Image
“The King of 16 mm. Film”
มิตรในมุม “นักมิตรศึกษา”
อิงคศากยะ นรวโร ภิกขุ
มุงมองมิตร
สัมภาษณ์ : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
อิงคศากยะ นรวโร ภิกขุ เป็นคนแรกที่ศึกษาเรื่องราวของ มิตร ชัยบัญชา นำมาเขียนเล่าใหม่อย่างจริงจังเป็นระบบผ่านการศึกษาค้นคว้า สัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องร่วมสมัยกับมิตรอย่างกว้างขวางทั่วถึงที่สุด รวมทั้งอาจเป็น “นักมิตรศึกษา” ที่เขียนถึงมิตรไว้มากที่สุดด้วย ดูได้จากหนังสือ เอกสารต่าง ๆ ที่เขียนถึงมิตรในช่วงหลังมานี้ล้วนมักอ้างถึง อิงคศักย์ เกตุหอม ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับที่ปรากฏเมื่อค้นในระบบออนไลน์
จากนิทรรศการรำลึก มิตร ชัยบัญชา เมื่อปี ๒๕๒๖ ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่มิตรมุ่งมั่นจะตั้งโรงหนังชัยบัญชา  กลายเป็นจุดบันดาลใจแรกให้กับชายหนุ่มจากครอบครัวคนดูหนัง จากอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ อยากรู้อยากบันทึกเรื่องราวของพระเอกขวัญใจมหาชนคนดูหนัง ที่เขาให้สมญาว่า “The King of 16 mm. Film” ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างตรงตามความเป็นจริง ไม่ให้เรื่องราวเลือนรางไปอย่างหลายนามในประวัติศาสตร์ไทย
ทำไมท่าน
จึงเขียนเรื่อง
มิตร ชัยบัญชา

สมัยหนึ่งเคยปรากฏชื่อพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งกลายมาเป็นตัวละครในนวนิยาย ล่องลอยอยู่ในอากาศ ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ สืบประวัติ ทำความจริงให้ปรากฏว่าเป็นเรื่องจริงหรือแค่เรื่องเล่าปากเปล่า เป็นเพราะสังคมไทยไม่เขียนบันทึก ไม่อ่านหนังสือ อาจแค่เล่าปากเปล่า สังคมไทยเป็นอย่างนี้ เด็กพอโตขึ้นมาหน่อยจับกลุ่มเฮฮา วงเหล้านี่ถือว่าสนุกที่สุดแล้ว นั่งกินเหล้ากินกับแกล้ม ใครคิดอะไรได้ก็เล่ากันขึ้นมา คุยกันได้ยันสว่าง พอสร่างเมาก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หมดเวลาไปวัน ๆ คืน ๆ โดยไม่ได้ครีเอตอะไรขึ้นมา สำคัญคือไม่มีการจดบันทึก นี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าต้องทำ ไม่งั้นผ่านไปสัก ๕๐๐ ปี มิตร ชัยบัญชา ก็จะไม่ต่างจากพันท้ายนรสิงห์ ล่องลอยอยู่ในอากาศ ในวงเหล้าของนักแสดงรุ่นใหม่ ๆ ที่ไม่มีตัวตนที่แท้จริง
ท่านเป็นแฟนหนังมิตร
มาก่อนไหมครับ

วัยเด็กอยู่ในครอบครัวดูหนัง ซึ่งยุคนั้นก็เป็นหนังมิตร ชัยบัญชา ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีหนังมิตรฉายทุกเดือน ประชาชนผูกพันเพราะเห็นหน้าตลอด  ตอนโยมมิตรตายปี ๒๕๑๓ อาตมาเรียนอยู่ ป. ๖ เห็นคนร้องห่มร้องไห้ แม่ค้าในตลาดไม่เป็นอันขายของ  ความรู้สึกแรกคือกลัวผี เขาจะมาหาเราหรือเปล่า คนที่เห็นหน้าอยู่ตลอดมาตายโหง

