Image
ใครเป็น “พี่เบิ้ม”
ของโซเชียลมีเดีย ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
สังคมตะวันตกเชิดชูค่านิยมเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชน จึงพลอยทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ให้ค่ากับทุกเสียงของประชาชนได้รับความนิยมไปด้วย  ขณะที่เรื่องเจตจำนงเสรี (free will) ก็ฮิตสำหรับงานวิจัยทางปรัชญาไปจนถึงวิทยาศาสตร์
มนุษย์มีความสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้โดยอิสระหรือไม่ เป็นคำถามที่ถกเถียงกันจริงจังมานานนับพันปี และผู้คนใช้สารพัดวิธีการเพื่อตอบคำถามนี้ในโลกวรรณกรรม จอร์จ ออร์เวลล์ ให้กำเนิดนิยายเรื่อง Nineteen Eighty-Four หรือ 1984 เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๙

ในเรื่องดังกล่าว ผู้นำเผด็จการใช้อุปกรณ์จับตาสอดส่องประชาชน จนได้รับฉายาว่าเป็น “พี่เบิ้ม (Big Brother)”

ในโลกยุคใหม่ คำว่า Big Brother มีความหมายกว้างขวางมากขึ้น หมายถึงการที่รัฐใช้อำนาจในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผ่านระบบการเฝ้าระวังที่ผู้คนใต้ปกครองไม่อาจปฏิเสธได้หรืออาจไม่รู้ตัว

หนังสือเล่มนี้กลายมาเป็นหนังสือแนวอนาคตโลกสยองขวัญหรือ “ดิสโทเปีย (dystopia)” ที่ตรงกันข้ามกับโลกในฝันอันดีงาม หรือ “อุตมรัฐ (utopia)” ที่ปวงประชามีแต่ความสุข ซึ่งเป็นคำเรียกที่นำมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ ทอมัส มอร์

ขณะที่ในหนังสือ ฟาเรนไฮต์ 451 (Fahrenheit 451) ของ เรย์ แบรดเบอรี มีเนื้อหาว่ารัฐบาลเข้าควบคุมสื่อต่าง ๆ โดยมองว่าหนังสือเป็นสิ่งมอมเมาประชาชนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จึงสั่งเผาหนังสือต่าง ๆ ให้หมด จะเหลือก็แต่สื่อโทรทัศน์ที่รัฐควบคุมและบิดเบือนได้ตามใจ

ตัวเลข 451 ดังกล่าวมักอ้างกันว่า เป็นอุณหภูมิในหน่วยฟาเรนไฮต์ (เท่ากับ ๒๓๒.๗๘ องศาเซลเซียส) ที่กระดาษเริ่มติดไฟได้เอง

ในทางประวัติศาสตร์ จักรพรรดิจิ๋นซีเคยสั่งให้ “เผาตำราฝังบัณฑิต” ครั้งใหญ่ โดยเผาตำราโบราณจำนวนมาก (ยกเว้นหนังสือการแพทย์ การพยากรณ์ และการเพาะปลูกเพียงบางส่วน)

การทำเช่นนั้นก็เพื่อวางรากฐานอารยธรรมจีนใหม่หมด ตั้งแต่การเขียนตัวอักษรและออกเสียง แต่ที่สำคัญกว่าคือ ควบคุมความคิดความเชื่อของประชาชนให้อยู่ในร่องในรอย

ที่กล่าวมาเป็นแค่เพียงไม่กี่ตัวอย่างของการสอดส่องและควบคุมคนในสังคมให้เป็นไปตามความต้องการของบรรดาผู้นำเผด็จการ “พี่เบิ้ม” ทั้งในโลกจินตนาการและประวัติศาสตร์จริง

ในโลกยุคปัจจุบัน เราปลอดจาก “พี่เบิ้ม” ที่คอยจับตาและตรวจสอบแล้วหรือไม่ ?
Image
น่าเศร้าที่คำตอบคือ “ไม่”

