Image
คนชาติใดฉลาดสุด ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
งานวิจัยเรื่องหนึ่งที่ข้อสรุปมักชวนให้หัวร้อนได้ง่าย ๆ ก็คือการหาคำตอบว่าคนชาติใดฉลาดที่สุดในโลก การตอบคำถามเรื่องแบบนี้ไม่ง่าย ต้องตั้งกรอบความคิด หาปัจจัยและตัวชี้วัด ซึ่งสุดท้ายได้ข้อสรุปแล้ว ก็ยังคงมีคนโต้แย้งในแง่หนึ่งแง่ใดเสมอ
ขอยกตัวอย่างงานวิจัยในหัวเรื่องทำนองนี้มาสักสองสามตัวอย่าง

ข้อมูลชุดแรกมาจากเว็บไซต์ World data.info ซึ่งทางผู้จัดทำบัญชีรายชื่อเกริ่นไว้ตั้งแต่ย่อหน้าแรกเลยว่า การจัดอันดับแบบนี้เป็นเรื่องถกเถียงกันได้ และอันที่จริงแล้วตัวเลขแสดงระดับสติปัญญาขึ้นกับปัจจัยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เชื้อชาติของคนในประเทศนั้น ไปจนถึงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์

แต่เรื่องหนึ่งที่มักสรุปตรงกันก็คือ ประเทศในภูมิภาคเขตร้อนวัดระดับไอคิวแล้วได้ค่าต่ำกว่า !

ศาสตราจารย์ริชาร์ด ลินน์ แห่งมหาวิทยาลัยฮัลสเตอร์ในไอร์แลนด์เหนือ ถึงกับตั้งสมมุติฐานว่า อากาศที่หนาวเย็นกว่าอาจจะมีส่วนช่วยเพิ่มปริมาตรความจุสมอง แต่ปัจจุบันรู้กันแล้วว่า ไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างความจุสมองกับระดับไอคิว  เหตุผลในปัจจุบันจึงเป็นว่า อากาศที่ร้อนกว่าทำให้ต้องนำพลังงานมาใช้กับร่างกายมากขึ้น และยังส่งผลให้เกิดความเครียดมากขึ้นอีกด้วย

จึงอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อระดับไอคิว

อย่างไรก็ตามสีผิวกับระดับสติปัญญาไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน

ผลที่เว็บไซต์นี้แสดงได้มาจากการศึกษาระดับนานาชาติจำนวนเก้าครั้งระหว่างช่วง ค.ศ. ๑๙๙๐-๒๐๑๐ โดยแสดงผลของประเทศหรือดินแดนในอาณัติรวม ๑๑๒ แห่ง ผลที่ได้เรียงลำดับสูงสุด ๑๐ อันดับแรกคือ (ตัวเลขในวงเล็บของระดับไอคิวและค่าเฉลี่ยไอคิวของทุกประเทศคือ ๙๘) : ฮ่องกง (๑๐๘), สิงคโปร์ (๑๐๘), เกาหลีใต้ (๑๐๖), ไต้หวัน (๑๐๖), ญี่ปุ่น (๑๐๕), จีน (๑๐๔), เนเธอร์แลนด์ (๑๐๒), เกาหลีเหนือ (๑๐๒), สวิตเซอร์แลนด์ (๑๐๒) ส่วนอันดับ ๑๐ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ แคนาดา มาเก๊า และฟินแลนด์ (๑๐๑)

เรื่องที่น่าสงสัยก็คือ ไปเอาข้อมูลจากเกาหลีเหนือมาได้อย่างไร !

สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับ ๕๐ (ไอคิว ๘๙ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) และหากเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน ก็จะได้ดังนี้ อันดับ ๔๐ เวียดนาม (๙๔), อันดับ ๕๔ บรูไนและกัมพูชา (๘๘), อันดับ ๕๘ ฟิลิปปินส์ (๘๖) และอันดับ ๖๕ อินโดนีเซีย (๖๔)

ข้อมูลชุดที่ ๒ มาจากเว็บไซต์ Brain stats ครอบคลุม ๙๔ ประเทศ

ผล ๑๐ อันดับแรก (ตัวเลขในวงเล็บคือไอคิว) ได้แก่ ฮ่องกง (๑๐๘), สิงคโปร์ (๑๐๘), เกาหลีใต้ (๑๐๖), ญี่ปุ่น (๑๐๕), จีน (๑๐๕), ไต้หวัน (๑๐๔), อิตาลี (๑๐๒), ไอซ์แลนด์ (๑๐๑), มองโกเลีย (๑๐๑) และสวิตเซอร์แลนด์ (๑๐๑) จะเห็นได้ว่าข้อมูลสองชุดนี้ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน นำโด่งมาไม่ต่างกัน  อีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายกันก็คือ ข้อมูลทั้งสองชุดแสดงความเชื่อมโยงระหว่างระดับความแตกต่างกันของรายได้ของประเทศกับระดับความแตกต่างกันของไอคิวเฉลี่ยของคนทั้งประเทศด้วย