จนเรียนหนังสือจบรัฐศาสตร์ ม. รามคำแหง ทำงานธุรกิจค้าขายเริ่มมีรายได้ ในปี ๒๕๒๖ มีงานรำลึกมิตรที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เหมือนถูกหยุดเวลา หลังปี ๒๕๑๓ ก็เหมือนสตอปเลย ไม่มีใครจัดงานให้เขา พอมีงานรำลึกมิตร คนล้นจนไม่มีที่นั่ง

คิดอยากเขียนเรื่องนี้ ก็ไปหอสมุดแห่งชาติ ค้นคว้าหนังสือพิมพ์ ก็ได้รู้ว่า เดลินิวส์ เป็นฉบับแรกที่ลงข่าว มิตรตายราว ๔ โมงเย็น ราว ๖ โมงเย็น เดลินิวส์ ลงปกพาดหัวว่า มิตร ชัยบัญชา ตายแล้ว ส่งออกขายตามสี่แยก หมด ไม่พอขาย  แต่พอเปิดไปไม่มีข่าว มีแต่ปก คนโทร. มาด่าจนสายไหม้ว่าหลอกลวง บก. ยืนยันว่าตายจริงแต่ลงไม่ทัน ลงแค่พาดหัวก่อน  นักข่าว ไทยรัฐ ก็อยู่ในกองทำหนังด้วย เก็บภาพไว้ได้เยอะแยะ แต่มายอมแพ้ เดลินิวส์ นี่เป็นความจงใจที่จะไม่ขายข่าวนี้
Image
ตอนเดินร้านหนังสือไม่มีหนังสือใหม่ที่เขียนถึงมิตรเลย ไม่มีใครเขียนถึงมิตรอีกเลย เราเลยอ่านเอาจากหนังสือเก่าในกองขี้ฝุ่น ซึ่งเริ่มย่อยยับแล้ว จนพอจับประเด็นได้ว่ามิตรถ่ายหนังที่ไหน ปรากฏตัวที่ไหน หนังฉายเมื่อไร กับประวัติหน่อย ๆ ช่วงที่ตายมีหนังสือออกมาคนขายหากินกับศพ

ตอนมีชีวิตอยู่ทำให้เจ้าของหนังมีเงิน พอตายก็ทำให้เจ้าของหนังสือหัวต่าง ๆ มีเงิน  เดลินิวส์ เขาบันทึกประวัติโรงพิมพ์ตัวเองไว้เลยว่าความตายของมิตรทำให้เขาขึ้นมาเทียบรัศมี ไทยรัฐ ได้ ขายไม่รู้กี่ล้านฉบับ จนได้ซื้อแท่นพิมพ์ใหม่

ขณะเดียวกันเมื่อเข้าร้านหนังสือยุคนั้นเราหาหนังสือเอลวิสอ่านได้ คิดว่าเอลวิสก็น่าจะเป็นคนรุ่นมิตร แต่เขาอยู่ในสังคมเจริญ  มาริลิน มอนโร ก็ตายปริศนาคล้าย ๆ มิตร เป็นศพนอนอยู่บนเตียงนอน ซึ่งเขาสรุปว่ากินยานอนหลับเกินขนาด แต่มีคนเขียนเรื่องมอนโร วิเคราะห์วิจัยถึงความสัมพันธ์กับประธานาธิบดี ว่าอาจตายเพราะล่วงรู้ความลับบางอย่าง ตีพิมพ์พร้อมภาพสวยงามวางอยู่ในร้านหนังสือ เราได้จับหนังสือพวกนี้ก็เกิดความกระหายเลยว่าต้องมีของ มิตร ชัยบัญชา สักเล่มหนึ่ง เป็นความฝันขึ้นมาทันที ให้มีวางอยู่ในร้านหนังสือ ใครจับขึ้นมาคนนั้นก็ได้รู้จัก มิตร ชัยบัญชา แบบมีหลักมีฐาน ความหมายแห่งชีวิต มิตร ชัยบัญชา ยังไม่ได้แตะต้องสาเหตุความตาย เล่าระดับชีวิต เป็นเนื้อหาเล่าตามข่าวที่ปรากฏ
เล่มแรกก็เป็นงานใหญ่แบบมืออาชีพเลย ท่านมีทักษะด้านการเขียนการทำหนังสือมาก่อนหรือเปล่าครับ
ไม่มี ทำด้วยใจล้วน ๆ ที่รักดาราคนหนึ่ง เป็นคนชอบทำกิจกรรม แสดงออก เป็นคนเปิดตัว ไม่ได้มีความคิดซับซ้อนอะไร

