Image
ตลาดคาร์บอน
ทางรอดหรือใบไถ่บาป ?
เรื่อง : สุภัชญา เตชะชูเชิด
“จะทำยังไงให้การดำเนินธุรกิจกับการดูแลโลกไปด้วยกันได้ ?”

นี่อาจเป็นปัญหาโลกแตก เพราะสองสิ่งนี้ดูจะสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่ง วิลเลียม นอร์ดฮาวส์ (William Nordhaus) คิดค้นสมการที่หาความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงขึ้น จนกลายเป็นโมเดลสำคัญที่ใช้แก้ไขปัญหาและกำหนดนโยบายต่างๆ

เขาเสนอระบบการคิดภาษีคาร์บอน (carbon tax) เพื่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมผนวกกับธุรกิจและการเงินและสนับสนุนให้บริษัทปรับปรุงการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โมเดลที่ช่วยอธิบายปัญหาโลกแตกนี้มีการนำไปประยุกต์ใช้ต่อเนื่อง จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ใน ค.ศ. ๒๐๑๘

Image
ระบบภาษีคาร์บอนนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศสวีเดนเมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๑ เกือบ ๑๐๐ ปีหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศกับอุณหภูมิในประวัติศาสตร์ของโลก กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาพัฒนาพลังงานสะอาดแทน ซึ่งแต่เดิมรัฐนำภาษีที่จัดเก็บได้มาลดหย่อนภาษีอื่น ๆ แต่ต่อมาก็ใช้เกี่ยวกับการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีหรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

ปัจจุบันภาษีคาร์บอนใช้ในหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศมีอัตราภาษีแตกต่างกัน  ประเทศที่จัดเก็บภาษีสูงที่สุดคืออุรุกวัยมีราคาสูงถึง ๑๓๗ ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนได-ออกไซด์เทียบเท่า

แต่ระบบการจัดเก็บภาษีนี้ก็มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าถูกกำหนดราคาโดยภาครัฐ ทำให้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด อีกทั้งยังเป็นเหมือนบทลงโทษมากกว่าแรงจูงใจให้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาตลาดคาร์บอนในเวลาต่อมา
Image
ค.ศ. ๒๐๐๕ หลังจากนานาประเทศลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ว่าด้วยความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระบบการซื้อขายคาร์บอนจึงถือกำเนิดขึ้น เพราะประเทศร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะอาจไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่สัญญาไว้ แต่จะซื้อโควตาคาร์บอนจากประเทศที่กำลังพัฒนา และอีกมุมหนึ่งก็เป็นการให้เงินสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย

ปัจจุบันตลาดคาร์บอนพัฒนาและขยายตัวในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งในระดับประเทศจนถึงระดับองค์กรการซื้อขายมีทั้งดีลกันโดยตรง หรือจิ้มได้ออนไลน์แบบตลาดหุ้น มีทั้งขายคู่กับ NFT (non-fungible token) หรือใช้ระบบบล็อกเชน (blockchain)  แต่หากกล่าวถึงตลาดคาร์บอนหลัก ๆ สามารถแบ่งออกได้สองแบบคือ

ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (mandatory market) และตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (voluntary market) ตลาดคาร์บอนภาคบังคับเกิดขึ้นโดยรัฐบาลออกกฎระเบียบบังคับให้แต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมที่กำหนดต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้เลยเพดานที่ตั้งไว้  ถ้าเลยก็จะต้องเสียค่าปรับทางสิ่งแวดล้อม ตามหลักการปล่อยมลพิษโดยทั่วไป เช่นเดียวกับการปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำ หรือการทิ้งขยะ
Image
ภาพที่ดูขัดแย้งของโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกควันโขมง กับแนวเสากังหันลมผลิตไฟฟ้าที่จัดเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ตั้งอยู่ด้วยกันบริเวณชายแดนโปแลนด์กับเช็กเกีย ชวนให้ตั้งคำถามว่า โครงการชดเชยคาร์บอนต่าง ๆ สามารถนำมาแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ๆ ได้หรือ 
ภาพ : 123rf.com

