Image
ความหนาแน่นของผืนป่าแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แสดงถึงความงดงามอย่างไม่น่าเชื่อของธรรมชาติที่กลับคืนมาเองหลังจากถูกแผ้วถาง แม้ว่าจะอยู่ห่างจากป่าธรรมชาติหลายกิโลเมตร มีสภาพเป็นป่าสันดอนทรายชายหาดที่มีความหลากหลายสูง ไม่มีพืชต่างถิ่นปะปน
เทรนด์ฮิต ปลูกป่า มายาคติ
กับการทำลาย
ความหลากหลายทางชีวภาพ

 เรื่องและภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ
“สิ่งที่เรานึกไม่ถึง คือการปลูกก็เหมือนการไปแย่งที่ ‘ธรรมชาติ’ เพราะแต่ละพื้นที่หรือระบบนิเวศมีทรัพยากรที่รองรับสิ่งมีชีวิตได้อย่างจำกัด และมีไม่เท่ากัน  ต้นไม้ที่เราเลือกเข้าไปปลูกจะแย่งพื้นที่และทรัพยากรของเมล็ดพืชในธรรมชาติของที่แห่งนั้นและนำไปสู่การขัดขวางการเจริญของสังคมพืชที่มีพันธุกรรมตามธรรมชาติ”

เจริญศักดิ์ แซ่ไว่ 
นักพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หน้าฟีดเฟซบุ๊กของผมมักมีข่าวสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้เห็นอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมสนใจด้านนี้เป็นพิเศษและอีกส่วนอาจเป็นเพราะการตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ในสังคม

ข่าวกิจกรรมของสายกรีนในสื่อออนไลน์ อันดับต้น ยอดฮิตช่วงคาร์บอนเครดิตอินเทรนด์ เห็นจะเป็นโพสต์จั่วหัว “กิจกรรมปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์”  ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวน หรือภาพกิจกรรมลงมือลงแรงช่วยเหลือกัน ซึ่งมีคนเข้าถึงจำนวนมากทั้งกดแสดงความรู้สึกและแชร์ต่อจนบางโพสต์กลายเป็นไวรัล 

ความคิดว่า “ป่าปลูกได้” ไม่ใช่เรื่องใหม่สักทีเดียวสำหรับสังคมไทย

ปัจจุบันหน่วยงานรัฐตั้งงบประมาณเฉพาะสำหรับการปลูกฟื้นฟูป่าปีละหลายล้านบาท มีการกำหนด KPI ชัดเจนว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าปีละเท่าไร  ส่วนภาคเอกชนก็จัดกิจกรรม CSR ปลูกป่าสารพัดรูปแบบ แม้บางบริษัทเรารู้กันอยู่ในใจว่าเป็นส่วนหนึ่งในกลไกหลักของการทำลายธรรมชาติมีแม้แต่การลงนาม MOU ระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนจัดโครงการเพื่อร่วมฟื้นฟูป่าในพื้นที่การดูแลของรัฐได้ โดยเฉพาะระยะหลังเมื่อมีความต้องการปลูกป่าเพื่อเก็บกักคาร์บอนแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

รู้ตัวอีกที “ป่าปลูกได้” กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วและยังเป็นเทรนด์ฮิตของสังคม

แต่ลองฉุกคิดในความทรงจำของเราสักนิดว่า เราจำเป็นต้องปลูกป่าจริงหรือ ?
แค่เพียงปล่อยไว้ไม่ถูกรบกวน จากพื้นที่เหมืองทอง (อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส) ที่ธรรมชาติถูกรบกวนอย่างหนัก กลับคืนเป็นป่าดิบชื้นที่มีความหลากหลายสูง แสดงผลลัพธ์ว่าสังคมพืชฟื้นฟูตนเองได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี
สำหรับความทรงจำของผม...เริ่มที่เสียงลมหายใจที่ดังถี่ขึ้น ขณะกำลังเดินขึ้นเนินเขาในอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสมาได้ ๓๐ นาที พยายามยืดตัวขึ้นมองจากดงเฟินสูงท่วมหัว เห็นไม้ยืนต้นใหญ่หลากหลายชนิด ถัดไปเป็นป่าทึบ พื้นล่างเต็มไปด้วยพืชตระกูลขิงข่าที่มีดอกหน้าตาประหลาด และดอกไม้ขนาดจิ๋วหน้าตาแทบไม่ซ้ำกันเต็มไปหมด แม้แต่พืชสกุลประดับหิน (Argostemma Wall.) ที่ขึ้นเฉพาะพื้นที่ธรรมชาติจริง ๆ เท่านั้น ก็พบเจอได้ข้างทาง  ขณะมองไปรอบ ๆ สองเท้าที่ก้าวเดินเหยียบพื้นดินก็รู้สึกนุ่มสบายจากชั้นดินหนาและยืดหยุ่นจากการย่อยสลายของอินทรียสาร

มีคำกล่าวว่า “คนเราเวลาเพลิดเพลินกับอะไรเป็นพิเศษมักจะลืมวันและเวลาไป”

คงไม่เกินจริง เผลอแผล็บเดียวเวลาผ่านไป ๔๐ นาที เบื้องหน้าผมก็เป็นสะพานที่สร้างจากเหล็กขนาดใหญ่ หากให้เปรียบเทียบคงคล้ายกับสะพานข้ามแม่น้ำแควขนาดย่อม

แน่นอนว่าสะพานเหล็กกลางป่าแบบนี้จะธรรมดาได้อย่างไร

หลังจากยุคเหมืองทอง สะพานเหล็กทิ้งร้างก็ถูกห่มด้วยพืชพรรณท้องถิ่นนานาชนิด ทั้งเฟิน ตีนตุ๊กแก จนแทบจะกลืนไปกับผืนป่าเบื้องหน้า

สะพานแห่งนี้เองทำให้ผมย้อนคิดถึงช่วงเวลาและ

ภาพต่าง ๆ ที่ผ่านตาเข้ามา ซึ่งเราอาจเคยชินจนเป็นเรื่องธรรมดา

พวกเราทุกคนเห็นในชีวิตประจำวันตลอดเวลาว่าพืชพรรณขึ้นเองได้ไม่ต้องปลูก นอกเหนือจากการที่ถูกสอนว่าสัตว์ต่าง ๆ เป็นตัวกระจายเมล็ดพันธุ์แล้ว การเกิดน้ำท่วม พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง ที่เรียกว่าภัยธรรมชาตินั้น แม้จะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศบ้าง แต่ก็เป็นเพียงเฉพาะหน้า  อันที่จริงปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งในการนำพาส่วนขยายพันธุ์ของพืชเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในเวลาอันสั้น

พายุขนาดใหญ่สามารถหอบพัดพาเมล็ดพืชข้ามทวีป หรือแม้แต่กระแสน้ำก็พาเมล็ดพืชเดินทางไกลหลายพันกิโลเมตรข้ามประเทศข้ามทวีปไปกระจายพันธุ์ในที่แห่งใหม่

เกาะห่างไกลยังมีต้นไม้ หย่อมหญ้าขึ้นแทรกตามรอยแตกร้าวของทางเท้า ต้นโพไทรงอกงามตามซอกมุมตึก แม้พื้นที่ตรงนั้นแทบจะไม่มีดิน พื้นที่รกร้างปล่อยไว้แผล็บเดียวก็รกชัฏ

เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลาโดยแทบไม่ต้องทำการศึกษาวิจัยเลยว่าจะปลูกพืชอย่างไรให้โตได้ดี

ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะเสียเวลาและงบประมาณในการปลูกป่าไปเพื่ออะไร
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
Image
การที่ได้เรียนชีววิทยาจนมาถึงการทำงานสารคดีธรรมชาติ ทำให้ผมมีโอกาสเดินป่ากับนักพฤกษศาสตร์หลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งข้อสงสัยเหล่านี้ถูกย้ำอยู่เสมอ  โดยเฉพาะจากนักพฤกษศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง คือ รองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ และอาจารย์เจริญศักดิ์ แซ่ไว่ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ที่สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทั้งสองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานของพืช สังคมพืช และนิเวศวิทยาของพืช

ครั้งหนึ่งระหว่างเดินอยู่บนสันดอนทรายชายฝั่งโบราณจังหวัดสงขลา ในบริเวณที่ถูกแผ้วถางซึ่งติดกับป่าดั้งเดิม พวกเราพบกล้าพันธุ์ไม้ยืนต้นดั้งเดิมอย่างสนทราย (Baeckea frutescens L.) และไม้พื้นล่างอีกมากมาย ทั้งหม้อข้าวหม้อแกงลิง เฟินชนิดต่าง ๆ เริ่มเจริญเติบโตขึ้นให้เห็น อาจารย์เจริญศักดิ์เดินมุ่งหน้าไปสำรวจกลุ่มต้นกล้านั้นพร้อมฉีกยิ้มสดใสและอธิบายให้ฟังว่า

“ตามหลักการทางธรรมชาติวิทยาพื้นฐาน พื้นที่ว่างสามารถรองรับชนิดพันธุ์ได้หากที่ว่างนั้นมีปัจจัยต่าง ๆ เหมาะสม สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็จะเข้าไปทดแทนในที่ว่างนั้น

“หากเราต้องการให้สังคมพืชกลับคืนมา ก็เพียงแค่ปล่อยพื้นที่ไว้ ขนาดสนทรายที่เพาะยากยังขึ้นได้และเติบโตได้ดี อาจเพราะพื้นที่ว่างเหล่านี้ยังมีเมล็ดพันธุ์ที่เก็บสะสมไว้ (seed bank) หรือมีการกระจายเมล็ดพันธุ์ (seed dispersal) จากกระบวนการต่าง ๆ ตามธรรมชาติถึงแม้ไม่เหลือสัตว์ช่วยการกระจายพันธุ์ แต่พืชหลายชนิดก็สามารถปรับตัวสร้างเมล็ดรูปแบบต่าง ๆ และอาศัยธรรมชาติ เช่น ลม พายุ หรือแม้แต่กระแสน้ำ  ดังนั้นแทบไม่มีพื้นที่ใดที่เมล็ดพันธุ์เดินทางไปไม่ถึง

“พื้นที่ถูกแผ้วถางส่วนใหญ่เป็นบริเวณที่ติดกับป่าเดิมทั้งสิ้น ตามกระบวนการเมื่อป่าถูกทำลายรอบแรก seed bank กับ seed dispersal ยังคงทำงานได้ปรกติ ป่าจะค่อย ๆ พัฒนาและเติบโตขึ้นใหม่ โดยไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้คนไปปลูก

“สิ่งที่เรานึกไม่ถึง คือการปลูกก็เหมือนการไปแย่งที่ ‘ธรรมชาติ’ เพราะแต่ละพื้นที่หรือระบบนิเวศมีทรัพยากรที่รองรับสิ่งมีชีวิตได้อย่างจำกัด และมีไม่เท่ากัน  ต้นไม้ที่เราเลือกเข้าไปปลูกจะแย่งพื้นที่และทรัพยากรของเมล็ดพืชในธรรมชาติของที่แห่งนั้น และนำไปสู่การขัดขวางการเจริญของสังคมพืชที่มีพันธุกรรมตามธรรมชาติ”

“เมื่อไรเราปลูกจะเป็น ‘สวน’ ไม่ใช่ป่า”

