Image

มุงมองมิตร

สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

“คุณมิตรน่าจะได้
บุคคลดีเด่นของโลก”

จงบุญ คงอ่อน 
สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ 
มิตร ชัยบัญชา

จงบุญ คงอ่อน เป็น “สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ มิตร ชัยบัญชา” เราไม่ได้คุยกับเธอเพราะเป็นคนดังจากรายการทีวีเท่านั้น แต่เพราะเห็นว่าเธอเป็น “ตัวจริง” คนหนึ่งที่เป็นแฟนหนังมิตรมาต่อเนื่องยาวนาน

เธอคลุกคลีอยู่กับหนังและหนังสือมาตลอดชีวิตตั้งแต่อ้อนแต่ออกก็ว่าได้  ความรักและความรู้ต่อมิตรจึงบรรจบกันอย่างลงตัวในตัวเธอ  แม้เธอจะออกตัวว่ายังมีคนที่รู้มากกว่าเพียงแต่เขาไม่ได้เปิดตัว แต่เธอเองยังออกมาร่วมงานและติดตามกิจกรรมที่เกี่ยวกับ มิตร ชัยบัญชา เช่นที่เคยเป็นมาโดยตลอดแม้วัยใกล้ ๗๐ แล้ว

“สมัยเด็ก ๆ ไปทำงานกับแม่ในโรงพิมพ์ดาราไทย ของคุณสุรัสน์ พุกกะเวส ที่คลองเตย ได้เห็นดารา โตมาได้ดูหนังมิตรทางทีวีขาวดำ ดูแล้วเราก็ชื่นชอบคุณมิตร กับ เพชรา เชาวราษฎร์  ทุกวันศุกร์มีโอกาสแม่ก็พาไปดูโรง ตั้งแต่ช่วงนั้นราว ๙ ขวบ

Image

พอทำงานแล้วก็ไปดูเอง ดูหนังคุณมิตรมาเรื่อย ๆ ทำงานเป็นช่างเรียงพิมพ์อยู่แถววัดราชบพิธ วันนั้นกำลังทำงานอยู่ น้องที่ขายข้าวแกงบอกวันนี้ มิตร ชัยบัญชา จะมาถ่ายหนัง ใจอยากเห็นคุณมิตรสักครั้งก็ยังดี ยอมหนีหัวหน้าไปดู เห็นเขารอเข้าฉาก ใส่เสื้อแขนสั้นสีขาว นุ่งกางเกงสีดำ ผูกเนกไทเป็นฉากที่คุณมิตรกำลังจะไปไหว้พระขอให้ตามหานางเอกเจอ ตอนหลังรู้ว่าเป็นฉากในเรื่อง สวรรค์เบี่ยง ตอนนางเอกหนีไป พระเอกสำนึกผิดออกตามหา แต่ไม่เจอ ต้องมาอธิษฐานขอพระ  พอไปดูหนังก็นึกออกว่าฉากนี้เราได้เห็นเบื้องหลังมาแล้ว

ตอนได้ข่าวว่าเขาเสียชีวิต เรานั่งซึมอยู่คนเดียว เวลานึกถึงน้ำตาก็ไหล ถ้าเขาอยู่หนังไทยจะก้าวไกลไปกว่านี้แน่นอน

พอคุณมิตรเสีย วงการหนังสะดุด การดูหนังของเราก็สะดุดไปด้วย คนที่มาแสดงแทนจะเตี้ยกว่า ไม่สมาร์ตเท่ารูปร่างไม่ได้ ไม่เหมือนคุณมิตร  ไม่ได้ดูหนังไทยไปสักพัก จากนั้นก็เก็บสะสมหนังสือ ใบปิดหนังไม่ได้เก็บ ใบละเป็นพันขึ้นไปถึง ๕,๐๐๐  เราเก็บเป็นภาพถ่ายใบปิด มีครบทุกเรื่อง ภาพถ่ายที่เพื่อนตระเวนหามาอัดขายขนาดโปสต์การ์ด เก็บไว้เยอะมาก พอมีคนทำแผ่นหนังมิตรออกมาก็ซื้อเก็บ  ตอนหลังไม่ดูเรื่อง อินทรีทอง จะหยิบเรื่องที่เราได้หัวเราะ ชื่นใจ น้ำตาไหล มากกว่า

