Image
10 เกร็ด
"เสด็จเตี่ย" EP.01
๑๐๐ ปี วันสิ้นพระชนม์ 
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
๒๔๖๖-๒๕๖๖
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
ผมถือแบบฟอร์มขออนุญาตค้นคว้า ที่กรอกรายชื่อหนังสือพร้อมทั้งเลขทะเบียนและลงลายมือชื่อ ไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ที่นั่งตรงเคาน์เตอร์ แล้วกลับมานั่งรอที่โต๊ะอ่านหนังสือ

ชายร่างใหญ่ในชุดสีกากีคนนั้นชำเลืองดูแผ่นกระดาษใบเล็กด้วยหางตา ดึงลิ้นชักพร้อมล้วงหยิบกุญแจพวงเบ้อเริ่มออกมา ลุกขึ้นเดินตรงไปยังตู้สูงจดเพดานใบหนึ่งในจำนวนนับสิบที่ตั้งเรียงชิดผนัง ล้อมรอบเหมือนเป็นฝาสี่ด้านของห้องสมุด บรรจงไขกุญแจ แง้มบานกระจกกรุไม้สลักลายพรรณพฤกษาแบบอาร์ตนูโว แล้วเอื้อมหยิบหนังสือปกแข็งเล่มบางๆ เล่มหนึ่งลงมาจากชั้น เดินถือกลับมาส่งให้ผม
...
ตอนสายวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ หลังจากนั่งรถเมล์หลายทอด ในที่สุดผมก็มาถึงหอสมุดดำรงราชานุภาพ ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ

ตอนนั้นผมกำลังค้นคว้าเรื่องกรมหลวงชุมพรฯ ตามที่ได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี และที่ต้องไปถึงหอสมุดดำรงราชานุภาพ ก็เพื่อขอดูหนังสือจดหมายเหตุเรื่องเซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ที่ระลึกในงานพระเมรุท้องสนามหลวงของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๖๖

หอสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวังวรดิศ อดีตที่ประทับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งหนังสือส่วนใหญ่ล้วนมีที่มาจากกรุส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์-โบราณคดีไทย อีกทั้งยังทรงเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำหนังสืองานศพเล่มนี้ ในนามหอพระสมุดวชิรญาณ

ปัจจุบัน แค่มีโทรศัพท์มือถือกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตใคร ๆ ก็หาหนังสือเล่มนั้นได้ง่ายดาย เพราะหลายหน่วยงานนำมาสแกนแล้วเผยแพร่ออนไลน์ในรูปแบบไฟล์ .pdf จะนั่งอ่านอยู่ที่บ้าน หรือในร้านกาแฟที่ไหนสักแห่ง แม้แต่จะดาวน์โหลดไฟล์มาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวก็ทำได้

แต่เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว เทคโนโลยีดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกระดับนี้ยังมาไม่ถึง

การค้นคว้าในครั้งนั้นของผมมีปลายทางคือต้นฉบับบทความลงพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๒๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๖ ว่าด้วยพระประวัติของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ปี ๒๔๒๓-๒๔๖๖)

สิ่งที่ต้องการคือให้ผู้อ่านได้ “ทำความรู้จัก” กับกรมหลวงชุมพรฯ โดยผมทดลองเล่าเรื่องทั้งหมดเป็น “ระนาบ” ซ้อนกันอยู่สามชั้น

ภาคต้นหรือชั้นบนสุด คือพระประวัติฉบับมาตรฐานที่รับรู้กันทั่วไป ในฐานะบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในหน้าประวัติ-ศาสตร์ ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และมีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างกองทัพเรือสมัยใหม่ขึ้นในสยาม

ชั้นถัดมา คือภาคกลาง อันเป็น “ระหว่างบรรทัด” ของพระประวัติชั้นแรก เป็นการทบทวน ตั้งคำถาม และทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพระชนมชีพ
Image
จนถึงภาคปลาย เป็นชั้นสุดท้าย ว่าด้วย “ชีวิตหลังความตาย” ของกรมหลวงชุมพรฯ ที่ทรง “เกิดใหม่” ซ้ำอีกครั้งในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือเป็น “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ”

จากบทความเรื่องดังกล่าว ต่อมาปรับขยายขึ้นเป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเล่มบาง ๆ (๑๕๒ หน้า) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี เมื่อปี ๒๕๔๙ ใช้ชื่อเรื่องยาวเหยียดว่าเสด็จเตี่ย (พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) “เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น” ซึ่งตัดตอนมาจากคำร้องบทเพลงพระนิพนธ์ “เกิดมาทั้งที” (หรือ “เดินหน้า”) ของกรมหลวงชุมพรฯ นั่นเอง

ล่วงมาจนถึงทศวรรษ ๒๕๖๐ จากที่ผมเคยนึกว่าหากมีโอกาสอยากจะปรับปรุงเนื้อหาของหนังสือให้ทันสมัยขึ้นเนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมามีข้อมูลใหม่เรื่องกรมหลวงชุมพรฯ ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาอีกมากมาย แต่เมื่อลงมือทำเข้าจริง ๆ กลับพบว่าลำพังการ “ปรับ” เนื้อหาคงไม่เพียงพอ ผมจึงตัดสินใจ “เปลี่ยน” ด้วยการเรียบเรียงขึ้นใหม่ทั้งหมด

เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนสลับลำดับวิธีการเล่าเรื่องเสียใหม่ เป็นการเล่าพระประวัติไปตามลำดับเวลา โดยแบ่งเป็นองก์และฉาก (แบบละครเวที) พร้อมกับขยายมุมมอง คือไม่ใช่เพียงการทำความรู้จักกรมหลวงชุมพรฯ เท่านั้น แต่ยังพยายามทำความเข้าใจ “อดีต” ผ่านบริบททางสังคมและการเมืองอันเป็น “โลก” ที่ล้อมรอบพระองค์อีกด้วย

