บรรยากาศที่ป้อมหมายเลข ๘ บริเวณหัวเขาแดง ในยามที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวท้องถิ่น
กาลครั้งหนึ่ง
รัฐสุลต่านสงขลา
SONGKHLA CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เจ้าเมืองสงขลาได้จัดเตรียมรักษาเมืองอย่างเข้มแข็ง สั่งให้นำปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งบนเขา...เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใด พระเจ้ากรุงสยามจะยกพลลงมาตี...”
ซามูเอล พอตต์ส
เจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออก (EIC) ของอังกฤษ ส่งจดหมายถึง ริชาร์ด เบอร์นาบี ที่กรุงศรีอยุธยา ๒๒ มกราคม ๒๒๒๒/ค.ศ. ๑๖๗๙
สายวันนั้น หลังขึ้นเนินชัน ๔๕ องศาของเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มาราว ๔๐ นาที ผมก็พบว่าตัวเองไม่ใช่ผู้มาเยือนเส้นทางที่เคยเป็นอดีตสมรภูมิยุคโบราณแห่งนี้เพียงคนเดียว
ที่ยอดเขา กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคใต้หลบร้อนอยู่ใต้ร่มไม้ใกล้ “เจดีย์สองพี่น้อง” โบราณสถานที่ตามประวัติมีว่าขุนนางสยามสองคน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (เจ้าพระยาพระคลัง/ดิศ บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา/ทัต บุนนาค) สร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทับโครงสร้างเดิมของป้อมโบราณที่ป้องกันสงขลาในยุครุ่งเรืองที่สุด
ยุคที่ได้รับการเรียกขานว่า “สงขลาหัวเขาแดง”
อาจารย์ที่มากับกลุ่มนักศึกษาเล่าว่า พวกเขาไม่ได้มาที่หัวเขาแดงด้วยจุดประสงค์ทางประวัติศาสตร์ หากแต่มาเพื่อศึกษาพืชสมุนไพรที่มีหลากหลายชนิด
จินตนาการย้อนกลับไป หรือนี่คือหนึ่งใน “ปัจจัย” ที่ทำให้ “แขก” ผู้มาจากโพ้นทะเลคนหนึ่งสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นที่นี่ จนเป็นที่กล่าวขานในหมู่นักเดินเรือในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ว่า “Singora” คือนครรัฐอันมั่งคั่ง
ไม่แพ้ปาตานีดารุสซาลาม ก่อนที่จะถูกสยาม (กรุงศรีอยุธยา) ทำลายจนต้องปิดฉากในหน้าประวัติศาสตร์ไป
หลงเหลือจนถึงวันนี้ก็เพียงพื้นที่เล็ก ๆ ใน “ประวัติศาสตร์กระแสรอง” เท่านั้น
ภาพจากแผนที่ “ราชอาณาจักรสยาม” ของ ปีแยร์ ดูวาล
กว่าจะเป็น “สงขลา” ในรัฐไทยสมัยใหม่
“อยู่มาเล่าไซร้ ตาตุพะระหุม มาแต่เมืองสาลัย และมาขอพระราชทาน ฯ ๓ ฯ”
พระตำราบรมราชูทิศ พระกัลปนาหัวเมืองพัทลุง
ก่อนสำรวจร่องรอยสงขลายุครัฐสุลต่าน ผมพิมพ์คำว่า “สงขลาหัวเขาแดง” ในกูเกิลทำให้พบข่าวการบุกรุกโบราณสถานแห่งนี้ย้อนไปจนถึงต้นปี ๒๕๖๕ ไม่ว่ากรณีขุดดินลูกรังไปขาย ขุดทำลายเขาน้อย ทุบเจดีย์ ตัดทางโดยพลการ ไม่เว้นแม้กระทั่งทำลายจารึกบนสุสานสุลต่านโดยเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงกระแสเล็ก ๆ ในโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก #ปกป้องเขาแดง #Save_singora เท่านั้น
ปัจจุบันร่องรอย “เมืองสงขลาหัวเขาแดง” ปรากฏให้เห็นเพียงแนวกำแพงเมืองเก่า ซากป้อมโบราณ เนินดิน เศษหินกระจัดกระจาย ฯลฯ กินพื้นที่ ๑ ตารางกิโลเมตร (๖๒๕ ไร่)
กางแผนที่สงขลายุคปัจจุบันจะพบว่ามันตั้งอยู่ปลายคาบสมุทรสทิงพระ บริเวณที่ทะเลสาบสงขลาไหลลงอ่าวไทยพอดี โดยมี “เขาแดง” และ “เขาบ่อทรัพย์” ทำหน้าที่คล้ายหอคอยด้านทิศใต้ เป็นจุดสังเกตเรือเข้าออกระหว่างทะเลเปิดกับอ่าวภายใน (ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง)
ทิศตะวันออกมีร่องรอยกำแพงต่อเนื่องจากเชิงเขาแดงขึ้นไปทางเหนือ จากนั้นกำแพงจะปรากฏทางทิศเหนือพร้อมกับแนวคูเมือง ทางด้านตะวันตกมีเขาน้อยทำหน้าที่เป็นปราการธรรมชาติ
ข้อมูลของสำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา ระบุว่า การสำรวจและขุดค้นพบป้อมปืนรอบเมืองประมาณ ๑๘ ป้อม ด้านทิศตะวันออกนอกแนวกำแพงยังมีร่องรอยป้อมปืนริมอ่าวไทย (ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นแล้ว)
รายละเอียดการสร้างเมืองสงขลาหัวเขาแดงในหลักฐานไทยที่เก่าที่สุดคือสมุดไทยขาว พระตำราบรมราชูทิศ พระกัลปนาหัวเมืองพัทลุง ซึ่งบันทึกเรื่องกษัตริย์อยุธยาพระราชทานที่ดิน ไร่นา ผู้คน เพื่อให้ผลประโยชน์และแรงงานหล่อเลี้ยงวัดภายใต้การกำกับของเจ้าอาวาส โดยผู้คนเหล่านี้ถือเป็น “เลกวัด” ไม่ต้องเข้าเดือนใช้แรงงานหรือขึ้นสังกัดกับขุนนางตามระบบการควบคุมกำลังคน
พระตำราฯ เขียนว่า จุลศักราช ๙๗๗ (ปี ๒๑๕๘/ค.ศ. ๑๖๑๕/ตรงกับรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา/ครองราชย์ปี ๒๑๕๑-๒๑๕๔/ค.ศ. ๑๖๐๘-๑๖๑๑) “อยู่มาเล่าไซร้ ตาตุพะระหุม มาแต่เมืองสาลัย และมาขอพระราชทาน ฯ ๓ ฯ”
แผนผังสังเขปเมืองสงขลาหัวเขาแดง ยุคสุลต่านสุลัยมาน-สุลต่านมุสตาฟา และระบบป้องกันเมือง
(ปี ๒๑๖๓-๒๒๒๘/ค.ศ. ๑๖๒๐-๑๖๘๕)
ดัดแปลงจาก : ภาพใน ชัยวุฒิ พิยะกูล. (๒๕๒๗). ความรู้เรื่องโบราณวิทยาเมืองพัทลุง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.(หมายเหตุ ป้อมหมายเลข ๙ น่าจะจมอยู่ในอ่าวไทย)
นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งตีความว่า “ตาตุพะระหุม”คือคนเดียวกับที่ปรากฏในรายงานของบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตน (East India Company - EIC) ว่าคือผู้ครองสงขลา (Singora) ที่ชื่อ “ดะโต๊ะโมกอล” ที่เป็น “ข้าหลวงของพระเจ้ากรุงสยาม” ขณะที่เอกสารบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Vereenigde OostIndische Compagnie - VOC) เรียกเขาว่า “ดะโต๊ะโมกุล/โมกอล” (Datuk Mogul)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า คำว่า “โมกอล” หรือ “โมกุล” อันเป็นนามของเจ้าเมืองสงขลาคนแรกนั้น คนไทยมักใช้แทนชาวมุสลิมที่มาจากตะวันออกกลางและอินเดีย รวมถึงแขกเจ้าเซ็น แขกมะหง่น ที่เป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์
เกรแฮม เอช. ดาลริมเพิล (Graham H. Dalrymple) นักวิจัยจากศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และ คริสโตเฟอร์ เอ็ม. โจลล์ (Christopher M. Joll) จากศูนย์ศึกษาศาสนา วิทยาลัยสังคมและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ มองต่างไปว่าโมกอลคือส่วนหนึ่งของคลื่นชาวมุสลิมที่อพยพไปทั่วเอเชียในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นนิกายชีอะฮ์ที่สำคัญน่าจะพูดภาษามลายู อันเป็นภาษาเพื่อการติดต่อค้าขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยนั้นได้ดี
ส่วนเมือง “สาลัย” ที่จากมานั้น ลูกหลาน “สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน” เชื้อสายของดะโต๊ะโมกอลเสนอใน ประวัติศาสตร์ ตระกูล สุลต่าน สุลัยมาน ว่าน่าจะเป็นเมืองสเลมาน (Sleman) ที่เรียกกันในหมู่คนเกาะชวาว่า เมือง “สาเลห์” (Saleh) ปัจจุบันเป็นเขตหนึ่งของเมืองยอกยาการ์ตา ที่เต็มไปด้วยโบราณสถานสำคัญต่อประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย
ยังปรากฏชุดคำอธิบายว่า ดะโต๊ะโมกอลหลบหนีการคุกคามของนักล่าอาณานิคมตะวันตกแล้วยกกองเรือมาที่หัวเขาแดง ซึ่งยุคนั้นเป็นพื้นที่ต่อเนื่องของเขตเมืองพัทลุงโบราณ
การที่รายงาน EIC ในปี ๒๑๖๕/ค.ศ. ๑๖๒๒ บอกว่าดะโต๊ะโมกอลเป็น “ข้าหลวงของพระเจ้ากรุงสยาม” ยังอาจแสดงว่าสงขลายอมรับอำนาจกรุงศรีอยุธยาและเป็นเมืองท่าสำคัญแล้ว
โยเนโอะ อิชิอิ (Yoneo Ishii) นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น เคยเสนอว่า สงขลาน่าจะก่อตั้งและยอมรับอำนาจกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่ปี ๒๑๓๖/ค.ศ. ๑๕๙๓ (ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช/ครองราชย์ปี ๒๑๓๓-๒๑๔๘/ค.ศ. ๑๕๙๐-๑๖๐๕) และน่าจะมีชาวตะวันตกเข้าไปตั้งสถานีการค้ามาตั้งแต่ตอนนั้น ขณะที่หลักฐานอื่นไม่ระบุปีก่อตั้ง เพียงแต่ให้ข้อมูลว่าในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ปี ๒๑๕๔-๒๑๗๑/ค.ศ. ๑๖๑๑-๑๖๒๘) สงขลาก็มีตัวตนบนแผนที่อยุธยาแล้ว
ดัดแปลงจาก : บอร์ดนิทรรศการประวัติศาสตร์สงขลา โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น
ที่ค่อนข้างชัดเจนคือ ภูมิประเทศของสงขลายุคก่อร่างสร้างเมืองไม่ได้มีหน้าตาแบบปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๖/ค.ศ. ๒๐๒๓) ภาพสงขลาสมัยดะโต๊ะโมกอลในแผนที่ “ราช-อาณาจักรสยาม” (Carte du Royaume de SIAM) ของปีแยร์ ดูวาล (Pierre Duval) ปี ๒๒๒๙/ค.ศ. ๑๖๘๖ วาดสงขลาส่วนหนึ่งเป็นเกาะห้าเกาะ มีเกาะใหญ่หนึ่งเกาะ เกาะเล็กสี่เกาะอยู่ทางใต้ เขียนว่า Tantalem
เมื่อชัดเจนว่าแผนที่ฉบับนี้เขียนขึ้นหลังคณะทูตฝรั่งเศสของ เชอวาลีเย เดอ โชมง (Alexandre Chevalier de Chaumont) เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ปี ๒๑๙๙-๒๒๓๑/ค.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๘๘) ในปี ๒๒๒๘/ค.ศ. ๑๖๘๕ นี่จึงน่าจะเป็นแผนที่ฉบับแรกที่ลงรายละเอียดเมืองท่าในอ่าวสยามไว้โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของสงขลาชัดเจน
เฟรเดอริก อาร์เทอร์ นีล (Frederick Arthur Neale) นักเดินเรือชาวอังกฤษ ยังบันทึกใน ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทัศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๓-
๒๓๘๔ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ยืนยันข้อมูลเรื่องพื้นที่สงขลาเป็นเกาะว่า เขาแล่นเรือผ่าน “ช่องแคบอยู่ระหว่างนครศรีธรรมราช (Ligor) และหมู่เกาะตันตาเลม (Tantalem)” ก่อนถึงเมือง โดยระหว่างเกาะเหล่านี้เองที่สันทรายกำลังก่อตัวขึ้น ต่อมาก็เชื่อมเกาะต่าง ๆ ติดกัน เกิดคาบสมุทรสทิงพระ ปิดอ่าวภายในจนเกิดทะเลสาบสงขลาราวสมัยรัชกาลที่ ๕ ในที่สุด
สงขลาที่หัวเขาแดงยังเกิดในยุคที่การค้าทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่งเรือง สินค้าสำคัญที่แลกเปลี่ยนซื้อขายแถบนี้คือ พริกไทย ฝ้าย เครื่องถ้วยจีน หนังกวาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในยุโรป ญี่ปุ่น ทำกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ให้พ่อค้า ผลประโยชน์นี้ได้ดึงให้ VOC เข้ามาแข่งขันกับโปรตุเกสเพื่อควบคุมเส้นทางการค้าแถบนี้ให้จงได้
VOC ยังเริ่มตั้งสถานีการค้าที่ปาตานีตั้งแต่ปี ๒๑๔๕/ค.ศ. ๑๖๐๒ (ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ขณะที่อังกฤษก็ตั้งสถานีการค้าที่ปาตานีตามมาตั้งแต่ปี ๒๑๕๕/ค.ศ. ๑๖๑๒ ที่น่าสนใจคือ ขณะนั้นปาตานีมีผู้ปกครองเป็นสตรีคือรายาฮิเยา (ครองราชย์ปี ๒๑๒๗-๒๑๕๙/ค.ศ. ๑๕๘๔-๑๖๑๖) และกำลังเข้าสู่ยุคที่รุ่งเรืองทางการค้าที่สุดยุคหนึ่ง
ยังไม่นับว่ารัฐสุลต่านบนปลายแหลมมลายูและเกาะต่าง ๆ (ที่ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย) กลายเป็นพื้นที่ที่ดัตช์และอังกฤษแข่งขันกันสร้างอิทธิพลอย่างดุเดือด
ดอกเตอร์อภิราดี จันทร์แสง วิเคราะห์ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก “Local Autonomy : Chinese Community in Songkhla during Late Eighteenth and Nineteenth
Centuries” ว่า สถานะของสงขลาใต้อำนาจดะโต๊ะโมกอล
นั้น “คลุมเครือ” เพราะด้านหนึ่งยอมรับอำนาจกรุงศรีอยุธยา แต่อีกด้านหนึ่งก็แสดงออกกับพ่อค้านานาชาติว่ามีอิสระในการตัดสินใจจนผู้ปกครองได้รับการเรียกขานว่า “รายา” (Raja)
รายงานของ EIC สมัยที่ดะโต๊ะโมกอลปกครองสงขลาชี้ว่า สงขลามีทำเลเหมาะสำหรับเป็นสถานีการค้าที่น่าลงทุนกว่าปาตานี โดยมองว่าถ้าตั้งสถานีการค้าที่นี่จะสามารถ “...ตระเวนหาสินค้าจากบริเวณใกล้เคียงเพื่อจัดส่งให้ห้างของเราที่กรุงสยาม โคชินไชน่า บอร์เนียว...ญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี” รวมถึงการส่งสินค้าไปบันตัม [ปัจจุบันคือจังหวัดบันเติน (Banten) อยู่ด้านทิศตะวันตกสุดของเกาะชวา] และจาการ์ตา ขอเพียง “ยอมเสียของกำนัลให้แก่ดะโต๊ะโมกอลเพียงเล็กน้อยก็อาจนำสินค้าผ่านไปได้...”
ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ปาตานี “แพงมาก ทั้งยังไม่ค่อยได้รับความสะดวก” เพราะต้องจ่ายสินบน
บาทหลวงเดอ ชัวซี (François-Timoléon de Choisy) ซึ่งเข้ามาพร้อมกับราชทูตฝรั่งเศสคือ เดอ โชมง ในปี ๒๒๒๘/ค.ศ. ๑๖๘๕ (รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) บรรยายลักษณะท่าเรือสงขลาเอาไว้ว่า “...เป็นที่กำบังต่อข้าศึกอยู่ในตัวแล้ว ถ้าจะทำท่าเรืออย่างดีที่เมืองนี้ก็ทำได้ง่ายโดยไม่ต้องลงทุนเท่าไรนัก เพราะเรือขนาดกลางก็เข้าออกได้อย่างสบาย และเมื่อเข้าไปจอดแล้วก็อยู่ในที่กำบังลมได้ทุกฤดู”
ที่สำคัญ การมาค้าขายที่สงขลายังไม่ต้องใช้หนังสือลงตราของกษัตริย์สยามแต่อย่างใด
ห้วงเดียวกัน การค้าที่ปาตานีก็ดูจะก่อปัญหากับดัตช์ บันทึกของมาเทเลฟ (Admiral Cornelis Matelieff) นายทหารเรือดัตช์ที่เขียนในปี ๒๑๕๑/ค.ศ. ๑๖๐๘ ยังเสนอให้ VOC ถอนสถานีการค้าออกจากปาตานี เพราะมีความเสี่ยง ด้วยรายาฮิเยาไม่ได้ปกครองจริง แต่อำนาจอยู่กับบรรดาขุนนางที่ “ทำสิ่งใดก็ได้” ผลคือ “...ถ้าบริษัทได้กำไรแต่เพียงเล็กน้อย ขุนนางพ่อค้า (orang kaya-โอรังกายา) ก็ขัดขวางการค้าขาย อ้างว่ารายาต้องการสินค้าเมื่อเรานำไปถวายเขาก็จะสร้างกำไร เราถูกกระทำไม่ต่างจากทาส ขุนนางเหล่านี้มีมาก เหิมเกริมไม่สิ้นสุด...”
ต่างกับ EIC ซึ่งมองรายาสตรีว่า “ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน” เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องสินบนเท่านั้น
ปาตานีจึงเป็นคู่แข่งทางการค้าของสงขลาโดยตรงทายาทสายตระกูล ณ สงขลา เสนอว่า ดะโต๊ะโมกอล ปกครองถึงปี ๒๑๖๓/ค.ศ. ๑๖๒๐ บุตรคือสุลัยมาน (Suleiman) ก็รับตำแหน่งต่อ เจ้าเมืองสงขลาท่านนี้เองที่บาทหลวงเดอ ชัวซี เขียนบรรยายว่า “เมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๒ (ปี ๒๑๘๕) มีแขกมลายูคน ๑ ได้ไปตั้งตัวเปนใหญ่ที่เมืองสงขลา...”
จากช่วงเวลาจะพบว่าการตั้งตัวเป็นใหญ่นี้เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ปี ๒๑๗๓-๒๑๙๙/ค.ศ. ๑๖๓๐-๑๖๕๖) ของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นห้วงหลังเกิดเหตุชิงบัลลังก์พระโอรสสององค์ของพระเจ้าทรงธรรมติดกันในปี ๒๑๗๓/ค.ศ. ๑๖๓๐ คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราชและสมเด็จพระอาทิตยวงศ์
“เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์” ที่ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าปราสาททองจึงไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศราชและคู่ค้า เช่น นครศรีธรรมราช ปาตานี และญี่ปุ่น ดังนั้น สุลัยมานจึง “ตั้งตัวเปนกษัตริย์ เรียกกันว่าพระเจ้าเมืองสงขลา” จากนั้นก็เสริมระบบป้องกันเมืองสงขลาให้เข้มแข็ง
เดอ ชัวซี บันทึกว่าท่าทีสุลต่านสุลัยมานคือ “ทำป้อมคูประตูหอรบอย่างแข็งแรงแน่นหนา และในไม่ช้าก็ได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าทั้งหลายให้ไปทำการค้าขายในเมืองสงขลาอย่างใหญ่โตมาก...” จนปรากฏคำให้การลูกเรือสำเภาจีนที่ไปถึงเมืองนางาซากิ เล่าถึงสินค้าในสงขลาว่ารวบรวมมาจากหลายที่ เช่น ดีบุก ตะกั่ว ฝาง หวาย ข้าว โดยในเมืองแม้ว่าจะเป็นสุลต่านปกครอง แต่กลุ่มพ่อค้าหลักคือชาวจีน
ด้านปาตานี ใน Hikayat Patani หลักฐานที่บันทึกเรื่องราวของปาตานีก็ให้รายละเอียดการทำสงครามกับสยามช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลของรายาสตรีสององค์ คือ รายาบีรู (ครองราชย์ปี ๒๑๕๙-๒๑๖๗/ค.ศ. ๑๖๑๖-๑๖๒๔) และรายาอูงู (ครองราชย์ปี ๒๑๖๗-๒๑๗๘/ค.ศ. ๑๖๒๔-๑๖๓๕)
โดยชนวนเหตุมาจากเรื่อง “ออกญาเดโช” (Okphaya Deca) บุตรผู้ครองนครศรีธรรมราช (เมืองที่มีอำนาจปกครองหัวเมืองทางใต้และควบคุมหัวเมืองมลายูของสยาม) Hikayat Patani ระบุว่าออกญาผู้นี้สมรสกับเจ้าหญิงกูนิง (Rajah Kuning) ชันษา ๑๒ ปี ต่อมาออกญาเดโชถูกเรียกกลับกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นรายาอูงูยอมให้เจ้าหญิงกูนิงสมรสกับรายารัฐยะโฮร์ (Johore) จนสร้างความไม่พอใจให้สยาม
ทางด้านนครศรีธรรมราชก็อยู่ในภาวะวุ่นวาย เนื่องจากออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) ที่ถูกส่งมาเป็นเจ้าเมือง มีท่าทีต่อต้านสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง บันทึกของญี่ปุ่นและฮอลันดาให้ข้อมูลขัดแย้งกันหลายเรื่องเกี่ยวกับภาวะไม่มั่นคงในเมือง เช่น ยามาดะวางแผนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาแล้วถูกวางยาพิษ
ยังมีกรณี “โออิน” บุตรยามาดะที่พยายามรักษาอำนาจในเมืองนครศรีธรรมราชแต่ไม่สำเร็จ แต่ทั้งหมดก็ลงเอยด้วยความตายของยามาดะ และโออินต้องหลบหนีออกไปทางกัมพูชา
ทั้งหมดนี้ชัดเจนว่าสถานการณ์ช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่ราบรื่น โดยเฉพาะในแหลมมลายูและบรรดารัฐสุลต่านแถบนั้น
หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งจากยุคสุลต่านสุลัยมานคือปืนใหญ่ที่ปัจจุบันตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลเชลซี ประเทศอังกฤษ
ปืนใหญ่กระบอกนี้เดินทางไกลไปถึงยุโรปเนื่องมาจากสงครามหลายครั้ง
ครั้งแรก สยามยึดในปี ๒๒๒๘/ค.ศ. ๑๖๘๕ จากนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาโดนทำลายในปี ๒๓๑๐/ค.ศ. ๑๗๖๗ พม่าก็นำปืนใหญ่นี้ไป เมื่อพม่าแพ้อังกฤษ อังกฤษก็นำปืนใหญ่นี้ไปอีกทีหนึ่ง
ที่น่าสนใจคือ บนกระบอกปืนมีจารึกอักษรอาหรับและยาวี
เกรแฮมและคริสโตเฟอร์วิเคราะห์ว่าสิ่งนี้บ่งถึงความพยายามสร้างความเข้มแข็งให้สงขลา เพื่อต่อรองกับคู่แข่งโดยเฉพาะปาตานีที่มีชื่อเสียงเรื่องค้าอาวุธ ถึงกับมีรายงาน VOC ชิ้นหนึ่งบอกว่าปืนใหญ่ปาตานีบางกระบอกนั้นใหญ่กว่าปืนใหญ่ในอัมสเตอร์ดัมเสียอีก
สถานการณ์รอบสงขลาหัวเขาแดงในยุคสุลต่านสุลัยมานก็ไม่น่าวางใจ ด้วยบริเวณนี้กลายเป็น “พื้นที่สงคราม” เพราะเมื่อกรุงศรีอยุธยาควบคุมนครศรีธรรมราชได้อีกครั้ง (หลังปราบยามาดะ) ก็รบกับปาตานีเป็นระยะ ในบันทึกชาวตะวันตกระบุว่าปาตานีโจมตีนครศรีธรรมราชในปี ๒๑๗๓/ค.ศ. ๑๖๓๐ จากนั้นกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเริ่มโจมตีปาตานีกลับในปี ๒๑๗๗/ค.ศ. ๑๖๓๔
สุลต่านสุลัยมานจึงต้องหาทางป้องกันตัวเอง ด้วยเป็นที่รู้ว่าในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็ย่อมจะไม่ปล่อยสงขลาไว้เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (วันวลิต) เจ้าหน้าที่ VOC บันทึกว่าสงครามระหว่างสงขลากับกรุงศรีอยุธยาเกิดในปีที่ ๕ ของรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ทัพอยุธยาที่บุกมา “ถูกตีแตก” การโจมตีครั้งต่อมาของกรุงศรีอยุธยาก็ล้มเหลว มีการไกล่เกลี่ยโดย “ผู้ครองรัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) และพระสงฆ์ชาวสยาม” จึงยุติสงครามได้
“สุลต่านสุลัยมาน” ในจินตนาการของศิลปิน ซึ่งแพร่หลายในพื้นที่สงขลา
สงขลาจึงยืนหยัดในฐานะเมืองท่าอิสระได้สำเร็จ
ต่อมาเมื่อสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับปาตานีและนครศรีธรรมราชสงบ การค้าที่รุ่งเรืองก็ทำให้สถานะ “เมืองเอกราช” ของสงขลาหนักแน่นขึ้น
นักประวัติศาสตร์หลายท่านเสนอว่า ปีที่สงขลาเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยาจริงคือปี ๒๑๘๕/ค.ศ. ๑๖๔๒
วันวลิตที่ไปสงขลากับเรือ Heemskerck ในปีนั้นยังพบว่าสุลัยมานไม่พอพระทัยที่พบว่าพระคลังของกรุงศรีอยุธยามอบหนังสือมีเนื้อความระบุว่าสงขลาเปิดค้าขายให้กับชาวต่างชาติให้วันวลิตติดตัวไป โดยที่สุลต่านสุลัยมานไม่รับรู้เรื่องนี้มาก่อน สุลต่านจึงยืนยันว่าเอกสารนี้ “ไม่จำเป็น”
อันเป็นสัญญาณชัดเจนในการแยกตัวออกจากกรุงศรีอยุธยา
หลังจากนั้นหลักฐานฮอลันดาระบุว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโจมตีสงขลาอย่างน้อยห้าครั้ง แต่ล้มเหลวทุกครั้ง ครั้งสำคัญคือปี ๒๑๙๑/ค.ศ. ๑๖๔๘ ที่กองเรืออยุธยาโจมตีหัวเขาแดงโดยขอกำลังเสริมจาก VOC อีกครั้งคือในเดือนมกราคม ๒๑๙๙ (นับปีแบบไทย)/ค.ศ. ๑๖๕๗ กรุงศรีอยุธยาส่งทัพเรือโจมตีโดยเชื่อว่าจะได้รับกำลังเสริมจาก VOC แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็น VOC ไปยึดเอามะริดไว้ และไม่ส่งกำลังมาช่วยตีสงขลา
จดหมายของ VOC จากปัตตาเวีย (จาการ์ตา) ถึง สำนักงานใหญ่ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า กรุงศรีอยุธยาส่ง “ออกญาเซบาร์ติบัน” (Oja Zebartiban/ไม่ทราบชื่อไทย) นำทัพไปตี “พวกกบฏที่สงขลา” โดย VOC ไม่เห็นด้วยกับพ่อค้าคนหนึ่งที่ไปสัญญากับสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (แทนบริษัท) ว่า VOC จะสนับสนุนทัพเรือทั้งที่มีสงครามอื่น “ล้นมือ” โดย VOC ไม่ต้องการผูกมัดบริษัทกับสงคราม
ในปี ๒๑๙๙/ค.ศ. ๑๖๕๖ กรุงศรีอยุธยาพยายามโจมตีสงขลาอีกครั้งแต่ก็ล้มเหลว ผลคือออกญาเซบาร์ติบันกับแม่ทัพนายกองถูกสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกริ้ว
ความล้มเหลวนี้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะศักยภาพของกรุงศรีอยุธยาเองด้วย เห็นได้จากบันทึกของลา ลูแบร์ กล่าวถึงทัพเรือสยามยุคนั้นว่าอ่อนแอในการรบทางทะเลทั้งอาณาจักรมีเรือกำปั่นขนาดย่อมเพียงห้าถึงหกลำ ส่วนมากใช้บรรทุกสินค้า นอกนั้นคือเรือกาแลร์ (เรือโบราณใช้ทั้งใบและแจว) มักใช้ชาวต่างประเทศเดินเรือ
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ VOC ไม่สนับสนุนกรุงศรีอยุธยาคือ VOC เจรจาเรื่องการค้ากับสุลต่านสุลัยมานได้โดยตรงแล้วในเวลานั้น
ต่อมาความสัมพันธ์สงขลา-กรุงศรีอยุธยาเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงปราบดาภิเษก เกิดสถานการณ์ใหม่คือ รัฐสุลต่านส่วนมากที่เคยต่อต้านสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกลับยอมรับสิทธิธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ฯ จนส่วนมากยอมถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองอีกครั้ง
แผนผังเมืองสงขลาของเดอ ลามาร์ (de Lamare)
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สุลต่านสุลัยมานก็ดำเนินนโยบายนี้ ทว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงปฏิเสธเพราะต้องการให้สุลต่านมาเข้าเฝ้าฯ ด้วยตัวเองที่กรุงศรีอยุธยา อีก ๒ ปีต่อมา (ปี ๒๒๐๑/ค.ศ.๑๖๕๘) คณะทูตจากสงขลาถูกปฏิเสธอีกเพราะสุลต่านสุลัยมานไม่ปรากฏพระองค์ที่กรุงศรีอยุธยา แต่ในที่สุดปีถัดมากรุงศรีอยุธยาก็รับเครื่องบรรณาการจากสงขลา
อย่างไรก็ตามเกรแฮมและคริสโตเฟอร์ชี้ว่าสันติภาพนี้อยู่ไม่นานนัก เพราะในปี ๒๒๐๕/ค.ศ. ๑๖๖๒ ระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาติดศึกทางเหนือ สุลต่านสุลัยมานก็ส่งกำลังไปโจมตีนครศรีธรรมราชอีก
ส่วนศึกกับปาตานีก็มิได้สงบ ปาตานีโจมตีสงขลาหลายครั้ง คือในปี ๒๒๑๒/ค.ศ. ๑๖๖๙, ปี ๒๒๑๔/ค.ศ. ๑๖๗๑ และปี ๒๒๑๗/ค.ศ. ๑๖๗๔ แต่สงขลาก็ตั้งรับไว้ได้ สงครามระหว่างสองรัฐเมืองท่ายังทำให้การค้าทางทะเลถูกรบกวนเห็นได้จากสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพยายามเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย
บันทึกของ VOC เล่าว่า “...หากทั้งสองเมืองยังไม่สามารถปรองดองกันได้แล้วก็ไม่อาจขนเอาสินค้าจำพวกผ้าหรือช้างลงมาได้โดยปลอดภัย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการค้าอย่างใหญ่หลวง”
อย่างไรก็ตาม “รายาแห่งปัตตานีนั้นไม่ประสงค์จะขอสงบศึก เพราะยังเชื่อมั่นว่าตนมีไพร่พลมากมาย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ประสงค์จะสงบศึกด้วยเหมือนกัน แม้ว่าฝ่ายสงขลาจะมีไพร่พลไม่ถึงหนึ่งในสี่ของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นไพร่พลที่มีพละกำลังกำยำล่ำสันและชำนาญการรบยุทธวิธีและคุ้นเคยกับการใช้ปืนไฟมาก่อน...”
