เชื้อไชยา
เรื่อง : วรากร แก้วทอง
ภาพ : ณิชกานต์ ช่างสาร
“มวยไชยาก็เหมือนลูกทุเรียน แตะตรงไหนก็เจ็บตรงนั้น”
ท่ามกลางเสียงหรีดหริ่งเรไรในยามบ่ายคล้อยต่อเย็น ใต้เงาไม้ใหญ่น้อยแห่งอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่ มีเสียงตุ๊บ ตั๊บ โอ๊ย ในลำเนาไพร ชายสวมชุดผ้าฝ้ายสีดำ มีผ้าไหมสีทองผูกสะเอว นั่งอยู่บนครกตำข้าวขนาดใหญ่ แล้วให้ชายอีกสามคนซึ่งแต่งกายคล้าย ๆ กันยืนประเคนหมัด เข่า แข้ง ไม่ยั้งมือ
แม้ผู้นั่งจะโดนรุม แต่เสียงร้องโอดโอยกลับมาจากผู้ยืน ต่างกุมขา แขน แสดงถึงอาการเจ็บปวดไปตาม ๆ กัน นี่คือการ “นั่งครก” เพื่อฝึกป้อง ปัด และปิดส่วนสำคัญของร่างกายมิให้อาวุธใดเข้ามาทำร้ายได้ เป็นการทบทวนวิชาขั้นสุดท้ายก่อนนักมวยไชยาจะขึ้นสังเวียน
“มวยไชยาก็เหมือนลูกทุเรียน แตะตรงไหนก็เจ็บตรงนั้น”
นั่งครกมวยไชยา เป็นหนึ่งในการฝึกฝนและทดสอบการป้องกันตัวแบบ ๔ ป คือ “ป้อง ปัด ปิด เปิด” เมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว ก็จะเข้าใจและรู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังเผชิญหน้ากับการใช้ลูกไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตามจะต้องใช้วิชาป้องกันตัวได้
ทุกคนเรียนมวยไชยาได้ เริ่มต้นด้วยการจัดระเบียบท่าทางที่ถูกหลัก เมื่อมีพื้นฐานดี ก็จะทำให้การฝึกฝนมวยไชยาดำเนินไปอย่างลื่นไหลและต่อยอดได้ไม่รู้จบ
สำนวนเปรียบเปรยอมตะของ เขตร ศรียาภัย บรมครูแห่งมวยไชยาที่มักจะพูดกับศิษย์ทุกครั้งยามสอน หากมวยไชยาเปรียบได้ดั่งลูกทุเรียน ผู้ที่ยืนกุมแขนกุมขาอยู่นั้นคงเจอเข้ากับทุเรียนพันธุ์ดีเลยทีเดียว
ครูเชน หรือพันตำรวจโท ราเชนทร์ สวนคำศรี รองผู้กำกับการ ๒ กองบังคับการตำรวจน้ำ ผู้นั่งอยู่บนครก เริ่มสนใจมวยโบราณสายนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เมื่อเป็นนักเรียนนายเรือชั้นปีที่ ๒ แล้วเกิดความรู้สึกว่าถ้าเรียนจบไปเป็นตำรวจก็ควรจะมีวิชาดีไว้ป้องกันตัว ประกอบกับการพบเจอครูแปรง-ณปภพ ประมวญ ปรมาจารย์มวยไชยาและวิชากายวุธ ที่เข้าไปสาธิตศิลปะการต่อสู้ในโรงเรียนนายเรือ จึงถือโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์และเริ่มเรียนมวยไชยาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“ช่วงแรกที่เรียนกับครูแปรงไม่ยุ่งยากมากนัก ครูเพียงแค่บอกว่าควรจะยืนแบบไหน เพราะมวยไชยาจะมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากมวยอื่น การยืน เดิน นั่ง เท้าทั้งสองข้างต้องขนานกันตลอดเวลา แต่พอได้ลองทำกลับยาก เพราะต้องจัดระเบียบร่างกาย ถ่ายโอนน้ำหนัก และรักษาสมดุลขณะเคลื่อนไหว” ครูเชนกล่าวถึงการเริ่มต้น
หนึ่งในแก่นสำคัญของการฝึกมวยไชยาคือการทำสมาธิ ดึงสติให้รับรู้ร่างกายซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้วิชามีไหวพริบ ในการรับมือคู่ต่อสู้ได้เฉียบคมยิ่งขึ้น
มวยไชยาเป็นมวยเรียบง่าย ใช้ธรรมชาติรอบตัวในการฝึกฝน อย่างเช่น การนำมะนาวผูกเชือกแขวนไว้กับกิ่งไม้ในระดับอกและหัว แล้วออกอาวุธใส่มะนาวโดยห้ามให้สายเชือกพันกันและต้องคอยหลบมะนาวที่จะเหวี่ยงกลับมาโดนตัว เป็นการฝึกน้ำหนักของหมัด เข่า ศอก และสายตา หรือการฝึกกำลังขา โดยลงไปแช่น้ำระดับเอว ย่อเข่า ใช้มือตีน้ำให้กระจาย แล้วใช้ศอกกระแทกน้ำที่กระจายขึ้นมา จะได้ทั้งกำลังขาและยังฝึกป้องกันอาวุธที่พุ่งขึ้นมาจากด้านล่างด้วย
ท่าจดมวยไชยาสวยงามตามแบบมวยท่าดี คือจะใช้มือข้างหนึ่งกำหมัดปิดบริเวณคาง แขนปิดชายโครง มืออีกข้างกำหมัดปิดที่หน้าผาก แขนจะปิดใบหน้าทั้งหมด สามารถสลับแขนขึ้นและลงตามแต่จังหวะ เมื่อโดนโจมตีเพียงแค่พลิกแขนและเอียงลำตัวก็จะรับและรุกได้ในเวลาเดียวกัน
ส่วนขานั้นจะปิดท่อนล่างโดยยืนย่อเข่าเล็กน้อยเพื่อเป็นเหลี่ยมป้องกัน เท้าทั้งสองข้างขนานกัน ห่างประมาณหัวไหล่ ยืนเฉียงทำมุม ๔๕ องศา เวลาย่างเท้าจะสลับเหลี่ยมได้ทั้งซ้ายและขวา เมื่อถูกโจมตี เพียงแค่ยกเข่าขึ้น ผู้โจมตีจะเป็นฝ่ายเจ็บตัวไปเอง
มีเรื่องเล่าขานถึงในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ปี ๒๓๑๑-๒๔๔๒) ว่า ยุคนั้นบ้านพุมเรียงเป็นที่ลี้ภัยจากข้าศึก ทั้งยังเป็นที่ตั้งของเมืองไชยา อันเป็นเมืองชั้นตรีพิเศษและมีเจ้าเมืองปกครอง เมื่อเกิดสงครามชาวเมืองไชยาจะถูกเกณฑ์กำลังพลเข้าร่วมกับกองทัพเสมอ ช่วงนั้นมีนายทหารนิรนามซึ่งบวชเป็นพระและเดินธุดงค์จากเมืองหลวงจนมาถึงบ้านพุมเรียง จำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งจับช้าง ชาวบ้านเรียกท่านว่า “พ่อท่านมา” ท่านเริ่มสอนมวยให้ชาวบ้านเพื่อใช้ป้องกันตัว พระยาวจีสัตยารักษ์ เจ้าเมืองไชยาในขณะนั้นทราบถึงกิตติศัพท์จึงมาร่ำเรียนวิชามวยจากพ่อท่านมาด้วย
จิตผสานกาย รวมถึงการฝึกฝนจนชำนาญ จะประยุกต์ทุกส่วนของร่างกายให้เป็นอาวุธที่ใช้ได้ทั้งรุกและรับในเวลาเดียวกัน
ใช้ฝ่ามือข้างหนึ่งดันน้ำลงไปให้เกิดการยกตัวของผิวน้ำ ขณะเดียวกันแขนอีกข้างฟันศอกปะทะให้ทันเป็นการฝึกสายตา กำลังขา และการป้องกันลูกไม้หรืออาวุธที่จะพุ่งขึ้นมาจากด้านล่าง
ในปี ๒๔๕๒ มวยจากเมืองไชยาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อนายปล่อง จำนงทอง ศิษย์เอกของเจ้าเมืองไชยา มีโอกาสขึ้นชกมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ บริเวณหน้าพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช นายปล่องชกชนะนักมวยจากโคราช จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมื่นมวยมีชื่อ จากเหตุการณ์ครั้งนั้นมวยจากเมืองไชยาก็ได้ชื่อว่ามวยไชยา
ครั้นไม่มีศึกสงคราม มวยจึงกลายเป็นการละเล่นของลูกผู้ชาย
ครูเขตร ศรียาภัย บุตรคนที่ ๕ ของพระยาวจีสัตยารักษ์ ได้ร่ำเรียนมวยไชยาจากพ่อและเรียนมวยสายอื่น ๆ จากครูมวยอีก ๑๒ คน จนเกิดความชำนาญ มีลูกศิษย์มากมาย ทั้งยังเขียนบทความชื่อ “ปริทัศน์มวยไทย” ลงนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ ในช่วงปี ๒๕๑๕ (ภายหลังมีการรวบรวมต้นฉบับตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี ๒๕๕๐) เพื่อเป็นสมบัติแก่ผู้ต้องการศึกษา
ลูกศิษย์สายมวยไชยาของครูเขตรก็คือครูทองหล่อ ยาและ เป็นชาวมุสลิม เคยขึ้นเวทีชกมวยไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ครั้ง ตลอดชีวิตของครูท่านนี้ได้อุทิศให้แก่การสอนวิชามวยไชยาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และหนึ่งในลูกศิษย์ที่รับการถ่ายทอดทั้งวิชา เจตนารมณ์ และอุดมการณ์มาอย่างเต็มเปี่ยมก็คือครูแปรง-ณปภพ ประมวญ ครูมวยไชยายุคปัจจุบันที่ยังคงอุทิศตนเพื่อถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์แห่งมวยสายโบราณนี้ให้แก่ศิษย์อยู่มิได้ขาด ทั้งยังเป็นครูมวยของครูเชนอีกด้วย
ในปัจจุบันครูเชนก็ยังคงเรียนมวยไชยากับครูแปรงอยู่เสมอ แต่จะเป็นรูปแบบที่ต่างออกไป คือเมื่อมีข้อสงสัยก็จะเข้าไปขอคำแนะนำ ครูแปรงก็จะมีเทคนิคใหม่ ๆ สอนให้ตลอด
“ครูเชนจะเน้นเรื่องท่าพื้นฐานมาก มีท่าพลิกเหลี่ยมที่ผมเรียนรู้ได้ช้า เรียนอยู่นานกว่าจะได้ ครูไม่ยอมให้ผิดแม้กระทั่งนิดเดียว”
อัครพล ใจเที่ยง
ข้าพเจ้าเข้าใจถึงความสัมพันธ์ฉันครู-ศิษย์ ก็เมื่อการนั่งครกครั้งนั้นจบลง ลูกศิษย์ที่แม้จะอายุมากกว่าต่างยกมือไหว้ขอบคุณครู มีการเอ่ยถามถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งจบไป ใครเจ็บตรงไหนบ้าง แล้วเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และบรรยากาศอันอบอุ่นก็เกิดขึ้น ศิษย์ทุกคนต่างอวดบาดแผล บ้างได้เลือด รอยฟกช้ำ และแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผมห่างครูไปนานแล้วครับ หลังจากนั้นจึงเป็นการทวนวิชาโดยปริยาย
ครูเชนออกคำสั่งให้เหล่าศิษย์เรียงแถวและทวนวิชาให้ใหม่ทั้งหมด เริ่มจากการยืน ย่อ ปั้นหมัด พันแขน พันหมัด ตลอดจนการออกอาวุธ ทำแบบนั้นซ้ำ ๆ ด้วยท่วงท่าองอาจ มั่นคง จนเหล่าผู้ที่เคยเรียนเริ่มจัดทรงร่างกายให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ แม้อากาศจะไม่ร้อนนักแต่การฝึกเช่นนั้นก็ทำให้บรรยากาศเริ่มร้อนแรงอย่างเห็นได้ชัด นั่นศิษย์รุ่นพี่ นี่ศิษย์รุ่นน้อง ต่างพร้อมใจกันฝึกมวยไชยาด้วยแววตาวาวโรจน์
หลังจากฝึกพื้นฐานเสร็จเรื่องราวแต่หนหลังก็พรั่งพรูจากปากของศิษย์พี่ ศิษย์น้อง พร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันบ่งบอกถึงความสุข แต่พอข้าพเจ้าถามว่าตอนเรียนครูดุไหม ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าดุมาก กว่าจะผ่านได้แต่ละท่า บางท่าใช้เวลาเป็นเดือนก็มี ถ้าไม่ผ่านครูก็จะให้ฝึกจนกว่าจะผ่านนั่นแหละ
ตุ๊ก-อัครพล ใจเที่ยง หนึ่งในศิษย์รุ่นแรกของครูเชน กล่าวกับข้าพเจ้าอย่างออกรสว่า
“ครูเชนจะเน้นเรื่องท่าพื้นฐานมาก มีท่าพลิกเหลี่ยมที่ผมเรียนรู้ได้ช้า เรียนอยู่นานกว่าจะได้ ครูไม่ยอมให้ผิดแม้กระทั่งนิดเดียว”
เมื่อข้าพเจ้าถามกลับว่าได้อะไรจากการเรียนมวยไชยา ชายวัย ๕๘ ปี บอกว่า
“ผมซ้อมมวยไชยาแล้วก็ไปวิ่งมาราธอนครับ ตอนนี้วิ่ง ๒๑ กิโลเมตร และ ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตรได้ ทั้งหมดทั้งมวล
ได้มาจากการฝึกมวยไชยา ผมเลิกบุหรี่ได้ด้วยครับ”
ด้วยความที่ตุ๊กเป็นชาวมุสลิม ข้าพเจ้าจึงเกิดความสงสัยเกี่ยวกับข้อห้ามทางศาสนา สิ่งที่ได้จากคำบอกเล่าก็คือ
