ก้าว(อ)ย่างเกาะยอ

SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
 ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

“เกาะยอ” เป็น “ชุมชนเดียว” กลางทะเลสาบอาณาเขต ๑,๐๔๐ ตารางกิโลเมตร

ที่นั่นไม่เหมือนใคร เพราะทะเลสาบทั่วไปไม่มีทางไหลออกทะเล แต่ “ทะเลสาบสงขลา” (ครอบคลุมจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง) มีปากน้ำออกสู่ “อ่าวไทย” ทำให้เป็นพื้นที่ “สามน้ำ” (จืด กร่อย เค็ม) และเป็น “ทะเลสาบน้ำเค็มแห่งเดียวในไทย”

เวลาผ่าน เกาะยอยกฐานะสู่ตำบลในอำเภอเมืองสงขลา คนนอกพาวิถีเจริญข้ามทะเล คนรุ่นใหม่ปรับปรุงบ้านเป็นที่พัก ร้านอาหาร คนรุ่นใหญ่ให้ค่าการอนุรักษ์เรือนโบราณที่แสนจะเปี่ยมตัวตน ทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว ศูนย์เรียนรู้ทอผ้า เพาะเลี้ยงปลากะพง  ทุกอย่างล้วนต่อยอดจากทรัพย์ (ในดิน) สิน (ในน้ำ)

ชวนรู้จักจักรวาล ๑๕ ตารางกิโลเมตร กลางทะเลสามน้ำ ผ่าน คำขวัญตำบล*

* ยึดตามการใช้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ ปี ๒๕๖๖

scrollable-image
scrollable-image

Image

ไม่ง่ายที่จะพบ “ปลาท่องเที่ยว” ผู้อาศัยโคลนตมทะเลสาบสงขลาเป็นเซฟเฮาส์ อย่างมากก็ปีละครั้งและมีเวลาสัปดาห์เดียวยามน้ำเค็มกลายเป็นน้ำกร่อย 
ภาพ : www.wikiwand.com

Image

สมเด็จเจ้าเป็นศรี

ชาวเมืองสงขลารู้ทันทีว่าหมายถึง “สมเด็จเจ้าเกาะยอ”

ผู้มีชาติกำเนิดที่ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ ถึงวัยอุปสมบทได้จำพรรษาที่วัดต้นปาบ ถิ่นบ้านเกิด ครั้งหนึ่งธุดงค์ไปเมืองสทิงพระ สนทนาธรรมชอบพอกับ “สมเด็จเจ้าพะโคะ” (หลวงปู่ทวด) จึงร่วมธุดงค์ไปพบ “สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่” ที่อำเภอกระแสสินธุ์ (ทั้งสามเมืองอยู่ในสงขลา) แล้วร่วมธุดงค์ข้ามจังหวัดหลายปี

ที่สุดสมเด็จเจ้าพะโคะแยกไปวัดช้างให้ (ปัตตานี) สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่กลับวัดเดิม สมเด็จเจ้าเกาะยอจึงธุดงค์สู่สงขลา ลงเรือข้ามฝั่งมาปักกลดบนเกาะยอ ก่อนไปเยี่ยมบุพการีที่บ้านเกิดแล้วคืนเกาะยออีกครั้ง ปักกลดบนเขาลูกใหญ่

คืนหนึ่งนิมิตเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จลงยอดเขาขอให้จำพรรษา ชาวเกาะราว ๕๐๐ ชีวิตจึงสร้างกุฏิถวายและเรียกเขาลูกนี้ว่า “เขากุุฏิ” รับกับหลักฐาน “แผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ” มีเขาลูกหนึ่งตรงปลายแผนที่ระบุ “เข้าก้อะญอ” (เขาเกาะยอ) คล้องกับ “แผนที่เมืองสงขลา” ที่เมอซีิเยอ เดอ ลามาร์ (Monsieur de Lamare) วิศวกรชาวฝรั่งเศสเขียนปี ๒๒๓๐ แสดงการตั้งถิ่นฐานชุมชนบนเกาะยอแล้ว

ทุกวันนี้ “สำนักสงฆ์เขากุฏิ” ยังเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จเจ้าเกาะยอ พอขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ (ก่อนวันวิสาขบูชา) ชาวบ้านจะมี “ประเพณีขึ้นเขากุฏิ” แห่ผ้าที่ช่วยกันทอขึ้นไปห่มองค์เจดีย์

การสมโภชปีละครั้งคงน้อยไป สิบห้าปีมานี้จึงเพิ่มพิธีสรงน้ำ “สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” (สมเด็จเจ้าเกาะยอ สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ และสมเด็จเจ้าพะโคะ) ใน “วันว่าง” ช่วงตรุษสงกรานต์

“แต่คนภาคใต้ตอนกลางกับตอนล่างไม่มีสงกรานต์ที่หมายถึงการ ‘เคลื่อนย้าย’ ดวงดาวจากราศีมีนสู่เมษคนใต้ให้ความสำคัญกับ ‘ตรงกลาง’ ที่เป็น ‘ความว่าง’ เชื่อว่ามนุษย์มีเทวดาประจำราศี เมืองก็มีเทวดาผลัดเปลี่ยนมาอารักษ์ ฉะนั้นเมื่อราศีหนึ่งกำลังเคลื่อนไปขณะที่อีกราศียังมาไม่ถึงภาวะรอยต่อตรงนั้นจึงว่างจากผู้ดูแล  เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุร้ายยามไร้ผู้คุ้มครอง จึงกำหนดให้ผู้คนว่างจากงาน งดเดินทางไกล งดออกทะเล แล้วทำบุญให้จิตว่างจากกิเลส บางคนจึงเรียกทำบุญเดือนห้า”

Image

บุญเลิศ กัณฑลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญประเพณีถิ่นใต้เชื่อมกุศโลบายที่โยงถึงประเพณี “รับเทียมดา” ส่งเทวดาเดิม-รับเทวดาใหม่ประจำเมืองที่ทั่วสงขลากำลังจัดงานบวงสรวงเกาะยอก็จัดที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา และอัญเชิญ “สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” จากพิพิธภัณฑ์มาประดิษฐานบนเบญจา

หนึ่งวันก่อนพิธี ชาวบ้านจะมา “แทงหยวก” สลักกาบกล้วยตานี ๑๐-๑๕ ต้น ประดับเบญจา

“ใช้แกนอ่อนสีขาวของตานีแกะจะไม่ดำเร็วและไม่เปราะเหมือนพันธุ์อื่น สลักและฉลุลายทีละสองหยวกประกบกัน ใช้กระดาษทองเกรียบคั่นกลาง พอมองผ่านฉลุจะเห็นสีสันลอดตามช่อง เสริมให้ลายดูสวยเด่น  การแทงหยวกเป็นหัตถกรรมที่น่าภูมิใจมากนะ เหลือผู้ทำเป็นไม่มาก ต้องทำอย่างดีที่สุด”

ชาวบ้านต่างอาชีพช่วยกันเล่า พวกเขาตระหนักว่าเบญจาที่ใช้สรงน้ำสามสมเด็จเจ้าฯ ไม่เพียงเป็นปะรำพิธีรองรับสิ่งประเสริฐที่ชาวเกาะยอเทิดทูนสูงสุด ยังเปรียบดั่งพิมานของเทวดา จึงตั้งฉัตรและอุบะรอบเบญจาแล้วล้อมรั้วไก่ที่มีรูปสรรพสัตว์วรรณคดี จำลองป่าหิมพานต์ที่มีพืชพรรณนานาบนเชิงเขาพระสุเมรุ

