Image
“พาดหัวข่าวประวัติศาสตร์”
จาก นิวยอร์กไทมส์
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ในคราวเดินทางไปค้นข้อมูลที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เมื่อหลายปีก่อน เรื่องหนึ่งที่ผมตั้งใจเอาไว้คือไปนครนิวยอร์ก หาซื้อหนังสือดี ๆ ติดมือกลับบ้าน รวมถึงอยากไปเห็นสำนักงานหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ (New York Times - NYT) หนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ-อเมริกา
แต่โชคร้าย โควิดระบาดไปทั่วโลก ผมต้องรีบกลับบ้านกะทันหัน จึงได้เห็นแค่ป้ายตึกสำนักงานหนังสือพิมพ์ (The
New York Times Building) ใกล้จัตุรัสไทม์สแควร์แบบผ่าน ๆ และได้ของที่ระลึกจาก นิวยอร์กไทมส์ ติดมือกลับมาเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น

ของที่ระลึกที่ว่านั้นไม่ใช่หนังสือ แต่เป็น “การ์ดความรู้” (knowledge cards) ที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นช่วงเวลาที่ นิวยอร์กไทมส์ กลายเป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายวันที่บันทึกห้วงเวลาประวัติศาสตร์ ทั้งของสหรัฐอเมริกาและสถานการณ์ทั่วโลก

นิวยอร์กไทมส์ ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๑ ในช่วงแรกดำเนินงานโดย Raymond, Jones & Company ที่มาจากการร่วมมือกันระหว่าง เฮนรี จาร์วิส เรย์มอนด์ (Henry Jarvis Raymond) นักหนังสือพิมพ์และนักการเมือง กับ จอร์จ โจนส์ (George  Jones) อดีตนายธนาคารและผู้ร่วมลงทุนคนอื่น ๆ โดยมีฐานหลักอยู่ที่นครนิวยอร์ก ก่อนที่ต่อมาผู้ถือหุ้นใหญ่จะเปลี่ยนเป็นตระกูลซัลซ์เบอร์เกอร์ (Sulzburger) ซึ่งบริหารกิจการจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ ๕

ในขวบปีแรก นิวยอร์กไทมส์ ใช้ชื่อว่า นิว-ยอร์กเดลีไทมส์ (New-York Daily Times) ก่อนเปลี่ยนชื่อให้สั้นลงใน ค.ศ. ๑๘๕๗ เป็น นิว-ยอร์กไทมส์ (New-York Times) แล้วตัดเอาขีดตรงกลางออกใน ค.ศ. ๑๘๙๖

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีชีวิตผ่านยุคสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ (ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๕) ที่เกิดเหตุจลาจลจากการเกณฑ์ทหารบริเวณรอบสำนักงานใหญ่  การรายงานข่าวทางโทรเลขครั้งแรกที่ส่งตรงจากสมรภูมิในยุทธนาวีรัสเซีย-ญี่ปุ่น เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๔ จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) ที่สหรัฐ-อเมริกาเข้าร่วม และเริ่มกลายเป็นมหาอำนาจของโลก

นิวยอร์กไทมส์ ยังเป็นผู้ริเริ่มการจำกัดจำนวนตัวอักษรให้เหมาะกับการตีพิมพ์บนหน้ากระดาษ ก่อตั้งคลังภาพถ่าย (the morgue) เริ่มตีพิมพ์เกมปริศนาอักษรไขว้ (crossword) ในหน้าท้าย ๆ จนมีผู้อ่านจำนวนมากติดอกติดใจ และกลายเป็นคอลัมน์ยอดฮิต

ในยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ทำสงครามกับค่ายคอมมิวนิสต์ในหลายภูมิภาคของโลก คนไทยรู้จัก นิวยอร์กไทมส์ จากกรณีที่เรียกว่า Pentagon Papers ใน ค.ศ. ๑๙๗๑
Image
กรณีนี้คือการที่เอกสารลับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รั่วไหลมาถึงมือ นีล ชีแฮน (Neil Sheehan) นักข่าว นิวยอร์กไทมส์ นำไปสู่การตีพิมพ์ข้อมูลนั้นใน นิวยอร์กไทมส์ ก่อนที่ต่อมาหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) จะตีพิมพ์เอกสารนี้อีกส่วนหนึ่ง ทำให้ชาวอเมริกันเพิ่งตระหนักว่าทหารอเมริกันเข้าไปมีบทบาทในสงครามเวียดนามก่อนที่รัฐบาลจะแจ้งพวกเขา โอกาสชนะนั้นริบหรี่ รวมถึงมีความพยายามขยายขอบเขตการสู้รบในอินโดจีนโดยที่ชาวอเมริกันไม่เคยรับรู้เลย

รัฐบาลของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน พยายามหยุดยั้งการตีพิมพ์เอกสารลับนี้ทุกทาง แต่สุดท้ายกลับพ่ายแพ้ในชั้นศาล โดยศาลสหรัฐฯ ระบุว่าสื่อทั้งสองฉบับนี้ใช้สิทธิตามหลัก First Amendment ที่รับรองเสรีภาพสื่อมวลชนในคำประกาศสิทธิพลเมืองประกอบรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ รัฐบาลจึงไม่มีสิทธิ์ห้ามการตีพิมพ์เอกสารดังกล่าว

ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง นักวิชาการอเมริกันมองว่าหน้าหนึ่งของ นิวยอร์กไทมส์ คือบันทึกประวัติศาสตร์การเมือง ทั้งของสหรัฐฯ และสถานการณ์รอบโลก

การ์ดความรู้ที่ผมได้ติดมือกลับมา ราคา ๑๑ ดอลลาร์ (ประมาณ ๓๓๐ บาท) เป็นชุด Headlines from The New York Times : WW II (พาดหัวข่าวของนิวยอร์กไทมส์ : สงครามโลกครั้งที่ ๒) ผลิตโดยบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตจาก นิวยอร์กไทมส์

การ์ดชุดนี้น่าจะใช้เป็นสื่อการสอนประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ดี มีลักษณะเป็นสำรับการ์ดบรรจุในกล่อง แต่ละใบ ด้านหนึ่งคือพาดหัวข่าวเหตุการณ์สำคัญ มีการปิดข้อความบางส่วนให้ทาย ด้านหลังจะเป็นคำเฉลย พร้อมกับรายละเอียดของเหตุการณ์

ตัวอย่างเช่นการ์ดแผ่นหนึ่ง มีพาดหัวข่าวว่า HITLER BEGINS WAR ON RUSSIA, WITH ARMIES ON MARCH FROM ARCTIC TO THE BLACK SEA (ฮิตเลอร์เริ่มสงครามกับรัสเซีย กองทัพบุกตะลุยจากอาร์กติกถึงทะเลดำ) โดยที่ปิดวันที่เอาไว้ให้ทาย ซึ่งถ้าพลิกไปด้านหลังจะพบกับคำเฉลยและรายละเอียดเหตุการณ์

สำหรับผู้เล่น นี่เป็นเกมที่ต้องใช้สมองแต่การ์ดสำรับนี้ยังทำอีกหน้าที่หนึ่งคือ เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญช่วงสงครามโลกที่ใช้อ้างอิงได้ สามารถสืบค้นพาดหัวข่าวได้ โดยไม่ต้องไปค้นหาในกูเกิลให้ลำบากยากเย็น ในกรณีที่ต้องการดูพาดหัวข่าวช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของ นิวยอร์กไทมส์

นิวยอร์กไทมส์ ยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน ยืนหยัดผลิตหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษในยุคตะวันตกดิน ท่ามกลางการเติบโตของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งนี้น่าสนใจว่ายอดพิมพ์ใน ค.ศ. ๒๐๒๒ อยู่ที่ ๗.๔ แสนฉบับต่อวัน ขณะที่ยอดผู้ติดตามแบบดิจิทัลนั้น มีลูกค้าถึง ๘.๖ ล้านราย ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก

ผมอ่าน นิวยอร์กไทมส์ มาตั้งแต่เริ่มทำงานสื่อ เจียดเงินซื้อบ้าง อ่านฟรีบ้าง เคยพบว่ามหาวิทยาลัยต่างประเทศบางแห่งยังบอกรับ นิวยอร์กไทมส์ เวอร์ชัน international มาแจกให้นักศึกษาอ่านฟรีด้วย

นอกจากความน่าเชื่อถือของข่าว ภาพถ่ายบนหน้ากระดาษของ นิวยอร์กไทมส์ ยังมีคุณภาพสูง หลายภาพได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ กลายเป็นตำนาน เป็นแบบอย่างสำหรับการทำงานของสื่อทั่วโลก
ผมได้แต่มีความหวังเล็ก ๆ ว่าสักวันหนึ่ง จะมีสื่อที่ทำได้อย่าง นิวยอร์กไทมส์ ในประเทศของเราบ้าง