ทำเกือบ ๑๐ ปี อดทนมาก ใช้วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดวันเดียวในสัปดาห์ เริ่มตั้งหลักรวบรวมออกสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้อง

ไปที่จอมเทียน พัทยา  ที่ตรงนั้นถูกซื้อโดยเครือโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตอนนี้เป็นโรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช แต่เว้นที่ตรงศาลไว้  จากศาลเพียงตาเล็ก ๆ  ต่อมามีนายทุนสร้างตึกแถวขาย มาบนบานศาลมิตรให้ช่วยก็สร้างศาลปั้นหุ่นมาวางในที่ของโรงแรม ต่อมาเทศบาลเมืองพัทยาสร้างถนนใหม่ ศาลก็อยู่ริมถนนเหมือนศาลพระพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณ กลายเป็นเจ้าพ่อไปแล้ว  คนมาจุดธูป วางพวงมาลัย จักรยานผ่านมาต้องดีดกระดิ่ง

ตอนเขียนอาศัยประสบการณ์ที่เคยอ่านวรรณคดีไทยมาทุกเล่มตั้งแต่เด็ก
Image
ลงทุนพิมพ์เองเลยไหม
เราทำงานเป็นผู้จัดการแผนก รายได้ไม่ได้มาก ต้องหาคนพิมพ์ให้  ชื่อสำนักพิมพ์สตาร์พิคส์ก็ผุดขึ้นมา สมัยมิตรยังมีชีวิตชื่อ ดาราภาพ เคยพิมพ์รูปมิตรเยอะมาก โทร. หา เขานัดให้มาคุย ก็มาเล่าให้ฟังเหมือนที่เล่าโยมนี่แหละ เขามั่นใจเนื้อหา

ส่วนภาพเขามีส่วนหนึ่งราว ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เขามีฟิล์ม รูปสวยแน่ โปสเตอร์หนังเขาไม่มี เรารับปากว่าพอมีช่องทาง ตอนหลังไปเจอคนคอเดียวกัน จับกลุ่มคุยกัน ก็ขอความร่วมมือจากคนพวกนี้ ทุกคนอยากเห็นมันรวมอยู่ในที่เดียวกัน เพราะแต่ละคนก็มีไม่ครบหรอก เราเป็นศูนย์กลางผู้รวบรวม

หาโปสเตอร์ เลือกรูป จัดรูปเล่ม เราทำให้หมด เขาซื้อสิทธิ์เลย จะให้เงินก้อน สี่หมื่นห้า โอเคไหม เราบอกไม่ได้คิดอะไรเลย เราอยากให้มีหนังสือ มีความสุขที่จะได้เห็นหนังสือ

จัดงานเปิดตัวแถลงข่าว ให้สตาร์พิคส์มอบค่าลิขสิทธิ์ให้หอภาพยนตร์แห่งชาติด้วยตัวเอง
มิตร ชัยบัญชา
ที่ท่านรู้จักเป็นอย่างไร

เมื่อเขายังมีชีวิตอยู่ เขาคือซูเปอร์สตาร์ขวัญใจชาวบ้าน เป็นสุดยอดดาราอันดับ ๑ ครอบครองหัวใจแฟน ๆ หนังไทย ซึ่งในยุคนั้นเป็นฟิล์ม ๑๖ มม. ภาพยนตร์จอเล็ก ไม่มีเสียงในฟิล์ม ซึ่งในระดับสากลใช้ถ่ายเล่นกันเป็นส่วนตัว มีไทยประเทศเดียวในโลกที่ใช้ฟิล์ม ๑๖ มม. เป็นพาณิชย์ และ มิตร ชัยบัญชา คือคนที่ขับเคลื่อนหนัง ๑๖ มม. ให้เติบโตยิ่งใหญ่เป็นจริงขึ้นมา เขาคือ The King of 16 mm. Film

ตอนเขาเริ่มเข้าสู่วงการเมื่อปี ๒๕๐๑ มีหนังไทยฉายอยู่ปีละราว ๒๐ เรื่อง พระเอกคนหนึ่งก็เล่นปีละเรื่องสองเรื่อง จน มิตร ชัยบัญชา ปรากฏขึ้นมา เขาขับเคลื่อนทั้งวงการเลย เช้าเล่นเรื่องหนึ่ง บ่ายเรื่องหนึ่ง ค่ำเรื่องหนึ่งเขาดึงคนเข้ามีส่วนร่วม แม่มาทำอาหารในกองถ่าย ฉากให้ใช้ที่บ้านนางเลิ้งซึ่งมีบริเวณกว้าง ตัวประกอบเอาเพื่อนจากกองทัพอากาศ เขาไม่ทิ้งเพื่อน ไม่เอาเปรียบใคร มีส่วนร่วมในการครีเอตและการแก้ปัญหา

แต่หลังตายเขากลายเป็นเทพเจ้า คนมาบนบาน คนท้องอยู่สวีเดนจะคลอดลูกต้องกลับมาไหว้มิตรก่อน นักกีฬาทีมฟุตบอล ทีมบาสฯ จะลงแข่งต้องมาไหว้มิตร นักการเมืองจะลงเลือกตั้งต้องมาไหว้  ศาลมิตรที่พัทยา ตอนนี้ควันธูปไม่เคยดับ เรื่องขอหวยไม่ต้องพูดมากันเป็นคันรถบัส ทัวร์ขอหวยต้องมีศาลมิตรอยู่ในลิสต์ พอถูกบ่อย ๆ เจ้ามือต้องมาแก้เคล็ด เอามีดหมอมาปักขู่ ว่าอย่าให้หวยถูกบ่อย  ไม่ค่อยมีใครจดจำความเป็นพระเอกผู้ยิ่งใหญ่แล้ว
พระอิงคศากยะ ที่หน้าศาลมิตร อ่าวดงตาล จอมเทียน
ตึกด้านหน้าสุดคือโรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช

ประเด็นสำคัญคือฝีมือในการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ มิตร ชัยบัญชา ขอให้ไปที่ YouTube คลิกไปที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง อินทรีทอง แล้วตั้งใจชมอีกรอบ จะพบสิ่งเด่นที่สุดของผลงานกำกับการแสดงของพระเอกมิตร คือการเลือกใช้มุมกล้องและการเคลื่อนที่ของกล้อง ที่แตกต่างจากผลงานคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกันอย่างชัดเจน มันทำให้รู้สึกแปลกตาและรู้สึกทันสมัยครับ เช่น ฉากต่อยกันเดือด ๆ ระหว่างอินทรีทองกับนายร้อยสุชาติ นายตำรวจน้ำดี ที่มีรถยนต์ร่วมฉากด้วย ทั้งการถ่ายทำที่ยกกล้องขึ้น ฮ. แล้วบินตามถ่ายขบวนเรือกลางทะเล รวมถึงฉากตอนจบของเรื่อง ที่อินทรีแดงต้องโหนบันไดสลิงของ ฮ. หนีการจับกุมของตำรวจ  ถ้าพระเอกไม่ตกลงมาตายคาที่กลางกองถ่ายหนัง ภาพอินทรีแดงโหนบันไดสลิงขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าจะเป็นฉากหนังที่ครีเอตได้สะเทือนหนังในเอเชียทันที มันทันสมัย ตื่นเต้นเร้าใจจะถูกชื่นชมกล่าวถึงว่าเป็นต้นแบบ เปิดประตูของหนังไทยออกสู่ตลาดโลกอย่างแน่นอน

