Image
ศููนย์กลางเศรษฐกิจของกรุุงเทพฯ อย่างย่านสุขุมวิท รัชดาฯ พระราม ๙ ฯลฯ ไปจนถึงพื้นที่่ว่างตามปริมณฑลและต่างจังหวัด ทุกภูมิภาคทั้งเหนือ-ใต้ ออก-ตก อีสาน ต่างก็มีสวนกล้วย มะนาว มะม่วง มะขามฯลฯ ผุุดขึ้้นราวกับดอกเห็ด นับตั้งแต่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
กับหย่อมป่าที่หายไป
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
Image
Image
ในสายตานักข่าว-นักหนังสือพิมพ์ สวนกล้วยขนาด ๕๐ ไร่ ใกล้อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ไม่ใช่เรื่องปรกติ เมื่อเจ้าของที่ดินชี้แจงวัตถุประสงค์ของการปรับสภาพพื้นที่รกร้างเป็นสวนเกษตรขนาดใหญ่ ปลูกกล้วยกว่า ๑ หมื่นต้น ว่าเพื่อผลิตวัตถุดิบสนับสนุนครัวอิมแพ็ค และแบ่งปันช่วยเหลือสังคมในโอกาสต่าง ๆ  หลายสำนักจึงพากันประโคมข่าวและพาดหัวข่าว เช่น

“เปลี่ยนไป ! ที่ดินเปล่าริมทะเลสาบเมืองทองธานีเดิมรกร้างสู่พื้นที่สีเขียว” (BRIGHT TODAY, ๒๕ พฤษ-
ภาคม ๒๕๖๕)

“‘อิมแพค’ เปลี่ยนที่ดินเปล่า ๕๐ ไร่ ริมทะเลสาบเมืองทองปลูกกล้วย” (แนวหน้า, ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕)

“ชาวเน็ตวิจารณ์หนัก เพจอิมแพ็ค อารีนา เผยภาพปลูกกล้วยบนที่ดิน ๕๐ ไร่” (ประชาชาติธุรกิจ, ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕)

“แชร์สนั่น ! โครงการปลูกกล้วยหมื่นต้น บนที่ดินว่างเปล่าริมทะเลสาบเมืองทองธานี” (ch7.com, ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕)
ที่ดินมูลค่าสูงลิบริมทะเลสาบ ตั้งอยู่บนทำเลทองตรงข้ามคอนโดมิเนียมหลายร้อยยูนิต ถูกรถแบ็กโฮไถเกลี่ยหน้าดินเป็นภาพที่คนใช้รถใช้ถนนสังเกตเห็นมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๔ แล้ว

เว็บไซต์ Insight และเพจ IMPACT Arena, Exhibition and Convention Center ระบุว่ากล้าพันธุ์ที่คัดมาปลูกคือกล้วยหอมกับกล้วยน้ำว้าจากนครนายก นอกจากเป็นอาหารแล้วยังสร้างพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมสภาพแวดล้อมแถวเมืองทองธานีให้น่าอยู่อาศัย หลังปลูกกล้วยสายพันธุ์ที่ปลูกง่าย โตไว ให้ผลผลิตเร็วหมื่นต้นบนพื้นที่ ๕๐ ไร่ ก็จัดให้มีคนเข้ามาดูแลรดน้ำ ไม่กี่เดือนพื้นที่ริมทะเลสาบก็กลายเป็นสวนกล้วยเขียวขจี

แต่ในสายตาใครต่อใคร นี่ไม่น่าจะใช่การทำสวนเกษตรปรกติ  มันน่าจะมีเบื้องลึกอะไรบางอย่าง
Image
Image
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
ไม่ใช่แค่ย่านเมืองทองธานีเท่านั้น ศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ อย่างย่านสีลม สาทร ทองหล่อ รัชดา ฯลฯ ไปจนถึงพื้นที่ว่างตามปริมณฑลและต่างจังหวัด ทุกภูมิ-ภาคทั้งเหนือ-ใต้ ออก-ตก อีสาน ต่างก็มีสวนกล้วย มะนาว มะม่วง ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

