Image
น้ำตาลเทียม
ไม่ลดอ้วน แต่ทำให้อ้วน
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
กระแสคลั่งผอมและรักสุขภาพทำให้เครื่องดื่มและอาหาร “ไร้น้ำตาล” “น้ำตาลซีโร่” “ไร้แคลอรี” ได้รับความนิยมในท้องตลาดมาหลายสิบปีแล้ว
อยากควบคุมน้ำหนักไปสู่คนรักสุขภาพ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพก็นิยมดื่มน้ำอัดลมซีโร่ หรือรับประทานขนมปังไร้แป้ง เข้าทำนอง “ป้องกันไว้ก่อน” ผู้เขียนมีเพื่อนรักสุขภาพที่แม้จะไม่มีปัญหาน้ำหนักตัว แต่พกน้ำตาลเทียมยี่ห้อดังไว้เพื่อปรุงรสอาหารแทนน้ำตาล

แท้จริงมีงานวิจัยด้านสุขภาพที่ชี้ให้เห็นพิษภัยของน้ำตาลเทียมทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง รบกวนระบบจุลินทรีย์ดีในลำไส้ เป็นต้น

เฉพาะปีที่แล้วมีงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำตาลเทียมหลายชิ้น เช่น งานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มโภชนาออนไลน์ (NutriNet-Santé) เรื่องน้ำตาลเทียมกับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โดยเก็บข้อมูลคนฝรั่งเศสประมาณ ๑ แสนคนที่บริโภคน้ำตาลเทียมซึ่งเป็นที่รู้จักในท้องตลาด คือแอสพาร์เทมและอะซีซัลเฟม เค พบว่าน้ำตาลเทียมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

ส่วนการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๕ โดยคณะวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสได้ศึกษาผลของสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่ใช้ทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ แอสพาร์เทม อะซีซัลเฟม เค (โพแทสเซียม) และซูคราโลส ที่มีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ในประชากรตัวอย่างประมาณ ๑ แสนคน อายุเฉลี่ย ๔๒ ปี พบว่าผู้ที่กินน้ำตาลเทียมมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น ๙ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ๑.๑๘ เท่าของผู้ที่ไม่บริโภคน้ำตาลเทียมเลย โดยแอสพาร์เทมเพิ่มการเกิดโรคหลอดเลือดสมองถึง ๑.๑๗ เท่า ส่วนอะซีซัลเฟม เค และซูคราโลส เพิ่มการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ๑.๔ และ ๑.๓ เท่าตามลำดับ

การศึกษาของ Cleveland Clinic ตีพิมพ์ใน วารสารการแพทย์เนเจอร์เมดิซีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โดยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ๔,๐๐๐ คน พบว่าการกินน้ำตาลเทียมอิริทริทอล (erythritol) ส่งผลเสีย ต่อหลอดเลือดหัวใจ ทำให้ภาวะหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตกเพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงหลายปีมานี้การใช้อิริทริทอลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใช้แทนน้ำตาลในอาหารไร้แป้งหรือคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่นอาหารคีโต รวมทั้งใช้ในคนที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน และมีปัญหาระบบการเผาผลาญอาหาร
ส่วนบทความเรื่อง “นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เพราะเรากินสารให้ความหวานเทียมโดยเฉพาะแอสปาร์แตมหรือเปล่า” โดยกรมอนามัย ระบุว่า น้ำตาลเทียมมีผลกระทบต่ออารมณ์เชิงลบ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า โดยเฉพาะแอสพาร์เทมซึ่งพบบ่อยในน้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาล รวมถึงสารให้ความหวานอื่น ๆ เช่น ซอร์บิทอล ไซลิทอล  มีงานวิจัยพบว่าการกินน้ำตาลเทียมกระตุ้นให้อยากกินน้ำตาลเพิ่มขึ้นและส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับลดลงด้วย

ทั้งนี้เพราะแอสพาร์เทมสามารถเพิ่มสารสื่อประสาทฟีนิลอะลานีน ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นสารสื่อประสาทประเภททำให้ตื่นตัว (โดปามีนและนอร์-เอพิเนฟริน) นอกจากนี้ยังเพิ่มสารที่ก่อให้เกิดความเครียด (คอร์ติซอล) และอนุมูลอิสระมากเกินไป ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของสมองและส่งผลเสียต่อระบบประสาท โดยมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบพบว่าผู้บริโภคแอสพาร์เทมสูง (๒๕ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักตัวต่อวัน) จะมีอารมณ์หงุดหงิดขึ้นและมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้บริโภคแอสพาร์เทมน้อย (น้อยกว่า ๑๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักตัวต่อวัน)

ส่วนประเด็นการควบคุมน้ำหนัก นักวิจัยมหาวิทยาลัยแมนิโทบาได้วิเคราะห์ผลการศึกษา ๓๗ ชิ้น ที่ติดตามผลจากคนกว่า ๔ แสนคนนานร่วม ๑๐ ปี พบว่าผู้บริโภคน้ำตาลเทียมไม่ได้มีน้ำหนักตัวลดลงแต่อย่างใด ในทางกลับกันยังส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่ม เสี่ยงต่อเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจด้วย

“สาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม เพราะน้ำตาลเทียมกระตุ้นความอยากอาหาร ส่งผลให้กินเยอะขึ้น จึงเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง และโรคต่าง ๆ ตามมา  คนที่บริโภคน้ำตาลเทียมหรือเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มักคิดว่าเมื่อพวกเขาระวังในเรื่องนี้แล้ว จึงไม่ได้เคร่งครัดเรื่องการกินและควบคุมอาหาร” ดอกเตอร์เมแกน บี. อาซาด หัวหน้าคณะวิจัยกล่าว

ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์นับไม่ถ้วนดังกล่าว ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO
ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเตือนว่า จากการตรวจสอบหลักฐานและงานวิจัยต่าง ๆ อย่างเป็นระบบพบว่า สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมไม่ช่วย “ลดน้ำหนัก” หรือ “ลดไขมัน” ในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตด้วย
Image
“การกินอาหาร ‘ไร้น้ำตาล’ จากการใส่น้ำตาลเทียมไม่ช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาว อีกทั้งยังไม่มีคุณค่าทางโภชนาการใด ๆ ควรใช้วิธีลดน้ำตาลโดยกินอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่หวานแทน” ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการขององค์การอนามัยโลกกล่าว

อนึ่งคำเตือนในแถลงการณ์นี้ใช้ไม่ได้กับกลุ่มคนที่ป่วยเป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว ทั้งไม่แนะนำให้ใช้น้ำตาลเทียมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ รวมถึงไม่ครอบคลุมน้ำตาลเทียมที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร เช่นยาสีฟัน

กรมอนามัยเตือนว่าควรใช้น้ำตาลเทียมอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็กซึ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมักบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อน้ำหนักตัว นอกจากนี้ต้องระวังอาหารที่ฉลากระบุว่า “Sugar Free” เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจผิดว่าไม่มีน้ำตาลจึงบริโภคในปริมาณมาก ซึ่งอาจมีสารให้ความหวานที่ให้พลังงานอยู่ก็ได้ เช่น ซอร์บิทอล หรือมานิทอล รวมทั้งอาจมีแป้งและไขมันในสัดส่วนที่สูงมากแทนซึ่งย่อมมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้
สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ทางเลือกสุขภาพที่ดีกว่าคือลดการบริโภคอาหารรสหวาน เช่น ดื่มเครื่องดื่มหวานน้อยหรือไม่ใส่น้ำตาล และอ่านฉลากโภชนาการโดยซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาลและไม่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล