Image
ตึกประสูตทอง อาคารปูนหลังแรกของหาดใหญ่ โบราณสถานเชิงสัญลักษณ์ของตระกูลจิระนคร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของอาจารย์จีรวรรณ จิระนคร
บ้านจิระนคร ย้อนยุคหาดใหญ่
SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
แถบใจกลางเมืองหาดใหญ่ ที่ เป็นทิวตึกแน่นขนัดทุกวันนี้ ย้อนเวลาไป ๑๐๐ ปี ยังเป็นเพียงบ้านโคกเสม็ดชุน
รางรถไฟเป็นเส้นทางนำความเจริญเข้ามาและเป็นเส้นกั้นแบ่งเขตพื้นที่อันเหยียดยาว

แต่เดิมสถานีรถไฟชุมทางหาด-ใหญ่อยู่ที่อู่ตะเภา ทางด้านเหนือของที่ตั้งสถานีในปัจจุบัน แล้วย้ายมาเนื่องจากแถวอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่ม มักถูกน้ำท่วม ชาวบ้านก็ย้ายตามมาตั้งหลักแหล่งหนาแน่นขึ้น  การก่อตัวของเมืองหาดใหญ่กระทั่งขยับขยายกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ตั้งต้นเมื่อมีสถานีรถไฟเกิดขึ้นนี้เอง

คนที่มองเห็นการณ์ไกลย่อมขยับตัวไวได้ก่อน ทั้งด้วยการจับจองและซื้อที่ดินแปลงใหญ่จากคนท้องถิ่นเดิม ซีกิมหยง และเจียกีซี เป็นสองในสี่บุคคลที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้ ครอบครองที่แปลงใหญ่ ๆ และมีส่วนสร้างเมืองหาดใหญ่ให้เจริญรุดหน้า สร้างอาคารให้เช่า สร้างตลาด ตัดที่ดินแบ่งขาย วางผังเมือง ตัดถนนสายใหม่ ๆ

ถนนธรรมนูญวิถีที่พุ่งออกไปจากสถานีรถไฟก็เริ่มสร้างในสมัยนั้น ซึ่งมีชื่อเดิมตามนามของผู้สร้างว่าถนนเจียกีซี

“จะสร้างอะไรจะซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ไม่ขอที่ใครเปล่า ๆ” รัชนีวรรณ จิระนคร อาจารย์มหาวิทยาลัยวัยหลังเกษียณอายุราชการหลายปี สะใภ้คนเล็กซึ่งตอนนี้เป็นผู้อาวุโสสูงสุดของบ้านจิระนครที่ตึกประสูตทอง ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของตระกูล

“เดิมชุมชนและส่วนราชการอยู่ฝั่งโน้นของทางรถไฟ เรียกหาดใหญ่ใน มักถูกน้ำท่วม  เจียกีซี หรือขุนนิพัทธ์จีนนคร เลยเลื่อนมาฝั่งนี้ที่เรียกว่าโคกเสม็ดชุน ชักชวนกันมา ซื้อที่ดินชาวบ้าน ทำโรงแรมข้างสถานีรถไฟมีคนมาพัก มีโรงหมอคนจีน เริ่มบุกเบิกและตั้งเมืองหาดใหญ่ที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้”
Image
เจียกีซี หรือขุนนิพัทธ์จีนนคร ชาวจีนจากกวางตุ้งผู้มีบทบาทสำคัญในการ ริเริ่มบุกเบิกโคกเสม็ดชุนจนกลายเป็นเมืองหาดใหญ่
Image
Image
ย้อนยุคหาดใหญ่ ๑๐๐ ปี 

ภาพแรกของเมืองหาดใหญ่ ถ่ายเมื่อปี ๒๔๖๗ เจียกีซีจ้างช่างจากปีนังมาถ่ายในวันฉลองตลาดโคกเสม็ดชุนที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่  ช่างภาพยืนถ่ายบริเวณหน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่หันหน้าไปตามถนนธรรมนูญวิถี ซึ่งมีห้องแถวให้คนเช่า และเรือนไม้สองชั้นที่เป็นร้านค้าและโรงแรม เป็นกิจการและบ้านหลังเก่าของขุนนิพัทธ์ฯ ก่อนย้ายมาที่บ้านประสูตทอง ถนนเพชร-เกษม เมื่อปี ๒๔๗๐ / 