Image

ปี ๒๕๒๖ คุณโดม สุขวงศ์ ริเริ่มจัดงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ สะพานผ่านฟ้าฯ หลังจากนั้นก็มีงานจัดฉายภาพยนตร์คุณมิตรมาเรื่อย ๆ เราก็ดูมาเรื่อย จนปี ๒๕๔๐ มีหนังคุณมิตรมาฉายที่เฉลิมกรุง เราก็ไปยืนจดรายชื่อหนังคุณมิตรจนเขาบอกว่าให้คนอื่นเข้ามาดูบ้างนะคะ  จากที่จดโน้ตไว้ก็ได้ดูเกิน ๑๐๐ เรื่อง  ปีต่อมาคุณโต๊ะ พันธมิตร เอาหนังเรื่อง อัศวินดาบอาญาสิทธิ์ มาฉายที่เฉลิมกรุง เราไปดูจนเขาชวนเข้าร่วมกิจกรรมสะสมของที่ระลึก มิตร ชัยบัญชา ก็ไปร่วมกับเขา ปี ๒๕๔๓ เขาชวนไปถ่ายรายการแฟนพันธุ์แท้ มิตร ชัยบัญชา

ก็ยังงงตัวเองอยู่ เรารู้จัก มิตร ชัยบัญชา แค่จากใบปิดหนัง กับข้อมูลตามหนังสือที่ซื้อมาเล่มละ ๓ บาท ๕ บาท อ่านแล้วพอจำได้ รายการเอาใบปิดไปลบชื่อออกแล้วยกขึ้นทายว่าเรื่องอะไร สู้กัน เพื่อนตอบผิดก็ตกรอบไปทีละคน จนเหลือรอบสุดท้าย เขาเอาเรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ มาตั้ง ถามว่าเรื่องนี้มีชื่อเรื่องอีกชื่อว่าอะไร เราเคยถ่ายภาพนี้ไว้ จำได้ว่าชื่อ ฤทธิ์ดาบชัยบัญชา เป็นชื่อตั้งใหม่ จะเอามาฉายในเมืองไทย แต่หาฟิล์มไม่ได้ มีแต่โปสเตอร์ เลยได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ ไปตอบคำถามเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ คำถามว่า มิตรกับกิ่งดาวแสดงหนังด้วยกันเรื่องอะไร พ.ศ. อะไร เราตอบเรื่อง ใจเดียว ปี ๒๕๐๖ ถูกต้อง ! ได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ได้รับโมเดลรูปมือ ชุดอินทรีทอง ใบปิดหนังแผ่นใหญ่เรื่อง กังหันสวาท กับใบประกาศสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ตอนนี้โมเดลก็วางไว้บนหิ้งเลย

Image

เราไม่ได้สัมผัสตัวจริงของมิตร ฟังแต่ที่ดาราเคยร่วมงานเล่าให้ฟังในงานรำลึกว่าเขาเป็นคนใจดี ใจบุญ ชอบช่วยเหลือเพื่อน ใครเดือดร้อนก็ช่วยเหลือ เราฟังก็ว่าคุณมิตรเป็นคนดีน่านับถือ ไม่งั้นคงไม่มีใครมาพูดแบบนี้ มีงานการกุศลที่ไหนก็ไป เขาจิตใจงดงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดาราตัวประกอบที่ยังไม่ได้ค่าแรง คุณมิตรจะบอกเจ้าของหนังให้จ่ายเขาก่อน

ในความรู้สึกก็ว่าคุณมิตรน่าจะได้บุคคลดีเด่นของโลก แต่จะมีหน่วยงานไหนมายกย่องดาราไหม หายาก กระทรวงวัฒนธรรมยังไม่หยิบอะไรเกี่ยวกับมิตรมาทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ยังไม่ต้องระดับโลก ของไทยยังไม่มีเลย ก็น่าแปลก คุณมิตรนับเป็นดาราไทยคนแรกที่โกอินเตอร์ ไปเล่นหนังต่างประเทศ ให้รุ่นน้อง ๆ ได้เดินตาม เขาส่งเสริมหนังไทย ไม่อย่างนั้นคงไม่ซื้อที่ตรงผ่านฟ้าฯ เพื่อสร้างโรงหนัง  สมัยนั้นโรงหนังไม่ค่อยรับหนังไทยเข้าฉาย เขาจะสร้างโรงหนังขึ้นมา รองรับหนังไทย เขาคิดการณ์ไกลว่าธุรกิจหนังไทยต้องก้าวหน้า สู้ต่างประเทศได้ แต่ความตายมาพรากก่อน ทุกอย่างก็เลยจบ ที่โดนยึด ถ้าเขายังอยู่คงมีส่วนช่วยธุรกิจหนังไทยให้ดีขึ้นแน่นอน เพราะเขาวางแผนไว้แล้ว โรงหนังชัยบัญชาเป็นโรงหนังชั้นหนึ่งของกรุงเทพฯ”  

สนั่น พยับพฤกษ์
“บ้าน เล่าเรื่อง”
มิตร ชัยบัญชา

Image

“บ้านเล่าเรื่อง” เป็นแหล่งสะสมรูปและโปสเตอร์หนังของ มิตร ชัยบัญชา ตั้งอยู่บนถนนคลองกระแชง กลางเมืองเพชรบุรี ไม่ไกลจากวัดพลับพลาชัย ที่ สนั่น พยับพฤกษ์ เป็นผู้เก็บสะสมและจัดแสดงไว้ในบ้านของตัวเอง

ใครเดินเข้ามาในบ้านหลังนี้ก็จะรู้เรื่องเกี่ยวกับ 
มิตร ชัยบัญชา ผ่านภาพเก่าและเรื่องเล่าจากเจ้าของบ้าน เช่น 

Image

“ดูเรื่องแรก ชาติเสือ หล่อ หุ่นสมาร์ต ได้เห็นตัวจริง หน้าโรงเรียนคงคาราม มากับเพชรามากินข้าว ติดตามตั้งแต่เรื่องแรก คนแทบไม่ดูเนื้อเรื่อง ขอแค่ให้มิตรแสดง

ฟิล์มหนัง ๑๖ มม. มีแค่ ๒-๓ ก๊อบปี้ ไม่มีเสียงในฟิล์มเหมือนฟิล์ม ๓๕  หนังขายยา หนังกลางแปลง คนเดียวพากย์ ๑๐ เสียง แต่บางงานก็หญิงคนชายคน เขาเรียกว่า ‘ชายจริงหญิงแท้’ นักพากย์เป็นศิลปินในมุมมืด

Image

เมืองเพชรฯ ส่วนมากฉายในวัด เวลามีงานศพ ตอนหลังปิดวิก เจ๊งตอนวิดีโอออกมา

พอรู้ว่าเป็นคนเมืองเพชรฯ ก็เริ่มสะสมเลย  ตอนอยู่ ม. ๓

เริ่มสะสมรูปก่อน รูปชุดทหารยืนเท้าสะเอว เพื่อนรู้ว่าผมชอบ เขาหามาให้ขนาดโปสต์การ์ด ผมก๊อปแล้วอัดขยาย พอหนังกลางแปลงกำลังจะเริ่มหายก็เริ่มเก็บโปสเตอร์ เฉพาะหนังที่มิตรแสดง  เก็บโปสเตอร์เรื่อง ลมเหนือ เป็นแผ่นแรก ต่อมาเอามาติดฝาบ้าน คนเดินผ่านไปมาสนใจ ก็เอามาติดเต็มเลย ตั้งชื่อเป็น ‘บ้านเล่าเรื่อง’ ตอนหลัง ‘เพชรบุรีดีจัง’ ก็เข้ามาช่วยบ้าง”   

พิพิธภัณฑ์มิตร ชัยบัญชา
แห่งเดียวในเมืองไทย
ในบ้าน บัญชา วาจาสุวรรณ

Image

คนที่เคยได้ประโยชน์จาก มิตร ชัยบัญชา ประกาศตั้งแต่ตอนเขาเสียชีวิตใหม่ ๆ ว่าจะสร้างอนุสาวรีย์บนจุดที่เขาตกเฮลิคอปเตอร์ แต่ผ่านมาหลายสิบปีก็ไม่เคยมี  กระทั่งในวาระครบรอบ ๕๐ ปีของการจากไป พิพิธภัณฑ์มิตร ชัยบัญชา จึงเกิดขึ้นที่เมืองพิษณุโลก โดยคนที่ไม่เคยรู้จักเป็นส่วนตัวหรือได้ผลประโยชน์อะไรจากมิตร เพียงพ้องกันแบบบังเอิญในนาม “บัญชา”

“เก็บสะสมมิตร เพราะรู้สึกว่าเขาเป็นคนต่อสู้ชีวิตคล้าย ๆ กับเรา  เขาใจสู้ขนาดไหน กำพร้า ดิ้นรนสร้างโรงหนังด้วยตัวเอง  ความภาคภูมิใจคือเราสู้ได้ ผมมั่นใจเลยว่าสู้ด้วยตัวเองมันภูมิใจในตัวเอง” บัญชา วาจาสุวรรณ เล่าย้อนที่มา

“เป็นเด็กวัด บิณฑบาตกับพระ เก็บโปสเตอร์ตามโรงหนังมาตั้งแต่อยู่ชัยนาท ป. ๖ ป. ๗ ที่เขาไปติดตามร้านค้า เชี่ยนหมากปู่ย่าตายาย ของเขาทิ้งเราเก็บ ย้ายไปไหนก็ขนไปด้วย พอมาแต่งงานอยู่พิษณุโลกก็ทำในบ้านตัวเองก่อน แฟนก็ว่าเยอะไปหรือเปล่า ล้นไปไหม  พอข้าง ๆ เขาขายที่ ผมก็เลยซื้อเพิ่มได้สามแปลงติดกัน เลยขยายออกมา”

จัดแสดงในบ้านตัวเอง ด้วยทุนของตัวเอง แต่ยินดีเปิดต้อนรับให้คนมาเที่ยวชมโดยไม่เรียกเก็บเงิน

“พ่อมิตรเขามีอะไรยังแบ่งปัน เป็นชีวิตที่มีอะไรก็แบ่งปันได้ เราก็เลยไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจ  บางคนบอกของเยอะแบ่งขายไปบ้าง ไม่เคยคิดที่จะขาย คนอาจมองว่าโปสเตอร์แผ่นไหนราคาสูงราคาต่ำ เราไม่ได้คิด ใบต่อใบแลกกันได้ ตอนหลังรู้ว่าราคามันต่างกัน เราคิดแต่ว่าใจรักด้วยกัน ช่วยกันเผยแพร่ เน้นอย่างเดียวว่าเด็ก ๆ มาเขาได้เห็น นักเรียนมาได้ความรู้”

เขาชี้ให้ดูโปสเตอร์หนังเรื่อง เพชรตัดเพชร แผ่นใหญ่สองใบต่อกันเป็นแนวนอน ใบหน้านักแสดงลอยออกมา

“ผมชอบมาก สมัยก่อนโปสเตอร์สองใบต่ออยู่โรงหนังใหญ่ในกรุงเทพฯ เราอยู่ต่างจังหวัดไม่มีทางหลุดมาได้ ภูมิภาคได้ใบเล็กแนวตั้ง ๒๑ x ๓๑ นิ้ว มีทั่วไป  สองใบต่อหายาก คนตามหากัน  ผมเอาโชว์ มีคนจะให้ ๑ หมื่นบาท มาคุยสี่ครั้งแล้ว ยังไงผมก็ไม่ขาย”

เมื่อก่อนบัญชาทำงานเป็นช่างภาพโทรทัศน์ช่อง ททบ. ๕ ตอนอยู่บ้านพักข้าราชการ โปสเตอร์ ภาพถ่ายเก่า ยังเอาออกมาโชว์ไม่ได้ ม้วนเก็บไว้  พอสร้างบ้านของตัวเอง วันทำบุญบ้านก็เอาออกมาติด คนสนใจมาก  หลังทำบุญเสร็จก็เอาภาพมาใส่กรอบติดโชว์

ในวันที่ ๘ ตุลาคม เขาทำพิธีไหว้ “พ่อมิตร” ทุกปี คนก็มาร่วมงาน เอาของมาช่วย จากนั้นก็มีคนบริจาคของเข้ามาเรื่อย

ล่าสุดเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ สมนึกภาพยนตร์ เมืองพิษณุโลก เอเยนต์หนังในเขตภาคเหนือ เพิ่งให้ภาพมิตร ชัยบัญชา ในเครื่องแบบทหารอากาศ เป็นภาพขนาดใหญ่ที่ไม่เคยคุ้นตา “ทายาทของสมนึกภาพยนตร์บอกว่า คุณพ่อของเขาได้มาพร้อมหนังเรื่องสุดท้ายของพ่อมิตร ก่อนฉายหนังจะเอารูปนี้ขึ้นตั้งทำพิธีตามโรงหนัง ผมก็ภูมิใจที่ได้ภาพนี้มาอยู่ในพิพิธภัณฑ์”

Image

ภาพบนป้ายไม้ขนาดใหญ่ มิตร ชัยบัญชา (เสื้อสีแดง) ปะทะ สมบัติ เมทะนี เป็นการพบกันเรื่องแรกใน สิงห์ล่าสิงห์ ตลอดเรื่องไม่มีใครล้มใครได้ และต่างก็เป็นฝ่ายดีด้วยกันทั้งคู่ ส่วนในชีวิตจริงพระเอกทั้งคู่เป็นเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียน และสมบัติก็ได้ขึ้นมาเป็นพระเอกแถวหน้าแทนเมื่อมิตรจากโลกไป

เขาเปลี่ยนกรอบใหม่เอี่ยม วางไว้หน้าสุดเคียงข้างกับรูปปั้นมิตร

“ทุกงานสาธารณะถ้าเขาขอความร่วมมือผมจะไปช่วย เขาจะได้ประโยชน์อะไรแล้วแต่เขา ผมมาช่วยด้วยใจตอนรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ผมเอาปฏิทินรูปในหลวงไปจัดแสดงนิทรรศการริมแม่น้ำกลางเมืองพิษณุโลก ๓ เดือน รู้จักช่างศิลป์ เขาก็มาปั้นหุ่นมิตรให้ ผมซื้ออุปกรณ์ เขาคิดค่าแรงนิดหน่อย ใช้บำเหน็จที่เก็บไว้ เมื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ก็อยากให้สมบูรณ์สักหน่อย”

ส่วนแรกของพิพิธภัณฑ์เป็นหนังสือ ถ้วยชาม ภาพถ่ายเก่าแต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในตอนนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวกับ มิตร ชัยบัญชา

ทั้งใบปิดหนัง โปสเตอร์หนัง หรือตามภูมิภาคเรียกโปรแกรมหนัง โชว์การ์ด

คัตเอาต์ที่ติดตั้งจากหลังคาลงมาข้างบ้าน แนวรั้ว จนถึงพื้นที่ในบ้านส่วนที่จำลองให้เหมือนโรงหนัง ซึ่งมีช่องนั่งคนขายตั๋วร้านขายโอเลี้ยง เครื่องฉายหนัง และฟิล์มหนังทั้งชนิด ๑๖ มม. และ ๓๕ มม.

“เริ่มต้นครั้งแรกตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์บัญชา จัดแสดงเงียบ ๆ มา ๑๐ กว่าปี  เมื่อก่อนไม่ได้เปิดตัว จนมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามมาขอให้เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑ์ มิตร ชัยบัญชา เขามีชื่อเราอยู่ข้างหลังอยู่แล้ว ผมโทร. หาพี่ต้น-คุณยุทธนา พุ่มเหม ลูกชายคนเดียวของพ่อมิตร เขาอนุญาตให้ใช้ชื่อนี้  นอกจากอนุญาตแล้วเขายังเอาอัฐิมาให้เก็บไว้ที่นี่ด้วย  ผมเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมารับ ปิดถนนหน้าบ้านเปิดงาน ให้คนร่วมรับรู้ เมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๕”

ช่วงหลังเมื่อมีคนมาเที่ยวชมมากขึ้น

“นักเรียน นักท่องเที่ยว คนทั่วไป เมื่อวานมีทหารอากาศมาเห็นรูปมิตรในเครื่องแบบแล้วถูกใจ ชาวต่างชาติเพิ่งมาหลังโควิด-๑๙ บางคนว่าคราวหน้าจะพาพ่อแม่ ครอบครัวมาด้วย  นักเรียนมีครูพามา ก็ให้ผมช่วยแนะนำว่า มิตร ชัยบัญชา เป็นใคร ถ้าเป็นเด็กโตหน่อยผมก็ชี้ให้อ่านประวัติตรงนั้น พูดโยงให้เด็กสนใจว่าเขาโด่งดังมากได้อย่างไร  บางโรงเรียนโทร. มาถามราคาตั๋ว ผมบอกไม่ต้อง จะเตรียมน้ำไว้ให้ด้วย”

ในฐานะเจ้าของบ้าน บัญชาต้องดูแลต้อนรับแขกมากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่เขาก็ยังไม่คิดเรื่องการเก็บค่าเข้าชม

“ลงทุนเองหมด ไม่ต้องมีใครช่วย ช่วงหลังลูกจ่ายค่าไฟให้ ค่าใช้จ่ายอื่นไม่ค่อยมี ไปขอเก็บค่าตั๋วเขาเหมือนบังคับ มันไม่ได้บุญ  ทำให้คนได้ชม ไม่จำเป็นต้องหวังรวย คนมาขอเลขได้ แต่ชีวิตเราเหมือนต้องสู้ด้วยตัวเอง ทางลาภลอยไม่ได้ต้องดิ้นด้วยตัวเอง ทำไปประคองชีวิตไป ทำงานอยู่ตรงนี้ทั้งวัน บางทีเหนื่อย ๆ แต่เห็นคนมาก็ใจชื้น เหมือนกำลังใจเรากลับมา ไม่ได้เงินก็จริง ไม่ใช่ใครมาต้องตอกบัตรเสียตังค์  อย่างนี้ผมชื่นใจ ดีใจมากกว่าด้วยซ้ำ”

ถึงช่วงหนึ่งบัญชาก็ปรึกษาภรรยาซึ่งเป็นข้าราชการด้วยกันขอออกจากราชการก่อนเกษียณ มาทำสิ่งที่รัก

“เราเกิดมาชีวิตหนึ่งไม่มีอะไรมา แล้วผมต่อสู้ชีวิตมาขนาดนี้ ผมทำให้ลูก ๆ น้อง ๆ รุ่นข้างหลังได้เห็นของที่ไม่เคยเห็น ผมก็ภูมิใจแล้ว ถ้าตายไปเราก็ได้เสื้อผ้าไปชุดหนึ่งแค่นั้นเอง อยู่มาวันหนึ่งลูกมาบอกว่าเขารับจะสานต่อของพ่อเอาไว้ทั้งหมด ไม่ขาย โอ้โฮ ดีใจ ผมได้ยินแล้วชอบเลย เป็นความสำเร็จของเรา”  

มิตร-ใหม่
มนัส กิ่งจันทร์
คืนชีวิตให้หนัง
มิตร ชัยบัญชา
๑๖ มม.

Image

ท่วงท่าการเคลื่อนไหวของเขา ไม่ว่าในบทบู๊ รัก เศร้า ซึ้ง โกรธ เครียด อ่อนโยน ตลกขบขัน ฯลฯ ล้วนแต่มีมนตร์เสน่ห์มัดใจคนดูให้ชื่นชมหลงใหล จนกลายเป็นแฟน “หนังมิตร” อย่างเหนียวแน่นหนึบ จนแทบว่าไม่ต้องสนใจเนื้อเรื่องก็ได้ ขอมีมิตรเป็นพระเอก แฟนหนังก็พร้อมแห่กันมาดู

เมื่อยังมีชีวิตอยู่เขาคือคนสำคัญที่เป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังไทยยุคฟิล์ม ๑๖ มม. เป็นจุดขายของบริษัทสร้างภาพยนตร์ เป็นพระเอกเจ้าเสน่ห์ที่ดึงดูดคนดู ซึ่งอย่างหลังสุดนี้ยังเป็นอยู่ต่อมา แม้ตัวเขาจะล่วงลับไปเกินครึ่งศตวรรษแล้ว


“หนังส่วนใหญ่ที่ฉายแล้วมีคนไปดูคือหนัง มิตร 
ชัยบัญชา” มนัส กลิ่นจันทร์ เล่าประสบการณ์ฉายหนังเก่า เมื่อครั้งทำงานอยู่ที่หอภาพยนตร์ฯ “เราได้ฟิล์มขี้เหร่แค่ไหนก็มีคนมาดู บางเรื่องเหลือ ๔๐ นาทีถึงชั่วโมง เนื้อเรื่องโดดมากเพราะฟิล์มหาย เราก็ใช้วิธีพากย์เชื่อมโยงเรื่องราวให้ได้”

มนัสคลุกคลีอยู่กับหนัง การฉายหนัง การพากย์หนังมาตั้งแต่เด็ก รวมทั้งเคยมีความฝันที่จะเป็นคนเร่ฉายหนังกลางแปลงด้วย  ความฝันวันเยาว์ของเขาไม่เป็นจริงเพราะยุคหนังกลางแปลงผ่านพ้นไปก่อน  เขาได้มา
เฉียดใกล้วงการฉายหนังช่วงที่มาทำงานประจำอยู่ที่หอภาพยนตร์ฯ ๑๐ กว่าปี ก่อนเกษียณอายุ ทว่าในวัยหลังเกษียณเขากลับได้เข้าใกล้ความฝันเมื่อวันวานอีกครั้งจากการเป็นผู้นำกลุ่มวัยหวานวันวาน ทำโครงการฉายหนังกลางแปลง มิตร ชัยบัญชา

“ช่วยกันตามหาฟิล์ม แล้วพากย์หนังกันเอง ทำกันมาช่วง ๒-๓ ปีนี้  สืบหาคนฉายหนัง หานักพากย์หนังช่วงปี ๒๕๐๒ ซึ่งหนังจากกรุงเทพฯ จะมีคนเอาไปฉายต่อที่ต่างจังหวัดจนถึงราวปี ๒๕๒๕  เราส่งคนไปสืบ” มนัสเล่าขั้นตอน ย้อนอดีตตามหาหนังเก่า มิตร ชัยบัญชา 
ยุคฟิล์ม ๑๖ มม.

“ตอน มิตร ชัยบัญชา ตาย ผมอายุ ๘ ขวบ ทันดูหนัง ๑๖ มม. ซึ่งไม่บันทึกเสียง แต่ละจังหวัดมีนักพากย์ของตัวเอง นักพากย์ชายหญิงพากย์สด ดูได้ไม่กี่ปีก็เป็นยุคหนัง ๓๕ มม. จากนั้นไม่มีใครฉาย ๑๖ มม. แล้ว เขาว่าเชย ช่วงเรียน ม.ศ. ๓-๕ ผมไปหัดฉายหนัง ๓๕ มม. ไปเป็นโฆษก กะว่าช่วงเรียนรามคำแหงจบแล้วจะไปทำหนังกลางแปลง แต่เป็นยุคร่วงโรยแล้ว”

ตามหาบ้านอดีตคนฉายหนังเร่ให้เจอแล้วไปนั่งคุย

“มีคนไปสืบหาให้ก่อน ไปเจอบางทีคนฉายตายไปแล้ว เมียเอาฟิล์มใส่โลงเผาไปด้วย เขาบอกชื่อเรื่องมาเราใจสลาย ต้องไปนั่งคุยเป็นวัน ครั้งหลังสุดเจอที่อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มาราว ๑๐๐ ม้วน เจ้าของฟิล์ม
ชื่อ สาคร เขจรฤทธิ์ เป็นคนฉายหนังคนสุดท้าย เขาหนีพ่อแม่ไปหัดฉายหนังอยู่จังหวัดขอนแก่น  ต่อมาพ่อขายไร่นาซื้อเครื่องฉายให้ เขาไปกว้านซื้อหนัง ๑๖ มม. มาเร่ฉายจนเลิกเมื่อปี ๒๕๒๖ จากนั้นไปบวช ขายบ้านให้ญาติซื้อไว้ เราไปถามหาฟิล์ม เขาบอกไม่มี แต่คุยทำความเข้าใจจนเขายอมเปิดบ้าน ฟิล์มกระจัดกระจาย มีรอยลอก ๆ มีปลวก ขี้ฝุ่น นี่เป็นกรุสุดท้าย”

มนัสให้ข้อมูลด้วยว่าวงการหนังไทยใช้ฟิล์ม ๑๖ มม. 
ทำหนังมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๒ จนปี ๒๕๑๕ หลังจากนั้นเป็นยุคของหนัง ๓๕ มม. ที่ทันสมัย มีการบันทึกเสียงในฟิล์ม แต่ใช้ปริมาณฟิล์มมากกว่า เรื่องหนึ่งราวเจ็ดถึงแปดม้วน ขณะที่ฟิล์ม ๑๖ มม. ใช้เรื่องละราวสามถึงสี่ม้วน และเนื่องจากมีหน้ากว้างกว่าทำให้ฟิล์ม ๓๕ มม. มีรอยย่นง่าย ไม่ทนเท่าฟิล์ม ๑๖ มม. ที่มีอายุมากกว่า

“ถ้าฟิล์มอยู่รวมกันในกระเป๋าสี่ม้วนก็ไม่ยาก เอาออกมาทำความสะอาด หาลำดับ แต่ถ้าอยู่คละก็กรอดูทีละม้วน แยกเรื่องโดยดูจากตัวละคร ดูว่าเรื่องนั้นมีกี่ม้วน”

แล้วใช้เทคโนโลยีแห่งยุคสมัยเข้ามาช่วย แปลงฟิล์มเป็นไฟล์

“ทำความสะอาดเสร็จเข้าเครื่องฉายแปลงไฟล์ที่เราดัดแปลงเอง ถ้าจ้างเครื่องเทเลฟิล์มทำชั่วโมงละ ๑๕,๐๐๐ บาท ราคาเครื่อง ๕๐ ล้าน  เราดัดแปลงทำออกมาเอง เหมือนเครื่องสแกนฟิล์ม หนังจะกลับหัว  ถ้าฟิล์มเก่ามากหนามเตยเสีย ผมใช้วิธีฉายถอยหลัง ค่อยเอาไฟล์ไปปรับให้เดินหน้าการแปลงไฟล์ตอนนี้ง่ายมากสำหรับเรา”

จากนั้นเป็นการพากย์เสียง ซึ่งส่วนใหญ่พากย์โดยมนัสเองโดยดัดเสียงไปตามแต่ละตัวละคร และใช้เสียงนักพากย์หญิงแท้ให้เสียงผู้หญิง

Image

ส่วนเสียงแวดล้อม “เอฟเฟกต์สำเร็จรูปมีขาย แต่เสียงเฉพาะถ้ามีต้องทำขึ้นเอง อย่างเสียงขวาน ปอกมะพร้าว ผัดกับข้าว เราต้องเอากระทะ ตะหลิวมาทำเอง  ทำให้ตรงหรือขยับเส้นเสียงเอาได้”

วางเสียงให้ตรงกับภาพแล้วบันทึกเป็นไฟล์สำเร็จ 
MPEC-4 เก็บในแฟลชไดรฟ์ เสียบ USB ฉายด้วยเครื่อง โปรเจกเตอร์ Full HD ได้ทุกที่ ไม่ต้องลำบากหาเครื่องฉาย และทำซ้ำได้ไม่จำกัด

ต่างจากต้นฉบับฟิล์มที่มีจำกัดมาก

“หนัง ๑๖ มม. ถ่ายด้วยกล้องตัวเดียว เรื่องหนึ่งมีฟิล์มแค่ชุดเดียว เป็นฟิล์มต้นฉบับที่ใช้ถ่าย ผู้สร้างขายให้กับสายหนัง ฉายในกรุงเทพฯ และทำเพิ่มอีกราวสามถึงสี่ก๊อบปี้ส่งไปฉายตามภูมิภาค ทั่วประเทศไม่เกินห้าก๊อบปี้ ต่ำสุดคือก๊อบปี้เดียว  หนังมิตรก็ไม่ได้ดังทุกเรื่อง  ถ้าไม่มีกระแสฉายในกรุงเทพฯ แล้ว ภาคไหนซื้อก็ซื้อไปเลย  หลังฉายต่างจังหวัดเอาฟิล์มกลับมาขายให้สถานีโทรทัศน์หรือหนังขายยา ใครให้ราคาสูงกว่าก็ได้ไป แต่บางเรื่องหนังที่ไม่ดังก็หาฟิล์มง่าย อย่าง สิงห์ล่าสิงห์ ที่มีสองพระเอก มิตร ชัยบัญชา ปะทะ สมบัติ เมทะนี ฉายจนเละหมดฟิล์มไม่เหลือ

“คนว่าเหมือนเอาขยะเข้าบ้าน แต่มีค่าสำหรับเรา เราทำเพื่อให้ประโยชน์ตกกับหนังกลางแปลงในอนาคต ให้คนโหยหาหนังไทยในอดีต” ไม่เพียงแต่ตามหาฟิล์ม เขายังตามสืบค้นหนังสือพิมพ์ในอดีตทำฐานข้อมูลประวัติศาสตร์หนังที่เคยฉาย

“เปิดหนังสือพิมพ์จดว่าหนังเรื่องไหนฉายเมื่อไร 
เมื่อก่อนเขาจะลงใน ไทยรัฐ กับ เดลินิวส์ พบว่ามีหนังมิตรฉายทั้งหมด ๒๖๖ เรื่อง ปีที่มีหนังมิตรฉายสูงสุด ๓๘ เรื่อง ที่ถ่ายไม่จบอีก ๒๐ กว่าเรื่อง ทำเป็น “ข้อมูลประวัติศาสตร์หนังไทย” ของพระเอกคนอื่น ๆ ด้วย แจกไปลงในเว็บไซต์ กลายเป็นข้อมูลภาพยนตรานุกรม ให้เขาได้มีข้อมูลศึกษา  ให้เขามันไม่หมด ที่เราก็ยังอยู่”

หนังมิตรที่หมดลิขสิทธิ์แล้วหลัง ๕๐ ปีนับแต่ฉายครั้งแรก กลุ่มวัยหวานวันวานนำมาพากย์เสียงใหม่ แปลงฟิล์มเป็นไฟล์พร้อมฉาย ตอนนี้มี ๑๔ เรื่อง 
แต่ละเรื่องยาวประมาณ ๓๐-๗๐ นาที

“เน้นฉากเห็น มิตร ชัยบัญชา เวลาไปฉายกลางแปลงผมจะตัดให้ฉากมิตรขึ้นก่อนเลย หนังบางเรื่อง
จึงเหลือแค่ราว ๓๐ นาที ฉบับเต็มก็เก็บเอาไว้  บางเรื่อง ๒๐-๓๐ นาทีกว่ามิตรจะออก เราเอาออก กระโดดเข้าตอนมิตรเลย คนดูเดินผ่านมาให้เห็นมิตรอยู่บนจอเลย เพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ๆ ให้ได้รู้จักพระเอก มิตร ชัยบัญชา”

ทุกวันนี้มนัสจึงออกเร่ฉายหนัง ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางไปคนเดียวด้วยรถไฟ ไปขอจอเจ้าภาพฉายหนังมิตร
ให้คนดูฟรี ๆ

“สมัยก่อนขอให้ถือหนัง มิตร ชัยบัญชา ไป คนแย่งกันฉาย เพราะมีคนรอดูเยอะ ทุกวันนี้ถือหนังมิตรไป ใครอะ ไม่รู้จัก ถ้าเราถอยมันคือจบ ที่ไหนมีเจ้าภาพ เราจะไปฉายให้ ขอแทรกสัก ๑ ชั่วโมงก็ยังดี ผมจะลองเดินดูสักปีนับจาก ๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ จะฉายได้กี่ครั้ง”

จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โครงการฉายหนัง “กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา” ได้ลงจอมาแล้ว ๑๖ ครั้ง

เขายังไม่คิดทำโรงฉายอยู่ที่เดียว บอกว่านั่นไม่สนุก ออกไปเร่ฉายได้พูดคุย ได้เล่าขั้นตอนการทำงานให้คนดูได้รู้เบื้องหลังไปด้วย ได้คุยถึงเทคนิคการถ่ายทำ 
อย่างการถ่ายสองครั้งบนฟิล์มชุดเดิมในยุคที่ยังไม่มีเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิก  บางทีคนดูจะให้เงิน เขาไม่รับ เพราะฟิล์มส่วนใหญ่ได้มาฟรี ๆ ไม่เกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ที่ต้องซื้อ เขาก็เรี่ยไรผ่านทางหน้าเฟซบุ๊ก

แต่ถ้าวันหนึ่งหมดแรงที่จะออกไปฉายหนัง หรือ
หาที่ฉายยากขึ้น มนัสคิดว่าจะหาที่ทำ “บ้านหนัง” เป็นที่ฉายหนังมิตรอย่างเดียวเลย

“ผมรู้ว่าหนังเก่าที่จะเรียกคนให้ออกมาจากบ้าน
มาดูได้ ต้องเป็นหนังที่ มิตร ชัยบัญชา แสดง  ในเมื่อเป็นหนังที่คนอยากดู เวลาที่เหลือผมทุ่มให้กับหนัง มิตร ชัยบัญชา เลย หามาฉายให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้”

“โรงหนังชัยบัญชา” เคยเป็นความฝันที่ไปไม่ถึง
ของ มิตร ชัยบัญชา แต่ “บ้านหนัง มิตร ชัยบัญชา” มีความหวังที่จะเป็นไปได้แม้เขาจากไปกว่า ๕๐ ปีแล้ว 

หากผู้ชมยังต้องการดูหนังของเขา