Image
หัวใจของนักติด
Holistic 
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
โดยทั่วไปมนุษย์เรามักมีภาวะ “ติด” สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดซีรีส์ ติดเที่ยว ติดเพื่อน ติดชอปปิงหรือติดโซเชียลมีเดีย และมีไม่น้อยที่รู้ว่าการติดนั้นบั่นทอนสุขภาพกายใจหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใดก็ยากจะถอนตัว
ในหนังสือ ติดวิทยา ติดได้ก็เลิกได้ถ้าเข้าถึงหัวใจของการติด บอกว่าเหตุที่ยากจะถอนตัวเพราะทั้งผู้ติด คนรอบตัว และผู้บำบัดการติด มักมุ่งเป้าที่วัตถุหรือพฤติกรรมการติด แต่เข้าไม่ถึง “หัวใจ” “ราก” หรือ “เหตุ” ของการติดนั้น ๆ

หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมหลักจิตวิทยาเกี่ยวกับการติดจากหลายสำนักและสรุปไว้ว่า หัวใจหรือปัจจัยแห่งการติดมีสามประการ คือ ๑. ความต้องการพื้นฐานที่ไม่ได้รับการตอบสนองในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตในตอนโต  ๒. กิจกรรมหรือสารที่กระตุ้นให้เกิดโดปามีนเพิ่มจำนวนขึ้น เช่น การดื่ม-กิน การชนะรางวัล สารเสพติดต่าง ๆ ซึ่งกระตุ้นการทำงานของสมอง และ ๓. สภาพแวดล้อม การเติบโต และการเลี้ยงดู ที่ส่งผลต่อพัฒนาการสมองของวัยเด็ก

ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงดอกเตอร์ กาบอร์ มาเท แพทย์และนักเขียนผู้ทำงานกับคนที่อยู่ในภาวะเสพติด ว่ามีต้นตอจากจุดเล็ก ๆ คือการไม่ได้ดูแลหรือตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เช่น ความรัก ความมั่นคง การยอมรับ มิตรภาพ  นานวันเข้าก็กลายเป็นช่องว่างที่ต้องหาสิ่งอื่นมาเติมเต็ม มันไม่มีวันหายไป และส่งผลต่อพฤติกรรมที่เราแสดงออกด้วย เพื่อบรรเทาความทุกข์ในใจ เพื่อให้หลงลืมความเจ็บปวดทางใจ เพื่อให้หลุดพ้นจากความรู้สึกโดดเดี่ยวว่างเปล่าในใจไปได้

ดังที่ดอกเตอร์กาบอร์เขียนไว้ในหนังสือชื่อ ในภพภูมิแห่งปีศาจที่โหยหิว (เปรต) : การเผชิญหน้ากับการเสพติด (In the Realm of Hungry Ghosts : Close Encounters with Addiction) ว่าเขาเป็นเด็กยิวในยุคนาซี สงครามและการเข่นฆ่าชาวยิวทำให้ผู้เป็นแม่เต็มไปด้วยความเครียด ความเครียดของแม่ทำให้เขารู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ เมื่อโตขึ้นเขาจึงกลายเป็นคนที่โหยหาความรักความสำเร็จ เติมสิ่งใดให้หัวใจก็ไม่รู้สึกอิ่มเต็ม ซึ่งเปรียบได้กับเปรตในศาสนาพุทธ เขาเสพติดการทำงาน ชอปปิง และฟังเพลงคลาสสิก เพราะหัวใจเขามีช่องว่างกลวงโบ๋เหมือนปีศาจที่หิวโหยอยู่ตลอดเวลา

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดคือกลไกทางสมอง ซึ่งตัวเอกคือโดปามีน สารสื่อประสาทที่สมองหลั่งออกมาขณะเราทำกิจกรรมที่พึงพอใจหรือเมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง เช่น ได้กินอาหารอร่อย ได้ออกกำลังกายที่ชอบ ได้เที่ยว ได้ของขวัญถูกใจ ได้อยู่กับคนรัก หรือมีเพศสัมพันธ์ โดยโดปามีนจะถูกส่งไปที่ช่องรับสารที่เซลล์ประสาทมากขึ้น กระตุ้นให้เซลล์ประสาททำงานตอบสนองความรู้สึกดีมากขึ้น
สารเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ นิโคตินในบุหรี่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกระตุ้นให้โดปามีนเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องทำกิจกรรมใด ๆ ถือเป็นทางลัดเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น แต่ในคนที่มีอาการเสพติดรุนแรง ช่องรับสารโดปามีนจะน้อยกว่าปรกติ คนกลุ่มนี้จึงต้องการโดปามีนปริมาณมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ทำงานดีและใช้ชีวิตได้จึงต้องหาโดปามีนจากภายนอกมาเสริม ตัวช่วยสำเร็จรูปคือสารเสพติดนี่เอง  แต่หากโดปามีนจากภายนอกมากขึ้น สมองจะสร้างสมดุลด้วยการลดช่องรับสารลง ดังนั้นแต่ละครั้งที่เราดื่มหรือเสพสารเสพติด สมองก็ปรับลดตัวรับสารไปเรื่อย ๆ ผู้เสพก็ต้องเสพให้มากขึ้นเพื่อให้รู้สึกดีเท่าเดิม จึงเหมือนถูกขับให้ทำซ้ำ ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ จนยากจะหยุดหรือเลิก

งานวิจัยบางชิ้นพบว่าการทดลองกับผู้มีอาการติดรุนแรงนั้น ช่องรับโดปามีนจะน้อยกว่าปรกติก่อนมีภาวะติดเสียอีก หมายถึงเซลล์ประสาทไม่ได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ก่อนมีอาการติด ทำให้มีความเสี่ยงจะเกิดอาการติดสูงกว่าคนทั่วไป

ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ข้อมูลเชิงจิตวิทยาพบว่าผู้มีปัญหาการเสพติดมักเป็นผู้ถูกกระทำจากสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้าง

ในวัยเด็ก ผลจากบาดแผลทางใจคือการขาดความต้องการพื้นฐานนั้นก่อร่างสร้างตัวโดยพวกเขาไม่รู้ตัวหรือไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้นการตัดสินว่าผู้ติด “ทำตัวเอง” จึงเป็นการไม่ยุติธรรมนัก

หากเราเป็นผู้ติดหรือคนใกล้ชิดผู้ติดควรย้อนมองภาพกว้างในชีวิตเราหรือเขาเหล่านั้นว่า “หัวใจ” หรือ “เหตุ” ที่ทำให้ติดคืออะไร ไม่ใช่ตัดสินกล่าวโทษว่าเป็นคนเลวหรือล้มเหลวในชีวิต

ดังที่ดอกเตอร์กาบอร์กล่าวว่า ถ้าอยากช่วยเหลือคนที่อยู่ในภาวะเสพติด คำถามที่เราน่าจะถามคือ ทำไมถึงกลัว ทำไมถึงเครียด ทำไมถึงเศร้า ไม่ใช่ถามว่าทำไมถึงติดยา

เช่นเดียวกับนายแพทย์ประเวช ตันติ-พิวัฒนสกุล จิตแพทย์ชื่อดังกล่าวไว้ใน “หยุดเหล้าและสิ่งเสพติดให้ได้ผล” ว่า ถ้าจะหยุดเหล้าและสิ่งเสพติดให้ได้ผล ต้องเข้าใจว่าสาเหตุที่ซับซ้อน ทั้งสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อคนคนนั้นในวัยเด็ก และเมื่อโตแล้วสิ่งแวดล้อมก็ยังมีอิทธิพลต่อการติดเช่นกัน  การมองนักติดว่าเป็นมนุษย์ผู้มีความเจ็บปวดที่ยังไม่มีวิธีแก้ไข จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น และสิ่งที่จะช่วยให้หลุดพ้นคือ จัดการความเครียดและปัญหาในชีวิตเป็น ปฏิเสธเป็น หาความสุขในชีวิตเป็น มีจุดมุ่งหมายในชีวิต  
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เวลามีปัญหาก็มีแนวโน้มจะเสพติด  
Image
หนังสือ ติดวิทยา ติดได้ก็เลิกได้ ถ้าเข้าถึงหัวใจของการติด สรุปว่า ก้าวแรกหรือจุดเริ่มต้น คือการตระหนักรู้ มีสติรู้เท่าทัน ผ่านการสังเกตตัวเอง รับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ  และหากสังเกตพบสิ่งใด ไม่ว่าดีหรือร้าย อย่าลืม “ใจดีกับตัวเอง” ไม่ดุด่าว่ากล่าวซ้ำเติมตัวเอง เพราะจะทำให้เรามีความมั่นคงจากภายในมากยิ่งขึ้น
รู้ทัน แยกแยะ ทำความเข้าใจว่าความอยากนี้ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง เป็นเพียงความคิดและความเชื่อที่ทำให้เราคุ้นเคย ทบทวนว่าความต้องการที่แท้จริงของเราอยู่ตรงไหน ค่อย ๆ แยกแยะให้ชัดว่า นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ หรือความอยาก หรือการติด หากไม่พบ เราจะไม่มีวันพบจุดที่พอใจเบาสบาย

ลงมือทำ ทำสิ่งใหม่ที่นอกเหนือจากการติดแบบเดิม ๆ ให้เลือกกิจกรรมที่ช่วยดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจสั้น ๆ ที่ทำแล้วรู้สึกดี แค่ ๑๕ นาทีก่อนก็ได้

เผชิญหน้าและทบทวนตัวเอง พฤติกรรมการติดของเราส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิตเราบ้าง เช่น เสียเวลา เสียเงิน เสียความสัมพันธ์  ดูเหมือนว่ามันจะให้ความสุขเราได้ก็จริง แต่ก็หยิบยื่นความขมขื่นมาให้เช่นกัน  เมื่อเรายอมรับ จะทำให้มองเห็นความจริงซึ่งจะช่วยเยียวยาเราจากความเจ็บปวด

สร้างสรรค์และปรับทิศทางใหม่ให้ชีวิต หากไม่พร้อม กลับไปทบทวนขั้นตอนข้างต้น ที่สำคัญคือรับรู้และเข้าใจว่าปัญหาบางอย่างไม่ได้สำเร็จภายในรอบเดียวและบ่อยครั้งที่ “เลิก” หรือ “ถอนตัว” แล้ว ก็มีเหตุให้กลับไปติดได้อีก เราก็เพียงแค่ใจดีกับตัวเองและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง