มิตรชัย บัญชา
หลักหมายหนังไทย
หลักไมล์ชีวิต
ปริศนาความตาย ฉาก 2
เขียนเรื่อง โดย...วีระศักร จันทร์ส่งแสง
๒๖
มกราคม
๒๕๐๖
กิ่งดาว ดารณี บันทึกว่าเป็นวันเริ่มชีวิตคู่ของเธอกับพระเอกอันดับ ๑ ของเมืองไทยยุคนั้น เธอเป็นภรรยาคนที่ ๒ แต่น่าจะนับได้ว่าเป็นคู่ชีวิตที่ได้อยู่ร่วมบ้านกับพระเอกยอดนิยมยาวนานที่สุดในช่วงที่เขากำลังโด่งดังสูงสุด เป็นการอยู่กินร่วมหอโดยไม่ได้แต่งงานอย่างเปิดเผยตามแบบของสังคมดารายุคนั้นที่ต้องปกปิดเรื่องคู่ครองไม่ให้แฟนหนังเสื่อมความนิยม เพียงแต่ให้หลวงพ่อธูป วัดแค นางเลิ้ง พระอาจารย์ที่มิตรนับถือ สวดมนต์ให้พร ประพรมน้ำมนต์ และผูกข้อมือให้คนทั้งสอง
กิ่งดาวถือเป็นหนึ่งในคนใกล้ชิดมากที่สุด ซึ่งตอนหลังได้เขียน บันทึกชีวิตรัก มิตร ชัยบัญชา จากที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพระเอกขวัญใจแฟนหนังไทยอยู่ ๖ ปี เริ่มจากบ้านนางเลิ้ง เลขที่ ๒๐๗ บ้านหลังแรกในกรุงเทพฯ ของมิตรนับแต่มาจากเพชรบุรี บ้านไม้สองชั้นบนที่ดินเช่าหลังนี้ตั้งอยู่ที่ถนนพะเนียง ถนนสายสั้นที่เชื่อมระหว่างถนนนครสวรรค์กับถนนหลานหลวง ที่เป็นถนนหลักสองสายของย่านนางเลิ้ง กรุงเทพฯ
กิ่งดาวถือเป็นหนึ่งในคนใกล้ชิดมากที่สุด ซึ่งตอนหลังได้เขียน บันทึกชีวิตรัก มิตร ชัยบัญชา จากที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพระเอกขวัญใจแฟนหนังไทยอยู่ ๖ ปี เริ่มจากบ้านนางเลิ้ง เลขที่ ๒๐๗ บ้านหลังแรกในกรุงเทพฯ ของมิตรนับแต่มาจากเพชรบุรี บ้านไม้สองชั้นบนที่ดินเช่าหลังนี้ตั้งอยู่ที่ถนนพะเนียง ถนนสายสั้นที่เชื่อมระหว่างถนนนครสวรรค์กับถนนหลานหลวง ที่เป็นถนนหลักสองสายของย่านนางเลิ้ง กรุงเทพฯ
บ้านของแม่ยี หรือสงวน ตั้งอยู่ตรงข้ามซุ้มประตู วัดแคนางเลิ้ง ตามที่กิ่งดาวบรรยายภาพเมื่อช่วงหลัง ปี ๒๕๐๐ ว่า
“ประตูบ้านตรงกับประตูวัดแค สองข้างขนาบด้วยห้องแถวไม้เก่า ๆ จากประตูหน้าถึงตัวบ้านไกลประมาณ ๑๐ เมตร มีทางเดินเป็นสะพานไม้ที่ปูเต็มเนื้อที่กว้างประมาณ ๒ เมตร”
มิตรได้เข้ามาอยู่ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ จนกระทั่ง กิ่งดาวดารณี ได้เข้ามาร่วมชีวิตคู่อยู่กินด้วยช่วงหนึ่ง ก่อนทั้งคู่จะพากันออกไปปลูกบ้านอยู่ในซอยจันทโรจน์วงศ์ (อารีย์สัมพันธ์ ๓) ย่านพญาไท เธอจึงรู้จักและจดจำบ้านของมิตรได้อย่างดี
“ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นบนเป็นที่อยู่ของป้าและลุง (สามีใหม่ของป้า) ชั้นล่างขยายเป็นห้องเดี่ยวขนาด ๘ คูณ ๘ เมตร ในห้องมีแอร์คอนดิชั่น เฟอร์นิเจอร์เครื่องนอน ตู้เสื้อผ้า และของตกแต่งสวยงามเรียบร้อย เป็นของส่วนตัวของพี่เชษฐ์ ห้องรับแขกและห้องน้ำแยกอยู่อีกด้าน โดยมีทางเดินแคบ ๆ ระหว่างห้องนอนพี่เชษฐ์กั้นยาวตลอดจากหน้าบ้านถึงหลังบ้าน”
ทั้งบรรยายภาพห้องนอนของมิตร ที่เธอและคนในวงการแสดงมักเรียกว่าพี่เชษฐ์ไว้ด้วย
“เนื่องจากพี่เชษฐ์เคยรับราชการทหารมาก่อน ทำให้พี่เชษฐ์เป็นคนละเอียด รักความสะอาด มีระเบียบ รวมทั้งรักความสวยงาม ห้องของพี่เชษฐ์จึงเรียบร้อยกว่าห้องของผู้หญิงอีกมากมายหลายคน”
ชีวิตด้านการแสดงของมิตรก็เริ่มต้นจากบ้านนางเลิ้งหลังจากหนังเรื่อง เล็บครุฑ โด่งดังตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ จ่าอากาศโท พิเชษฐ์ พุ่มเหม ได้ดูหนังเรื่องนี้กับเพื่อนทหารอากาศ แล้วเกิดแพสชันว่าเขาจะเป็นพระเอกหนังให้ได้ และเขาก็ก้าวไปถึงฝั่งฝันใน ๖ เดือนต่อมา
อาจเหมือนเป็นความสำเร็จโดยง่ายใช้เวลาไม่นาน เหมือนเส้นทางโรยด้วยดอกกุหลาบ แต่ก็มีความพากเพียรพยายาม บากบั่นมุ่งมั่นอันแรงกล้าอยู่เบื้องหลัง
คนจะเป็นดาราในสมัยนั้นมักต้องเริ่มจากส่งรูปไปลงตามหนังสือดารา หรือผ่านแมวมองที่มักมามองหาดาราในย่านที่ชุมนุมของคนทันสมัย คนอยากเป็นดาราก็มักแต่งตัวดี ๆ ไปปรากฏตัวในที่นั้นให้เข้าตาแมวมอง
จ่าอากาศหนุ่มวัย ๒๐ ต้น ๆ ได้อาศัยเพื่อนชาวเมืองเพชรฯ ด้วยกันที่คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือ พาไปแนะนำตัวตามกองถ่าย ซึ่งได้รับการปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าจ่าพิเชษฐ์จะหน้าตาหล่อเหลาในสายตาเพื่อน ด้วยร่างสูงสมาร์ต คิ้วดกหนา ตาคมแฝงความเศร้า จมูกโด่ง ผมหยักศก ผิวพรรณดี หุ่นกำยำด้วยมัดกล้าม ตามมาตรฐานความหล่อแบบชายไทย แต่ไม่พ้นกลับกลายเป็นเหตุผลด้านด้อยในสายตาผู้กำกับฯ ที่ยังมองไม่เห็นแววดาราในตัวเขา ด้วยข้อติว่าจมูกที่โด่งนั้นโค้งจนดูงองุ้ม โหนกแก้มไม่สวย อีกทั้งรูปร่างที่สูงถึง ๑๘๖ เซนติเมตรนั้นยากจะหานางเอกมาเล่นประกบด้วย
