Image
รวมมิตร
รวบรวม : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ตลอดชีวิต
มิตรอยู่บ้านกี่หลัง

ลืมตาดูโลกที่บ้านแม่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี ตลาดท่ายาง อายุขวบกว่าไปอยู่บ้านปู่ย่าที่บ้านไสค้าน ต่อมาเป็นเด็กวัดอยู่วัดท่ากระเทียมและวัดสนามพราหมณ์กับหลวงอาแช่ม เข้ากรุงเทพฯ มาอยู่บ้านแม่ ย่านนางเลิ้ง เมื่อเป็นดาราเริ่มมีชื่อเสียงไปเช่าบ้านอยู่ที่ซอยปลูกจิต ย่านบ่อนไก่ คลองเตย อยู่กับภรรยาคนแรก ก่อนไปเช่าบ้านในซอยกลาง ย่านสุขุมวิท กับภรรยาคนที่ ๒ และต่อมาปลูกบ้านของตัวเอง ตั้งชื่อว่ารังรักสีมรกต เป็นกลุ่มบ้านสามหลัง บนพื้นที่ ๒๐๐ ตารางวา เลขที่ ๑๖๘ ในซอยจันทโรจน์วงศ์ ย่านพญาไท เป็นบ้านหลังสุดท้ายในชีวิต
Image
ภรรยาสามคน
คนแรกจารุวรรณ (จิ๋ม) สวีรวงศ์ พบกันตอนมิตรเช่าบ้านอยู่ในซอยปลูกจิตร ถนนพระรามที่ ๔ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของฝ่ายหญิง ตอนเธออายุ ๑๕ ปี หลังมิตรเสียชีวิตจารุวรรณให้สัมภาษณ์ว่า “มีลูกด้วยกันคนหนึ่ง จดทะเบียนกันแล้วย้ายไปอยู่กันตามลำพังในซอยนภาศัพท์” ตอนหลังห่างร้างกันแต่มิตรยังคงไปมาหาสู่และส่งเงินให้ลูกเรียนหนังสือ

คนที่ ๒ กิ่งดาว ดารณี ตอนมิตรแสดงเรื่อง มังกรคะนอง ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน ๖ ปี โดยไม่ได้แต่งงานและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของดาราในยุคสมัยนั้นที่ต้องปกปิดเรื่องชีวิตคู่เนื่องจากกลัวจะเสียความนิยมจากแฟนหนัง กิ่งดาวแยกทางไปเรียนต่อต่างประเทศเมื่อมิตรลงสมัคร ส.ส.

คนสุดท้าย ศศิธร เพชรรุ่ง อดีตนางงามหลายตำแหน่ง เปิดเผยตัวออกมาเมื่อมิตรเสียชีวิต เธอให้สัมภาษณ์ว่า เริ่มคบกันเมื่อแสดงเรื่อง วิมานไฟ (ปี ๒๕๑๒) ด้วยกัน และเธอเข้าไปอยู่ในบ้านหลังใหญ่ของมิตรเมื่อ ๖ เดือนก่อนเขาเสียชีวิต
Image
รถสองคัน
รถจี๊ปทหารสีเทา รถเฟียตสปอร์ตสีแดง รุ่นพระเจ้าเหา เสียเงินค่าซ่อมพอซื้อรถใหม่ได้คันหนึ่ง
ที่ดิน
“จำได้ว่ารวมกัน ๑๕ ผืน แต่ละผืนเล็กใหญ่แตกต่างกัน ราคาประเมินคร่าว ๆ ในเวลานั้นรวมประมาณ ๑๑ ล้าน ไม่รวมบ้านซอยจันทโรจน์วงศ์และที่ใหม่ ๆ ที่เพิ่งซื้อ” ตามที่ กิ่งดาว ดารณี บันทึกไว้
ดาราผู้โด่งดัง
เป็นดาวค้างฟ้าคนนี้
เป็นลูกทัพฟ้ามาก่อน

เริ่มจากยศจ่าอากาศโท (สุพิศ พุ่มเหม) เมื่อปี ๒๔๙๙ และลาออกด้วยยศพันจ่าอากาศโท (พิเชษฐ์ พุ่มเหม) เมื่อปี ๒๕๐๖
Image
หน้ากากอินทรีแดง
มิตรได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของบทบาท “อินทรีแดง” แต่เขาไม่ใช่พระเอกคนแรกที่สวมหน้ากาก

ก่อนหน้านั้นพระเอกใหม่ชื่อ แมน ธีรพล ก็เคยสวมหน้ากากในเรื่อง เหยี่ยวราตรี แต่หนังไม่ประสบความสำเร็จนัก ซึ่งจ่าเชษฐ์ก็ได้สมัครเป็นพระเอกเรื่องนั้นด้วยแต่ไม่ได้รับเลือก กระทั่งได้มาดังทะลุฟ้าและลาลับไปพร้อมกับกลายเป็นเจ้าตำนานหน้ากากอินทรีแดง
Image
หน้ากากอินทรีแดง
มิตรได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของบทบาท “อินทรีแดง” แต่เขาไม่ใช่พระเอกคนแรกที่สวมหน้ากาก

ก่อนหน้านั้นพระเอกใหม่ชื่อ แมน ธีรพล ก็เคยสวมหน้ากากในเรื่อง เหยี่ยวราตรี แต่หนังไม่ประสบความสำเร็จนัก ซึ่งจ่าเชษฐ์ก็ได้สมัครเป็นพระเอกเรื่องนั้นด้วยแต่ไม่ได้รับเลือก กระทั่งได้มาดังทะลุฟ้าและลาลับไปพร้อมกับกลายเป็นเจ้าตำนานหน้ากากอินทรีแดง
ทรงผม
ช่วงแรกที่เข้าสู่วงการทรงผมมิตรหวีเสยขึ้นบนตามสมัยนิยมอย่างพระเอกยุคก่อนนั้น

จนปี ๒๕๑๐ เขาเปลี่ยนทรงผมตัวเองใหม่เป็นแสกซ้าย หวีวาดไปทางขวา ซึ่งตามธรรมชาติเส้นผมเขาหยิกหยักศก ม้วนขดเป็นก้นหอย ต้องหวีดึงให้ตึงจึงเหยียดตรงได้
มิตรไม่เคยนุ่งยีน
เขาให้เหตุผลว่า “สวมแล้วดูไม่สุภาพ ใครจะใส่ก็ใส่ไปเถอะ พี่ไม่เอาคนหนึ่งละ ของฝรั่งก็ให้ฝรั่งใช้เหมาะกว่า”
รองเท้า
ไม่นิยมรองเท้าคัตชูหรือแบบผูกเชือก ชอบบูตสูงเลยข้อเท้า มีซิปด้านข้าง เพราะต้องการความรวดเร็ว
ถูกแบนจากสื่อ
ปี ๒๕๐๗ มิตรถูกแบนจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ซึ่งในที่สุดสมชายหรือ “ส. อาสนจินดา” เป็นผู้ไกล่เกลี่ย “นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่เพชฌฆาตที่มีดาบอยู่ในมือแล้วคิดจะฆ่าใคร ๆ ก็ได้ พวกเราคือเพื่อน เราเป็นเพื่อนกัน ต่างก็ช่วยเหลืออุ้มชูเกื้อกูลต่อกัน ไม่ใช่ใครมาทำเราเจ็บแล้วเราต้องเอาให้ตาย เราตักเตือนกันได้ เราเตือน เราปลอบขวัญ แล้วเราก็ช่วยกันส่งเสริมกันได้ สำหรับ มิตร ชัยบัญชา ยังมีอนาคตที่ดีไปอีกไกล เราต้องช่วยกันส่งเสริม เพื่อวงการฯ จะได้เจริญรุ่งเรืองต่อ ๆ ไป”

ส่วนมิตรกล่าวว่า “บางอย่างที่ผมอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมขอโทษด้วยครับ ผมสัญญาว่าตั้งแต่นี้ต่อไป ผมจะไม่พูดถึงสิ่งที่จะทำให้เสียหายต่อส่วนรวมหรือต่อหนังสือพิมพ์อะไรต่าง ๆ อีกต่อไป ผมขอสัญญา” เรื่องจึงจบลงด้วยดี
Image
เครื่องประดับ
เป็นดาราเลื่องชื่อและมีรายได้สูงจากการแสดงหนังหลายสิบเรื่องต่อปี แต่มีเครื่องประดับที่ติดตัวตลอดเพียงสองชิ้น นาฬิการาโดเรือนสีเงินกับแหวนทองหัวถักลายตะกร้อ สวมติดนิ้วนางข้างซ้าย ไม่เคยถอดจนเสียชีวิต
กลัวผี
ตาม บันทึกชีวิตรัก มิตร ชัยบัญชา โดย กิ่งดาว ดารณี ที่ได้อยู่ร่วมบ้านกัน ๖ ปี

“พี่เชษฐ์ดูลักษณะนิสัยใจคอเป็นชายชาตรีแต่ความลับที่ไม่มีใครล่วงรู้คือ พี่เชษฐ์กลัวผีกลัวขนาดหาคนกลัวผีมาเปรียบไม่ได้เลย”
อาหารมื้อสุดท้าย
ตามคำเล่าของ ไกร ครรชิต นักแสดงรุ่นน้องที่ติดตามเคียงข้างอยู่กับ มิตร ชัยบัญชา ตั้งแต่คืนวันที่ ๗ ตุลาคม จนถึงนาทีสุดท้าย “ผม มิตร ชุมพร ไปกินอาหารเช้าที่ตลาดศรีราชา มียำเนื้อ ผัดวุ้นเส้น ต้มยำปลาทู เป็นอาหารมื้อสุดท้ายของเขา”

ตอนเดินไปเข้าฉากสุดท้ายราว ๔ โมงเย็น เขายังไม่ได้กินข้าวเที่ยง นอกจากกล้วยน้ำว้ากับน้ำแก้วหนึ่ง
เฮลิคอปเตอร์
พาหนะที่นำมิตรไปสู่จุดจบ เป็นเฮลิคอปเตอร์คาวาซากิหัวโปร่งใส มีสองที่นั่ง ซึ่งผู้บังคับการกองบินตำรวจให้ไปประจำการอยู่ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อร่วมกับตำรวจน้ำปราบปรามผู้ลักลอบขนของหนีภาษีทางเรือแล้วมิตรได้ขอความร่วมมือมาใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์
Image
เสียง
คนดูแทบไม่เคยได้ยินเสียงที่แท้จริงของมิตรเพราะหนังที่เขาแสดงเกือบทั้งหมดเป็นฟิล์ม ๑๖ มม. ที่ไม่มีการบันทึกเสียงลงฟิล์ม เสียงในหนังจะเป็นเสียงของนักพากย์ซึ่งทุ้มหล่อไพเราะอย่างเสียงพระเอกแต่ในเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งเป็นฟิล์ม ๓๕ มม. แฟนหนังก็ได้ฟังเสียง มิตร ชัยบัญชา ในเพลง “สิบหมื่น” และ “แม่ร้อยใจ”
ของโปรด
เจ้าพ่อ-มิตร

เมื่อเป็น “เจ้าพ่อมิตร” ของที่คนนิยมนำมาเซ่นมักเป็นน้ำแดง

แต่ความจริงเมื่อยังมีชีวิตอยู่ อาหารโปรดของมิตรตามคำเล่าของภรรยาคือ แกงส้ม หอยแครงแกะราดน้ำจิ้มแบบพร้อมรับประทาน ปลาร้าทรงเครื่อง ไม่ชอบอาหารใส่กะทิ ขนมฝอยทองที่เป็นแพนิ่ม ๆ ไม่ใช่ฝอยทองกรอบ ผลไม้ กล้วยน้ำว้าสุก ดังที่เขาเคยสั่งไว้ว่า “ถ้าพี่ตายไปอย่าลืมทำแกงส้มไม่ต้องใส่น้ำตาล กับฝอยทอง ส่งไปให้พี่ด้วยนะ แถมผลไม้คือกล้วยน้ำว้าสุก แค่นี้ก็พอแล้ว”
คติประจำใจ
“มีเวลาพักถมไปในหลุมฝังศพ”

คติประจำใจที่มิตรกับเพื่อนหนุ่มละแวกนางเลิ้งใช้กันจนวาระสุดท้ายของชีวิต