“ผมก็ทำทุกอย่างที่นักมวยเขาทำกันแหละครับ เพียงแค่ผมไม่ก้มลงกราบแค่นั้นเอง”
วิชามวยไม่ได้แบ่งแยก ศาสนาไหนก็เรียนได้ เพราะการฝึกมวยเป็นการฝึกสมาธิ กาย ใจ และมีขนบธรรมเนียมที่เหมือนกันซึ่งไม่ใช่ศาสนา อย่างเช่นการไหว้ครูเป็นจารีตและข้อปฏิบัติ ส่วนอุปกรณ์มวย เช่น มงคลหัว ประเจียดแขน เชือกคาดหมัดนั้น ก็เป็นส่วนเสริมกำลังใจ ซึ่งไม่ถือว่าผิดหลักศาสนาใดแต่อย่างไร
การสอนมวยไชยาของครูเชนไม่ได้แตกต่างจากที่สอนกันมามากนัก แม่มวยและพื้นฐานยังคงเป็นแบบเดิม เน้นความถูกต้องของกระบวนท่า การเข้าใจผู้เรียนและการทำสมาธิยังคงเป็นสิ่งสำคัญ
ในยุคปัจจุบันความคาดหวังของผู้มาเรียนมวยไชยาคือต้องการจะเป็นมวยเร็ว ๆ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ครูและศิษย์จะค่อยเป็นค่อยไป แต่สุดท้ายก็อยู่ที่การฝึกฝน ถ้าอยากเป็นเร็วก็ต้องขยันฝึกซ้อม ส่วนการสอนก็ต้องเอาความสำเร็จมาเป็นแรงบันดาลใจ อย่างเช่นฝึกสิ่งนี้แล้วจะได้อะไร จึงคล้ายกับวางเป้าหมายไปด้วย
“ครูสมัยก่อนเขาไม่ค่อยบอกว่าฝึกแล้วจะได้อะไร นอกจากทำให้ดู พอศิษย์ทำได้แล้วนั่นแหละจึงจะบอก ว่าได้อะไรจากการฝึก”
มวยไชยานอกจากจะฝึกฝนร่างกายแล้วยังมีส่วนฝึกฝนจิตใจไปด้วย ซึ่งการยืนจดมวย ย่างเท้าเคลื่อนที่ จะเป็น
ไปตามรูปแบบของแม่มวย จึงต้องบังคับกายและจิตใจให้ไปพร้อม ๆ กัน ตั้งสมาธิไว้ที่ร่างกาย ไม่เช่นนั้นจะผิดพลาดได้ง่าย
ครูเชนอธิบายว่ามวยไชยานอกจากจะฝึกฝนร่างกายแล้วยังมีส่วนฝึกฝนจิตใจไปด้วย ซึ่งการยืนจดมวย ย่างเท้าเคลื่อนที่ จะเป็นไปตามรูปแบบของแม่มวยจึงต้องบังคับกายและจิตใจให้ไปพร้อม ๆ กัน ตั้งสมาธิไว้ที่ร่างกาย ไม่เช่นนั้นจะผิดพลาดได้ง่าย
เมื่อเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนา การหยุดเคลื่อนไหว จิตจะเป็นอานาปานสติ หมายถึงการระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก แต่เมื่อกายเคลื่อนไหว จิตจะกลายเป็นสัมปชัญญะ อันหมายถึงการรู้สึกตัวอยู่เสมอ ทั้งสองสิ่งจะเกิดขึ้นสลับกันเพียงชั่วขณะ เมื่อฝึกฝนจนชำนาญ บนสังเวียน ใจของนักมวยจะอยู่เหนืออารมณ์ทั้งปวง และยังส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างมีสติยั้งคิดอีกด้วย
“หนูเรียนมวยไชยาตั้งแต่อายุ ๑๖ ปีค่ะ ช่วงนั้นจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ พ่อเลยให้ฝึกมวยเพื่อป้องกันตัว” ออย-วรันธร อภิรติธรรม บอกข้าพเจ้าถึงการเป็นศิษย์คนแรกของครูเชน
การสอนมวยเริ่มจากการทำให้ดูและให้ทำตาม ซึ่งกว่าจะผ่านไปแต่ละท่านั้นยากมาก เพราะครูจะต้องเห็นว่าอยู่ในระดับที่สมควรเสียก่อน สิ่งที่ได้จากการฝึกมวยไชยาของออยคือได้วิชาไว้ป้องกันตัว ได้สมาธิเพราะครูจะให้นั่งสมาธิด้วย และที่สำคัญคือมั่นใจที่จะใช้ชีวิตมากขึ้น