อาจารย์กิติเชษฐ์มักพูดเสมอเวลาเดินป่ากับผม

อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า “ผมมักถูกหาว่าเป็นพวก ‘อีโคฟาสซิสต์’ แต่จริง ๆ ผมยังกินผักผลไม้จากระบบเกษตรกรรม เราต้องแยกแยะการอนุรักษ์กับการจัดการปลูกป่า  ปลูกต้นไม้ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ไม่ถือเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ แต่เป็นการจัดการป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต  แนวคิดนี้ต่างจากการอนุรักษ์ที่เอาธรรมชาติเป็นตัวตั้ง เพราะเอามนุษย์เป็นตัวตั้ง ป่าเป็นแค่เครื่องมือให้มนุษย์อยู่รอด มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่ใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ อารยธรรมของมนุษยชาติจึงต้องมี ‘สวน’ และการเกษตรก็มีบทบาทสำคัญเพื่อหล่อเลี้ยงประชากร แต่ไม่ใช่ธรรมชาติ
Image
บริเวณ heathland หรือ heath forest มีการกักเก็บคาร์บอนในดินสูง เนื่องจากดินทรายมีแร่ธาตุน้อยและ เป็นกรดจัด ใบและกิ่งไม้ที่ตกค้างจะเน่าสลายช้า เนื่องจากมีสารยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ ทำให้คาร์บอนสะสมมากกว่าการเน่าสลาย
หม้อข้าวหม้อแกงลิงเติบโตในดินสภาพเป็นกรดและมีไนโตรเจนน้อย โดยเปลี่ยนรูปใบให้เป็นส่วนดักจับและย่อยสลายแมลงเพื่อเก็บไนโตรเจนแทน การปรับปรุงดินโดยปรับค่า pH จะส่งผลต่อการอยู่รอดของพืชในระบบนิเวศแบบนี้
“การแบ่งพื้นที่จึงสำคัญว่าส่วนไหนคือป่า ส่วนไหนคือสวน เพราะป่ากับสวนแตกต่างกัน  หายนะเกิดขึ้นแน่ถ้าแยกแยะป่ากับสวนไม่ออก ตรงไหนเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เราก็ต้องปกป้องรักษา ไม่ควรเข้าไปยุ่งและไม่ควรเข้าไปจัดการสังคมพืชมีพลวัตในรูปแบบของตัวเอง และเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ธรรมชาติจะทำหน้าที่คัดสรรเองว่าพืชแบบใดจะเหมาะสมต่อพื้นที่บริเวณนั้น ด้วยปัจจัยทางธรรมชาติ ไม่ว่าภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา หรือแม้แต่ชีววิทยา

“เราจะตัดสินสังคมพืชว่าแบบนี้ดีหรือไม่ดีไม่ได้  สังคมพืชต่าง ๆ มีลักษณะเฉพาะของตนเอง เหมือนมนุษย์เราก็มีสไตล์ของตัวเอง  ดังนั้นในโลกของธรรมชาติไม่มีคำว่า ‘ป่าเสื่อมโทรม’ และ ‘วัชพืช’  สังคมพืชแบบทุ่งหญ้าซึ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ก็มีชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ตรงนั้นอาศัยอยู่ ป่าพรุหรือบริเวณที่ดินมีชั้น peat มีความเป็นกรดคือดินเปรี้ยว ซึ่งในทางเกษตรบอกว่าไม่ดี แต่ในธรรมชาตินั้นตรงกันข้าม มีพืชพรรณที่พบได้เฉพาะในระบบนิเวศแบบนี้ แถมความเป็นกรดยังช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ ทำให้ซากพืชที่เน่าเปื่อยย่อยสลายไม่หมด สะสมทับถมกันอยู่เป็นชั้นจึงเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนชั้นยอด”

มองดูสังคมพืชบนสันดอนทรายที่อาจารย์และผมยืนอยู่ตอนนี้ ต้นไม้อาจไม่ใช่ไม้ใหญ่ ดูแห้งแล้ง ส่วนใหญ่มีหนาม แต่ก็มีลักษณะเฉพาะ บางต้นขนาดเล็กแต่มีอายุหลายร้อยปี เพราะถูกจำกัดโดยสารอาหาร

“พืชต้นจิ๋วไปถึงพืชสูงเสียดฟ้า พืชหน้าตาประหลาด หรือพืชที่มีความสวยงาม มีความสำคัญทัดเทียมกันทั้งนั้นเพราะแต่ละต้นต่างก็มีบทบาทในธรรมชาติตามแนวทางของตนเอง”

อาจารย์กิติเชษฐ์ยังเน้นว่า “สังคมพืชไม่จำเป็นต้องคงรูปแบบเดิมเสมอไป ทุ่งหญ้าไม่จำเป็นต้องเป็นทุ่งหญ้าเสมอไป หากมีเหตุการณ์ใด ๆ ทางธรรมชาติทำให้ปัจจัยบางอย่างเปลี่ยนไป ทุ่งหญ้าก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมพืชแบบอื่นได้  แม้แต่สังคมพืชบนสันดอนทรายหากสะสมอินทรียวัตถุมากขึ้น องค์ประกอบของพืชในสังคมพืชก็เปลี่ยนแปลงได้  สังคมพืชจะพัฒนาไปเป็นแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและปัจจัยทางธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลา  การที่เราเอาต้นไม้ไปปลูกหรือจัดการพื้นที่ก็เหมือนการขัดขวางกระบวนการเหล่านี้ไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ”

ยังมีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการฟื้นฟูของป่าระหว่างพื้นที่ปลูกป่ากับป่าทิ้งร้างจากหลายประเทศหลายพื้นที่ ผลปรากฏว่าป่าที่ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเองมีความหลากหลายสูงที่สุดและฟื้นฟูได้ดีที่สุด ตัวอย่างเช่นป่าในอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมืองก็ฟื้นคืนกลับมาสมบูรณ์โดยใช้เวลาแค่เพียง ๗ ปีหลังจากเหตุการณ์สึนามิ (อ่านเรื่องราวอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๔๕๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕)

ธรรมชาติมีกลไกความลับหลายอย่างที่เราไม่รู้ แต่เขาแสดงให้เห็นเป็นผลลัพธ์
Image
อาจารย์เจริญศักดิ์ แซ่ไว่ ถือเมล็ดพันธุ์พืชกลุ่ม sea bean ที่ใช้กระแสน้ำช่วยการกระจายพันธุ์ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพชายฝั่งโดยมนุษย์จะส่งผลกระทบต่อการงอกของพืชที่ใช้วิธีนี้
Image
หากไม่ปลูกป่าแล้วคนเราจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูธรรมชาติอย่างไรได้บ้าง

อาจารย์เจริญศักดิ์แนะนำว่าเราสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ช่วยให้กลไกของธรรมชาติดำเนินไปอย่างราบรื่น ง่ายที่สุดคือ
ช่วยกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (invasive alien species)
ซึ่งมักปรับตัว แพร่กระจายพันธุ์ได้ดี รวมถึงมีอิทธิพล ทั้งจำกัด กำจัด จนนำไปสู่การล่มสลายของพันธุ์ท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศในที่สุด