ในประเทศที่มีประชากรมากมายมหาศาลอย่างจีน ซึ่งกลายเป็นต้นทุนสำคัญในระบบทุนนิยมที่ใช้เป็นอำนาจต่อรองได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นระบบดิจิทัลแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็ยังควบคุมสื่อไว้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ดังกรณีวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๒๑ จู่ ๆ ผู้ใช้งานเครื่องมือค้นหา “บิง (Bing)” ของบริษัทไมโครซอฟท์ ก็กลับไม่สามารถค้นหาภาพและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับมนุษย์รถถัง (Tank Man) อันโด่งดังที่เป็นภาพผู้ประท้วงยืนประจันหน้าขวางขบวนรถถังในเหตุการณ์นองเลือดบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙

บริษัทออกมาชี้แจงในภายหลังว่าเป็นความผิดพลาดจากการทำงานของคนและกลับมาค้นหาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวได้แล้วตามปรกติในวันถัดมา แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้คนทั่วโลกหายแคลงใจมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกรณีที่ทางกูเกิลได้รับคำชี้แจงจากรัฐบาลจีนว่า ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจีนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการเซนเซอร์ข้อมูลบางอย่างที่ละเอียดอ่อนต่อความมั่นคง ซึ่งก็แน่นอนว่าข้อมูลและภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์เทียนอันเหมินก็เป็นหนึ่งในนั้น

ในที่สุดกูเกิลที่ปฏิเสธจะทำตามก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานในประเทศจีนอีกต่อไป

ดอกเตอร์โจเซฟ เมอร์โคลา ตั้งข้อสงสัยไว้ในนิตยสาร Nexus ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ ว่า เฟซบุ๊กที่เป็นโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดของโลก หากพิจารณาจากยอดผู้ใช้งานประจำ ๒,๙๐๐ ล้านบัญชีนั้น มีการใช้ “คนดูแล” เนื้อหา เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายและไม่ให้ขัดต่อความดีงามตามข้อกำหนดต่าง ๆ ของเฟซบุ๊กเอง ทั้งในเรื่องของอนาจารความรุนแรง การรังแก ยาเสพติด ฯลฯ จำนวนมากถึง ๔ หมื่น

คนเหล่านี้ถือได้ว่าเป็น “คณะบรรณาธิการ” ที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก !

เขาอ้างข้อมูลจากผู้สื่อข่าวชื่อ อลัน แม็กคลีออด ที่เขียนลงใน Mint Press News ว่า ในจำนวนนี้มีระดับหัวหน้าหลายคนที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นซีไอเอเอฟบีไอ หรือกระทรวงกลาโหม ฯลฯ

ในคลิปโฆษณาอย่างเป็นทางการชิ้นหนึ่งของเฟซบุ๊ก มีผู้จัดการคนหนึ่งของบริษัทแม่คือเมตา (Meta) ชื่อแอรอน
ปรากฏอยู่ด้วย เมื่อแม็กคลีออดเจาะข้อมูลลึกลงไปอีกก็พบว่า “แอรอน” น่าจะเป็นคนเดียวกับ แอรอน เบอร์แมน ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอจนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๑๙

แอรอนทำงานอยู่กับหน่วยงานข่าวกรองดังกล่าวนานถึง ๑๕ ปี เคยมีหน้าที่เขียน วิเคราะห์ และสรุปข้อมูลข่าวกรองประจำวันให้ประธานาธิบดี ซึ่งก็ครอบคลุมเรื่องผลกระทบจากการเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดีย ความมั่นคง และประชาธิปไตย

แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ปรากฏในโซเชียลมีเดียวิชาการอย่าง LinkedIn ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักวิชาการ และไม่ได้มีการกล่าวถึงในคลิปประชาสัมพันธ์หรือที่ใดเลยของเฟซบุ๊ก
Image
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีอดีตเจ้าหน้าที่รัฐแบบนี้อีกหลายคนที่อยู่ในบริษัทเอกชน และมีส่วน “สอดส่อง” โซเชียลมีเดีย  ในเมตา คนกลุ่มนี้อยู่ในโครงการความเชื่อถือและความปลอดภัย, ความมั่นคงและความลับข้อมูล (trust and safety, security and data privacy) เป็นหลัก

ยกตัวอย่าง เดบอราห์ เบอร์แมน ผู้จัดการโครงการดังกล่าว เคยทำงานกับซีไอเอนาน ๑๐ ปี  ไบรอัน ไวส์บาร์ด ผู้อำนวยการฝ่าย ก็เคยเป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอก่อนจะผันตัวมาเป็นนักการทูตแคเมอรอน แฮร์ริส ผู้จัดการอีกคนก็เคยเป็นนักวิเคราะห์ของซีไอเอถึง ค.ศ. ๒๐๑๙

ยังมีอดีตซีไอเอ เอมิลี แวเชอร์ ผู้อำนวยการอีกคนก็เคยเป็นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ  นีล พอตต์ ที่เป็นรองประธานดูแลด้านนี้ก็เคยอยู่ในบริษัทด้านข่าวกรองชื่อยูเอส มารีน คอร์ปส์ (US Marine Corps) และ เชอรีฟ คามาล ผู้จัดการอีกคนก็เคยทำงานอยู่ที่เพนตากอนจนถึง ค.ศ. ๒๐๒๐

อาจมีคนคิดว่าไม่แปลกอะไรหากเฟซบุ๊กจ้างคนที่เคยทำงานในหน่วยข่าวกรองมาทำงาน เพราะคนเหล่านี้น่าจะมีประสบการณ์และความสามารถในการสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลทำนองนี้ได้ดี ?

ในทำนองเดียวกันก็อาจมีคนถามกลับว่า สำหรับบริษัทเอกชนที่ให้คำรับรองกับผู้ใช้งานว่า จะมีอิสระในการเสนอความคิดเห็นที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามทั่วไป การจ้างคนมา “จับตา” มองหรือวางกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติ แสดงถึงความ
ไม่จริงใจและเบื้องหลังแอบแฝงบางอย่างได้หรือไม่ ?

ยังไม่นับเรื่องที่ว่า คนเหล่านี้อาจมีตำแหน่งในเมตาแค่ “บังหน้า” ภารกิจจริงของรัฐบาลอยู่หรือไม่ ? ในอดีตเคยมีรายงานโดยผู้สื่อข่าวชื่อ คาร์ล เบิร์นสไตน์ ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๗๗ ซึ่งให้รายละเอียดว่า มีเจ้าหน้าที่ซีไอเอแทรกซึมเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ คนตลอดช่วงเวลา ๒๕ ปี

โครงการดังกล่าวมีชื่อปฏิบัติการว่าม็อกกิงเบิร์ด (Mockingbird) ชวนให้นึกถึงหนังสือดัง To Kill A Mockingbird

ผู้อำนวยการซีไอเอคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อใดก็ตามที่สาธารณชนสับสนว่า ข่าวไหนเป็นข่าวจริง ข่าวไหนเป็นโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อนั้นก็ถือว่าปฏิบัติการของพวกเจ้าหน้าที่ทำได้สมบูรณ์”

โซเชียลมีเดียรายใหญ่อื่น ๆ ก็ใช่ว่า จะหลุดรอดจากวงจรอุบาทว์ทำนองนี้ได้ แม็กคลีออดระบุว่า การสืบสวนของเขาทำให้รู้ว่า ติ๊กต็อก (TikTok) และเรดดิต (Reddit) ก็มีอดีตเจ้าหน้าที่ของนาโต (NATO) อยู่เต็มไปหมด ส่วนเจ้านกเจื้อยแจ้ว “ทวิตเตอร์” ก็ตรวจพบอดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอหลายราย

แต่ไม่มีที่ไหนจะมีอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองมากเท่ากับเฟซบุ๊กอีกแล้ว

ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะกระทบต่อการใช้งานโซเชียลมีเดียมากน้อยเพียงใด ? จะมีการตรวจสอบหรือแม้แต่ชี้นำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ หรือหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด ? และอีกหลายคำถามยังคงเป็นเรื่องคาใจ
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร สิ่งที่เรารู้แน่ชัดก็คือ แม้แต่ในยุคนี้ก็หนีไม่พ้นการจับตามองของ “พี่เบิ้ม” ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตาม