กระเป๋ารีไซเคิล
จากไซ่ง่อน
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพกระเป๋า : ประเวช ตันตราภิรมย์
ปัจจุบันใครๆ ก็ไปเที่ยวเวียดนามได้ สุดแท้แต่จะเลือกบินไปเมืองใดและเส้นทางไหน เพราะสายการบินราคาประหยัดบินไปถึงแทบทุกหัวเมืองใหญ่แล้ว ส่วนเรื่องของฝาก กลายเป็นธรรมเนียมว่า ถ้าไม่ใช่กาแฟยี่ห้อดัง ก็ต้องเป็นอะไร สักอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่ไปเยือน
ในความเป็นจริง ทุกวันนี้เพียงแค่เดินเข้าซูเปอร์มาร์เกตใหญ่ ๆ ในบ้านเรา ก็จะพบเห็นสินค้าจากเวียดนามสารพัด ตั้งแต่กาแฟ เส้นกวยจั๊บญวน จนถึงแผ่นแป้งสำหรับห่อแหนมเนือง วางเคียงคู่กับสินค้าจากญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปอยู่แล้ว
แต่ของที่ระลึกอย่างหนึ่งที่ผมยังไม่เคยเห็นใครอิมพอร์ตเข้ามาขายในเมืองไทยคือกระเป๋ารีไซเคิล
หลายคนอาจคิดว่าของแค่นี้ทำไมต้องนำเข้า รวมถึงอาจมีคำถามต่อไปว่า แล้วแตกต่างจากถุงผ้าที่หน่วยงานในบ้านเราทำแจกกันดาษดื่น (ตั้งแต่ยุคเกาะกระแสลดโลกร้อน) ตรงไหน
ข้อแตกต่างคือกระเป๋ารีไซเคิลในเวียดนามไม่ใช่ของทำใหม่ แต่มาจากการรีไซเคิลจริง ๆ และกลายเป็นสินค้าส่งออกชนิดหนึ่งไปแล้ว
ผมเจอกระเป๋ารีไซเคิล “เมดอินเวียดนาม” ครั้งแรก ตอนเตร็ดเตร่อยู่ที่เขต ๑ ของไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ซิตี) เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๕ ในย่านศาลาว่าการเมืองเก่าที่มีสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม มีห้องแถวที่ขายถุงแบบนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยลูกค้าส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ
ผมได้กระเป๋าใบหนึ่งกลับมา เป็นลายของอดีตถุงใส่อาหารสัตว์ น่าจะเป็นลายลูกเจี๊ยบ ซึ่งดูไปดูมาก็แปลกตาดีเวลาใช้งาน แถมยังติดซิป มีผ้าซับใน หุ้มด้วยพลาสติกกันน้ำอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
จากถุงปูนซีเมนต์ กระสอบปุ๋ยธรรมดา ๆ แทนที่ใช้แล้วจะทิ้งไปตามปรกติ กลับถูกนำมารีไซเคิล เป็นกระเป๋าใส่ของ อาศัยลายพิมพ์บนวัสดุดั้งเดิมที่เป็นกระดาษ พลาสติก ฯลฯ เป็นเอกลักษณ์ของกระเป๋าใบนั้น จากนั้นนำมาติดซิป ซับในทำให้แข็งแรง
ลายของกระเป๋าแบบนี้มักเป็นยี่ห้อปูนซีเมนต์และสินค้าต่าง ๆ ผู้ผลิตไม่ต้องเสียเวลานั่งสกรีน และส่วนมากเป็นงานแฮนด์เมด สนนราคาของกระเป๋ามีตั้งแต่ใบละ ๑ แสนดอง (ประมาณ ๑๕๐ บาท) จนถึง ๓ แสนดอง (ประมาณ ๔๕๐ บาท) ขึ้นกับขนาดและความหายากของลวดลาย
วัยรุ่นเวียดนามคนหนึ่งบอกว่าถือแล้ว “มันเท่” ความเท่ยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงญี่ปุ่น โดยตั้งราคาที่ใบละ ๓,๐๐๐ เยน (ประมาณ ๙๐๐ บาท) นอกจากนี้ยังมีที่ผลิตเป็นกระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์แลปทอป ราคาเริ่มที่ ๓ หมื่นเยน (ประมาณ ๙,๐๐๐ บาท)
กลับมาที่เมืองไทย ระยะหลังก็มีการผลิตกระเป๋าประเภทนี้ออกมาขายเช่นกัน ส่วนมากก็เป็นกระเป๋ารีไซเคิลจากถุงปูน โดยเฉพาะยี่ห้อดัง ๆ ล่าสุดรุ่นพี่ท่านหนึ่งเล่าว่า ที่สำคัญคือไม่ว่าจะของเวียดนามหรือของไทย มีขายบนโลกออนไลน์และในแอปพลิเคชันชอปปิงต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว
สำหรับไซ่ง่อน กระเป๋ารีไซเคิลแบบนี้อาจเป็นความหวังเล็ก ๆ ท่ามกลางปัญหาขยะกองโตที่นครแห่งนี้ผลิตถึงวันละ ๙,๕๐๐ ตัน แถมยังใช้สูตรการกำจัดแบบเดียวกับกรุงเทพฯ คือส่งออกไปฝังกลบยังจังหวัดรอบ ๆ โดยในแง่สถิติบ่อขยะเหล่านี้จะเต็มอย่างรวดเร็ว (Al Jazeera, 2014)
ในระดับประเทศ เวียดนามเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของโลกที่ปล่อยพลาสติกสู่มหาสมุทร อีกทั้งมีขยะพลาสติกเพียงร้อยละ ๒๗ ถูกรีไซเคิล ยังไม่นับความด้อยประสิทธิภาพของท้องถิ่นในการวางระบบกำจัดขยะ ขาดเงินทุนสนับสนุน ฯลฯ
ส่วนแผนของรัฐบาลกลางคือการเน้นเผาทำลายขยะ เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งกลับก่อมลภาวะทางอากาศเพิ่มขึ้นอีก ทั้งที่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใน ค.ศ. ๒๐๕๐
การที่วัสดุเหลือใช้อย่างถุงปูนซีเมนต์ กระสอบปุ๋ย ได้รับความนิยมนำมาผลิตเป็นของที่ระลึก จึงน่าจะเป็นทางออกเล็กๆ ทางหนึ่งที่ดูลงตัว ท่ามกลางความปวดหัวเรื่องขยะที่เป็นปัญหาโลกแตกของนครแห่งนี้
ผมไม่แน่ใจว่า ถึง ค.ศ. ๒๐๒๓ แล้วคนเวียดนามยังฮิตกระเป๋ารีไซเคิล อันเป็นเอกลักษณ์แบบนี้อยู่หรือไม่