หลายคนเริ่มสังเกตว่าพื้นที่ชุ่มน้ำแถวบ้านที่เคยมีบ่อน้ำเล็ก ๆ เป็นดงต้นกก ต้นธูปฤๅษี ชุ่มชื้นพอให้สัตว์เลื้อยคลานนานาชนิดได้พึ่งพิงอาศัย มีนกฝูงใหญ่โฉบลงมาเกาะคอนและจับปลา ยามกลางคืนมีหิ่งห้อยเปล่งประกายกะพริบแสงวิบวับ ถูกไถกลบจนโล่งเตียน

ที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยหน้าที่ดินแปลงใด คือที่ดินขนาด ๒๔ ไร่ ริมถนนรัชดาภิเษก ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสวนมะนาว

ด้วยทำเลทองที่คาดว่าจะเป็นย่าน “ซีบีดี” (CBD - central business district หมายถึงย่านศูนย์กลางธุรกิจบริเวณศูนย์กลางเมือง  ย่าน CBD เดิมของกรุงเทพฯ อยู่แถวสีลม สาทร ถนนสุขุมวิทตอนต้น) แห่งใหม่ อยู่ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสองสาย คือสายสีน้ำเงินและสายสีส้ม นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่ามูลค่าของที่ดินแปลงนี้น่าจะเหยียบหมื่นล้านบาท

แต่มหาเศรษฐีเจ้าของที่ดินลงทุนซื้อบ่อซีเมนต์ที่นิยมใช้ปลูกมะนาวมาวางเรียงเป็นแถว ๆ กว้านซื้อมะนาว ๔,๐๐๐ ต้นมาจากจังหวัดนครปฐม

เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงที่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้ ก็ทำให้ใครต่อใครเชื่อว่าปรากฏการณ์สวนกล้วยสวนมะนาวเบ่งบานไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

“กล้วยช่วยชีวิต”

“คนเขาดูออกนะ ผมว่า”

“อยู่ ๆ ก็อยากปลูกมะนาวขึ้นมา”

“ภาษีกำลังจะขึ้น ถ้าจะเห็นพวกเศรษฐีทำสวนกันเยอะขึ้นก็อย่าตกใจ”

หลายเสียงตั้งคำถามในโลกออนไลน์ เมื่อสังเกตเห็นว่าเจ้าของที่ดินบางแปลงปลูกกล้วยแล้วก็ไม่เห็นจะเข้ามาดูแลรักษา หลายแปลงปล่อยให้หญ้ารกคาตา

นักวิเคราะห์ประเมินว่าถ้าที่ดินมีมูลค่าหมื่นล้านบาท กล้ากล้วยกล้ามะนาวถึงแม้จะราคาแค่หลักสิบ แต่เมื่อเอามาปลูกบนที่ดิน CBD อาจจะมีราคาต้นละเป็นล้านบาท
Image
“ก่อนหน้านี้มีการเก็บภาษีสำหรับท้องถิ่นอยู่แล้ว พ.ร.บ. ฉบับใหม่ถูกร่างขึ้นเพราะฉบับเดิมมีปัญหาหลายอย่างและค่อนข้างล้าสมัย ไม่ทันภาวการณ์ปัจจุบัน จึงมีความคิดที่จะจัดการให้ทันสมัย เป็นสากล และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น  จริง ๆ แล้วมีการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ฉบับใหม่น่าจะร่วม ๒๐ ปี กว่าที่จะคลอดออกในปี ๒๕๖๒”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายภาษีและเศรษฐศาสตร์การคลัง ซึ่งติดตามการปฏิรูปกฎหมายภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรม กระจายรายได้ และกระจายอำนาจ  ล่าสุดเป็นผู้ติดตามผลกระทบและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ กล่าวในงานเสวนา “พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ : ที่รกร้างว่างเปล่า ‘ไร้ประโยชน์’ จริงหรือ ?” จัดขึ้น ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนอโศกมนตรี เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

การเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ทรงคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

อาจารย์ดวงมณีอธิบายว่า ที่ผ่านมาทรัพย์สินที่ถูกเก็บ “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” คือโรงเรือนให้เช่าหรือให้ใช้ประกอบการพาณิชย์และอุตสาหกรรม  ฐานภาษีคิดจากค่าเช่ารายปีของโรงเรือนและที่ดินรวมมูลค่าเครื่องจักร อัตราภาษีร้อยละ ๑๒.๕ ของค่าเช่ารายปี จะยกเว้นหรือลดหย่อนก็ต่อเมื่อเป็นโรงเรือนที่เจ้าของอยู่อาศัยเองหรือเป็นโรงเรือนปิดว่าง

ส่วน “ภาษีบำรุงท้องที่” จัดเก็บจากที่ดินที่เป็นที่พักอาศัยและที่ดินเกษตรกรรม  ฐานภาษีประมวลจากราคาปานกลางของที่ดินปี ๒๕๒๑-๒๕๒๔  อัตราภาษีแปรผันตามมูลค่าราคาปานกลางของที่ดิน ซึ่งเป็นอัตราถดถอย การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปลูกไม้ล้มลุกด้วยตัวเอง ไร่ละ ๕ บาท  ถ้าให้เช่าปลูกไม้ล้มลุกเสียกึ่งอัตรา หรือไม่ก็ได้ลดหย่อนตามเกณฑ์เนื้อที่ที่ท้องถิ่นกำหนด ในพื้นที่ ๕๐ ตารางวาถึง ๕ ไร่

“ปัญหาชัด ๆ คือไม่มีมาตรฐานชัดเจนว่าค่าเช่ารายปีของแต่ละพื้นที่ควรเป็นเท่าไร  อัตราจัดเก็บสูงสุด ๑๒.๕ เปอร์เซ็นต์ จะว่าไปก็ค่อนข้างสูง ในแง่หนึ่งจึงเป็นแรงจูงใจให้คนหนีภาษี”
"ภาษีที่ดินฉบับใหม่จุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินขนานใหญ่ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมระบุว่านี่คือหมุดหมายของการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ของประเทศ"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดเก็บภาษีวิเคราะห์ว่า การไม่มีมาตรฐานชัดเจน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน ทำให้เกิดช่องโหว่หลายทาง  ยกตัวอย่าง นาย ก. ให้เช่าบ้านในราคา ๒ หมื่นบาทต่อเดือน  เมื่อถึงเวลาประเมินภาษี อาจจะบอกแค่ ๑ หมื่นบาทก็ได้  ถ้าเจ้าพนักงานยอมรับ ก็เสียภาษีบนฐาน ๑ หมื่น จึงอาจนำไปสู่การประพฤติไม่ชอบหรือฮั้วกับเจ้าหน้าที่

ในส่วนปัญหาของภาษีบำรุงท้องที่ ฐานภาษีคำนวณจากราคาปานกลางที่ดินปี ๒๕๒๑-๒๕๒๔ ทำให้เก็บภาษีต่ำมาก  สี่สิบปีผ่านไปราคาปานกลางอาจปรับขึ้น ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๐,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ในบางพื้นที่แล้ว

“อัตราภาษีบำรุงท้องที่เป็นอัตราก้าวหน้าในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อราคาที่ดินสูงถึงระดับหนึ่งจะเสียภาษีลดลง  โดยรวมแล้วเป็นอัตราภาษีแบบถดถอย คนครอบครองที่ดินราคาสูง ๆ เสียภาษีในอัตราน้อย  อีกประเด็นคือมีการลดหย่อนค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ ๕๐ ตารางวาถึง ๕ ไร่  ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่  แล้วการปลูกพืชล้มลุกเสียภาษีค่อนข้างถูก  ประชาชนบางคนอาจจะนั่งรถมาจ่ายภาษีแค่ ๕ บาท ๑๐ บาท  ค่ารถที่นั่งมาแพงกว่าด้วยซ้ำไป”