เมื่อทำทุกอย่างดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ได้มาไม่อาจเรียกว่า “ฉบับปรับปรุง” ของ เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็นได้อีกต่อไป ทว่าต้องนับเป็นหนังสือเล่มใหม่ อันมีเล่มเดิมเป็นจุดตั้งต้น ผมจึงตัดสินใจตั้งชื่อหนังสือเรื่องใหม่ ให้สืบเนื่องกับเล่มเดิม โดยหยิบยกคำร้องบทเพลงพระนิพนธ์ “เดินหน้า” ของกรมหลวงชุมพรฯ เช่นเดิม แต่คราวนี้เลือกอีกท่อนหนึ่งแทน

หนังสือ ให้โลกทั้งหลายเขาลือ : “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ สำเร็จเป็นรูปเล่มขนาดหนาหนัก (๓๖๘ หน้า) ช่วงต้นปี ๒๕๖๓ ขณะเมื่อโควิด-๑๙ เริ่มระบาดระลอกแรกในเมืองไทย

ทันทีที่หนังสือเผยแพร่ออกไป ผมได้รับความคิดเห็น คำวิจารณ์ ข้อท้วงติง และข้อมูลเพิ่มเติมกลับมาอีกมากมาย ด้วยความเมตตาทั้งจากผู้อ่านและท่านผู้มีอุปการคุณมากหน้าหลายตาใช่แต่เท่านั้น มาถึงบัดนี้ เวลาที่ล่วงเลยมาอีก ๓ ปี ยังทำให้ผมพบข้อมูลใหม่ ๆ อันเนื่องด้วย “เสด็จเตี่ย”
กรมหลวงชุมพรฯ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกหลายต่อหลายเรื่อง

ดังนั้น ในโอกาสครบ ๑ ศตวรรษ นับแต่วันสิ้นพระชนม์ของ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ จึงน่าจะเป็นวาระอันเหมาะควร ที่ผมจะได้นำเสนอข้อมูลใหม่ เพิ่มเติมขึ้นจากบทความและหนังสือเล่มที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นข่าวคราวของเสด็จในกรมฯ จากหน้าหนังสือพิมพ์ร่วมยุค ที่ปัจจุบันมีให้บริการในรูปแบบออนไลน์ ทั้งจากหอสมุดแห่งชาติของไทยห้องสมุดสยามสมาคม และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษจากหอสมุดแห่งชาติของสิงคโปร์  หรือหนังสือบางเล่มที่เคยหาอ่านได้ยาก แต่ปัจจุบันค้นคว้าได้ง่ายดายจากโลกออนไลน์

ในที่นี้ ผมจึงเลือกหยิบยก “ข้อมูลใหม่” บางส่วนมานำเสนอเป็นจำนวน ๑๐ เรื่องก่อน ตามแนวทางของคุณเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติด้านงานเขียนสารคดีผู้เสนอกรอบการทำงานสารคดีที่ว่าควรต้อง “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า” อยู่เสมอเมื่อมีโอกาส
“ตึกยาว” ของสวนกุหลาบวิทยาลัย หรือ “โรงเรียนสวนกุหลาบ” สถานศึกษาที่มีประวัติ สืบเนื่องมาจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ อันมีกรมหลวงชุมพรฯ เป็นนักเรียนเก่าด้วยพระองค์หนึ่ง
Image
เวลา ๑๕.๕๗ น. ของวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด จากสกุลบุนนาค
ข้อมูลพระประวัติพระองค์เจ้าอาภากรฯ เมื่อทรงพระเยาว์มีไม่มากนัก สันนิษฐานเพิ่มเติมจากบริบทแวดล้อมได้ว่าพระองค์ทรงเติบโตขึ้นภายในพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง ท่ามกลาง “เจ้าพี่เจ้าน้อง” จำนวนมาก

ยังมีของเล่นส่วนพระองค์สมัยทรงพระเยาว์ซึ่งตกทอดมาในราชสกุล สำหรับ “เล่นหม้อข้าวหม้อแกง” เป็นภาชนะต่าง ๆ ย่อส่วน เช่น ชามฝาขนาดต่าง ๆ พร้อมถาดและช้อนอันเล็ก ๆ ทั้งหมดทำด้วยเงิน

ข้อมูลเมื่อทรงพระเยาว์อีกเรื่องหนึ่งคือ พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงแพ้อาหารที่ทำจากเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูทุกชนิด ขณะที่โลกการครัวของสยามใช้แต่น้ำมันหมูเป็นหลักกล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับต้องทรงกำชับเจ้าจอมมารดาโหมดเป็นพิเศษ ว่าให้งดอาหารที่ทำจากหมู รวมถึงหากมีอาหารชนิดใดที่ต้องทอดหรือใช้น้ำมัน ให้ใช้น้ำมันพืชคือ “น้ำมันถั่ว” แทน

ใน จดหมายเหตุรายวัน หรือสมุดไดอะรีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ต่อมาคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ปี ๒๔๒๑-๒๔๓๗) พระชันษา ๗ ปี เล่าว่าได้รับบัตรเชิญงานกินเลี้ยง เย็นวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๒๘ ระบุพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ (ต่อมาคือสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถปี ๒๔๒๖-๒๔๖๓) พระชันษา ๒ ปี เป็นเจ้าภาพ และหนึ่งในแขกรับเชิญ ๑๑ พระองค์ คือพระองค์เจ้าอาภากรฯพระชันษา ๕ ปี

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศผู้ทรงมีพระชนมายุมากที่สุดในงาน ทรงบันทึกว่าเป็นงาน “กินโต๊ะ” ที่ “สนุกเป็นที่สุด”

ไม่นานหลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าอาภากรฯ เข้าศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

โรงเรียนแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบในเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ในรัชกาลที่ ๔ ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เพื่อฝึกหัดเจ้านายและบุตรหลานขุนนางมาเป็นทหารมหาดเล็ก โดยให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในกาลต่อมา)