ยามเกาะยอว่างเทพารักษ์ สมเด็จเจ้าเป็นศรี จะปกปักรักษาใจ

“ไท้ก๋ง”
ศาลเจ้าน่ารักหนึ่งเดียวบนเกาะยอ

ท่ามกลางศาสนสถานที่สร้างต่างยุคสมัย ทั้งสำนักปฏิบัติธรรมสมเด็จเจ้าเกาะยอ (เขากุฎิ : สมัยกรุงศรี-อยุธยา), วัดท้ายยอ (ปี ๒๓๑๑), วัดแหลมพ้อ (ปี ๒๓๖๐), วัดโคกเปี้ยว (ปี ๒๔๒๕), วัดเขาบ่อ (ปี ๒๔๗๗) และทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม (ปี ๒๕๕๐) ยังมี “ศาลเจ้าไท้ก๋ง” (สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ยืนยันว่ามีชาวไทยเชื้อสายจีนหอบวัฒนธรรมจากบ้านน้ำน้อยและทุ่งหวัง (ฝั่งตรงข้ามเกาะยอ) มาตั้งถิ่นฐาน

“สืบสาวดูจะรู้ว่าแทบทุกบ้านเป็นคนจีน ตระกูลผมก็
แซ่ลิ่ม ตามบ้านยังไหว้บรรพบุรุษ มีเทศกาลตรุษจีน บนเกาะยอจึงมีศาลเจ้าไท้ก๋งที่จัดงานประจำปีเสมอ เดิมมีศาลสองสามแห่ง ปัจจุบันเหลือหลังเดียวที่บ้านท้ายเสาะ หมู่ ๘ ทางภาคีคนรักเมืองสงขลานำความรู้ประวัติศาสตร์มาฟื้นฟูจากร่องรอยที่เหลือ มีข้อมูลบันทึกว่าศาลเจ้าไท้ก๋งนี้เป็นหนึ่งในสามศาลที่เก่าแก่ในไทยด้วยนะครับ เสียดายที่คนไม่ค่อยรู้ความสำคัญ”

ฐานวัฒน์ เจริญพรทิพย์ 
ชาวบ้านสวนทุเรียน หมู่ที่ ๔
ผู้นำท่องเที่ยวชุมชนเกาะยอ OTOP นวัตวิถี

Image
Image

ผ้าทอดีล้ำค่า

น่ารัก ! คือความรู้สึกแรกรู้ว่า “ผ้าทอเกาะยอ” กำเนิดโดยผู้ชาย

ชาวเกาะยอยุคใหม่นับจุดเริ่มจากปี ๒๔๘๒ ที่กรมการเมืองสงขลาส่งครูชาวเซี่ยงไฮ้สองคน (ยี่หลุ่น กับพุดดิ้น แซ่หลิว) มาสอนชาวเกาะยอเปลี่ยนจาก “กี่มือ” มาเรียนรู้วิธีทอผ้าแบบ “กี่กระตุก”

เปลี่ยนจากเคยนำใยฝ้าย ใยปอ ที่ปลูกตามไร่มาย้อมสีพืชจากเปลือก แก่น ราก ผล เช่น “เหลือง” จากขมิ้นชันแก่นแข (แกแล)  “แดง” จากอิฐ รากยอ  “แดงเข้ม” จากสะตี  “ม่วงอ่อน” จากลูกหว้า  “ตองอ่อน” จากแถลง (มะพูด)  “เขียว” จากเปลือกสมอ ใบหูกวาง  “น้ำเงิน” จากคราม มาเป็นซื้อผงสีจากตลาดมาย้อม

“เวลานั้น ‘ครูยี่ แสงอรุณ’ และชาวบ้านชายหญิงพากันไปเรียนรู้การทอยกดอกและลวดลายต่าง ๆ กับครูชาวจีน  พ่อของฉัน ‘กริ้ม สินธุรัตน์’ อายุ ๑๗ ปี ก็ขอเรียนจากครูยี่แล้วมาถ่ายทอดต่อชาวบ้าน”

ยมนา สินธุรัตน์ ลูกสาวครูกริ้ม (ก่อนครูกริ้มเสียชีวิตได้รับยกย่องเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๖๐) ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มร่มไทร ย้อนจุดเริ่มยุคที่มีคนนอกชุมชนมองเห็นช่องทางธุรกิจ

Image

แต่ว่าสีย้อมจากตลาดและใยของฝ้ายที่ซื้อใช้คุณภาพไม่สู้ดี ทอแล้วได้ผ้าผิวหยาบ ซักแล้วสีตก ผู้คนจึงนิยมผ้าต่างประเทศที่ใช้สีวิทยาศาสตร์ดีกว่าและขายถูก วิถีทอผ้าของชาวเกาะจึงชะงัก

จนปี ๒๕๑๖ คุณหญิงชื่นจิตต์ สุขุม นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดสงขลา สำรวจเกาะยอพบกี่ทอร้าง จึงระดมครูชาวบ้าน (ขิ้ม แซ่ลิ่ม  ชม มีสุวรรณ และ กริ้ม สินธุรัตน์) ฟื้นกลุ่มทอผ้า เชิญอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคสงขลาเวลานั้นสอนวิธีนำด้ายฝ้ายจากตลาดมาย้อมสีเคมี โดยมีสมาคมรับซื้อผ้าทอ-แปรรูปและรณรงค์ให้ข้าราชการใช้ผ้าเกาะยอ จัดแสดงที่สวนอัมพร ฯลฯ

ผ้าทอเกาะยอจึงได้คืนชื่อจนปรากฏท้ายคำขวัญอำเภอเมืองสงขลา “...เสน่ห์ล้วนผ้าเกาะยอ”

“ผ้าเกาะยอยังโดดเด่นที่ทุกผืนสวยด้วยหัตถกรรม และคนมักจะถามหาลวดลาย สมัยก่อนไม่มีชื่อ จดจำการทอจากบรรพบุรุษแล้วพลิกแพลงไปเรื่อย ๆ ถ้าออกมาสวยก็จะมีคนทอตามแล้วเรียกชื่อผู้คิดลาย”

แต่เดี๋ยวนี้ก็มีผู้กำหนดชื่อให้อย่าง ราชวัตร (ก้านแย่ง หรือคอนกเขา) ดอกพิกุล ดอกรสสุคนธ์ ดอกพยอม ดอกรักดอกห้าหนึ่ง ดอกผกากรอง (ดอกแฝด หรือดอกขี้ไก่) เทพนม พริกไทย ลูกแก้ว บุหงา ลูกหวาย คดกริช สมุก (โกเถี้ยม) สี่เหลี่ยม (เครียะ) ตาสก็อต หมากรุก กากบาท ลูกโซ่ ข้าวหลามตัด ฯลฯ

“บนเกาะยอมีกลุ่มทอผ้าทั้ง ‘กลุ่มราชวัตร’ ‘กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าเกาะยอ’ ‘กลุ่มผ้าทอป้าลิ่ม’ ‘กลุ่มดอกพิกุล’ และของเราคือ ‘กลุ่มร่มไทร’ อยู่หมู่ ๕  แม้อดีตผ้าทอเกาะยอจะเริ่มจากครูสอนที่เป็นผู้ชาย แต่ทุกวันนี้เป็นแม่บ้านที่ทอเป็นอาชีพเสริม มีหน่วยงานต่าง ๆ มาส่งเสริม ความรู้ใหม่ ๆ อย่างกลุ่มผ้าทอป้าลิ่มจะฟื้นฟูการนำรากแก่น และใบยอ ใบสวา ใบจำปาดะ มาย้อมสี นำครามทะเลที่ขึ้นเองตามหาดทรายหรือป่าชายเลนกลับมาใช้ หรือกลุ่มผ้าทอร่มไทรของเราก็คิดลาย ‘เกล็ดปลาขี้ตัง’ ที่กลุ่มอื่นไม่มี”