ด้วยข้อบกพร่องหลาย ๆ ประการ ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทบจะไม่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่  ผู้ที่มีอำนาจจึงคิดปรับเปลี่ยนให้ใช้ภาษีที่ดินเป็นแหล่งรายได้ของท้องถิ่นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
Image
พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ แต่ในช่วง ๒-๓ ปีแรกกฎหมายบรรเทาภาระให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่ต้องเสียภาษีเต็มจำนวน

ปี ๒๕๖๖ ถือเป็นปีภาษีแรกที่เรียกเก็บเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะต้องเสียภาษีภายใน ๓๐ เมษายนของปีนั้น ๆ

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเรียกเก็บจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการครอบครอง  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในทรัพย์สิน  ผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบด้วยเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ตามที่มีกฎหมายจัดตั้ง แต่ไม่รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด

สูตรที่ใช้คำนวณภาษีคือ มูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง x อัตราภาษี = ภาษี (ที่ต้องจ่าย)

มูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นราคาที่กรมธนารักษ์กำหนดไว้ ส่วนอัตราภาษีขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน

กฎหมายฉบับนี้แบ่งที่ดินออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่อื่น ๆ และพื้นที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ การเก็บภาษีจะแตกต่างกันตามลักษณะการใช้งานหรือรูปแบบการทำประโยชน์ที่ดิน

พื้นที่เกษตรกรรมมีอัตราภาษีต่ำที่สุด ไม่เกินร้อยละ ๐.๑๕ รองลงมาคือพื้นที่อยู่อาศัย ไม่เกินร้อยละ ๐.๓ พื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น เช่น พาณิชยกรรม ไม่เกินร้อยละ ๑.๒ และพื้นที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ อัตราภาษีสูงที่สุดคือไม่เกินร้อยละ ๑.๒

อย่างไรก็ตามอัตราภาษีที่จัดเก็บจริงใช้วิธี “ขั้นบันได” ของราคาประเมิน ยกตัวอย่างพื้นที่เกษตรกรรมที่มีราคาประเมิน ๐-๗๕ ล้านบาท จะมีอัตราภาษีร้อยละ ๐.๐๑ พื้นที่มูลค่า ๗๕-๑๐๐ ล้านบาท ภาษีร้อยละ ๐.๐๓ พื้นที่มูลค่ามากกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท ภาษีร้อยละ ๐.๑

ส่วนการเรียกเก็บภาษีพื้นที่ทิ้งไว้ว่างเปล่ามีอัตราภาษีสูงนั่นคือ พื้นที่ว่างเปล่าที่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ ๐-๕๐ ล้านบาท มีอัตราภาษีร้อยละ ๐.๓  พื้นที่มูลค่า ๕๐-๒๐๐ ล้านบาท ภาษีร้อยละ ๐.๔  พื้นที่มูลค่า ๑,๐๐๐-๕,๐๐๐ ล้านบาท ภาษีร้อยละ ๐.๖

ยกตัวอย่างที่ดินมูลค่า ๕๐ ล้านบาท ถ้าเข้าข่ายพื้นที่เกษตรกรรมจะเสียภาษี ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ x (๐.๐๑/๑๐๐) = ๕,๐๐๐ บาท

แต่ถ้าเข้าข่ายพื้นที่ว่างเปล่าจะเสียภาษี ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ x (๐.๓/๑๐๐) = ๑๕๐,๐๐๐ บาท และอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๐.๓ ทุก ๓ ปี จนถึงร้อยละ ๓
 หย่อมป่ากำลังหายไป เพราะถูกตีความว่าเป็นที่รกร้าง ไม่มีการทำประโยชน์ ผู้ครอบครองต้องเสียภาษีมากกว่าที่ดินทางการเกษตร ผลคือเกิดการถางหย่อมป่าแล้วปลูกกล้วย มะนาว เพื่อเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง
Image
Image
Image
ในสายตานักลงทุน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการเก็งกำไรผู้ร่างกฎหมายจึงเขียนให้ “พื้นที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า” หรือ “ไม่ได้ทำประโยชน์” ถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงที่สุด

