ฉากหนึ่งในเรื่อง ร้ายก็รัก ออกฉายเมื่อปี ๒๕๐๓ นอกจากเป็นบันทึกผลงานแสดงแนวชีวิตเรื่องแรกๆ ของ มิตร ชัยบัญชา หนังยังสะท้อนภาพสังคมกรุงเทพฯ ยุคเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของทุนนิยมและชนชั้นกลาง ในช่วงที่โด่งดังเป็นซูเปอร์สตาร์ของเมืองไทย มิตรก็น่าจะยืนอยู่ในชนชั้นนี้ รถที่ใช้เข้าฉากหนังบางครั้งก็เป็นรถเขาเอง ส่วนนางเอกในเรื่องนี้คือ อุษา อัจฉรานิมิต
มิตรชัย บัญชา
หลักหมายหนังไทย
หลักไมล์ชีวิต
ปริศนาความตาย ฉาก 1
เขียนเรื่อง โดย...วีระศักร จันทร์ส่งแสง
๑๔
มกราคม
๒๕๖๖
ริมถนนจอมเทียนสาย ๒ อื้ออึงด้วยเสียงรถที่แล่นผ่านไปมาอยู่ไม่ขาดสาย แต่มุมหนึ่งหลังทิวไม้น้อย ๆ ฟากตรงข้ามโรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช ยังอยู่ในบรรยากาศของความสงบศักดิ์สิทธิ์ คละคลุ้งควันธูปควันเทียน คำบนบานบวงสรวง สรรเสริญสักการะต่อองค์เทพในศาล
เมื่อยังมีชีวิตอยู่เขาคือเทพบุตรของวงการบันเทิงเป็นพระเอกหนังที่หน้าตาหล่อเหลา คิ้วดกหนา นัยน์ตาคมเข้มแฝงความเศร้า ร่างสูงสง่า เรือนกายกำยำทะมัดทะแมงสมชายชาตรี ครองใจแฟนหนังไทยทั่วประเทศ เป็นผู้บันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นหลักหมายใหม่ในวงการหนังไทยขึ้นมากมายที่ยังเป็นที่จดจำและส่งผลสืบเนื่องมาจนปัจจุบันเป็นซูเปอร์สตาร์ธรรมดาสามัญที่เติบโตมาจากเด็กกำพร้าอนาถาแต่สร้างสิ่งที่ไม่มีใครล่วงรู้หรือคาดคิดมาก่อน ให้เกิดขึ้นด้วยความอุตสาหะพากเพียร
ครั้นเขาสิ้นชีวิตลงเมื่ออายุราว ๓๖ ปี นอกจากภาพการแสดงและภาพถ่ายที่ฝากไว้บนแผ่นฟิล์ม ชื่อของเขาก็กลายเป็นเทพที่เชื่อกันว่าสามารถดลบันดาลประทานความสมหวังให้แก่ผู้กราบไหว้บนบาน
อนุสรณ์แห่งแรกที่มีคนสร้างให้เป็นที่ทรงจำรำลึกถึงเขา จึงไม่ใช่อนุสรณ์สถานที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิต ผลงานนิทรรศการความรู้ แต่เป็นศาลสักการะ บนพื้นที่รูปสามเหลี่ยมชายธงเนื้อที่ไม่เกิน ๒ ไร่ ริมถนนจอมเทียนสาย ๒ ซึ่งดูไปก็คล้ายกับพื้นที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศปลายสุดถนนราชดำเนินกลาง ด้านตรงข้ามป้อมมหากาฬที่เขาเคยฝันจะตั้งโรงภาพยนตร์ชัยบัญชา
ที่ดินรูปชายธงริมถนนจอมเทียนสาย ๒ ด้านหนึ่งติดถนนใหญ่ ด้านหลังเป็นซอยเล็กที่แยกเป็นมุมเฉียงเข้ามาจากถนนสายหลัก ศาลมิตรตั้งอยู่ตรงหัวมุมแหลมของรูปชายธง พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหลือเป็นลานจอดรถของโรงแรม
ส่วนตัวโรงแรมตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนจอมเทียนสาย ๒ กินพื้นที่ยาวไปจนจดทะเล ซึ่งมีถนนอีกสายทอดเลียบริมชายหาด เป็นถนนจอมเทียนสายแรกที่มีมาก่อนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะตัดถนนสาย ๒ ที่กว้างใหญ่ห่างจากชายทะเลขึ้นมา
หากนับเรื่องราวของ มิตร ชัยบัญชา เป็นหลักหมายก็ต้องนับว่าทุกสิ่งที่เห็นอยู่สองฟากถนนจอมเทียนสาย ๒ ในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทีหลังทั้งสิ้น
เมื่อครั้งที่ มิตร ชัยบัญชา มาโลดแล่นเคลื่อนไหวอยู่กับกองถ่ายหนัง พื้นที่แถบนี้ยังเป็นทุ่งรกร้างริมชายทะเลที่คนแถวพัทยาจอมเทียนเรียกว่าอ่าวดงตาล มีพรรณไม้ชายหาดขึ้นอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ บริเวณโคกสะแก มีบึงน้ำที่คนแถวนั้นเรียกว่าหนองตะแบก ซึ่งไม่ได้มีความสลักสำคัญอย่างใดเป็นพิเศษนอกจากเป็นแหล่งน้ำแหล่งหญ้าของปศุสัตว์ แต่ต่อมากลายเป็นหมุดหมายที่อยู่ในความทรงจำคำเล่าขานของผู้คน
มิตร ชัยบัญชา ในฐานะผู้กำกับการแสดง เลือกให้เป็นโลเคชันสุดท้ายในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ที่เขาแสดงเป็นพระเอกเองด้วย
ตั้งใจจะใช้เป็นฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนั้น แต่โดยไม่มีใครคาดฝัน ตรงนั้นได้กลายเป็นฉากสุดท้ายในชีวิตของเขาไปด้วยอย่างช็อกหัวใจคนทั้งประเทศ
๘
ตุลาคม
๒๕๑๓
จากเช้าต่อเนื่องถึงเย็น เป็นการถ่ายทำฉากจบหนังเรื่อง อินทรีทอง ซึ่งเป็นภาคต่อเนื่องของตัวละครเอก “อินทรีแดง” จากหลายเรื่องก่อนหน้านั้น ตัวเอกแนวซูเปอร์ฮีโร่ที่จะออกมาขจัดภัยพาลอภิบาลคนดี ยามมีเรื่องทุกข์ร้อนเกิดขึ้น แต่ตอนหลังมีผู้ร้ายปลอมตัวเป็นอินทรีแดงก่อการชั่ว อินทรีแดงตัวจริงเลยแปลงตัวเป็นอินทรีทองออกมาปราบจนสำเร็จ แต่การกระทำของทั้งอินทรีแดง (ตัวปลอม) และอินทรีทองนั้นอยู่นอกกรอบกฎหมาย เขาจึงต้องถูกไล่ล่าจากตำรวจ (ที่มักยกกำลังในเครื่องแบบเต็มยศมาถึงในตอนจบอย่างที่คุ้นตาในหนังไทยสมัยก่อน)
เมื่ออินทรีทองปราบอินทรีแดงตัวปลอมเสร็จสิ้น สังคมคืนสู่ความสงบสุขแล้ว ในตอนจบผู้กำกับฯ ต้องการจะบอกคนดูให้รู้หรืออาจเพื่อส่งลูกต่อในการสร้างหนังภาคต่อไปว่าอินทรีแดงตัวจริงยังอยู่
โรม ฤทธิไกร ผู้เป็นอินทรีแดงตัวจริง แสดงโดย มิตร ชัยบัญชา ถูกตำรวจไล่ล่าตีวงล้อมมาถึงริมหาด กำลังจะจนมุม แต่ในนาทีนั้น วาสนา เทียนประดับ นางเอกซึ่งแสดงโดย เพชรา เชาวราษฎร์ ดาราคู่ขวัญที่แสดงกับมิตร ชัยบัญชา มาแล้วกว่า ๑๐๐ เรื่อง ก็โผล่มาจากฟ้า เธอขับเฮลิคอปเตอร์มารับ
