Image
“ลินคอล์น”
ที่พกกลับบ้าน
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ช่วงใกล้เลือกตั้งทั่วไปในไทย บรรยากาศทางการเมืองที่คึกคักตามสื่อต่าง ๆ ทำให้ผมนึกถึงของที่ระลึกชิ้นหนึ่งที่ได้มาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๙
ต้นปีนั้น โรคโควิดเริ่มระบาดในทวีปเอเชีย ทางฝั่งทวีปอเมริกายังไม่มีผู้ติดเชื้อ ผมมีจังหวะเดินทางไปค้นคว้าข้อมูล เพื่อทำสารคดีเรื่องหนึ่งที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติของสหรัฐฯ (The U.S. National Archives and Records Administration at College Park - NARA II) ทำให้ต้องเดินทางเข้าออกระหว่างกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กับหอจดหมายเหตุที่ตั้งอยู่ชานเมือง

ไปถึงเมืองหลวงของสหรัฐฯ ทั้งที นอกจากทำงาน ผมพยายามแบ่งเวลาส่วนหนึ่งเข้าชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย โดยเฉพาะโซนใจกลางเมือง (National Mall & downtown) อันเปรียบได้กับพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางและรอบสนามหลวงของกรุงเทพฯ

กางแผนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ดู จะพบว่าพื้นที่ที่ว่านี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำโปโตแม็ก ผังเมืองตัดเป็นตารางหมากรุกสี่เหลี่ยม ผสมกับการใช้วงเวียนกระจายถนนไปตามย่านต่าง ๆ ของเมือง

ส่วนที่เป็น National Mall เริ่มต้นจากริมแม่น้ำจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ไปสิ้นสุดที่อาคารรัฐสภา (Capitol Hill)

ส่วนที่ผมตั้งใจไปคืออนุสรณ์สถานลินคอล์น (Lincoln Memorial) ซึ่งตั้งอยู่ ณ จุดเริ่มต้นของ National Mall ด้านทิศตะวันตกติดริมแม่น้ำ

คนไทยจำนวนมากอาจรู้สึกคุ้นเคยกับอนุสรณ์สถานแห่งนี้ แม้ไม่เคยมาอเมริกา ด้วยภาพยนตร์ฮอลลีวูดมักใช้เป็นฉากโดยเฉพาะเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับประธานาธิบดีอเมริกา
Image
ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ ๑๖ (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ - มีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๕) หนึ่งในประธานาธิบดีที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ ด้วยเป็นผู้นำที่พาประเทศผ่านช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐทางเหนือและใต้ที่ขัดแย้งกันเรื่องนโยบายการมีทาสผิวสี

ลินคอล์นต่อต้านการมีทาสมาตั้งแต่สมัครลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๘๖๐ เขาคือผู้นำที่ยืนยันว่าอเมริกาไม่ควรมีทาสและการค้าทาสอีกต่อไป  สุนทรพจน์ของเขาที่สุสานทหารเก็ตตีสเบิร์ก (Gettysburg) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ที่ประกาศว่าจุดหมายของการเลิกทาสคือการสร้างเสรีภาพ เสมอภาค และ “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่มีวันหายไปจากโลกนี้” ยังถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งที่สุดโดยคนรุ่นต่อมา

ลินคอล์นยังเป็นผู้นำอเมริกันที่นักประวัติศาสตร์ไทยรู้จักดีที่สุดคนหนึ่ง ด้วยเขาเป็นผู้ตอบพระราชสาส์นรัชกาลที่ ๔
ที่ทรงส่งไปถึงประธานาธิบดีเจมส์ บูคานัน (James Buchanan) ซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนหน้า (มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ -  มีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๑)

ในพระราชสาส์นนั้น รัชกาลที่ ๔ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานช้างให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ หลังทราบว่าสหรัฐฯ กำลังทดลองใช้อูฐในการขนส่ง

ทว่าการตอบพระราชสาส์นพระเจ้ากรุงสยามล่าช้ามาจนถึงสมัยลินคอล์น ลินคอล์นจึงส่งอักษรสาส์นมากราบบังคมทูลขอปฏิเสธของขวัญ เพราะ “ภูมิอากาศที่นี่ไม่เหมาะกับช้าง” อีกทั้งสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีพลังไอน้ำ (อันเป็นของทันสมัยในยุคนั้น) สำหรับการขนส่งอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามเรื่องเล่านี้มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในฐานะ “เกร็ดประวัติ-ศาสตร์” ของความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ยุคถัดมาเสมอ ครั้งที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อคราวที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช มาเยือนไทยใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ได้หยิบยกเรื่องนี้ในการกล่าวสุนทรพจน์คราวหนึ่ง

