หินบดยา
ศิลปกรรมการแพทย์ยุคโบราณ
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เพราะสมุนไพรสำคัญไม่น้อยกว่าข้าวที่กินในแต่ละมื้อ

ยุคที่ไม่มีคำว่า “แพทย์ทางเลือก” แพทย์แผนไทยคือวิถีดูแลสุขภาพ ทั้งตำรับหมอหลวง หมอพื้นบ้าน ทั้งยามปรกติและผิดปรกติ มีการใช้สมุนไพรในรูปของอาหารและยา ผ่านหลากวิธี ทั้งอบ ประคบ นวด ฯลฯ อาศัยความเชื่อทางพุทธศาสนา ผูกภูมิปัญญาพิธีกรรม และความรู้วิทยาศาสตร์ร่วมวินิจฉัย
ความที่แผ่นดินไทยเป็นแหล่งมั่งคั่งของทรัพยากร เอื้อประโยชน์ทางภูมิปัญญาสมุนไพร เมื่อผสานองค์ความรู้ระบบการแพทย์ที่แข็งแกร่ง (โดยเฉพาะของจีน) ก็ส่งให้แพทย์แผนไทยยิ่งก้าวหน้า ผุดหมอยาที่มีความสามารถ คิดค้นอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นใช้ในกรรมวิธีปรุงยา

บรรดาเครื่องมืออายุกว่า ๑๐๐ ปีที่ใช้งานประจำใน “โรงงานผลิตยาบุณยะรัตเวช” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ “แท่นหิน + ลูกบดหิน” รูปทรงง่าย ๆ ทำจากหินทราย น่าสนใจในแง่สะท้อนศิลปะการแพทย์ยุคที่เริ่มพัฒนาความรู้ด้านการรักษาโรคและการปรุงยาอย่างมีแบบแผน
Image
เพราะต้องเริ่มจากนำตัวยาในสมุนไพรไปใส่ครก ตำให้ละเอียด ใช้ตะแกรงร่อนตัวยา จึงนำผงที่ได้ไปผสมกับตัวยาอื่นตามสัดส่วนของการทำยา ค่อยนำยามาวางบน “แท่นหิน” (แท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวสักหนึ่งไม้บรรทัด กว้างครึ่งหนึ่งของไม้บรรทัด) ทีละน้อย แล้วจับ “ลูกบดหิน” (หินแท่งยาวทรงกระบอกปลายกลมมน) มากดยาทับบนแท่นหินครูดยาไปมา ขณะบดยาต้องคอยพรมน้ำหรือน้ำผึ้งให้ยาเปียก บดจนตัวยาเข้ากันค่อยนำไปปั้นเป็นเม็ดเล็ก ๆ เพื่อสะดวกต่อการเก็บรักษาได้นาน 

ในวันที่ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ทำให้เกิดเครื่องมือสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาด อนาคตบทบาทของหินบดยาโบราณคงเป็นเพียงวัตถุที่ถูกจัดวางนิ่งเฉย เช่นอุปกรณ์ชุดนี้ปัจจุบันถนอมรักษา-จัดแสดงอยู่ที่ “บ้านยาหอม” ย่านพระนคร กรุงเทพฯ
เพื่อแสดงให้เห็นมรดกทางปัญญาของคนรุ่นก่อนแก่คนรุ่นหลัง