พระองค์เจ้าดิศวรกุมารฯ ทรงเล่าไว้ว่า ในปี ๒๔๒๗ เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ ไปพระราชทานรางวัลนักเรียนในงานประจำปีที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงพอพระราชหฤทัยในความเจริญของโรงเรียน จึงมีพระราช-ดำรัสแก่พระองค์เจ้าดิศวรกุมารว่า มีพระเจ้าลูกยาเธอที่พระชันษาถึงวัยสมควรจะได้เข้าโรงเรียนสี่พระองค์ ได้แก่พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ขอให้รับเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบด้วย ทว่าพระองค์เจ้าดิศวรกุมารทรงเห็นว่าสมควรเปิดชั้นเรียนให้พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์เรียนรวมกัน โดยมีครูคนหนึ่งแยกต่างหากโดยเฉพาะ
Image
สวนกุหลาบวิทยาลัย หรือ “โรงเรียนสวนกุหลาบ” คือสถานศึกษาที่มีประวัติสืบเนื่องมาจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
“เวลาข้าพเจ้าไปก็แวะไปที่ห้องเรียนของพระเจ้าลูกเธอด้วยเสมอ ในไม่ช้าก็ตระหนักใจว่าคิดถูก ทั้งที่จัดให้พระเจ้าลูกเธอเรียนต่างหากและที่ได้เลือกมหาปั้นมาเป็นครูด้วย สังเกตเห็นเรียนรู้รวดเร็วเพราะเรียนด้วยกันแต่ ๔ พระองค์ ฝ่ายมหาปั้นก็ฉลาดในการสอนทั้งวางตัวต่อพระเจ้าลูกเธอเหมาะดีคือไม่เหลาะแหละอย่างว่า ‘ประจบลูกศิษย์’ แต่ก็ไม่วางตัวข่มเกินไป พระเจ้าลูกเธอทรงเคารพยำเกรงและโปรดมหาปั้นสนิทสนมหมดทุกพระองค์”
พระองค์เจ้าดิศวรกุมารทรงบันทึกไว้ด้วยว่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เสด็จไปเข้าเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกพระองค์ จึงได้ทรงเป็นลูกศิษย์ของมหาปั้นเช่นเดียวกัน

มหาปั้นผู้นี้ ภายหลังคือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม ปี ๒๔๐๕-๒๔๘๑)

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีเจ้านายเล็ก ๆ อีกพระองค์หนึ่งทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้แก่พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ, ปี ๒๔๑๙-๒๔๘๘ หรือที่รู้จักกันดีจากพระนามแฝง น.ม.ส. โอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ “วังหน้า” พระองค์สุดท้าย

เรื่องเล่าของพระองค์เจ้ารัชนีฯ ในฐานะบุคคลร่วมสมัยผู้มีสถานะใกล้เคียงกัน อาจช่วยเสริมเติมต่อภาพชีวิตประจำวันของเจ้านายเล็ก ๆ เช่นพระองค์เจ้าอาภากรฯ ได้ด้วย

อย่างเรื่องการไว้จุกของเจ้านายรุ่นเด็ก ซึ่งจะต้องคอยหมั่นดูแลและเกล้าจุกใหม่กันทุกวัน พระองค์เจ้ารัชนีฯ ทรงเล่าว่าเมื่อครั้งทรงเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
Image
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
“เรามีพนักงานคอยเกล้าจุกทุกวัน ยายนั่นแกมีการเกล้าจุกเป็นอาชีวะ หรือไม่อาชีวะแท้ก็จวนเป็นเพราะแกไม่มีทางได้อย่างอื่นเป็นแน่ ทุก ๆ วันพอเวลาสายหน่อย แกก็ออกมาจากในวัง มีหีบเครื่องใช้คือหวีขี้ผึ้ง น้ำมันมาพร้อม แกถือหีบเดินเร่ไปในโรงเรียน เวลาหยุดเรียน พบเด็กคนไหนจุกยุ่งแกก็จับตัวเกล้าให้...”
อีกเรื่องหนึ่งที่พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสทรงบันทึกไว้ คือเจ้า
นายระดับพระราชโอรสมักมีพระพี่เลี้ยงผู้ชาย รับหน้าที่ “ราชพาหนะ” ส่วนพระองค์ เนื่องจากเจ้านายย่อมไม่ทรงดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะทางไกล ๆ เช่นระหว่างโรงเรียนกับวังที่ประทับ จะเสด็จโดยขี่คอพระพี่เลี้ยงเท่านั้น

สิ่งนี้คงถือปฏิบัติกันทั่วไปในหมู่เจ้านายเล็ก ๆ ที่เป็นผู้ชายเวลานั้น

พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสี่พระองค์ที่ทรงศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรป เมื่อปี ๒๔๒๘ ส่วนพระองค์เจ้าอาภากรฯ เพิ่งมีพระชันษา ๖ ปี จึงยังมิได้เสด็จไปในคราวเดียวกัน

โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบคือรากเหง้าของสวนกุหลาบวิทยาลัยในเวลาต่อมา จึงอาจนับว่าพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็น “นักเรียนเก่าสวนกุหลาบ” หรือ OSK ด้วยพระองค์หนึ่ง

เมื่อมีพระชันษามากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมายให้พระเจ้าลูกยาเธอผลัดเปลี่ยนกันเสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จัดขึ้นต่อเนื่องกันตลอดทั้งปี ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง อันอาจถือเป็นการฝึกฝนเรียนรู้วิชาการ “เป็นเจ้าเป็นนาย”

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และ ราชกิจจานุเบกษา ช่วงปี ๒๔๓๒-๒๔๓๕ ให้รายละเอียดว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าอาภากรฯ ขณะช่วงพระชันษา ๙-๑๒ ปี เสด็จแทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ หลายครั้ง

ส่วนใหญ่เป็นการเสด็จไปจุดเทียนเครื่องนมัสการและเลี้ยงพระเช้า ไม่เช่นนั้นก็อาจโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้จุดดอกไม้ไฟฉลองในเวลากลางคืน ต่อท้ายงานพระราชพิธีบ้าง รวมถึงเสด็จแทนพระองค์ในพระราชพิธีพืชมงคล
Image
เจ้าจอมมารดาโหมด
Image
ช่วงปี ๒๔๓๔-๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอม-เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดปรานการเสด็จประพาสเกาะสีชัง (ปัจจุบันเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดชลบุรี) เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยข้อแนะนำทางการแพทย์สมัยนั้นว่าการไป “ตากอากาศ” คือได้รับอากาศสดชื่นจากทะเล เป็นเครื่องบำรุงร่างกายอย่างวิเศษ รวมถึงอาจบำบัดโรคภัยได้เหมือนกับยาชนิดหนึ่ง  นำไปสู่การสร้างพระราชฐานขึ้นบนเกาะสีชัง ทำให้ในช่วงดังกล่าว เมื่อเสด็จประพาสครั้งใด ราชสำนักทั้งหมดจึงย้ายออกไปยังเกาะสีชังครั้งละนาน ๆ พระองค์เจ้าอาภากรฯ จึงได้ตามเสด็จไปยังเกาะสีชังด้วย และทรงมีส่วนร่วมในกิจกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นบนเกาะสีชัง เช่นการไหว้ครูรำอาวุธในเดือนสิงหาคม ๒๔๓๔
ตามโบราณราชประเพณี ผู้เป็นพระราชกุมารย่อมต้องฝึกหัดเพลงอาวุธ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในรัชกาลที่ ๔ ทรงศึกษาวิชามวยปล้ำและกระบี่กระบองกับหลวงมลโยธานุโยค (รุ่ง) เจ้ากรมทนายเลือกหอกซ้าย จากนั้นในปี ๒๔๐๙ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสแปดพระองค์แต่งพระองค์อย่างพระราชกุมาร ทรงรำกระบี่ กระบอง ง้าว ดาบสองมือ เป็นคู่ ๆ ที่หน้าพระอุโบสถเป็นการสมโภช

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังทรงยึดถือตามคติเดิม จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสฝึกหัดวิชาเพลงอาวุธตามโบราณราชประเพณีจนพอมีความชำนาญแล้ว เมื่อถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๓๔ ระหว่างเสด็จประพาสเกาะสีชัง โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีไหว้ครูขึ้นที่พลับพลารับแขกเมืองบนเกาะสีชัง เมื่อเวลา ๑๐ นาฬิกา ดังมีรายละเอียดใน ราชกิจจานุเบกษา ว่าให้
“ตั้งเชือกบาศแลขอช้างลงรักปิดทองแลอาวุธรำต่าง ๆ ซึ่งสำหรับทุก ๆ พระองค์ คือ ดาบญี่ปุ่น ง้าวดาบสองมือ ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงหัดกระบี่ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร ทรงหัดคู่ ๑ กระบอง พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร คู่ ๑ ง้าว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ คู่ ๑ ดาบสองมือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเพญพัฒนพงษ์ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ คู่ ๑”
“สะพานอัษฎางค์” อันเป็นส่วนหนึ่งของพระจุฑาธุชราชสถาน พระราชวังยุครัชกาลที่ ๕ บนเกาะสีชังในอ่าวไทย
ได้รับการบูรณะจนแข็งแรงสวยงาม และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม  นอกจากสะพานอัษฎางค์ ที่ตั้งนามตามพระนามสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (กรมหลวงนครราชสีมาฯ) สถานที่หลายแห่งในเกาะสีชังต่างได้รับพระราชทานนามตามพระบรมวงศานุวงศ์ขณะนั้น เช่นที่เคยมีช่องเขาชื่อว่า “ช่องอาภากร” ตามพระนามพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ด้วยราชกิจจานุเบกษา กล่าวว่าอยู่ตรง “หว่างเขายอดพระจุลจอมเกล้า แลยอดอัษฎางค์” แม้ปัจจุบันอาจลืมเลือนกันไปหมดแล้ว แต่ทุกวันนี้บนเกาะสีชังยังมีถนนอาภากรเป็นถนนสายสำคัญเส้นหนึ่งอยู่

สรุปความคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (พระชันษา ๑๓ ปี) ทรงหัดดาบญี่ปุ่น ง้าว และดาบสองมือ นอกนั้นทรงฝึกหัดวิชาเพลงอาวุธต่างกันไปเป็นคู่ ๆ คือกระบี่ กระบอง ง้าว และดาบสองมือ รวมสี่คู่ ได้แก่

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ (พระชันษา ๗ ปี) และเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร (พระชันษา ๗ ปี) ทรงหัดกระบี่

พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (พระชันษา ๑๐ ปี) และพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (พระชันษา ๘ ปี) ทรงหัดกระบอง

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระชันษา ๑๐ ปี) และเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ (พระชันษา ๑๐ ปี) ทรงหัดง้าว

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ (พระชันษา ๙ ปี) และพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (พระชันษา ๗ ปี) ทรงหัดดาบสองมือ

โดยมีหลวงไชยโชคชกชนะ (อุ่น) เจ้ากรมทนายเลือกหอกขวา เป็นผู้ถวายความรู้ในวิชาเพลงอาวุธเหล่านี้

