Image
ปิ๊บ ปิ๊บ ตื๊ด ตื๊ด
90 95 98 Y2K
90s is back!
เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ตอนผู้เขียนเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ปี ๒๕๒๙ (ค.ศ. ๑๙๘๖) “ไมโครคอมพิวเตอร์” หรือ “พีซี” (personal computer) กำลังเริ่มเข้ามาบุกตลาดเมืองไทยพอดี แต่คนมีเงินพอซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้งานก็จะเป็นหน่วยงานราชการ องค์กรหรือบริษัทระดับกลางถึงบริษัทใหญ่ เพราะราคาคอมพิวเตอร์ส่วนตัวยังสูงหลายหมื่นถึงเฉียดครึ่งแสน
ก่อนหน้านั้นเมืองไทยในยุค 70s-80s คอมพิวเตอร์มีใช้กันเฉพาะในหน่วยงานระดับประเทศบางแห่งเท่านั้น เป็นคอมพิวเตอร์เมนเฟรม มูลค่าหลายล้านบาท ประกอบด้วยอุปกรณ์หลายตู้ (เสื้อผ้า) วางรวมกันแล้วกินพื้นที่หลายร้อยตารางเมตร ตั้งอยู่ในห้องคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องเปิดแอร์เย็นเจี๊ยบ ขนาดที่คนทำงานต้องสวมเสื้อคลุมหรือแจ็กเกตกันหนาวตลอดเวลา การรักษาความปลอดภัยเข้มงวด มีแต่เจ้าหน้าที่ซึ่งมีบัตรผ่านเท่านั้นเข้าได้

ไม่น่าเชื่อเมื่อคิดว่าวันนี้เรามีแท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊กพกพาไปนั่งทำงานที่ไหนก็ได้

ตั้งแต่เปิดตัวนิตยสาร สารคดี ในปี ๒๕๒๘ จนจะเข้ายุค 90s นักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ยังกดแป้นเครื่องพิมพ์ดีดทีละตัวอักษร ปัดก้านแคร่ครืดหนึ่งเพื่อเลื่อนบรรทัด ค่อย ๆ ถ่ายทอดเรื่องราวลงบนแผ่นกระดาษทีละแผ่น หากพิมพ์ผิดบางคำก็จะใช้ลิควิดเปเปอร์ป้ายและพิมพ์ทับใหม่ หากพิมพ์ผิดมากหรืออยากเปลี่ยนความก็อาจต้องเริ่มพิมพ์ใหม่บนกระดาษแผ่นใหม่
Image
ส่วนช่างภาพใช้กล้องนิคอน SLR รุ่น F2A เก็บบันทึกภาพทีละภาพลงบนฟิล์มสไลด์ ม้วนหนึ่งกดชัตเตอร์ได้ประมาณ ๓๖ ภาพ จะกดชัตเตอร์แต่ละครั้งจึงต้องมั่นใจพอสมควรและไม่มีทางรู้ว่าภาพที่ถ่ายเป็นอย่างไรเลย จนกว่าจะกลับจากการลงพื้นที่มาส่งม้วนฟิล์มสไลด์ให้ร้านภาพเจ้าประจำล้างฟิล์มออกมาดู ซึ่งก็ไม่ได้เสร็จในวันเดียว ยังต้องรอไปอีก ๒-๓ วัน

การมาถึงของสไลด์ที่ล้างเสร็จแล้วจึงเรียกความตื่นเต้นคึกคักให้กับทั้งนักเขียนและช่างภาพ

เกิดการมุงกันที่ “กล่องไฟ” ผลัดกันก้มหัวใช้แว่นขยายแบบแว่นส่องพระ ส่องดูภาพสไลด์ขนาด ๓๕ มิลลิเมตรไปทีละแถวทีละกรอบภาพ ลุ้นว่าในม้วนหนึ่ง ๓๖ ภาพ จะได้ภาพที่สวยงามตามจินตนาการไว้ไหม รวม ๆ แล้วจากฟิล์มหลายม้วนที่ถ่ายมามีภาพครบถ้วนเพียงพอใช้ตีพิมพ์หรือไม่ บางครั้งอาจโดนแจ็กพอตฟิล์มเสียทั้งม้วนเพราะการล้างผิดพลาด