Image

“เวลานั้น ‘ครูยี่ แสงอรุณ’ และชาวบ้านชายหญิงพากันไปเรียนรู้การทอยกดอกและลวดลายต่าง ๆ กับครูชาวจีน พ่อของฉันก็ขอเรียนจากครูยี่แล้วมาถ่ายทอดต่อชาวบ้าน”
ยมนา สินธุรัตน์

คือผลจากการจับเอาปลาที่โดดเด่นของทะเลสาบสงขลามาผสมกับลายดั้งเดิมของเกาะยอ เพิ่มเทคนิคการทอโดยใช้เส้นใยที่ต่างจากเดิม และเรียงเส้นด้ายเป็นลวดลายจุดที่ดูคล้ายหลังของปลาขี้ตัง

“คนเกาะยอชอบกินปลาขี้ตังมาก เนื้อหวานมัน ตัวเต็มวัยเท่าฝ่ามือหนัก ๖-๗ ขีด ขายโลละ ๔๐๐-๕๐๐ บาท แต่คนนอกพื้นที่ไม่ค่อยรู้จักเท่าปลากะพงที่โลละ ๒๐๐-๓๐๐
เราเลยอยากเสนอของดีบนลายผ้า”

ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอเกาะยอมีแปรรูปเป็นข้าวของแต่ยังเน้นทอผ้าผืนเป็นหลัก รายได้ของช่างเดือนละหลายพันบาท คนขยันอาจได้นับหมื่น ยิ่งใครออกแบบให้ต่างจากคนอื่นก็จะกำหนดราคาเองได้

ละแวกนั้นยังมี “ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอวัดโคกเปี้ยว” ที่เจ้าอาวาสก่อตั้งปี ๒๕๖๔ ให้นักเรียนพระปริยัติธรรมที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยมีวิชาชีพติดตัว โดยมีชาวบ้านถวายกี่ทอที่เลิกใช้แล้วรวม ๑๐ หลัง

“การทอผ้าเป็นหลักสูตรวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นของพี่มัธยมฯ ผมอยู่ ป. ๔ ยังไม่ได้เรียนแต่สนใจ เลยขอให้ครูสอนหลังเลิกเรียน ตอนนี้ใช้กี่กระตุกทอผ้าขาวม้าเป็น ครูจึงสอนตัดเย็บต่อ จะได้ตัดอังสะใส่ ไม่ต้องซื้อ  จริง ๆ ผมสนุกที่ได้เป็นคนออกแบบสินค้า อย่างทำกระเป๋าจะเอาผ้าสีหนึ่งมาผสมกับอีกสีหรืออีกหลายสีก็ได้ ทำให้เศษผ้าเหลือใช้มีประโยชน์ด้วย ที่เหลือจากตัดเย็บกระเป๋าก็เอามาเย็บพวงกุญแจได้อีก อันนี้เป็นพวงดอกไม้ มีโยมบอกเหมือนดอกทิวลิป ดอกกุหลาบแต่ใจผมคิดว่าเป็นดอกบัว”

เมื่อทำเสร็จ สามเณรมงคลฤทธิ์ ไพฑูลอาสน์ วัย ๙ ขวบ จะนำไปแขวนยังจุดจำหน่ายสินค้า

“การทอผ้าหรือตัดเย็บไม่เกี่ยวกับเพศหรอกครับ ผู้ชายหรือเด็กก็ทำได้ มีเณรรูปหนึ่งอยากเป็นคนคิดลายเองจึงแกะจากลายเดิมแล้วดัดแปลงขั้นตอนจับเส้นด้ายจนเกิดลายใหม่ แล้วตั้งชื่อ ‘พิกุลโคกเปี้ยว’”

พวกเขาล้วนสะท้อนสัจจะ ความสมบูรณ์ของทรัพยากรก็สำคัญ แต่คนในชุมชนสำคัญกว่าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  เมื่อพลังความคิดชัด จิตใจที่ต้องการพัฒนาจะตามมา

นอกจากสองมือ ผ้าทอดีล้ำค่า ในแบบเกาะยอจึงหมายรวมถึงความสร้างสรรค์ของช่างด้วย

นานาผลไม้หวาน

ชุมชนที่ดีไม่ใช่โชคดีที่มีของดี แต่คือมีคนในชุมชนรู้จักพัฒนาต้นทุนให้เกิดกำไร

เกาะที่นี่เป็นภูเขาหินและเนินเขาดินลูกรัง ทิศเหนือจดใต้เรียงรายด้วยเขาบ่อ เขาหัวแดง เขากุฏิ เขาสวนใหม่ เขากลาง เขาสวนเตย เขาหัวหรัง เขาเกาะแกง ยังไม่นับพวกเนินเล็ก ๆ อย่างเขาบ่อนก เขาบ่อหิน เขาเพหาร ฯลฯเนิน-เขาเหล่านั้นมักแทรกสวนผลไม้นานา มากสุดคือจำปาดะกับสวา (ละมุด)

“สายพันธุ์พื้นถิ่นมี ‘พันธุ์ลูกแขก’ บางคนเรียกพันธุ์มะกอกเพราะลูกยาวรี ผิวเปลือกสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อสุกข้างในสีน้ำตาลอมแดง กรอบ หวานแหลม ผมว่าพันธุ์นี้อร่อย แต่ที่นิยมขายคือ ‘พันธุ์ไข่ห่าน’ จะลูกใหญ่กว่าและออกกลมมน เนื้อสุกจะออกหยาบ มีสีน้ำตาลอ่อน ไม่กรอบเท่าลูกแขก แต่รสหวานเย็น”

ไพฑูรย์ ทีปบวร มีสวนสวาอยู่ที่บ้านท่าไทร หมู่ที่ ๕ กับบ้านป่าโหนด (เขาหัวหรัง) หมู่ที่ ๗ แห่งละไร่สองไร่ ไร่ละ ๔๐ ต้น ได้แค่นั้นเพราะแต่ละต้นต้องปลูกห่างอย่างน้อย ๖ x ๖ ตารางเมตร

“สวาเป็นพืชปลูกง่าย ไม่มีเชื้อรา บนเกาะยอจะไม่ใช้สารเคมีเพราะเรากินกันเองเป็นหลัก จะมีก็แค่หนอนผีเสื้อที่เจาะลงมาจากปลายกิ่ง ถ้าเจอมูลที่คล้ายขี้เลื่อยเวลามันถ่ายออกมาก็รีบกำจัดก่อนลงโคนต้นไปกินเนื้อเยื่อ ถ้ามันเกาะเวียนรอบโคนต้นเมื่อไรก็ตาย รักษาไม่ได้ ต้องปลูกใหม่เท่านั้น แต่ปลูกไม่ยาก ตอนกิ่งเอา  กิ่งสวาขายได้ ๒๕๐ บาท ต้นใหม่อายุ ๔-๕ เดือนก็ติดดอกแล้ว พอ ๓ ปีต้นสูงเท่าอกก็ให้ผล เก็บวันละสามสี่ต้นก็เหนื่อยแล้ว เอาไปปลูกที่ไหนก็รอด แต่ผลเนื้อคงไม่ละเอียดและรสหวานเท่ามากินที่เกาะยอ”

“ผืนดินเกาะยอปลูกอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง มีคนติดต่อชุมชนเราอยากรับซื้อจำปาดะที่ปลูกทั่วเกาะไปทำไวน์ เขาทำมาให้ชิมอร่อยมากเลย น่าเสียดายที่เกษตรกรไม่มีกำลังการปลูกมากพอ”
ร้อยตรี ทวี ชาตะวิทยากูล

Image

ไม่ใช่แต่บ้านท่าไทร หมู่ที่ ๕ และบ้านป่าโหนด หมู่ที่ ๗ เป็นที่ราบลุ่มกว้างเหมาะทำสวนผลไม้ หมู่บ้านอื่นบนเกาะยอก็ทำเกษตรทุกชนิดได้ดี เพราะดินได้แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์จากทะเลสาบสามน้ำ จืด กร่อย เค็ม

