่งใช้เวลาปลูกสั้นยาวไม่เท่ากัน

“ข้าวเบาใช้เวลาปลูก ๔ เดือน ข้าวกลาง ๕ เดือน ข้าวหนัก ๖ เดือน ทำแบบนี้เพื่อให้สมาชิกทยอยเก็บเกี่ยวข้าวในไร่ของตัวเองได้ เดือนนี้เก็บพันธุ์หนึ่ง เดือนหน้าเก็บอีกพันธุ์หนึ่ง” จ๋าอธิบายพร้อมกับชวนให้เรากวาดตามองข้าวแต่ละสายพันธุ์ที่มีสีรวงแตกต่างกันไป

เป็นวิธีอนุรักษ์แบบบ้าน ๆ แต่ก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในงานบุญนมข้าวปี ๒๕๕๘ เมื่อข้าวที่ชุมชนนำมาถวายวัดเพื่อขอบคุณพระแม่โพสพมีเพียงแค่หกสายพันธุ์

“ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีบางคนอาจทิ้งไร่นาไปประกอบอาชีพอื่น หรือปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ แทน บางคนอาจเห็นข้าวที่ตนเองปลูกได้ผลผลิตไม่ดีเท่าของเพื่อนเลยทิ้งพันธุ์ข้าวตัวเองไปขอพันธุ์ข้าวเพื่อนมาปลูกแทนก็มี  ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจะค่อย ๆ ลดลง แล้วถ้าเราไม่ทำอะไรเลยพันธุ์ข้าวไร่พื้นบ้านก็อาจหายไปจนหมด”
Image
ข้าวเรียงวางคว่ำผึ่งแดดริมคันนาเพื่อไล่ความชื้น หากน้ำค้างเกาะมากจะเรียงข้าวหงายเพื่อให้ได้รับแสงแดดทั่วถึง
จ๋าและเครือข่ายจึงตามหาและรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ยังเหลืออยู่ในชุมชนอีกครั้ง นำมาปลูกและขยายจำนวนเมล็ดพันธุ์ รวมถึงติดต่อขอการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ  แต่ท้ายที่สุดจาก ๑๔ สายพันธุ์ที่เคยนับได้ ก็รักษาไว้ได้ ๑๒ สายพันธุ์ แต่มี ๒ สายพันธุ์ที่ไม่เหลือเมล็ดให้ปลูกต่อ และสูญหายไปจากสงขลา

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จ๋าและเครือข่ายจึงวางแผนงานใหม่ เพื่อให้ไม่มีข้าวพันธุ์ไหนต้องสูญหายไปอีก
Image
“ปี ๒๕๖๐ เครือข่ายที่อำเภอจะนะมาชวนเราระดมทุนทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ ทำงานร่วมกันกับเครือข่ายทั่วประเทศ ให้มีเงินกองกลางของธนาคารไว้ใช้ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากชาวบ้านมาเก็บรักษาไว้ มีผู้จัดการธนาคารคอยดูแล กระจายเมล็ดพันธุ์ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ที่เขาสนใจ ให้ช่วยกันปลูก ช่วยกันรักษา การดำเนินงานของเราจึงเป็นระบบมากขึ้น เราเก็บทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์ผัก พันธุ์พืชยืนต้นต่าง ๆ  ล่าสุดเราเปิดบ้านตัวเองเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์สาขาเทพา มีตู้เก็บความเย็นไว้ใส่ขวดโหลเมล็ดพันธุ์”

ปี ๒๕๖๓ กรมการข้าวมีโครงการสนับสนุนให้เกษตรกรกลับมาปลูกข้าว ทั้งข้าวไร่และข้าวนา เครือข่ายของจ๋าก็ได้รับการสนับสนุนเช่นกัน

“ตอนนั้นเครือข่ายเราเน้นที่การฟื้นฟูนาร้าง แจกเมล็ดพันธุ์ให้ชาวบ้านที่อยากปลูกข้าว กลับไปฟื้นฟูไร่นาที่ถูกทิ้งร้างในชุมชน ก็มีพี่น้องหลายคนสนใจ ทั้งในจังหวัดสงขลาและใกล้เคียง เราได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าวอยู่ ๒ ปี รวม ๆ แล้วขยายพื้นที่ปลูกข้าวไร่ได้มากกว่า ๗๐๐ ไร่”

เพื่อเฉลิมฉลองและกระชับมิตรเกษตรกรจากอำเภอต่าง ๆ จ๋าและเครือข่ายจึงจัดงานชิมข้าวใหม่ขึ้นที่อำเภอจะนะ ชวนเกษตรกรทั่วสงขลานำข้าวพื้นบ้านที่ปลูกมาแลกกันชิม และช่วยกันลงความคิดเห็นว่าข้าวท้องถิ่นสงขลาสายพันธุ์ไหนที่น่าสนใจ