พิธีไหว้ครูเริ่มด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พลับพลารับแขกเมือง โปรดเกล้าฯ ให้ยกสำรับคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ ณ วัดเกาะสีชัง แล้วทรงจุดเทียนชนวนพระราชทาน  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงจุดเทียนบายศรีเครื่องกระยาบวช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ ทรงจุดเทียนเครื่องสังเวย เจ้าพนักงานประโคมสาธุการ หลวงไชยโชค-ชกชนะกล่าวคำไหว้ครู แล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงกล่าวคำนมัสการ มีความตอนหนึ่งว่า
“ข้าขอคำนับน้อม มะนะเพื่อจะบูชา ครูผู้ชำนาญอาวุธว่องทำนองผจญ เจนดาบยี่ปุ่นหัด มีดทิ้งซัดไม่ผิดคน ง้าวงอนร่อนกลางรณ โรมรุกรับได้ฉับเฉียว อีกดาบสองมือแม่น ซ้ายขวาแน่นประดุจเดียว ฟาดฉะย่อมประเปรียวประทะสู้ไม่ยู่หยอน บอกศิษย์ได้ศึกษา สืบกันมานิรันดร จนข้าได้ฝึกสอน พอทราบบ้างอย่างโบราณ ฯลฯ”
จบแล้ว พระราชโอรสองค์อื่น ๆ ผลัดกันกล่าวคำนมัสการซึ่งแต่งขึ้นใหม่ต่าง ๆ กัน ตามลำดับพระชันษา หลวงไชยโชคชกชนะเจิมอาวุธต่าง ๆ ทุกพระองค์ก็ทรงเจิมด้วย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิมพระราชทานทุกพระองค์  โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระราชทานเครื่องกำนลครู อันได้แก่ ขันครอบล้างหน้า ผ้าขาวเช็ดหน้านุ่งห่ม และเงินไหว้ครูแก่หลวงไชยโชคชกชนะ  หลวงไชยโชคชกชนะถวายเจิมพระหัตถ์พระบาท และถวายเครื่องอาวุธที่ทรงหัด สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกยาเธอประทานของไหว้ครูแก่หลวงไชยโชคชกชนะทีละสำรับตามลำดับ หลวงไชยโชคชกชนะได้ถวายเจิมพระหัตถ์พระบาท และถวายอาวุธที่ทรงหัด จนครบทุกพระองค์ 

เสร็จแล้วหลวงไชยโชคชกชนะรำท่ามวยและท่าอาวุธต่าง ๆพอสังเขป แล้วพระราชโอรสซึ่งทรงหัดกระบี่ กระบอง ง้าว ดาบสองมือทรงรำตลอดเพลงจนครบทั้งสี่คู่ ครั้นเวลาเที่ยงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น

จนอีกหลายสิบปีต่อมา เจ้าจอมมารดาโหมดยังเก็บฉลองพระองค์ชุดตีกระบองของพระองค์เจ้าอาภากรฯ ไว้

เล่ากันว่าท่านมักชี้ให้ใคร ๆ ดูรอยขาดที่เชิงสนับเพลา (กางเกง) พร้อมกับอธิบายว่าเกิดจากกระบองของ “คู่ปรับ” คือพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (ภายหลังคือกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ปี ๒๔๒๕-๒๔๗๙)
Image
ต้นเดือนมกราคม ๒๔๓๕ (หากนับตามปฏิทินปัจจุบันคือมกราคม ๒๔๓๖ แต่ขณะนั้นยังขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน) มีพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) พระองค์เจ้าอาภากรฯ ต่อท้ายพระราชพิธีโสกันต์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งต่อไปข้างหน้าจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์มีพระชันษาใกล้เคียงกันมาก พระองค์เจ้าอาภากรฯ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ ขณะที่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ หรืออีกเพียง ๑๓ วันให้หลัง

หกเดือนหลังพระราชพิธีโสกันต์ ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๓๖ เกิด “วิกฤตการณ์ปากน้ำ” หรือ “กรณี ร.ศ. ๑๑๒” เมื่อเรือรบของฝรั่งเศสสองลำละเมิดสนธิสัญญา ล่วงล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เกิดปะทะกับเรือรบและป้อมปืนของสยามที่ปากน้ำ ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหายรวมถึงมีผู้เสียชีวิต แต่ในที่สุดเรือรบฝรั่งเศสก็ตีฝ่าแล่นทวนน้ำขึ้นไปทอดสมอถึงกรุงเทพฯ ได้

จากเหตุการณ์นี้ ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้สยามยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (คือส่วนใหญ่ของลาว) ให้แก่ฝรั่งเศส และชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน ๓ ล้านฟรังก์ ซึ่งด้วยแสนยานุภาพของฝรั่งเศส สยามย่อมไม่อาจปฏิเสธ
Image
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเครื่องต้นในพระราชพิธีโสกันต์
ก่อนหน้านี้มีพระเจ้าลูกยาเธอสี่พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงศึกษาในทวีปยุโรปอยู่ก่อนแล้ว  แต่หลังจาก “วิกฤตการณ์ปากน้ำ” รัชกาลที่ ๕ ทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้ส่งพระเจ้าลูกยาเธออีกสองพระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพ-ทวาราวดี พระชันษา ๑๒ ปี และพระองค์เจ้าอาภากร-เกียรติวงศ์ พระชันษา ๑๓ ปี ไปศึกษาในทวีปยุโรป โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้ศึกษาวิชาการทหารเรือโดยเฉพาะ

ระยะแรกทั้งสองพระองค์ทรงพำนักศึกษาวิชาเบื้องต้นด้วยกัน แต่แล้วในเดือนมกราคม ๒๔๓๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ประชวรแล้วเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน เมื่อมีพระชันษาเพียง ๑๗ ปี  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธกรมขุนเทพทวาราวดี ซึ่งเพิ่งเสด็จมาประทับในประเทศอังกฤษได้ปีเศษ ทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารแทน  ดังนั้นเมื่อทรงมีสถานะเป็นผู้สืบสันตติวงศ์จึงต้องปรับแผนการศึกษาของสมเด็จพระยุพราชเสียใหม่ จากวิชาทหารเรือเป็นวิชาทหารบกและรัฐศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อทรงราชย์เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งสยามพระองค์ต่อไป

ส่วนพระองค์เจ้าอาภากรฯ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาทหารเรือต่อไปตามแผนเดิม

อย่างไรก็ดีในช่วงแรกทั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงพำนักศึกษาวิชาเบื้องต้นด้วยกันในครอบครัวผู้ดีชาวอังกฤษ ชื่อนายเบซิล ทอมสัน (Basil Thomson) ที่นอร์ทลอดจ์ เมืองแอสคอต (Northlodge, Ascot)