ตามบทในหนัง อินทรีแดงต้องโหนเกาะบันไดที่ ฮ. หย่อนลงมารับ แล้วพาลอยขึ้นฟ้าหนีตำรวจไปได้แต่เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ฮ. พาพระเอกในชุดดำรัดรูป สวมถุงมือและรองเท้าบูตดำ สวมหน้ากากอินทรีแดง ขึ้นฟ้าไปได้ราว ๓๐๐ ฟุต มิตร ชัยบัญชา ก็ร่วงลงกระแทกพื้นเสียชีวิต
ตามบันทึกจากที่เกิดเหตุระบุว่า เวลาประมาณ ๔ โมงเย็น มิตร ชัยบัญชา ซูเปอร์สตาร์อันดับ ๑ ของวงการภาพยนตร์ไทยยุคนั้นจากโลกไป
ภาพนาทีท้ายๆ ในชีวิต เป็นการถ่ายทำช็อตมุมใกล้และบินต่ำคนดูเห็นหน้าชัด มิตรไม่ต้องการหลอกคนดูจึงยืนยันจะแสดงเอง และโดยไม่ได้ติดอุปกรณ์เซฟความปลอดภัยใดๆ ตามปากคำของคนที่ร่วมอยู่ในการถ่ายทำ บอกว่า ตามแผนการถ่ายทำ เมื่อโหนลับผ่านหน้ากล้องไปแล้ว ฮ. ต้องลงจอด เพื่อเปลี่ยนตัวนักแสดงเป็นหุ่นหรือสตันต์แมน แต่อาจมีความผิดพลาดบางอย่างทำให้มิตรถูก ฮ. พาลอยสูงขึ้นไปจนเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของวงการบันเทิงไทย
ภาพ : เดลินิวส์ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ หน้า ๑
ถ่ายโดย วิเชียร จันทะบุตร
๖
มีนาคม
๒๔๗๗
วันเดือนปีเกิดของ มิตร ชัยบัญชา ตามที่ระบุในบัตรประชาชนใบสุดท้าย และในทะเบียนบ้านครั้งแรกตอนเขาเริ่มเข้าโรงเรียน
เอกสารทะเบียนราษฎรฉบับแรกสุดนั้นระบุด้วยว่าเด็กชายสุพิศ นิลศรีทอง เป็นบุตรของเสงี่ยม และ บรรจบ นิลศรีทอง ผู้เป็นน้องสาวและน้องเขยของแม่ ให้สามารถเบิกค่าเล่าเรียนได้ ซึ่งทั้งญาติผู้ใหญ่และตัวมิตรเองต่างรู้อยู่แก่ใจกันว่าไม่ตรงตามจริง ทั้งวันเกิดและชื่อบิดามารดาที่ปรากฏในทะเบียนบ้าน
ตามธรรมดาของชาวบ้านทั่วไปในสมัยก่อนที่ไม่ค่อยมีใครจดจำหรือบันทึกวันเดือนปีของตัวเองหรือของใคร แม่สงวน อินเนตร ก็จำได้แต่ว่าลูกชายคนเดียวของเธอเกิดเดือนมกราคม ๒๔๗๗
เมื่อโตเป็นหนุ่มอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แม่สงวน หรือยี หรือยี้ รับกลับมาเป็นบุตรบุญธรรม เอกสารใหม่ลงวันเกิดให้เขาเป็น ๒๘ มกราคม ซึ่งไม่มีใครยืนยันความถูกต้องแน่นอนได้
เมื่อเขาเป็นดารามีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว มิตร ชัยบัญชา กำหนดวันเกิดตัวเองใหม่เป็น “วันที่ ๑ มกราคม ปีจอ วันจันทร์” ตามที่บอกกับ กิ่งดาว ดารณี ในช่วงที่อยู่กินเป็นสามีภรรยาด้วยกัน โดยให้เหตุผลว่าตรงกับวันปีใหม่ จะได้มีคนฉลองให้ทั่วประเทศ
ในชีวิตหนึ่งของลูกผู้ชายจากเพชรบุรีคนนี้จึงมีวันเกิดถึง ๓ วัน ซึ่งนับว่าแปลกแล้ว แต่ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าคือเมื่อเขาตายไปแล้ว ยังมีวันเกิดเพิ่มมาอีกวัน เมื่อนักโหราศาสตร์สมัครเล่นรายหนึ่งออกมายืนยันว่า เขาเคยผูกดวงให้ มิตร ชัยบัญชา แล้ว มิตรต้องเกิดวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๗๗ จึงจะถูกต้องและตรงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ครั้นต่อมาปี ๒๕๒๑ “พลูหลวง” โหรไทยชื่อดังได้ไปปรึกษากับแม่ของมิตรเพื่อตรวจดวงชะตานำลงตีพิมพ์ในหนังสือวิจารณ์ดวงชะตา ๒๐๐ ดวง ก็ระบุว่ามิตรต้องเกิดวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๗๗ เช่นเดียวกัน
เป็นวันเกิดที่ได้จากการคำนวณย้อนกลับไปจากวันตาย
แต่วันเกิดที่ชัดเจนแน่นอนของ มิตร ชัยบัญชา ก็ยังเป็นปริศนา เช่นเดียวกับความตายของเขาที่ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่าอาจไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุอื่นใดแฝงอยู่ด้วย
๘
ตุลาคม
๒๕๖๕
เป็นครั้งแรกที่หนังเก่ายุคกึ่งพุทธกาลที่นำแสดงโดยมิตร ชัยบัญชา มีโอกาสได้คืนสู่จอที่บ้านเกิดของเขา ในโครงการฉายหนัง “กลางแปลง มิตร ชัยบัญชา” ที่วัดท่ากระเทียม อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่มีหลวงพ่อแดง ญาณวุฑฺโฒ ซึ่งมีศักดิ์เป็นสายญาติรุ่นหลานเหลนของ มิตร ชัยบัญชา เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
“ยายของอาตมาเป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณพ่อโยมมิตร ที่บ้านไสค้าน”
ท่านเป็นผู้ริเริ่มจัดการให้นำรูปปั้น มิตร ชัยบัญชา ที่เคยซุกอยู่ด้านใน ออกมาตั้งที่หน้าวัด
“ข้างในคนไม่โผล่เข้าไป เลยย้ายมาอยู่ริมถนน”
สมบัติบางชิ้นของมิตรที่เหลืออยู่รวมทั้งเถ้ากระดูกบางส่วนทุกวันนี้เก็บอยู่ที่วัดท่ากระเทียม
“กระดูกมาอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เขาเสียใหม่ ๆ ญาติพี่น้องทางพ่อนำมากับพระพุทธรูปบูชาที่เคยเห็นในหนังด้วย เป็นพระชัย สมัยอยุธยา เอามาถวายไว้ที่วัดบ้านเกิด”
และอาจเกี่ยวเนื่องด้วยว่า แต่เดิมมาอาของมิตรเคยบวชเณรอยู่ที่วัดแห่งนี้และมิตรเคยได้มาอาศัยอยู่ด้วย ก่อนจะหอบหิ้วกันไปอยู่วัดสนามพราหมณ์ ในเมืองเพชรฯเมื่ออาอุปสมบทแล้ว
“พออาตมาเป็นเจ้าอาวาสก็เริ่มเรื่องนี้ขึ้นมา คิดว่าต้องเชิดชูคนดี เขาเป็นเด็กบ้านแตก แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ไปเรียนหนังสือจนได้เป็นทหารอากาศ ได้เป็นดาราเป็นชีวิตที่คนรุ่นใหม่น่าดำเนินรอยตามในการสู้ชีวิต”