“หลังจากชิมกันครบทุกหม้อ มีข้าวสามสายพันธุ์ที่น่าสนใจ คือ ‘ข้าวดอกขาม’ กับ ‘ข้าวดอกข่า’ เป็นสองสายพันธุ์ของจังหวัดอื่นที่เราได้เมล็ดพันธุ์มาปลูกที่อำเภอจะนะ ส่วนสายพันธุ์ที่ ๓ คือ ‘ข้าวดอกไม้’ ของสงขลาเอง ข้าวพันธุ์นี้เวลาหุงจะมีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้สด หอมมัน อร่อยมากเลย”

จ๋าเล่าว่าในบรรดาข้าวพื้นบ้านภาคใต้ด้วยกัน ข้าวดอกขามของชุมพรและข้าวดอกข่าจากกระบี่ ค่อนข้างมีชื่อเสียง มีปลูกกันแพร่หลาย และผ่านการวิจัยสายพันธุ์มาแล้ว แต่ข้าวไร่พันธุ์ดอกไม้ที่เครือข่ายของเธอจะผลักดันต่อนั้นยังไม่เคยผ่านการวิจัยทางโภชนาการ และไม่อยู่ในรายชื่อพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว

“จากการสำรวจของกรมการข้าว สงขลามีข้าวทั้งหมด ๑๒๒ สายพันธุ์ เป็นข้าวนา ๑๐๐ สายพันธุ์ ข้าวไร่ ๒๒ สายพันธุ์ เราปลูกข้าวดอกไม้มานานตั้งแต่สมัยคนเฒ่าคนแก่ในฐานะข้าวไร่ ซึ่งในฐานข้อมูลของกรมการข้าวมีแต่ข้าวนาชื่อ ‘ข้าวดอกไม้’ น่าเสียดายที่กรมฯ ไม่ได้เก็บเมล็ดหรือรวงข้าวไว้เลยเทียบไม่ได้ว่าเป็นข้าวพันธุ์เดียวกันไหม”

การส่งเสริมให้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านได้รับการศึกษาวิจัยถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้พันธุ์ข้าวได้รับการยอมรับ และนำไปสู่การอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน  ดังตัวอย่างช่วงที่จ๋าเข้าร่วมเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ในปี ๒๕๕๐ เธอคัดพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์ส่งให้มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนไปตรวจสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการโดยมหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในนั้นคือ “ข้าวพันธุ์ช่อขิง” ของสงขลา ได้ผลว่ามีสารโฟเลตสูง มีส่วนช่วยให้เด็กในครรภ์ไม่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ช่วยให้เด็กไม่พิการแต่กำเนิด

พอทุกคนได้รู้ถึงประโยชน์ ข้าวช่อขิงจากเดิมที่ใกล้จะสูญพันธุ์ก็ได้รับการยอมรับและปลูกอย่างแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน

จ๋าเองก็คาดหวังว่า “ข้าวดอกไม้” จะได้รับโอกาสเช่นเดียวกันนั้น
Image
 “ข้าวดอกไม้” ข้าวพื้นถิ่นของสงขลาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน 
Image
จ๋าทำงานเป็นแกนนำเครือข่ายเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่นมานานนับสิบปี แต่สิ่งที่เธออยู่ด้วยมานานกว่านั้นคือเด็ก ๆ

ตั้งแต่เริ่มทำป่าร่วมยาง ฟื้นฟูผักพื้นบ้าน เธอก็อยากให้เด็กรู้ว่าพืชผักเหล่านี้ไม่ใช่วัชพืช แต่เป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นที่สำคัญเป็นอาหารเลี้ยงปากท้อง เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางธรรมชาติ

“เด็กเล็ก ๆ ทุกคนชอบเล่นกับธรรมชาติ เวลาเราทำกิจกรรมก็จะส่งข่าวไปที่ กศน. ไปที่โรงเรียนในชุมชน ก็มีเด็ก ๆ มาเรียนรู้เรื่องเกษตรกับเราอยู่เรื่อย ๆ”

ห้องเรียนท้องนาบ้านคลองยอจึงเป็นผลพลอยได้หนึ่งจากความตั้งใจที่จะฝากฝังพันธุ์พืชในอุ้งมือเล็ก ๆ ของเด็กและเยาวชน โดยเจ้าอาวาสวัดในชุมชนมอบที่นาของทวดพื้นที่ ๒ ไร่ให้เธอมาทำกิจกรรม เพื่อให้ลูกหลานในชุมชนได้มาเล่นน้ำเล่นโคลน เรียนรู้การดำนาและเก็บข้าว แทนที่จะต้องพาเด็กไปทำกิจกรรมไกล ๆ ในต่างอำเภอ