อาจารย์กิติเชษฐ์ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวจากประสบการณ์และงานวิจัยเสริม
Image
เข็ดตะขาบ [Styphelia malayana (Jack) Spreng.] มีบันทึกว่าพบเฉพาะบนยอดเขาสูงที่ไม่ถูกรบกวน แต่จากการสำรวจพบในบริเวณสันดอนทรายของสงขลาซึ่งต่ำใกล้เคียงระดับน้ำทะเล เป็นสัญญาณว่าพืชเดินทางไปทุกทิศทุกทางและสามารถขึ้นได้เองในบริเวณที่ไม่ถูกรบกวนเป็นเวลานานเพียงพอ
“เวลาเราเดินไปตามชายหาดบริเวณที่ปลูกสนทะเล เราแทบจะไม่เห็นพืชชนิดอื่นขึ้นได้เลย มีแต่ใบสนแห้งทับถมและลูกสน เพราะสนทะเลแย่งน้ำและแสงแดด รวมถึงปล่อยสารยับยั้งการเจริญเติบโต (allelopathic effects) พวกสารไฟโตทอกซิน ซึ่งทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่น  แต่ถ้าไปดูสังคมไม้พุ่มบนเนินทรายตามธรรมชาติที่ติดกับแปลงสนทะเล จะสังเกตเห็นชัดว่าพืชพรรณมีความหลากหลาย สูงและสมบูรณ์ ด้วยการไม่มีสนทะเลปลูกทำให้มีความหลากหลายของแหล่งอาศัยรวมถึงปัจจัยที่สิ่งมีชีวิตต้องการ (niches) มาก หากสำรวจแมลง นก สัตว์ต่าง ๆ ก็พบว่ามีความหลากหลายมากกว่าในพื้นที่ป่าสนทะเลปลูกอย่างชัดเจน นี่คือ ‘ธรรมชาติ’ ความมหัศจรรย์ของการรังสรรค์จากธรรมชาติ
“ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นสำคัญ ถ้าเรามีความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น  ลองคิดดูถ้าร่างกายของคนเราเหมือนกันทั้งหมดทุกคน เวลามีโรคภัยมาทำลาย เราก็มีโอกาสตายเท่ากันทั้งหมด เราจึงต้องการความหลากหลายเพื่อให้อย่างน้อยมีประชากรจำนวนหนึ่งทนทานต่อโรคร้าย และดำรงสายพันธุ์ต่อไปได้”

ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ผ่านยุคผ่านสมัย ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และเป็นรากฐานสำคัญของ “นิเวศบริการ” (ecosystem services) ซึ่งสร้างทรัพยากรและประโยชน์มากมายต่อทุกชีวิต 
“เราจะตัดสินสังคมพืชว่าแบบนี้ดีหรือไม่ดีไม่ได้ สังคมพืชต่าง ๆ มีลักษณะเฉพาะของตนเอง เหมือนมนุษย์เราก็มีสไตล์ของตัวเอง ดังนั้นในโลกของธรรมชาติไม่มีคำว่า ‘ป่าเสื่อมโทรม’ และ ‘วัชพืช’”
Image
Image
ปัจจุบันเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานเป็นที่เข้าใจในวงกว้าง เริ่มตระหนักกันแล้วว่าไม่สมควรปลูกชนิดพันธุ์ต่างถิ่น  แต่ก็มีปัญหาอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจารย์เจริญศักดิ์ชี้ให้เห็น คือชนิดพันธุ์ท้องถิ่นก็ก่อหายนะต่อระบบนิเวศได้และยังอันตรายกว่า

“เรามักได้ยินว่าปลูกหรือปล่อยถูกชนิด ถูกพื้นที่ไม่เป็นไร ซึ่งเป็นมายาคติ มาจากชุดความรู้ที่ไม่ครบถ้วน การปลูกหรือปล่อยสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นนั้นแก้ปัญหาได้ยากกว่าสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น เพราะเราแยกแยะสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นแล้วกำจัดออกได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดท้องถิ่นซึ่งมีพันธุกรรมต่างถิ่น เราแทบแก้ปัญหาไม่ได้เลย

“ความเข้าใจเรื่องสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นในระดับพันธุกรรม ยังอยู่ในวงแคบ  พันธุกรรมของพืชดั้งเดิมในพื้นที่นั้นเกิดจากการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ  หากเราเติมพันธุกรรมต่างถิ่นของพืชชนิดเดียวกันเข้าไปก็จะขัดขวางกระบวนการวิวัฒนาการ จนเกิดการสูญเสียความหลากหลายของพันธุกรรมดั้งเดิม และนำไปสู่การล่มสลายของประชากรได้เช่นเดียวกันกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน เราเรียกสิ่งนี้ว่า genetic erosion หรือการล่มสลายทางพันธุกรรม