เวลาจะนัดหมายแหล่งข่าวก็มีทั้งเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์หรือใช้โทรศัพท์บนโต๊ะทำงาน มีทั้งแบบหมุนเลขบนแป้นกลมและแบบกดปุ่มหนา ๆ บนเครื่อง  ใช้เครื่องบันทึกเทปแบบพกพาอัดเสียงคนให้สัมภาษณ์ ตลับเทปความยาว ๖๐ นาที หรือ ๙๐ นาที ถ้าอัดไปจนหมดหน้าเทปหนึ่งก็ต้องขอพักคนให้สัมภาษณ์ เปิดเครื่องพลิกตลับเทปอีกด้านเพื่ออัดต่อ บางครั้งฟังเพลินจนลืม เผลอพลิกตลับเทปหน้าที่อัดไปแล้วตอนแรกกลับมาอัดซ้ำแทนที่จะเปลี่ยนตลับใหม่ใส่เข้าไป  ตอนกลับมานั่งกรอเทปถอดเสียงเป็นข้อความถึงรู้ตัวว่างานเข้าแล้ว

ส่วนการค้นคว้าเอกสารที่วันนี้เรากูเกิลแล้วได้คำตอบทันที สมัยนั้นคือการเสียเวลานั่งรถเมล์ประจำทางจากสำนักงานไป
ห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยและหอสมุดแห่งชาติ  ค่อย ๆ ใช้นิ้วไล่เปิดบัตรรายการหาชื่อหนังสือที่สนใจในตู้ลิ้นชักของห้องสมุด จดหมายเลขหนังสือบนแผ่นกระดาษ และเดินไปไล่หมายเลขหาหนังสือบนชั้น หยิบมานั่งพลิกอ่าน  ทั้งหมดใช้เวลาครึ่งวันหรือ ๑ วัน หรืออาจหลายวันถ้าหาหนังสือไม่เจอ หนังสือถูกคนอื่นยืมไป หรือนักเขียนแอบงีบหลับเพราะห้องสมุดอากาศร้อนมาก
Image
ไม่นานนักหลังเข้ายุค 90s กอง บก. นิตยสาร สารคดี ก็ได้เห็นคอมพิวเตอร์ตัวเล็ก ๆ Apple Macintosh ของค่ายแอปเปิลมาตั้งบนโต๊ะ คำว่า Mac ต่อมากลายเป็นคำเรียกติดปากเมื่อเอ่ยถึงคอมพิวเตอร์จากค่ายแอปเปิล และจัดเป็นเครื่องมือทรงพลังสำหรับงานออกแบบสิ่งพิมพ์ที่แม้จะผ่านมา ๓๐ ปี ค่ายนี้ก็ยังครองตลาดนักออกแบบแทบไร้คู่แข่ง

กลิ่นกาวยางฉุน ๆ สำหรับทาแผ่นงานอาร์ตเวิร์กติดบนกระดาษเริ่มจางหายไปจากห้องฝ่ายศิลป์  ส่วนนักเขียนเริ่มหัดเรียนรู้การพิมพ์งานในโปรแกรม Word และสั่งพิมพ์งานออกทางเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์แบบแคร่ที่ส่งเสียงดังครืด... ครืด  แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช้เวลาอยู่เป็นปี กว่าบรรดานักเขียนยุค 80s ผู้เติบโตมากับแป้นพิมพ์ดีดจะหายกลัวเทคโนโลยีใหม่ และเริ่มไว้วางใจกับแป้นคีย์บอร์ด จอคอมพิวเตอร์ และแผ่นดิสเกตต์เก็บข้อมูล เพราะความจริงมีน้อยคนมากจะเข้าใจว่าภายในกล่องตู้ทรงเหลี่ยมทึบ ๆ นั้นมีอะไรและทำงานอย่างไร  แม้แต่การจะนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วยงานทั่วไปในสำนักงาน เช่นงานบัญชี ก็มีทั้งคนที่กล้า ๆ กลัว ๆ กับคนที่พร้อมจะโอบรับประดิษฐกรรมแห่งยุคสมัย

ภาพการทำงานของกอง บก. นิตยสาร สารคดี ที่เล่ามานี้ น่าจะเป็นประสบการณ์ร่วมของคนไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ของยุค 80s กำลังแปลงร่างเป็นระบบดิจิทัลของ 90s อันเป็นผลจากการพัฒนา “ชิป” หรือไมโครโพรเซสเซอร์ให้เล็กจิ๋วลงเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมาจากยุค 80s เป็นช่วงเวลา ๑๐ ปีที่เครื่องไม้เครื่องมืออัปเกรดกันเป็นระลอกคลื่น ไล่มาตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ยุค 90s กลางยุค 90s และปลายยุค 90s พร้อมกับส่งคลื่นกระแทกใหญ่สู่ศตวรรษใหม่ในยุค 2000s

มาร่วมกันย้อนเวลากับอุปกรณ์ของใช้
เทคโนโลยีอันเป็นที่จดจำ และเรียกรอยยิ้มเล็ก ๆ
เมื่อหวนนึกถึงชีวิตในวันวาน

scrollable-image
ช่วงต้น
ถึงกลางยุค 
90s

เปิดเข้าสู่ยุค 90s อย่างน่าตื่นเต้นด้วยการมาถึงของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เริ่มใช้ในสำนักงานขององค์กรต่างๆ  ระบบปฏิบัติการหรือ OS ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุค 80s คือ MS-Dos พัฒนามาเป็น Microsoft Windows 3.1 ตามมาด้วย Windows 93 ใช้กับเครื่องพีซีตระกูล IBM PC ซึ่งเป็นที่นิยมจนเรียกกันติดปาก แม้ตอนนั้นการผลิตพีซีมีแข่งขันให้คนเลือกหลายยี่ห้อ แต่เจ้าอื่นก็ต้องขายเครื่องตนเองโดยติดป้ายว่าเป็น IBM PC Compatible หมายถึงเทียบเท่าหรือเหมือนกันกับ IBM PC

ส่วนอุปกรณ์เก็บข้อมูลไว้นอกเครื่องคือแผ่น “ดิสเกตต์” (diskette) ตลับพลาสติกสีดำแบนขนาดกว้าง ๓ นิ้วครึ่ง เข้ามาแทน “ฟลอปปีดิสก์” (floppy disk) แผ่นดิสก์บาง ๆ ขนาด ๕ นิ้วเศษ  ดิสเกตต์ให้ความรู้สึกทนทานกว่าเยอะและเพิ่มความจุมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงครองความนิยมยาวนานเกือบตลอดยุค 90s เลยทีเดียว  บางคนอาจเคยส่งงานด้วยการใส่ดิสเกตต์ไปในซองจดหมาย เพราะช่วงแรกยุค 90s ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต

ถ้าถามว่าโปรแกรมอะไรในคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีใครไม่เคยเล่น คำตอบคือ “เกม”  Pac-Man, Space Invaders, ไพ่ Solitaire, เกมหาระเบิด Minesweeper ฯลฯ ติดกันจนหลายคนแอบเล่นระหว่างทำงาน  ความนิยมเกมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุค 80s ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ในยุค 90s คือ เครื่องเล่นเกมขนาดกระเป๋าอย่าง “เกมบอย” และวิดีโอเกมต่อกับจอโทรทัศน์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอุตสาหกรรมความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่มาก
Image
Image
การส่งเอกสารแบบเร่งด่วน สมัยนั้นมีเครื่องแฟกซ์ (fax ย่อมาจาก facsimile)  แต่ละสำนักงานมักมีอยู่เครื่องเดียว โดยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องโทรศัพท์กลางประจำสำนักงาน  การใช้งานต้องจดบันทึกว่าส่งแฟกซ์ไปกี่หน้าและรับแฟกซ์เข้ามากี่หน้า เพราะเป็นค่าใช้จ่าย  การจะส่งแฟกซ์นั้นต้องเข้าใจวิธีทางการทูต คือต้องโทร. ไปที่หมายเลขปลายทาง แจ้งคนที่ปลายทางว่าจะส่งแฟกซ์  ทางนั้นจะกดปุ่มรับ แล้วทางผู้ส่งจึงจะกดปุ่มส่ง พร้อมกับคอยป้อนกระดาษเอกสารเข้าเครื่องให้ดูดเข้าไปอย่างไม่สะดุด ทีละแผ่น ๆ  เรียกว่าเป็นพิธีกรรมที่ถ้าไม่ชำนาญก็อาจเจอปัญหากระดาษติด ส่งไม่ผ่าน ต้องส่งกันอยู่หลายรอบหรืออาจเกิดกรณีรับแฟกซ์พอดีกับที่หมึกพิมพ์จางจนอ่านไม่เห็น หรือกระดาษแฟกซ์หมด

ในต่างประเทศ โทรศัพท์มือถือขนาดเล็กเริ่มพัฒนาใช้แล้วแต่ยังมาไม่ถึงเมืองไทย ซึ่งเพิ่งจะเริ่มมี “เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่” ขนาดใหญ่แบบกระติกน้ำใช้กันในหมู่นักธุรกิจระดับเจ้าสัว  ส่วนระดับพนักงานฮิตติดอุปกรณ์เล็ก ๆ เหน็บข้างเอว คือเครื่องวิทยุติดตามตัว “เพจเจอร์” (pager)  เริ่มต้นจากความต้องการส่งข้อความกรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉินเช่นการเรียกตัวแพทย์ แต่ต่อมาเพจเจอร์ก็ถูกใช้ส่งข้อความในชีวิตประจำวัน  เสียง “ปิ๊บ ปิ๊บ ปิ๊บ...” และตัวอักษรแถวเดียวที่ปรากฏบนจอแคบ ๆ “กินข้าวแล้วยัง...” “เจอกันที่...” “HAPPY BIRTHDAY”

ขณะที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหยอดเหรียญบาทซึ่งตั้งอยู่ริมถนนหรือกลางหมู่บ้าน ยังเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญในระดับชาวบ้าน  การยืนกำเหรียญรอต่อแถวใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ข้างในอากาศมีกลิ่นอับ ๆ จึงอาจอยู่ในความทรงจำของหลาย ๆ คน
Image
กลางยุค
ถึงปลายยุค 
90s

นี่คือยุคของ Windows 95 ระบบปฏิบัติการยอดนิยมยาวนานตลอดครึ่งหลังทศวรรษ ก่อนที่ Windows 98 จะเข้ามาในช่วงปลาย แต่หลายคนยังยอมใช้ Windows 95 ต่อไปอีกหลายปีกว่าจะเปลี่ยนมาใช้ Windows 98 ซึ่งรองรับแผ่นเก็บข้อมูล CD/DVD เพราะแผ่น CD กำลังเป็นที่นิยมใช้แทนแผ่นดิสเกตต์ เช่นเดียวกับแผ่น CD เพลงและหนังเข้ามาแทนที่ตลับเทปคาสเซ็ตและวิดีโอ VHS
Image
Image
ในต่างประเทศ อินเทอร์เน็ตและ World Wide Web กำเนิดขึ้นตั้งแต่ต้นยุค 90s แต่กว่าจะมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP ให้คนไทยได้เล่นกันก็เข้าสู่กลางยุค  เวลาเข้าอินเทอร์เน็ตสมัยแรก ๆ จะได้ยินเสียงตื๊ดด… ตามด้วยเสียงความถี่สูง ๆ ต่ำ ๆ ตามหมายเลขต่ออินเทอร์เน็ต…เสียงเหมือนสัญญาณจากอวกาศ...เสียงซ่าลากยาวววว ราวกับจะขาดใจ… ทั้งต่อสายติดบ้าง หรืออาจต่อสายไม่ติด หรือเล่น ๆ อยู่สัญญาณหลุดหายไปก็มี สัญญาณอินเทอร์เน็ตเมืองไทยเริ่มดีขึ้นหลังจากการวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (fiber optics) เป็น “ทางด่วนข้อมูลสารสนเทศ” - information superhighway ตอนปลายยุค 90s และที่สำคัญคือมีหมายเลขโทรศัพท์ให้อีกกว่า ๒ ล้านครัวเรือน ทำให้คิวต่อแถวตู้โทรศัพท์ค่อย ๆ หมดไป  เช่นเดียวกับเว็บไซต์ที่องค์กรและหน่วยงานราชการต่าง ๆ สร้างขึ้นเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ ก็เกิดเป็นแหล่งค้นคว้าใหม่ที่ง่ายดายและค่อย ๆ ลดทอนบทบาทของห้องสมุดมาจนถึงทุกวันนี้
Image
ค.ศ. นี้จะเข้าเว็บไซต์เราเปิดเว็บเบราว์เซอร์ (web browser) ยอดฮิตอย่าง Google Chrome, Firefox หรือ Safari แต่เว็บเบราว์เซอร์ตัวแรกของการท่องอินเทอร์เน็ตยุค 90s (ถ้าใครยังจำได้) คือ Netscape Navigator สัญลักษณ์ตัว N กับดาวตกกรอบหน้าต่างสีเทาเงิน  Netscape ได้รับความนิยมมาก แต่ตอนหลังต้องพ่ายให้กับ Internet Explorer ที่แถมฟรีมากับ Windows 95 จนเป็นตำนานหนึ่งของการแข่งขันด้านซอฟต์แวร์ในโลกอินเทอร์เน็ต

ช่วงปลายทศวรรษ โทรศัพท์มือถือทรงยาวไม่เกิน ๒๐ เซนติเมตร มาพร้อมปุ่มกดตัวเลขใหญ่ ๆ กับหน้าจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ  และเสาสัญญาณสั้น เริ่มวางจำหน่าย  ส่วนกล้องถ่ายภาพดิจิทัลก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ แม้คุณภาพยังห่างไกลจากกล้องถ่ายภาพมืออาชีพ แต่ด้วยความสะดวก เล็กกะทัดรัดและราคาที่ต่ำกว่ามาก ก็ทำให้การถ่ายภาพกลายเป็นเรื่องสนุกของคนทั่วไป  บางคนอาจมีกล้องถ่ายวิดีโอขนาดเล็ก (video camcorder) เก็บบันทึกภาพกิจกรรมครอบครัวไว้ในความทรงจำ
Image
สตีฟ จอบส์ ผู้ให้กำเนิดแอปเปิล แต่ต้องออกจากบริษัทที่ปั้นมากับมือไปก่อนเข้ายุค 90s (ทำให้เครื่องพีซีตระกูล IBM PC กับระบบปฏิบัติการ Windows ไร้คู่แข่ง) ได้โอกาสกลับมาบริหารงานแอปเปิลอีกครั้งด้วยไอเดียสุดล้ำ ปลายยุค 90s วงการพีซีจึงสั่นสะเทือนด้วยเครื่อง iMac สีลูกกวาด โปร่งใส ที่มาพร้อมแนวคิด All in One คือการรวมทุกอย่าง ทั้งจอภาพ เมนบอร์ด เครื่องเล่นซีดี ลำโพงเสียง โมเด็ม ฯลฯ ไว้ข้างใน สามารถมองทะลุพลาสติกใสเข้าไปเห็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยลบภาพความน่ากลัวของเครื่องคอมพิวเตอร์ไปจนหมด ที่สำคัญไม่ต้องปวดหัวกับสายเสียบอุปกรณ์รกรุงรังอย่างที่ใช้กันมานาน

ด้วยพลังของการออกแบบหลอมรวมกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย  iMac ได้เปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งประดิษฐ์เคร่งขรึมให้เป็นเครื่องประดับน่าใช้ประจำบ้าน พร้อมกับการปรากฏตัวของ e-mail ซึ่งมาแทนที่จดหมายและเครื่องแฟกซ์  Google เว็บไซต์ค้นหาทุกอย่างที่คุณอยากรู้ และ Amazon.com เว็บไซต์ e-commerce
ทั้งหมดคือคลื่นความเปลี่ยนแปลงจากยุค 90s ที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลและโลกออนไลน์เข้าสู่ชีวิตประจำวันของทุกคนในสหัสวรรษใหม่  
Y2K 
Image
สื่อความหมายถึง ค.ศ. ๒๐๐๐ โดย Y ย่อจาก year  K ย่อจาก kilo คือ ๑,๐๐๐  ในปลายยุค 90s ยังเป็นคำเรียกวิกฤตปัญหาครั้งใหญ่ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่โลกตื่นตระหนกหวาดเกรงกันว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์จะขัดข้องจนใช้งานไม่ได้ และอาจเกิดผลร้ายต่างๆ ที่ไม่คาดคิดตามมา

จุดเริ่มต้นของปัญหามาจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานกันมาตั้งแต่ยุค 70s 80s ด้วยการเก็บข้อมูล ค.ศ. ด้วยเลข
สองหลัก เช่น ค.ศ. ๑๙๘๕ ก็จะสนใจแค่ค่า “๘๕” เพื่อประหยัดเมมโมรีหรือหน่วยความจำ  ปัญหาคือเมื่อก้าวเข้า ค.ศ. ๒๐๐๐ โปรแกรมจะมองเห็นค่าเป็น “๐๐” หมายถึง ค.ศ. “๑๙๐๐” การเปรียบเทียบค่าตามเงื่อนไขต่างๆ จึงอาจผิดพลาด  หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกจึงระดมเขียนโปรแกรมแก้ปัญหา รวมถึงเปลี่ยนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ให้คอมพิวเตอร์เก็บค่าปีและแสดงผลเป็นสี่หลักตามที่ควรจะเป็น  คาดว่ามีการใช้เงินแก้ปัญหา Y2K สมัยนั้นมากถึง ๓-๖ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ท่ามกลางกระแสโลกแตกใน ค.ศ. ๒๐๐๐ ปัญหา Y2K ถูก
ขยายความน่ากลัวและพ่วงเข้าไปเป็นตัวแปรหนึ่งของหายนะ แต่เมื่อพ้นเที่ยงคืนสิ้นปีเก่า ก้าวเข้าวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๐ คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ก็ทำงานตามปรกติ (เพราะแก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว)

เมื่อมองย้อนกลับไป หลายคนจึงรู้สึกว่า Y2K เป็นเรื่อง
หลอกลวง