Image

ซากเรือประมงสัญชาติเวียดนามที่รุกล้ำเข้ามาหาปลาในน่านน้ำไทยเมื่อหลายปีก่อนถูกลากมาจอดทิ้งไว้ในทะเลสาบสงขลา ทรุดโทรมผุพังตามกาลเวลากลายเป็นขยะชิ้นใหญ่

4 วาระสิ่งแวดล้อม
รอบ (ลุ่ม) ทะเลสาบสงขลา

SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า

เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบแบบลากูน (lagoon) หนึ่งเดียวของประเทศไทย รองรับน้ำจืดจากน้ำฝน น้ำคลอง และน้ำหลากจากแผ่นดิน โดยมีน้ำเค็มจากทะเลรุกเข้ามาผสมผสาน ความเค็มของน้ำในทะเลสาบจึงเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและอิทธิพลของน้ำทะเล

ทะเลสาบสงขลาแบ่งเป็นสี่ส่วนใหญ่ ๆ แต่ละส่วนมีค่าความเค็มของน้ำแตกต่างกันไป ไล่จากเหนือลงใต้ ได้แก่ ทะเลน้อย น้ำเป็นน้ำจืด พื้นที่ ๒๗ ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย ๑.๒ เมตร ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง พบพืชน้ำและป่าพรุขนาดใหญ่  ถัดลงมาคือทะเลสาบตอนบนหรือทะเลหลวง ส่วนใหญ่ในรอบปีเป็นน้ำจืด พื้นที่ ๔๗๓ ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย ๒ เมตรอยู่ในอำเภอระโนดและกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา

ทะเลสาบตอนกลาง น้ำเป็นน้ำกร่อย พื้นที่ ๓๖๐ ตารางกิโลเมตร ความลึกประมาณ ๒ เมตร อยู่ในอำเภอกระแสสินธุ์และสทิงพระ จังหวัดสงขลา  และทะเลสาบตอนล่าง เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทย ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากน้ำทะเลขึ้นและลง พื้นที่ ๑๘๒ ตารางกิโลเมตรลึกประมาณ ๑.๕ เมตร เฉพาะช่องแคบเชื่อมทะเลสาบกับอ่าวไทยใช้ในการเดินเรือมีความลึก ๑๒-๑๔ เมตร สภาพน้ำกร่อยถึงน้ำเค็ม ช่วงฤดูฝนบางส่วนเป็นน้ำกร่อย ตั้งอยู่ในอำเภอควนเนียง บางกล่ำ หาดใหญ่ สิงหนคร และอำเภอเมืองสงขลา

ส่วน “พื้นน้ำ” ของทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ทั้งหมด ๑,๐๔๒ ตารางกิโลเมตร นับเป็น “ทะเลสาบสามน้ำ” ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดความยาวจากเหนือจดใต้ได้ ๑๕๐ กิโลเมตร และจากตะวันออกจดตะวันตก ๖๕ กิโลเมตร

เมื่อผนวกรวมกับส่วน “พื้นดิน” รอบทะเลสาบอีก ๘,๗๖๑ ตารางกิโลเมตร จะเป็นอาณาเขตของ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”

แม้จะเป็นที่ตั้งสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ผู้คนอาศัยใช้ประโยชน์เกื้อกูลต่อวิถีชีวิต แต่ทุกวันนี้ทะเลสาบสงขลากำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ที่ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรม  การทำลายป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ  การชะล้างพังทลายของหน้าดิน ลำคลองสาขา และทะเลสาบจนตื้นเขิน  สัตว์น้ำหายากและบางชนิดใกล้สูญพันธุ์  การสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เกินศักยภาพ ปัญหาน้ำเสีย  การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกินขนาด การท่องเที่ยวและนันทนาการที่ขาดการควบคุมฯลฯ

และนี่คือสี่วาระสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนที่ต้องจับตา