มิตร ชัยบัญชา เป็นเด็กกำพร้า พ่อร้างห่างไปตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องแม่ ซึ่งต่อมาให้กำเนิดเขาที่ริมแม่น้ำเพชรบุรี สุดซอยท่ายาง ๑ หรือซอยเทศบาล ๑๐ ในตลาดท่ายาง บริเวณที่ตั้งศาลเจ้าในปัจจุบัน
จนอายุได้ขวบเศษ แม่นำเด็กชายไปฝากให้อยู่กับปู่ย่าที่บ้านไสค้าน ที่อยู่ลึกเข้าไปด้านหลังวัดท่ากระเทียมแล้วก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เช่าบ้านอยู่หน้าวัดแค ถนนพะเนียง เป็นแม่ค้าขายผักในตลาดนางเลิ้ง ต่อมาได้สามีใหม่ทำงานเป็นคนขับรถ
อยู่ที่ไสค้านช่วงหนึ่งปู่รื่นย่าผาดนำหลานตัวน้อยไปฝากให้อยู่กับอาแช่ม ที่บวชเณรอยู่วัดท่ากระเทียม หลังอุปสมบทไปอยู่วัดสนามพราหมณ์ ในตัวเมืองเพชรบุรีก็พาหลานไปด้วย
เจ้าหนูที่ไม่เคยได้อยู่กับพ่อแม่มาแต่เล็กแต่น้อย ได้ชื่อว่าบุญทิ้ง เป็นชื่อแรกที่เรียกกันแถวท่ายางบ้านเกิด และโดยพฤตินัยเขาก็คงใช้นามสกุลระวีแสง ของพ่อชม แต่ชื่อสกุลนี้ไม่เคยปรากฏในทะเบียนราษฎร
จนถึงวัยเรียนเขายังไม่เคยได้เข้าโรงเรียน นอกจากศึกษาที่วัดจันทราวาส ช่วงที่ไปเป็นเด็กวัดอยู่กับหลวงอาแช่ม น้องชายของพ่อ ซึ่งเป็นพระพำนักอยู่วัดสนามพราหมณ์จนกระทั่งแม่มารับไปอยู่ด้วย
รูปปั้นมิตรกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาล แต่ผู้คนก็ยังไม่ลืมความเป็นเทพบุตรซูเปอร์สตาร์ของเขาที่ต้องขอถ่ายรูปด้วยเมื่อมาเจอ
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
มิตร ชัยบัญชา เล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ กิ่งดาว ดารณีภรรยาคนหนึ่งของเขาฟัง ซึ่งตอนหลังเธอนำมาถ่ายทอดใน บันทึกชีวิตรัก มิตร ชัยบัญชา
“เชื่อมั้ย หลวงอาเดินเรียกถามหาทั่ววัดเลย แต่ในที่สุดก็มายืนใต้ต้นไม้ที่พี่แอบอยู่ พี่ว่าหลวงอาก็รู้ว่าพี่อยู่ที่ไหน แต่แกล้งถ่วงเวลาไปงั้นเอง”
“เพื่ออะไรคะ”
“หลวงอาก็คงรู้ว่าเราต้องจากกันในวันนั้นแน่นอนเพราะป้าเดินตามหลวงอาไม่ห่าง ท่าทางร้อนรนกระวนกระวายและตั้งใจจะรับพี่เข้ากรุงเทพฯ จริง ๆ หลวงอาคงใจหายเป็นธรรมดา”
“แล้วตอนนั้นพี่เชษฐ์อายุซักเท่าไหร่คะ”
“ซัก ๑๑ ขวบเห็นจะได้ ไอ้ความเป็นเด็กนี่เองทำให้พี่คิดว่าเป็นตายยังไงก็จะไม่ยอมเข้ากรุงเทพฯ จะอยู่กับหลวงอาตลอดไป หลวงอาแช่มรู้ว่าพี่อยู่บนต้นไม้จะต้องได้ยินคำพูดของท่าน ท่านพยายามพูดให้พี่เข้าใจว่า ถึงจะจากกันก็จากกันไม่นาน ท่านจะขึ้นมาเยี่ยมที่กรุงเทพฯเป็นครั้งคราว อยากให้พี่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนดี ๆ โตขึ้นจะได้มีอนาคต ท่านพูดเชิงเกลี้ยกล่อมอยู่นานมาก”
ต่อมาอาแช่มในวัยชรา ได้เล่าย้อนความหลังช่วงปฐมวัยของบุญทิ้ง ให้ อิงคศักย์ เกตุหอม บันทึกไว้ใน ความหมายแห่งชีวิต มิตร ชัยบัญชา ว่าท่านต้องสั่งให้โรงครัวเก็บน้ำข้าวใส่ชามไว้ให้หลานชายดื่มแทนนม
กุฏิหลวงอาแช่มเป็นเรือนไม้สองชั้น ท่านจำวัดอยู่ชั้นบน ชั้นล่างหลานชายกางมุ้งนอนอยู่คนเดียว ทุกคืนหลวงอาต้องจุดตะเกียงดวงใหญ่ให้แสงลอดช่องห่างของพื้นไม้ พอมีแสงสว่างให้ห้องข้างล่างบ้าง บางคืนฝนตกฟ้าคะนองหลานชายต้องวิ่งขึ้นมาขอนอนใกล้มุ้งหลวงอา
จนวันที่แม่มารับตัวจะให้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ หลวงอาแช่มเล่าว่า “ครั้งแรกบุญทิ้งตกใจและกลัวมากที่ทราบข่าวว่าแม่จะมารับตัว กลัวมากถึงขนาดที่วิ่งหนีขึ้นไปแอบบนต้นมะม่วง ไปตามเรียกให้ลงมาเท่าไหร่บุญทิ้งก็ไม่ยอมลงมา
“น้าเขยเป็นเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์ที่เพชรบุรีทำเอกสารให้เป็นลูกของน้องสาวแม่กับน้าเขย เป็นลูกข้าราชการเพื่อรับสิทธิ์เบิกค่าเล่าเรียนได้จนอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ใช้ชื่อว่า สุพิศ นิลศรีทอง” อิงคศากยะ นรวโร ภิกขุ หรืออดีต อิงคศักย์ เกตุหอม ผู้ค้นคว้าตามรอยชีวิตมิตร ชัยบัญชา
เมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เด็กชายบุญทิ้งจากเพชรบุรีจึงใช้ชื่อนามสกุลใหม่เป็น สุพิศ นิลศรีทอง เป็นลูกของน้าเสงี่ยมกับน้าเขยชื่อบรรจบโดยนิตินัย และโดยพฤตินัยก็เรียกน้าว่าแม่ เรียกแม่ที่แท้จริงว่าป้า
ฟิล์มภาพยนตร์ยุค ๑๖ มม. ทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้รู้จักหน้าตาและบทบาทการแสดงของพระเอกอันดับ ๑ ของเมืองไทยเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ในยุคสมัยที่โลกเคลื่อนเข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มตัวแล้ว มิตร ชัยบัญชา ใน ชายชาตรี ที่เห็นอยู่บนจอนี้ เป็นหนังเก่าเรื่องหนึ่งที่กลุ่มวัยหวานวันวานตามหามาได้และใส่เสียงพากย์ใหม่ นอกจากทำให้พระเอก มิตร ชัยบัญชา ได้กลับมาเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาบนจออีกครั้ง ยังเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์หนังไทยไปด้วย
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
แม้เมื่อแม่รับเขากลับมาเป็นลูกในภายหลัง ก็เป็นได้เพียงลูกบุญธรรมในทางกฎหมายทะเบียนราษฎร และเขาก็เรียกแม่ว่าป้าจนชั่วชีวิต