มุมมองของนักลงทุนสอดรับกับงานวิจัยของอาจารย์ดวงมณี ซึ่งชี้ว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือส่งเสริมเรื่องการกระจายอำนาจ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ที่จะเอามาพัฒนาท้องถิ่นต่าง ๆ ตามที่กฎหมายระบุว่า เงินภาษีที่จัดเก็บได้ในพื้นที่ใด ก็ให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ

“ดิฉันเคยทำวิจัยโดยใช้ข้อมูลปี ๒๕๕๕ เพื่อดูว่าการกระจายการถือครองที่ดินเป็นอย่างไร  พบว่าคนราว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ถือครองที่ดินที่เป็นโฉนดไปแล้วประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ คนอีกราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ถือครองอีก ๔๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่  ไม่นับว่ามีคนที่ไม่มีที่ดินถือครองเลยด้วย และมีคน ๑ เปอร์เซ็นต์ถือครองที่ดินที่เป็นโฉนดหนึ่งในสี่ของที่ดินที่เป็นโฉนดทั้งหมด  ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก และสูงกว่าการกระจายรายได้หรือการถือครองรายได้เสียด้วยซ้ำ  นี่เป็นปัญหาที่ถูกหมักหมมมานาน ไม่ได้สะสาง”

อาจารย์ดวงมณีชี้ว่า ที่ผ่านมาประชาชนอาจจะไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องที่ทำกินหรือที่อยู่อาศัย แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการรูปแบบอื่น ๆ

“นี่เป็นบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้าไปดูแลให้คนด้อยโอกาส คนยากจนมีชีวิตที่ดีขึ้น กฎหมายภาษีที่ดินจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ  แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็จะมีรายได้เอามาพัฒนาโครงการสาธารณะต่าง ๆ  การเสียภาษีจะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่น กระจายอำนาจ กระจายรายได้ให้คนที่ยังยากลำบาก”

แต่ในสายตานักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมมองต่างไปโดยสิ้นเชิง
Image
อัตราภาษีที่แตกต่างกันมากระหว่างพื้นที่เกษตรกรรมกับพื้นที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าจุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินขนานใหญ่  นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหลายรายระบุว่า นี่คือหมุดหมายของการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ 

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ และอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ อธิบายว่าหย่อมป่าเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ในที่ดินเอกชน เป็นเหมือนทางเชื่อมระบบนิเวศ (stepping
stone) ของการแพร่กระจายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ รวมทั้งนกและแมลงต่าง ๆ

“หย่อมป่าเหล่านี้กำลังหายไปเพราะถูกตีความว่าเป็นที่รกร้าง ไม่มีการทำประโยชน์ ผู้ครอบครองต้องเสียภาษีมากกว่าที่ดินทางการเกษตร ผลก็คือเกิดการถางหย่อมป่าเหล่านี้ แล้วปลูกกล้วย มะนาว พืชทางการเกษตรที่ไม่ต้องบำรุงรักษามากนักและมีราคาถูก เพื่อให้ถูกตีความว่าเป็นพื้นที่เกษตร เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง”

ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งประกาศตามหลัง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ อธิบายว่า การใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม หมายถึง การใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามความหมายของคำว่า “ประกอบการเกษตร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม แต่ไม่รวมถึงการทำการประมงและการทอผ้า
Image
ผืนป่าชายเลนคลองด่านน้อยมีพรรณไม้ขึ้นเบียดเสียดแน่นขนัด เช่น แสม โกงกาง ลำพู ตะบูน เป็นระบบนิเวศที่แทบจะไม่เคยถูกมนุษย์กล้ำกลาย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลชายฝั่ง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และแหล่งอาหารของนกน้ำนานาชนิด เปรียบเหมือน “ปอด” หรือพื้นที่ฟอกอากาศให้กับคนท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนทั้งบนดินและใต้ดินที่มีความสำคัญ

ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
บัญชีแนบท้าย ก และ ข ระบุว่า การเกษตรที่เป็นการทำไร่ ปลูกผัก ปลูกไม้ผลยืนต้น การปลูกสวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะ หรือการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม จะต้องปลูกต้นไม้ ๕๑ ชนิดเหล่านี้ ให้ได้จำนวนขั้นต่ำตามที่กำหนด ยกตัวอย่าง กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ๒๐๐ ต้นต่อไร่  กาแฟพันธุ์โรบัสตา ๑๗๐ ต้นต่อไร่  ทุเรียน มะม่วง มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ๒๐ ต้นต่อไร่  มะนาว ๕๐ ต้นต่อไร่  กลุ่มพืชให้เนื้อไม้ ๓๐ ต้นต่อไร่

ในการเลี้ยงปศุสัตว์ก็ต้องให้ได้จำนวนสัตว์ขั้นต่ำตามที่กำหนด ยกตัวอย่าง เป็ด ไก่ ๔ ตารางเมตรต่อตัว  โคกระบือ ๑ ตัวต่อ ๕ ไร่  แพะ แกะ ๑ ตัวต่อไร่  สุกรพ่อพันธุ์ คอกเดี่ยวขนาด ๗.๕ ตารางเมตรต่อตัว  สุกรแม่พันธุ์ คอกเดี่ยวขนาด ๑.๕ ตารางเมตรต่อตัว

หากปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีระบุตามบัญชีแนบท้าย ให้เทียบเคียงจากพืชหรือสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

เกณฑ์ชี้วัดที่ถูกกำหนดชัดเจนทำให้เกิดการตัด ฟัน ไถ ถาง หัก โค่นพันธุ์พืชท้องถิ่น ถมกลบพื้นที่ชุ่มน้ำ แล้วเอาพืชผลทางการเกษตรที่ดูแลง่ายมาปลูก ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้แต่ร่องน้ำที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดเล็ก ๆ คอยลำเลียงแร่ธาตุ สารอาหาร เชื่อมโยงสายใยแห่งชีวิตก็ถูกทำลาย

ดอกเตอร์สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักนิเวศวิทยา อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ให้ความเห็นว่า รู้สึกหนักใจกับการออกกฎหมายที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลูกที่ตามมา

“กฎหมายภาษีที่ดินเก็บภาษีพื้นที่รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสายตานักกฎหมายหรือนักเศรษฐศาสตร์ กำลังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเจ้าของที่ดินถางพืชพงที่ดูรก ๆ ไปปลูกกล้วย มะนาว ทำลายแหล่งหากินดั้งเดิมของสัตว์ในท้องถิ่น บางพื้นที่ถมป่าจากที่เป็นถิ่นอาศัยสัตว์น้ำกร่อย แค่เพิ่งเริ่มต้นกฎหมาย พื้นที่ป่าพงทุ่งน้ำป่าเลนดี ๆ ก็ถูกถางถมกันไปมากมาย รวมถึงพื้นที่ที่พบเสือปลา สัตว์หายาก เป็นกฎหมายทำลายธรรมชาติที่สาหัสที่สุด ออกมาท่ามกลางวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ในขณะที่เราต้องการมาตรการสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ”

ในขณะที่เมืองหลวงสำคัญ ๆ ของโลกหลายแห่งเร่งเพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่สีเขียว กำหนดนโยบายเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  กฎหมายของไทยกลับบีบบังคับให้เจ้าของทำลายสภาพพื้นที่ดั้งเดิม

“นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองเห็นแต่ความว่างเปล่า ส่วนเราเห็นพงพืชถิ่นอาศัยของสรรพสิ่ง เห็นการฟื้นตัวของธรรมชาติ  ภาษีที่ดินไม่ควรผูกโยงกับการทำประโยชน์ โดยเฉพาะในนิยามแคบ ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ จะจำกัดการครอบครองก็ใช้วิธีอื่นไม่ได้หรือ เหตุใดความรู้ทางนิเวศวิทยาจึงไม่มีค่าในประเทศนี้”