แต่ กิ่ง แก้วประเสริฐ เพื่อนคนเมืองเพชรบุรีด้วยกันยังพาเขาไปแนะนำตัวกับผู้กำกับฯ คนอื่น ๆ ต่อไป จนสุรัสน์ พุกกะเวส ชักนำไปเจอ รังสรรค์ ตันติวงศ์ เจ้าของบริษัททัศไนยภาพยนตร์ ประทีป โกมลภิส ผู้กำกับการแสดง ยอมรับให้เขาเป็น ไทย ศักดา ในเรื่อง ชาติเสือเมื่อปี ๒๕๐๑
แสดงเป็นพระเอกตั้งแต่เรื่องแรก โดยไม่เคยผ่านสถาบันสาขาวิชาด้านการแสดง ไม่เคยผ่านเวทีละครไม่เคยผ่านประสบการณ์การแสดง และไม่ผ่านสนามแคสติงคัดเลือกตัวนักแสดง
“หกเดือนที่ตระเวนตามกองถ่ายนั่นแหละ เป็นช่วงศึกษาเรียนรู้การแสดง” ที่มาของฝีมือด้านการแสดง ตามความเห็นของ อิงคศากยะ นรวโร ภิกขุ หรืออดีต อิงคศักย์ เกตุหอม ผู้ติดตามสืบเสาะเรื่องราวชีวิตและความตายของ มิตร ชัยบัญชา มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐
“เขาเป็นคนทำอะไรทำจริง ช่วงนั้นมีเพื่อนจ่าอากาศฯ อยากเป็นพระเอกหนังเหมือนกัน ก็อาจแค่ความอยากแต่โยมมิตรเขาเป็นคนเอาจริง”
ไม่เฉพาะแต่คนที่ติดตามศึกษา คำเล่าลือจากเพื่อนร่วมยุคสมัยวัยไล่เลี่ยกันก็ยืนยันถึงความเป็นแบบอย่างของคนสู้ชีวิตมาแต่วัยเยาว์
และความเป็นคนที่วางแบบแผนชีวิตอย่างเป็นระบบ
นับตั้งแต่จากบ้านนอกมาเป็นเด็กยากไร้ในกรุงเทพฯเขาหารายได้ด้วยการช้อนลูกน้ำขายให้ตาโพธิ์ คนเลี้ยงปลากัดย่านนางเลิ้ง จนต่อมาเขาเป็นคนเลี้ยงปลากัดขายเอง
“มิตรจะตัดผมเกรียนตามแบบนักเรียน...เขาเป็นคนพูดน้อยและขี้อาย นุ่งกางเกงปะรูปใบโพธิ์ เรียกชื่อกันคำเดียวว่าพิศ” สมโภช ล้ำพงษ์ เพื่อนสมัยเป็นนักเรียน เคยบันทึกถึงมิตรในวัยเยาว์ภายหลังจากพระเอกยอดนิยมเสียชีวิตไปแล้ว
“เราอยู่หลังโบสถ์วัดแค นางเลิ้ง ริมถนนพะเนียง สมัยนั้นเป็นถนนดินมีหลุมบ่อตลอดทาง พิศกลับจากโรงเรียนก็ช้อนลูกน้ำตามสลัมแถวตรอกสะพานยาว และตามใต้ถุนบ้านข้างเคียงริมถนน เอาไปขายชายแก่เลี้ยงปลากัดที่คนแถวนั้นเรียกว่าตาโพธิ์”
บางฉากในหนังบางเรื่องที่พระเอก มิตร ชัยบัญชา เทินถาดห่อหมกไว้บนหัวเดินเร่ขายก็มาจากชีวิตจริงในช่วงวัยเรียน
“วันอาทิตย์โรงเรียนหยุด พิศกับข้าพเจ้าไปรับกล้วยแขกเดินร้องขายไปตามถนนทั้งวัน ต่อมากล้วยแขกขายดีข้าพเจ้าและมิตรไปรับห่อหมกจากบ้านริมถนนพะเนียงเดินขายใส่กระด้งทูนหัว ออกขายตั้งแต่เช้า ไปคนละทางส่วนมากมักไปสวนทางกันแถวสีลมหรือถนนตกบ่อย ๆ”
ในวันที่ไปโรงเรียน
“ตอนพักเที่ยงที่โรงเรียน มิตรจะไปรับจ้างร้านขายก๋วยเตี๋ยว ช่วยล้างชาม เขาก็จะได้กินก๋วยเตี๋ยวฟรีหนึ่งชาม พร้อมกับเงินอีกหนึ่งบาท” ตามคำเล่าของ บำเทอง โชติชูตระกูล เพื่อนรักที่คบกันมาตั้งแต่ ป. ๑
เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษา มิตรสนใจกีฬามวยสากล ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงทำให้เขากลายเป็นแชมป์มวยสากลสมัครเล่นของโรงเรียน และเป็นตัวแทนนักเรียน ม. ปลายไปชกแข่งขันระหว่างโรงเรียนด้วย
ลูกผู้ชายยุคนั้นร่างกายต้องกำยำด้วยมัดกล้าม เมื่อคิดจะเป็นพระเอกหนัง จ่าเชษฐ์ก็เพียรเล่นกล้ามเพาะกายโดยวางที่ยกน้ำหนักไว้ตามจุดต่าง ๆ แล้วตั้งกฎกับตัวเองว่าเมื่อเดินผ่านต้องแวะยกลูกเหล็กออกกำลังก่อนทุกครั้ง
แม้เมื่อได้เป็นดาราแล้ว เขาได้รับบทพระเอกในหนังเรื่อง ค่าน้ำนม ต้องควบขี่ม้ายิงปืน ซึ่งเขายังไม่เคยขึ้นหลังม้ามาก่อนเลย มิตรขอเวลา ๑ คืน เขาแทบไม่หลับนอน ใช้เวลาในคืนนั้นอยู่กับม้า ตอนแสงแดดเช้าทอแสงขึ้นจากขอบฟ้า คนในกองถ่ายก็เห็นเขาควบขี่ม้าตัวนั้นอยู่บนชายหาดศรีราชาแล้ว
แม้เมื่อเป็นดาราอาชีพแล้ว ความทุ่มเทเอาจริงเอาจังยังอยู่ในตัวเขาอย่างเต็มที่ตลอดมา ตามคำเล่าขานที่คนเคยได้ร่วมงานด้วยพูดถึงเขา
“ตรงต่อเวลา จะไม่ยอมให้เจ้าของหนังต้องเสียเวลารอ ขนาดง่วงนอนยืนหลับถ่ายก็แสดงให้” บำเทอง โชติชูตระกูล เพื่อนเรียนชั้นประถมศึกษาที่ตอนหลังบอกว่าเป็นผู้จัดการส่วนตัวของมิตรด้วย ให้สัมภาษณ์ พรชัย เฉินบำรุง บันทึกไว้ใน ตำนานพระเอกดาราทอง มิตร ชัยบัญชา “นัดถ่ายทำที่ไหน จังหวัดไกลเพียงไหน เขาจะไปถึงก่อนเวลาไม่ครึ่งชั่วโมงก็หนึ่งชั่วโมง ถ้ากองถ่ายยังไม่พร้อมเชษฐ์ก็จะช่วยจัดฉากหรือเรื่องต่าง ๆ”
แต่หาก...