“มิตรเป็นเด็กดี นิสัยดี ร่าเริง มีเพื่อนเยอะ ตอนเล็ก ๆ ไม่ค่อยซน ตัวผอมสูง เคยถูกเพื่อนรังเกียจและรังแก จึงแอบไปให้ครูสอนวิชามวยไทยจนศอกเข่าเก่ง แต่เก่งแล้วมิตรก็ไม่เคยไปล้างแค้นคนที่เคยรังแกหรือดูถูกเหยียดหยาม เว้นแต่ว่าถ้าใครมารังแกอีก คราวนี้จะไม่ยอมหนีอีกแล้ว”
แม่ยียังจำวัยเยาว์ของเขาได้เสมอ ดังที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากมิตรจากไปแล้วเป็น ๒๐ ปี
“ชื่อบุญทิ้งเป็นชื่อที่ล้อเล่นกัน เพราะพ่อทิ้งตั้งแต่เขายังอยู่ในท้อง ชื่อจริง ๆ ของเขาสุพิศ เรียกชื่อนี้กัน”
นักบิน เป็นความฝันแรกในชีวิตของเด็กชายสุพิศ
หลังจบชั้น ม. ๖ จากโรงเรียนไทยประสาทวิทยาย่านหลานหลวง เขาสอบเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ ทำคะแนนผ่านเกณฑ์ได้เข้าอยู่ในเหล่านักบินตามความใฝ่ฝัน ได้ไปฝึกบินที่โรงเรียนศิษย์การบินโคราช รุ่น ป. ๑๕ หลายเดือนจนบินเดี่ยวด้วยเครื่องบินฝึกหัดได้แล้ว ก่อนถูกส่งตัวกลับโรงเรียนจ่าอากาศให้เลือกเรียนเหล่าอื่น
ข้อมูลบางแห่งบอกว่าเขาได้คะแนนไม่ผ่านการฝึก เนื่องจากนำเครื่องขึ้นและลงผาดโผนนอกคำสั่งครูฝึกบ่อย ๆ ทำให้ถูกตัดคะแนนความประพฤติจนไม่ผ่านเกณฑ์บางแห่งว่าขณะเขาอยู่เวรเพื่อนทหารนายหนึ่งแอบนำเครื่องบินขับหนีไปลงที่ลาว มิตรกลับมาเข้าสังกัดทหารราบ เหล่าทหารอากาศโยธิน ติดยศจ่าอากาศโท ในปี ๒๔๙๙ รับหน้าที่เป็นครูฝึกกองพันต่อสู้อากาศยานดอนเมือง ได้รับสมญาจากทหารที่เข้ามาฝึกใหม่ทุกคนว่าจ่ามหากาฬ ด้วยการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เข้มงวดกวดขันเรื่องระเบียบวินัยและการฝึก ใครหย่อนยานจะทำโทษอย่างไม่ไว้หน้า ซึ่งเมื่อออกคำสั่งอะไรเขาก็จะทำไปด้วย ไม่ว่าวิดพื้น วิ่งรอบสนาม จนตัวเขาเองเคยปัสสาวะเป็นเลือด
ต่อมาจ่าครูฝึกรู้สึกว่า สุพิศฟังดูเป็นชื่อผู้หญิงไม่เหมาะกับการบังคับบัญชากำลังพล ช่วงต้นปี ๒๕๐๐ จึงเปลี่ยนชื่อตัวเองใหม่ว่าพิเชษฐ์ ที่มีความหมายว่า “เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด” เพื่อนสนิทและเพื่อนดารารุ่นไล่เลี่ยกันมักเรียกเขาสั้น ๆ ว่าเชษฐ์ ใช้นามสกุลพุ่มเหมของพ่อเลี้ยงมาตั้งแต่จดทะเบียนเป็นลูกบุญธรรมของแม่ และได้เริ่มเข้าสู่วงการแสดงในช่วงท้ายปีนี้
ทีมผู้สร้างภาพยนตร์คงเห็นว่า พิเชษฐ์ พุ่มเหม คงไม่เหมาะจะใช้เป็นชื่อดาราจึงคิดตั้งให้เขาใหม่
“ข้าพเจ้ากับคุณประทีปร่วมกันตั้งชื่อใหม่ให้เขาว่ามิตร ชัยบัญชา” กิ่ง แก้วประเสริฐ เขียนเล่าถึงที่มาของนามอันโด่งดังทะลุฟ้า เป็นที่รู้จักและจดจำอยู่ในใจคนต่อมาอีกยาวนาน
โดยหากจะกล่าวว่ากิ่ง หรือนามปากกา “ก. แก้วประเสริฐ” เป็นคนแรกที่ชักนำ มิตร ชัยบัญชาสู่การแจ้งเกิดในโลกมายาก็คงนับได้
ฟิล์ม ๑๖ มม. มีด้านกว้าง ๑๖ มิลลิเมตร ไม่มีระบบบันทึกเสียงลงในฟิล์ม และแทบไม่มีประเทศไหนใช้ในอุตสาหกรรมการถ่ายทำหนัง แต่เป็นฟิล์มหลักของวงการหนังไทยช่วงปี ๒๔๙๐ ถึง ๒๕๑๕
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ราว ๖ เดือนก่อนนั้น เพื่อนของกิ่งชื่อจ่าโทสมจ้อยพาจ่าพิเชษฐ์มาแนะนำให้รู้จัก ก็ได้รู้ว่าทั้งคู่เป็นคนจังหวัดเพชรบุรีด้วยกัน
“ได้เห็นรูปร่างหน้าตาก็คิดว่าเขาคงจะได้ ประกอบกับนิสัยที่สุภาพเรียบร้อย เพียงเท่านี้ข้าพเจ้าก็เอาเขาไปด้วยทุกแห่งเขาไปหาข้าพเจ้าที่สำนักงานเกือบทุกวัน”
ร่างสูงสมาร์ต ๑๘๖ เซนติเมตร น้ำหนักราว ๗๐ กิโลกรัมกับหน้าตาคมเข้มแบบลูกผู้ชาย มุมปากมีรอยยิ้มนั้นต้องตาหนุ่มผู้จัดหานักแสดง
“ก. แก้วประเสริฐ” บันทึกไว้ว่า ช่วงนั้นเขาเป็นคนทำหนังสืออยู่โรงพิมพ์ ส. การพิมพ์ แถวถนนนครสวรรค์ ผ่านฟ้าฯ และเป็นคนจัดหานักแสดงให้กับผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ จ่าพิเชษฐ์บ้านอยู่ถนนพะเนียง นางเลิ้ง ไม่ไกลกันนัก
“ช่วงนั้นข้าพเจ้าพาจ่าเชษฐ์เร่ร่อนไปหลายแห่งบางวันไม่มีค่าแท็กซี่ต้องขึ้นรถเมล์ ข้าพเจ้าจึงจำความสูงของเขาได้อย่างแม่นยำ หัวเขาจะสูงติดหลังคารถ เมื่อเขาทนได้ข้าพเจ้าก็ทนได้ บางวันก็ต้องเดินกันหลายกิโลเมตร”
ผ่านไปเป็นครึ่งปียังไม่มีกองถ่ายหนังเรื่องไหนตอบรับ
“วันหนึ่งข้าพเจ้าพาเขาไปที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ ดาราไทย ของ สุรัสน์ พุกกะเวส รู้ว่าเขากำลังจะสร้างภาพยนตร์เรื่อง ชาติเสือ จากบทประพันธ์ของ ‘อรวรรณ’ ชาติเสือ ยังหาพระเอกไม่ได้ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ ข้าพเจ้านั่งแท็กซี่ไปรับจ่าพิเชษฐ์ที่ดอนเมือง ไปให้คุณรังสรรค์และคุณประทีปดูตัว แล้วก็ตกลงกันว่าอีก ๒ วัน จะยกกองถ่ายไปที่อำเภอโคกสำโรง ลพบุรี”
จ่าพิเชษฐ์เบิกเงินจาก รังสรรค์ ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสร้าง เจ้าของบริษัททัศไนยภาพยนตร์ ๓,๐๐๐ บาท ไปตัดเสื้อผ้าก่อนนัดยกกองไปถ่ายทำหนังกันที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ในอีก ๒ วันข้างหน้า
“ก. แก้วประเสริฐ” กับ ประทีป โกมลภิส ผู้กำกับการแสดงช่วยกันคิดชื่อที่จะใช้เป็นชื่อนักแสดง ด้วยคำถามสองข้อ
“ในชีวิตของเธออะไรสำคัญที่สุด ?”
“เพื่อนครับ”
เพราะชีวิตที่ผ่านมานอกจากหลวงอาแช่ม ก็มีแต่เพื่อนให้ความอบอุ่นเบิกบาน อดอิ่มก็อยู่กับเพื่อนมาตลอด
“ชื่อมิตรก็แล้วกัน” ผู้กำกับฯ เขียนลงบนกระดาษ
“ถ้ารักเพื่อนมากก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว”
“ในชีวิตที่ผ่านมาภูมิใจเรื่องอะไรมากที่สุด” ผู้กำกับฯ ถามต่อ
“ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ”
“นามสกุลชัยบัญชาดีที่สุด นำเอาสิ่งที่ภูมิใจในชีวิตคือธงชัยเฉลิมพลเป็นหลัก ถือว่าเป็นมงคลที่ยิ่งใหญ่” ผู้กำกับฯ สรุป
กลายเป็นนาม “มิตร ชัยบัญชา”
ชื่อที่มาจากคำตอบจากใจจริง และชั่วชีวิตเขาก็พิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้น
ครั้งหนึ่งระหว่างนั่งรถไปถ่ายหนังผ่านย่านพระโขนงบังเอิญหันไปเห็นเพื่อนเก่ายืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ กิ่งดาว ดารณี อยู่ในรถด้วย เขียนเล่าว่า มิตร ชัยบัญชา ให้เรียกเพื่อนคนนั้นขึ้นรถมาอย่างร้อนรน ไถ่ถามทุกข์สุขกันแล้วรู้ว่าเพื่อนเป็นช่างตัดผม นั่งรถเมล์ไปบริการลูกค้าถึงบ้านไม่มีร้าน มิตรถามว่าอยากมีร้านไหม เพื่อนไม่ต้องการ บอกไม่อยากมีภาระ แบบนี้สบายกว่า มิตรควักเงินส่งให้ ๖,๐๐๐ บาท ให้ไปซื้อมอเตอร์ไซค์ขี่ไปทำงาน ไม่ต้องขึ้นรถเมล์
เขาไม่ลืมเพื่อนคนนี้ ด้วยในยามยากแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนอยู่บ้านนางเลิ้ง พ่อเลี้ยงขับรถของที่ทำงานกลับมาบ้าน ไม่มีที่จอดต้องจอดริมถนนหน้าบ้าน เขาต้องออกไปนอนเฝ้ารถ
สุพิศเป็นไข้แต่ไม่กล้าปฏิเสธ ต้องออกไปนอนทรมานอยู่ในรถ แล้วเพื่อนคนนั้นเดินมาเจอ ไปหายามาให้กินแล้วบอกให้กลับเข้าบ้าน เขาจะช่วยนอนเฝ้ารถแทน เป็นน้ำใจเพื่อนในยามยากที่เขาไม่เคยลืม
แม้เมื่อขึ้นแท่นพระเอกอันดับ ๑ ของไทยที่ผู้สร้างหนังทุกคนต้องการตัว คิวการแสดงแน่นหนา เขาไม่เคยบิดพลิ้วเบี้ยวคิวใคร
“เจ้าของหนังรายไหนจน เขากลับช่วยเต็มที่ ขาดเงินยังออกให้อีก” ตามคำเล่าของ ภราดร ศักดา เพื่อนที่เคยกอดคออดอิ่มมาด้วยกันตั้งแต่อยู่นางเลิ้ง
“ผมได้ทำหนังก็เพราะมิตร มิตรออกทุนร่วมกับเพื่อน” แดน กฤษดา ให้สัมภาษณ์ “ผมเคยสร้างหนังให้มิตรเป็นตัวแสดงนำ เขาขอค่าตัวแค่สองหมื่นห้าเท่านั้น บอกว่าเราเพื่อนกัน เขาเป็นคนมีน้ำใจดี รู้ว่าผมเคยทำหนังขาดทุนย่อยยับก็ช่วยเต็มที่”
“เพื่อนบางคนออกปากขอบ้านเรือนไม้กลางเก่ากลางใหม่บนที่ดินที่อยู่เยื้องกับบ้านพักเขาซึ่งมิตรซื้อหาเอาไว้ยังไม่ได้ทำอะไร มิตรตกปากให้ทันทีเมื่อรู้ว่าเพื่อนฝูงเดือดร้อน เพื่อนก็ลงมือรื้อบ้านทั้งหลังไปปลูกให้เมียและแม่ยายอยู่ทันที มิตรก็ไม่ว่า กลับยิ้มแย้มเสียอีกที่ช่วยเพื่อนได้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนในเรื่องบ้านที่อยู่อาศัยได้เรียบร้อย” นัทที เจษฎา เล่าไว้ในงานเขียนของเขา
เป็นชื่อที่สะท้อนตัวตนจริง ๆ ของเขา เช่นเดียวกับนามสกุล “ชัยบัญชา” ที่ต่อมาในช่วงท้ายของชีวิต เขาได้เปลี่ยนมาใช้เป็นนามสกุลจริงในบัตรประชาชนด้วยว่า พิเชษฐ์ ชัยบัญชา
เป็นนามสกุลที่เขาได้ใช้เพียงคนเดียว เพราะลูกชายคนเดียวของเขาที่เกิดกับ จารุวรรณ สวีรวงศ์ ภรรยาคนแรก ก็ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของแม่สงวน-พ่อเฉลิม ใช้นามสกุลพุ่มเหม
ในที่สุดนามสกุลชัยบัญชาก็ตายไปพร้อมกับเขา แต่ชื่อนามเขายังอยู่ ซึ่งจะว่าไปอาจยาวนานกว่าการสืบสกุลโดยสายเลือดก็เป็นได้
น่าสนใจยิ่งว่าความนิยมชมชอบและมนตร์เสน่ห์ในตัวมิตรประกอบขึ้นจากสิ่งใด
อาจด้วยรูปลักษณ์ ท่วงท่า ภาษากายในบทรักเศร้าโศก ซึ้ง ตลก อบอุ่น ฯลฯ ที่แสดงออกมาในบทบาทการแสดง ดังที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงเขาว่า “เขาเป็นเพียง มิตร ชัยบัญชา ตัวจริง ไม่ว่าอยู่ในบทใด ๆ...เพียงแต่ไปปรากฏตัวต่อหน้ากล้องถ่ายก็พอถมไปแล้ว เพราะคนดูหนังเขาก็ต้องการเพียงแค่นั้น...ความเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งที่คนไทยรัก”
และเขาก็เป็นดาราในดวงใจของมวลชนตลอดกาลแม้เมื่อจากไปแล้ว
๘
ตุลาคม
๒๕๖๓
วันแรกของงานนิทรรศการ “มิตรศึกษา Mitr-Mythology” ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ถนนพุทธมณฑลสาย ๕ จังหวัดนครปฐม เนื่องในวาระ ๕๐ ปีการจากไปของ มิตร ชัยบัญชา จัดแสดงไปจนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔ ก็สิ้นสุดเวลาแสดงของนิทรรศการหมุนเวียน
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า มิตร ชัยบัญชา นั้นเป็นหลักหมายใหญ่ในวงการหนังไทย แต่ก็น่าแปลกใจที่หอภาพยนตร์ฯ ยังไม่มีถาวรอนุสรณ์แทนความทรงจำรำลึกถึงเขา
นอกจากรอยพิมพ์มือบริเวณลานดารา ที่ให้ดาราไทยร่วมสมัยประทับฝ่ามือบนปูนเปียก แล้วนำมาจัดแสดงเรียงไว้บนลานโล่งด้านหน้าตึก
รอยฝ่ามือของ มิตร ชัยบัญชา ดูโดดเด่นกว่าของดาราคนอื่นด้วยพิมพ์อยู่บนแผ่นโลหะสีเงินวาว และคงไม่ใช่รอยพิมพ์มือที่มิตรตั้งใจให้ไว้เป็นอนุสรณ์ แต่คงลอกลายมาจากเส้นรอยฝ่ามือที่เขาประทับไว้ในสมุดบันทึกของหมอดูเมื่อปี ๒๕๐๙
นอกจากรอยพิมพ์มือบนผิวโลหะสีเงินมันวาว ภายในหอภาพยนตร์ฯ น่าจะมีส่วนที่เป็นอนุสรณ์ที่สะท้อนเกียรติยศของราชาหนังไทย ผู้เป็นหลักหมายใหญ่ที่มีเจตนารมณ์แรงกล้าในการผลักดันให้หนังไทยได้มีที่ยืนในวงการบันเทิงและในใจคนดูหนังไว้บ้าง
เมื่อมาถึงหอภาพยนตร์ฯ หากจะมองหา มิตร ชัยบัญชา ก็อาจพอจะเห็นภาพและเรื่องราวของเขาได้บนชั้นในร้านขายของที่ระลึก หรือในหนังสือบางเล่มใน “ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี” ซึ่งอาจต้องใช้ความพยายามในการค้นหาบ้าง เพราะบางทีก็หันสันปกออกด้านนอก
หนังสือบางเล่มเหล่านั้นอาจให้ความรู้แก่เราด้วยว่าโลกของภาพยนตร์ไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๔๖๖ ในเรื่อง นางสาวสุวรรณ ซึ่งนอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว ยังเดินทางไปถ่ายทำที่หัวหินและเชียงใหม่ เพื่ออวดสุดยอดสถานที่ตากอากาศของสยามยุคนั้น และการทำป่าไม้ทางภาคเหนือ แต่ด้วยเรื่อง ช้าง ในปี ๒๔๖๘ และเรื่องอื่น ๆ ในช่วงไล่เลี่ยกัน ซึ่งทุกเรื่องสร้างโดยชาวต่างชาติ หนังที่สร้างเองเกิดขึ้นในปี ๒๔๗๐ โดยกรุงเทพภาพยนต์บริษัท (ต่อมาคือบริษัทศรีกรุงภาพยนตร์) สร้างหนังเงียบเรื่อง โชคสองชั้น ด้วยฟิล์ม ๓๕ มม.
เวลานั้นเมืองไทยมีกล้องที่ใช้ฟิล์ม ๑๖ มม. ใช้กันอยู่ แต่ไม่ค่อยมีใครใช้ในการถ่ายภาพยนตร์
กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กชายบุญทิ้งเดินทางเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กับแม่ โลกยิ่งเผชิญความขาดแคลนยากไร้ โดยเฉพาะของฟุ่มเฟือยนอกเหนือปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตอย่างฟิล์มถ่ายหนังนั้นขาดตลาดหาได้ยาก ฟิล์ม ๑๖ มม. ซึ่งเป็นของโบราณที่แทบไม่มีประเทศไหนใช้งานถ่ายหนังแบบจริงจังอีกแล้วก็ยังเป็นที่สนใจของคนที่มีทุนต่ำ เนื่องจากราคาถูกกว่าฟิล์ม ๓๕ มม.