“สวาเกาะยอไม่เคยเหลือส่งขายนอกเกาะ พ่อค้าแม่ค้าจะจองและรับถึงสวน ผมล้างยางแล้วขายผลดิบโลละ ๔๐-๔๕ บาท แม่ค้านำไปบ่มต่อ ๒ คืน ค่อยขายแบบสุกโลละ ๘๐-๑๐๐ บาท มีเท่าไรก็หมด”

เวลานี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอนุมัติให้สวาขึ้นทะเบียน GI (Thai Geographical Indication) เป็นสินค้าที่ได้รับการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเกาะยอแล้ว น่าเสียดายที่บนเกาะเหลือสวนสวาไม่มาก นับแต่ที่ดินมีราคาชาวบ้านก็ขายสวนให้นายทุนทำบ้านจัดสรร เหลือกินตามบ้านสามถึงห้าต้น เช่น “จำปาดะ” เคยนิยมจนขึ้นชื่อถึงขั้นมีผู้พัฒนาข้ามสายพันธุ์ได้ “จำปาดะขนุน” ที่เอาไปปลูกต่างตำบลไม่ได้ผลดีเท่าเกาะยอ

“ยังมีคนที่ผสมจนได้ ‘ขนุนจำปาดะ’ ด้วยนะครับ แต่เราไม่สามารถบังคับว่าจะให้ต้นเป็นอะไร จากที่ผมทดลองส่วนใหญ่ถ้าทาบกิ่งมักได้ขนุนจำปาดะ ถ้าปลูกจากเมล็ดจะได้จำปาดะขนุน”

ร้อยตรี ทวี ชาตะวิทยากูล อดีตนาวิกโยธิน เล่าผลสังเกตหลังยึดอาชีพเกษตรกรวัยเกษียณ

ถ้าโตเป็น “จำปาดะขนุน” ลำต้นจะออกข้างเป็นพุ่มกิ่งก้านมาก ออกผลตามกิ่งตั้งแต่กิ่งที่โคนต้นไปจนกิ่งสูง ให้ผลโตแบบขนุน ยวงไม่เต็มผล เนื้อนิ่มเหลว รสหวานจัดแบบจำปาดะ ส่วน “ขนุนจำปาดะ” ลำต้นจะใหญ่ ตั้งตรง ออกผลตามกิ่งและที่ลำต้นด้วย ให้ผลเล็กแบบจำปาดะ เนื้อแน่นแบบขนุน รสหวานมัน

Image

Image

“คนมักติดภาพจากขนุนว่าข้างในต้องมีเนื้อเต็มยวงพอแกะเจอ ๓-๕ เมล็ดเลยรู้สึกไม่คุ้ม ที่สวนผมมีทั้งแบบลูกใหญ่ ๑๕ เมล็ดขึ้นไปจนแน่นยวง และลูกกลางลงมา ผมชอบจำปาดะที่ลูกขนาด ๘ เมล็ด ถ้าใครชอบรสหวานฉ่ำ ๓-๕ เมล็ดนี่นับว่าอร่อยมาก ลูกใหญ่รสหวานสู้ลูกที่เมล็ดน้อยไม่ได้”

เจ้าของ “สวนลุงวี” พื้นที่กว่า ๓ ไร่ ตัดจำปาดะจากกิ่งให้ชิมรสพลางอธิบายระดับความสุก ระดับ ๑ ออกมัน ๆ อมเปรี้ยว ระดับ ๒ หวานพอดี ระดับ ๓ หวานจัด เนื้อเริ่มเหนียว ก่อนกินต้องฉีกแบ่ง ระดับ ๔ คือสุกและเหนียวมากเกินจนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมาะนำไปทำขนมหวาน

“คนที่ชอบกินขนุนอาจติว่าจำปาดะเหนียว เนื้อเยื่อที่เหนียวนี่ละเข้ากับแป้ง ทำให้ ‘เค้กจำปาดะ’ อร่อยและขายดีมาก ผมยังเคยทำ ‘ไอศกรีมจำปาดะ’  จำปาดะมีคุณค่ามากนะครับ ยวงชุบแป้งทอดก็อร่อย แก่นถ้านำไปต้มก็ได้สีย้อมผ้า เปลือกผลก็เป็นปุ๋ยได้ แม้แต่เมล็ดคนเกาะยอก็ชอบต้มใส่ในแกงไตปลา”

มื้อกลางวันภรรยาเขาชวนชิม “ข้าวเหนียวจำปาดะ” เป็นข้าวหุงแบบโบราณที่อร่อยโดยไม่ต้องราดกะทิซ้ำ เป็นการหุงโดยใช้กะทิสดล้วน ๆ ไม่ผสมน้ำ จับคู่กินกับจำปาดะกลายเป็นอีกเมนูพื้นถิ่นของเกาะยอ

“ผืนดินเกาะยอปลูกอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง มีคนติดต่อชุมชนเราอยากรับซื้อจำปาดะที่ปลูกทั่วเกาะไปทำไวน์ เขาทำมาให้ชิมอร่อยมากเลย น่าเสียดายที่เกษตรกรไม่มีกำลังการปลูกมากพอ”

ถ้าอยากกิน นานาผลไม้หวาน ที่ขับให้เกาะยอเนื้อหอม จึงต้องมากินถึงถิ่นเท่านั้น

Image

ไทยถิ่นอาหารทะเล

ปากท้องกลายเป็นเรื่องเล็กไป คนที่นี่กำลังพัฒนาสู่ smart fisherman

ช่วงสายของมีนาคม ๒๕๖๖ ป้านงนั่งคัดกุ้งที่ชาวประมงดักไซไว้ในทะเลสาบตอนเช้าแล้วเย็นวานก็กู้ขึ้นมากองไว้แถวบ้านอ่าวทราย หมู่ที่ ๑ วันนี้เธอจึงมาคัดแยกขนาดตามราคาเตรียมส่งแม่ค้าที่ตลาดอีกที

“ทะเลสาบที่นี่มีสามน้ำ ช่วงก่อนนี้มีฝนมากน้ำจะจืด หมดมรสุมก็กร่อย ฤดูร้อนมีนาคม-เมษายนจะเป็นน้ำเค็ม ฤดูของกุ้งจะเยอะช่วงพฤศจิกายนจนสิ้นปี นอกฤดูแบบนี้บางวันไม่ได้กุ้งเลย อาศัยว่าขายได้ราคา กุ้งสดโลละ ๙๐ บาท ทำกุ้งแห้งโลหนึ่งต้องใช้กุ้งสด ๑๐ โล แต่ขายกุ้งแห้งได้ ๑,๒๐๐ บาท”

หญิงวัย ๗๐ ปี เล่าพลางมือก็หยิบคัดขนาดและแยกกุ้งเป็นที่ตัวใสออกไว้เป็นเหยื่อตกปลากะพง วิธีคือพายเรือไปวางเบ็ดเป็นราวยาว ทุก ๓ ชั่วโมงค่อยออกเรือไปดู ครั้นได้ปลากะพงที่มาติดเบ็ดก็เลี้ยงใส่ในกระชังแล้วออกไปตกใหม่ทุกวัน ถึงวันอาทิตย์จะรวบรวมปลากะพงที่มีไปขายที่ตลาดเมืองสงขลา เพื่อนร่วมอาชีพเล่าว่าเธอเป็นหญิงสูงวัยคนเดียวของเกาะยอที่ยังใช้เรือพายออกทะเลตามลำพัง