ในปี ๒๕๕๗ ออยเข้าเรียนที่ Green River College สหรัฐอเมริกา ได้ลงวิชาเลือกเป็นคาราเต้ เพราะอยากฝึกวิชาการต่อสู้เพิ่มเติม จบเทอมทางคลาสจัดการแข่งขันขึ้น ออยใช้วิชาคาราเต้ผสมกับพื้นฐานของมวยไชยาเอาชนะคู่ต่อสู้จนเข้ารอบไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงรอบรองชนะเลิศคู่ต่อสู้ของออยกระดูกนิ้วมือหัก เนื่องจากการเตะของวิชาสองสายที่ผสมกัน ทำให้รอบชิงชนะเลิศคู่แข่งไม่กล้าเข้าต่อสู้และยอมแพ้ไปในที่สุด
นอกจากการสอนมวยไชยาแบบปรกติแล้วครูเชนยังสอนวิชาผ่านทางออนไลน์แก่ลูกศิษย์อีกด้วย ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ถ่ายทอดเคล็ดวิชามวยไชยาให้ยังคงอยู่
ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น การเข้าถึงการเรียนมวยไชยาจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เคล็ดวิชาเหล่านี้ไม่หายไปตามกาลเวลา
แม้ขั้นตอนการสอนมวยไชยาจะไม่เปลี่ยนจากเดิมมากนัก แต่วิธีสอนนั้นค่อนข้างเปลี่ยนไปเมื่อมีโลกออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ลูกศิษย์บางคนไม่สะดวกเดินทางมาหาครู บางคนอยู่ไกลเกินกว่าจะเดินทางไปกลับ การสอนมวยไชยาออนไลน์จึงเกิดขึ้น
แต่ข้อจำกัดของการสอนมวยออนไลน์ก็คือต้องใช้เวลามากกว่า และเมื่อทำท่าทางผิดก็ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกได้ในทันที ต้องค่อยปรับ เปลี่ยน การเรียนออนไลน์นั้นทำได้มากที่สุดเพียงเพื่อให้ผู้เรียนรู้แนวทาง เพราะฉะนั้นผู้เรียนจะต้องมาเจอครูสักครั้งเพื่อจัดท่าทางให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น
“เราไม่ได้สอนมวยให้เขาเอาไปประหัตประหารคน แต่สอนให้เขาเอาไว้ป้องกันตัว รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้จักว่าสิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร และเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะสืบสานเรื่องพวกนี้ต่อไป ถ้าเราสอนมวยให้เด็กตั้งแต่ยังไม่มีสิ่งใดมาเจือปนในชีวิตมากนัก เขาจะมีภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนป้องกันในอนาคต เราไม่รู้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน อีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้าไม่รู้ว่าสภาวะจิตใจของผู้คนเป็นเช่นไร ถ้าเราสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาไว้ตั้งแต่แรก เขาจะเอาตัวรอดได้ในทุกสังคม”
ครูเชนกล่าวกับข้าพเจ้าด้วยน้ำเสียงที่เจือด้วยความภาคภูมิใจ และคงเหมือนกับครูมวยทั้งหลายที่อยากจะอนุรักษ์ สืบสานศิลปะการต่อสู้นี้ไว้ ถ้าหากไม่ผลักดัน สิ่งเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ จางหายไป การฝึกมวยอาจจะเหลือแค่การป้องกันตัว เพราะคนส่วนน้อยนักที่จะเข้าใจหลักวิชานี้
มวยไชยาไม่ใช่มวยที่เอาไว้ฝึกแค่กาย แต่ฝึกจิตใจพร้อมกันไปด้วย...นี่แหละทีเด็ดเลย
อ้างอิง :
พันตำรวจโท ราเชนทร์ สวนคำศรี
ตุ๊ก-อัครพล ใจเที่ยง
ออย-วรันธร อภิรติธรรม
อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่
KMAX GYM จังหวัดกระบี่
http://www.samkhum.com
Facebook : เก้ากระบี่เดียวดาย
http://dc.oas.psu.ac.th/dcms/files/00750/Chapter4.pdf
และ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5625.0