ฟิล์มคงไม่ใช่คำคุ้นหูและไม่ใช่สิ่งคุ้นตาผู้คนในยุคดิจิทัล ที่แทบทุกสิ่งล่องหนอยู่ในระบบออนไลน์แบบจับต้องไม่ได้
แต่ฟิล์มเป็นเซลลูลอยด์แบบพลาสติกแถบบางใส ด้านกว้างมีขนาด ๑๖ มม. ๓๕ มม. ทางยาวเป็นแถบยาวเหมือนม้วนริบบิ้น ใช้บันทึกภาพแบบต่อเนื่องไว้เป็นภาพ ๆ เรียงต่อกันไปเป็นช่อง ๆ
ภาพพิมพ์มือบนลานดารา หน้าหอภาพยนตร์ฯ ได้ภาพฝ่ามือ มิตร ชัยบัญชา มาจากรอยพิมพ์มือที่เขาส่งให้หมอดูช่วยทำนายดวงชะตา ในช่วงที่เขางานชุกจนไม่มีเวลาไปเจอด้วยตัวเอง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ตอนฉายภาพออกดูใช้วิธีเลื่อนแผ่นฟิล์มผ่านแสงไฟให้เงาตกกระทบบนจอผ้าหรือผนังสีขาว ภาพที่ถ่ายไว้เป็นช่อง ๆ สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เลื่อนผ่านแสงไฟในจังหวะความเร็วที่พอเหมาะ จะเลื่อนไหลเป็นภาพต่อเนื่องเคลื่อนไหวบนจอที่รับภาพตกกระทบ เป็นโลกมายาที่เรียกกันว่าหนังหรือภาพยนตร์
ราวหนึ่งในสามของชีวิต มิตร ชัยบัญชา โลดแล่นอยู่ในโลกใบนั้น
ในเวลาเพียง ๑๓ ปี แต่เขาได้สร้างปรากฏการณ์ไว้มากมายซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในวงการหนังไทย ให้คนไทยได้กล่าวขานมาจนทุกวันนี้
คนไทยที่เกิดในช่วงคาบเกี่ยวยุคกึ่งพุทธกาลแทบไม่มีใครที่ไม่รู้จัก หรืออย่างน้อยที่สุดต้องเคยดูหนังสักเรื่องหนึ่งที่ มิตร ชัยบัญชา แสดง
เพราะในช่วงปลายทศวรรษ ๒๕๐๐ นั้น แต่ละปี มิตร ชัยบัญชา เป็นดาราที่แสดงหนังมากที่สุดในเมืองไทย ปีละกว่า ๓๐ เรื่อง
ตามเสียงเรียกร้องของคนดูหนัง อย่างที่เล่าลือกันว่าชาวเกาะที่สตูล แล่นเรือข้ามน้ำขึ้นฝั่งมาเห็นโปสเตอร์หนังไม่มี มิตร ชัยบัญชา คนดูเป็นร้อยก็พากันลงเรือกลับเกาะโดยไม่ยอมดูหนัง
สายหนังหรือผู้รับซื้อหนังออกไปฉายในยุคนั้นจึงไม่ยอมซื้อหนังจากผู้สร้าง หากไม่ใช่หนังที่มิตรแสดงแต่พร้อมยอมจ่ายล่วงหน้าตั้งแต่หนังเริ่มเปิดกล้องหากหนังเรื่องนั้นนำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา โดยแทบไม่ต้องสนใจเนื้อหาก็ได้
ความนิยมที่คอหนังมีต่อ มิตร ชัยบัญชา เกิดขึ้นอย่างเหนียวแน่นนับตั้งแต่ ชาติเสือ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาแสดง ด้วยท่วงท่าลีลาที่กล่าวขานกันว่า “เป็นไปตามธรรมชาติ ตามบุคลิกที่เป็นจริงของเขา”
ตอกย้ำด้วย จ้าวนักเลง ในปี ๒๕๐๒ ผลงานเรื่องที่ ๒ ในบทบาท โรม ฤทธิไกร ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่มิตรสวมหน้ากากอินทรีแดง คอยออกมาช่วยเหลือคนจนหรือผู้ที่ถูกข่มเหงรังแก ซึ่งกล่าวกันว่าตรงกับลักษณะที่เป็นจริงในชีวิตนอกจอของเขาด้วย ที่มีอุปนิสัยรักความยุติธรรมเริ่มได้ชื่อว่าเป็นพระเอกเงินล้านจากเรื่อง นกน้อย
ในปี ๒๕๐๗ และในปีเดียวกันได้ประชันบทบาทกับ สมบัติ เมทะนีพระเอกรุ่นน้องที่รู้จักกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียน ใน สิงห์ล่าสิงห์ นางเอกคือ เพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกเจ้าของฉายานัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง ซึ่งเคยพบกันครั้งแรกในเรื่อง บันทึกรักของพิมพ์ฉวี เมื่อปี ๒๕๐๕ ซึ่งต่อมาภายหลังพระนางคู่นี้ก็กลายเป็นดาราคู่ขวัญที่คนเรียกติดปากกันว่า “มิตร-เพชรา”
มิตรกับ สมบัติ เมทะนี เพื่อนพระเอกรุ่นน้อง ในงานประกาศผลรางวัลตุ๊กตาทอง ซึ่งตลอดชีวิตการแสดง ๑๓ ปี กับผลงานเกือบ ๓๐๐ เรื่อง ที่ส่งให้ มิตร ชัยบัญชา เป็นสุดยอดพระเอกในดวงใจคนดูหนังทั้งประเทศ แต่เขาไม่เคยได้รับรางวัลนี้เลยสักครั้ง
ปี ๒๕๐๙ เพชรตัดเพชร ทำรายได้ลบสถิติเรื่อง เงิน เงิน เงิน (ปี ๒๕๐๘) กลายเป็นหนังทำรายได้สูงสุดที่เคยฉายในเมืองไทย ปี ๒๕๑๑ หนังเรื่อง สมบัติแม่น้ำแคว ที่เขาแสดงกับนางเอกจากฮ่องกง แอนเจล่า ยูชิน ถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๓๕ มม. บักทึกเสียงลงในฟิล์มสามภาษา ไทย จีน และอังกฤษ ก็พาชื่อ มิตร ชัยบัญชา “โกอินเตอร์” เมื่อหนังออกฉายในตลาดโลก
ส่วนในประเทศ มิตร ชัยบัญชา โด่งดังถึงขีดสุดในเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ที่เข้าโรงฉายครั้งแรกในปี ๒๕๑๓ อยู่ต่อเนื่องถึง ๖ เดือน ทำรายได้เฉพาะในโรงหนังโคลีเซี่ยมแห่งเดียวกว่า ๖ ล้านบาท
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ตัวเขาได้ออกไปสู่วงการภาพยนตร์ระดับนานาชาติ โดยไปร่วมแสดงภาพยนตร์จีนเรื่อง อัศวินดาบกายสิทธิ์ และอีกหลายเรื่องที่ตกลงจะถ่ายทำกันต่อ ซึ่งน่าจะนับได้ว่าเป็นนักแสดงไทยคนแรกที่ “โกอินเตอร์” ไปร่วมงานแสดงกับผู้สร้างภาพยนตร์ระดับโลก
การก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงของมิตรช่วยฉุดวงการหนังไทยให้ตื่นฟื้นมีที่ทางชัดเจนในโลกมายา ด้วยจำนวนหนังไทยที่เกิดขึ้นใหม่ปีละเกือบ ๑๐๐ เรื่องในช่วงทศวรรษนั้น โดยเกือบครึ่งนำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา
ในวันที่ประสบความสำเร็จในฐานะพระเอกยอดนิยมอันดับ ๑ แล้ว เขายังขยันทำงานหนัก มุ่งมั่น ทำให้ในช่วงเวลาเพียง ๑๓ ปีในชีวิตการแสดง เขาฝากผลงานในบทบาทดารานำชายไว้เกือบ ๓๐๐ เรื่อง จำนวนเรื่องต่อปีสูงสุดยังไม่มีดาราคนไหนลบสถิติได้
เขาเป็นพระเอกที่มีส่วนช่วยส่งบทบาทให้นางเอกได้รับรางวัลตุ๊กตาทองมาแล้วสามคน คือ ภาวนา ชนะจิต จากเรื่อง แสงสูรย์ เมื่อปี ๒๕๐๓ เพชรา เชาวราษฎร์ จากเรื่อง นกน้อย เมื่อปี ๒๕๐๗ และ เนาวรัตน์ วัชรา จากเรื่อง เดือนร้าว เมื่อปี ๒๕๐๘
โดยเฉพาะ เพชรา เชาวราษฎร์ เป็นนางเอกคู่ขวัญ ที่คนดูมักเรียกรวบว่ามิตร-เพชรา จนบางคนเข้าใจไปว่า เพชราเป็นนามสกุลของมิตรก็มี