Image
Image
มุมเดียวกันในปี ๒๔๗๙ ถนนเจียกีซีเปลี่ยนชื่อเป็นถนนธรรมนูญวิถี และถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑, ๒, ๓  ห้องแถวไม้ไผ่มุงจากเปลี่ยนเป็นบ้านไม้มุงกระเบื้อง /

ถ่ายเมื่อปี ๒๕๒๘ ถนนเปลี่ยนเป็นลาดยาง อาคารเป็นคอนกรีตและเริ่มมีตึกสูง /


ปี ๒๕๖๖ มุมนี้อาจดูเปลี่ยนไปจากภาพเมื่อ ๔๐ ปีก่อนไม่มาก แต่เมืองหาดใหญ่โดยรวม
ได้ขยายกว้างใหญ่และสูงระฟ้าขึ้นไป จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของภาคใต้

ชุมชนใหม่เติบโตขึ้นจนทางการยกฐานะเป็นอำเภอเหนือและต่อมาในปี ๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหาดใหญ่

ในเมืองหาดใหญ่ทุกวันนี้มีชื่อ “จิระนคร” ฝากอยู่ตามสถานที่หลายแห่ง และเป็นนามสกุลของคนหาดใหญ่กลุ่มหนึ่งซึ่งมาจากบรรดาศักดิ์ของต้นตระกูล  ขุนนิพัทธ์จีนนคร คนจีนฮากกาจากเมืองกวางตุ้งที่มีนามว่า เจียกีซี ผู้มีส่วนร่วมสร้างบ้านเมืองหาดใหญ่ และสร้างบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้หลังแรกในหาดใหญ่ชื่อป้าวซู่ถ่อง หรือประสูตทอง เป็นคฤหาสน์ของตัวเองเมื่อปี ๒๔๗๐ ซึ่งกลายเป็นโบราณสถานเชิงสัญลักษณ์ของตระกูลในทุกวันนี้

ตึกประสูตทองตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม เป็นอาคารโอ่โถงอย่างคฤหาสน์ ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้ เคยเป็นบ้านของขุนนิพัทธ์จีนนคร ปัจจุบันตกทอดมาเป็นของรุ่นลูกหลาน โดยมีอาจารย์รัชนีวรรณเป็นผู้ดูแล ชั้นล่างจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ รูปถ่าย นิทรรศการ หนังสือ เล่าประวัติของเจ้าของบ้าน การงาน การพัฒนาเมือง เกียรติประวัติและความเป็นวงศ์ตระกูล

ข้อมูลในตึกโบราณกลางเมืองหาดใหญ่เล่าย้อนไปถึงแผ่นดินใหญ่ในมณฑลกวางตุ้งว่า เจียกีซี เป็นทายาทรุ่นที่ ๓๑ ของตระกูลเจีย เชื้อสายเจียพุ่กลุ่ก เดินทางมากับผู้โดยสาร ๕๐๐ คน ในเรือของบริษัทญี่ปุ่นขนาดระวาง ๑,๐๐๐ ตันกรอส เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ถึงบางกอกเมื่อปี ๒๔๔๗ ขณะมีอายุ ๑๙ ปี

ทำงานในร้านจำหน่ายสุราต่างประเทศอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนไปอยู่บริษัทรับเหมาสร้างทางรถไฟสายใต้ มีหน้าที่ควบคุมคนงานถางป่าเป็นแนวกว้าง ๔๐ เมตร เพื่อลงดินลงหินสำหรับวางรางรถไฟ ช่วงละ ๓๐ กิโลเมตร ใช้คนงานราว ๒๐๐ คน ช่วงที่เป็นสะพานก่อซีเมนต์เป็นคอสะพาน แล้วนำสะพานเหล็กสำเร็จรูปน้ำหนัก ๓๐-๘๐ ตัน มาวางประกอบ ซึ่งทั้งหมดนำเข้าจากอังกฤษทางเรือ