Image

ซาก “เรือญวน” กว่า ๑๐๐ ลำจอดระเกะระกะตามจุดต่างๆ ในทะเลสาบสงขลา เช่น คลองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง บริเวณท่าแพขนานยนต์ทางไปบ่อเก๋ง ทำลายทัศนียภาพและสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน


สุสานเรือเวียดนาม 
จาก “เรือประมงผิดกฎหมาย” สู่ “ขยะทะเลสาบ”

Image

ย้อนกลับไปปี ๒๕๕๗ มีเรือประมงสัญชาติเวียดนามเข้ามาจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย และถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับดำเนินคดี  ภายหลังคดีสิ้นสุด เรือประมงจำนวน ๑๕๒ ลำถูกลากมาจอดทิ้งไว้ในทะเลสาบสงขลา และค่อย ๆ ทรุดโทรมผุพังไปตามกาลเวลา โดยภาครัฐไม่มีมาตรการชัดเจนว่าจะจัดการกับเรือผิดกฎหมายเหล่านี้อย่างไร ทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการกีดขวางเส้นทางน้ำไหลจากทะเลสาบสงขลาออกสู่ทะเล เศษซากเรือบางส่วนจมลงใต้น้ำทำให้ทะเลสาบตื้นเขิน ทัศนะอุจาดที่ทำลายทัศนียภาพและความงามของทะเลสาบสงขลา  นอกจากนี้ยังกลายเป็นแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติด

เรือประมงผิดกฎหมายกลายเป็นขยะชิ้นใหญ่ในทะเลสาบสงขลา

ทุกวันนี้การจัดการซากเรือประมงสัญชาติเวียดนามยังเป็นปัญหาคาราคาซังที่หน่วยงานราชการแก้ไม่ตก

เคยมีความพยายามแก้ปัญหา “สุสานเรือเวียดนาม” ด้วยการเปิดประมูลย้ายซากเรือไปจมทำเป็นปะการังเทียมหรือบ้านปลานอกชายฝั่งอ่าวไทย มีเรือถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ๔๐ ลำ เหลืออีกประมาณ ๑๑๕ ลำ

ล่าสุดมีข้อเสนอจากภาคประชาชนว่าสงขลามีหกอำเภอติดทะเล  ถ้านำเรือไปทำปะการังเทียมอำเภอละ ๒๐ ลำ ก็น่าจะช่วยสนับสนุนการทำประมงใกล้ฝั่ง สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ชายทะเลเป็นแหล่งตกปลาสร้างรายได้  ทั้งนี้คาดว่างบประมาณว่าจ้างให้บริษัทเอกชนเคลื่อนย้ายเรือออกไปวางทำปะการังในหกอำเภอจะตกลำละ ๑-๒ แสนบาท รวมทั้งหมด ๒๐-๓๐ ล้านบาทก็อาจสามารถจัดการกับปัญหาคาราคาซังนี้ได้

อย่างไรก็ตามการทำให้เรือจมลงสู่ก้นทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย เคยมีกรณีนำเรือเวียดนามไปจมใกล้เกาะหนู ผ่านไประยะเวลาหนึ่งเรือกลับลอยขึ้นผิวน้ำ ต้องหาทางจมเรือลงไปอีกครั้ง  


การตื้นเขินของทะเลสาบ
และคลองสาขา

Image

คลองสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา หนึ่งในคลองท้องถิ่นที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนถูกขุดลอกปากร่องน้ำในส่วนที่ตื้นเขิน

แผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๙ ฉบับประชาชน จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การตื้นเขินของทะเลสาบและแหล่งน้ำที่เกี่ยวข้อง เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะบริเวณทะเลสาบตอนล่าง มีการตกตะกอนสูงประมาณ ๑๕ มิลลิเมตรต่อปี ส่งผลให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเสื่อมโทรม การสัญจรทางน้ำไม่สะดวก เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปัญหาอุทกภัยจะรุนแรงขึ้น แต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