“กระทั่งหมดเวลาที่ให้ไว้ถ้ายังถ่ายทำไม่เสร็จเขาก็จะเดินทางต่อทันทีเพราะมีคิวถ่ายทำต่อ ไม่ฟังคำขอร้องของเจ้าของหนังหรือผู้กำกับ เพราะได้ให้เวลาและไปถึงก่อนเวลานัด เขาจึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีของดารา”
เขาเป็นคนที่จริงจังสุดตัวตามสโลแกน “ไม่ได้ต้องได้” ที่เขายึดถือมาตั้งแต่เป็นครูฝึกทหารอากาศ ซึ่งกิ่งดาวเล่าว่า “ได้ยินจนชาชินในขณะที่ใช้ชีวิตร่วมกัน”
หลังปี ๒๕๐๗ ที่มิตรแสดงหนังปีละเกิน ๓๐ เรื่อง เขาจัดตารางตัวเองให้กับผู้สร้างหนังวันละ ๓ คิว เช้า บ่าย ค่ำ ทำงานวันละเกือบ ๒๔ ชั่วโมงเต็ม
ออกจากบ้านตอนเช้าโดยรถจี๊ปทหารสีเทาหรือรถเฟียตสปอร์ตสีแดง หรือไม่ก็โดยรถของกองถ่ายที่มารับ
การถ่ายหนังตอนกลางวันในยุคนั้นใช้แสงธรรมชาติ แดดหมดก็ใช้แสงไฟปั่นหรือแสงไฟในโรงถ่ายซึ่งจัดฉากจัดไฟเหมือนเวทีละคร ซึ่งเน้นฉากที่เรียกว่า “ถ่ายเจาะ” เก็บเรื่องราวเหตุการณ์ตามบทจนอาจถึงเช้า ซึ่งนักแสดงมีโอกาสได้พักงีบหลับบ้างช่วงเปลี่ยนฉากจัดไฟ เช้ากลับบ้านอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าออกไปเริ่มงานวันใหม่ต่อ วนเวียนไปอย่างนี้ มีวันหยุดเดือนละ ๑ วัน ในวันที่ ๑๕
เวลาในชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการถ่ายหนัง กินอาหารในกองถ่าย อาศัยนอนงีบหลับบนพื้นหรือบนเก้าอี้พับระหว่างรอเข้าฉาก
“เมื่อเห็นพี่เชษฐ์ล้มนอนกับเก้าอี้ยาวสำหรับนั่งเรียงทานข้าว ซึ่งเป็นไม้แผ่นเดียว นอนหงายกอดอกเงียบ ไม่มีการดิ้น ไม่มีการกรน หลับสนิท บางครั้งไปนอนหลังฉากที่มีเพียงพื้นกระดานล้วน ๆ ดูน่าสงสารมาก...จนกว่าจะถูกปลุกเข้าฉาก ผู้เขียนจุดยากันยุงไว้ห่าง ๆ เตรียมน้ำยาบ้วนปากไว้ให้เรียบร้อย” ตามบันทึกของ กิ่งดาว ดารณี ภรรยาที่เป็นนักแสดงด้วยกัน
บางคนว่าเขาทุ่มเททำงานหนักเพื่อได้เงินมาทุ่มให้กับการสร้างโรงหนังชัยบัญชา เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย
บนที่ดินรูปสามเหลี่ยมชายธงขนาด ๕๑๔ ตารางวา หัวมุมสุดถนนราชดำเนินกลางฟากตรงข้ามป้อมมหากาฬที่ตั้งธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้าในปัจจุบัน เวลานั้นเป็นของบริษัทไทยเอนยิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งประกาศขายในราคา ๗ ล้านบาท
เขาขายที่ดินที่สระบุรี ๘ ไร่ นำบ้านในซอยจันทโรจน์วงศ์กับที่ดินอีกหลายแปลงไปจำนองธนาคาร ได้เงินมา ๙.๕ ล้านบาท จ่ายเป็นค่าที่ดิน ๗ ล้านบาท ที่เหลือเตรียมไว้ก่อสร้างโรงภาพยนตร์ในอุดมคติ ที่จะฉายเฉพาะหนังไทยซึ่งในยุคนั้นหาที่ฉายยาก เนื่องจากโรงหนังทั่วไปฉายแต่หนังต่างประเทศ
ปลายเดือนกันยายน ๒๕๑๓ ปรากฏป้ายโฆษณาหนัง อินทรีทอง ขนาดใหญ่ ซึ่งถ่ายใกล้เสร็จ มีโปรแกรมฉายต้อนรับปีใหม่ ๒๕๑๔ ตั้งอยู่กับป้ายที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการโรงภาพยนตร์ชัยบัญชา เคียงกันอยู่ริมสะพานผ่านฟ้าฯ
๕
ตุลาคม
๒๕๑๓
มิตร ชัยบัญชา เลือดเกรอะกรังเต็มตัว
“ไปคราวนี้มีแต่เลือดมาฝาก เต็มตัวไปหมดเลย” เขาชี้เลือดปลอมที่แห้งติดตัวให้เพื่อนนักแสดงในกองถ่ายดู ก่อนไปอาบน้ำเตรียมถ่ายทำเรื่อง คนึงหา ในคืนนั้น
ก่อนนั้นตลอดทั้งวันที่ผ่านมา เขาอยู่กับการถ่ายฉากสุดท้ายปิดกล้องภาพยนตร์จีนเรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ ที่ฮ่องกงแล้วขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ ทันที ถึงสนามบินดอนเมืองตอน ๓ ทุ่มเศษ ก็มุ่งตรงไปโรงถ่าย ยังไม่ได้อาบน้ำ เลือดปลอมยังแห้งกรังเต็มตัว ทำให้บางคนคิดย้อนกลับไปว่านั่นเป็นลางบอกเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในอีก ๓ วันต่อมา
เขาอาจเป็นดาราไทยคนแรกที่ “โกอินเตอร์” ไปสู่วงการภาพยนตร์ระดับนานาชาติ
ช่วงนั้นมิตรได้เซ็นสัญญาร่วมแสดงภาพยนตร์จีนเรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ และอีกหลายเรื่องมีแผนจะถ่ายทำกันต่อ ภาพยนตร์เหล่านี้มีโปรแกรมจะส่งฉายทั่วโลก เขาต้องแสดงกับนางเอกฮ่องกงในเวอร์ชันที่จะฉายในตลาดโลก และแสดงกับนางเอกไทยในเวอร์ชันที่จะฉายในเมืองไทย พระเอกหนุ่มจากเมืองไทยต้องบินไปถ่ายทำที่ฮ่องกงอยู่เป็นระยะ จนครั้งสุดท้ายในช่วง ๕ วันแรกของเดือนตุลาคม ๒๕๑๓
๖ ตุลาคม รถกองถ่ายรับไปถ่ายภาพยนตร์เรื่อง จำปาทอง ที่อยุธยาตั้งแต่เช้าตรู่ ช่วงค่ำเข้าโรงถ่ายแสดงภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ที่เขาเป็นผู้กำกับการแสดงเองด้วย
๗ ตุลาคม ทีมงาน อินทรีทอง ยกกองถ่ายไปที่อ่าวดงตาล หาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ถ่ายทำตอนตำรวจยกพลเข้ากวาดล้างผู้ร้ายบนเกาะร้างแห่งหนึ่ง ต้องใช้เรือตำรวจน้ำสองลำ กับตัวประกอบหลายสิบชีวิตร่วมเข้าฉาก
รวมทั้งตอนจบของเรื่องที่นางเอกขับเฮลิคอปเตอร์มารับพระเอก คืออินทรีแดงตัวจริง พาหนีตำรวจ ซึ่งมีการขอเฮลิคอปเตอร์จากกองบินตำรวจน้ำ จังหวัดสมุทรปราการมาใช้ในฉากด้วยอี๊ด-เพชรา เชาวราษฎร์ ผู้รับบทนางเอกที่ต้องขับ ฮ.มารับพระเอก ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๓ ว่า “ตอนแสดงด้วยกันเขาโมโหอี๊ดมาก เพราะจัดคิวแล้วไม่เป็นที่ตกลงกัน ในที่สุดมิตรเขาเลยตะลุยถ่ายบทเฉพาะที่มีอี๊ดค้างอยู่จนหมดที่เหลือเขาจะต้องแสดงต่อไปตามลำพัง”
หนังฟิล์ม ๑๖ มม. ถ่ายด้วยกล้องตัวเดียว ภาพมุมใกล้จะถ่ายเจาะตัวละครทีละคนแล้วใช้วิธีตัดต่อเข้าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน
ผู้กำกับฯ สั่งให้เก็บเสื้อผ้าและวิกผมของนางเอกไว้ที่กองถ่าย เพื่อให้คนขับ ฮ. สวมชุดเป็นนางเอกตอนขับ ฮ. มารับอินทรีแดง ซึ่งมีซีนภาพมุมใกล้
การถ่ายทำไม่จบวันเดียว กองถ่ายต้องพักค้างอยู่ที่พัทยาเพื่อถ่ายต่อในวันถัดไป
ส่วน มิตร ชัยบัญชา บึ่งรถเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาถ่ายทำหนังสองเรื่องที่เขาแสดงอยู่ในช่วงนั้นด้วย และจะกลับไปชลบุรีอีกครั้งตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
ระหว่างเข้าฉากชกต่อยกับอันธพาลในหนังเรื่อง น้องนางบ้านนา ข้อมือของพระเอกพลาดไปโดนขอบสังกะสีเป็นแผลยาวราว ๓ เซนติเมตร มิตรใช้ผ้าพันไว้แล้วถ่ายทำหนังกันต่อ ในตอนนั้นไม่มีใครล่วงรู้หรือคาดคิดว่าแผลเล็ก ๆ นี้จะส่งผลถึงเรื่องใหญ่ในวันรุ่งขึ้น
ฟิล์ม ๓๕ มม. ที่ใช้ถ่ายหนังเรื่อง อินทรีทอง หมดก่อนมิตรจะร่วงจากบันไดเฮลิคอปเตอร์ แต่ฉากสุดท้ายในชีวิตของเขาได้รับการบันทึกไว้ด้วยฟิล์ม ๑๖ มม. ของทีมงานเบื้องหลังกองถ่ายหนัง ซึ่งมีการตัดเป็นภาพนิ่งมาลงหน้า ๑ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๓ แต่ตอนหลังฟิล์มชุดนี้ก็หายสาบสูญไม่มีใครได้เห็นอีก
เสร็จจากโรงถ่ายเรื่อง น้องนางบ้านนา มิตร ชัยบัญชาไปเข้ากล้องต่อในกองถ่าย นางฟ้าชาตรี ของ สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ผู้กำกับฯ ที่เขาเคยสาบานว่าจะไม่มีวันเล่นหนังให้
ตามที่ กิ่งดาว ดารณี เขียนเล่าไว้ใน บันทึกรักฯ ว่าคืนหนึ่งมิตรปลุกเธอกลางดึก พาขึ้นจี๊ปขับไปหน้าวัดพระแก้วตอนตี ๒ จุดธูปสามดอก กับมีดอกบัวดอกหนึ่งในมือแล้วกล่าว “ข้าพเจ้านายพิเชษฐ์ พุ่มเหม หรือ มิตรชัยบัญชา ขอสาบานว่า หากชาตินี้ข้าพเจ้าเล่นหนังกับสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ขอให้มีอันเป็นไปถึงชีวิต”
บางคนจึงเชื่อว่าเรื่องร้ายถึงชีวิตเกิดขึ้นเนื่องจากเขาผิดคำสาบาน อีกทั้งหลังถ่ายหนังในคืนนั้นเสร็จแล้วยังลืมสร้อยพระประจำตัวไว้ที่กองถ่ายด้วย
จนถึงเช้า มิตรกับ ไกร ครรชิต ซึ่งร่วมแสดงใน นางฟ้าชาตรี และต้องไปถ่ายเรื่อง อินทรีทอง ด้วยกันก็ออกเดินทางด้วยรถจากโรงถ่ายร่วมพัฒนา ผ่านถนนราชดำเนินกลาง มุ่งไปยังนางเลิ้ง เพื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อแล้วมุ่งหน้าไปชลบุรี
ไกร ครรชิต เล่าให้ อิงคศักย์ เกตุหอม บันทึกไว้ในความหมายแห่งชีวิต มิตร ชัยบัญชา ว่า ช่วงผ่านแยกผ่านฟ้าฯ ก่อนข้ามคลองรอบกรุง มิตรหันไปทางซ้ายของเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ “แกก็โบกมือจากหน้าต่างรถ ชี้ให้ผมดูป้ายคัทเอาท์ใหญ่โฆษณาหนังเรื่อง อินทรีทอง ติดเด่นอยู่ริมถนน” และมีป้ายโฆษณาโรงหนังที่ออกแบบแปลนการก่อสร้างไว้ครบหมดแล้ว
มิตรอาศัยพักงีบเอาแรงในรถระหว่างเดินทางในท่านั่งกอดอก ศีรษะห้อยมาข้างหน้าอย่างที่มักทำอยู่ตามปรกติ ไม่มีการสัปหงกเอนซ้ายเอนขวา เรื่องความเป็นคนกินอยู่หลับนอนง่าย ๆ ของเขาเป็นที่รู้ในหมู่คนใกล้ชิด
เข้าฉากสุดท้ายวันนั้น พระเอกต้องใส่ชุดอินทรีแดงเพราะถึงตอนเฉลยความจริงว่าอินทรีแดงตัวปลอมถูกอินทรีทองกำจัดไปแล้ว อินทรีแดงตัวจริงยังอยู่ แต่ไม่มีชุดเตรียมไว้ให้
มิตรหัวเสียตั้งแต่ที่บ้านนางเลิ้งเมื่อเช้า ตอนหาชุดอินทรีแดงไม่เจอ เขาแก้ปัญหาด้วยการนำชุดขนาดพอดีตัวมาให้ช่างที่ชลบุรีตัดเย็บชุดใหม่ และให้นำมาส่งกองถ่ายที่อ่าวดงตาลให้ทันบ่าย
แต่เรื่องที่ยังไม่มีใครบอกมิตร และเขาไม่มีโอกาสได้ล่วงรู้เลยตลอดกาล คือเมื่อถึงเวลาจะถ่ายฉากจบของ อินทรีทอง ทีมตากล้องพบว่าฟิล์ม ๓๕ มม. ที่จะใช้ถ่ายทำมีเหลืออยู่แค่ตีนม้วน !
แต่ไม่มีใครกล้าบอก เพราะรู้นิสัยเขาดีว่าในฐานะผู้กำกับฯ เขาจะสั่งยกเลิกกองถ่ายในวันนั้นอย่างแน่นอนคนจริงจังกับการงานอย่างเขาไม่มีทางยอมให้งานผ่านไปแบบไม่สมบูรณ์เต็มร้อย
บทบาทสุดท้ายในโลกภาพยนตร์ของ มิตร ชัยบัญชาและในชีวิตจริงของเขาด้วย เริ่มขึ้นในตอนบ่ายแก่ ๆ วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ ซึ่งยังติดอยู่ในความทรงจำของทีมงานที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์หลายสิบชีวิต ในฟิล์มภาพยนตร์ และในภาพถ่าย
ทำหน้าที่ผู้กำกับฯ ฉากสุดท้าย มิตร ชัยบัญชา ในร่างที่สูงสง่าโดดเด่นกว่าคนอื่นด้วยความสูง ๑๘๖ เซนติเมตร กำลังยืนดู ชุมพร เทพพิทักษ์ ช่วยแต่งกายให้นักบินขับ ฮ. สวมชุดนางเอก ก่อนพามิตรเกาะบันไดโหนขึ้นฟ้าแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย
ภาพ : เดลินิวส์ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ หน้า ๕
พระเอกหนุ่มใหญ่วัยย่างเข้า ๓๖ ปี ร่างสูงใหญ่โดดเด่นกว่าคนอื่น ยืนสั่งการทำความเข้าใจกับทีมงานฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งชาวบ้านที่มามุงดูการถ่ายหนัง แล้วเข้ามาอยู่ในรัศมีของมุมกล้อง ดังมีเรื่องเล่าว่า เมื่อทำความเข้าใจเรื่องเส้นทางการบินกับนักบิน เคลียร์ฉาก กันทุกคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากหน้ากล้อง เขาออกปากไล่ใครสองคนที่ป้วนเปี้ยนอยู่แถวหนองน้ำ ซึ่งคนอื่นในกองถ่ายไม่มีใครเห็น เขาตะโกนอย่างไรสองคนนั้นก็ไม่หลบไป จนมิตรต้องเอาปืนที่ไม่มีหัวกระสุนจริงออกมายิงไล่
แล้วเขาก็วางบทบาทผู้กำกับการแสดงให้กับผู้ช่วยผู้กำกับฯ แล้วไปใส่ชุดอินทรีแดงเต็มยศ เดินไปเตรียมตัวเข้าฉาก ไม่มีคำอำลาหรือสั่งเสีย เพราะไม่มีใครรู้ว่านั่นเป็นการไปลับไม่กลับมาอีกแล้ว
เสียงใบพัดเฮลิคอปเตอร์ตัดอากาศดังกระหึ่ม
“จับเอาไว้ จับเอาไว้ แล้วไต่ขึ้นมา” น้ำเสียงและท่าทางร้อนรนของนางเอกที่เห็นในหนัง เป็นภาพบันทึกจำลองเหตุการณ์วันนั้น
บันไดสลิงยาว ๑๕ ฟุต ที่ยืมมาจากกองตำรวจดับเพลิง กรุงเทพฯ ห้อยลงมาจากประตูเฮลิคอปเตอร์
อินทรีแดงโดดเกาะบันได มือขวาจับบันไดขั้นที่ ๔ มือซ้ายจับขั้นล่างลงมา สองเท้าห้อยตะกายอากาศอยู่ในท่วงท่าสง่าอย่างชายชาตรี ขณะ ฮ. บินขยับขึ้นผ่านหน้ากล้อง พ้นเงื้อมมือตำรวจที่รุมล้อมจับ ห่างไปทางขวาของขอบจอ เหมือนตากล้องจงใจเว้นพื้นที่ว่างทางซ้ายไว้สำหรับขึ้นตัวหนังสือ
อวสาน หรือสวัสดี
ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จนสุดทาง ทั้งหนัง อินทรีทอง และกองถ่ายก็จะจบลงแบบแฮปปีเอนดิง แต่เหตุการณ์กลับพลิกผันไม่คาดฝัน เมื่อร่างของ มิตร ชัยบัญชา ร่วงจากบันไดก่อน ฮ. จะลงจอด
บทสรุปของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของวงการหนังไทยลงเอยว่าเป็นอุบัติเหตุจากความมุทะลุ ใจกล้า บ้าบิ่น กับความเหนื่อยล้าจากการโหมงานหนักและอดนอนมาหลายวันติดต่อกันของผู้ตายเอง อีกทั้งเขาเป็นผู้กำกับการแสดงเองด้วย สุดท้ายเขาจึงเหมือนเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเองคนเดียว โดยไม่มีใครหรือความผิดพลาดบกพร่องของสิ่งใดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย
วิเชียร จันทะบุตร ช่างภาพเบื้องหลังกองถ่าย เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น และบอกว่าตนเป็นคนแรกที่วิ่งไปถึงจุดที่มิตรตกลงมานอนอยู่ เขาถ่ายภาพเหตุการณ์ก่อนนั้นไว้ทั้งหมดด้วยฟิล์มเนกาทีฟ นับตั้งแต่เฮลิคอปเตอร์คาวาซากิ หมายเลข ตร. ๑๑๐๒ ยกตัวพามิตรขึ้น กระทั่งมือเขาหลุดจากบันได ร่างลอยอยู่กลางหาวขนานกับพื้นในท่าดิ่งพสุธา ภาพนี้ตีพิมพ์อยู่บนหน้า ๑ หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ กับอีกภาพเป็นช่วงที่สองมือของมิตรจับขั้นบันไดกางขาในท่วงท่าสง่างาม ขณะโหนอยู่บนบันไดเฮลิคอปเตอร์ที่กำลังมุ่งหน้ามาทางกล้องอย่างสง่างาม เป็นภาพถ่ายสีที่ต่อมานับว่าเป็นภาพหลักที่ใช้กันเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์นี้
ตามปากคำของผู้ถ่ายภาพบอกว่า เขาถ่ายภาพแรกตั้งแต่เมื่อพระเอกหนุ่มกระโดดเกาะขั้นบันได และกดชัตเตอร์อีกเมื่ออินทรีแดงในชุดสีดำ เสื้อแขนยาวปกคอใหญ่ อกมีรอยผ่าติดซิปรูด กางเกงขายาวรัดรูป สวมทอปบูตสีดำ ถูกเฮลิคอปเตอร์ยกตัวสูงขึ้น และร่างของมิตรก็พลิ้วไปตามแรงดึงของ ฮ.
“ระยะนี้ผู้ให้อาณัติสัญญาณนักบินเอามือทั้งสองยื่นไปข้างหน้าเพื่อบอกว่าให้นักบินนำเฮลิคอปเตอร์ลง เพราะมิตรยังไม่ได้เหยียบขั้นบันไดเชือก แต่นักบินเข้าใจว่าให้นำเครื่องบินขึ้น มิตรจึงโหนต่องแต่งไปอย่างน่าหวาดเสียว”
“ตามแผนการถ่ายทำตอนจบ อินทรีทอง ต้องถ่าย ๒ คัต” พระอิงคศักย์เล่าถึงสิ่งที่ได้รู้จากการค้นคว้าและสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ประมวลรวบรวมมาเขียนหนังสือ ความตายแบบไม่ธรรมดา มิตร ชัยบัญชา
แต่ ฮ. ไม่ลงจอด กลับบินขึ้นสูงห่างออกไปเรื่อย ๆ จนเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในวงการบันเทิงไทยขณะนั้น
“คัตแรกเป็นภาพมุมใกล้ เห็นตัวและหน้าตานักแสดงชัดเจน ถ้าใช้สตันแมนหรือนักแสดงแทน คนดูจะจำได้ว่าไม่ใช่ตัวจริง มิตร ชัยบัญชา จึงยืนยันที่จะแสดงเอง และนักบินที่นั่งในตำแหน่งคนขับ ฮ. ก็ต้องใส่ชุดและวิกผมของนางเอก มิตรต้องการภาพโหน ฮ. ให้คนดูหนังเห็นว่าเขาแสดงจริง”
ตามแผนการถ่ายทำคัตแรกนี้จะเป็นการบินต่ำระยะใกล้ พอบินลับผ่านหน้ากล้องมุมเงยก็ลงจอด
คัต !
“ในคัตที่ ๒ เป็นลองช็อต กล้องเข้าสู่ภาพระยะไกลเมื่อเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นสูงเป็นร้อยฟุต ซึ่งตามแผนจะใช้สตันแมนหรือหุ่นเกาะอยู่บนบันไดสลิง ผู้ชมก็ดูไม่ออกเพราะเป็นภาพระยะไกล และทั้งสองสิ่งก็เตรียมไว้พร้อมแล้ว อยู่ที่ผู้กำกับจะตัดสินใจเลือกใช้ แต่พอถ่ายจริง เป็นการถ่ายต่อเนื่องเพียงคัตเดียว”
ด้านจ่าสิบตำรวจ เฉลิม กล่ำสุ่ม นักบินที่ขับ ฮ. ลำนั้นเล่าให้ กิ่งดาว ดารณี ฟังตอนพบกันที่ประเทศอังกฤษว่า “ผมดูสัญญาณเป็นหลัก พอกระตุกเครื่องขึ้นก็มีสัญญาณให้ผมบินหนึ่งรอบ ครบแล้วยังไม่ให้ลง ให้ไปต่อ ผมก็นำเฮลิคอปเตอร์บินต่อเป็นรอบที่สอง...”
ระหว่างบินอยู่บนฟ้า เขายังรู้เหตุการณ์ข้างล่างที่ดำเนินคู่ขนานกันไปด้วย จากที่ทีมงานของเขาเล่าให้ฟังในตอนหลัง
“ลูกน้องผมเล่าว่าคุณสังเวียนบอกว่าจะโบกสัญญาณเอง ก็เลยไปอยู่ห่าง ๆ แต่สังเกตเห็นคุณมิตรตบขาเข้าหากันหลายครั้ง ตามหลักของทหารถ้าตบเท้าแบบนั้นแสดงว่าไม่ไหวต้องให้เครื่องลงด่วน ลูกน้องผมตะโกนให้แกโบกสัญญาณให้เครื่องลง แกก็ไม่ฟัง โบกให้เครื่องไปต่อ”
นักบินจึงขับต่อไปจนสุดเส้นทางตามแผนการถ่ายทำที่คุยกันไว้
กล้องถ่ายภาพมุมไกลจนฟิล์มหมดม้วน
นักบินนำ ฮ. วนกลับจะลงจอดที่จุดตั้งกล้อง แต่มิตรร่วงลงเสียก่อน
และมีเบาะแสที่ชี้ว่าระหว่างนั้นมีกล้องบางตัวยังถ่ายอยู่ ดังที่มีข่าวออกมาใน ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๑๓ “ภาพสุดท้ายทั้งในชีวิตจริงและชีวิตการแสดงของมิตร ชัยบัญชา ที่ห้อยโหนอยู่บนบันไดสลิงของเฮลิคอปเตอร์ก่อนจะปล่อยมือหล่นมาพบอวสานของชีวิตนั้น ถ่ายโดยนายชนะ บุนนาค ช่างภาพของสำนักงานภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ ซึ่งติดตามไปถ่ายเพื่อไว้ทำภาพยนตร์โฆษณา ปรากฏว่าได้กลายเป็นฟิล์มภาพยนตร์ที่มีความหมายและราคาอย่างมหาศาลขึ้นมา เมื่อได้รับการทาบทามติดต่อจากบริษัทภาพยนตร์หลายรายที่ไปขอซื้อเพื่อมาประกอบภาพยนตร์ที่จะฉาย”
ตามปากคำของ วิเชียร สงวนไทย เพื่อนรักที่ร่วมลงนามกู้เงินธนาคารมาสร้างโรงหนังชัยบัญชากับมิตรพูดถึงที่มาของฟิล์มภาพยนตร์ขาวดำ ๑๖ มม. ชุดนี้ว่า
“ชนะ บุนนาค ช่างภาพของเราที่ติดตามไปถ่ายเบื้องหลังหนังไทยที่จ่าเชษฐ์เป็นคนกำกับเอง”
ราวครึ่งเดือนหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ คอลัมน์ “ดาวกะพริบ” ของ นัทที เจษฎา ใน เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๓ รายงานว่า “วิเชียร สงวนไทย ขายหนังข่าว มิตร ชัยบัญชา มือหลุดจากเฮลิคอปเตอร์โหม่งโลก ให้แก่ รังสี ทัศนพยัคฆ์ และ เซ้ง เสรีเชษฐพงษ์ ไปในราคาแสนห้าหมื่นบาท เพื่อนำไปประกอบหนังข่าว ฉายควบกับหนัง มนต์รักลูกทุ่ง ที่จะย้อนรอยกลับมาฉายอีกครั้ง”
แต่ความจริงในเวลาต่อมาจนปัจจุบัน ยังไม่มีแฟนหนังของมิตรคนไหนได้เห็นฟิล์มเบื้องหลังที่กล่าวได้ว่าเป็นหนังสารคดีวาระสุดท้ายของ มิตร ชัยบัญชา
“ฟิล์มภาพยนตร์ขาวดำ ๑๖ มม. ชุดนี้มีอยู่จริง เป็นเบื้องหลังกองถ่ายที่มีภาพครบหมดตั้งแต่มิตรเริ่มโหนบันไดจนตกลงมา โยมอดุลย์ ดุลยรัตน์ บอกกับอาตมาว่า เคยนำฟิล์มชุดนี้มาฉายใส่ผนังฝาบ้าน นั่งดูกันมาแล้วและมีตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ที่ตัดมาลงเป็นภาพต่อเนื่อง” ตามคำยืนยันของพระอิงคศักย์
ตามความเห็นของท่านเชื่อว่าเป็นความจงใจที่จะซ่อนเร้นหลักฐานของผู้ที่เกรงว่าภาพเหตุการณ์จริงนั้นอาจเป็นหลักฐานมัดตัวคนที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการตายของมิตร
“แต่ถึงตอนนี้อายุความก็สิ้นสุดแล้ว ฝากบอกใครก็ตามที่ยังเก็บรักษาฟิล์มสำคัญม้วนนี้ไว้ โปรดนำมามอบให้กับหอภาพยนตร์ฯ เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติเป็นประวัติศาสตร์ของวงการหนังไทย”
บัญชา วาจาสุวรรณ ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์ มิตร ชัยบัญชา ขึ้นเป็นแห่งแรกที่พิษณุโลกด้วยทุนของตัวเองด้วยชื่นชมในความเป็นนักสู้ชีวิตของ “พ่อมิตร” และต้องการให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนรุ่นหลัง ในช่วงหลังมีคนเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของเขานำข้าวของมาช่วยสมทบให้จัดแสดง ล่าสุดเขาเพิ่งได้รับต้นฉบับภาพถ่ายมิตรขนาดเท่าตัวจริงที่สายหนังภาคเหนือได้มาพร้อมฟิล์มหนังเรื่อง อินทรีทอง เมื่อปี ๒๕๑๓
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ฉากสุดท้ายในชีวิตของผู้เป็นหลักหมายใหญ่ในวงการภาพยนตร์ไทย จึงมีอยู่แต่ในคำบอกเล่าของคนในกองถ่ายในวันนั้น ว่าร่างเขาร่วงลงมาอย่างมีสติ เขากางแขนขา ก้มหน้า ท่าทางคล้ายดิ่งพสุธาในระยะแรก แล้วหัวทิ่มลงมาอย่างรวดเร็ว
ทุกคนก็ได้ยินเขากรีดร้องเสียงดัง ก่อนทุกอย่างจะเงียบงันชั่วขณะที่ทุกคนกำลังอยู่ในภวังค์ความตกตะลึง
ร่างบวมช้ำกระดูกแตกหักหลายที่ แต่ร่างกายไม่มีบาดแผล นอกจากรอยสังกะสีบาดที่ข้อมือขวาจากอุบัติเหตุระหว่างถ่ายทำฉากบู๊ในเรื่อง น้องนางบ้านนา เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งใช้ผ้าพันไว้ แล้วโดนสายสลิงบันไดบาดซ้ำเป็นแผลยาวออกถึง ๘ เซนติเมตร ลึก ๒ เซนติเมตร ถึงเส้นเอ็น มีเลือดไหลนองถุงมือและเสื้อผ้าชุดอินทรีแดง เขาอาจเจ็บแผลจนเกินทนจึงตัดสินใจปล่อยมือลงมาในท่าดิ่งพสุธาตามที่เคยเรียนเมื่อฝึกการบินจะให้ลงตรงบึงน้ำ แต่อาจด้วยแรงลมหรือความผิดพลาดอย่างใด ทำให้เขาไปตกบนพื้นดินใกล้บึงน้ำ
นักบินขับ ฮ. ลงมานำเขาส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๔๕ น. หมอบอกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว กะโหลกร้าว กระดูกต้นคอหัก กรามซ้ายขวาหัก โหนกแก้ม กระดูกซี่โครงหักห้าซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก
“ตอนเย็นวันนั้นแม่พาไปดูหนังแขกที่เท็กซัส แถวเยาวราช ระหว่างรอขึ้นรถกลับบ้านอยู่แถวแยกหมอมี เด็กมาร้องขายหนังสือพิมพ์ว่า มิตร ชัยบัญชา ตกเครื่องบินตายแล้ว ๆ ๆ ๆ” จงบุญ คงอ่อน สุดยอดแฟนพันธุ์แท้มิตร ชัยบัญชา เล่าบรรยากาศตอนย่ำค่ำวันวิปโยคของคนในวงการบันเทิง
“ในใจคิดว่าคงไม่จริงหรอก โฆษณาหนังมากกว่า นั่งรถผ่านแยกจักรพรรดิพงษ์ค่ำวันนั้นฝนตกพรำ ๆ ถนนเงียบวังเวงมาก ใจเริ่มคิดไปว่าถ้ามิตรตายจริง ๆ ใครจะแสดงหนังให้เราดู จนถึงบ้านที่บางโพ ทีวี วิทยุก็ประโคมข่าว ไปงานศพที่วัดแค แต่เข้าไม่ถึง คนเยอะมาก ชะเง้อจากไกล ๆ เห็นแต่พวงหรีดเต็มไปหมด”
ความโศกเศร้าแผ่คลุมไปทั่วประเทศตามข่าวสารแพร่ไปถึงศพเขาถูกเคลื่อนจากโรงพยาบาลสมเด็จฯ ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี มาถึงวัดแค นางเลิ้งในตอนค่ำ ซึ่งมีคนมารออยู่ก่อนแล้วเนืองแน่นเต็มลานวัด ทั้งเพื่อนพ้องในวงการแสดง และแฟนหนังของเขาซึ่งบางส่วนไม่เชื่อว่าเป็นความจริง คิดว่าเป็นการสร้างข่าวลือ ต้องการมาดูให้เห็นกับตา ซึ่งเมื่อนำศพขึ้นบนศาลา ๑ วัดแคนางเลิ้งแล้ว ก่อนนำร่างบรรจุลงโลง ต้องยกตั้งขึ้นเหนือช่องหน้าต่าง ให้คนที่ออกันแน่นอยู่เต็มลานวัดได้เห็นว่าพระเอกขวัญใจคนไทยได้สิ้นลมแล้วจริง ๆ
ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ๑๐๐ วัน แล้วเคลื่อนไปฌาปนกิจที่วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งผู้คนยังคงหลั่งไหลไปร่วมไว้อาลัยเขาเป็นครั้งสุดท้ายอย่างเนืองแน่น จนถึงกับบันทึกไว้ว่าเป็นงานศพสามัญชนที่มีคนมาร่วมไว้อาลัยมากที่สุด
ซูเปอร์สตาร์อดีตเด็กยากไร้คนหนึ่งจากไป ส่งผลสะเทือนวงการภาพยนตร์ไทยกว้างไกล
ผู้อำนวยการสร้างหนังบางรายที่มิตรแสดงค้างไว้อาจถึงล้มละลายด้วยการถ่ายทำไปต่อไม่ได้ ดังที่ สุรัสน์ พุกกะเวส หนึ่งในคนกลุ่มแรกที่นำ มิตร ชัยบัญชา เข้าสู่วงการ กล่าวว่า “ผู้อำนวยการสร้างหลายคนโดยเฉพาะที่กู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาสร้าง และได้ถ่ายทำไปบ้างแล้วแต่ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพระเอกมาตายจากเช่นนี้จะต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น นี่เป็นปรากฏการณ์อันสลดครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ไทย เพราะไม่เคยมีพระเอกตายก่อนจบเรื่อง และหนังก็ไม่มากมายเหมือนพระเอกมิตร จะว่าเป็นพระเอกคนแรกของโลกก็ว่าได้ ที่เสียชีวิตลงกลางคันทั้ง ๆ ที่หนังยังรอคิวถ่ายอยู่หลายสิบเรื่อง ผมพูดอะไรไม่ถูกแล้ว”
ขณะที่บางเจ้าซึ่งเคยร่ำรวยมาแล้วจากการขาย มิตร ชัยบัญชา ก็ยังร่ำรวยต่อจากการขายเรื่องราวของเขา
ภาพร่างโรงหนังชัยบัญชาที่ทันสมัยครบวงจร โครงการในฝันของ มิตร ชัยบัญชา ที่จะตั้งอยู่บนพื้นที่รูปสามเหลี่ยมชายธงเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ ฟากถนนด้านตรงข้ามป้อมมหากาฬ มีโอกาสได้ปรากฏเพียงในแบบแปลนทุกอย่างได้อันตรธานไปพร้อมมรณกรรมแบบฉับพลันของเขา ต่อมาตึกธนาคารกรุงเทพผุดขึ้นแทน ในปัจจุบันเป็นหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ส่วนเขาเองจากไปยังเหลือหนี้ธนาคารก้อนใหญ่ที่กู้มาลงทุนซื้อที่ทำโรงหนังชัยบัญชา เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งในที่สุดธนาคารกรุงเทพก็ยึดบ้านในซอยอารีย์ฯ ที่วางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไปขายทอดตลาด ส่วนที่ดินเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ ตกเป็นทรัพย์สินของธนาคารกรุงเทพสร้างสาขาสะพานผ่านฟ้า ซึ่งมีตำนานเล่าลือว่าสร้างได้ยาก ตามคำเล่าของ พยงค์ คชาลัย ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ซึ่งร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตอกเสาเข็ม เทคาน วันเริ่มก่อสร้างด้วย เล่าว่า “มีจุดหนึ่งเป็นแนวจะตอกเสาเข็มต้นหนึ่ง ช่างตอกเสาไม่ลง”
จึงตั้งเต็นท์ทำพิธีอัญเชิญเทพยดา ขอขมาและขออนุญาตจากเจ้าของที่เดิมทุกท่าน ซึ่งยินยอมทั้งหมด
“มาถึงเจ้าของที่ท่านสุดท้ายคือ มิตร ชัยบัญชา พระเอกขวัญใจประชาชนในยุคนั้น ได้ต่อรองผ่านคนทรงว่าเขาขอสร้างเป็นโรงหนัง คุยกันอยู่นานผมก็เรียนท่านไปว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่ทางธุรกรรมทางการเงินตามความเจริญของโลก (ว่าไปนั่น) สุดท้ายผมก็บอกคุณมิตรในตอนนั้นว่า แม้จะสร้างเป็นธนาคาร แต่ก็จะมีสถานที่ตั้งแสดงดนตรีนาฏศิลป์ไทยอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งก็เหมือนกับส่งเสริมกิจกรรมไม่ต่างจากด้านภาพยนตร์เช่นกัน ผมต่อรองว่าถ้าคุณมิตรยอมให้สร้างธนาคาร เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วจะฉายภาพยนตร์ของมิตรให้เป็นเวลา ๗ วันด้วย คุณมิตรก็ยอม การก่อสร้างจึงดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ”
บนพื้นที่สามเหลี่ยมชายธงที่มิตรเคยฝันจะตั้งโรงหนังกลายเป็นตึกของธนาคารมาตั้งแต่นั้น แต่ยังมีร่องรอยของเขาอยู่ในตำนานเล่าขาน และในธนาคารก็มีภาพของเขาแขวนอยู่ในฐานะรูปบูชา
๒๘
มกราคม
๒๕๖๖
เป็นครั้งที่ ๑๔ ของโครงการฉายหนัง “กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา” ที่ มนัส กิ่งจันทร์ กลุ่มวัยหวานวันวาน เริ่มจัดฉายครั้งปฐมฤกษ์มาตั้งแต่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ที่วัดท่ากระเทียม จังหวัดเพชรบุรี ถิ่นเกิด มิตร ชัยบัญชา
ค่ำคืนของการฉายหนังมิตรครั้งที่ ๑๔ นี้กางจอกันที่พิพิธภัณฑ์ มิตร ชัยบัญชา ในเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นแห่งแรกแห่งเดียวในเมืองไทยตอนนี้ ทั้งที่ตอนเขาเสียชีวิตใหม่ ๆ หลายคนมีแผนการที่จะสร้างนั่นนี่เป็นที่ระลึกถึงเขา
หุ่นปั้น ภาพถ่าย ใบปิดหนัง หนังสือ ภาพวาด โชว์การ์ด เพลงประกอบหนัง ฯลฯ ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์และหนังที่ฉายอยู่บนจอ เป็นเสมือนการสืบสกุลที่อาจเด่นชัดยาวนานยิ่งกว่าการสืบสายเลือด ให้คนทุกยุคสมัยได้รู้จัก เรียนรู้ได้ทุกเวลาที่ได้เห็น
ทุกครั้งที่หนังมิตรถูกฉายขึ้นจออีกครั้ง จะเห็น มิตรชัยบัญชา เคลื่อนไหวอยู่บนจอผ้าเหมือนครั้งยังมีชีวิตอยู่
ให้ความสนุก ตื่นตา น่ารื่นรมย์ เป็นที่รักของคนดูหนังที่ยังจำได้ และให้ความตื่นใจแปลกตาแก่คนรุ่นใหม่ที่ได้เห็นหนังย้อนยุค
ซึ่งอาจนับว่าเป็นการเกิดใหม่ซ้ำ ๆ ของ มิตร ชัยบัญชาที่ฉายหนังลงสู่จอก็ว่าได้
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งมาจากความเพียรพยายามของกลุ่มวัยหวานวันวาน ในการสืบเสาะหาฟิล์มเก่ายุคที่ยังใช้ฟิล์ม ๑๖ มม. ซึ่งแต่ละเรื่องผลิตออกมาไม่เกินสี่ถึงห้าชุด หรือก๊อบปี้สำหรับฉายในกรุงเทพฯ และส่งไปฉายตามภูมิภาคละชุด
ซึ่งแต่ละชุดที่ตามหามาได้อาจมีส่วนที่ชำรุดเสียหายใช้งานไม่ได้ ที่ใช้ได้ก็ทำความสะอาด แปลงภาพจากฟิล์มเป็นไฟล์ดิจิทัล และพากย์เสียงใหม่ใส่ไว้ในไฟล์เดียวกันด้วย
มาดแมนของพระเอก มิตร ชัยบัญชา ในหนังเรื่อง ชายชาตรี เคยวาดขึ้นป้ายขนาดใหญ่เท่าตึก ยืนตระหง่านอยู่หน้าโรงหนัง และต่อมายังมักได้รับการนำมาใช้ต่ออยู่เสมอจนเป็นหนึ่งในภาพจำของมิตร
ต้นฉบับเดิมของหนัง ๑๖ มม. ไม่มีเสียงในฟิล์มการฉายเมื่อ ๕๐ ปีก่อนจะมีนักพากย์ไปนั่งพากย์สดข้างเครื่องฉาย
อาจใช้ผู้ชายคนเดียวพากย์เสียงตัวละครทุกตัว หรือไม่ก็มีนักพากย์หญิงอีกคนให้เสียงตัวละครหญิง เรียกว่าเป็นเสียงชายจริงหญิงแท้
เป็นการให้เสียงสดใหม่ทุกครั้งที่ฉาย คงใจความสำคัญในบทสนทนา แต่รายละเอียดลูกเล่นขำขันปรับเปลี่ยนไปตามบริบทท้องถิ่นที่ฉาย
แต่หนัง มิตร ชัยบัญชา จากฟิล์ม ๑๖ มม. ที่กลุ่มวัยหวานวันวานนำกลับมาฉายใหม่ เป็นเสียงเดิมทุกรอบตามที่บันทึกลงในไฟล์เดียวกับภาพ
เป็นเหมือนการชุบชีวิตและต่อลมหายใจให้กับหนังไทย ที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
ไปพร้อมกับการประกาศเกียรติของผู้ชายธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ที่นับเป็นต้นแบบของการทุ่มเทจริงจังให้กับสิ่งที่รักเป็นต้นแบบของความเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อต่อข้อจำกัดทุกทาง พากเพียรเรียนรู้อย่างเอาจริงเอาจัง พิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า เด็กกำพร้าอนาถาสามารถเป็นซูเปอร์สตาร์อันดับ ๑ ของประเทศได้ด้วยความทุ่มเทพยายามในการเรียนรู้ฝึกฝนตนเองอย่างจริงจัง
เป็นผู้บันดาลความงาม ความรัก ความบันเทิงเบิกบานอารมณ์ให้แก่ผู้คน เป็นที่รักของผู้คนทั้งประเทศจนวันตายและกระทั่งหลังจากตายไปแล้ว
ในโลกนี้มีศิลปินมากมายที่ตายไปแล้วยังเป็นที่จดจำส่วนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ของไทย ใครจะปฏิเสธได้ว่า มิตร ชัยบัญชา นั้นนับเป็นหลักหมายใหญ่ที่คนร่วมสมัยควรจดจำและทำความรู้จัก
หากไม่ยึดติดว่าบุคคลสำคัญที่ควรได้รับการเชิดชูสดุดี ต้องจำกัดอยู่แค่ในหมู่นักปกครอง นักการเมือง นักพัฒนาความเจริญทางวัตถุ ฯลฯ เท่านั้น
ก็ในเมื่อเราต่างก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า อารยธรรมในหมู่มวลมนุษย์เราประกอบขึ้นจากความหลากหลาย
แต่ไม่รู้ทำไมโลกเหมือนแกล้งหลงลืมเอตทัคคะในบางด้านไปได้
ขอขอบคุณ
- อิงคศากยะ นรวโร ภิกขุ, หลวงพ่อแดง ญาณวุฑ. โฒ, คุณจำนงค์ ศรีนวล, คุณกำพล นิยมไทย, คุณมนัส กิ่งจันทร์, คุณบัญชา วาจาสุวรรณ, คุณจงบุญ คงอ่อน, คุณโดม สุขวงศ์, คุณวินัย สมบุญณา, คุณกันตพล สังข์รุ่ง
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม
- บ้านเล่าเรื่อง เพชรบุรี
- พิพิธภัณฑ์ มิตร ชัยบัญชา พิษณุโลก
- เพจ Thai Movie Posters
- เพจ 50+
อ้างอิง
กิ่งดาว ดารณี. บันทึกชีวิตรัก มิตร ชัยบัญชา, ๒๕๔๔.
จดหมายข่าว หอภาพยนตร์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๔.
ณรงค์ จันทร์เรือง. มิตร ชัยบัญชา พระเอกยอดนิยมตลอดกาล, ๒๕๕๒.
นิตยสาร สารคดี ฉบับ ๑๕๐ ปีที่ ๑๓ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๐.
พรชัย เฉินบำรุง. ตำนานพระเอกดาราทอง, ๒๕๔๓.
เฟซบุ๊ก Anake Nawigamune ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๔. วารสาร หนังไทย ฉบับที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖.
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม. พระเอกหนังไทย ผู้ยิ่งใหญ่ มิตร ชัยบัญชา.
อนุสรณ์ มิตร ชัยบัญชา, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
อิงคศักย์ เกตุหอม. ความตายแบบไม่ธรรมดา มิตร ชัยบัญชา,
๒๕๔๘.
อิงคศักย์ เกตุหอม. ความหมายแห่งชีวิต มิตร ชัยบัญชา, ๒๕๔๕.
อิงคศักย์ เกตุหอม. Forever in my heart ความทรงจำแด่ มิตร ชัยบัญชา,
๒๕๔๙.