สร้างทางรถไฟมาจนถึงบ้านน้ำน้อย ที่อยู่ระหว่างสงขลากับหาดใหญ่ เป็นชุมชนที่มีแร่เหล็กมาก และมีช่างเหล็กฝีมือดี เจียกีซี ลาออกจากงานที่นั่น แล้วนั่งเกวียนไปสงขลา อาจตั้งใจจะปักหลักอยู่ที่นั่นแต่ถูกขโมยกวาดทรัพย์สินไปเกือบหมดจึงกลับไปเป็นผู้ควบคุมคนงานสร้างทางรถไฟต่ออีกปี และต่อมาเป็นผู้รับเหมางานสร้างอุโมงค์ และสร้างทางรถไฟทุ่งสง หาดใหญ่  ในช่วงนี้ เจียกีซี ได้รับพ่อแม่และพี่ชายน้องชายจากเมืองจีนมาอยู่ด้วย
Image
งานแสดงศิลปะคอนเทมโพรารี ฉายแสงสีที่ฉายทาบขึ้นบนตึกเก่าชิโน-ยูโรเปียนสมัยแรกสร้างเมืองพาผู้คนที่เดินเที่ยวอยู่บนถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑ ย้อนรำลึกไปยังยุคตั้งอำเภอหาดใหญ่ เมื่อปี ๒๔๖๐ 
และจากนั้นยังรับเหมาทำทางรถไฟต่อไปถึงโคกโพธิ์ ทำให้ได้รู้จักคนทำเหมืองแร่ จนได้ร่วมทำเหมืองแร่ไปด้วย ยามว่างก็มักออกสำรวจหาแหล่งแร่

เสร็จจากงานรับเหมาเขาไปพักอยู่แถบสถานีรถไฟอู่ตะเภา ข้างที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมเป็นประจำ ทำให้รู้สึกว่าไม่เหมาะเป็นที่ตั้งสถานีและสร้างบ้าน เขาจึงออกสำรวจหาพื้นที่ต่อไปเพื่อจะสร้างบ้านอยู่ถาวร

และนั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่มาของเมืองหาดใหญ่ปัจจุบัน

เจียกีซี มาพบพื้นที่สูง มีคนท้องถิ่นตั้งบ้านเรือนอยู่ราว ๑๐ หลังคาเรือน เรียกว่าบ้านโคกเสม็ดชุน กับหย่อมบ้านหาดใหญ่สี่หลังคาเรือน เขาซื้อที่ดินบริเวณนั้น ๕๐ ไร่ ด้วยเงิน ๑๗๕ บาท

ต่อมาปี ๒๔๕๘ ทางการขอซื้อที่จาก เจียกีซี ส่วนหนึ่งทำย่านรถไฟสถานีโคกเสม็ดชุน ที่เหลือเขาตัดต้นเสม็ดปราบที่จนเตียนโล่ง แล้วสร้างห้องแถวหลังแรกด้วยเสาไม้กลมฝาขัดแตะ หลังคามุงจาก จำนวนห้าห้อง ต่อจากเขตย่านรถไฟซึ่งมีผู้มาเช่าทำโรงแรม ร้านขายของชำ และที่พักอาศัย

ในช่วงที่ย้ายมาอยู่ห้องแถวนี้ เขามีจดหมายติดต่อกับชาวมลายูอยู่เสมอ แต่แถบที่อยู่ใหม่ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ
เพื่อให้สะดวกกับการรับส่งจดหมาย เขาจึงใช้ชื่อบริเวณนี้ว่าบ้านหาดใหญ่  ต่อมาทางการรถไฟก็เปลี่ยนชื่อสถานีโคกเสม็ดชุนเป็นสถานีหาดใหญ่

นอกจากนั้น เจียกีซี หรือขุนนิพัทธ์ฯ ในเวลาต่อมายังมีบทบาทในการวางผังเมือง อุทิศที่ดินและเงินทุนสร้างถนนยาวกว่า ๘ กิโลเมตร ซึ่งยังปรากฏอยู่ในเมืองหาดใหญ่มาจนวันนี้

ไล่มาแต่ถนนธรรมนูญวิถี ถนนจิระนคร ถนนจิระอุทิศ ถนนนิพัทธ์ภักดี

ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑, ๒, ๓ กับซอยรวม ๓๙ สาย ซึ่งถนนทั้งสามสายนี้แต่เดิมก็มีชื่อตามผู้สร้างว่าถนนเจียกีซี

ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ กับถนนซอยนิพัทธ์สงเคราะห์สายต่าง ๆ รวม ๒๕ สาย
เมืองหาดใหญ่ปัจจุบัน มองจากเขาคอหงส์ ซึ่งเคยเป็นจุดสูงสุดย่านเมืองหาดใหญ่แต่ในอนาคตอาจถูกลบสถิติด้วยตึกที่สูงกว่า
จากนั้นก็อุทิศที่ดินบางส่วนให้กับโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ ๔.๕ ไร่ สร้างสถานสงเคราะห์คนชราบนเนื้อที่ ๑.๕ ไร่ ริมถนนนิพัทธ์อุทิศ ๓  ต่อมายกที่ดิน ๑๔ ไร่ กับเงิน ๒ แสนบาท ให้สร้างสนามกีฬาจิระนคร รวมทั้งอุทิศที่ดิน ๑๘๐ ไร่ ให้เป็นสุสานบ้านพรุของเมืองหาดใหญ่

และกล่าวกันในทุกวันนี้ว่าตลาดหาดใหญ่ในวันนี้เริ่มต้นมาจากห้องแถวห้าห้องกับถนนหลังสถานีรถไฟสายแรกที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ เจียกีซี

รวมทั้งได้บริจาคเงินซื้อปืนกลให้กองทัพไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อปี ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ เจียกีซี เป็นขุนนิพัทธ์จีนนคร  ต่อมาปี ๒๔๘๔ ขุนนิพัทธ์ฯ ได้แปลงสัญชาติเป็นไทย ใช้ราชทินนามเป็นชื่อนิพัทธ์ และจดทะเบียนใช้นามสกุลจิระนคร ตั้งแต่ปี ๒๔๘๗

บ้านจิระนครหรือประสูตทอง บ้านก่ออิฐถือปูนหลังแรกของหาดใหญ่ จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปีในปี ๒๕๗๐ เป็นโบราณสถานเชิงสัญลักษณ์ของตระกูลจิระนครที่มีขนาดไม่ใหญ่หากเทียบกับตึกรามความเจริญของเมืองหาดใหญ่ในปัจจุบัน

แต่ในความกว้างใหญ่ของหาดใหญ่ทุกวันนี้ไม่มีที่ไหนอยู่นอกร่มเงาขุนนิพัทธ์จีนนคร ไปตรงไหนก็ยังเห็นชื่อเขา คนรุ่นหลังที่เกิดหลังเขาจากไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษก็ยังรู้จักเขา

ในงานแสดงศิลปะคอนเทมโพรารี มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคใต้ EAT PRAY LOVE @ Hat Yai ที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑ เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ รูปและนามของขุนนิพัทธ์จีนนครก็ยังปรากฏอยู่ในแสงสีที่ฉายทาบขึ้นบนตึกเก่าชิโน-ยูโรเปียน สมัยแรกสร้างเมืองหาดใหญ่เมื่อปี ๒๔๖๐  
“รัฐบาล
ต้องกระจาย
อำนาจ”

สุทธนาชัย อึ้งรังษี
นักธุรกิจ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

"ผมขายชิ้นส่วนรถยนต์ออนไลน์ ทำธุรกิจภาคบริการพอเกิดโรคระบาด ผลกระทบกับธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์คือเรื่องการจัดส่งสินค้า เราสั่งของไม่ได้ ระบบห่วงโซ่อุปทานกระทบทั้งหมด ยิ่งเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานระดับโลก ในภาวะนั้น ผู้ผลิตจัดลำดับการขนส่งตามความสำคัญเร่งด่วน บางเจ้าก็เลิกผลิต ส่วนบาร์แน่นอนว่าต้องปิด หันมาเปิดกลางวันแล้วขายอาหาร หยุดงานในส่วนนักดนตรี คนชงเหล้า แต่เราไม่ได้เลิกจ้าง  การฟื้นตัวจะเริ่มกลับมาในช่วงกลางปี ๒๕๖๕ พอมาถึงมีนาคม ๒๕๖๖ ยอดขายที่บาร์กลับมาเกินร้อยละ ๑๕๐ เพราะคนโหยหาการท่องเที่ยว  ส่วนธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ปัญหาที่ยังมีคือสินค้าขาดแคลน เพราะช่วง ๓ ปีของโรคระบาดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ภาคขนส่งขนาดใหญ่หยุดไป งานภาครัฐก็ชะลอตัว คนผลิตก็หยุดเพราะไม่มีคำสั่งซื้อ การจะกลับมาผลิตอีกครั้งก็ต้องใช้เวลา

