Image
กราบสักการ 10 ศาล
กรมหลวงชุมพรฯ
๑๐๐ ปี วันสิ้นพระชนม์ 
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๒๔๖๖-๒๕๖๖
รวบรวม/เรียบเรียง : ศรัณย์ ทองปาน
 ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
กรมหลวงชุมพรฯ น่าจะเป็น “เจ้า” ที่มีสถานที่ประดิษฐานพระอัฐิและพระสรีรังคาร/พระอนุสาวรีย์/ศาล/พระตำหนัก มากที่สุดพระองค์หนึ่งในเมืองไทย ตั้งแต่เหนือจดใต้ ซึ่งทั้งหมดอาจเรียกรวม ๆ ได้ว่าเป็น “ศาล” เพราะแม้กระทั่งพระอนุสาวรีย์ก็ยังมักได้รับการกราบไหว้บูชา ในลักษณะทำนองเดียวกันกับศาลเจ้า
พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ เริ่มบันทึกภาพพระอนุสาวรีย์และศาลกรมหลวงชุมพรฯ มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ ต่อมารวบรวมพิมพ์เป็นรูปเล่ม ภาพชุดศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ปี ๒๕๔๔ ระบุว่ามีที่สำรวจพบแล้ว ๑๔๔ แห่ง  ถัดมาไม่นาน ในฉบับพิมพ์ปี ๒๕๔๘ เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น ๒๑๗ แห่ง  ล่าสุดจากการสอบถามส่วนตัวเมื่อปี ๒๕๖๒ พลเรือตรีกรีฑาเชื่อว่าจำนวนศาลของเสด็จในกรมฯ ทั่วประเทศน่าจะมีเกินกว่า ๓๐๐ แห่งแล้ว

ในสังคมไทยร่วมสมัย ความนับถือกรมหลวงชุมพรฯ ในฐานะ “เจ้าพ่อ” หรือดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ยังคงเข้มข้น นอกเหนือไปจากการเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” “เสด็จพ่อ” และ “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ” ที่เคยมีมาแล้ว ทุกวันนี้ ลำพังการออกพระนามว่า “กรมหลวง” คนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อมโยงได้ทันทีว่าย่อมต้องหมายถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์นั่นเอง

ในที่นี้ลองเลือกศาลกรมหลวงชุมพรฯ ๑๐ แห่ง มาแนะนำให้รู้จัก พร้อมกับประวัติความเป็นมาอย่างย่อ ๆ

วิหารน้อย 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ สถานที่ประดิษฐานพระสรีรังคารของ “เสด็จเตี่ย” และพระประยูรญาติ
Image
วิหารน้อยเป็นตึกชั้นเดียวหลังคามุงกระเบื้อง ตั้งอยู่สุดเขตสุสานหลวงทางมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างแบบกอทิก (Gothic) กับคลาสสิก (Classic) ผนังทาสีเหลืองมัสตาร์ด ประตูหน้าต่างทาสีเขียว ขอบบัวทาสีขาว ซึ่งทั้งหมดเป็นสีดั้งเดิมที่ขูดพบในขั้นตอนอนุรักษ์ระหว่างการบูรณะใหญ่ครั้งล่าสุดช่วงปี ๒๕๖๑-๒๕๖๒

ผลงานการอนุรักษ์วิหารน้อย ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทกุฎาคาร จำกัด ในความควบคุมของมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชนระดับดีมาก จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรม-ราชูปถัมภ์ ประจำปี ๒๕๖๕
Image
ที่นี่ถือเป็น “สุสานหลวง” สำหรับราชสกุลสายเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ) ในรัชกาลที่ ๕ ท่านเป็นพระสนมเอกที่นับว่าได้ถวายตัวรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นลำดับต้น ส่วนเจ้าจอมมารดาโหมด พระมารดาของกรมหลวงชุมพรฯ เป็นน้องสาวแท้ ๆ ของท่านเจ้าคุณพระฯ

สรีรังคารของพระสนมเอก เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ และของเจ้าจอมมารดาโหมด พระสรีรังคารของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์กับทั้งพระอนุชาร่วมพระชนนี คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ตลอดจนพระสรีรังคารของพระราชโอรสพระราชธิดาที่ประสูติแต่ท่านเจ้าคุณ รวมถึงของหม่อมเจ้าในราชสกุลอาภากรและราชสกุลสุริยงกับครอบครัว ล้วนบรรจุไว้ด้วยกัน ณ ผนังวิหารน้อย หลังนี้
ตามปรกติ วิ หารน้อย วัดราชบพิธฯ จะเปิดให้สาธารณชนเข้าสักการะพระอัฐิกรมหลวงชุมพรฯ เฉพาะช่วงบ่ายของวันอาภากร ๑๙ พฤษภาคม หลังจากเสร็จสิ้นงานทักษิณานุปทาน (บำเพ็ญกุ ศล) ของทางราชสกุ ลอาภากรและกองทัพเรือแล้วเท่านั้น

วิหารคดสมอ 

วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ ย้ายมาจากศาลดั้งเดิมประจำวังนางเลิ้ง 
ในที่ดินผืนเดิมของวังนางเลิ้ง ที่ประทับของกรมหลวงชุมพรฯ เคยมีศาลของกรมหลวงชุมพรฯ ตั้งอยู่ด้านริมถนนนครสวรรค์ เชิงสะพานเทวกรรมรังรักษ์

ตามที่เล่ากันมา ศาลแห่งนี้มีอยู่ตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จในกรมฯ ยังทรงพระชนมชีพ  เดิมเป็น “ศาลเจ้าแม่ทะเล” หรือ “เจ้าแม่เซียนโกว” (เจ้าแม่ทับทิม) ผู้คุ้มครองชาวเรือ ต่อมาเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์แล้ว คือหลังปี ๒๔๖๖ ผู้ศรัทธาจึงร่วมกันขออนุญาตสร้างศาลใหม่ให้ใหญ่โตมั่นคงขึ้น พร้อมกับที่ศาลนั้นกลายเป็นศาลกรมหลวงชุมพรฯ ไปด้วย และเป็นที่เคารพนับถือของคนจีนคนไทยในละแวกนั้น

ต่อมาในทศวรรษ ๒๕๐๐ ที่ดินบริเวณที่ตั้งศาล ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของวังนางเลิ้ง เปลี่ยนมือไป จึงมีการอัญเชิญดวงพระวิญญาณย้ายไปประดิษฐานยังศาลแห่งใหม่ในวิหารคดหลังหนึ่ง ทางมุมตะวันตกเฉียงใต้ของเขตพุทธาวาส วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ หรือที่เรียกกันว่า “วิหารคดสมอ”

ศาลกรมหลวงชุมพรฯ ในวิหารคดสมอนี้ ดูเหมือนไม่เป็นที่รู้จักกันนักแล้ว นาน ๆ ทีจึงจะมีนักท่องเที่ยวซึ่งมาเที่ยวชมวัดโพธิ์โผล่หน้าเข้ามาชะโงกดูสักคนหนึ่ง
ในศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่วิหารคดสมอ เคยมีภาพวาดสีน้ำมันรูปกรมหลวงชุมพรฯ ขนาดใหญ่ตั้งเด่นเป็นสง่ามาหลายสิบปี ลงลายเซ็น “คิด โกศัลวัฒน์” (ปี ๒๔๖๐-๒๕๓๑) ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระบุปี ๒๕๐๗

คุณคิดวาดภาพนี้ตามต้นแบบที่เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน อีกภาพหนึ่ง ฝีมือ “เจริญ คณะช่าง” (ช่างเขียนชื่อเจริญ สังกัดบริษัทคณะช่าง) เมื่อปี ๒๔๗๑ ในกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี  ล่าสุด (มีนาคม ๒๕๖๕) ไม่ปรากฏภาพสีน้ำมันดังกล่าวที่วิหารคดสมอแล้ว เหลือเพียงแผงไม้เปล่า ๆ สอบถามยังไม่ได้ความว่าภาพหายไปไหน


พระอนุสาวรีย์  “เสด็จพ่อ”

หน้าพณิชยการพระนคร กรุงเทพฯ
พระอนุสาวรีย์แห่งแรกในกรุงเทพฯ

Image
ในปี ๒๔๙๑ กระทรวงศึกษาธิการตกลงซื้อที่ดินที่เคยเป็นที่ตั้งตำหนักใหญ่ วังนางเลิ้ง ของกรมหลวงชุมพรฯ เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนพณิชยการพระนครหลังจากนั้นจึงรื้อซากตำหนักใหญ่ที่ถูกไฟไหม้จากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินสัมพันธมิตรสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลง แล้วสร้างอาคารเรียนสมัยใหม่ขึ้นแทนที่

นักเรียน พ.พ. รุ่นเก่าจำกันได้ว่าที่มุมกำแพงเคยมีศาลเล็ก ๆ ของ “เสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรฯ” ซึ่งทุกคนจะยกมือไหว้ทุกครั้งที่เดินผ่านเข้าออก แสดงกตเวทิตาต่อท่านผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเรียกกันว่า “วังนางเลิ้ง” หรือ “วังสน” (เพราะเคยมีต้นสนปลูกล้อมรอบตามแนวกำแพง) ต่อมาจึงมีการสถาปนาพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ขึ้นทางด้านหน้าโรงเรียนพณิชยการพระนคร (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร) เมื่อปี ๒๕๑๖ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๙

พระอนุสาวรีย์องค์นี้ปั้นแบบโดย สนั่น ศิลากรณ์ (ปี ๒๔๖๒-๒๕๒๙) ศิษย์รุ่นใหญ่ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และกลายเป็น “ต้นแบบ” ให้แก่พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ อีกหลายแห่งทั่วประเทศสืบมา
ทั้งครูบาอาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ล้วนเคารพนับถือ “เสด็จพ่อ” เป็นอย่างยิ่ง ทุกปีในวันคล้ายวันประสูติ ๑๙ ธันวาคม มีการจัดงาน “วันอาภากรรำลึก” อย่างยิ่งใหญ่  ถือเป็นงาน “คืนสู่เหย้า” ของบรรดา “ลูกวังสน” ในวันนั้น เคยเห็นว่าดอกกุหลาบแดงที่นำมาสักการะสูงท่วมฐานพระอนุสาวรีย์

ศาลเจ้าตลาดนางเลิ้ง 
กรุงเทพฯ

ศาลเจ้าประจำตลาด ประดิษฐานกรมหลวงชุมพรฯ พร้อมด้วยเจ้าพ่อกวนอูและเจ้าแม่กวนอิม
Image
ในตลาดนางเลิ้ง ถนนนครสวรรค์ ตลาดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มีศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่เป็นศาลเจ้าจีนอยู่ด้วย

ตามประวัติที่ชาวตลาดจดจำกันมา ในปี ๒๕๐๒ มีการอัญเชิญผงธูปจากศาลกรมหลวงชุมพรฯ หลังเดิม อีกฟากฝั่งของคลองผดุงกรุงเกษม มารวมกับที่ศาลเจ้าประจำตลาด

ภาพที่คุ้นตามาแต่เดิมของที่นี่คือศาลไม้หลังเล็ก ตั้งอยู่บนยกพื้นด้านในสุดของตัวตลาด เพิ่งมาปรับปรุงใหม่ให้เป็นศาลคอนกรีตทรงเก๋งจีนครบเครื่องในปี ๒๕๖๔ โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๕

กรรมการศาลเจ้าชาวตลาดนางเลิ้งอธิบายว่า ที่นี่ประดิษฐานกรมหลวงชุมพรฯ เป็นเทพองค์หนึ่งในบรรดาเทพประธานของศาลเจ้า ร่วมกับเทพเจ้าจีนประจำศาล คือเจ้าพ่อกวนอูและเจ้าแม่กวนอิม โดยรูปเทพเจ้าจีนล้วนเป็นเครื่องกระเบื้องที่สั่งนำเข้ามาจากประเทศจีนโดยตรงขณะที่พระรูปหล่อของกรมหลวงชุมพรฯ หล่อโลหะสำริดขึ้นใหม่จากต้นแบบเดิมพิมพ์เดียวกับพระอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานอยู่หน้าพณิชยการพระนครนั่นเอง

ผู้ที่สนใจอยากเห็นศาลหลังเก่า พร้อมด้วยรูปเคารพและข้าวของเดิม ทางศาลยังคงเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ให้ชมในห้องพิพิธภัณฑ์ชั้นล่าง
งานประจำปีของศาลเจ้าตลาดนางเลิ้ง ปรกติจะจัดขึ้นในช่วงคร่อมกับวันอาภากรรำลึก ๑๙ ธันวาคมของทุกปี มีการแสดงงิ้ว มีเครื่องบูชา มีการประมูลของมงคล ครบครันตามธรรมเนียมงานสมโภชศาลเจ้าจีนทุกประการ

ศาลล่างและศาลบน

หาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร “เรือนมฤตกะ” สถานที่สิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ
Image
เล่ากันว่า แต่เดิมชาวบ้านกับชาวประมงย่านนั้นช่วยกันสร้างศาลไม้มุงสังกะสีตามกำลัง ไว้ตรงใต้ต้นหูกวาง ณ ที่เคยเป็นที่ตั้งตำหนักของเสด็จในกรมฯ บริเวณหาดทรายรี

ต่อมาต้นปี ๒๕๐๒ กลุ่ม ครฟ. (คนรถไฟ) และครอบครัว นำโดยพันเอก แสง จุละจาริตต์ เดินทางไปสักการะแล้วมีจิตศรัทธา จึงร่วมกันออกแบบจัดสร้าง “พระตำหนัก” หลังใหม่ เป็นอาคารไม้ทรงไทย ยกพื้น หลังคามุงกระเบื้อง โดยมีพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณจากศาลเดิมย้ายไปประทับที่พระตำหนักศาลใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๐๒

ในปี ๒๕๑๕ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรขณะนั้น เห็นว่าศาลหาดทรายรีตั้งอยู่บนพื้นราบ จึงมีดำริให้สร้างศาลใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งบนไหล่เขาใกล้กับศาลเดิม เพื่อให้ดูสง่างามมากขึ้นแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๖
Image
ภาพ : ศรัณย์ ทองปาน
Image
เครื่องสักการบูชายอดนิยมของทั้งสองศาลคือดอกกุหลาบแดงและประทัด
จากนั้นมีการปรับปรุงพื้นที่ตลอดเวลา เช่น สร้างถนนทางขึ้น  ปรับพื้นที่ตั้งศาลให้เป็นรูปหัวเรือหลวง พระร่วง จนถึงสร้าง “พระตำหนัก” หลังใหม่ เป็นทรงปราสาทจัตุรมุข ผนังบุหินอ่อน ช่วงกลางทศวรรษ ๒๕๓๐

ส่วนศาลตรงตำแหน่งตำหนักที่ประทับเดิม ในยุคที่พลเอก
ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด  คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ นายกสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการทหารสูงสุดและนายกสมาคมแม่บ้านทหารบก ซึ่งมีความศรัทธา “เสด็จเตี่ย” เป็นพิเศษ มีดำริว่าศาลไม้ของเดิมมีอายุถึง ๓๐ ปีแล้ว ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจึงขออนุญาตคณะผู้สร้างเดิม จัดสร้างขึ้นให้ใหม่ เป็น “พระตำหนัก” คอนกรีต เสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๒

ในบริเวณหาดทรายรีจึงมีศาล หรือ “พระตำหนัก” กรมหลวงชุมพรฯ อยู่ถึงสองแห่ง คือบนหาดทรายรี เคียงข้างเรือหลวง ชุมพร เรือตอร์ปิโดใหญ่หมายเลข ๗ อันมีนามพ้องทั้งกับชื่อจังหวัดและพระนามของเสด็จในกรมฯ ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลล่าง” กับอีกแห่งคือ “ศาลบน” ที่บนไหล่เขาเหนือเรือหลวง พระร่วง จำลอง

ทุกวันนี้ “ศาลบน” กลายเป็นสักการสถานหลัก ด้วยเป็นศูนย์กลางการจัดงานวันรำลึกกรมหลวงชุมพรฯ ของทางราชการผู้มากราบไหว้บูชาเกือบทั้งหมดจึงมุ่งหน้าขึ้นไป พร้อมกับผ่านเลย “ศาลล่าง” หรือ “เรือนมฤตกะ” อันเป็นสถานที่สิ้นพระชนม์ โดยไม่ทันสังเกต

พระอนุสาวรีย์ที่แหลมปู่เจ้า

อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
“ถ้าฉันตาย ขอให้เอากระดูกของฉันมาไว้บนยอดเขาปู่เจ้านี้นะ”

Image
ภาพ : จิรายุส คุรุเสถียรกิจ
เรื่องที่ว่ากรมหลวงชุมพรฯ มีพระประสงค์ให้นำพระอัฐิมาไว้บนเขาแหลมปู่เจ้า หรือแหลมปู่เฒ่า ปากอ่าวสัตหีบ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่ลูกศิษย์นายทหารเรือดังมีบันทึกว่าทรงเคย “สั่งเสีย” หลายครั้งในต่างกรรมต่างวาระ

สุดท้ายเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วหลายสิบปีจึงมีการดำเนินการตามพระประสงค์ดังกล่าว เมื่อมีการสร้างกระโจมไฟชุมพรเขตอุดมศักดิ์บนยอดเขาแหลมปู่เฒ่า สัตหีบ (ภายหลังยกฐานะเป็นประภาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ซึ่งมีพิธีเปิดในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๓

ในบริเวณกระโจมไฟฯ มีศาลอันเป็นที่ประดิษฐานพระสรีรังคารของพระองค์ จึงเป็นที่เคารพสักการะกันมาหลายสิบปี ด้วยถือว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ เพราะแต่เดิมที่นี่เป็นสถานที่ประดิษฐานพระสรีรังคารของกรมหลวงชุมพรฯ เพียงแห่งเดียวที่คนทั่วไปเข้าไปกราบสักการะได้ เนื่องจากอีกแห่งหนึ่งคือวิหารน้อยในสุสานหลวง วัดราชบพิธฯ มีกำหนดเปิดเพียงปีละครั้ง

เรือรบของราชนาวีทุกลำเมื่อแล่นผ่านเข้าออกอ่าวสัตหีบย่อมต้องถวายความเคารพแก่ “เสด็จเตี่ย” ที่แหลมปู่เจ้า
Image
เคยมีข้อสงสัยกันว่า ในศาลบนแหลมปู่เจ้านี้มีพระอัฐิของกรมหลวงชุมพรฯ อยู่จริงหรือไม่

เมื่อมีการบูรณะภายในตัวศาล ปี ๒๕๔๖ จึงมีการเปิดผนึกกล่องหินอ่อนที่ประดิษฐานพระอัฐิซึ่งอยู่ด้านหลังพระรูปกรมหลวงชุมพรฯ ในศาล  พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ บันทึกไว้ใน นาวิกศาสตร์ ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๔๗ ว่า ในกล่องหินอ่อนนั้นมีพานทองเหลือง “บนพานทองเหลืองมีโกศไม้ทรงเจดีย์กลม ขนาดประมาณ ๒ เซนติเมตร สูงประมาณ ๔ เซนติเมตร วางอยู่ ภายในโกศบรรจุพระอัฐิองค์เล็ก ๆ” จึงเป็นอันได้ข้อยุติว่ามีอยู่จริง


พระอนุสาวรีย์ สวนอาภากรเกียรติวงศ์ 

อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
พระอนุสาวรีย์ “เสด็จเตี่ย” องค์แรก

พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ที่เป็นประติมากรรมองค์แรกมิได้จัดสร้างขึ้นโดยทางราชการ แต่เกิดจากพระสงฆ์ พ่อค้า ประชาชน และคนรถไฟ (ครฟ.) จังหวัดชุมพร ผู้มีจิตศรัทธาและจงรักภักดีต่อเสด็จในกรมฯ พร้อมใจกันสมทบทุนจัดสร้างขึ้นโดยติดต่อให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ปั้น และหล่อพระรูป เมื่อแล้วเสร็จในปี ๒๕๐๕ จึงนำขึ้นประดิษฐานบนแท่นในสวนสาธารณะของเทศบาลเมืองชุมพร วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๘

กว่าครึ่งศตวรรษต่อมา ในวันนี้ สวนแห่งนี้เปลี่ยนนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติเป็น “สวนอาภากรเกียรติวงศ์” สองข้างทางเดินเข้าไปยังพระอนุสาวรีย์ตั้งเสาธงเรียงราย ชักธงรูปกรมหลวงชุมพรฯ บนพื้นแดง (สีตามวันประสูติ คือวันอาทิตย์) ตรงกลางมีเสาธงใหญ่ เสากาฟด้านข้างชักธงราชนาวี ช้างเผือกในวงกลมกลางผืนธงไตรรงค์ ส่วนยอดบนสุดชักธงประจำตำแหน่งพลเรือเอก จักรสี่วงบนพื้นน้ำเงิน  เดินตรงต่อไปจะเห็นพระอนุสาวรีย์ซึ่งตั้งอยู่บนแท่นฐานแปดเหลี่ยมขนาดมหึมา มีสระน้ำล้อมรอบ พร้อมสะพานข้ามเข้าไปทั้งสี่ทิศ

ในเวลาเย็น สวนแห่งนี้คือสถานที่นันทนาการของชาวเมืองชุมพรทุกเพศทุกวัย บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงนกร้องระงมเสียงเบสทุ้มหนักกระหึ่มจากเวทีแอโรบิกทั้งด้านหน้าด้านหลังปนเปไปกับถ้อยคำจ้อกแจ้กจากคนหลายร้อยที่มาเดินมาวิ่งเด็กเล็กกรี๊ดกร๊าดเมื่อเห็นปลาในสระน้ำฮุบขนมปัง แต่พร้อมกันนั้นยังมีคนในชุดออกกำลังกายแวะเวียนมากราบไหว้อยู่ทางด้านหน้าพระอนุสาวรีย์ไม่ขาดสาย

บางคนพนมมือก้มหน้านิ่งนาน ราวกับจะบอกกล่าวเรื่องราวหนักหนาของชีวิตให้ “กรมหลวง” ร่วมรับฟัง
Image
เครื่องบูชายอดนิยมคือดอกกุหลาบแดงและประทัด

พระตำหนักกรมหลวงชุมพรฯ และสวนสมุนไพรหมอพร

อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
สถานที่ประดิษฐานพระอัฐิแห่งล่าสุด โดยมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ

Image
ภาพ : ศรัณย์ ทองปาน
มูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ โดยความร่วมมือของกองทัพเรือ จัดสร้าง “พระตำหนักพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” และ “สวนสมุนไพรหมอพร” ขึ้นในบริเวณที่ดินของกองทัพเรือ เนื้อที่ ๑๙ ไร่ ในบริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ

อาคารหลังแรกคือตัวพระตำหนักซึ่งสร้างด้วยรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับวิหารน้อย วัดราชบพิธฯ แล้วเสร็จในปี ๒๕๕๘ และมีพิธีบรรจุพระสรีรังคารของกรมหลวงชุมพรฯซึ่งได้รับมอบจากหม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร รองประธานกรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ ใต้ฐานพระรูป ณ พระตำหนักแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๕

ที่นี่นับเป็นสถานที่ประดิษฐานพระอัฐิและพระสรีรังคารแห่งที่ ๔ ต่อจากหอพระนาก (สถานที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์) วัดพระศรีรัตนศาสดารามวิหารน้อย ภายในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  ศาลบนแหลมปู่เจ้า ฐานทัพเรือสัตหีบ

อีกทั้งนับเป็นสถานที่แห่งแรกที่ประดิษฐานพระอัฐิเพื่อให้ผู้ศรัทธาเข้าสักการะ ในพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อการเข้าถึงของสาธารณชน
Image
ภาพ : จิรายุส คุรุเสถียรกิจ
ทางมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ ยังจัดสร้างหอพระประวัติขึ้นในบริเวณสวนสมุนไพร จัดแสดงนิทรรศการ “น้ำทิพย์จากดวงตะวัน” ถือเป็นนิทรรศการขนาดเล็กว่าด้วยพระประวัติและพระกรณียกิจของกรมหลวงชุมพรฯ ที่จัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ

พระอนุสาวรีย์หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ

วังนันทอุทยาน กรุงเทพฯ
สถานที่ประกอบพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันอาภากร ๑๙ พฤษภาคม อย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ

วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๗ พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ เสนอกองทัพเรือ ขอให้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ไว้ที่บริเวณวังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ และกองทัพเรืออนุมัติเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ นับเป็นพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ แห่งแรกในกรุงเทพฯที่กองทัพเรือจัดสร้างขึ้น โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันอาภากร ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๒

พระอนุสาวรีย์องค์นี้มีความหมายลึกซึ้งเป็นพิเศษ เพราะเกิดขึ้นภายหลังจากที่กองทัพเรือได้รับมอบวังนันทอุทยานคืนจากกองทัพบก ผู้ครอบครองพื้นที่นี้ไว้ยาวนานหลายสิบปี นับแต่ “กบฏแมนฮัตตัน” ในทศวรรษ ๒๔๙๐ ที่นี่จึงเป็นเหมือน “หมุดหมาย” แห่งการรื้อฟื้นศักดิ์ศรีกองทัพเรือ อีกทั้งเป็นการประกาศความเป็น “เจ้าของ” วังนันทอุทยานที่แท้จริง

ที่นี่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ของกองทัพเรือ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
Image
ภาพ : ศรัณย์ ทองปาน
แม้อยู่ในเขตฐานทัพเรือกรุงเทพฯ แต่พื้นที่ของ
พระอนุสาวรีย์เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะได้

๑๐
ศาลเจ้าพ่อเขตรอุดมศักดิ์

โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ ที่พึ่งทางใจของชาวรามาธิบดีและผู้เจ็บไข้ได้ป่วย
Image
อาจารย์หมอผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยเท้าความให้ฟังว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนมีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดีกับหน่วยงานข้างเคียง  เมื่อมีการ “ดูทางใน” พบว่าศาลพระภูมิของสถาบันที่มีเรื่องขัดแย้งกันนั้น “แรง” มาก หลังจากนั้นยังเกิดเหตุภายในโรงพยาบาลต่อเนื่องกันอีกหลายเรื่อง นำไปสู่ข้อแนะนำผ่านการ “ประทับทรง” เพิ่มเติมว่า ถ้าจะให้เกิดความสงบร่มเย็น ต้องหันหน้าศาลพระภูมิเดิมของโรงพยาบาลเสียใหม่ แล้วอัญเชิญกรมหลวงชุมพรฯ มาประทับประจำศาล ปรากฏว่านับแต่นั้นเรื่องร้ายแรงต่าง ๆ กลับคลี่คลายสงบระงับไป ทั้งที่พื้นที่ของโรงพยาบาลหรือตามประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลรามาธิบดีมิได้เกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับ “เสด็จเตี่ย” มาก่อนเลย
Image
ตามความเชื่อของชาวรามาธิบดีรุ่นเก่า ดวงพระวิญญาณที่สถิตอยู่ในศาลนี้มีพระนามว่า “เจ้าพ่อเขตร-อุดมศักดิ์” ตามสร้อยพระนามเมื่อทรงกรม แต่ป้ายหน้าศาลปัจจุบันระบุว่าที่นี่คือ “ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”

จากศาลพระภูมิไม้หลังเล็ก ๆ ยุคแรกตั้งเมื่อปี ๒๕๒๓ ได้รับการปรับปรุงมาเป็นลำดับ  ในปี ๒๕๕๗ มีการก่อสร้างใหม่เป็นศาลคอนกรีตทรงไทยประยุกต์หลังใหญ่ เป็นที่สักการะบนบานศาลกล่าวทั้งของบุคลากรชาวรามาธิบดี ตลอดจนคนไข้ที่มาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนทุกวันนี้
นอกเหนือจากดอกกุหลาบแดงอันเป็นของถวายกรมหลวงชุมพรฯ ที่พบทั่วไป การแก้บนกับศาลในโรงพยาบาลรามาธิบดีดูเหมือนว่าจะมีต่าง ๆ กันไป สุดแท้แต่จะบนบานกันไว้ มีตั้งแต่รำโนรา ชกมวยคาดเชือก ไปจนถึงการทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูบริเวณศาล