Image

สื่อสารด้วยใจกรุณา

Holistic 

เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าเท่าไร เรายิ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบของการสื่อสารมากขึ้นเท่านั้น  ทุกวันนี้เราส่งต่อความรู้สึกนึกคิดถึงคนจำนวนมากได้ภายในสัมผัสเดียว หากเป็นความรู้สึกเชิงลบก็สามารถสร้างความเสียหายแก่คนหรือสังคมอย่างรุนแรง ดังจะเห็นข่าวฆ่าตัวตายเพื่อหนีความอับอายจากข่าวสารทางโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ

พระติช นัท ฮันห์ พระสงฆ์ชาวเวียดนามผู้ล่วงลับ เขียนหนังสือเรื่อง ศิลปะแห่งการสื่อสาร (The Art of Communicating) กล่าวไว้ว่า การสื่อสารคืออาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กินทางปาก แต่ผ่านทางหู ตา และจมูก อาหารทุกอย่างที่เรารับเข้ามาล้วนมีผลต่อร่างกายและจิตใจ ไม่เชิงการเยียวยาก็เป็นพิษร้ายทำลายทั้งตัวเราและผู้อื่น

เมื่อเราพูดสิ่งดีมีประโยชน์หล่อเลี้ยงและชุบชูจิตใจ เท่ากับเรากำลังให้อาหารที่เปี่ยมด้วยความรักและความกรุณาต่อตัวเองและผู้อื่น แต่หากเราพูดหรือกระทำสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด โกรธกริ้ว ไม่มั่นคง ไม่ดีพอ เท่ากับเรากำลังให้อาหารแก่ความรุนแรงและความทุกข์เช่นกัน ซึ่งการสื่อสารแบบหลังนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว คนใกล้ชิด หรือที่ทำงานไปไม่รอด

การตระหนักรู้หรือสติคือสิ่งที่จะช่วยกลั่นกรองการสื่อสารของเรา หากเรามีสติรู้และใคร่ครวญอยู่เสมอว่าสิ่งที่จะสื่อสารออกไปหรือรับเข้ามาเป็นอาหารที่ดีหรือร้าย เราจะสามารถส่งสารที่ดีมีประโยชน์ หรืองดส่งสารหรือรับสารที่เปรียบเสมือนอาหารพิษได้

ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความเหงาและความโดดเดี่ยวว่าเป็นความทุกข์แห่งยุคสมัย เมื่อรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเราก็อยากเชื่อมโยงกับผู้คน หาสิ่งมาเติมเต็มความว่างเปล่าภายในใจ เราคิดว่าการมีเพื่อนคุยจะทำให้หายเหงา และเลือกสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่โทรศัพท์มือถือเป็นแค่ “ช่องทาง” การสื่อสารสิ่งสำคัญกว่าคือเนื้อหาหรือคอนเทนต์ต่างหาก

Image

บางครั้งเราอยู่หน้าจอนาน ๆ รับข่าวสารแย่ ๆ มากมาย โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังได้รับอาหารพิษ คิดว่าเทคโนโลยีช่วยให้เราสื่อสารกันมากขึ้น แต่นั่นเป็นภาพลวงตา ทุกวันนี้เราตัดขาดจากตัวเอง สูญเสียการเชื่อมโยงกับตัวเองอย่างสิ้นเชิง เราไม่รู้ตัวว่ากำลังยืน เดิน นั่ง นอนอย่างไร

ขอแค่หยุดสิ่งที่กำลังทำ นั่งลงแล้วเชื่อมโยงกับตัวเองด้วยการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเรา “รู้เนื้อรู้ตัว”  บางคนดูความรู้สึกร้อน-หนาว บางคนดูลมหายใจ เมื่อหายใจเข้ากลับมาอยู่กับตัวเอง เมื่อหายใจออกปลดปล่อยความเครียด เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้สร้างความตระหนักรู้และเชื่อมโยงกับตัวเองแล้ว

ถ้าจะให้ลึกกว่านั้นคือรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก และความนึกคิดของตัวเองซึ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการ “กลับบ้าน” ที่แท้จริง จะช่วยให้เรารู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย หลังเราออกจากบ้านไปนานมาก บ้านถูกทิ้งร้าง การกลับบ้านนั้นอยู่ไม่ไกลเลย แค่นั่งและสังเกตลมหายใจ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเรารู้ว่าจะหายใจอย่างไร เราก็รู้ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอนอย่างไร

ที่สำคัญคือการหยุดแล้วสื่อสารกับตัวเองคือการปฏิวัติเพราะจะทำให้เราหยุดหลงทางหรืออยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา และสติคือช่องทางการสื่อสารที่จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจเราสื่อสารกันได้ เพราะขณะมีสติรู้ลมหายใจ เราจะไม่ได้พูดหรือคิด สมองจะโปร่งโล่ง เราอาจเห็นความเครียด ความเจ็บปวดตามร่างกาย ที่ไม่อาจรับรู้ได้ขณะพูดหรือคิด สติจะทำให้เราได้ยินเสียงความเจ็บปวด ความทุกข์ ความเศร้าภายในของเรา เมื่อเราหายใจเข้า-ออก กายและใจจะสื่อสารและอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่ตัวอยู่ทางใจอยู่ทางดังที่เคยเป็น แต่สติจะทำให้เรารับรู้ได้ว่า “ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น”

พระติช นัท ฮันห์ จึงเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่าสติคือเทพผู้คุ้มครองเรา และเราควรพกสติติดตัวมากกว่าโทรศัพท์มือถือเพราะสติจะช่วยให้เราทุกข์น้อยลง

ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงการสื่อสารของเราเพื่อให้ผู้อื่นทุกข์น้อยลงด้วย  

Image

พระติช นัท ฮันห์ เขียนใน ศิลปะแห่งการสื่อสาร ว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการสื่อสารแห่งความกรุณาประกอบด้วยการฟังอย่างลึกซึ้งและพูดจาภาษารัก  / การฟังอย่างลึกซึ้งคือฟังด้วยความตั้งใจที่จะช่วยให้คนคนนั้นพ้นทุกข์ โดยไม่วิจารณ์ แนะนำ สั่งสอน พูดขัด แม้สิ่งที่เขาพูดจะน่าเบื่อ น่ารำคาญ น่าโมโห ก็บอกตัวเองว่าจะรับฟังเพราะเจตนารมณ์ของเราคือฟังเพื่อให้เขาคลายทุกข์ ซึ่งหากเราฟังได้สักครึ่งชั่วโมง ความทุกข์ของคนเล่าจะคลายลงอย่างแน่นอน ถ้ามีสิ่งที่เราอยากเล่าหรือแก้ไขค่อยหาโอกาสภายหลัง แต่ถ้าตอนนั้นสภาพจิตใจเราไม่พร้อมจะรับฟัง ก็เพียงบอกว่ายังไม่พร้อม / ส่วนการพูดจาภาษารักด้วยมนตราหกข้อ อันเปรียบเสมือนอาหารที่ช่วยให้ผู้พูดและผู้ฟังอิ่มกายอิ่มใจประกอบด้วย

“ฉันอยู่ตรงนี้เพื่อเธอนะ” ขณะมีความทุกข์ การ “อยู่” ของเราเป็นสิ่งมีค่ายิ่งกว่าแก้วแหวนเงินทอง เราสามารถใช้มนตรานี้กับผู้อื่นและตัวเราเอง 

“ฉันรู้ว่าเธออยู่ตรงนั้นนะ และฉันมีความสุขมาก” ใช้ในกรณีที่เราอยากให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าการ “อยู่” ของเขาสำคัญต่อเรามาก ให้พูดหลังจากหายใจเข้า-ออก เราสามารถฝึกพูดมนตรานี้ทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง และพูดได้กับคนที่เราต้องการสื่อสาร แม้เขาจะไม่ได้อยู่กับเรา

“ฉันรับรู้ความทุกข์ของเธอนะ ฉันเลยอยู่ตรงนี้เพื่อเธอ” ใช้เมื่อสังเกตว่าคนคนนั้นกำลังทุกข์ ซึ่งจะช่วยให้เขาทุกข์น้อยลงได้ทันที

“นี่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข” มนตรานี้บอกให้เราและอีกฝ่ายเห็นว่าเราโชคดีมากที่มีสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขใน “ที่นี่และเดี๋ยวนี้” เช่น เรายังหายใจได้ เรายังมีกันและกัน ฯลฯ ไม่ว่าจะนั่งหรือเดินด้วยกัน ก็ใช้มนตราข้อนี้ได้

“ฉันเป็นทุกข์อยู่นะ โปรดช่วยฉันด้วย” มนตราข้อนี้นับว่ายาก โดยเฉพาะคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ใช้เมื่อเราทุกข์และเชื่อว่าคนคนนั้นเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ เวลาทุกข์เรามักตำหนิคนอื่น อยากบอกว่าฉันไม่ต้องการเธอ ไม่มีเธอฉันก็อยู่ได้ แต่อย่าลืมว่าถ้าเป็นคนที่เราไม่รักไม่แคร์ เราคงไม่ทุกข์มาก ดังนั้นเราจึงต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่ผลักไสกล่าวโทษ ทันทีที่เรากล้าพูดมนตราข้อนี้ ความทุกข์เราจะลดลงทันที ถือเป็นมนตรามหัศจรรย์ ขนาดพระติช นัท ฮันห์ แนะนำให้เขียนการ์ดเก็บไว้ที่กระเป๋าเลย

“คุณพูดถูกเป็นบางส่วนนะ” ใช้เมื่อมีคนชมหรือวิจารณ์เรา  เมื่อเห็นคนสวย เรามักมองข้ามสิ่งอื่น เช่นเดียวกับเราไม่ชอบบางสิ่งในคนคนนั้น เราก็จะมองข้ามสิ่งดี ๆ ของเขา มนตราข้อนี้จึงช่วยดูแลทั้งตัวเราและอีกฝ่ายว่าหากสิ่งที่เขาพูดไม่ดีจริง ก็เป็นจริงแค่บางส่วน และหากดี ก็เป็นจริงแค่บางส่วนเช่นกัน เราจะได้ไม่ตกหลุมความทะนงตัวหรือทำร้ายตัวเอง