“ในแง่ของเศรษฐกิจ อำเภอหาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐาน ถนน อาคารสถานที่ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนจากเมื่อทศวรรษก่อนเลย ยกเว้นเรื่องเดียวคือห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่เข้ามา
เปิดใหม่ ประชากรเพิ่มจาก ๑๐ ปีก่อนราว ๑ แสน จำนวนนี้ถือว่าน้อย เพราะคนส่วนหนึ่งไปทำงานในเมืองหลวง เราโรแมนติกไม่ได้ เด็กเก่งออกไปข้างนอก แต่มันหมายถึงคนเหล่านี้ไม่ได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ยังไม่นับว่านครศรีธรรมราชที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันก็เติบโตขึ้นมาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สงขลาจึงไม่ได้โดดเด่นและได้เปรียบในแง่โครงสร้างพื้นฐานอีกต่อไปแล้ว ทรัพยากรคนในพื้นที่ตอนนี้ผมก็มองว่ามีปัญหามาก หลักสูตรการเรียนก็ขาดการปรับปรุงให้ทันสมัยคนจบปริญญาตรีในหาดใหญ่ยังคงขาดทักษะการวิเคราะห์ เช่น จบสาขาเกี่ยวกับการคำนวณ แต่ไม่สามารถอ่านงบประมาณได้  สภาพทั่วไปแบบนี้ ถ้าจะสู้กับความเปลี่ยนแปลงจึงไม่น่าจะตอบโจทย์
Image
จึงไม่น่าจะตอบโจทย์

“ในแง่การท่องเที่ยว ทุกวันนี้ก็น่าสนใจว่าเราจะเป็นแค่ทางผ่านของนักท่องเที่ยว หรือถ้าจะโปรโมตตัวเองก็น่าจะมาดูกันว่าเงินที่มาในพื้นที่หมุนได้กี่รอบ ชุมชนในพื้นที่มีศักยภาพในการบริหารเรื่องนี้หรือไม่ ผมเห็นการจัดการและแผนในตอนนี้เป็นการคาดหวังความสำเร็จในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า แต่เราจะเอานักธุรกิจรุ่นปัจจุบันนี้ไปไว้ที่ไหน มันขาดการมองระยะใกล้ในแง่การท่องเที่ยว ตอนนี้อำเภอหาดใหญ่เดินได้ด้วยตัวเองแล้ว สิ่งที่ต้องเน้นคืออำเภอเมืองสงขลา สองอำเภอนี้ต้องการกันและกัน มีจุดเด่นแตกต่างกัน 


“สงขลาพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ เพราะภาคการท่องเที่ยวไม่ได้มีสัดส่วนในการทำรายได้สูงจนทดแทน 
ส่วนอื่นได้ทั้งหมด เฉพาะอำเภอหาดใหญ่ ข้อมูลที่ผมมี ส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือภาคอุตสาหกรรม กินไปกว่าร้อยละ ๓๐ ภาคเกษตรกรรมร้อยละ ๒๐ แค่สองส่วนนี้ก็ครึ่งหนึ่งและมีแรงงานจำนวนมากในมือ  ที่นี่ยังมี ๕๐ ตระกูลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร จัดซื้อ และขนส่งที่ผ่านมาเราไม่สามารถทำให้เครือข่ายเหล่านี้ร่วมมือกันได้เราไม่มี ‘รัฐบุรุษทางธุรกิจ’ เหมือนกับสหรัฐอเมริกา

“เรื่องการจัดการท่องเที่ยวในสงขลา รัฐบาลต้องกระจายอำนาจ เช่น ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็จะได้ผู้ว่าฯ​ ที่เข้าใจจุดเด่น
สงขลา สร้างพื้นที่ระดมความคิด กระจายการตัดสินใจทางเศรษฐกิจจากเดิมที่อยู่ในมือข้าราชการ ให้คนมีส่วนร่วมการเมืองมีผลกับเศรษฐกิจ ถ้ามีรัฐประหารอีกจะกระทบสงขลาแน่นอน เพราะพื้นที่เปิดทางการเมืองหมายถึงต้องมีระบบเลือกตั้งต่อเนื่อง การพัฒนาสงขลาจึงมากกว่าเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของคน ทรัพยากร และทำให้การเมืองโปร่งใส”  
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง