นักวาดโปสเตอร์หนังมิตร
คนสุดท้าย
กำพล นิยมไทย
มิตรชัย บัญชา
หลักหมายหนังไทย หลักไมล์ชีวิต
ปริศนาความตาย
สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จากเรื่องราวที่เขาเล่าให้ฟัง น่าจะกล่าวได้ว่า กำพล นิยมไทย เป็นนักวาดโปสเตอร์หนังหรือใบปิดหนังรุ่นท้ายที่ได้วาดหนัง มิตร ชัยบัญชา เพราะในช่วงที่กำลังเป็นศิลปินหนุ่ม เขากับเพื่อนเป็นคนวาดโปสเตอร์หนังเรื่อง อินทรีทอง
ก่อนหน้านั้นเขาคลุกคลีกับงานเขียนป้ายหนังมาตั้งแต่เรียน ป. ๗ กำพลเล่าว่าภูเก็ตสมัยนั้นมีโรงหนังสามแห่ง เขาชอบดูหนังมาก ยอมไปช่วยเขียนป้ายติดหน้าโรงหนังให้ฟรี เพื่อได้ดูหนังโดยไม่ต้องซื้อตั๋ว
“ได้ใบปิดมาตีสเกลวาดติดหน้าโรง ตั้งแต่อายุ ๑๔ ผมได้อาศัยดูหนังฟรี หัดวาดรูป ๓ ปีนี้ ไม่เคยได้เงิน เขียนเพื่อจะดูหนังเท่านั้นเอง ตั้งใจว่าถ้าได้เข้ากรุงเทพฯ จะเขียนโปสเตอร์ ลงลายเซ็นให้เหมือน ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’” เมื่อมาเรียนเพาะช่างก็ได้ฝึกเขียนโปสเตอร์หนังกับอาจารย์รุ่นก่อน รวมทั้ง “เปี๊ยก โปสเตอร์” และกลุ่มลูกศิษย์ที่มีฝีมือ
“ชาติเสือ, จ้าวนักเลง, เหนือมนุษย์ ใบปิดยังใช้ตัดแปะ ตัดรูปและตัวหนังสือมาแปะ พิมพ์สองสี ร้ายก็รัก เป็นหนังมิตรเรื่องแรกที่วาดโดย ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ ต่อมาก็ แสงสูรย์ ช่วงนั้นต้องส่งไปพิมพ์ที่ฮ่องกง”
ตอนหลังเมื่อรุ่นอาจารย์เลิกเขียน กำพลกับเพื่อนก็ออกมารับงานเอง
“อินทรีทอง เป็นใบแรกที่ออกมารับงานเอง เมื่อปี ๒๕๑๓ เรามีสามคน สเกตช์โครงร่างโปสเตอร์ไปเสนอเจ้าของหนัง แล้วมาตีสเกลวาดลงตามจุด เอาวิธีการของอาจารย์และเพื่อนที่มีฝีมือมาใช้ เราวาดทีละคน ใครตื่นเช้าก็เริ่มเขียน คนหนึ่งอาบน้ำ นั่งพัก อีกคนเขียน ใช้เวลา ๒-๓ วันเสร็จ ได้ค่าวาดใบใหญ่ ๓,๐๐๐ ใบเล็ก ๑,๕๐๐”
เขายังให้ดูอุปกรณ์การทำงานด้วย เป็นจานสีแบบเฉพาะที่ใช้กับงานเขียนสีโปสเตอร์ เป็นกระบะไม้ทรงสี่เหลี่ยมมีช่องเล็ก ๆ สำหรับใส่สีอยู่ริมขอบ ช่องใหญ่สุดตรงกลางเป็นที่ใส่น้ำแข็ง ซึ่งมีแผ่นกระจกสำหรับผสมสีปิดทับ ความเย็นจากน้ำแข็งจะช่วยรักษาความชื้นให้สีโปสเตอร์ซึ่งเป็นสีที่แห้งเร็ว
กำพลเล่าด้วยว่าโปสเตอร์ อินทรีทอง ที่เขาวาดได้รับการพิมพ์สามครั้ง ซึ่งหากไม่สังเกตจริง ๆ คนทั่วไปอาจดูไม่ออก
กำพลแนะให้สังเกตโปสเตอร์ อินทรีทอง พิมพ์ครั้งที่ ๒ ตัวหนังสือชื่อเรื่องจะเป็นสีเดียว ต่างจากครั้งแรกที่ไล่น้ำหนักสี กับชื่อและเบอร์โทร. ผู้จัดจำหน่ายที่ต่างกัน
“ครั้งแรกพิมพ์ตามภาพต้นฉบับที่ผมไล่โทนสีตัวหนังสือ มีเบอร์โทร. บริษัทจัดจำหน่าย จินตนาฟิล์ม อยู่มุมล่างซ้าย ต่อมาบริษัทกุหลาบทิพย์ผู้สร้างหนังเรื่องนี้เป็นผู้จำหน่ายเอง นำโปสเตอร์เดิมมาพิมพ์ใหม่ทับชื่อผู้จัดจำหน่ายเดิม ตัวหนังสือ ‘อินทรีทอง’ ที่ไล่โทนก็เปลี่ยนเป็นสีตายสีเดียว เปลี่ยนแบบตัวหนังสือ ฉายที่ วันที่ นี่หลังจากฉายได้ปีเดียว ครั้งที่ ๓ ตอนนำมาฉายใหม่ที่โรงหนังแอมบาสเดอร์ ราวปี ๒๕๓๒ ชื่อโรงพิมพ์กับคำว่า ‘ฟัง ๔ เพลงเอก’ ถูกเจาะออก”
เมื่องานโปสเตอร์หนังยุคใหม่ถูกแทนที่ด้วยภาพถ่ายและคอมพิวเตอร์กราฟิก โปสเตอร์วาดด้วยมือที่เคยถูกทิ้งขว้างเมื่อฉายหนังแล้วกลับเป็นของสะสมที่มีค่า และกำพลก็ยังเดินต่อมาตามเส้นทางสายนี้
“นี่ มิตร ชัยบัญชา ทั้งกอง สมบัติ เมทะนี ทั้งกอง ไชยา สุริยัน ทั้งกอง โน่นคาวบอย อินเดีย ทั้งกอง” เขาชี้ไปตามมุมนั้นมุมนี้ในบ้าน ยังที่เก็บไว้ในห้องชั้นบนอีก
คนนอกวงการอาจสงสัย ทำไปทำไม เก็บใบปิดหนังในอดีตที่เก่าขาด แหว่งวิ่นมาซ่อมแซมใหม่ สะสมไว้ในบ้านเป็นตั้ง ๆ
“ผมทำมาเก็บสะสม ดูให้มีความสุข ผมเป็นนักสะสม ถ้ามีคนต้องการผมก็พรินต์มาขายให้ ใบละ ๑,๕๐๐ สวยกว่าต้นแบบอีก”
ศิลปะ ความงาม ธุรกิจ การสะสม การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ร้อยรัดกลมกลืนกันอยู่ในใบปิดหนัง ในยุคที่งานช่างศิลป์แขนงนี้ไม่ได้ทำหน้าที่โฆษณาหนังอีกแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้อดีตกาลยังคงมีชีวิตชีวา ต่อชีวิตให้จิตรกรรมใบปิดหนัง
“เมื่อก่อนใบปิดไม่มีค่า ผมเคยเอาไปห่อขนม เดี๋ยวนี้ใบตัดแปะยังขายกันเป็นพัน อินทรีทอง พิมพ์ครั้งหลังสุด ตอนนี้ขายกัน ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ว่าเป็นของแท้ คนซื้อกันใหญ่ ไม่ใช่ปลอม แต่เป็นการเอากลับมาฉาย แต่โปสเตอร์วาดครั้งแรกครั้งเดียว ที่พิมพ์ครั้ง ๒ ราคาตอนนี้ราว ๑ หมื่น ครั้งแรกแพงกว่านั้นก็ไม่มีจะขาย”