จากหลักฐานหนังสือกราบบังคมทูล คือจดหมายที่พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล ปี ๒๔๑๐- ๒๔๕๙ ภายหลังเป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) ผู้เป็นพระอภิบาล หรือ “พี่เลี้ยง” ส่งเข้ามากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ช่วงนั้น มักกล่าวถึงพี่น้องสองพระองค์นี้ว่าทรงร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เคียงข้างกันเสมอ เช่นเมื่อราชสำนักอังกฤษกราบบังคมทูลเชิญสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ให้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ณ พระราชวังวินด์เซอร์
“...สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จพร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และมิสเตอร์ทอมสันได้โดยเสด็จไป  ได้เฝ้าสมเด็จพระบรมพระราชินี และได้ทอดพระเนตรห้องต่าง ๆ ในพระราชวังโดยพระราชเสาวนีย์ให้เชิญเสด็จไป ทั้งได้พระราชทานน้ำชาด้วย...” 
(๑๕ มีนาคม ๒๔๓๗)

ดูเหมือนว่าเหตุการณ์การเข้าเฝ้าฯ ควีนวิกตอเรียครั้งนั้นไม่ปรากฏรายละเอียดมากนักในเอกสารฝ่ายไทย แต่ยังมีบันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์อีกคนหนึ่ง คือนายทอมสัน

ในบั้นปลายชีวิต เบซิล ทอมสัน ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “เซอร์” (Sir Basil Thomson, 1861-1939) และเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการคือผู้บัญชาการตำรวจนครบาล “สกอตแลนด์ยาร์ด” เขียนบันทึกความทรงจำ (memoir) หรืออัตชีวประวัติ ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Scene Changes (เปลี่ยนฉาก) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๙ (ปี ๒๔๘๒) ในบทที่ ๑๘ เขาเล่าถึงชีวิตวัยหนุ่มซึ่งครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเป็นผู้ดูแลเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธและพระองค์เจ้าอาภากรฯ

ทอมสันกล่าวถึงทั้งสองพระองค์ว่าเป็น “เด็กน้อยน่ารัก” ซึ่งตามความเห็นของเขา เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงอ่อนโยนและบอบบาง เหมาะแก่กิจกรรมในร่ม ขณะที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงมีลักษณะเหมือนเช่นเด็กชายชาวอังกฤษ คือชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง
Image
ภาพลายเส้นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
ภาพ : www.123rf.com
ทอมสันเล่าด้วยว่า การที่เป็นผู้ดูแลเจ้าชายสยามทั้งสองพระองค์ยังเป็นเหตุให้เขาได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว

เขาเล่าว่าที่ผ่านมา นายเวอร์นีย์ (Frederick William Verney, 1846-1913) ที่ปรึกษาชาวอังกฤษของสถานอรรคราชทูตสยาม เพียรพยายามหาช่องทางให้เจ้าชายสยามได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ควีน ทว่ายังไม่สำเร็จ แต่แล้ววันหนึ่งในเวลาเที่ยง นายเบซิลได้รับโทรเลขยาวเหยียด ให้นำทั้งสองพระองค์ไปเข้าเฝ้าฯ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ เวลาบ่าย ๔ โมงวันนี้ทันที จึงต้องรีบขัดสีฉวีวรรณ ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า เนื่องจากกำลังทรงขุดดินทำสวนกันอยู่ (ตามแบบเด็กชายชาวอังกฤษ)

เมื่อจัดการแต่งตัวให้ใหม่อย่างดีด้วยชุดเสื้อนอกแบบอีตัน (Eton jacket) เรียบร้อยแล้ว เขาจึงนำทั้งสองพระองค์ขึ้นรถม้าตรงไปยังพระราชวัง

เมื่อเข้าไปถึงก็ถูกนำไปยังเฉลียงยาวหน้าห้องที่ประทับของควีน สุดปลายด้านหนึ่งเป็นพระทวารสองบาน ขณะนั้นมีเจ้านายอังกฤษอีกหลายพระองค์เฝ้าคอยรอรับเสด็จอยู่ก่อนแล้ว จึงไปเข้าแถวเรียงหน้ากระดานเป็นลำดับต่อมา หันหลังให้หน้าต่าง ระหว่างยืนรอก็คุยกันเองพักหนึ่ง

สักครู่มีเจ้าพนักงานเดินมากระซิบว่าให้ทุกคนถอยหลังไปอีกคนละ ๑-๒ นิ้ว เป็นทำนองว่าขอให้เตรียมตัว แล้วจู่ ๆ บานพระทวารก็เปิดออก ควีนทรงพระดำเนินมาตามเฉลียง โดยทรงเกาะแขนมหาดเล็กชาวอินเดีย

เมื่อเสด็จฯ ผ่านมาถึง เจ้าชายสยามทั้งสองพระองค์ได้เข้าเฝ้าฯ ทอมสันเล่าว่าเขาพยายามกระซิบให้ทรงจุมพิตพระหัตถ์ของสมเด็จฯ แต่เจ้าชายผู้เยาว์พระชันษากว่า (เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ) ทรงลืม จึงทรงจับพระหัตถ์ควีนเขย่า ซึ่งทำให้พระนางทรงแย้มสรวล (ด้วยความเอ็นดู)

ควีนทรงมีรับสั่งให้หานายทอมสันเข้าเฝ้าฯ ทรงเฝ้าสอบถามแต่เรื่องสุขภาพพลานามัยของเจ้าชายทั้งสองพระองค์ ว่าแข็งแรงดีใช่ไหม เป็นหวัดง่ายหรือเปล่า รวมถึงเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กชายชาวอังกฤษทั่วไปแล้ว ถือว่าเจ้าชายทั้งสองอ่อนแอกว่าหรือไม่

เมื่อทรงพอพระทัยกับคำตอบแล้ว ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ดยุกแห่งอาร์กายล์ (Duke of Argyll) นำเจ้าชายสยามทั้งสองพระองค์เสด็จไปเที่ยวชมพระราชวังต่อไป

ทอมสันเล่าว่าอีกหลายสัปดาห์ต่อมา เขาจึงเพิ่งทราบสาเหตุที่ได้เข้าเฝ้าฯ ควีนอย่างกะทันหัน คือในวันก่อนหน้า ระหว่างเสวยพระกระยาหารเที่ยง มีการสนทนากันเรื่อง “เลือดชิด” เจ้าฟ้าหญิงพระองค์หนึ่งกราบทูลว่าเจ้าชายสยามซึ่งประทับอยู่ในอังกฤษขณะนี้ เป็นโอรสที่เกิดจากพี่น้องท้องเดียวกัน เนื่องจากราชตระกูลของสยามยึดถือธรรมเนียมเช่นเดียวกับราชวงศ์อียิปต์โบราณ (ที่ต้องการรักษาความบริสุทธิ์ของสายโลหิต) ควีนวิกตอเรียผู้ทรงสนพระทัยเรื่องอันเนื่องด้วยการเกิดการตายเป็นพิเศษจึงมีรับสั่งให้หาทั้งสองพระองค์เข้าเฝ้าฯ เพื่อ “ดูตัว”
Image
หน้าปกหนังสือ  The Scene Changes (เปลี่ยนฉาก) ของเซอร์เบซิล ทอมสัน
Image
หลังสำเร็จการฝึกศึกษาในราชนาวีอังกฤษและการดูงานตามโรงงานผลิตอาวุธในยุโรป  ต้นปี ๒๔๔๓ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระชันษา ๒๐ ปี เสด็จกลับถึงสยาม หลังจากทรงใช้เวลาศึกษาในทวีปยุโรปทั้งสิ้นราว ๖ ปีครึ่ง
แต่ก่อนหน้าจะเสด็จกลับถึงสยาม มีข่าวคราวของพระองค์ล่วงหน้ามาในหนังสือพิมพ์ก่อนแล้ว

ร้อยปีต่อมา คือปี ๒๕๔๓ เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนนักค้นคว้าเรื่องเก่าคนสำคัญเปิดเผยว่า ได้ค้นพบข้อมูลใน ยุทธโกษ วารสารของกรมยุทธนาธิการ เล่ม ๘ ตอน ๙ (ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๙) เดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๙ (ปี ๒๔๔๓) อ้างถึงข่าวที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อังกฤษช่วงเดือนเมษายน ว่าพระองค์เจ้าอาภากรฯ ผู้ “ได้เข้าสำรองราชการณะกองทัพเรือของประเทศอังคริษ” ทรงประดิษฐ์ “เครื่องยุทธยนตร์เปนหลอดอย่างใหม่ สำหรับปล่อยลูกระเบิด ‘โตร์ปิโด’ ไต้น้ำ ให้แล่นระเบิดไปทำลายเรือรบของข้าศึก เปนการแยบคายแปลกประหลาดมาก”

ขณะนั้นพระองค์เจ้าอาภากรฯ ยังทรงอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากทวีปยุโรป

ข่าวนี้คงเล่าลือมาจากอังกฤษและเผยแพร่ไปทั่วจนเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แม้แต่หนังสือพิมพ์ที่เกาะสิงคโปร์ (ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) ก็ลงข่าวนี้ด้วย เช่น The Singapore Free Press and Mercantile Advertiser ฉบับวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ (ปี ๒๔๔๓) ลงข่าวเดียวกันนี้ว่า
“H.R.H. Prince Abhakara of Siam, who was for some time in Her Britannic Majesty’s Navy, has invented a new submerged torpedo tube, which the Admiralty have accepted from him.’’
Image
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเครื่องแบบนายทหารเรือสยาม
เดือนต่อมา หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของสิงคโปร์ The Singapore Free Press and Mercantile Advertiser ฉบับวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๐ (ปี ๒๔๔๓) ลงข่าวซุบซิบสั้น ๆ ต่อเนื่องจากข่าวข้างต้นว่า
“According to the Naval and Military Record, H.R.H. Prince Abhakara of Siam, has gone back to Siam with £27,000, paid by the British Admiralty for a submerged tube he recently invented. (What it is tube there!)”
[หนังสือพิมพ์ Naval and Military Record รายงานข่าวว่าพระองค์เจ้าอาภากรฯ แห่งสยาม เสด็จกลับสยามพร้อมกับเงินจำนวน ๒๗,๐๐๐ ปอนด์ ที่ทางกระทรวงทหารเรือของอังกฤษจ่ายให้สำหรับท่อ (ปล่อยตอร์ปิโด) ใต้น้ำที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น (ท่ออะไรจะขนาดนั้น !) - สำนวนแปลโดยศรัณย์]
อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้คงเป็นแค่ “ข่าวลือ” เพราะขัดแย้งกับหลักฐานจดหมายเหตุที่ระบุชัดเจนว่าพระองค์ไม่เคยได้รับอนุญาตจากทางการอังกฤษให้ศึกษาวิชาตอร์ปิโด เพราะถือเป็นความลับทางทหาร เช่นเดียวกับเรื่องที่ว่าทางกระทรวงทหารเรือของอังกฤษถวายเงินเป็นจำนวนถึง ๒๗,๐๐๐ ปอนด์ ดังที่อีกหลายปีต่อมามีข้อความในหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ เล่าว่าพระสหายรายหนึ่งเคยทูลถามเรื่องนี้จาก “บุคคลในข่าว” โดยตรง พระองค์ทรงพระสรวล พลางตรัสว่าทรงปรารถนาจะให้เป็นเรื่องจริงเช่นกัน
Image
ปลายปี ๒๔๕๒ ต่อต้นปี ๒๔๕๓ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงมีโอกาสแสดงฝีพระหัตถ์ในเชิงช่าง อันเนื่องด้วยการเกษตรอีกด้วย
อาจเพราะสนพระทัยและมีทักษะด้านการวาดภาพดังเคยทรงทำคะแนนวิชาวาดเขียนได้ดีตั้งแต่ยังศึกษาในประเทศอังกฤษ  เมื่อมีการแสดงกสิกรรมแลพานิชการที่สระประทุมวัน (ข้างวัดปทุมวนาราม บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ปัจจุบัน) กรมหมื่นชุมพรฯ ทรงออกแบบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ได้รับรางวัลการประกวดผลิตผลทางการเกษตรและสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งยังทรงออกแบบหน้าปกหนังสือ ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสเดียวกันนั้นด้วย ดังปรากฏในคำนำว่า
“นายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ได้ทรงพระเมตตาเขียนลายพระพิรุณทรงนาคที่น่าปกหนังสือนี้ประทาน กับได้ทรงวาดแบบประกาศนียบัตร์อันวิจิตร์ สำหรับแจกให้แก่ผู้ที่ควรได้รับรางวัลในการแสดงกสิกรรมแลพานิชการในคราวนี้ด้วย”
หน้าปกหนังสือ ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ เป็นลายเส้นรูปพระพิรุณ (เทพแห่งฝน) ทรงนาค ใต้องค์พระพิรุณมีลายเซ็นพระนาม “อาภากร” กำกับ

น่าสนใจว่าภาพพระพิรุณในที่นี้เป็นงานจิตรกรรมไทยแนวประยุกต์ คือแทนที่พระพิรุณจะสวมชฎา ทรงเครื่องตามขนบละครไทย เช่นที่ช่างเขียนกันสืบต่อมา  ทว่าพระพิรุณฝีพระหัตถ์กรมหมื่นชุมพรฯ กลับมีเกศา (ผม) เป็นปอยสลวยประบ่า

เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ด้วยว่า กรมหมื่นชุมพรฯ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจ หรือแนวทางจาก “สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างเอกแห่งยุค เพราะเทวดาที่ไว้ผมยาวประบ่าและทรงมงกุฎทำนองนี้ รวมถึงการแสดงภาพพญานาคตามลักษณะงูใหญ่ในธรรมชาติ มิใช่สัตว์หิมพานต์ที่มีหงอนเป็นลายกนกสามตัว ล้วนพบในภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ “สมเด็จครู” ช่วงเดียวกันนี้ด้วย เช่นบรรดาภาพเทวดารักษาทิศบนเพดานโดมพระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง
Image
ปกเก่าของหนังสือ ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ จัดพิมพ์ในการแสดงกสิกรรมแลพานิชการ ร.ศ. ๑๒๙ พ.ศ. ๒๔๕๓ ฉบับพิมพ์ซ้ำเมื่อปี ๒๔๘๕ แล้วนำต้นฉบับนั้นมาพิมพ์ซ้ำอีกทีคราวงานพระราชทานเพลิงศพ นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อปี ๒๕๔๙ สังเกตที่ใต้บาท พระพิรุณตรงผ้าเหนือหลังนาค คือพระนาม “อาภากร” 
เอื้อเฟื้อภาพ : ห้องสมุด เอนก นาวิกมูล เอนกสแกน  รหัส ANP-๐๐๐๑-๔๐๐

อาจด้วยผลงานออกแบบ “กราฟิกดีไซน์” ทั้งประกาศนียบัตร และภาพหน้าปกหนังสือชุดนี้เอง เดือนกุมภาพันธ์ปลายปี ๒๔๕๒ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงได้รับพระราชทานเหรียญบุษปมาลา อันเป็นราชอิสริยาภรณ์ที่พระราชทานแก่ผู้มีวิชาช่างแขนงต่าง ๆ เช่น ช่างเขียน ช่างถ่ายรูป ผู้ชำนาญในการขับร้องการดนตรี เป็นต้น

ภาพฝีพระหัตถ์ในสไตล์เดียวกับปกหนังสือ ประวัติ กระทรวงเกษตราธิการ ปรากฏต่อเนื่องมาจนถึงปี ๒๔๕๔ เมื่อกรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ จัดพิมพ์นิตยสาร ประกอบกสิกรรม “เพื่อบำรุงการกสิกรรมในสยาม” เริ่มต้นเล่ม ๑ ฉบับ ๑ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๓๐ (ปี ๒๔๕๔) ภาพปกเป็นลายเส้นพระพลเทพ (เทพแห่งเกษตรกรรม) ยืนถือคันไถบนฐานบัว รูปแบบศิลปะไทยผสมชวา โดยทรงศิราภรณ์ (มงกุฎ) ภูษา (ผ้านุ่ง) และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ อันมีต้นเค้าจากศิลปะชวาโบราณ ขนาบข้างด้วยพญานาคให้น้ำ ด้านละสามตัว  

แนวทางเช่นนี้ดูเหมือนเป็นพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในช่วงปลายรัชกาล เช่นเดียวกับที่โปรดเกล้าฯ ให้จำลองภาพปฏิมากรรมพระโพธิสัตว์สำริด ประทับนั่งห้อยพระบาทตามคติพุทธศาสนามหายานของชวาโบราณ มาใช้เป็นตราประจำพระราชวังดุสิต ในความหมายว่าเปรียบประดุจสวรรค์ชั้นดุสิต ที่ประทับของพระโพธิสัตว์ตามคติพุทธศาสนาเถรวาท

ที่สำคัญคือตรงมุมขวาล่าง มีอักษรย่อ อ.ก. อันเป็นพระนามาภิไธยย่อของ “อาภากรเกียรติวงศ์” นั่นเอง
Image
หน้าปกหนังสือ ประกอบกสิกรรม ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ ตรงมุมขวาล่างของกรอบชั้นใน ปรากฏอักษรย่อ อ.ก. (อาภากรเกียรติวงศ์)
เอื้อเฟื้อภาพ : มิวเซียมสยาม

อ่านต่อ EP.02