หลายปีที่ผ่านมา การตื้นเขินของคลองสาขาและทะเลสาบเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาหลักของลุ่มน้ำสุภาพ แก้วสวี นายช่างขุดลอกอาวุโส สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ ๔ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมให้ข้อมูลว่า เดิมการขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบสงขลามีจุดประสงค์เพื่อเดินเรือ แต่ผลพลอยได้คือเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ จากเอกสารหลักฐานที่มีพบว่าดำเนินการขุดลอกมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ก่อนปี ๒๕๕๐ ก็มีการขุดลอกแล้ว

จากการชี้แจงของกรมเจ้าท่า การตื้นเขินของแหล่งน้ำอาจเป็นผลจากพายุฝนและคลื่นลมมรสุมพัดพาตะกอนทรายตามแนวชายฝั่งมาทับถมเกิดเป็นสันดอนที่บริเวณปากร่องน้ำ การขุดลอกนอกจากช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วในการเดินเรือแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

การตื้นเขินของทะเลสาบและคลองสาขาสายต่าง ๆ ยังเชื่อมโยงกับปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม แหล่งน้ำเสียส่วนใหญ่มีที่มาจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม นากุ้ง ฟาร์มหมู

ยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระบุว่า การขุดลอกทะเลสาบและลำคลองสาขาในแหล่งที่ตื้นเขินอย่างเหมาะสมจะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ แต่ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการและลำดับความสำคัญของพื้นที่การจัดทำแผนแม่บทการขุดลอกเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาทุกครั้งต้องมีหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำ รวมทั้งผู้คนจำนวนมาก  

ขอขอบคุณ
สุภาพ แก้วสวี นายช่างขุดลอกอาวุโส สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ ๔ กรมเจ้าท่า กระทรวงคม


“ทัวร์เบ็ด” ตกปลาเชิงอนุรักษ์ ผลักดันใบอนุญาต “เรือท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำ”

Image

ภาพ : สมาคมส่งเสริมการตกปลาเชิงอนุุรักษ์จังหวัดสงขลา

การตกปลาด้วย “เบ็ด” ออกเดินทางไปกับเรือลำเล็ก ๆ เป็นกิจกรรมที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

การตกปลาเป็นทั้งกีฬาและนันทนาการที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในหลายประเทศ ซึ่งในประเทศไทยก็จัดเป็น ๑ ใน ๔๑ ชนิดกีฬาของการกีฬาแห่งประเทศไทยสถานที่สำหรับกิจกรรมตกปลามักเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างความรู้สึกสดชื่น รื่นรมย์ ใกล้ชิดธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือทะเลสาบสงขลา

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เรือ “ทัวร์เบ็ด” นำนักท่องเที่ยวรอนแรมตกปลาราวร้อยละ ๙๐ ในประเทศไทยยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนประเภทเรือ (type of engagement) และประเภทการใช้งาน (type of vessel) ให้อยู่ในกลุ่มเรือสันทนาการและสำราญกีฬา (recreation and sport vehicles) ประเภทท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำ (recreation fishing vessel)  โดยส่วนใหญ่ยังถือทะเบียนเรือบรรทุกคนโดยสาร (passenger ship) ทั้งที่เป็นเรือเร็ว (speed boat) และเรือกอและ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ ทำให้ผู้ประกอบการเจ้าของเรือทัวร์เบ็ดเสี่ยงถูกฟ้องร้องและจับกุม  และเคยมีเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ร้องเรียนว่าเรือตกปลาแบบทัวร์เบ็ดไม่ใช่กลุ่มเรือสำหรับทำการประมง (fisheries) ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการประมง แต่กลับนำคนมาตกปลา

ช่องว่างทางกฎหมายกำลังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และกีฬาตกปลาทั่วฟ้าเมืองไทย

