Land Art
ใต้เขื่อน เตือนความไม่จีรัง
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์
คล้ายมีศิลปินนำอิฐมาก่อร่างงานประติมากรรมบนพื้นที่เปิดโล่งเรื่องจริงคือซากวัดชัยศรีห้วยต้า (ใต้) หรือ “วัดห้วยต้าใต้” อดีตวัดประจำหมู่บ้านห้วยต้า อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขื่อนสิริกิติ์ หลังจากเริ่มมีโครงการสร้างเขื่อนเมื่อปี ๒๕๑๑
ปี ๒๕๕๘ ที่แล้งจัด อ่างเก็บน้ำความสูงเกือบ ๑๑๔ เมตร ปรากฏสภาพไม่ต่างจากทุ่งกว้างเหือดน้ำจนผืนดินระแหงรอยกรีดคดเคี้ยวแยกแผ่นดินดูคล้ายลายเครื่องถ้วยโบราณ หากเดินไม่ระวัง ดินที่ดูเหมือนแห้งจะพาเท้าจุ่มพรวดปักโคลน ประสาพื้นที่ที่กักเก็บน้ำไว้เนิ่นนานจนใต้ผิวดินอ่อนนุ่มเป็นโคลนตม
ไม่มีใครคาดคิดว่าปีนั้นจะแล้งจัดจนใต้เขื่อนผุด “เมืองใต้น้ำ
ทุกปีที่น้ำลดต่ำ อย่างมากก็เห็นขอบกำแพงวัดแบบปริ่ม ๆ กระทั่งหน้าแล้งปีนั้นมีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำน้อยมาก น้ำจึงลดจนเห็นโครงสร้างทั้งวัด ฟ้องหลักฐานเคยมีอยู่ของชุมชนเป็น unseen ของนักท่องเที่ยว ที่ผู้เกิดเติบโตในหมู่บ้านว้าเหว่ใจ
กำแพงวัดจากอิฐเผาล้มระเนระนาด ขณะบางส่วนยังเกาะกลุ่มก่อรูปแน่นหนา เขตศูนย์รวมศรัทธาในอดีตกว้างใหญ่หลายไร่นี้มีต้นโพขนาดหลายคนโอบยืนต้นตายเช่นซากต้นตาลที่อยู่คู่วัดแต่ไหนแต่ไร
ตามทิศต่าง ๆ มีไม้ลำต้นขนาดกลาง-ใหญ่ตอกเป็นเสา อิฐเรียงชั้นสูง-ต่ำต่างระดับล้อมพื้นที่สี่เหลี่ยมที่เคยเป็นอุโบสถ คนเคยผูกพันกับบรรยากาศงานบุญยิ่งสะเทือนอก คือเหตุผลที่มีผู้นำดอกไม้ธูปเทียนมาวางเคารพไว้ ณ ซากประตูทางเข้า แม้ไร้พระพุทธรูปที่เคยประดิษฐาน
ชาวห้วยต้าส่วนหนึ่งอัญเชิญพระพุทธรูปไปวัดห้วยต้าเหนือ ณ ชุมชนบนภูเขาตามที่รัฐมีคำสั่งให้อพยพก่อนชุมชนเดิมจะจมน้ำ ที่ลงหลักปักฐานใหม่นี้อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง
แต่คนอีกกลุ่มยืนกรานไม่ย้าย ยอมเป็นชาว “ห้วยต้าใต้” ปรับวิถีจากเคยอยู่บ้านบนดินเป็นสร้างเรือนแพกระจายกันอยู่บนผิวน้ำ ฝึกหาปลาแทนทำเกษตร
ปีที่ได้เห็นซากวัดเก่าเต็มตา เรื่องราวในทรงจำก็ฉายชัด เข้าพรรษาปีนั้นชาวเรือนแพนัดหมายทำบุญที่วัดร้างแห่งนี้อีกครั้ง
เมื่อฤดูฝนมาเยือน ก็ต้องข่มใจมองวัด-พื้นที่ชุมชนเก่าแก่ค่อย ๆ จมใต้เขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ขณะที่เรือนแพของพวกตน
ค่อย ๆ ลอยสูงขึ้นจนเสมอภูเขาที่เป็นฉากหลัง
มีเพียงธรรมชาติและคนกลุ่มเล็กที่รู้ บนผืนโลกที่นี่เคยมีจิตรกรรมฝาผนังงดงามเพียงใด