สยามยังโจมตีปาตานีอีก มีบันทึกของ EIC ในปี ๒๒๑๗/ค.ศ. ๑๖๗๔ ว่า สยาม “สั่งประหารชีวิตขุนนางชั้นผู้ใหญ่” ของปาตานี ทำให้การค้า “ซบเซา” ลง
แผนผังเมืองสงขลาของเมอซีเยอ เดอ ลามาร์ (M. de Lamare) นายช่างชาวฝรั่งเศสที่ร่างไว้ (ในปี ๒๒๓๔/ค.ศ. ๑๖๙๑) และการค้นคว้าของหม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน ในยุคต่อมา ยังได้ทิ้งเบาะแสว่า สงขลายุคสุลต่านสุลัยมานช่วงปลาย ตัวเมืองถูกย้ายถอยลึกเข้ามาทางด้านทิศตะวันตกห่างจากทะเลมากขึ้น เพราะตัวเมืองส่วนติดริมทะเลถูกน้ำท่วม โดยคาดว่าน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
แต่สิ่งที่แน่ชัดคือ ท่ามกลางหมอกควันสงคราม สงขลายุคสุลต่านสุลัยมานนั้นยืนหยัดในฐานะรัฐอิสระและเป็นเมืองท่าสำคัญของคาบสมุทรมลายูด้านทิศตะวันออกอย่างแน่นอน
หัวเขาแดง มองจากฝั่งทะเลในของทะเลสาบสงขลา จะเห็นป้อมโบราณอยู่บนสันเขา
พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๑ (สงขลา) เล่าให้ผมฟังว่า ซากโบราณสถานหัวเขาแดงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ โดยกินพื้นที่กว่า ๓,๐๐๐ ไร่ “ก่อนหน้านี้ตรงนั้นคือพื้นที่ป่าสาธารณะ ในแง่ของเรื่องราว เมืองสงขลาที่หัวเขาแดงเก่ากว่าทางด้านสงขลาบ่อยาง (อำเภอเมืองสงขลาปัจจุบัน) มาก”
อย่างไรก็ตามพื้นที่กว้างขนาดนี้แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ดูแลแค่ ๑๒ คน ถือเป็นชุดปฏิบัติการชุดเดียวของสำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
จากการสำรวจ ผมพบว่าโดยรอบเมืองเก่าหัวเขาแดง ยังปรากฏร่องรอยคูเมือง ซากกำแพงและป้อมหลายป้อม บางป้อมอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ เช่น ป้อมหมายเลข ๘ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ป้อมหมายเลข ๑๑ ทางทิศเหนือ ส่วนป้อมที่อยู่บนสันเขานั้น มีเส้นทางเดินถึงกัน มองเห็นภูมิประเทศโดยรอบได้ดี ในอดีตทหารที่ทำหน้าที่เฝ้าป้อมเหล่านี้คง “กำยำล่ำสัน” แบบที่บันทึกของดัตช์บอก เพราะเส้นทางสูงชัน
ระบบป้องกันนี้เองที่รับ “ศึกสุดท้าย” จากกรุงศรีอยุธยาก่อนที่สงขลายุคสุลต่านจะล่มสลาย
ย้อนกลับไปช่วงรอยต่อรัชกาลสุลต่านสุลัยมานกับสุลต่านมุสตาฟา (Mustapha) ระยะเปลี่ยนผ่านนี้ก็ไม่มีบันทึกที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อใด
สงบ ส่งเมือง ผู้ทำวิจัย การพัฒนาหัวเมืองสงขลาในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ปี ๒๓๑๐-๒๔๔๔) เสนอว่ามีการเปลี่ยนรัชกาลในปี ๒๒๑๑/ค.ศ. ๑๖๖๘ แต่งานศึกษารุ่นหลังกลับระบุว่าเป็นปี ๒๒๑๙/ค.ศ. ๑๖๗๖
ทั้งนี้เมื่อสุลต่านมุสตาฟาปกครองสงขลา สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอีก พระองค์ตัดสินพระทัยเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อถวายบังคมสมเด็จพระนารายณ์ฯ และได้รับพระราชทานตำแหน่ง “ออกญาสุลต่าน” สันนิษฐานว่า แม้จะอิงอำนาจกรุงศรีอยุธยา แต่ในทางปฏิบัติ สงขลายังเป็นอิสระ
มีหลักฐานชี้ว่าสุลต่านมุสตาฟายังคงพยายามผูกมิตรกับดัตช์ โน้มน้าวให้ตั้งสถานีการค้า และได้รับความช่วยเหลือจาก EIC ที่เข้ามาทำการค้ากับสงขลามากขึ้น
ส่วนที่กรุงศรีอยุธยา หลังต้องทำสัญญาแบบเสียเปรียบกับดัตช์เพราะถูกปิดล้อมอ่าวสยาม สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงดุลอำนาจ VOC ด้วยการเปิดการติดต่อกับฝรั่งเศส ต่อมามีการแลกเปลี่ยนทูตกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ขณะที่อังกฤษพยายามถอนตัวจากกรุงศรีอยุธยาเพราะขาดทุนจากการค้า
สงครามระหว่างสงขลากับปาตานียังดำเนินต่อไป ส่วนปาตานีระยะนั้นก็มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับกรุงศรีอยุธยา ซามูเอล พอตต์ส (Samuel Potts) เจ้าหน้าที่ EIC ระบุว่า สงครามระหว่างปาตานีกับกรุงศรีอยุธยาทำให้แผนลงหลักปักฐานของเขาที่ปาตานียุติลงและต้องเดินทางไปที่สงขลา ที่นั่นสุลต่านมุสตาฟาต้อนรับพอตต์สอย่างดี ทั้งยังชวนให้ EIC ตั้งห้าง โดยขณะนั้นปรากฏว่ามีข้าหลวงสยามอยู่ในสงขลาด้วย
กุโบร์ “มะระหุมปะแก” ที่บ้านสงขลา ตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แท่งหินในภาพสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหลักเมืองไชยาเก่าสมัยที่สุลต่านมุสตาฟาปกครอง
จนถึงเดือนมกราคม ๒๒๒๑/ค.ศ. ๑๖๗๘ พอตต์สรายงานว่าเจ้าเมืองสงขลาเตรียมการป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง “สั่งให้นำปืนใหญ่ไปตั้งบนเขา” อันหมายถึงสถานการณ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับสงขลาใกล้แตกหักเต็มที
เกรแฮมและคริสโตเฟอร์ยังเสนอว่าในระยะนี้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรง “ลองกำลัง” VOC และ EIC โดยขอกำลังสนับสนุนจากทั้งสองฝ่ายตีสงขลา เพราะช่วงเดียวกันที่ยุโรปนั้นอังกฤษทำสงครามกับดัตช์ ซ้ำร้าย EIC ก็มีปัญหากับกรุงศรีอยุธยาด้วย เพราะพ่อค้าอังกฤษในอยุธยาติดหนี้สมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นเงินจำนวนมาก สำหรับกรุงศรีอยุธยา ความเคลื่อนไหวของพอตต์สยังน่าสงสัยไม่น้อย เรื่องนี้ถูกยืนยันโดยเอกสาร VOC ในปี ๒๒๒๓/ค.ศ. ๑๖๘๐ ที่ชี้ว่า “พวกอังกฤษได้ตั้งห้างขึ้นที่สงขลาแล้ว และได้ส่งผู้คนไปช่วยเจ้าเมืองสงขลา จัดแจงสร้างป้อมปราการเพื่อแข็งเมืองต่อพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งขณะนี้กำลังทรงประชวร...”