แต่การตีความแบบนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากเกินกว่าจะสรุปเช่นนี้ได้ตรง ๆ

สำหรับข้อมูลจาก Brainstats ประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๖๐ มีระดับไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ ๙๑ ซึ่งเป็นลำดับที่แย่กว่าของ Worlddata เสียอีก โดยอยู่ตามหลังเวียดนาม (อันดับ ๕๕ ไอคิว ๙๔) แต่เท่ากับบรูไนและกัมพูชา แต่ดีกว่าอินโดนีเซียกับเมียนมา (อันดับ ๘๑ ไอคิว ๘๗) และฟิลิปปินส์ (อันดับ ๙๒ ไอคิว ๘๖)
Image
จะเห็นว่าตำแหน่งของประเทศไทยอยู่ราว ๆ กลางกระดาน จนถึงเอียงมาทางท้ายบัญชีรายชื่อ

คราวนี้มาดูข้อมูลชุดสุดท้ายกัน ชุดนี้มาจากเว็บไซต์ World Population Review สรุปจากงานวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๑๙ โดยนักวิจัยคือ ริชาร์ด ลินน์ และ เดวิด เบ็กเคอร์ จากสถาบันอัลสเตอร์

ผลที่ได้เรียงลำดับ ๑๐ อันดับแรก (ตัวเลขในวงเล็บคือไอคิว) ได้แก่ ญี่ปุ่น (๑๐๖.๔๙), ไต้หวัน (๑๐๖.๔๗), สิงคโปร์ (๑๐๕.๘๙), ฮ่องกง (๑๐๕.๓๗), จีน (๑๐๔.๑๐), เกาหลีใต้ (๑๐๒.๓๕), เบลารุส (๑๐๑.๖๐), ฟินแลนด์ (๑๐๑.๒๐), ลิกเตนสไตน์ (๑๐๑.๒๐) และเนเธอร์-แลนด์ ซึ่งครองอันดับร่วมกับเยอรมนี (๑๐๐.๗๔)

สำหรับข้อมูลชุดนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๖๔ โดยมีค่าเฉลี่ยไอคิวอยู่ที่ ๘๘.๘๗ ตามหลังเวียดนาม (อันดับ ๖๐ ไอคิว ๘๙.๕๓) แต่เหนือกว่าอันดับ ๗๓ ร่วมคือมาเลเซียและบรูไน (ไอคิว ๘๗.๕๘) อันดับ ๑๑๑ ฟิลิปปินส์ (ไอคิว ๘๑.๖๔) และอันดับ ๑๑๔ ลาว (ไอคิว ๘๐.๙๙)

ข้อมูลชุดนี้ก็ไม่ต่างจากข้อมูลอีกสองชุดก่อนหน้าที่โดนวิพากษ์เรื่องกระบวนการจัดทำ จะสังเกตได้ว่ามีตัวเลขในกรณีระบุค่าทศนิยมจากการคำนวณถึงสองตำแหน่ง

ข้อสังเกตก็คือ ตัวเลขไอคิวเฉลี่ยที่ได้อาจสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการศึกษาและทรัพยากรที่ประเทศหรือดินแดนนั้นทุ่มให้ประชาชนของตนเอง

ข้อสรุปอีกอย่างก็คือ มีช่วงของค่าเฉลี่ยไอคิวที่ “กว้างมาก” สำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เรื่องนี้นอกจากแสดงให้เห็นความแตกต่างของสติปัญญาแล้ว อาจสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางการศึกษาทางอ้อมได้เช่นกัน เพราะประเทศที่มีฐานะยากจนและด้อยพัฒนามักจะได้คะแนนไอคิวต่ำตามไปด้วย