ท่ามกลางชีวิตสงบเสงี่ยมตามวิถีคนรุ่นใหญ่ ประมง
รุ่นใหม่เลือกกระโจนใส่ลูกค้า

ท่ามกลางชีวิตสงบเสงี่ยมตามวิถีคนรุ่นใหญ่ ประมงรุ่นใหม่เลือกกระโจนใส่ลูกค้า

“เมื่อก่อนประมงเกาะยอต่างคนต่างทำ ถึงเวลาก็มีพ่อค้าจากตลาดสงขลาและหาดใหญ่มาถึงที่ ให้ราคาจากปากกระชังโลละ ๒๐๐ บาท ปลาที่ขายต้องอายุ ๒ ปี หนักราว ๔-๕ โล จึงมีเนื้อให้เอาไปแล่ เรื่องรสชาติไม่มีใครสู้เกาะยอ แต่พอมีประมงจากมาเลเซียมาตัดราคาเหลือโลละ ๗๐-๘๐ บาท แม่ค้าก็เอาไปหลอกขายว่าเป็นปลาจากเกาะยอ  หนักสุดปี ๒๕๖๓ ช่วงโควิด-๑๙ ระบาดร้านอาหารปิด ทางมาเลย์ก็หาทางระบายมาขายฝั่งไทยวันละหลายร้อยตัน ต่อให้เกาะยอมีของดีแค่ไหนถ้าขายไม่ออกก็ล้นตลาด”

จีรวัฒน์ ชุตินธร จึงชักชวนเพื่อนประมงในชุมชนตั้ง “กลุ่มรักเกาะยอ” อาสาเดินสายงานเสวนาวิชาการ คอยตามสถานการณ์แวดวงประมง หาตลาดทันสมัย ขอการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เวลานี้ชุมชนเกาะยอมีเธอเป็นผู้ขับเคลื่อน “ศูนย์การเรียนรู้การแปรรูปปลากะพงขาว กลุ่มรักเกาะยอ” นอกจากขายส่งยังมีอาคารที่เป็นหน้าร้านค้าปลีก บริการแล่แปรรูปให้เสร็จสรรพ

ยามค่ำราว ๒ ทุ่ม หนุ่ม ๆ จะผลัดเวรนอนขนำกลางทะเลเฝ้ากระชัง เผื่อเกิดเหตุจะได้แก้ปัญหาทัน อย่างถ้าปลาช็อกตอนกลางคืนจากทิศทางไหลเวียนของน้ำขึ้น-ลงผิดปรกติ เกิดเสียงดังคล้ายปลาแย่งกินอาหารทั้งที่เป็นเวลานอนของมันต้องรีบปลดกระชังหย่อนลงน้ำให้ต่ำกว่าเดิมเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ปลา

“ระหว่างวันผมมีหน้าที่ออกเรือไปให้อาหารปลากะพงในกระชัง เอาพวกหัวปลาทู หัวปลาซาบะ หรือไส้ปลาชนิดต่าง ๆ ที่เหลือจากตัดเฉพาะตัวส่งโรงงานแปรรูปแล้ว ลงเรือหางยาวลำเล็กขนรอบละ ๑๐-๑๕ ตะกร้า จะได้เข้าตามซอกระหว่างกระชังโดยไม่ทำให้ปลาตกใจ”

Image
Image
Image

ทินกร ปลอดทอง ชาวประมงบ้านท่าไทร หมู่ที่ ๕ สมาชิกกลุ่มรักเกาะยอเล่า ขณะออกทะเลต้องคอยฟังเสียงเรียกจากคนบนฝั่งด้วย ถ้ามีลูกค้าก็ต้องกลับฝั่งมาชำแหละปลาขายก่อน ไม่ให้ลูกค้ารอนาน

“ที่นี่เปิดทุกวันตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น ลูกค้าเยอะช่วง ๙-๑๐ โมงเช้า  ส่วนใหญ่นิยมปลาขนาดกลางหนัก ๓-๔ โล เอาไปแล่เนื้อ แต่ร้านข้าวต้มปลา ร้านข้าวแกง ร้านสเต๊ก หรือร้านสไลซ์ลวกจิ้มจะชอบขนาดใหญ่หนัก ๖-๗ โล ตัวเดียวเนื้อเยอะไปเลยคุ้มกว่าตัวเล็กหลายตัวหรือตัวกลางสองตัวที่น้ำหนักเท่ากัน แต่เหมือนเอาเงินไปจ่ายค่าน้ำหนักที่หัวปลาซึ่งเขาไม่ได้ใช้ แถมเนื้อบางเอามาสไลซ์ได้ชิ้นไม่สวย”

ตั้งแต่มีการรวมกลุ่ม หน่วยงานราชการก็ส่งเสริมให้ปลาเกาะยอได้ใช้ประกอบอาหารในงานสำคัญ มีเชฟมิชลินร่วมสร้างสรรค์กระจายชื่อเสียงสู่ฐานลูกค้าใหม่ จากเคยรับรู้ว่าจะกินปลากะพงควรรอน้ำเค็มมีนาคม-ธันวาคมจึงได้เนื้อหวาน กลายเป็นขอเพียงมีงานแสดงสินค้า ปลาสามน้ำเกาะยอจะยืนหนึ่ง

ล่าสุดชาวเกาะยอกำลังตื่นรู้ที่สามารถนำคอลลาเจนในช่องกระดูกสันหลังกลางของปลากะพงแปรรูปเป็น “น้ำซุปชาบู” ได้หากสกัดถูกวิธีผ่านกระบวนการตุ๋น เคี่ยว เติมสมุนไพรและประโยชน์จากซากเหลือทิ้งนี้ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญารอขึ้นทะเบียน GI บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเกาะยอ

Image

ท่ามกลางสรรพสิ่งเต้นระบำกลางทะเล เราสนใจปลาชนิดหนึ่งที่ซ่อนตัวในโคลน

ความยากในการพบคือมันไม่ประจำอยู่ที่ใดและไม่มีอยู่ทั่วไป เป็นปลาเฉพาะถิ่นทะเลสาบสงขลา พบมากทางทิศตะวันตกของเกาะยอแถวบ้านท้ายเสาะ หมู่ที่ ๘ เพราะพื้นทะเลเป็นโคลนตมเหมาะให้ขุดรูฝังตัวตามวิถี จะจับมันได้แค่ฤดูฝนราวพฤศจิกายนและมีเวลาเพียงสัปดาห์ที่ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำทะเลกร่อย พวกมันจะอพยพจากรูไปหาที่อยู่ใหม่ในทะเลที่มีความเค็มพอเหมาะ คือที่มาของชื่อ “ปลาท่องเที่ยว”

แต่โดยมากขบวนนักเดินทางยังไม่ทันไปไหน ออกจากรูก็ไปติดเครื่องมือประมงเข้า กลายเป็นของอร่อยที่ขายกันในท้องตลาดกิโลกรัมละ ๓๐-๗๐ บาท

“ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่าใครมาสงขลาต้องได้กิน เป็นเมนูพื้นถิ่นที่ไม่แพง เนื้อนิ่ม หวาน มัน  จะต้ม แกง ทอด ปิ้ง ย่าง ทำปลาแห้งปลาเค็มก็อร่อย  เดี๋ยวนี้หากินยาก ต้องรอฤดู แต่ถึงฤดูก็มีไม่พอกินอีก”

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างร่วมให้ข้อมูล

“ปลาหลายชนิดไม่อาจเพาะเลี้ยงในกระชังแบบปลากะพงที่อยู่ได้สามน้ำ จึงไม่ได้รับการส่งเสริมแบบปลาเศรษฐกิจ ข้อมูลปลาท่องเที่ยวแทบไม่มีใครทำวิจัยเลย คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้ แต่คนสงขลารู้จักดี”

ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าอนาคตจะไม่มีการพัฒนาต่อให้สมฐานะ ถิ่นอาหารทะเล

Image

เสน่ห์สะพานติณฯ

เหมือนใครทำเลโก้ชิ้นยักษ์ตกอยู่ตีนสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

แล้วถ้านำตัวต่อชิ้นอื่นมาประกบกับ “แบบจำลองรูปตัดตามขวาง” ที่ตั้งอยู่ตีนสะพานเชื่อมเกาะยอฝั่งที่มาจากบ้านเขาเขียว อำเภอสิงหนคร ก็จะได้ “สะพานติณสูลา-นนท์” มาตราส่วน ๑ : ๒

เหตุที่สะพานนี้เป็นความภาคภูมิจนต้องมีประติมา-กรรมอวดสายตาผู้ผ่านทาง เนื่องจากปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ ข่าวสร้างสะพานนับว่าฮือฮาในหมู่วิศวกรรมไทย ไม่เพียงใช้วิทยาการทันสมัยออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างขนาดใหญ่จนสำเร็จ ยังเป็น “สะพานคอนกรีตที่ยาวสุดในไทย”

เบื้องหลังวิศวกรรม แบ่งความยาวของสะพานหลักส่วนที่เป็นคอนกรีตอัดแรงและส่วนสะพานด้านเหนือ-ใต้ของเกาะยอทั้ง ๒,๖๔๐ เมตร แยกเป็นช่วงละ ๔๐ เมตร โดยออกแบบเป็นคานกล่องคอนกรีตอัดแรงเซลล์เดี่ยวขนาดลึก ๒ เมตร ใช้วิธีหล่อสำเร็จเป็นท่อนละ ๒.๕ เมตร ค่อยนำไปติดตั้ง โดยใช้คานเหล็ก launching girder เป็นแบบรองรับช่วงก่อสร้าง ใช้อีพ็อกซีทารอยต่อพร้อมใส่แรงอัดขณะประกอบท่อนที่ประชิดเข้าด้วยกัน เมื่อประกอบเต็มช่วงตอม่อและส่วนยื่นถึงจะทำการอัดแรงถาวร

ที่สุดผลงานภายใต้การนำออกแบบโดยดอกเตอร์ชินวุฒิ บูรณารมย์ วิศวกรกรมทางหลวง ก็เกิดเป็นสะพานเชื่อมเกาะยอสองด้านระหว่างฝั่งบ้านน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา และบ้านเขาเขียว อำเภอสิงหนคร สร้าง-เสร็จในยุคที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ชาวตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา) เป็นนายกรัฐมนตรี สะพานนั้นจึงได้ตั้งตามชื่อสกุลนายกฯ ผู้เป็นที่รักให้ชาวบ้านเรียกเล่น ๆ “สะพานป๋าเปรม”

Image

“เกาะยอมีของดีหลายอย่าง...มีสะพานแล้วการไปมาก็สะดวกสบายขึ้น ที่ดินก็คงมีราคาแพงขึ้นด้วย แต่ถึงแพงก็อย่าขาย เก็บเอาไว้ทำกินตลอดไป”

โอวาทของรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ครั้งเปิดถนน กสช. (การสร้างงานในชนบท) ที่บ้านนอก หมู่ที่ ๓ ราวคำพยากรณ์ที่ไม่อาจเลี่ยง

“ผมเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๒ มากว่า ๒๐ ปี และเป็นสมาชิก อบต. เกาะยอสองสมัย จากนั้นก็ทำอยู่สภาวัฒนธรรมตำบลเกาะยอจนตอนนี้ ทำตั้งแต่ยังไม่มีสะพานป๋าเปรม สมัยก่อนไปไหนก็ใช้แต่เรือ จากที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลามาเกาะยอ ๖ กิโลเมตร นั่งเรือหางยาวครึ่งชั่วโมง ใครจะขนอะไรก็ข้ามแพขนานยนต์ ตั้งแต่เปิดสะพานปี ๒๕๒๙ สะดวกขึ้นมาก ใช้เส้นทางบก ๒๐ กิโลเมตร แต่เดินทาง ๑๕ นาทีก็ถึง”

จำแลง มนต์ประสาธน์ รองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเกาะยอ ย้อนอดีตชุมชนฐานะผู้ที่เกิดและเติบโตในบ้านตีน ภาษาถิ่นใต้หมายถึงทิศเหนือ ตามที่ตั้งหมู่บ้านที่อยู่ทิศเหนือของตำบลเกาะยอ

ความสะดวกสบายไม่เพียงนำความเจริญสู่ชนบท ยังเปลี่ยนหลายสิ่งอย่างให้เป็นชุมชนเมือง เกิดการประกอบอาชีพใหม่อย่างค้าขายหรือรับจ้างตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกที่ทางหลวงหมายเลข ๔๐๘ ตัดผ่าน หรือด้านฝั่งตะวันตกของเกาะยอที่มีถนนรอบเกาะเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข ๔๐๘ ชาวบ้านที่ทุนน้อยจะขายสินค้าพื้นถิ่น ผลไม้จากสวน ทำอาหารพื้นบ้านอย่างข้าวยำใบยอ ยำสาหร่ายผมนางหรือขายผ้าทอ ต่อมาก็มีกลุ่มนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินทำที่พักและร้านอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลสู่เกาะยอ

Image

ปี ๒๕๕๓ มีการสำรวจหมู่บ้านจัดสรรและแบ่งขายที่ดินเป็นห้อง พบว่ามีหมู่บ้านถาวรนิมิต หมู่บ้านสิริธารา หมู่บ้านขุนพิทักษ์ หมู่บ้านเกาะยอคันทรี ทำให้มีชาวเมืองอื่นมาเป็นประชากรเกาะยอเพิ่ม

ฐานวัฒน์ เจริญพรทิพย์ ชาวบ้านสวนทุเรียน หมู่ที่ ๔ ผู้เติบโตมากับบ้านเกิดสะท้อนว่า

“สมัยก่อนชาวบ้านอยู่กันสบาย ๆ เปิดประตูทิ้งไว้ไปไหนก็บอกเพื่อนบ้าน ถนนยังเป็นดิน ไปหาใครก็เดินเท้า ออกนอกเกาะก็ใช้เรือ เกาะยอเปลี่ยนชัดสุดตอนมีสะพานป๋าเปรม คนนอกเข้ามาอยู่มากขึ้น จากที่เดินมาสิบรู้จักแปดคน เดี๋ยวนี้เดินมาสิบรู้จักสอง ทักทายกันหลวม ๆ ไม่ได้ผูกพันเหมือนคนเฒ่าคนแก่”

ตามจริงชาวบ้านไม่ได้ค้านความเจริญ พวกเขาเพียงกำลังหาวิธีรักษาสมดุลให้ของดีที่หวงแหนเคียงข้างไปกับการพัฒนา สังเกตได้จากทุกวันนี้จุดชมวิวใด ๆ บนเกาะยอไม่เพียงชูทิวทัศน์ทะเลสาบ

ยังภูมิใจเปิดทางสว่างให้เห็นเสน่ห์สะพานติณฯ

สถาบันทักษิณลือนาม

ดั่งตำราความรู้คู่เมืองที่หากอยากเสพเรื่องราวของภาคใต้ต้องมาที่นี่

ทุกอย่างเริ่มในปี ๒๕๑๑ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ จากวิทยาลัยครูสงขลา รับคำสั่งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาไทยที่ “วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา” ซึ่งกำลังเปิดวิทยาเขตภาคใต้

“อาจารย์จึงนำนักศึกษาเก็บข้อมูลภาคสนาม ได้เรื่องราวทางวัฒนธรรมมาจำนวนมาก ทั้งหนังสือบุด สมุดข่อย กระบอกทองเหลืองทำขนมจีน กระต่ายขูดมะพร้าว ถ้วย ไห มีด ผ้าทอ ลูกปัด และข้อมูลมุขปาฐะอย่างนิทานพื้นบ้านเพลงกล่อมเด็ก บ้างก็จดบันทึก ทำบัตรคำ ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโออัดลงเทปคาสเซ็ต”

พนัดดา เทพญา นักวิชาการชำนาญการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ย้อนอดีต

พอวิทยาลัยยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตสงขลา ก็จัดหมวดสิ่งสะสมเก็บใน “ห้องวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้” จนได้แยกเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงสร้างอาคาร “ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้” พัฒนาสู่ “สถาบันทักษิณคดีศึกษา” มีศาสตราจารย์สุธิวงศ์เป็นผู้อำนวยการ ต่อมาขยาย “พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา” ให้ครบวงจร โดยสำรวจทำเลใหม่ ลงตัวบนที่ดิน ๒๒ ไร่ของบ้านอ่าวทราย หมู่ที่ ๑ ส่วนหนึ่งคือป่าช้าในวัดเขาบ่อ อีกส่วนคือที่ให้เช่าในวัดแหลมพ้อ ที่เหลือคือที่ดินบริจาคโดยชาวบ้าน

แล้วปี ๒๕๓๔ แหล่งการศึกษาขนาดใหญ่ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวกลุ่มอาคารและห้องจัดแสดง

ปี ๒๕๔๓ สถาบันทักษิณคดีศึกษาได้รางวัลดีเด่น “ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และรับรางวัลอื่นเรื่อยมาจนล่าสุด “Museum Thailand Popular Vote” จาก Museum Thailand Awards 2018 สะท้อนความสง่าของหน่วยงานดั่งเสาหลักเมือง

“นอกจากการจัดตั้งสถาบันทักษิณคดีศึกษาไว้เป็นสมบัติของชาวสงขลาแล้ว ยังมีการจัดโครงการสัญจรจำลองนิทรรศการที่มีในพิพิธภัณฑ์ ให้ครูและเยาวชนทั่วภาคใต้ที่ขาดโอกาสมาเกาะยอได้เข้าถึง”

ส่วนชาวเกาะยอ-เจ้าถิ่นได้รับประโยชน์ตอบแทนเต็มที่อยู่แล้ว

Image

เบญจาแบบดั้งเดิมจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา

อย่างผ้าทอที่เป็นวัฒนธรรมสำคัญ ครั้งหนึ่งเมื่อสถาบันทักษิณคดีศึกษาจะนำ “ผ้าหุ้มธรรมาสน์ของวัดท้ายยอ” ที่รักษาอยู่ในคลังข้อมูลออกจัดแสดงนิทรรศการสัญจรอุบลศรี อรรถพันธุ์ นักวิชาการของสถาบันทักษิณคดีศึกษาเกรงว่าผ้าผืนดั้งเดิมจะเสียหาย จึงสนับสนุนงบประมาณเลียนแบบขึ้นใหม่สามชุด มอบหมายให้ กริ้ม สินธุรัตน์ ครูภูมิปัญญาด้านทอผ้าเป็นผู้สำรวจ-แกะลายทอจากผืนเดิมเป็นหลัก แต่ด้วยสูงวัยสายตาพร่าลงจึงส่งไม้ต่อให้หลาน-จงกลณี สุวรรณพรรค ช่างทอผ้าเกาะยอเป็นผู้รับผิดชอบ

คุณค่าของผ้าโบราณผืนนั้นไม่เพียงสวยเด่นด้วยฝ้ายทอยกดอกบนพื้นสีแดง (น่าจะย้อมด้วยดินแดงเพราะเกาะยอไม่มีครั่ง) ทอยกดอกเป็นลวดลายเส้นพุ่งด้วยด้ายย้อมสีเหลือง (แก่นขนุน) เขียว (ใบไม้) และดำ (มะเกลือ) ตกแต่งชายผ้าด้วยลูกปัด ประกอบด้วยลายม้า ครุฑ คนถือไม้เท้า คนขี่ม้า คนต่อมือสลับกับดอกไม้ ยังสำคัญตรงการทอเป็นตัวอักษรดั่งไดอะรีของช่างทอ

...เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ พรรษาในปัจจุบัน นางเถ็กฉู้ นางเป้า และนางเถ็กลั่น ได้คิดสร้างผ้า นายบ้านหัก ผู้จัดการคิดสร้างร่วมกับชาวสงขลา ดญท่านทั้งหลายที่มีจิตโสมนัสยินดีที่เขาโมทนา...

ตัวอักษรบนผ้าผืนใหม่ยังคงคำผิดไว้ตามผืนต้นฉบับ เสร็จแล้วอาจารย์อุบลศรีเก็บไว้ชุดหนึ่ง แบ่งอีกชุดให้วัดท้ายยอใช้หุ้มธรรมาสน์แทนผืนเดิม ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้นั่งเทศน์ที่ศาลาการเปรียญในวันพระใหญ่ และอีกชุดหนึ่งมอบให้สถาบันทักษิณคดีศึกษาใช้จัดแสดงนิทรรศการสัญจร

พนัดดาว่าในรอบปีสถาบันทักษิณคดีศึกษาจะจัดกิจกรรมด้านประเพณีร่วมกับชุมชนเกาะยอเสมอ ล่าสุดใน “วันว่าง-รับเทียมดา” ที่คนภาคกลางเรียกสงกรานต์ก็ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นจัดกิจกรรมสรงน้ำสามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำเสนอภูมิปัญญาการทำเบญจา-แทงหยวก เชิญผู้สูงอายุชาวเกาะยอมานั่งให้ลูกหลานในชุมชนรดน้ำขอพร จัดเลี้ยงอาหารพื้นถิ่นที่หากินยากในวันปรกติ

ถึงยากและใช้งบประมาณอย่างไร ทุกอย่างก็ทำอย่างดีและเต็มที่ต่อเนื่องมา ๑๕ ปีแล้ว

ครั้งหนึ่งศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้ผลักดันให้ สถาบันทักษิณลือนาม กล่าวไว้ 

“ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง ถึงจะเปลืองก็จำเป็น”

งดงามบ้านเรือนไทย

ที่อยู่อาศัยบนเกาะยอมีเสน่ห์ตรงใช้กระเบื้องฝีมือชาวจีนปลูกตามตำราไทย

มี “ดินเหนียว” เนื้อแน่นละเอียด เป็นของขวัญชั้นเลิศที่ธรรมชาติมอบให้ ชาวเกาะกลางทะเลสาบน้ำเค็มจึงมีรายได้จากการปั้นหม้อ ไห โอ่ง อ่าง อิฐ ฯลฯ ขึ้นชื่อสุดคือ “กระเบื้องเกาะยอ” บริเวณวัดแหลมพ้อ หมู่ที่ ๔ เคยมีโรงเผาอยู่ ๔ โรง แถววัดโคกเปี้ยว บ้านท่าไทร หมู่ที่ ๕ และบ้านในบ้าน หมู่ที่ ๖ มีถึง ๒๐ โรง

“กระเบื้องดินเผาเกาะยอรับภูมิปัญญาจากคนจีนที่ลี้ภัยสงครามมาสงขลา ทำมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ที่เกาะยอทำทั้งกระเบื้องสำหรับมุงหลังคา กระเบื้องตีนริมชายคา มีรูปแบบกว่า ๒๐ รายการ”

ร้อยตรี ทวี ชาตะวิทยากูล อดีตนาวิกโยธิน เจ้าของ “สวนลุงวี” จำปาดะเกาะยอเล่าขณะชี้หลักฐานเตาเผาที่บูรณะจากซากเดิม ตั้งอยู่สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เชิงสะพานติณสูลานนท์

ในอดีตตั้งแต่ฝั่งเกาะยอไล่มาจนแถวนี้ (ตำบลพะวง) ไปจนบ้านท่านางหอม (ตำบลน้ำน้อย) บ้านบางโหนด (ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่) ล้วนเป็นแหล่งทำกระเบื้องดินเผา มีโรงงานใหญ่กว่า ๒๐๐ โรง