จ๋าจะชวนเด็กมาสำรวจและบันทึกพันธุกรรมท้องถิ่นร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ฝึกเก็บเมล็ดพันธุ์ จดบันทึก สืบค้นต้นไม้ที่ไม่รู้จัก รวมถึงค้นหาข้อมูลสรรพคุณจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ

“ปี ๒๕๖๓ เราทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้าน ชุมชนคลองยอ กับมูลนิธิสงขลาฟอรั่ม รวมเด็กและเยาวชนจากครอบครัวเกษตรกรมาตั้งกลุ่มชื่อ ‘กลุ่มผักเหนาะ’ สำรวจบ้านคลองยอทั้งหมู่บ้าน ๑๓๐ ครัวเรือน พบผักพื้นบ้านมากกว่า ๑๕๗ ชนิด ตอนนี้เด็กกลุ่มผักเหนาะโตกันแล้ว หลายคนย้ายไปเรียนต่อที่ต่างอำเภอ แต่ข้อมูลที่เด็ก ๆ เป็นคนรวบรวมก็ผลิตเป็นหนังสือรวมผักพื้นบ้านของชุมชน เก็บไว้ส่งต่อให้น้องรุ่นต่อ ๆ ไปมาศึกษา”

นอกจากห้องเรียนท้องนาบ้านคลองยอแล้ว จ๋ากำลังพยายามร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ สร้างการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวให้เด็ก ๆ โดยเริ่มกับโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ โรงเรียนทางเลือกแบบมอนเตสซอรีในอำเภอนาทวี เป็นโรงเรียนแรก

“คุณครูโรงเรียนนี้สนใจการเรียนรู้เชิงนิเวศ เราทำกิจกรรมร่วมกับเด็กเล็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๑ ไปจนถึงประถมฯ โรงเรียนแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำสวนให้เด็กปลูกข้าวปลูกผัก เรียนรู้วิธีการดูแลรดน้ำ ปลายเทอมได้เรียนทำอาหาร แล้วก็ได้ชิมเมนูผักฝีมือตัวเอง  อย่างเทอมที่ผ่านมา เด็กได้ชิมรสชาติของผัก ๓๐ ชนิด ได้รู้ว่าชนิดไหนรสอะไร เปรี้ยว หวาน ฝาด ขม เผ็ด จืด”

เราอาจมีภาพจำว่าเด็กกับผักนั้นไม่ใช่ของคู่กัน แต่จ๋ายืนยันว่าการได้สนุกกับการเปลี่ยนผักมาเป็นอาหารด้วยมือตนเองนั้น ทำให้เด็กเปิดใจกับผัก ไม่ว่าจะเป็นข้าวยำทอด พิซซ่าหน้าผัก หรือเมนูอื่น ๆ เด็กก็จะกินหมดไม่มีเหลือ จ๋าคิดว่าในอนาคตโรงเรียนจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เพราะสามารถปลูกไร่เล็ก ๆ ดูแลไม่ลำบาก ถ้าจัดการดี ๆ ก็ได้ผลผลิตเพียงพอรักษาพันธุ์ข้าวให้คงอยู่ พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ด้วย
Image
นอกจากเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นของสงขลาแล้ว จ๋ายังรวบรวมพันธุ์ ข้าวพื้นถิ่นจากจังหวัดอื่นๆ มาศึกษาและอนุรักษ์ไว้
Image
ปัจจุบันเครือข่ายอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นของจังหวัดสงขลาเติบโตเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีผู้คนหลากหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม บางคนอาจเน้นเรื่องผักท้องถิ่น บางคนเน้นสมุนไพร บางคนเน้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน แต่ละคนโยงใยกันผ่านพืชพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้ ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อมอบให้ผู้อื่น

จ๋าเล่าว่าประเทศไทยมีกลุ่มและเครือข่ายอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นมากมาย ทำงานกันอย่างแข็งขัน มีการจัดงานมหกรรมเมล็ดพันธุ์สี่ภาคทุกปีเพื่อแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้ามพื้นที่ ข้ามภูมิภาค ทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ นำเมล็ดพันธุ์มาอนุรักษ์ต่อ รวมถึงมีงานทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์มอบให้ชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ

“สภาพภูมิอากาศในอนาคตจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน จะร้ายหรือจะดีเราไม่รู้ แต่ถ้าเราสามารถอนุรักษ์พันธุกรรมเหล่านี้ไว้ได้ รักษาความหลากหลายที่มีอยู่ในประเทศนี้ไว้ได้  ต่อให้เจอภัยพิบัติยังไง เราก็ยังมีเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกกล้าขึ้นมาใหม่ได้ เพราะเรามีข้าวพื้นบ้านของเราที่จังหวัดอื่นช่วยเก็บไวให้
“เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเราคนเดียว ไม่ใช่แค่จังหวัดตัวเอง แต่คือการรักษาสายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศร่วมกัน”