บุชระบุในทำนองรำลึกถึงว่าอยากขอกลับคำของอดีตประธานาธิบดีลินคอล์น เพื่อขอพระราชทานช้างอีกครั้งเรียกเสียงฮือฮาในแวดวงสื่อมวลชนได้เป็นอย่างดี
Image
เมื่อมาถึงอเมริกา สิ่งที่ผมกลับมาสนใจและทบทวนอีกครั้งคือ ความจริงจังของลินคอล์นในการทำสงครามกับรัฐทางใต้เพื่อทำให้การเลิกทาสมีผลบังคับใช้ทั้งประเทศ การสนับสนุนคนผิวสีให้มีสิทธิทางการเมือง ฯลฯ แม้จะเป็นการแตกหักแต่ก็ได้วางรากฐานบางอย่างให้แก่สหรัฐฯ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนมาจนทุกวันนี้ เหตุการณ์ลอบสังหารเขาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๖๕ ยังสร้างความตกตะลึงและเศร้าโศกให้ผู้คน

ลินคอล์นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ถูกลอบสังหาร แน่ชัดว่าสาเหตุหนึ่งที่มือสังหารลงมือมาจากการที่เขามีสุนทรพจน์สนับสนุนสิทธิของคนผิวสีในอเมริกา

ลินคอล์นจึงเป็นตำนานในฐานะรัฐบุรุษของสหรัฐฯ ที่ไม่เคยถูกลืม  โครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานของเขาเริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๘ แล้วเสร็จใน ค.ศ.๑๙๒๒ ด้วยรูปแบบวิหารกรีกสไตล์นีโอคลาสสิก สูง ๓๐ เมตร มีเสาดอริกแบบกรีก ๓๖ ต้นค้ำยัน (แทนจำนวน ๓๖ รัฐของอเมริกาสมัยที่เขาดำรงตำแหน่ง) ทั้งยังมีการชดเชยสัดส่วนของอาคารสำหรับมุมมองจากภายนอกที่อาจบิดเบี้ยวไป

ภายในอนุสรณ์สถานที่หันหน้าสู่ทิศตะวันออกแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนกลางเป็นอนุสาวรีย์ลินคอล์นสีขาว สูง ๒๓ เมตร กว้าง ๑๘ เมตร นั่งอยู่บนแท่น หันหน้าไปทางตะวันออก อีกสองห้องมีจารึกคำกล่าวของลินคอล์นที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ ๒ และสุนทรพจน์ที่เก็ตตีสเบิร์ก

ผมซื้ออนุสาวรีย์จำลองลินคอล์นกลับมาด้วยราคา ๑๕ ดอลลาร์ (ประมาณ ๕๒๕ บาท) หลังจากไปยืนดื่มด่ำกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความขรึมขลัง ประทับใจว่าอเมริกามีด้านแย่ ๆ อย่างไร อย่างน้อยก็ยังชัดเจนเรื่องรากฐานของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในเชิงปรัชญา รวมถึงการยกย่องผู้นำที่เดินตามแนวทางนั้น

การได้ไปเยือนที่นั่นทำให้ผมได้สัมผัสกับบรรยากาศทางประวัติศาสตร์ ด้วยหน้าอนุสรณ์สถานเคยเป็นพื้นที่ที่ดอกเตอร์มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ กล่าวกับมหาชนที่มาเดินขบวนเพื่อสิทธิของคนผิวสี ด้วยประโยคที่คนจำนวนมากจดจำคำขึ้นต้นได้ว่า 

“I have a dream…” (ผมมีความฝัน...)

เมื่อดูข่าวการเมืองไทยซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤตมานานนับทศวรรษ หลายครั้งผมมองอนุสาวรีย์จำลองนี้บนโต๊ะทำงาน
บางทีก็อยากบันทึกไว้เหมือนกันว่า “ผมมีความฝัน...(เว้นให้ท่านผู้อ่านเติม)”