Image
90s is back!
เรื่อง : วรรณณิภา ทองหน่อหล้า
(นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ช่วงเวลาในความทรงจำของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง ศิลปิน ภาพยนตร์ ของเล่น และการลองผิดลองถูกอีกมากมาย จะดีขนาดไหนถ้ามีเวลาทบทวนเรื่องเหล่านี้กับใครสักคน โอกาสนี้เราจึงอยากทบทวน “ตะกอนความทรงจำ” ไปกับ ศุภกร กุลวโรตตมะ ตัวแทนคนที่เติบโตมากับยุค 90s และผู้ก่อตั้งเพจ “วัยรุ่นยุค90” แหล่งรวมตัวของวัยรุ่นหรือคนที่สนใจยุค 90s ซึ่งมีผู้ติดตามเพจถึงราว ๖ แสนคน  ปัจจุบันศุภกรอยู่ในวัย ๔๕ และประกอบธุรกิจส่วนตัว
Image
แรงบันดาลใจและเอกลักษณ์
“เริ่มแรกเรานั่งในวงเพื่อนรุ่นเดียวกัน พอมีน้องวัยรุ่นมานั่งด้วย เรารู้สึกว่าพวกเราก็วัยรุ่นนะ ‘วัยรุ่นยุค90’ เราเกิดรู้สึกชอบคำนี้ นำมาตั้งเป็นชื่อเพจ  โพสต์แรกเกี่ยวกับร้านวิดีโอ ผ่านไปแค่คืนเดียวมีคนติดตามเป็นหมื่น จากที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมาย เราก็หาคอนเทนต์เรื่องรอบตัวมาลง สนุกมาก เอกลักษณ์เพจคือ เรารู้สึกกับอะไรก็เอาสิ่งนั้นมาพูด ตอนนี้อายุเพจ ๗-๘ ปีแล้วครับ”
จากโลกออนไลน์สู่พื้นที่รวมตัวคนยุค 90s
“จะบอกแบบนั้นก็ได้ เป็นพื้นที่ของคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน บางคนอายุไม่ถึง แต่เราไม่ได้สนใจ ขอแค่มีความรักในยุค 90s เพจเรายินดีต้อนรับเสมอ”
สิ่งของในยุค 90s ที่ชอบและคิดถึงมากที่สุด
“ถ้าความคลาสสิกจริง ๆ และเป็นความใฝ่ฝันวัยเด็กก็คือ ‘เพจเจอร์’ ถือว่าล้ำสมัยมาก ๆ ใครมีพกไปโรงเรียนถือว่าสุดยอด แต่เรื่องนี้มันก็จางไปเมื่อโทรศัพท์มือถือมาถึง

“อีกหนึ่งสิ่งที่ยังนึกถึง ‘เทปคาสเซ็ต’ วงการเพลงไทยรุ่งเรืองมากในยุคอัลเทอร์เนทีฟไทย เราชอบเพลง ‘บุษบา’ (ปี ๒๕๓๗) วงโมเดิร์นด็อก ค่ายเบเกอรี่มิวสิค วงใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก แต่เพลงดังมาก  ร้านเทปรุ่งเรืองมาก ราคาเทป ๖๕-๗๐ บาท จะถูกกว่าในห้าง และความคลาสสิกอีกอย่างคือ ถ้าร้านอยู่ตามป้ายรถเมล์จะเปิดเพลงเสียงดัง ใครรอรถก็ได้ฟัง เด็กวัยรุ่นที่เลิกเรียนก็จะมาหาเพลงใหม่กัน”

(จะเห็นว่าวัยรุ่นยุค 90s สนใจเทปเพลงมากกว่าสื่อโทรทัศน์ เพราะในขณะนั้นโทรทัศน์ออกอากาศเป็นเวลา ไม่ใช่ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเช่นตอนนี้)
Image
โพสต์ที่ได้รับความนิยมและคอมเมนต์ประทับใจ
“สำหรับเรา ‘ยางลบปากกา’ ที่เป็นแปดเหลี่ยม ลบทีไรกระดาษขาดประจำ จนได้ข้อมูลว่าความจริงแล้วไม่ใช่ มันใช้ลบหมึกพิมพ์ดีดหรือดินสอบนกระดาษอาร์ตหยาบ  พอโพสต์ข้อมูลไป คนแชร์กันเป็นหมื่น เพราะว่าคนมีอารมณ์ร่วมด้วยเยอะ เข้าใจผิด ใช้ผิดกันทั้งประเทศเลย (หัวเราะ)

“ส่วนคอมเมนต์ที่ประทับใจ เราลงเรื่อง MSN (Microsoft Network) มีคนบอกว่าได้สามีผ่าน MSN เราก็ส่งข้อความไปสัมภาษณ์เขาด้วย คิดว่ามันคือสื่อรักออนไลน์ยุคแรก ๆ ถ้าจะคุยกับใครก็บอก ‘ออนเอ็มนะ’ ใช้ทำงานบ้าง คุยกับแฟนบ้าง”

(การสื่อสารช่วงนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียหรือโทรศัพท์มือถือเช่นปัจจุบัน  ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ไมโครซอฟท์เริ่มพัฒนา MSN สำหรับส่งข้อความออนไลน์ได้ ก่อนจะเป็นที่รู้จักใน ค.ศ.๑๙๙๙ และนิยมแพร่หลายในช่วงยุค 2000s เป็นต้นมา)
จริงหรือไม่ ยุค 90s คือยุคที่แสนโรแมนติก
“กว่าจะจีบใครได้ต้องใช้เวลา เอา ‘จดหมายน้อย’ พับใส่กระเป๋าหรือขอเบอร์โทร.  ตอนนั้นจะเป็นเบอร์บ้าน ถ้าโทร. หา ก็ต้องลุ้นอีกว่าเขารับเองหรือพ่อเขารับ ถ้าง่ายไปก็ดูไม่มีคุณค่า แต่ถ้ายากไปมันก็…ลำบากไป (หัวเราะ)

“เป็นแฟนกันแล้ว ความโรแมนติกอีกอย่างก็คือ ‘โทร. แล้วไม่วาง’ เพราะว่าไม่อยากเสียค่าโทร. ๓ บาท คุยนานเท่าไรก็ได้ ก็ค้างสายไว้นาน ๆ หลับคาสายก็มี ตื่นมาโดนแม่ด่า ‘ไม่วางโทรศัพท์เลย คนอื่นเขาโทร. เข้าไม่ได้ !’ โดนบ่นเลย”
กิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม แต่สนุกมาก
“การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์ มันไม่ง่ายแค่ปลายนิ้วเหมือนทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์จะต่อกับโมเด็มที่เป็นสายโทรศัพท์บ้าน เสียงก็ดัง…เอียออ เอียออ เอียออ เอียออ

“กดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เสียงโทรศัพท์บ้านก็จะดังขึ้นแบบนั้นเลย ถ้ามีคนโทร. เข้ามา เน็ตก็หลุด เราก็ต้องต่อใหม่ ! ครั้งละ ๓ บาทเหมือนกัน รอเกือบ ๕ นาที หรือแค่โหลดรูปภาพเล็ก ๆ รอเป็นชั่วโมง  จะบอกว่าลำบากก็ไม่ใช่ เพราะเราก็อยู่แบบนั้น ไม่มีให้เปรียบเทียบ เดี๋ยวนี้คลิกอะไรก็ได้เลย”
Image
เสน่ห์ของยุค 90s
“ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล ผู้คนผ่านบรรยากาศความสวยงามของยุคสมัย บางคนมองว่า ‘ทำไมอวย…ยุคสมัยของตัวเองว่าดีขนาดนั้น’ เราจะบอกว่า ‘ทุกยุคสมัยมีความดีของตัวเอง’ เพียงโชคดีของคนยุค 90s ที่ได้ผ่านรอยต่อจากความโบร่ำโบราณถึงสมัยใหม่เท่านั้นเอง

“เรื่องราวในยุคนั้นมันสัมผัสได้ แต่ยุคนี้สัมผัสอะไรไม่ได้ อยู่บนอากาศหมด ดูหนังเมื่อก่อนตามเก็บโปสเตอร์โฆษณาตอนนี้ไม่มีแล้ว ผ่านสื่อออนไลน์หมด เดี๋ยวนี้ก็เห็นคนหันไปสะสมสิ่งของ รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งต่อเติมในความรู้สึก ไม่ว่าจะสะสมการ์ด โหลดาวโหลนก ยุคนั้นมีการสร้าง ยุคนี้ไม่มี เพราะของที่จับต้องได้มันมีมูลค่า เราจับต้องความทรงจำเหล่านั้นได้”
ตะก่อนความคิดถึง
“บางคนบอกถ้าเลือกได้อยากย้อนกลับไปใช้ชีวิตในยุคนั้น เราอยากบอกว่าเราผ่านมาแล้ว ถ้าย้อนกลับไป เราอาจจะอยู่ไม่ได้ก็ได้ อาจจะรออินเทอร์เน็ตเป็น ๑๐ นาทีไม่ได้ หรือทนเพื่อนมาสายไม่ได้

“ความคิดถึงคือความคิดถึงความทรงจำในแต่ละยุคสมัย แต่ในยุค 90s มันคือความทรงจำที่สวยงาม เหมือนเราเดินทาง เราไม่ได้เดินทางเพื่อให้ถึงจุดหมาย เราเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างเดินทางต่างหาก  เราตกตะกอนความทรงจำของเราเอาไว้เล่าให้รุ่นต่อไปฟัง และเขาก็จะเอาความสวยงามในรุ่นเขาไปเล่าต่อเช่นกัน

“มีความสุขกับยุคสมัยของตัวเอง ถ้าหากชอบยุค 90s ก็มีความสุขกับมันได้ ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเกิดในยุคนั้น คุณชอบความคลาสสิกนั้นได้ เราแค่ชอบในสิ่งเดียวกัน”
ความคิดถึงบางครั้งก็ไม่อาจเอ่ยด้วยคำพูด แต่เผยด้วยความทรงจำ  
อ้างอิง
เมธา เสรีธนาวงศ์. (๒๕๖๔). “วิวัฒนาการของรายการสาระความรู้และรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ไทย”. วารสาร นิเทศศาสตร์, ๓๙(๒), ๑-๑๘.

Shawn Knight. (2021). “What Ever Happened to MSN Messenger?”. สืบค้นจาก https://www.techspot.com/article/2373-msn-messenger/