Image
บ้านยาหอม
มรดกบำรุงฟุ้งพระนคร
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
สืบความจากทายาทว่าที่นี่เคยเป็น “บ้านหมอยา” มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕
อันที่จริงนับแต่ “คุณปู่ทวดเดช” พ่อค้าเครื่องยาในรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ผิดนักต่อมาลูกชาย “คุณทวดบุญรอด” รับมรดกวิชาสมุนไพรไทยจากพ่อมาสานต่อด้านปรุงยาหอมจำหน่ายและตั้งชื่อ “ยาหอมสุคนธโอสถ ตราม้า” ตามปีเกิดตน เป็นจุดเริ่มแห่งการขยับฐานะจากครอบครัวผู้ค้าเครื่องยาสู่ผู้ปรุงยา  พอสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุล  “ขุนทรงสุขภาพ” ผู้เป็นทายาทจบแพทย์จากกรมนักเรียนแพทย์เสือป่า ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงกราบบังคมทูลขอและได้รับพระราชทานนามสกุล “บุณยะรัตเวช” (นายแพทย์ทรง บุณยะรัตเวช) สมความหมายต่อวิชาชีพ  ภายหลังลาออกจากอาชีพแพทย์ก็หันมาเปิดกิจการ “โรงงานผลิตยาบุณยะรัตเวช” ในปี ๒๔๖๕ แต่นั้นบ้านสองชั้น-สถานปรุงยาของบรรพบุรุษจึงถึงกาลพ่วงอีกฐานะเป็นโรงงานผลิตยา หลังบ้านเป็นโรงโม่ยา แต่ละวันในรั้วจึงอวลกลิ่นยาหอมซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญจากสมุนไพรนานาอย่างเกสรดอกไม้ ไม้กฤษณา โกฐหัวบัว จันทน์ชะมด ชะเอม พิมเสน อบเชย ฯลฯ เน้นสรรพคุณปรับสมดุลธาตุ ได้รับความนิยมสูงในหมู่ชาวพระนคร  กระทั่งสมัยที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้มีโรงงานในเขตพระนครจึงไปสร้างโรงงานใหม่ที่ดาวคะนอง จนวัตถุดิบสำคัญอย่างไม้กฤษณาได้รับการคุ้มครองเป็นพืชต้องห้าม ทายาทจึงยุติโรงงาน
Image
Image
บ้านทรงไทย-ฝรั่งอายุนับร้อยปีหมุนเวียนเจ้าของชั่วคราวเรื่อยมา ปัจจุบันผู้สืบสกุลคืนชีวิตแก่บ้านเก่าอีกครั้งโดยปรับปรุงให้ทันสมัย แต่รักษาเอกลักษณ์เดิม มีชานระเบียงหน้าบ้านไว้รับแขก ซึ่งไม่ว่าใครมาถึงเรือนชานย่อมเห็นชั้นวางยาสูงเต็มผนัง มีทั้งขวดยาดั้งเดิมและซื้อมาทดเติม

แล้วเปิดชั้นล่างเป็นร้านอาหารบ้านยาหอม ตกแต่งด้วยทรัพย์สินเดิมอย่างป้ายคำจีนอวยพรให้การค้ารุ่งเรือง ซึ่งเคยประดับอยู่ในโรงงานผลิตยา มีบ่อน้ำพุตั้งกลางบ้าน อดีตคือบ่อบาดาลและปัจจุบันยังมีน้ำซึมออกให้คนในบ้านยาหอมสดชื่น  ความที่ทายาทรุ่นปัจจุบันมีความรู้สถาปัตยกรรม รักชอบประวัติศาสตร์ศิลป์พอกับศิลปะร่วมสมัย จึงดัดแปลงห้องกินข้าวของคุณย่าเป็นห้องอาหารที่รองรับลูกค้ากลุ่มใหญ่ ให้จิตรกรสเกตช์บนผนังเป็นรูปบ้านยาหอมในอดีตด้วยลายเส้นย้อนยุคคล้ายรูปตึกเก่าในโรงแรมโอเรียลเต็ล ซึ่งเป็นศิลปะนิยมในยุคที่ชนชั้นกลาง-สูงเห่อวัฒนธรรมฝรั่งเพื่อเป็นเครื่องมือเล่าอายุของบ้านไปในตัว  ตกทอดมรดกหยูกยาทั้งทีจึงเด่นด้วยเมนูสูตรโบราณจากสมุนไพรที่เจ้าของปลูกเองให้ลูกค้ากิน-ดื่มอย่างสบายใจว่าปลอดสารเคมี  ไม่ลืมเมนูสำคัญระลึกถึงบรรพชนอย่างยาหอมเป็นเครื่องดื่มชื่นใจ-บำรุงกาย
Image
ชั้น ๒ ของบ้านคือสถานผ่อนคลายกาย-ใจ มีห้องบริการนวดบำบัดตัว-เท้าทั้งแบบน้ำมัน ยาหม่อง ลูกประคบ ฯลฯ อดีตเคยเป็นดั่งห้องวิทยาศาสตร์ที่บรรพบุรุษใช้ทดลองยา ปัจจุบันฟุ้งกลิ่นน้ำมันธรรมชาติที่สกัดจากดอก ใบ ผล ลำต้น ยางของตะไคร้ มะกรูด ลาเวนเดอร์ ฯลฯ  แบ่งมุมหนึ่งจัดนิทรรศการเล็ก ๆ เล่าประวัติต้นตระกูลครอบครัวหมอยา ถ่ายทอดความเป็นมาโรงงานผลิตยาหอมสุคนธโอสถ ตราม้า ปันวัตถุดิบปรุงยาจัดแสดงอุปกรณ์โบราณ อย่างที่หั่นยา รีดยา โม่ยา ตู้เซฟเก็บเงินของร้านยา ฯลฯ พร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาหอมสุคนธโอสถ ตราม้า ที่ชาวพระนครเคยนิยม

ซึ่งวันหนึ่งหลายสิ่งที่ประกอบขึ้นจากรัก-บันดาลใจเพื่อประโยชน์การศึกษาควบคู่ความเพลิดเพลินแก่สาธารณะในบ้านยาหอม ที่บันทึกประวัติศาสตร์สู่ปัจจุบันไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้ อาจเป็นสถานสะสมสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์การแพทย์แผนโบราณของไทย

ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู
Image
เราวางแบรนด์บ้านยาหอมเป็นนักปราชญ์สุขนิยม ผู้มอบความรื่นรมย์และเฮลตี้ โดยต่อยอดความเป็นปราชญ์หมอยาที่คุณทวดบุญรอด มอบมรดกเกี่ยวกับเครื่องหอม แล้วนำศาสตร์ ศิลปะ กวี อาหารจากวังหลวงที่สืบทอดจากคุณทวดเทศ ภรรยาของท่านซึ่งเลี้ยงดูเรามาแต่เด็ก มาบูรณาการให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ ลูกค้าจึงมีทั้งผู้สูงวัยใช้สถานที่บรรยากาศเก่า ๆ พบปะเพื่อน และคนทำงานวัย ๓๐ ปีขึ้นไปที่เห็นคุณค่าของสุขภาพมาให้รางวัลตัวเองกินอาหารดี ๆ นวดผ่อนคลาย โดยไม่ต้องรอเจ็บป่วย”

ดลชัย บุณยะรัตเวช 

ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การสร้างแบรนด์, ทายาทรุ่นปัจจุบันและเจ้าของบ้านยาหอม

บ้านยาหอม
๑๕๖ ถนนตะนาว แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐

เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ 
เวลา ๐๙.๐๐-๒๑.๐๐ น. 
โทร. ๐๙-๕๗๖๔-๒๗๖๘