หากนำข้อมูลทั้งสามชุดมาเทียบเคียงกันเพื่อหาข้อสรุป สิ่งที่สอดคล้องกันก็คือ หากอาศัยการวัดไอคิวเป็นตัวชี้วัด “ความฉลาด” ของคนในแต่ละชาติหรือแต่ละประเทศแล้ว ไม่ว่าจะทำการทดลองโดยใคร หรือใช้รายละเอียดวิธีการวัดและประเมินไอคิวแบบใด ผลลัพธ์ที่ได้คือ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และจีน ต่างก็ล้วนติดอันดับต้น ๆ ของตารางเสมอ
แต่ไม่แน่ว่าอาจแปลความหมายแบบอื่นได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ในประเทศเหล่านี้ระบบการศึกษาสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันมาก ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่อย่างมาก เช่น ใช้ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจหรือชนชั้นได้เป็นอย่างดี และทำให้คนที่เข้าร่วมการสำรวจพยายามทำคะแนนให้ได้สูง ๆ ตามความเคยชินที่เป็นมาตลอดชีวิต
Image
แต่ไม่แน่ว่าอาจแปลความหมายแบบอื่นได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ในประเทศเหล่านี้ระบบการศึกษาสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันมาก ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่อย่างมาก เช่น ใช้ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจหรือชนชั้นได้เป็นอย่างดีและทำให้คนที่เข้าร่วมการสำรวจพยายามทำคะแนนให้ได้สูง ๆ ตามความเคยชินที่เป็นมาตลอดชีวิต

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่ก็หมดไปกับค่าบุคลากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็เป็นดังที่เห็น ซึ่งดูจะไม่มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไปมหาศาลสักเท่าไร

ยังไม่นับเรื่องช่องว่างทางการศึกษา ความแตกต่างของคุณภาพโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนรัฐชื่อดังที่มีการแข่งขันสูงซึ่งคนมีฐานะนิยมส่งลูกหลานเข้าเรียน เทียบกับโรงเรียนรัฐทั่วไปที่ทำอย่างไรก็ไม่เท่ากัน มีแต่จะถอยห่างออกจากกันมากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตามยังมีวิธีการวัดความฉลาดหรือสติปัญญาแบบอื่น แม้ว่าจะไม่ตรงไปตรงมาและไม่ได้รับความนิยมมากเท่า

ตัวอย่างการวัดแบบอื่น เช่น การวัดผลการศึกษาด้วยแบบทดสอบของ PISA ที่เน้นการวัดความสามารถในการอ่าน การทำแบบทดสอบคณิตศาสตร์ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงทักษะในการแก้โจทย์ปัญหาหรือความท้าทายในชีวิตประจำวันของเด็กอายุ ๑๕ ปี

อีกวิธีการหนึ่งได้แก่ การใช้ดัชนีหลักเชาวน์ปัญญา (Intelligence Capital Index, ICI) ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ แต่สมมุติฐานของผู้คิดวิธีวัดแบบนี้ขึ้นก็คือเป็นแบบทดสอบที่เหมาะสำหรับใช้วัดความสามารถของสังคมหรือระบบการศึกษาที่จะหล่อเลี้ยงให้เยาวชนเกิดความคิดใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

เมื่อใช้วิธี ICI ประเมิน ประเทศที่ได้อันดับ ๑ คือสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศไทยก็ยังคงอยู่ที่กลางตาราง คือได้ลำดับที่ ๖๗ จากทั้งหมด ๑๒๘ ประเทศ คนไทยก็ยังคงเป็นค่าเฉลี่ยกลาง ๆ ไม่ฉลาด ไม่โง่ (หรืออาจจะค่อนไปด้านหลังมากสักนิด) อยู่นั่นเอง

สรุปว่าการวัดไอคิวเฉลี่ยของคนในประเทศ อาจเป็นวิธีหนึ่งในการวัดระดับสติปัญญาของคนในชาติใดชาติหนึ่งได้ และอาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ แต่นี่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดและยังมีช่องโหว่อยู่มาก

อันที่จริงมนุษย์อาจจะฉลาดโดยเฉลี่ย เท่า ๆ กันทุกเชื้อชาติ ทุกประเทศก็เป็นได้ เพียงแต่ “ไม้บรรทัดไอคิว” วัดได้แต่ไอคิวตามระบบการศึกษาหลักที่ใช้กันอยู่เท่านั้น เหตุนี้แทนที่จะสะท้อนให้เห็นถึงระดับสติปัญญา กลับจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศแทน
คำถามที่สำคัญกว่าคนชาติใดฉลาดกว่าคนชาติอื่น ๆ ทั้งหมดน่าจะได้แก่เรื่องว่าจะนำสติปัญญาเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงคุณภาพของคนทั้งโลกได้อย่างไรต่างหาก