ในยุควิกฤตสิ่งแวดล้อม เราควรออกมาตรการเอื้อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมฟื้นฟูธรรมชาติ ไม่ใช่มาออกกฎหมายสนับสนุนการทำลายธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ 

กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดนิยามของที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า ว่าหมายถึงที่ดินที่โดยสภาพสามารถทำประโยชน์ได้แต่ไม่มีการทำประโยชน์ตลอดปี ยกเว้นว่ามีเหตุธรรมชาติหรือเหตุพ้นวิสัย

ส่วนที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ หมายถึงที่ดินที่โดยสภาพสามารถทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรม แต่การทำประโยชน์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด

ทั้งสองหัวข้อข้างต้น ให้ยกเว้นกรณีที่ดินอยู่ระหว่างเตรียมทำประโยชน์ ที่ดินถูกรอนสิทธิในการทำประโยชน์โดยกฎหมายหรือคำสั่งศาล ที่ดินที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ให้ยกเว้นไม่ต้องถูกจัดเก็บภาษี

นอกจากนี้กฎกระทรวงข้อที่ ๔ ยังระบุให้คำนึงถึงเงื่อนไขห้าข้อ ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิประเทศสภาพดิน ความลาดชันของพื้นดิน และการทำประโยชน์ของที่ดินบริเวณใกล้เคียง
Image
“กระบวนการจัดเก็บภาษีต้องมีการตัดสินว่าพื้นที่ใดเป็นที่รกร้าง หรือไม่มีประโยชน์ ตรงนี้ใครเป็นคนตัดสิน พื้นที่ที่ไม่รกร้างคืออะไร พื้นที่ที่ ใช้ประโยชน์คืออะไร หน้าตาเป็นยังไง”
ธนญชัย ศรศรีวิชัย
ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา

Image
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ยกตัวอย่างว่า “ถ้าเจ้าของที่ดินสามารถอธิบายได้ว่าโดยสภาพของสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผมจะเป็นคนเห็นแก่ตัวมากเพราะจะเกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ ยกตัวอย่างที่ดินของผมอยู่ติดป่าชายเลน มีโฉนด ไม่ใช่ของรัฐ ถ้าให้ผมถางป่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น ผมมีสิทธิ์ที่จะไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินโดยอ้างเหตุผลนี้  หากมีเหตุผลอธิบายได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่ตอนนี้ยังไม่มีใครเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายลึกซึ้งถึงขนาดจะไปโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่

“ในทางกลับกัน เมื่อกฎหมายเขียนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ประเมิน  เจ้าหน้าที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย  ถ้าการใช้ประโยชน์ที่ดินมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การไม่ใช้ประโยชน์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง  รัฐไม่มีสิทธิ์ไปเก็บภาษีเขานะ เจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งห้าข้อก่อนเรียกเก็บภาษี”

การบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินต้องอาศัยมุมมองบนพื้นฐานความเข้าใจของเจ้าพนักงานที่ทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ

“ผมยังไม่มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่มีมุมมอง มีความเข้าอกเข้าใจมากน้อยแค่ไหน  ส่วนหนึ่งก็ด้วยความเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งผ่านการบังคับใช้มาไม่กี่ปี  อาจจะต้องอาศัยตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นนำมาวินิจฉัย ว่าเราจะมีวิธีการใช้กฎหมายโดยดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับระบบนิเวศและระบบสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร”
วัตถุประสงค์ของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือส่งเสริมเรื่องการ
กระจายอำนาจ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ที่จะเอามาพัฒนาท้องถิ่นต่าง ๆ

Image
Image
Image
“ถ้าดูผลเชิงบวก เราก็จะเห็นว่าทุกคนกลับไปพัฒนาที่ดินของตัวเอง ปลูกส้ม กล้วย มะนาว หรืออะไรก็แล้วแต่อย่างน้อยมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดขึ้น ส่วนผลเชิงลบคือเรายังเข้าใจคลาดเคลื่อน กฎหมายยังมีมุมมองไม่กว้างขวางพอ ยังขาดในประเด็นต่าง ๆ” สุรชัยให้ความเห็น

ในสายตาผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายภาษีและเศรษฐศาสตร์การคลัง ยืนยันว่าภาษีที่ดินจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ตามความเห็นของปลัดกระทรวงการคลัง เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์ปรับพื้นที่ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม แม้แต่กลางกรุงโตเกียวก็เคยมีคนหนีภาษีที่ดินด้วยวิธีปลูกข้าว การปลูกมะนาวกลางเมืองใหญ่ไม่ได้เป็นสิ่งที่คลังต้องกังวล

แต่ในสายตาของผมมองเห็นเพียงความโศกเศร้า

ในความทรงจำของวันเก่า ยังจำได้ว่าเคยมีหิ่งห้อยกะพริบแสงบนที่ดินแปลงนั้น

แม้จะติดถนนใหญ่ มีรถยนต์แล่นขวักไขว่ตลอดทั้งวัน แต่ลึกเข้าไปหลังม่านต้นไม้นั้นมีบึงกว้างที่แทบไม่เคยถูกมนุษย์กล้ำกราย

แม้ช่วงหนึ่งเจ้าของที่ดินแบ่งพื้นที่ส่วนที่อยู่ติดถนนให้คนเช่าเปิดร้านอาหาร หิ่งห้อยและสรรพสัตว์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้หายไปไหน  เมื่อผู้เช่าเลิกกิจการขนย้ายข้าวของออกไป หิ่งห้อยก็ยังอยู่ และดูจะเพิ่มจำนวนขึ้นในเวลาต่อมา

ผืนป่าขนาดย่อมยังคงมีสัตว์นานาเข้ามาหากิน ได้ยินเสียงนกร้อง เป็นแหล่งฟอกปอด ดูดซับก๊าซมลพิษ กรองเสียงดังบนท้องถนนให้บ้านหลังที่อยู่ลึกเข้าไป

แต่การมาถึงของ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ บีบให้เจ้าของต้องตัดสินใจถมบ่อน้ำ ปิดฉากตำนานบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์กับหิ่งห้อยพราวแสงระยิบระยับ

กฎหมายมีผลต่อทุกคน ทุกสถานที่ ทุกเวลา ตอนนี้หลายคนเริ่มเห็นแล้วว่ามีผลต่อคุณภาพชีวิต คน สัตว์ ต้นไม้

การดำรงอยู่ของหิ่งห้อยเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศได้
หากหิ่งห้อยหายไป
คนก็ยากจะมีชีวิตอยู่

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ประกอบการเขียน
จุลพร นันทพานิช. (๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖). สะพานนิเวศ ทางออกของผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน ?. สืบค้นจาก https://thesiamsociety.org/news/ecology-corridor/?fbclid=IwAR2zONTyXSJ6Up6O2YMnwo0s0N_n9jOFXSdTJKDSCBFm_dCewcCPIrMe-M4

พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์. (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖). ไม่เพิ่มภาระ - กระตุ้นการมีส่วนร่วม แนวคิดกฎหมายยุคใหม่เพื่อความยั่งยืน. สืบค้นจาก https://thesiamsociety.org/news/ไม่เพิ่มภาระ-กระตุ้นการ/

อัพเดท ! ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี ๒๕๖๕ ล่าสุดเสีย ๑๐๐% แล้วจ้า!!. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=kflupLey_A4TaxBugnoms. (๒ มิถุนายน ๒๕๖๓).

อัพเดท ! ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี ๒๕๖๕ : สรุปทุกอย่างที่ต้องรู้. สืบค้นจาก https://www.taxbugnoms.co/land-and-building-tax/

ขอขอบคุณ
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ แผนกพิทักษ์มรดกสยาม, คุณพีรพัฒน์ อ่วยสุข, คุณนิรมล มูนจินดา และผู้ใหญ่ปัญญา ขัน-การขาย