Image
Image

หลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายนักตกปลาพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐนำโดยกรมเจ้าท่าเร่งออกใบอนุญาตประกอบกิจการเรือประเภทท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำ เพื่อทัวร์เบ็ดถูกต้องตามกฎหมาย

ชาญชูชัย เปียทนงค์ หรือ “ไต๋โต้ง” นายกสมาคมส่งเสริมการตกปลาเชิงอนุรักษ์จังหวัดสงขลา และผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ก่อนหน้านี้กรมเจ้าท่าเคยเปิดให้ยื่นขึ้นทะเบียนเรือประเภทท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำ แต่ออกใบอนุญาตได้ไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ก็ปิดการออกใบอนุญาต แตกต่างจากการออกใบอนุญาตจำนวนมากให้เรือประมงพาณิชย์รูปแบบอื่น ๆ

ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำให้ชาวประมงพื้นบ้านทำมาหากินเลี้ยงปากท้องมาเนิ่นนาน โดยทั่วไปแล้วเรือทัวร์เบ็ดจะเป็นของเจ้าของเรือประมงพื้นบ้านขนาดต่ำกว่า ๑๐ ตันกรอส ซึ่งต้องการได้ประโยชน์เพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

“เราใช้วิธีตกปลาขึ้นมาทีละตัว ไม่ใช่ประมงแบบทำลายล้าง การอนุรักษ์ไม่ใช่การห้าม แต่เป็นการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการหมุนเวียนในวงจรชีวิตร่วมกัน  ทัวร์เบ็ดไม่ส่งเสริมเครื่องมือทำลายล้างทรัพยากรทางทะเลทุกรูปแบบ  อยากให้กรมเจ้าท่าเปิดให้เรือตกปลาได้มีโอกาสจดทะเบียนมีใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้การตกปลาเชิงอนุรักษ์ด้วยทัวร์เบ็ดจะเพิ่มสมรรถนะด้านการท่องเที่ยวในทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน” ไต๋โต้งอธิบาย

ปลายปี ๒๕๖๕ ไต๋โต้งนำเครือข่ายนักตกปลายื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ต่อมาวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ กรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร จัดประชุมเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นมีความเห็นว่ากรมประมงควรเร่งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจับสัตว์น้ำ โดยคำนึงถึงเครื่องมือที่มีความเหมาะสม กรมเจ้าท่าควรเร่งเปิดจดทะเบียนเรือและออกใบอนุญาต ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ต้องการจดทะเบียนเรือทราบอย่างทั่วถึง และกรมการท่องเที่ยวควรจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ถ้าทำสำเร็จจะถือเป็นก้าวย่างสำคัญของวงการตกปลาเมืองไทย ส่งเสริมกีฬาตกปลาและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่เฉพาะในทะเลสาบสงขลา แต่รวมถึงแหล่งน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ  

ขอขอบคุณ
สมาคมส่งเสริมการตกปลาเชิงอนุรักษ์จังหวัดสงขลา, ชมรมตกปลาหัวเขื่อนจังหวัดสงขลา, เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 


โลมาอิรวดี 
๑๔ ตัวสุดท้าย

Image

ภาพ : ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง

โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง หรือโลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin, Orcaella brevirostris) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด มีลักษณะเด่นคือหัวมนกลม ลำตัวสีเทาหรือน้ำเงินเข้ม ยาวประมาณ ๑๗๘-๒๗๔ เซนติเมตร มีครีบหลังเล็ก ๆ รูปร่างสามเหลี่ยมปลายมนครีบด้านข้างกว้างและยาว พบครั้งแรกในแม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า จึงเรียกว่า “โลมาอิรวดี” ปัจจุบันสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (endangered) ระดับโลกตามบัญชีแดง (Red List) ของ IUCN และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย

ในน่านน้ำไทยมีโลมาอิรวดีอาศัยอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ส่วนหนึ่งเข้ามาอาศัยในทะเลสาบสงขลา กลายเป็นโลมาอิรวดีในแหล่งน้ำจืดเพียงไม่กี่แห่งในโลก นอกจากในแม่น้ำโขง แหล่งน้ำจืดในอินเดีย อินโดนีเซีย พม่า และกัมพูชา

ราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า จากการสำรวจประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาปี ๒๕๔๗ พบว่ามีประชากรประมาณ ๑๐๐ ตัว แต่จากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ ทั้งทางเรือ อากาศ และการสอบถามชาวประมง คาดว่าเหลือเพียง ๑๔-๒๐ ตัวเท่านั้น อาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนบน ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง พื้นที่ประมาณ ๘ หมื่นไร่ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การเก็บบันทึกข้อมูล ช่วงระหว่างปี ๒๕๔๗-๒๕๖๕ พบโลมาอิรวดีเกยตื้นตายจำนวน ๙๔ ตัว เฉพาะช่วงปี ๒๕๕๐-๒๕๕๕ อัตราการตายสูงถึง ๑๐ ตัวต่อปี แม้ต่อมาจะลดลงซึ่งอาจเพราะประชากรโลมาอิรวดีเหลือน้อยลงแล้ว

สาเหตุการตายร้อยละ ๖๐ เกิดจากการติดเครื่องมือของชาวประมง โดยเฉพาะอุปกรณ์จับปลาบึกและปลากะพง ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจในพื้นที่  รองลงมาร้อยละ ๓๘ เกิดจากการเจ็บป่วย คาดว่าการผสมพันธุ์ภายในฝูงทำให้เกิดปัญหาเลือดชิด โลมาอิรวดีมีสุขภาพอ่อนแอ  และอีกร้อยละ ๒ ได้รับบาดเจ็บจนตายจากใบพัดเรือ

ประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลานับว่าอยู่ในขั้นวิกฤตเมื่อเทียบกับแหล่งน้ำจืดอื่น ๆ เช่น อินเดียยังเหลือ ๑๔๐ ตัว อินโดนีเซีย ๙๐ ตัว พม่า ๘๐ ตัว กัมพูชา ๙๐ ตัว

ล่าสุดมีความพยายามผลักดันให้โลมาอิรวดีมีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวน แต่ยังต้องผ่านกระบวนการศึกษาและขั้นตอนทางกฎหมายอีกหลายขั้น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่สร้างความตระหนักรู้เรื่องการใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ การทำประมงอย่างระมัดระวัง ควบคุมการใช้อุปกรณ์ในเขตต้องห้าม ถึงแม้ชาวบ้านจะตอบรับให้ความร่วมมือ แต่ยังมีชาวประมงนอกพื้นที่ไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดแผนการอนุรักษ์โลมาอิรวดีเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว  แผนระยะสั้น ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ มีห้าแผนงาน ประกอบด้วย การลดภัยคุกคาม, การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารและจัดทำพื้นที่หวงห้าม, การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์, การศึกษาวิจัยและการช่วยชีวิตและดูแลรักษาโลมาอิรวดีเกยตื้น

ส่วนแผนงานระยะยาว ปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ประกอบด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากร โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลมาอิรวดี และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย

เป้าหมายของแผนทั้งสองระยะคือเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรโลมาอิรวดีภายใน ๑๐ ปี ให้เป็น ๓๐ ตัว  

ขอขอบคุณ
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สัตว์น้ำหายากและใกล้ สูญพันธุ์ในทะเลสาบสงขลา

มีจำนวนลดลงเพราะความเสื่อมโทรมของสภาวะแวดล้อม เช่น ปลาดุกลำพัน (Prophagorus nieuhofii), ปลาเกล็ดถี่ (Thynnichthys thynnoides), ปลาเม่น (Osphronemus goramy), ปลาตุ่ม (Puntius bulu), ปลาลำปำ (Puntius schwanenfeldii)  รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นาก (Lutra spp.) นกกาบบัว (Mycteria leucocephala)