“การปลูกพืชจำนวนมากจากการปักชำหรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีพันธุกรรม แบบเดียวกันก็ส่งผลเสียต่อธรรมชาติเช่นกัน  หากต้นที่ปลูกสามารถอยู่รอด พันธุกรรมตามธรรมชาติจะถูกแทนที่ด้วยพันธุกรรมของพืชปลูก จนถูกกลืนกินในที่สุด
ความล้มเหลวของการปลูกไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสม ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกตายหรือเติบโตอย่างแคระแกร็น เพราะพยายามปลูกให้ได้ต้นไม้หนาแน่นจนเกินความสามารถของสภาพพื้นที่ (ภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ)
อาจารย์เจริญศักดิ์ แซ่ไว่ และรองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ กำลังชี้ต้นสนทราย (Baeckea frutescens L.) ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของสังคมพืชสันดอนทรายชายฝั่ง และอธิบายว่าสมัยก่อนตามทะเลจะเป็นต้นสนทรายชนิดนี้ ไม่ใช่สนทะเลที่เห็นในปัจจุบันซึ่งมาจากการปลูก และอาจเป็นที่มาของชื่อแหลมสนอ่อนของสงขลา 
“ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวอย่างข้าวโพด ถ้าเลือกแต่ปลูกพันธุ์ข้าวโพดที่มีคุณสมบัติให้ผลผลิตสูงอย่างเดียว จนทำให้พันธุ์ข้าวโพดอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติแตกต่างไม่ได้รับการดูแลหรือเลือกใช้ เมื่อมีโรคระบาดหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในอนาคตส่งผลให้ข้าวโพดสายพันธุ์นี้มีผลผลิตน้อยลงหรือตายไป มนุษยชาติก็จะไม่เหลือสายพันธุ์ข้าวโพดให้ปลูกอีก ระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้าวโพดเช่นการเลี้ยงสัตว์คงล่มสลายตามไปด้วย และส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติ

“ในธรรมชาติก็เคยเกิดเรื่องแบบนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างปัญหายูคาลิปตัสในประเทศออสเตรเลีย การแพร่กระจายของพันธุกรรมต่างถิ่นทำให้ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ที่ปลูกกับสายพันธุ์พื้นเมืองมีลำต้นเตี้ยลงและมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น เพราะพืชสูญเสียการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น  การศึกษาเพิ่มเติมยังพบว่าความหลากหลายของสายพันธุ์ยูคาลิปตัสช่วยเพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศ เพราะไปเพิ่มถิ่นอาศัยย่อย ๆ ที่ไม่เหมือนกัน (habitat heterogeneity) ให้มากขึ้นด้วย

“การอนุรักษ์พันธุกรรม คือการอนุรักษ์ประชากรให้ยังคงมีความหลากหลายทางพันธุกรรมเอาไว้ ไม่ใช่การมีจำนวนต้นมาก ๆ แต่ความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ”

มีการศึกษาจากหลายประเทศว่า ประชากรของพืชที่มีพันธุกรรมตามธรรมชาติกำลังจะสูญพันธุ์เพราะถูกแทนที่ด้วยประชากรปลูก หลายพื้นที่เกิดภาวะเลือดชิดและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งพืชปลูกอาจส่งผ่านเชื้อโรคไปยังพืชท้องถิ่น สุดท้ายแล้วความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นมีส่วนช่วยให้สิ่งมีชีวิตเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของมนุษยชาติโดยตรง
การอนุรักษ์ที่แท้จริง ไม่ใช่การนำสิ่งใดไปทดแทน แต่คือการอนุรักษ์กระบวนการวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ไม่ให้ถูกขัดขวางจากการกระทำของคนต่างหาก