ป่าสนุกของนักวิจัยจิ๋ว
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ถ้าเด็กๆ ได้เติบโตมากับพิพิธภัณฑ์ พวกเขาจะรักสิ่งที่อยู่ในนั้นโดยปริยาย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ตระหนักว่าภูมิประเทศสงขลาเด่นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติมั่งคั่ง จึงแบ่งพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์จัดตั้งพิพิธภัณฑ-สถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษาสยามบรมราชกุมารี จัดหานิทรรศการและกิจกรรมดึงดูดให้เด็ก-เยาวชนสนใจสิ่งแวดล้อม
อาคารสามชั้นเล่านิทรรศการตั้งแต่ “ต้นกำเนิดธรรมชาติ” ก่อเกิดจักรวาลจนวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต มีตัวอย่างหิน-แร่ เล่าธรณีกาลและป่าดึกดำบรรพ์ ชวนเข้าใจความเป็นไปของโลกอดีตถึงปัจจุบัน
แล้วนำทางขึ้นชั้น ๒ พบ “ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต” ที่เป็นดั่ง “หัวใจพิพิธภัณฑ์” แสดงซากพืช-สัตว์จริงจากผลงานวิชาการที่บุคลากรของ ม.อ. ร่วมกับนักวิจัยต่างพื้นที่ย่อยข้อมูลจนได้ใจความแสนสั้นเหมาะส่งต่อชุมชน บรรดาตัวอย่างน่ารู้จักทั้งปะการัง แมลง สัตว์ทะเล สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์บก สัตว์ปีก ฯลฯ น่าสนใจ “ค้างคาวแวมไพร์แปลงทองอารีย์” ที่กระจายพันธุ์ในป่าดิบฮาลา-บาลาของจังหวัดนราธิวาส และ “แมลงหางดีดหกชนิด” (แมลงหางดีดหางหนามพังงา แมลงหางดีดหางหนามท่าชนะ แมลงหางดีดหางหนาม เขาพัง แมลงหางดีดหางหนามพนม แมลงหางดีดหางขนนกเขาฉกรรจ์ และแมลงหางดีดหางขนนกสงขลา) ซึ่งล้วนเป็น “สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก” บ่งชี้ความสำคัญของสมบัติชาวใต้
สำหรับเด็กน้อยได้ตาวาวแน่กับชั้นบนสุดของอาคารที่เล่า “ระบบนิเวศ” ถ่ายทอดสิ่งที่พูดยากเป็นรูปธรรมผ่านการจำลองสภาพพื้นที่ต่างรูปแบบ ตั้งแต่โลกใต้ทะเลอันมืดมิด ป่าชายเลน ป่าชายหาด จนถึงป่าบนเขาหินปูนในท้องถิ่นภาคใต้ ให้พวกเขาเล่นสนุกสมมุติตนเป็นนักสำรวจ-นักวิจัยจิ๋ว
แต่ละก้าวที่ลองถอดรองเท้าเดินสัมผัสวัสดุต่าง ๆ ที่ขนทัพมาเสริมจินตนาการให้เรียนรู้พื้นผิวอันหลากหลาย ทั้งขรุขระของกรวดหิน นุ่มนิ่มแบบโคลนตม กรอบแกรบราวเหยียบใบไม้แห้ง สะดุดรากไม้ เกาะเกี่ยวเถาวัลย์ ท่ามกลางสิ่งจัดแสดงสังคมพืช-สัตว์ ไม่เพียงกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ยังเสริมให้เข้าใจความสำคัญทางชีวภาพที่พืช-สัตว์ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อพื้นที่นั้น ๆ
หากความตื่นตาตื่นใจในก้าวแรกมีพลังมากพอให้หลงใหล เด็กน้อยอาจเป็นฝ่ายขอให้พ่อแม่พาไปท่องเที่ยวทางธรรมชาติจริง ด้วยรู้สึกรักทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น อนาคตเราอาจมีนักวิชาการผู้หวงแหนทรัพย์สินถิ่นเกิดหน้าใหม่ซึ่งมีจุดเริ่มบันดาลใจจากสรรพสิ่งในป่าจำลองนี้
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู
พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา
สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
๑๕ ถนนกาญจนวณิชย์ อำเภอหาดใหญ่
จังหวัดสงขลา ๙๐๑๑๐
เปิดวันอังคาร-เสาร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.
โทร. ๐-๗๔๒๘-๒๗๘๒-๓