Image
เข็มกลัด France 98
ฟุตบอลโลกครั้งสุดท้าย
ของยุค 90s
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
โดยไม่รู้ตัว เมื่อเวลาผ่านไป “ของที่ระลึกจากอดีต” ที่อยู่กับเราโดยธรรมชาติก็จะค่อย ๆ หายไปด้วย
สำหรับวัยรุ่นยุค 90s ไม่ว่าจะเป็นชุดนักเรียนประถมฯ ชุดนักเรียนมัธยมฯ เครื่องเล่นเทปแบบพกพา (ที่มักเรียกติดปากในสมัยนั้นว่า Walkman) เกมบอย กระทั่งของสะสมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างสมุดสะสมสติกเกอร์นักฟุตบอล ฯลฯ จะค่อย ๆ สูญหายไปตามกาลเวลา

เมื่อเราโตขึ้น ของพวกนี้ถูกนำไปชั่งกิโลขาย บ้างไปหมกตัวอยู่ในห้องเก็บของ ซุกซ่อนตามซอกหลืบต่าง ๆ ในบ้าน

ยิ่งถ้าใครต้องย้ายบ้าน ที่แห่งเดียวที่จะยังหลงเหลือข้าวของจากอดีตคือในความทรงจำ

เมื่อ สารคดี ฉบับนี้ว่าด้วยยุค 90s ผมพบว่ามีของที่ระลึกจากยุคสมัยนั้นตกค้างอยู่ไม่กี่ชิ้น

หนึ่งในนั้นคือเข็มกลัดฟุตบอลโลก France 98  (ค.ศ. ๑๙๙๘ หรือปี ๒๕๔๑)

เข็มกลัดนี้ผมได้มาตอนเรียนชั้น ม. ๕ ในปีนั้นเจ้าภาพฟุตบอลโลกคือฝรั่งเศส และการถ่ายทอดสดก็ดูเหมือนจะไม่ยุ่งยากเหมือนใน ค.ศ. ๒๐๒๒ ที่ทีวีส่วนมากเข้าสู่ระบบดิจิทัลและทุกคนใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตในการดูทีวีกันหมดแล้ว แต่กลับต้องไปซื้อเสาอากาศ (ก้างปลา) มารับสัญญาณเพราะข้อจำกัดทางลิขสิทธิ์ที่เอกชนรายหนึ่งตั้งขึ้น

บอลโลกทุกนัดใน ค.ศ. ๑๙๙๘ ถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีปรกติเวียนไปทุกช่อง หนังสือพิมพ์ต่างพากันลงโปรแกรมถ่ายทอดสดและมีการจัดรายการทายผลชิงโชครางวัลใหญ่ (บ้านและรถยนต์) กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงอย่าง ไทยรัฐ และ เดลินิวส์ ซึ่งชาวบ้านร้านตลาดยุคนั้นนิยมซื้ออ่าน

ส่วนเด็กบ้าบอลอย่างผมกับเพื่อน ๆ เน้นไปซื้อ สตาร์ซอคเก้อร์ หนังสือพิมพ์ขนาดแท็บลอยด์ (สมัยนั้นฉบับละ ๑๐-๑๕ บาท) มาอ่าน เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่เจาะลึกกว่า เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ส่งนักข่าวไทยไปประจำอยู่ตามประเทศในยุโรปที่มีลีกฟุตบอลแข็งแกร่งน่าติดตาม

ในช่วงฟุตบอลโลก โรงเรียนของผมยังอนุญาตให้เด็ก ๆ ได้ดูฟุตบอลทุกนัด โดยอัดการแข่งขันสดลงวิดีโอเทป VHS ในกรณีการแข่งขันที่ประเทศฝรั่งเศสตรงกับเวลาเรียน แล้วค่อยนำมาเปิดให้ดูย้อนหลังช่วงพักกลางวันหรือในชั่วโมงว่างของนักเรียนชั้นมัธยมฯ ปลาย (แน่นอนว่าผู้ชมส่วนมากเป็นเด็กผู้ชาย)
Image
ในกรณีของสะสม ต่างคนต่างเลือกตามกำลังเงินของตน  ถ้ามีทุนทรัพย์มากพอก็อาจนั่งรถประจำทางไปศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ไปซื้อของที่ระลึกจากร้านสตาร์ซอคเก้อร์ ชั้น ๓ ซึ่งนำเข้าสินค้าลิขสิทธิ์จากสโมสรฟุตบอลอังกฤษและยุโรปมาวางขายสารพัดชนิด

พวกทุนทรัพย์น้อยอย่างผมเลือกสะสมเข็มกลัดที่มีตราสัญลักษณ์ทีมชาติที่เข้าร่วมแข่งขันในปีนั้น

ถ้าจำไม่ผิด ต้องสะสมแสตมป์อะไรสักอย่างจากร้าน 7-11 แล้วเพิ่มเงินราว ๑๐-๑๒ บาท นำไปแลกซื้อพวงกุญแจเหล่านี้ ซึ่งจะมีตราของทีมชาติทั้งหมด ๓๒ ทีมต่อแบบ ที่เข้าร่วมแข่งขัน บรรดานักสะสมอย่างเราก็ต้องคอยไปถามพนักงานร้านว่าแบบที่ต้องการมีของหรือยัง ถ้าไม่มีก็ต้องไป “ตามล่า” ที่สาขาอื่นต่อไป

ผมได้เข็มกลัดทีมที่เชียร์คืออิตาลีมา สองสามอัน แต่หายไปหมดแล้วเนื่องจากกลัดติดกับกระเป๋านักเรียน คงหล่นหายบ้าง และสงสัยว่ามีเพื่อนแอบแกะไปบ้าง

ที่ยังหลงเหลือมาถึงปี ๒๕๖๖ คือเข็มกลัดทีมชาติเนเธอร์แลนด์

งัดออกมาจากกล่องอีกทีถึงเพิ่งสังเกตว่า บนซองสกรีนลายไก่ถือลูกฟุตบอล มีฉากเป็นธงชาติฝรั่งเศสอันเป็นมาสคอตฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของยุค 90s ในซองมีตัวเข็มกลัดด้านหน้าสกรีนตราสัญลักษณ์ทีมชาติ มีกระดาษรองแผ่นเล็ก ๆ ให้ข้อมูลว่าเข้าร่วมฟุตบอลโลกมาแล้วกี่ครั้ง ผลงานที่ดีที่สุดคือตำแหน่งใด

บรรทัดสุดท้ายเขียนว่า “ปี 1998 ????” บ่งเป็นนัยว่าให้มาลุ้นกันบนจอ

ในปีนั้นทีมชาติอิตาลีคุมโดย เชซาเร มัลดีนี (Cesare Maldini) มีผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์อยู่แทบครบทีม  บางส่วนคือดาวรุ่งจากฟุตบอลโลก ค.ศ. ๑๙๙๔ อย่างเปาโล มัลดีนี (Paolo Maldini) แบ็กซ้ายที่กลายเป็นตัวหลักของทีม ผสมผสานกับรุ่นใหม่อย่าง อาเลสซานโดร เดล ปีเอโร (Alesandro Del Piero) เพลย์เมกเกอร์

ยังมีคนที่ผิดหวังจากรอบชิงฟุตบอลโลก ๙๔ อย่าง โรแบร์โต บัจโจ (Roberto Baggio) ศูนย์หน้าที่ยิงจุดโทษพลาดในนัดชิงชนะเลิศ ทำให้บราซิลกลายเป็นแชมป์ใน ค.ศ.๑๙๙๔  ในบอลโลก ๙๘ เขาพาอิตาลีไปได้จนถึงรอบ ๘ ทีมสุดท้ายและเกือบจะยิงประตูฝรั่งเศสได้ แต่น่าเสียดายเสมอ ๐-๐ จากนั้นพ่ายจุดโทษฝรั่งเศส ทำให้ปีนั้นฝรั่งเศสทะลุไปชิงกับบราซิลและได้แชมป์ไป

สำหรับตำนานอย่างบัจโจ นั่นคือฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของเขา

ส่วนเนเธอร์แลนด์ทะลุเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศไปแพ้บราซิล ไปชิงอันดับที่ ๓ กับโครเอเชีย แต่ก็แพ้

ค.ศ. ๒๐๐๒ นอกจากความทรงจำเหล่านี้ เสียงเพลง “The Cup of Life” ของ ริกกี มาร์ติน (Ricky Martin) ยังคงแจ่มชัด

ยี่สิบห้าปีผ่านไปไวราวติดจรวดเข็มกลัดราคาไม่แพงกลายเป็นของที่ระลึกอันล้ำค่าจากอดีต เป็นความทรงจำของยุคสมัยที่ผ่านไป

ทำเอานึกถึงประโยคที่ว่า “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” ของนักสะสมอย่างคุณเอนก นาวิกมูล ขึ้นมา
สิ่งของที่ดูธรรมดาในปัจจุบัน อาจกลายเป็นของที่มีคุณค่าทางใจในฐานะ “บันทึกความทรงจำ” ในอนาคตก็ได้

ถ้ารักษามันไว้ให้ดีพอ