Image
ดนตรีประกอบ
เครื่องชูรสแห่งภาพยนตร์
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
...เหมือนขาดน้ำได้น้ำในยามแล้ง เหมือนขาดแสงได้แสงเดือนเยือนผ่องใส เหมือนขาดร่มสมหมายได้ร่มไทร เหมือนป่วยไข้ได้หมอมาบรรเทา

(เพลง “ร่มเกล้า”, คำร้อง หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์, ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน)

แล้วจินตนาการสิ...

หนังสยองขวัญจะจืดอย่างไรถ้าไม่มีดนตรีเร้าอารมณ์ให้สะดุ้งตกใจ

หนังโรแมนติกจะกร่อยแค่ไหนถ้าไม่มีเพลงหวานซึ้งถ่ายทอดอารมณ์รักของพระนาง

หนังแอกชันที่ขาดเสียงกระตุ้นให้ตื่นเต้นกับลีลาบู๊ของพระเอก-ผู้ร้ายคงยิ่งแล้วใหญ่

ยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีบันทึกเสียงลงแผ่นฟิล์มต้องใช้นักดนตรีทั้งวงบรรเลงสดขณะฉายหนัง หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกือบ ๑๐ ปีนั่นละถึงมีผู้หาวิธีบันทึกเสียงสำเร็จและใช้ครั้งแรกใน The Jazz Singer ภาพยนตร์แนวดนตรีของสหรัฐอเมริกา

แต่นั้นดนตรีก็พัฒนาควบคู่กับหนังเพื่อสร้างเสริมจินตนาการแก่ผู้ชม
Image
“ร่มเกล้า” คือหนึ่งในเพลงประกอบหนังเรื่อง เงิน เงิน เงิน ของละโว้ภาพยนตร์ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน ร่วมแสดงรับเชิญและร้องนำหมู่ในเพลงประกอบ ฉากที่ขุนหิรัญ ลุงของอรรคพล (พระเอก) ให้คนมาป่วนไนต์คลับที่อรรคพลสร้างกับชาวชุมชนจนพังพินาศ ขณะที่ทุกคนกำลังท้อแท้ ข่าวพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็ดังขึ้น เป็นพลังใจให้พวกเขาฮึดสู้

ครั้งฉายปี ๒๕๐๘ มีคำโปรย “เพลงพราว ดาวพรู ดูเพลิน” ด้วยเพลงมากถึง ๑๔ บท จาก ๑๕ นักแต่งเพลง สร้างรายได้เป็นประวัติการณ์ และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี ๒๕๕๕ ในวัยหนุ่ม ครูเอื้อกับเพื่อน ๆ ร่วมตั้งวงดนตรีไทยฟิล์ม ประจำบริษัทภาพยนตร์ไทยฟิล์ม จำกัด เพื่อเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์  หลังบริษัทเลิกกิจการครูเอื้อพาวงเข้าทำงานที่กรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมารู้จักในชื่อ “วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์” ครั้นรับงานส่วนตัวจะใช้ชื่อ “วงดนตรีสุนทราภรณ์”

ตลอดชีวิตครูเอื้อแต่งเพลงประกอบหนัง ละคร โฆษณาเยอะชนิดที่ปัจจุบันยังไม่มีศิลปินไทยทำได้

ตรงหน้าคือไวโอลิน เครื่องดนตรีตัวโปรดที่ครูเอื้อมักใช้บรรเลง-คุมวง

รักษา-จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์