มิตร ชัยบัญชา ตายในหน้าที่นะครับ คำนี้ข้าราชการห้ามลืม เมื่องานของเอกชนผู้ทำผลงานสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติต้องเกิดการสูญเสียขึ้น ฝ่ายรัฐ ฝ่ายราชการต้องเข้ามาเชิดชูเกียรติ ยิ่งตรวจสอบประวัติแล้วเขาประกอบความดีให้สังคมไทยมาตลอดชีวิต รัฐจะทำเฉย ไม่รับรู้ไม่ได้ คิดทำให้ในเวลานี้ก็ยังไม่สาย
คนรุ่นหลังจะได้บทเรียนอะไรจากการอ่านเรื่องมิตร
ถ้าอยากรู้จักก็อ่านให้พอรู้จัก แต่คนรุ่นมิตรบอกว่าอ่านอย่างกระหายรวดเดียวจบด้วยความชื่นชม เหมือนที่สารคดี จะทำก็คงถูกใจแฟน ๆ สารคดี เพราะเป็นการเปิดภาพผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตสู่ความเป็นปัจจุบัน เชื่อว่าแฟน สารคดี คงตื่นเต้นที่ได้รู้จักมิตรจาก สารคดี

ผู้อ่านที่รู้เรื่องศาสนาเขาจะเห็นความไม่เที่ยง ใครจะคิดว่าความตายจะเข้าถึงตัวเขาได้ เขามีทุกอย่าง ความตายของมิตรทำให้คนเหมือนโดนไฟช็อต  พูดแบบกลาง ๆ คือความประมาทนำมาซึ่งความฉิบหาย ความไว้ใจคนเป็นจุดอ่อนของเขา  เพื่อน ๆ พูดกันว่า เชษฐ์เป็นคนหูเบา ใครมาฟ้องเขาคนแรกคนนั้นได้เปรียบ ฟังแล้วมีอารมณ์ร่วมทันที ไม่ทันสืบสาวราวเรื่อง ข้อมูลไม่มี  ที่ตายวันนั้นก็เพราะเชื่อใจทีมงาน ซึ่งเราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน ความตายเขาคลุมเครือ ถูกปิดบัง
ทำให้ต้องเขียนเล่มต่อมา ?
หลังหนังสือ ความหมายแห่งชีวิตฯ ออกได้ช่วงหนึ่ง ได้เจอพี่เอียด-ทัศนัย พลายแก้ว บอกว่าผมอยากฟังเรื่องวันที่มิตรตาย ผมถามจริง ๆ ตามบทต้องถ่ายท่านั้นจริงไหม ที่เท้าไม่เหยียบบันได หรือเป็นความผิดพลาด  พี่เอียดตอบว่าเขาต้องการอย่างนั้น ต้องการให้ร่างปลิวไปกับบันไดโดยไม่ต้องยืนเหยียบ เขาคิดว่าห้อยโหนไหว ด้วยระยะสั้น ๆ  ฮ. แค่บินผ่านหน้ากล้องแล้วลงจอด ให้คนดูเห็นว่ามิตรโหนจริง แล้วลงจอด เรียกว่าคัตที่ ๑ แล้วย้ายมุมกล้องและเปลี่ยนตัวแสดง หรือใช้หุ่นที่เตรียมไว้พร้อมแล้ว ทีมงานเข้าใจตรงกันว่าต้องถ่ายสองคัต มิตรโหนคัตแรกแล้วลง คัต ๒ ให้สตันต์แมนยืนไปบนบันได หรือใช้หุ่น  ฮ. บินสูงขึ้นไป กล้องซูมตาม แล้วค่อยนำมาตัดต่อเป็นภาพต่อเนื่อง

ความผิดพลาดคือนักบินไม่ได้ลง แต่ตีวงขึ้นบนฟ้าเลย ลากยาวไปบนฟ้า ซึ่งควรเป็นสตันต์ฯ หรือหุ่น มิตรเอาสายสลิงที่เหลือพันข้อมือซ้ายไว้ เขารู้แล้วว่ามีความผิดพลาด แต่สลิงนั้นขอบคม และมีแผลจากที่ถ่ายทำเรื่อง น้องนางบ้านนา เมื่อคืนที่ผ่านมา สลิงบาดซ้ำเอ็นข้อมือขาด นักบินก็ไม่ลงจอด ตีวงจะกลับมาจอดที่เดิม  ผ่านบึงน้ำ เขาแกะสลิงออก หวังให้ลงในบึงน้ำ แต่ลมตีออก ลงกระแทกจอมปลวกตาย ได้ยินจากปากพี่เอียดแบบนี้ก็ช็อกสิ เพราะที่เคยได้ยินมาทั้งหมด มิตรผิดพลาด อดนอนมาไม่มีแรง ดื้อฝืนจะเล่นเอง ไม่มีใครพูดถึงขั้นตอนการถ่ายทำ พูดแต่ว่าเป็นความผิดพลาดของมิตร ปิดคดี สุดท้ายตายฟรี เพราะทำเองไม่มีใครผิด
Image
แต่ฟังพี่เอียดเล่ามันไม่ใช่ เขาทำงานในกองถ่ายมาทั้งชีวิต ที่ไม่มีเซฟตี้เพราะเขาจงใจให้คนดูเชื่อว่าเขาเล่นเอง แต่บังเอิญไม่มีคิวที่ ๒ ตามที่ตกลงกันว่าบินข้ามกล้องแล้วลงจอด

และมีคำพูดของนักบินที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม คำพูดของเขากับคำเล่าจากพี่เอียดทำให้เกิดหนังสือเล่ม ความตายแบบไม่ธรรมดา มิตร ชัยบัญชา

ตอนนั้นนักบินยังไม่รู้หรอกว่าหนังจะออกมาอย่างไร เขาก็พูดไปตามที่คิด เขาแต่งเรื่องขึ้นมาผสมระหว่างเรื่องโกหกกับเรื่องจริง เรื่องจริงคือเขารู้ว่ามิตรไม่ได้เหยียบบันได ที่โกหกคือตรงนั้นเป็นดงไม้ พอหนังออกฉายเราได้เห็นว่ามันเป็นทุ่งโล่ง ไม่ต้องหนีต้นไม้ หลักฐานในที่เกิดเหตุคือคุณบินอยู่ในทุ่งโล่ง แต่คุณพลาดที่ลากยาวจนเขาพลัดลงมาตาย

นักบินไม่ได้ตัดสินใจเอง ตอนนั้นผู้ช่วยผู้กำกับฯ ทำหน้าที่แทน  พอมิตรตายผู้ช่วยคนนี้ลบชื่อตัวเองออก ไม่ใส่ชื่อตัวเองในเครดิตหนัง ใส่ไปอาจเสี่ยงติดคุก คนนี้รู้ว่าฟิล์มไม่พอ แต่ไม่กล้าบอก กลัวมิตรจะสั่งยุบกองถ่ายรอฟิล์ม  โยมมิตรเขาเป็นคนละเอียด เขาไม่ยอมอ่อนข้อให้งานชุ่ย ๆ ทำงานกันมาจนรู้นิสัย  ตากล้องคงซุบซิบกันเอง ให้ถ่ายยาวไปเลยแล้วให้นักบินรีบ ๆ ลง  คิดว่ามิตรคงโหนไหว  ตอนส่งไปล้างที่ฮ่องกง นักข่าวไปดักรอเลย แต่คนถือฟิล์มสารภาพว่าฟิล์มหมดก่อนมิตรตก คนที่โน่นด่าเสียผู้เสียคนเลยว่าไม่เป็นมืออาชีพ

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันที่มิตรตายได้รับการบันทึกด้วยฟิล์ม ๑๖ มม. ขาวดำ ตั้งแต่เริ่มโหนยันตก แต่ในหนังไม่มีเพราะฟิล์ม ๓๕ มม. หมด แต่มีนักข่าวนำกล้อง ๑๖ มม. ตามกองถ่ายไปถ่ายเบื้องหลัง ตั้งใจจะให้คนฮือฮาว่ามิตรแสดงจริง คุณอดุลย์ ดุลยรัตน์ เพื่อนสนิทของมิตรที่เล่นเป็นตำรวจในเรื่อง อินทรีทอง เคยเห็นฟิล์มชุดนี้ นักข่าวหิ้วจอมาฉายกันสด ๆ ด้วยเครื่องฉาย ๑๖ มม. ฉายใส่จอที่บ้าน นี่เขาเล่าให้ฟัง  ทุกวันนี้ฟิล์มชุดนี้สาบสูญ ไม่เคยปรากฏที่ไหนอีกเลย แต่พระไปตามเจอที่หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๓ เฟรมภาพก๊อปจากฟิล์ม เป็นภาพที่ถ่ายด้วยฟิล์มเคลื่อนไหว ไม่ใช่ฟิล์มภาพนิ่ง พอเห็นภาพก็รู้ว่านี่คือฟิล์มที่คุณอดุลย์เคยพูดถึง มาโผล่ที่ เดลินิวส์ แต่ ไทยรัฐ ทำเมินเฉย ข่าวนี้ ไทยรัฐ แพ้ เดลินิวส์

ฟิล์มชุดนี้นี่เป็นสมบัติของชาติ ถ้ามองจากวันนี้คือการบันทึกเรื่องจริงในวินาทีชีวิตของซูเปอร์สตาร์เมืองไทยที่ตายคากองถ่าย ถ้ามีฟิล์มจริงเก็บไว้ มันมีค่ามหาศาล แต่เชื่อว่ามันถูกทำลายไปแล้ว
Image
รวมทั้งหมดท่านเขียนถึง มิตร ชัยบัญชา กี่เล่มครับ
มีห้าเล่ม เขียนตอนเป็นฆราวาสทั้งหมด เล่มแรก วันมิตร ให้หอภาพยนตร์ฯ เอาไปขายระดมทุนหาเงินตั้งหอภาพยนตร์ฯ จากการรวบรวมหนังสือบทความต่าง ๆ โดยได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากพี่โดม สุขวงศ์ อย่างเต็มกำลัง จนสำเร็จออกมาด้วยดี  พี่โดมอยากให้ ๘ ตุลาคมเป็นวันมิตร เลยตั้งให้เป็นชื่อหนังสือ

เล่ม ๒ ความหมายแห่งชีวิต มิตร ชัยบัญชา เล่ม ๓ ความตายแบบไม่ธรรมดา มิตร ชัยบัญชา เขียนหลังได้เจอพี่เอียด  เล่ม ๔ Forever in my heart ความทรงจำแด่ มิตร ชัยบัญชา

เล่ม ๕ ดาวดิน ปาฏิหาริย์แห่งรัก ลิขิตแห่งหัวใจ ความรักครั้งแรกของ มิตร ชัยบัญชา งานสุดท้ายก่อนเป็นพระ หนังสือเล่มนี้เขียนเป็นนิยายจากความทรงจำของเพื่อน ๆ รู้จากเพื่อนกองทัพอากาศเล่ามาคร่าว ๆ  เป็นรักแรกของ มิตร ชัยบัญชา นิสิตสาวอักษรฯ จุฬาฯ กับจ่าทหารอากาศ ผู้หญิงชาวโคราชรถคว่ำตายที่ลำตะคอง ปี ๒๕๐๑ ตอนเปิดตัวหนัง ชาติเสือ  ที่โยมมิตรใส่แหวนไว้ตลอดก็ของผู้หญิงคนนี้

พิมพ์ ๓,๐๐๐ เล่ม เงินค่าลิขสิทธิ์ให้หอภาพยนตร์ฯ และให้คณะอัชชาวดีทำเป็นละครวิทยุ เอาไว้ในยูทูบ

เหมือนไอ้บ้าคนหนึ่งไปตามหาจิ๊กซอว์ส่วนที่หาย ตามได้จนครบแล้วก็มานั่งต่อจิ๊กซอว์จนจบเรื่อง แต่ถามว่ามีใครสนใจไหม ไม่มีหรอก ทุกคนสนใจที่รูป ที่ความหล่อของพ่อเทพบุตร คนสนใจ มิตร ชัยบัญชา แค่นั้นจริง ๆ

แต่เราเชื่อว่าต้องมีคนฉลาดมาอ่านเรื่องพวกนี้ เราทำไว้รอคนพวกนั้น หนังสืออยู่บนหิ้ง คนเดินผ่านไปมาเป็นล้าน แต่ต้องมีสักคนจับสันหนังสือเหล่านี้ขึ้นมา นั่นพระทำสำเร็จแล้ว
เวลาโยนเบ็ดลงในน้ำ ปลากี่ตัวผ่านไป ต้องมีสักตัวฮุบแน่ หนังสือไม่ถูกทอดทิ้งไปไหนหรอก