ตอนนั้นเป็นช่วงปลายรัชกาลที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเริ่มประชวร โดย EIC ประเมินว่าพระองค์ไม่น่ามีพระชนม์ชีพได้นานนัก เอกสาร EIC บอกว่าสยาม “ยังคงยึดเมืองสงขลาไว้ แต่เชื่อว่าคงจะไม่มีโอกาสยึดเอาไว้เป็นเมืองขึ้นตลอดไป” ข้อความนี้ทำให้สันนิษฐานได้เพียง สยามคงส่งกองทัพมาโจมตีสงขลาในสภาวะได้เปรียบอาจปิดล้อมเมืองไว้ แต่ก็ยังไม่สามารถยึดได้อย่างเด็ดขาดเพราะตอนนี้สงขลาเมืองยังไม่น่าจะแตก
นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องรัฐสุลต่านสงขลาหลายท่านให้ข้อสรุปตรงกันว่า ปีที่สงขลาเสียเมืองให้กรุงศรีอยุธยาคือปี ๒๒๒๘/ค.ศ. ๑๖๘๕ โดยฉากเหตุการณ์นี้พบในบันทึกของเดอ ชัวซี (เขียนหลังเหตุการณ์ ๖ ปี) ว่าสยามโจมตีสงขลาด้วยกองเรือจำนวนมาก
“...เจ้าสงขลาได้ต่อสู้อย่างสามารถ และไทยได้จับตัวไปได้...”
ทว่าสงขลาไม่ได้แพ้ในสมรภูมิ แต่แพ้เพราะ “ผู้รักษาป้อมแห่งหนึ่งได้คิดประทุษฐร้าย คือไทยได้ล่อลวงเกลี้ยกล่อมให้ผู้รักษาป้อมนี้เอาใจออกหากจากนายของตัวแล้ว ไทยจึงได้เข้าไปในป้อมแล้วได้เอาดอกไม้เพลิงโยนเข้าไปในเมือง เพลิงได้ติดลุกลามไหม้วังของเจ้าสงขลาจนหมดสิ้น ในระหว่างที่เกิดชุลมุนกันในเมืองช่วยกันดับเพลิงนั้น ไทยก็ยกทัพเข้าไปในเมืองได้ ไทยจึงได้ทำลายป้อมคูประตูหอรบและบ้านเรือนจนเหลือแต่พื้นดิน เพราะเกรงคนอื่นจะมาตั้งมั่นคิดขบถอีก”
ขณะที่ KijangMas Perkasa เสนอในหนังสือ Patani : Behind the Accidental Border โดยอ้างบันทึกของลา ลูแบร์ ว่า ผู้ที่จับสุลต่านส่งให้สยามคือ “ทหารรับจ้างฝรั่งเศสนามว่า Cyprian” ที่ทำได้โดย “เล็ดลอดแนวป้องกันของสงขลาเข้าไปนำตัวรายามาให้กับแม่ทัพอยุธยา”
ข้อมูลไหนจะเป็นจริงคงเป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้าต่อไป
ที่แน่นอนคือ การบุกของกรุงศรีอยุธยาในปีนั้นปิดฉากรัฐสุลต่านสงขลาที่เป็นเอกราชมา ๔๒ ปีลงอย่างสิ้นเชิง และทำให้กรุงศรีอยุธยากลับมาควบคุมเมืองท่าทางด้านตะวันออกของอ่าวสยามลึกลงไปจนถึงสงขลาได้อีกครั้ง
แจ้งความกลุ่มทุนบุกรุกโบราณสถานหัวเขาแดง-ข่มขู่ จนท.
เว็บไซต์ไทยพีบีเอส, ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
ทุกวันนี้ร่องรอยแนวกำแพงและป้อมโบราณของรัฐสุลต่านสงขลายังอยู่ที่เดิม การอนุรักษ์ทำได้แค่รักษาบางส่วนและต้องทำพร้อมกับการต่อสู้กับผู้บุกรุกทำลาย ซึ่งส่วนหนึ่งคือกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่น
สำหรับคนไทยที่มาเที่ยวสงขลา พวกเขาส่วนมากไม่มีความรับรู้เกี่ยวกับ “สงขลาหัวเขาแดง” ด้วยพื้นที่ที่ถูกส่งเสริมและขับเน้นข้อมูลกลับเป็น “เมืองสงขลาบ่อยาง” (เมืองเก่าในอำเภอเมืองสงขลา) เมืองรุ่นหลังซึ่งถูกผลักดันให้เป็นมรดกโลกมาหลายปีแล้ว นิทรรศการใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ก็กล่าวถึง “สงขลาหัวเขาแดง” เพียงสังเขปและจำลองภูมิประเทศไว้ให้ดูเท่านั้น
การเล่าประวัติศาสตร์ก็มีลักษณะเรียงยุค หัวเขาแดง-แหลมสน-บ่อยาง และให้ข้อมูลว่าหลังหมดยุคสงขลา หัวเขาแดง เมืองก็ย้ายไปที่บริเวณแหลมสนอันถือเป็นเมืองสงขลายุคที่ ๒
สามารถ สาเร็ม นักวิชาการอิสระรุ่นใหม่ที่ศึกษาเรื่องสงขลาหัวเขาแดง อธิบายว่าการเรียงประวัติเช่นนั้นผิดพลาดโดยมองว่าหลังสงขลาหัวเขาแดงเสียเมือง ประชากรของเมืองมิได้อพยพไปแหลมสนทันที
สามารถมองว่าประชากรมุสลิมบางส่วนน่าจะมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ทุกวันนี้คือตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนครหรือ “บ้านเขาหัวแดงใหญ่” โดยพยานเรื่องนี้คือ แผนผังเมืองสงขลาของเดอ ลามาร์ ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงที่กรุงศรี-อยุธยาเสนอให้ฝรั่งเศสตั้งสถานีการค้าที่สงขลา โดยในผังปรากฏภาพชุมชนที่บ้านหัวเขา บ้านบ่อเก๋ง และเกาะยอ
“พอสงขลาแพ้ ข้อมูลที่เผยแพร่มักบอกว่าผู้คนอพยพไปแหลมสน แต่แหลมสนที่มีเจ้าเมืองเชื้อสายจีน (เหยี่ยง แซ่เฮา) นั้นคือสมัยกรุงธนบุรีแล้ว มีช่องว่างประมาณ ๙๕ ปีหลังหัวเขาแดงแตก ผมเสนอว่าคนน่าจะอพยพไปที่บ้านหัวเขาใหญ่ ช่วงอยุธยาตอนปลายยังปรากฏหลักฐานร่วมสมัยว่าอยุธยาส่งเจ้าเมืองมาปกครองสงขลา โดยไม่ได้ระบุว่าบริเวณไหน จึงน่าคิด”
นอกจากนี้ยังปรากฏคำอธิบายความเป็นมาของ “มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ” ที่ปัจจุบันก็ยังอยู่ที่บ้านหัวเขามากว่าศตวรรษว่า มุสลิมที่นี่คือคนจากรัฐสุลต่าน “กลุ่มสุดท้ายเหลือไว้รักษาเมืองสงขลา”
สามารถเสนอว่า ยังมีหลักฐานคือ ประทวนตราให้แก่พระครูอินทรโมฬี สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงการส่ง “พระยาวิไชยคีรี” มาปกครองสงขลา โดยขยายเขตปกครองจากปากน้ำออกไป
เครือข่ายสุลต่านยังน่าจะกระจายอยู่ในเมืองรายรอบมาตั้งแต่อดีต พระตำราบรมราชูทิศฯ ยังปรากฏนาม “เพรีชี เพรีมุย...” ขอกินเมือง โดยมีข้อสันนิษฐานหนึ่งมองว่า “เพรีชี” ไม่ใช่พราหมณ์ แต่คือน้องชายของดะโต๊ะโมกอลที่ถูกส่งไปปกครองพัทลุงเมื่อตั้งสงขลาที่หัวเขาแดงแล้ว
ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาทำลายสงขลาในยุคสุลต่านมุสตาฟา ก็แยกบุตรสองคนไปอยุธยา ตัวสุลต่านไม่นานก็ถูกส่งไปปกครองเมืองไชยา บริเวณที่ปัจจุบันคือบ้านสงขลา ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปรากฏกุโบร์ (สุสาน) ของ “มะระหุมปะแก” ที่น่าจะเป็นนามของสุลต่านมุสตาฟาอยู่ในพื้นที่นั้น
ปลายกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงธนบุรี พงศาวดารเมืองสงขลา (เขียนช่วงต้นกรุงเทพฯ) เล่าว่า หลังอยุธยาแตก ในปี ๒๓๑๐ ก๊กเจ้านครก็ส่ง “นายวิเถียน” มาปกครองสงขลา “ฟากแหลมสน” เมื่อเจ้าตากปราบก๊กพระยานคร เจ้าเมืองคนนี้ก็หนีไป เจ้าตากจึงตั้ง “นายโยม คนชาวเมืองสงขลา” เป็นพระสงขลา (โยม) ครองเมือง
ก่อนปลดออกแล้วให้ เหยี่ยง แซ่เฮา ที่ทำอากรรังนกตำแหน่ง “หลวงอินทคิรีสมบัติ” เป็นเจ้าเมืองแทน เพราะ “ได้ราชการมากกว่า”
ส่วนพระสงขลา (โยม) ก็น่าจะเป็นคนบ้านหัวเขาที่สืบสายจากมุสลิมหัวเขาแดง ที่ยังคงอยู่ตรงนั้น และเมื่อเกิดสงขลาแหลมสน อำนาจก็มิได้ตกอยู่กับเจ้าเมืองเชื้อสายจีนเต็มที่ต้องแบ่งปันกับมุสลิมท้องถิ่น เห็นได้จากการที่เหยี่ยงให้ลูกของพระสงขลา (โยม) เป็น “ขุนรองราชมนตรี” ทำราชการกับตนเอง
ส่วนที่ราชธานี เชื้อสายของสุลต่านสงขลาก็รับราชการต่อมาในฐานะแม่ทัพของสมเด็จพระนารายณ์ฯ บางส่วนก็กลายเป็นเครือญาติของราชวงศ์จักรี เช่น เจ้าจอมมารดาเรียม พระราชชนนีของรัชกาลที่ ๓ เป็นต้น
ก่อนที่เมืองสงขลาจะย้ายข้ามฟากมา “บ่อยาง” ในยุคหลังและกลายเป็นตัวจังหวัดสงขลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ ในที่สุด
...
ผมจบการสำรวจเมืองสงขลาหัวเขาแดงที่กุโบร์สุลต่าน สุลัยมานซึ่งอยู่ห่างเมืองเก่าหัวเขาแดงไปทางเหนือใกล้ท่าเรือน้ำลึกของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง
สามารถเล่าว่า ทางที่ผมเดินเข้าสู่สุสานเป็นทางใหม่ ที่ดินบริเวณนี้ส่วนมากเป็นของเอกชนทั้งหมดทำให้สุสานถูกล้อม แต่ถึงเป็นเช่นนั้นชาวมุสลิมและชาวพุทธในพื้นที่ใกล้เคียงก็ยังคงให้ความเคารพนับถือสุลต่านสุลัยมานในฐานะบรรพบุรุษสายหนึ่ง
ที่น่าแปลกใจคือสุสานชาวดัตช์ที่มีบันทึกกลับหายไปทั้งหมด เหลือเพียงบางส่วนในพื้นที่เอกชนซึ่งต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อนจึงเข้าชมได้ แม้ว่าจะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วก็ตาม
เพื่อนชาวมุสลิมคนหนึ่งเล่าว่า เท่าที่ทราบตอนนี้มีความพยายามเสนอ “สงขลาบ่อยาง” และขยายพื้นที่ออกมาโดยรอบเพื่อที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลก ครั้งหลังสุด รวมเอาสงขลาหัวเขาแดงและแหลมสนไว้ด้วย แต่การทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งสงขลาหัวเขาแดง
ในขณะที่ข้ามปากน้ำทะเลสาบสงขลาลงไปทางใต้ นักท่องเที่ยวก็กำลังมีความสุขกับการถ่ายภาพเมืองเก่าสงขลาบ่อยางที่ได้รับการปรับปรุงให้เต็มไปด้วยร้านกาแฟ มุมศิลปะที่สร้างกลมกลืนไปกับย่านเก่า
คิดแล้วก็น่าประหลาด ปี ๒๒๒๘/ค.ศ. ๑๖๘๕ สงขลาหัวเขาแดงถูกทำลายเพราะทัพกรุงศรีอยุธยา เรื่องของเมืองนี้หายไปกับกาลเวลาหลายร้อยปี
แต่ ๓๓๘ ปีต่อมา เมื่อเรื่องของรัฐสุลต่านถูกค้นคว้าอีกครั้ง
อาจเป็นคนในสงขลาเสียเอง ที่ทำลายเมืองโบราณหัวเขาแดง
“เขาแดง
เป็นพื้นที่
สำคัญ”
“เดิมที่ดินตรงเขาแดงคือป่าสาธารณะ หน่วยงานที่ดูแลคือกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป่าไม้ กรมศิลปากรพยายามอนุรักษ์เขาแดงตั้งแต่ขึ้นทะเบียนประมาณปี ๒๕๓๔ แต่สิ่งที่มาคู่กับงานอนุรักษ์คือการบุกรุกทำลาย ก่อนผมไปประจำที่สงขลา มีการดำเนินคดีหลายสิบคดี หยุดยั้งได้ระดับหนึ่ง ที่พบมากคือขุดดินลูกรังไปขาย
“เรามีเจ้าหน้าที่ ๑๒ คนกับพื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่ ตรงเขาแดงผู้ก่อเหตุเขาเอาเครื่องจักรเข้าผ่านที่ดินเอกชนติดเขตโบราณสถานแล้วตักดินไป การที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ลาดตระเวนตลอดทั่วพื้นที่ แต่ไปตามจุดก็เกิดช่องว่างขึ้น อำนาจของเจ้าหน้าที่เราก็ต่างจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เราต้องอาศัยหน่วยงานอื่นร่วมในการจับกุม อิทธิพลในพื้นที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญ เจ้าหน้าที่เราทำงานคล้ายอาสาสมัคร เขาเองก็เสี่ยงภัย
“ช่วงที่โดนทำลายหลายจุด มีการเคลื่อนไหวผ่านทางผู้ว่าฯ ก็มีคำสั่งให้อำเภอเป็นเจ้าภาพ เชิญผมเข้าประชุม ร่วมกับปลัดอำเภอ สำนักงานที่ดินอำเภอสิงหนคร ผู้แทนกรมป่าไม้ ตำรวจจาก สภ. สิงหนคร ก็มีมติให้กรมศิลปากรดำเนินการ เพราะคล่องตัวที่สุด หน่วยงานอื่นเขาบอกว่ายังติดขัด มีมติแบบนั้นเราก็ทำตาม
พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน
ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร / อดีตผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ (สงขลา) แจ้งความดำเนินคดีผู้บุกรุกในปี ๒๕๖๕ ก่อนย้ายมาประจำที่กรุงเทพฯ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“มีการคุกคามบ้าง เช่น มีคนแปลกหน้ามาแถวสำนักงาน มีการส่งข่าวว่าผมอยู่ตรงไหน หลังการแจ้งความ ในปี ๒๕๖๕ ผมมองข้ามไปสู่ขั้นตอนการบูรณะ อีกฝ่ายอาจจะหาทางหยุดเรา แต่เราคิดอย่างเดียวคือจะบูรณะยังไงให้ดีที่สุด เราทำแผนระดมความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ หลายท่านก็ให้แนวทางที่มีประโยชน์มาก สุดท้ายเลือกวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คือไม่ทำโครงสร้างคอนกรีตเข้าไปเสริมใด ๆ มีแผนการนำดินเข้าไปเสริมส่วนที่ถูกขุดออกไป ปลูกป่าซ่อมในส่วนที่ถูกทำลาย อาจทำแนวป้องกันดินสไลด์ตัวบางจุดกล้องวงจรปิดยังไม่แน่ใจ เพราะมีการทำลายอยู่ตลอด ตอนนี้แผนดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการของบประมาณ
“สำนักศิลปากรในพื้นที่ดูแลโบราณสถานตามวงรอบแผนอยู่แล้ว ที่ผ่านมาผมไม่คิดว่าเราจะปกปิดประวัติ-ศาสตร์เรื่องนี้ จริง ๆ ผมเองก็ไปมัสยิดในพื้นที่ พบกับโต๊ะอิหม่ามบ่อยครั้ง เรามองว่าเขาแดงเป็นพื้นที่สำคัญ เน้นเป็นพิเศษด้วยซ้ำ เราทำศูนย์ข้อมูลเล็ก ๆ เพื่อเตรียมยกระดับการบริการมากกว่าที่อื่น แต่ในภาพรวมอาจเน้นทำงานบางพื้นที่ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบาย แต่พื้นที่อื่นเราก็ทำงานตามปรกติ แต่อาจเพราะเขาแดงไม่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการมากนัก ไปเน้นสงขลาบ่อยางกันมากกว่า เพราะอาจจะเห็นโอกาสมากกว่า ตอนนี้เขาแดงได้รับความสนใจมากขึ้น คนเห็นว่าเขาแดงสมบูรณ์มาก”
“เขาแดง
คือรากเหง้าของเรา”
สามารถ สาเร็ม
นักวิชาการอิสระ
“ผมเป็นคนสงขลา อยู่บ้านควน อำเภอหาดใหญ่ ติดชายทะเลสาบ มุสลิมบ้านผมเป็นคนในวัฒนธรรมเดียวกับคนหัวเขาแดง จุดเด่นของมุสลิมที่หัวเขาแดงคือสืบมาจากคนในเมืองสงขลาหัวเขาแดงตั้งแต่สมัยสุลต่านสุลัยมานต่างกับชาวมุสลิมในพื้นที่อื่นของจังหวัดชายแดนใต้สงขลาหัวเขาแดงคือรากเหง้าของเรา สงขลาหัวเขาแดงคือยุคที่สงขลารุ่งเรืองมาก โดยหลักคือการค้า สงขลาคือเมืองท่านานาชาติ มีปรากฏในหลักฐานของหลายประเทศ ในแง่ศาสนาสุลต่านก็คือผู้นำทางศาสนาด้วย
“สภาพของโบราณสถานที่หัวเขาแดง กรมศิลปากรมีการจ้างลูกจ้างดูแล แต่ผมคิดว่ายังไม่ดีพอ หลายจุดถูกทำลาย บางพื้นที่มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เช่น สุสานของชาวฮอลันดาใกล้กับกุโบร์สุลต่านสุลัยมาน พอมีการทำท่าเรือน้ำลึก ก็มีการบุกรุกทำลายโดยเอกชน เพื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามาใช้พื้นที่ ปัจจุบันหลงเหลือหลักฐานเพียงน้อยนิดเท่านั้น การบุกรุกโบราณสถานที่หัวเขาแดงและโดยรอบยังคงดำเนินมาจนถึงตอนนี้ ปัญหาคือกรมศิลปากรเชื่อมกับคน (มุสลิม) ในพื้นที่ไม่ได้ มีความขัดแย้งกับชุมชน ถ้าเพียงให้ทำหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมาย และเมื่อสำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ ตั้งอยู่ในสงขลา ผมคิดว่าควรจะเข้าถึงชุมชนได้มากกว่านี้”
เอกสารประกอบการเขียน
เอกสารชั้นต้น
ภาษาไทย
คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี. (๒๕๑๐). พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา ภาค ๑. กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี.
ธรรมทาส พานิช (ผู้คัด). (๒๕๓๔). ตำนานเมืองไชยาเก่า ครั้งแผ่นดินพระเจ้าตากและแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. เอกสารอัดสำเนา.
ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ (แปล). (๒๕๑๒). บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ ในศตวรรษที่ ๑๗ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ (แปล). (๒๕๑๓). บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ ในศตวรรษที่ ๑๗ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
ฟลีต, เยเรเมียส ฟาน. (๒๕๔๖). รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของ ฟาน ฟลีต. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
สุนทรานุรักษ์, พระยา (เรียบเรียง). (๒๕๐๖). “พงศาวดารเมืองสงขลา” ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.
สุภรณ์ อัศวสันโสภณ (แปล). (๒๕๒๒). บันทึกเรื่องสัมพันธภาพระหว่างกรุงสยามกับนานาประเทศ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
เออร์เนสต์ ซาเตา. (๒๕๐๗). “เรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๓. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.
ภาษาอังกฤษ
A. Teeuw and D.K. Wyatt. (1970). Hikaya Patani : The story of Patani II. The Hague : Koninklijk institute.
หนังสือ
ภาษาไทย
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). (๒๕๕๕). ประมวลแผนที่ : ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-การเมือง กับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
วิยะดา ทองมิตร. (๒๕๖๑). “สงขลาหัวเขาแดง เมืองสุลต่านสุไลมาน” ในวารสาร เมืองโบราณ ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม
สงบ ส่งเมือง. (๒๕๒๒). รายงานการวิจัย การพัฒนาหัวเมืองสงขลาในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ ๒๓๑๐-๒๔๔๔. กรุงเทพฯ : โครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา.
สายสกุล สุลต่าน สุลัยมาน. (๒๕๓๐). ประวัติศาสตร์ ตระกูลสุลต่าน สุลัยมาน. กรุงเทพฯ : สายสกุล สุลต่าน สุลัยมาน.
สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง. (๒๕๓๐). ประวัติศาสตร์ ตระกูลสุลต่าน สุลัยมาน. กรุงเทพฯ : สายสกุล สุลต่าน สุลัยมาน.
ภาษาอังกฤษ
Jansaeng, A. (2010). Local Autonomy : Chinese Community in Songkhla during Late Eighteenth and Nineteenth Centuries. (PhD), Australian National University.
Peter Floris. (2002). His Voyage to the East Indies in the Globe, 1611-1615 : Siam Pattani Bantam. Bangkok : White Lotus Press.
บทความ
Graham H. Dalrymple and Christopher M. Joll. “The Muslim Sultans of Singora in the 17th Century” in Journal of the Siam Society, Vol. 109, Pt. 1, 2021, pp. 37-62.
ฃhttps://www.hatyaifocus.com
https://kyproject19.wixsite.com/kidyang/blog