ขนาดอุตสาหกรรมแตกต่างกัน หรือยอดขายต่างกัน ทำให้บางบริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า จึงเกิดการแลกเปลี่ยนโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นเป็นระบบ cap-and-trade system หากบริษัทไหนปล่อยน้อยกว่าโควตาหรือเพดานที่รัฐกำหนดไว้ก็นำส่วนต่าง (carbon allowance) ไปขายให้บริษัทที่ปล่อยเกินได้

ระบบนี้ทำให้การปล่อยคาร์บอนในภาพรวมลดลงอย่างมาก และบริษัทที่ลดคาร์บอนได้มากก็มีรายได้จากการซื้อขายคาร์บอนด้วย

กลุ่มประเทศในยุโรปใช้ตลาดคาร์บอนภาคบังคับอย่างจริงจังและขยายผลไปยังสหรัฐอเมริกา แคนาดา และจีน

ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนากลไกลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังไม่ประกาศใช้กฎหมายอย่างจริงจังหรืออยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน จะใช้ระบบตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ บริษัทต่าง ๆ ไม่ถูกบังคับให้ลดก๊าซเรือนกระจกหรือเสียค่าปรับ แต่จะซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร หรือเตรียมรับมือกับตลาดภาคบังคับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
Image
คำที่เราได้ยินกันบ่อยมากขึ้นในปัจจุบันคือ “คาร์บอนเครดิต” (carbon credit)

คาร์บอนเครดิตเกิดจากการลดการปล่อย (reduction) หรือการดูดกลับ (removal) ก๊าซเรือนกระจก แม้จะเรียกกันว่าคาร์บอนเครดิต แต่ความจริงแล้วยังครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกอีกหลายชนิด เช่น มีเทน ไนตรัสออกไซด์ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ เป็นต้น แต่คาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีมากที่สุด จึงใช้ชี้วัดและแปลงหน่วยของก๊าซเรือนกระจกตัวอื่น ๆ ให้อยู่ในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีหน่วยทางการว่า “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” แต่มักเรียกสั้น ๆ ว่า “ตันคาร์บอน” นั่นเอง

คาร์บอนเครดิตเกิดจากการดำเนินโครงการเพื่อลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในหลายวิธี เช่น

> การใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก

> เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ ๕ 
ก็ลดการใช้พลังงานได้

> ลดการใช้ปุ๋ยในการเกษตรก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซ
ไนตรัสออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ

> การแยกขยะทำให้ขยะไปสู่หลุมฝังกลบน้อยลง
ก็ช่วยลดก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นในบ่อขยะ

> การปลูกป่าเป็นการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 
ต้นไม้จะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้เพื่อเจริญเติบโต


ด้วยเหตุนี้คาร์บอนเครดิตจึงมีราคาแตกต่างกันตามคุณภาพและการได้มา รวมถึงมาตรฐานที่แตกต่างกันด้วย

ถ้าเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ทำได้ง่ายและลดต้นทุนการผลิตอยู่แล้วก็อาจมีราคาประมาณ ๓๐-๔๐ บาทต่อตันคาร์บอน ในขณะที่คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ซึ่งต้องจัดสรรพื้นที่ ใช้คนปลูกต้นไม้ ต้องดูแลในระยะยาว หรืออาจมีผลกระทบเชิงบวกอื่น ๆ เช่น ช่วยเหลือชุมชน ปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ ก็จะทำให้ราคาสูงขึ้น ตั้งแต่หลายร้อยจนถึงหลายพันบาท
Image
ใช่ว่าใครๆ จะเปลี่ยนหลอดไฟหรือแยกขยะก็ขอคาร์บอนเครดิตได้เลย เพราะต้องผ่านกระบวนการ “การตรวจสอบ (validation)” และ “การทวนสอบ (verification)” เสียก่อน ซึ่งทำโดยบุคคลภายนอก เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการดังกล่าวโปร่งใสและลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกระบวนการการได้มาของคาร์บอนเครดิตชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น “โครงการปลูกป่าลดโลกร้อน” (ชื่อสมมุติ) ที่ก่อนเริ่มโครงการออกแบบว่าจะปลูกต้นไม้ทั้งหมด ๑ แสนต้นในพื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ และคาดว่าต้นไม้จะเติบโตและลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวน ๑,๐๐๐ ตันคาร์บอนต่อปี

เมื่อวางแผนโครงการแล้วก็จะต้องได้รับการ “ตรวจสอบ” ในขั้นต้นว่าโครงการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดหรือไม่ เช่น สิทธิการใช้พื้นที่ การปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นไม่ได้บุกรุกป่าเดิมมาปลูกป่าใหม่ และเงื่อนไขอื่น ๆ  เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจสอบแล้ว โครงการจึงดำเนินการและเริ่มนับระยะเวลาการขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้
เมื่อการปลูกป่าดำเนินไปเรียบร้อย ต้อง “ทวนสอบ” อีกครั้งว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการจริง ต้นไม้ที่ตั้งใจปลูก ๑ แสนต้นนั้นรอดตายกี่ต้น (อาจจะ ๙.๙ หมื่นต้น) หรือในพื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ข้างต้นอาจถูกกันออกเป็นบ่อน้ำหรือสิ่งปลูกสร้าง ทำให้พื้นที่โครงการน้อยลง  ในขั้นตอนนี้จะคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินการที่เกิดขึ้นจริง โดยผู้ทวนสอบซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกจะต้องลงพื้นที่ ตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตรวจสอบการวัดขนาดของต้นไม้และการคำนวณ เพื่อยืนยันได้ว่าแต่ละตันคาร์บอนถูกลดลงไปจริง ๆ โครงการดังกล่าวจึงขอรับรองคาร์บอนเครดิต (issue credit) ได้

แต่ละกระบวนการไม่ว่าจะตรวจสอบ ทวนสอบ หรือขึ้นทะเบียนล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ทำให้โครงการต่าง ๆ ต้องคำนวณความคุ้มค่าว่าจะขอขึ้นทะเบียนหรือไม่รวมทั้งเงื่อนไขของมาตรฐานคาร์บอนเครดิตที่แตกต่างกันเช่น VERRA เป็นมาตรฐานคาร์บอนเครดิตในตลาดภาคสมัครใจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีกฎเกณฑ์เข้มงวดก็ทำให้เครดิตที่ได้มีราคาแพง หรือบางประเทศก็พัฒนากฎเกณฑ์เพื่อใช้ภายในประเทศให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้น ๆ อย่างประเทศไทยก็มีมาตรฐานชื่อว่า T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction)

บางธุรกิจสตาร์ตอัปก็มีการเคลมคาร์บอนเครดิตด้วยวิธีของตนเอง ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีและความน่าเชื่อถือ โดยไม่อาศัยการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก แต่แนวทางนี้อาจได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อย ๆ
Image
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ใน ค.ศ. ๒๐๒๑ เป็นเวทีสำคัญที่นานาประเทศต่างประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ทำให้ตลาดคาร์บอนกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยประเทศไทยก็ประกาศว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอนใน ค.ศ. ๒๐๕๐ และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ใน ค.ศ. ๒๐๖๕

หลังจากการประชุมครั้งนั้นบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ต่างก็พากันประกาศเป้าหมายของตัวเอง นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่หลายหน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญ แต่หลายหน่วยงานก็ออกมาประกาศทั้งที่ยังไม่มีแผนการที่จะไปถึงเป้าหมาย

หนึ่งในแนวทางที่จะถึงเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ง่ายที่สุดคือ การซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยส่วนที่ไม่สามารถลดได้
Image
หลังจากเวที COP26 ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก ๒๘๖,๕๘๐ ตันคาร์บอนใน ค.ศ. ๒๐๒๑ เป็น ๑,๑๘๗,๓๒๗ ตันคาร์บอนในปีต่อมา หรือเพิ่มขึ้นราวสี่เท่าภายใน ๑ ปี ซึ่งราคาขายก็ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการในตลาดที่มากขึ้น ตั้งแต่ ๓๓ บาทจนถึง ๒,๐๐๐ บาทต่อตันคาร์บอน (อ้างอิงปริมาณและราคาขายเครดิตภายใต้มาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER) 

ราคาที่แตกต่างกันอย่างมากนี้เกิดจากต้นทุนการดำเนินงานและมาตรฐานความเข้มข้นของคาร์บอนที่แตกต่างกัน

คาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้จัดเป็นเครดิตที่มีคุณภาพสูงเพราะในประเภทอื่น ๆ เช่น พลังงานทดแทนหรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นเพียงการลดหรือหลีกเลี่ยงก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อย แต่คาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้เป็นการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่ล่องลอยอยู่ในอากาศโดยตรง อีกทั้งโครงการประเภทนี้ยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนชุมชนหรือจ้างงานชุมชนโดยรอบในการเพาะกล้าไม้ การปลูกหรือดูแลป่า รวมทั้งจัดเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและกลายเป็นบ้านของสัตว์ป่า ส่งเสริมด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้กลไกทางระบบนิเวศดำเนินไปได้อย่างปรกติ ทำให้ราคาภาคป่าไม้ปัจจุบันในไทยสูงถึง ๒,๐๐๐ บาทต่อตันคาร์บอน

ที่สำคัญ คาร์บอนเครดิตไม่มีวันหมดอายุ

เมื่อออกเครดิตมาแล้วก็เก็บไว้หรือขายต่อได้เรื่อย ๆ แต่เครดิตจะถูกหักออกจากระบบ (retired) เมื่อนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ทำให้เกิดการซื้อถูกขายแพง และเมื่อคาดว่าราคาจะไต่ระดับสูงขึ้นจึงมีการกักตุนคาร์บอนที่ราคาถูกในปัจจุบันเพื่อใช้หรือขายต่อในอนาคต

เป็นไปได้ว่ามาตรฐานนานาชาติจะกำหนดอายุของคาร์บอนเครดิตและเพิ่มภาษีของคาร์บอนที่ขายทอดหลายมือ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรอันไม่ได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
Image
Image
Image
โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูธรรมชาติในหลายพื้นที่ทั่วโลก หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จคือโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายริมบารายา (Rimba Raya Biodiversity Reserved REDD+ project ) ในตอนกลางของกาลีมันตัน เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย

โครงการนี้ปกป้องพื้นที่ป่าพรุขนาดใหญ่ถึง ๔ แสนไร่ เทียบเท่าประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเดิมรัฐมีแผนจะปล่อยสัมปทานเพื่อพัฒนาเป็นนิคมปาล์มน้ำมันหลักของประเทศแต่บริษัท InfiniteEARTH ขอสัมปทานและพัฒนาเป็นโครงการอนุรักษ์ที่มีรายได้จากคาร์บอนเครดิต สามารถสร้างเครดิตได้ประมาณ ๓.๕ ล้านตันคาร์บอนต่อปีหรือประมาณ ๑๓๐ ล้านตันคาร์บอนตลอดอายุโครงการ ๓๐ ปี

นอกจากช่วยปกป้องผืนป่าแล้ว โครงการริมบารายายังสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงน้ำสะอาดซึ่งช่วยลดโรคแรกเกิดจากการขาดน้ำ ส่งเสริมอุปกรณ์การเรียนและทุนการศึกษาส่งเสริมอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นปศุสัตว์หรืองานฝีมือให้ชุมชนอยู่ได้โดยไม่ต้องบุกรุกป่า โครงการธนาคารขยะในชุมชนเพื่อลดผลกระทบเรื่องขยะพลาสติกในธรรมชาติ นอกจากนี้ยังให้ทุนวิจัยและเก็บข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เพราะพื้นที่โครงการติดกับเขตอุทยานแห่งชาติและเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างลิงอุรังอุตังบอร์เนียว

โครงการริมบารายาเรียกได้ว่าเป็นโครงการแรกที่ตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืน (SDGs) ทั้ง ๑๗ ด้านอย่างครบถ้วน และเป็นโครงการตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ารายได้จากคาร์บอนเครดิตมีส่วนสำคัญที่นำมาสู่การอนุรักษ์ธรรมชาติและการพัฒนาชุมชน
Image
Image
ในขณะเดียวกันก็มีบางโครงการที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก หนึ่งในโครงการที่ถูกโจมตีจนกระทั่งต้องถอนโครงการคือ Green Resources' carbon offset project ในเมืองคาชุง ประเทศยูกันดา

โครงการนี้ปลูกป่าเพื่อทำสัมปทานไม้โดยบริษัท Green Resources หลังจากได้รับสัมปทานแล้วบริษัทขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทั้งหมด ๑๖,๖๙๐ ไร่ โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ดั้งเดิมที่ชุมชนใช้ประโยชน์ และพื้นที่บางส่วนจัดสรรสำหรับปลูกสวนป่าไม้สนและยูคาลิปตัส

นอกจากโครงการจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้ว บริษัท Green Resources ยังกีดกันชาวบ้านไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ไม่อนุญาตให้เก็บหาของป่า หรือกระทั่งไม่ยอมให้ปศุสัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยงเข้าไปหากินหญ้า โครงการยังใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มข้นจนปนเปื้อนลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้ชาวบ้านเจ็บป่วย ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย รวมถึงปศุสัตว์ล้มตายจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามโครงการนี้กลับได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตมากถึง ๓ หมื่นตันคาร์บอนและขายได้มูลค่า ๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงได้รับการรับรอง CCBS (Climate, Community and Biodiversity Standards) และมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Certificate) ด้วย จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าการตรวจสอบโครงการทำได้ไม่ดีพอ

หลังการศึกษาและเก็บข้อมูลจากสถาบันโอ๊กแลนด์ (Oakland Institute) ใน ค.ศ. ๒๐๑๗ จึงมีการสอบสวนและถอดถอนโครงการนี้ รวมถึงยกเลิกคาร์บอนเครดิตที่ออกไปแล้ว แต่สื่อหลายแหล่งเชื่อว่ามีการเร่งใช้เครดิตเหล่านี้หรือชดเชยคาร์บอนให้แล้วเสร็จก่อนที่คำตัดสินจะสิ้นสุดลง
Image
รายงานการศึกษาความล้มเหลวของโครงการ Green Resources
“ผมกลัวว่าองค์กรต่าง ๆ หรือรัฐบาลจะเห็นว่าการปลูกป่าเป็นทางออกที่ง่ายดาย เขาไม่จำเป็นต้องหาทางออกอย่างหนักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะแค่พูดว่า ‘โอ้ เราชดเชยได้ด้วยการปลูกต้นไม้ยังไงล่ะ’”
Image
โครงการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตยังถูกตั้งคำถามหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าผืนใหญ่ที่สุดของโลกอย่างแอมะซอน ประเทศบราซิล ซึ่งมีโครงการคาร์บอนเครดิตเกี่ยวกับการปกป้องผืนป่าหลายโครงการ บางส่วนได้รับคาร์บอนเครดิตจากการเติบโตของต้นไม้โดยไม่ได้ดำเนินการอะไรเพิ่มเติม จนถูกมองว่าโครงการในแอมะซอนเป็นการ “จับเสือมือเปล่า” ของผู้ลงทุนนอกพื้นที่ และลิดรอนสิทธิและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง จึงเกิดปัญหา “ฮุบป่า” (land grabbing) ขึ้น

ในประเทศไทยเองก็เริ่มเข้าเค้า กรมป่าไม้และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายปลูกป่าเพิ่มเติม ๖ แสนไร่ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม มีการจัดสรรพื้นที่ปลูกป่าให้เอกชนแต่ละรายอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบจากการปลูกต้นไม้โดยไม่คำนึงถึงชนิดพันธุ์ท้องถิ่นอาจเกิดปัญหาลักลอบตัดไม้นอกพื้นที่โครงการ หรือการกีดกันชุมชนไม่ให้ใช้ประโยชน์จากป่า และยังอาจทำให้เกิดทัศนคติว่าป่ากลายเป็นสมบัติของเอกชนแทนที่จะเป็นสมบัติของชาติ

“ผมกลัวว่าองค์กรต่าง ๆ หรือรัฐบาลจะเห็นว่าการปลูกป่าเป็นทางออกที่ง่ายดาย เขาไม่จำเป็นต้องหาทางออกอย่างหนักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะแค่พูดว่า ‘โอ้ เราชดเชยได้ด้วยการปลูกต้นไม้ยังไงล่ะ’” โรบิน แชซดอน (Robin Chazdon) ศาสตราจารย์ด้านการฟื้นฟูป่าเขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัยซันไชน์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าว

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีกิจกรรมปลูกต้นไม้เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก แต่การปลูกแบบผิดที่ผิดทางกลับส่งผลกระทบทางลบมากกว่า พืชบางชนิดกลายเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานที่ทำให้ต้นไม้ท้องถิ่นไม่สามารถเจริญเติบโต การปลูกแบบเชิงเดี่ยวหรือผสมด้วยพืชไม่กี่ชนิดทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง การฟื้นฟูของธรรมชาติต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม ผืนป่ากลายเป็น “ทะเลทรายสีเขียว” ซึ่งต้นไม้โตเป็นแถวเรียงราย แต่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นมาใช้ประโยชน์

หลายโครงการอาจหลงลืมไปว่าการปลูกป่าไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อคาร์บอนเครดิตเท่านั้น แต่ควรเกื้อกูลสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ  รวมทั้งทำให้ระบบนิเวศแลกเปลี่ยนแร่ธาตุ กักเก็บน้ำ อากาศ ได้อย่างสมดุลด้วย
Image
การปลูกป่าชายเลนกลายเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วยพันธุ์ไม้ไม่กี่ชนิด
ภาพ : 123rf.com 

ผืนป่าแอมะซอนที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากโครงการปลูกป่า 
ภาพ : 123rf.com

Image
เนื่องจากหลายโครงการยังมีช่องโหว่และมีข้อกังวลอย่างมาก มาตรฐานจึงปรับตัวให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นด้วย

VERRA เป็นมาตรฐานที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนที่รัดกุมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้นปีที่ผ่านมานักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลโครงการ REDD+ (Reducing Emission from Deforestation and Degradation) หรือโครงการปกป้องป่าที่มีอยู่เดิม เพื่อลดความเสี่ยงจากการตัดไม้ทำลายป่า และพบว่ามีการออกคาร์บอนเครดิตเกินไป ๙๐ เปอร์เซ็นต์

งานวิจัยที่นำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รวบรวมข้อมูลโครงการ REDD+ ภายใต้มาตรฐาน VERRA มาตรวจสอบพบว่าพื้นที่อ้างอิงในโครงการบางพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่อ้างอิงอยู่ใกล้กับถนน ส่วนพื้นที่โครงการอยู่ห่างไกลออกไป ทำให้พื้นที่อ้างอิงมีแนวโน้มการตัดไม้ทำลายป่ามากกว่า การคำนวณคาร์บอนเครดิตของโครงการสูงเกินจริง จึงมีการคำนวณโดยใช้โมเดลทางสถิติเปรียบเทียบและพบว่าสูงกว่าที่ควรจะเป็นถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีเพียง ๘ ใน ๒๙ โครงการเท่านั้นที่มาตรการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าส่งผลอย่างเห็นได้ชัดว่าไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติม

“ผมเป็นผู้ทวนสอบโครงการคาร์บอนเครดิตในป่าแอมะซอนมาก่อน ตอนที่เริ่มการวิจัยนี้ ผมต้องการรู้ว่าเราเชื่อมั่นได้แค่ไหนว่าการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราการตัดไม้ทำลายป่านั้นแม่นยำ และหลักฐานจากการวิเคราะห์ของผมก็พบว่าเราอาจไม่ทราบได้เลย  ผมต้องการให้กลไกนี้ช่วยปกป้องผืนป่า และทำให้เกิดขึ้นได้จริง จึงจำเป็นต้องพูดเกี่ยวกับปัญหาที่ฝังอยู่ในระบบปัจจุบัน”

ทาเลส เวสต์ (Thales West) หัวหน้านักวิจัยชี้ให้เห็นถึงปัญหา 

จากรายงานนี้ทำให้ VERRA ระงับการออกเครดิตโครงการในหลายประเภท เพื่อทบทวนและปรับมาตรฐานการคำนวณอีกครั้งให้สะท้อนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จริงมากยิ่งขึ้น

“กลยุทธ์หนึ่งที่จะพัฒนาตลาดคาร์บอนให้ดีขึ้น คือการทำให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร และทำให้เงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโครงการแน่นหนาขึ้น ทำให้ตลาดเชื่อถือได้ แต่ฉันเริ่มจะยอมแพ้แล้ว ฉันศึกษาเรื่องการชดเชยคาร์บอนมาเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วเกี่ยวกับเงื่อนไขและโครงการต่าง ๆ แต่ตอนนี้ ๒๐ ปีให้หลัง บทสนทนาก็ยังเหมือนเดิม เราต้องการกระบวนการทางเลือกอื่น ตลาดการชดเชยมันพังแล้ว” บาร์บารา ฮายา (Barbara Haya) ผู้อำนวยการ ของโครงการ Berkeley Carbon Trading Project กล่าวอย่างท้อแท้

ในประเทศไทยแม้จะยังมีโครงการคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนไม่มาก แต่ก็มีหลายบริษัทโฆษณาองค์กรในมุมของการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น เช่น บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โฆษณาว่าการเดินทางโดยรถไฟฟ้าหนึ่งเที่ยว ลดก๊าซเรือนกระจกได้ ๒๓๑ กิโลกรัมคาร์บอน โดยไม่มีรายละเอียดการคำนวณ บริษัทแกร็บเปิดโอกาสให้ลูกค้าชดเชยคาร์บอนเครดิตจากการสั่งอาหารและจะนำไปอุดหนุนโครงการปลูกป่า  บริษัทปตท. เชิญชวนให้คนไทยเล่นแอปพลิเคชัน “คุณช่วยเก็บเราช่วยปลูก” หรือเก็บต้นไม้เพื่อปลูกป่า  บริษัท Johnnie Walker ทำโครงการปลูกป่า ๑ หมื่นต้น โดยปลูกต้นไม้เพียง ๑๕ ชนิดเท่านั้น

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องดีที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่คาร์บอนเครดิตเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน  หากผู้ดำเนินงานไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะกลายเป็นการแย่งพื้นที่ป่า การค้ากำไรเกินควร หรือละเลยผลกระทบต่อชุมชนหรือธรรมชาติในมิติอื่นดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น

แน่นอนว่าการทำบางโครงการอาจดีกว่าที่จะไม่ทำอะไรเลย แต่คำถามคือ “ดีพอแล้วหรือยัง?” จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราที่ต้องร่วมกันตั้งคำถามและเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา
อย่าลืมว่าโลกเราไม่ได้สิ้นสุดใน ค.ศ. ๒๐๕๐ แต่จากนี้ต่อไปต่างหากที่กำหนดอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์