ดาราคู่ขวัญมิตร-เพชรา แสดงร่วมกันรวมมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง รวมทั้ง อินทรีทอง ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายที่ถ่ายจบไปพร้อมกับชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา
และนับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ตลอดชีวิตนักแสดงมิตร ชัยบัญชา ไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองเลยสักครั้ง จากบทบาทพระเอกในหนังที่เขาแสดงทั้งหมดเกือบ ๓๐๐ เรื่อง แต่เขาเคยได้รับรางวัลพระราชทานดาราทองจากการเทคะแนนของคนในวงการบันเทิงเมื่อปี ๒๕๑๐
“อินทรีแดง
ของข้าพเจ้า”
“เศก ดุสิต”
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๖๒ เจ้าของบทประพันธ์ “อินทรีแดง” พูดถึง มิตร ชัยบัญชา
จู่ ๆ วันหนึ่งคุณรังสรรค์ ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสร้างของบริษัททัศไนยภาพยนตร์ พร้อมด้วยคุณประทีป โกมลภิส ผู้เป็นเพื่อนข้าพเจ้า ก็ได้พาเด็กหนุ่มวัย ๒๓ ปีคนหนึ่งมาแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จัก เด็กหนุ่มผู้นั้นยกมือไหว้ข้าพเจ้าอย่างอ่อนน้อม แสดงถึงนิสัยอันสุภาพ
วันนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้รู้จักกับ พิเชษฐ์ พุ่มเหม หรือ มิตร ชัยบัญชาเป็นครั้งแรก
และตั้งแต่นั้นมาความสนิทสนมระหว่างข้าพเจ้ากับมิตรก็เพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ แม้ว่าในวงการบันเทิงจะมีความผันผวนเปลี่ยนแปรกันอยู่เสมอ มีโกรธกันดีกันอยู่บ่อย ๆ แต่ข้าพเจ้ากับมิตรก็ยังคงรักใคร่สนิทสนมกันอย่างราบรื่นตลอดมา และโดยที่ไม่ต้องมีสัญญาอะไรต่อกันเลย ข้าพเจ้าก็ตั้งเป็นกฎตายตัวขึ้นมาเองว่า ใครก็ตามที่มาซื้อบทประพันธ์ชุด อินทรีแดง ของข้าพเจ้าเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ จะนำพระเอกคนอื่นมาแสดงเป็นตัว “อินทรีแดง” ไม่ได้ นอกจาก มิตร ชัยบัญชา เพียงคนเดียว จู่ ๆ วันหนึ่งคุณรังสรรค์ ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสร้างของบริษัททัศไนยภาพยนตร์ พร้อมด้วยคุณประทีป โกมลภิส ผู้เป็นเพื่อนข้าพเจ้า ก็ได้พาเด็กหนุ่มวัย ๒๓ ปีคนหนึ่งมาแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จัก เด็กหนุ่มผู้นั้นยกมือไหว้ข้าพเจ้าอย่างอ่อนน้อม แสดงถึงนิสัยอันสุภาพ วันนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้รู้จักกับ พิเชษฐ์ พุ่มเหม หรือ มิตร ชัยบัญชา เป็นครั้งแรกและตั้งแต่นั้นมาความสนิทสนมระหว่างข้าพเจ้ากับมิตรก็เพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ แม้ว่าในวงการบันเทิงจะมีความผันผวนเปลี่ยนแปรกันอยู่เสมอ มีโกรธกันดีกันอยู่บ่อย ๆ แต่ข้าพเจ้ากับมิตรก็ยังคงรักใคร่สนิทสนมกันอย่างราบรื่นตลอดมา และโดยที่ไม่ต้องมีสัญญาอะไรต่อกันเลย ข้าพเจ้าก็ตั้งเป็นกฎตายตัวขึ้นมาเองว่า ใครก็ตามที่มาซื้อบทประพันธ์ชุด อินทรีแดง ของข้าพเจ้าเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ จะนำพระเอกคนอื่นมาแสดงเป็นตัว “อินทรีแดง” ไม่ได้ นอกจาก มิตร ชัยบัญชา เพียงคนเดียว
ข้าพเจ้าตั้งกฎนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพราะอะไรทั้งนั้น เพียงเพราะข้าพเจ้าเห็นแล้วว่าบทบาทนี้ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับมิตรเลย เพราะข้าพเจ้าเห็นด้วยตาและซึ้งกับใจดีว่ามิตรแสดงเป็นอินทรีแดงด้วยใจรักจริง ๆ รักประหนึ่งว่าตัวของเขาเองเป็นอินทรีแดงจริง ๆ ฉะนั้นด้วยเหตุผลนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้าตั้งกฎนี้ขึ้นมาในใจ เพราะมองเห็นเด่นชัดแล้วว่า มิตร ชัยบัญชา คือ “อินทรีแดงของข้าพเจ้า” อย่างแท้จริง
จาก จ้าวนักเลง มิตร ชัยบัญชา ได้เข้ารับบท “อินทรีแดง” อีกในเรื่อง ทับสมิงคลา ปีศาจดำ จ้าวอินทรี อวสานอินทรีแดง จนกระทั่งมาถึงเรื่อง อินทรีทอง นี่แหละ
ไม่มีใครคิดมาก่อนเลยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิตของมิตร แม้แต่ตัวมิตรเองก็ไม่เคยนึกถึง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนบทเอง และด้วยความรักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง มิตรถึงกับขอเป็นผู้กำกับการแสดงในเรื่องนี้ด้วย ระหว่างการถ่ายทำข้าพเจ้าได้ถูกเรียกไปปรึกษาหารือหลายครั้ง ติดตามไปดูการถ่ายทำก็หลายหน ฝีมือในการกำกับฯ ของมิตรนับว่าอยู่ในขั้นดีทีเดียว มิตรทุ่มเทเวลาและจิตใจให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไม่เคยทำมาก่อน เขากินนอนในห้องตัดต่อ ทุกครั้งที่ฟิล์มภาพยนตร์ส่งมาจากฮ่องกง เขาจะนำมาฉายดูเพื่อหาความบกพร่อง แต่เมื่อเห็นผลงานของตัวเองแล้ว มิตรก็เต็มไปด้วยความพอใจ และมุ่งมั่นสร้างทำต่อไปด้วยความมั่นใจยิ่ง
ตลอดทั้งเรื่องนี้ข้าพเจ้ากำหนดให้มิตรแต่งกายในชุดอินทรีทองโดยตลอด เครื่องแต่งกายของชุดนี้เป็นสีทองทั้งตัว เพื่อให้ผิดแผกไปกับอินทรีแดงชุดอื่น ๆ ที่ทำมาแล้ว และในบทที่ข้าพเจ้าเขียน ก็ไม่มีเลยที่จะให้มิตรต้องโหนเครื่องบินไปกลางอากาศ แต่ทำไมมิตรจึงตายเพราะตกเครื่องบิน และตายในเครื่องแต่งกายชุดอินทรีแดง ซึ่งตัดด้วยเสื้อผ้าสีดำ ?
ข้าพเจ้าอยากจะเขียนถึง “อินทรีแดง” ของข้าพเจ้าอีก เขียนให้ยาวยืดจนหมดหัวใจของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าเขียนไม่ออก ในอกของข้าพเจ้าเต็มไปด้วยความตื้นตัน สุดแสนอาลัยในการจากไปของ มิตร ชัยบัญชา เหลือที่จะกล่าวแล้ว
นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่มี “อินทรีแดงของข้าพเจ้า” อีกแล้ว
ตัดทอนจาก “อินทรีแดงของข้าพเจ้า” โดย “เศก ดุสิต”
ในหนังสือ อนุสรณ์ มิตร ชัยบัญชา