“พ่อผมก็รับจ้างตามโรงงาน การทำกระเบื้องต้องใช้แรงงานคนเยอะ คนทำจะได้เงินต่อเมื่อเสร็จเป็นกระเบื้องแล้ว ๑ หมื่นแผ่น ได้ ๒๐๐ บาท สมัยนั้นทองบาทละ ๔๐๐ บาท หมูกิโลกรัมละ ๑๐ บาท วิธีรับจ้างคือรวมกลุ่มกัน ส่วนใหญ่จึงเป็นคนในครอบครัว ตอนวัยรุ่นผมก็ได้ทำด้วย”

เขาเล่ากิจวัตรตามจำความได้ว่ามาแถวนี้ตั้งแต่ครั้งยังไม่เป็น “สวนป๋าเปรม”

Image

เตาเผาขนาดเล็กจุกระเบื้อง ๓ หมื่นแผ่น ที่สวนป๋าเปรม

“ขุดดินโคลนมา ๔ x ๔ ตารางเมตร ลึก ๒ เมตร ทำกระเบื้องในเตาเล็กได้ประมาณ ๓ หมื่นแผ่น ถ้าจะเผาด้วยเตาใหญ่ ๘ หมื่นแผ่น ก็ต้องใช้ดินโคลน ๘ x ๘ ตาราง
เมตร เอาหน้าดินออกลึก ๑ เมตร ถัดจากเมตรลงไปถึงจะเป็นดินเหนียวคุณภาพดี นำไปเดินย่ำนวดให้ดินเข้ากันแล้วไปกองในโรงก่อน ๒๐ วัน ถึงจะนำไปทำกระเบื้อง โรงงานจะมีพิมพ์ให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมปลายสามเหลี่ยมวางพิมพ์ลงนวดดินให้แน่นปาดด้วยคันธนูตรงที่เป็นลวด พอดึงพิมพ์ออกก็วางเรียงทีละห้าแผ่นแล้วนำไปตาก พอดินแห้งก็ทำตะขอเกี่ยว ได้ครบ ๓ หมื่นแผ่นก็ยกไปรอเผาใช้ฟืนจากไม้ยางพาราตัดเป็นหลาทำเชื้อเพลิงจุดไฟ”

จะมีคนเฝ้าเตาระวังไม่ให้ไฟถูกกระเบื้องแตก ครบ ๔๕
วัน ควันไฟที่ออกจากช่องลมจะอ่อนลง คือสัญญาณว่ากระเบื้องสุกได้ที่ จึงนำโคลนมาปิดช่องอีกเดือนครึ่งให้อุณหภูมิภายในลด ค่อยนำกระเบื้องออก

ชายวัยเกษียณนำทางสู่สะพานไม้ข้ามคลองยาว ๘๐๐ เมตร เป็นทางเดินศึกษาชีวภาพป่าชายเลน

“คลองนี้ชื่อ ‘คลองวง’ ยาว ๘ กิโลเมตร กว้าง ๑๕ เมตร อยู่ระหว่างตำบลพะวงกับตำบลน้ำน้อยที่อำเภอหาดใหญ่ ในอดีตคือ ‘เส้นทางกระเบื้องดินเผา’ ทำเสร็จจะขนลงเรือพายก่อน เพราะคลองลึกแค่ ๑-๒ เมตร แล้วขึ้นเรือสำเภาหรือเรือยนต์ไปส่งที่ท่าเรือสะพานเหล็ก ตำบลบ่อยาง ตรงเมืองเก่าสงขลา เป็นแหล่งขายที่มีนายทุนต่างชาติรอซื้อไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์  คนนอกอาจเรียกกระเบื้องสงขลาเพราะซื้อขายที่นั่น แต่คนสงขลาเรียกกระเบื้องเกาะยอ อาคารที่เมืองเก่าสงขลาก็ใช้กระเบื้องจากเกาะยอทั้งนั้น”

Image

บ้านบนเกาะยอก็ใช้กระเบื้องเกาะยอ ทั้งเรือนปั้นหยาเรือนหลังคาบลานอ เรือนหลังคาจั่ว บ้างถือหลัก “เรือนมงคลสูตร” ตามความเชื่อว่าการสร้างเรือนมีสองสาย ดั่งภาษิต “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” คือ “สายสัมมาทิฐิ” จะสร้างที่อาศัย ศาลา กุฏิ โดยเริ่มจากจั่ว ส่วน “สายมิจฉาทิฐิ” สร้างโรงสุรา โรงบ่อนพนัน มักเริ่มจากลงเสา ถือเคล็ดให้กิจการหนักแน่น แต่นอกจากนั้นมงคลสูตรยังเกี่ยวข้องกับทิศมงคล เช่น สร้างบ้านในลักขณา “ลอยหวัน” ไม่ “ขวางหวัน” (แสงตะวัน) กระทั่งใช้วัสดุต่าง ๆ ก็ต้องมีนัยดี กระเบื้องมุงหลังคาต้องใช้ดินเผาชั้นเลิศเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตผู้อาศัย กระเบื้องเกาะยอก็ได้รับบรรจุให้อยู่ในเรือนมงคลสูตร

ปรากฏหลักฐานที่ “กุฏิเรือนปั้นหยา” อายุกว่า ๒๐๐ ปี
ของเจ้าอาวาสวัดท้ายยอ บ้านท้ายสระ หมู่ที่ ๘  เด่นด้วยเรือนหมู่สามหลัง เรียกตามมงคลสูตร “พ่อแม่พาลูก” เป็นสถาปัตยกรรมถิ่นใต้ผสมอิทธิพลจีน คือหันหน้าสู่ทะเลยกพื้นสูง ตอกเสาไม้ด้วยเดือยแทนตะปู ไม่ฝังเสาลงดินโดยตรง (จะก่ออิฐกันความชื้น) เสา-เรือนไม่ยึดติดอะไร ตั้งบนตีนเสาด้วยน้ำหนักของเรือนล้วน ๆ แล้วมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาเกาะยอ

“เรือนที่ปูกระเบื้องแบบนี้ข้างในเย็นสบายมาก น้ำหนักเบาแต่ทนทาน ขายดีมาตลอดจนปี ๒๕๒๐ มีกระเบื้องลอนตามอิทธิพลตะวันตกมาตีตลาด มีนวัตกรรมใหม่จูงใจผู้บริโภค โรงงานกระเบื้องจึงปรับตัว จนเดี๋ยวนี้เหลือโรงที่มีเตาเผาแบบดั้งเดิมอยู่เพียงแห่งเดียวที่บ้านท่านางหอม ใครใช้กระเบื้องเกาะยออยู่ถ้าจะซ่อมแซมก็ต้องไปซื้อจากที่นั่น เมื่อก่อนแผ่นละ ๒๐ สตางค์ เดี๋ยวนี้แผ่นละ ๕-๗ บาท”

ทุกวันนี้ “สูตรเรือน” ที่เป็น “มงคล” บนความ งดงามบ้านเรือนไทย จึงเหลือน้อย

ที่เกาะยอ...
การเติบโตอย่างฉลาดอาจไม่ได้หมายถึงต้องเก็บทุกสิ่งอย่าง แต่เลือกรักษาเฉพาะตัวตนไว้ศึกษาก่อนทำลายความยั่งยืน  

ขอขอบคุณ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง

ข้อมูลอ้างอิง
ชัยวุฒิ พิยะกูล และคณะ. (๒๕๔๙). เกาะยอ : ภูมินิเวศวัฒนธรรมและพัฒนาการชุมชน. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา.

ณัฐเขต หมูทอง. “วิวัฒนาการสร้างสะพานโดยใช้เทคโนโลยีคอนกรีตอัดแรง”. วารสารกรมวิทยาศาสตร์และบริการ, น. ๓๘.

นิตย์ พงศ์พฤกษ์. (๒๕๕๓). เกาะยอปริทัศน์. สงขลา : ศูนย์สามวัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว.