Image
  ที่มาของ “ดรีมทีม” ที่สหรัฐอเมริกา โค้ชบาสเกตบอลทีมชาติได้เรียกตัวสุดยอดนักบาสฯ จากสโมสรต่างๆ ในเอ็นบีเอ เข้ามาติดทีมเพื่อเตรียมแข่งขันโอลิมปิก ด้วยเป้าหมายเดียวคือคว้าเหรียญทองเท่านั้น เรียกว่าเป็นทีมบาสฯ อเมริกันชุดดรีมทีมที่เต็มไปด้วยยอดฝีมือ จึงมีนักข่าวกีฬาไทยนำชื่อนี้มาใช้เรียกฟุตบอลทีมชาติไทย แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะเป็นการตั้งเพื่อเสียดสี ประชดประชันแบบมีอารมณ์ขันเสียมากกว่า
สิบ เรื่องเล่าขานตำนาน
(นัก) กีฬาไทย ยุค 90s
90s is back!
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือพิมพ์ สยามกีฬา, 
หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ, หนังสือพิมพ์ ข่าวสด
กีฬาและการแข่งขัน
เป็นความบันเทิงสำคัญ
ของผู้คนยุค 90s

ในสมัยที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ผู้คนไม่มีสมาร์ตโฟนข้างกาย ไม่มีเครื่องมือสื่อสารใด ๆ ย่นย่อโลกและนำความบันเทิงรูปแบบอื่น ๆ มาใกล้  ทุกวาระที่มีการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ เมื่อ “ทีมชาติไทย” หรือ “นักกีฬาไทย” ก้าวเท้าลงสู่สนาม ไม่ว่าจะเป็น ๙๐ นาทีของฟุตบอล, ๑๗ เฟรมของสนุกเกอร์, ๕ เซตของเทนนิส, ๓ ยกของมวยสากลสมัครเล่น ฯลฯ คือช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้นเร้าใจ เป็นจังหวะแห่งการรวมหัวจิตหัวใจคนในชาติ

ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าวันนั้น “กีฬา” และ “นักกีฬา” เป็นความหวัง เป็นศูนย์รวมใจ

...หยั่งเสียงคอกีฬายุค 90s เมื่อพูดถึงเกมกีฬาในยุคนั้นคุณนึกถึงอะไร ?

หลายคนเอ่ยถึงความคลั่งไคล้ทีมชาติไทยชุด “ดรีมทีม” ด้วยนักเตะระดับตำนานเปรียบดั่งสัญลักษณ์และความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทยในยุคนี้

หากค่อย ๆ ไล่เรียง รื้อฟื้นลิ้นชักความทรงจำ จะพบว่ามีตำนานดาวค้างฟ้าในวงการกีฬาเกิดขึ้นมากมาย และมีหลายฉากหลายเหตุการณ์ที่ตราตรึงอยู่ในลิ้นชักเก่าชั้นต่อชั้น !
............................................
Image

ทีมชาติไทย

ชุด “ดรีมทีม”

ด้วยสถานะ “กีฬามหาชน” เมื่อเอ่ยถึง “ทีมชาติไทย” คอกีฬาก็จะเข้าใจว่าหมายถึงทีมฟุตบอลชายนั่นเอง

หลังคว้าเหรียญทองซีเกมส์ครั้งที่ ๑๓ ในปี ๒๕๒๘ ฟุตบอลทีมชาติไทยก็ห่างเหินความสำเร็จ บรรยากาศการเชียร์ก็ซบเซา กระทั่งเข้าสู่ยุค 90s จึงค่อย ๆ ฟื้นฟู เรียกศรัทธากลับมา จนกลายเป็นยุคทองที่แฟนบอลเข้าชมเกมแน่นสนาม โดยมีทีมชาติไทยชุด “ดรีมทีม” เป็นหนึ่งในความทรงจำอมตะตลอดกาล

ปี ๒๕๓๔ ถือเป็นจุดเริ่มต้นทีมชาติชุดดรีมทีมที่เกิดจากการตระเวนหานักเตะฝีเท้ารองแข้งนอกสายตาระดับ “เกรดบี” หรือ “เกรดซี” ส่วนมากนั่งข้างสนามเป็นตัวสำรองระดับสโมสร บางคนไม่เคยลงเตะแม้กระทั่ง “ถ้วย ข” หรือ “ถ้วย ค” เอามาเข้าแคมป์เก็บตัวตามสูตรเฉพาะของบิ๊กหอย-ธวัชชัย สัจจกุล

บิ๊กหอยผู้จัดการทีมนำนักฟุตบอลรุ่นหนุ่มมาปลุกปั้นจนฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์ ต่อมาแต่ละคนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ แม้แต่คนไม่ดูบอลก็ยังรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมืองซูเปอร์สตาร์อันดับ ๑ เจ้าของท่าตีลังกาดีใจหลังยิงประตูได้

ตะวัน ศรีปาน จอมทัพหมายเลข ๑๐, ดุสิต เฉลิมแสน แบ็กซ้ายดาราเอเชีย, พัฒนพงษ์ ศรีปราโมช, โกวิทย์ ฝอยทอง, วัชรพงษ์ สมจิตร ผู้รักษาประตูมือหนึ่ง ฯลฯ

ผลงานสำคัญของทีมชาติไทยยุค 90s คือการกลับมาผงาดคว้าแชมป์ซีเกมส์ครั้งที่ ๑๗ ในปี ๒๕๓๖

ปี ๒๕๓๘ ดรีมทีมเปิดรับอัลเฟรด-เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ นักเตะดาวรุ่งที่เติบโตฝึกฝนทักษะลูกหนังมาจากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บ ช่วยคว้าแชมป์ซีเกมส์ครั้งที่ ๑๘ ที่เชียงใหม่กระแสความคลั่งไคล้ทีมชาติไทยชุดดรีมทีมก็ยิ่งดังกระหึ่ม

ทีมฟุตบอลไทยคว้าแชมป์ซีเกมส์ครั้งที่ ๑๗-๒๔ ต่อเนื่องกัน  ๘ สมัย และคว้าอันดับ ๔ เอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๑๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถึงวันนี้หลายคนน่าจะยังจำลูกยิงฟรีคิกปลิดวิญญาณจากอุ้งสตั๊ด ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล กองกลางจอมเทคนิคที่ยิงใส่เกาหลีใต้ ส่งทีมชาติไทยไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศเอเชียนเกมส์เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

“ดรีมทีม” ยังชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ ๓๑ ในปี ๒๕๔๓ และผ่านเข้าถึงรอบ ๑๐ ทีมสุดท้ายของการแข่งขันฟุตบอลโลก ค.ศ. ๒๐๐๒ รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ในปี ๒๕๔๕ ด้วย

ก่อนที่ทีมชาติชุดดรีมทีมประวัติศาสตร์จะค่อย ๆ สลายตัวไปตามกาลเวลา ทิ้งมรดกเรื่องการเฝ้าติดตามเชียร์ทีมชาติที่แฟนบอลรับสืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างจริงจังจนถึงสมัยนี้

“คัมภีร์ฟุตบอล” 

ย. โย่ง-เอกชัย นพจินดา
นักข่าวกีฬามหาชน

ในบรรดาผู้สื่อข่าวกีฬาในยุค 90s มีชายร่างสูงคนหนึ่งยืนอยู่แถวหน้า ชื่อของเขาคือ เอกชัย นพจินดา ชื่อเล่นว่า นิดหน่อย แต่คนทั้งประเทศรู้จักในชื่อ “ย. โย่ง” นามปากกาที่เขาใช้มาตั้งแต่เป็นนักข่าวตัวเล็ก ๆ ที่สยามสปอร์ตพับลิชชิ่งหรือสยามกีฬา สื่อกีฬาอันดับ ๑ ฉายา “คัมภีร์ฟุตบอล” ก็มาจากชื่อคอลัมน์ตอบจดหมายท้ายเล่มนิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์

“ย. โย่ง” ชอบฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก ทั้งเล่นเองและดูบอล
ต่างประเทศ เรียกว่าหายใจเข้าหายใจออกเป็นฟุตบอล  เมื่อชะตาชีวิตลิขิตให้ต้องมาประกอบอาชีพเป็นนักข่าวทั้ง ๆ ที่ยังไม่จบปริญญาตรี เขาก็ทำอย่างแข็งขัน ทั้งแปลข่าว เขียนข่าว เขียนคอลัมน์ พากย์ฟุตบอล อยู่เวรกลางคืนหลังขัดเกลาฝีมือ เป็นลูกหม้อสยามสปอร์ตฯ จนขึ้นหม้อก็พลิกบทบาทจากนักหนังสือพิมพ์มาเป็นผู้ประกาศข่าว เมื่อต้องออกทีวี ต้องอ่านข่าวกีฬาช่วงข่าวภาคค่ำแทบทุกวันก็ขึ้นชั้นกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของช่อง ๗ และข่าวกีฬา

ที่ช่อง ๗ สี ทีวีเพื่อคุณ เขาต่อยอดความรักความคลั่งไคล้
ไปยังกีฬาแทบทุกชนิด ได้รับการยกย่องทั่วทุกสารทิศว่าเป็นผู้รู้ผู้แตกฉานแห่งวงการกีฬา และเป็นนักพากย์กีฬาอันดับ ๑ ของยุคสมัย ถึงแม้เสียงจะแหบแต่ก็แหบเสน่ห์ ด้วยความรู้ความสามารถเขาพากย์ได้ตั้งแต่จักรยานผาดโผนมอเตอร์ไซค์วิบาก เทนนิส กอล์ฟ ว่ายน้ำ งานกีฬาบ้าน ๆ อย่างฟุตบอลเยาวชน เรื่อยไปจนถึงฟุตบอลโลก

เสน่ห์ของ “ย. โย่ง” มีมากกว่าความเป็นคนข่าวกีฬา ครั้งหนึ่ง 
ณ ห้องส่งช่อง ๗ สี ศูนย์บัญชาการการถ่ายทอดสดข่าวออกไปทั่วประเทศที่บรรยากาศต้องเป็นการเป็นงาน ผู้ประกาศข่าวชายต้องใส่สูท ผู้ประกาศข่าวหญิงก็ใส่ชุดที่สุดแสนจะภูมิฐาน แต่ “ย. โย่ง” เคยใส่กางเกงขาสั้นนั่งอ่านข่าว แล้วฝ่ายข่าวบันทึกภาพไว้เมื่อทางช่องนำภาพมาเผยแพร่เนื่องในวาระพิเศษ นอกจากสร้างความครื้นเครงให้เพื่อนร่วมงาน ยังสร้างรอยยิ้มให้คนไทยทั้งประเทศ

แต่ในช่วงที่หน้าที่การงานกำลังประสบความสำเร็จถึงขีดสุด 
ไม่มีใครคาดคิดว่า “ย. โย่ง” จะมาด่วนจากไป เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๐ ขณะอายุได้เพียงแค่ ๔๔ ปี ด้วยอาการหัวใจวาย ระหว่างเล่นเทนนิสกับผู้บริหารช่อง ๗ ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นนักข่าวกีฬาและชอบเล่นกีฬามาก ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่

การจากไปของ “ย. โย่ง” เป็นข่าวใหญ่สะเทือนใจของคนไทย
ยุค 90s 

กว่า ๒๕ ปีจากวันนั้น แฟนบอลผลัดรุ่นแล้ว ไม่ต่างจาก
นักข่าวสายกีฬา แต่หลายคนยังระลึกถึงชายผู้เป็นแบบอย่างในการทำงานให้นักข่าวกีฬารุ่นหลัง และถ้าสืบดูดี ๆ ก็จะรู้ว่านักข่าวหลายคนในปัจจุบันเป็นศิษย์ก้นกุฏิของ “ย. โย่ง” นั่นเอง
ข่าว กีฬาและภาพกีฬามันๆ (ที่หายไป) ในยุค 90s
ช่อง ๗ นำเสนอช่วงปิดท้ายข่าวกีฬาเรียกว่าช่วง “ภาพกีฬามันๆ” ตามคอนเซปต์อะไรก็ตามที่ดูแล้วสนุก ตื่นเต้น ไม่เคยเห็นจากที่ไหน เป็นช่วงรวมภาพเด็ด สะเก็ดความฮา แม้แต่คนที่ไม่ใช่คอกีฬาก็รอดู เช่น ลูกยิงสุดสวย มวยน็อก ไปจนถึงกระโดดวิ่งค้ำถ่อแล้วไม้หัก วิ่งข้ามรั้วแต่ไม่ข้าม ตบลูกวอลเลย์บอลไปกระแทกหน้าฝ่ายตรงข้าม กระโดดไกลลงนอกกระบะทราย ฯลฯแต่ถ้าเป็นวันเด็กแห่งชาติก็นำภาพชวนซึ้งของเด็กๆ ที่เล่นกีฬามาให้ชม เมื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีอิทธิพล การดูผลการแข่งขันทำได้ทุกวินาที มีเกมให้ติดตามทั้งวันทั้งคืน การรายงานผลกีฬาทางโทรทัศน์ก็ค่อยๆ หมดความสำคัญ ช่วงข่าวกีฬาบนหน้าจอค่อยๆ ลดบทบาทและหายไป

วีรบุรุษโอลิมปิก สมรักษ์ คำสิงห์ 
คว้าเหรียญทองแรก (จริง ๆ...ไม่ได้โม้)

หลังส่งนักกีฬาเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ อีก ๔๔ ปีต่อมา คือวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๙ จึงเป็นวาระแรกที่นักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองมาครองได้ ผู้ปลดล็อกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน สมรักษ์ คำสิงห์ หรือบาส จากกีฬามวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเทอร์เวต (น้ำหนัก ๑๒๒-๑๒๖ ปอนด์ /ราว ๕๕-๕๗ กิโลกรัม) ในโอลิมปิกที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา

สมรักษ์ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักมวยอัจฉริยะ ลีลาการชกของเขาพลิ้วไหวราวกับผีเสื้อสะบัดปีก เป็นมวยชั้นเชิง สายตาไว แต่โอลิมปิกเป็นรายการใหญ่ที่ยังไม่เคยมีทัพนักกีฬาไทยได้เหรียญรางวัลสูงสุดมาก่อน

กลางดึกคืนนั้น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย “ยิงสด” มาให้คนไทย ๕๐ ล้านคนได้รับชมช่วงเวลา ๙ นาทีทองของ สมรักษ์ คำสิงห์ กันอย่างถ้วนหน้า
Image
เสียงคนไทยในแอตแลนตาที่เข้าไปเชียร์ในสังเวียนนัดชิง ดังกระหึ่มตั้งแต่เริ่มนับถอยหลัง ๑๐ วินาที จนถึงอึดใจที่ผู้บรรยายพากย์ว่า “ท่านผู้ชมครับ นี่คือประวัติศาสตร์ สมรักษ์ คำสิงห์ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทยสำเร็จแล้ว”

สมหวังกันเสียทีในยุค 90s นี้เอง

กลับจากแอตแลนตา บรรยากาศการต้อนรับวีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิกเต็มไปด้วยความคึกคักถึงระดับโกลาหล ฮีโร่สมรักษ์ถูกแฟน ๆ รุมล้อม แสดงความยินดี และขอลายเซ็นทุกย่างก้าว  สำหรับรายการข่าวและรายการโทรทัศน์ต้องเรียกว่าอยู่ระดับ “แย่งชิงตัว” เพราะเขาคือคนที่คนไทยอยากพบอยากคุยด้วยมากที่สุดในเวลานั้น หลังปรากฏการณ์ สมรักษ์ คำสิงห์ เหรียญทองโอลิมปิกกับนักกีฬาไทยก็ดูจะกลายเป็นของคู่กัน ด้วย ๔ ปี ๘ ปี ๑๒ ปี

หลังจากนั้น นักมวยสากลสมัครเล่นของไทยหยิบเหรียญทองมาคล้องคอได้ทุกสมัย

ขณะที่ “ความทรงจำใหม่” ถึงสมรักษ์ก็ค่อย ๆ เข้ามาด้วยความที่เจ้าตัวมีบุคลิกเฮฮา มีอารมณ์ขัน หลังคว้าเหรียญรางวัลก็มีสถานะเหมือนดาราคนหนึ่ง เขาเริ่มถูกพูดถึงว่าซ้อมน้อยลงหรือไม่ก็หนีซ้อม แต่เจ้าตัวก็มักจะออกมาบอกว่าฝีไม้ลายมือของตนไม่ได้ตกลงเลย พร้อมคำพูดติดปาก “ไม่ได้โม้” จนกลายเป็นฉายา

ถึงจะถูกค่อนแคะว่าขี้โม้ในหลายวาระ แต่สถิติคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของประเทศไทยของ สมรักษ์ คำสิงห์ จะคงอยู่ไปตลอดกาล
Image

ต๋อง ศิษย์ฉ่อย
“ไทยทอร์นาโด” 

สุภาพบุรุษนักสนุกเกอร์

หนึ่งในกีฬาเล็ก ๆ ในมุมมืดของสังคมที่สอดแทรกขึ้นมาประกาศศักดาอย่างยิ่งใหญ่ในเมืองไทยยุค 90s คือสนุกเกอร์

สมัยนั้นสังคมมองโต๊ะสนุกเกอร์และกีฬาแทงลูกหลากสีลงหลุมว่าเป็นแหล่งมั่วสุม ยึดโยงกับการพนันอย่างแยกกันไม่ออก

แต่ 
รัชพล ภู่โอบอ้อม (ชื่อเดิม วัฒนา ภู่โอบอ้อม) หรือ “เจมส์ วัฒนา” หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ก็มาเปลี่ยนชุดความคิดนี้ 

เขาเป็นคนไทยคนแรกที่เอาชนะนักสนุกเกอร์มือระดับโลกและก้าวขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์นักสนุกเกอร์อาชีพระดับโลก

อันที่จริงต๋องเริ่มสร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติตั้งแต่ปลายยุค 80s ด้วยการคว้าแชมป์เอเชีย ๓ สมัย และเป็นแชมป์โลกสมัครเล่นตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี จนเข้าสู่ช่วงรอยต่อของยุค 80s กับ 90s คือฤดูกาล ค.ศ. ๑๙๘๙/๑๙๙๐ ถือเป็นปีแรกที่ต๋องขึ้นชั้นเป็นมืออาชีพ เดินทางไปประจำการที่อังกฤษ เพียงปีเดียวก็ก้าวกระโดดจากอันดับ ๑๒๘ ของโลกพุ่งพรวดมาอยู่ที่อันดับ ๓๒

ต๋องในวัยหนุ่มเข้าขั้นหล่อเหลาเอาการ ในชุดแข่งขันแบบสากลของนักสนุกเกอร์ ทำให้ต๋องดูดี เท่ เต็มไปด้วยภาพลักษณ์ของสุภาพบุรุษ เหมาะกับกีฬาประเภทนี้อย่างไม่มีใครกล้าปฏิเสธ และสร้างความตื่นตะลึงด้วยการปราบนักสนุกเกอร์มืออันดับสูงกว่าหลายต่อหลายครั้ง  ความแม่นยำของเขาเรียกเสียงปรบมือและเป่าปากกันสนั่นห้องแข่งขัน 

เขาก้าวขึ้นสู่มือวางอันดับ ๓ ของโลกในช่วงฤดูกาล ค.ศ. ๑๙๙๔/๑๙๙๕ พร้อมฉายาที่สื่อมวลชนอังกฤษตั้งให้คือ “ไทยทอร์นาโด” (“Thai Tornado”) และ “ไต้ฝุ่น” (“Thai-Poon”-อ่านออกเสียงเหมือน typhoon)

หลังจากยุค 90s แฟนสนุกเกอร์ก็ยังไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงเชียร์ขวัญใจดัง ๆ แบบยุคสมัยของต๋องอีก
Image
  แจกทอง 
เวทีมวยในประเทศไทยร่วมยุคเขาทราย ผู้ให้การสนับสนุนหรือ “สปอน-เซอร์” จะถือโอกาสมอบทองและของรางวัลให้นักมวยขวัญใจก่อนขึ้นชก ซึ่งหาดูไม่ได้แล้วในสมัยนี้  และจุดเริ่มต้นของประเพณีแจกทองอันลือลั่นก็คือเวทีของเขาทรายนี่เอง เขาทรายบอกว่าครั้งหนึ่งเขาเคยได้สวมสร้อยทองก่อนขึ้นชกไฟต์เดียวน้ำหนักสูงถึง ๑๓๐ บาท !


“ซ้ายทะลวงไส้”
เขาทราย แกแล็คซี่ 
นักมวยผู้แก้ปัญหารถติด

ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาคลาสสิก ไม่ว่าผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกี่ยุคกี่สมัยก็ไม่สามารถนำเสนอทางออกของปัญหาได้อย่างเด็ดขาด

แต่ในยุค 90s มีคำกล่าวกันอย่างจริงจังว่า วันที่ “เขาทราย แกแล็คซี่” ขึ้นชก นั่นละคือวันที่รถบนถนนหายไปหมดเจ้าของยวดยานพาหนะทุก ๆ คันจะรีบบึ่งกลับบ้าน เพื่อเปิดโทรทัศน์ดูถ่ายทอดสดเขาทรายชกป้องกันแชมป์  ถนนหนทางในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะโล่งตั้งแต่ก่อนระฆังยกแรกดังโดยไม่ได้นัดหมาย !

“เขาทราย แกแล็คซี่” หรือ สุระ แสนคำ เป็นแชมป์สมาคมมวยโลก (WBA) รุ่นน้ำหนัก ๑๑๒-๑๑๕ ปอนด์ (ราว ๕๐.๕-๕๒ กิโลกรัม) หรือจูเนียร์แบนตัมเวต (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเรียกว่ารุ่นซูเปอร์ฟลายเวต) ด้วยหมัดซ้ายอันหนักหน่วง ผนวกกับการชกตัดลำตัวที่ยอดเยี่ยมไม่เหมือนใคร ทำให้เขาทรายได้รับฉายาว่า “ซ้ายทะลวงไส้” ขณะที่สื่อมวลชนต่างชาติบางเจ้าตั้งฉายาให้ว่า “Thai Tyson” ยกย่องเขาเป็น ไมก์ ไทสัน (Mike Tyson) แชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวต รุ่นน้ำหนักมากกว่า ๑๙๐ ปอนด์ (ราว ๘๐ กิโลกรัมขึ้นไป) นักชกอเมริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังร่วมยุคสมัย

เขาทรายครองตำแหน่งแชมป์สมาคมมวยโลกตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ หลังจากนั้นก็ชกป้องกันแชมป์บนเวทีมวยที่โปรโมเตอร์จัดขึ้นทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศรวม ๑๙ ครั้ง รวมระยะเวลายาวนานกว่า ๗ ปี ชนะน็อก ๑๖ ครั้ง ชนะคะแนน ๓ ครั้ง ก่อนจะประกาศแขวนนวมหลังชกป้องกันแชมป์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๔
Image
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี

อมรเทพ อุ่นใจ 
เมื่อคนไทยหันมาดู
ยิมนาสติก

ย้อนเวลากลับไปปลายปี ๒๕๔๒ “คนบนปก” นิตยสาร สารคดี ฉบับ ๑๖๕ โปรยปก “๙ กีฬาแห่งความหวัง เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓” คือชายร่างสันทัดที่โชว์ความแข็งแรงอยู่ในท่าเครื่องบิน  สำหรับกีฬายิมนาสติกอุปกรณ์ประเภทห่วง ท่านี้แขนทั้งสองข้างจะต้องวางขนานลำตัว ลอยอยู่เหนือพื้นราว ๓ เมตร ทิ้งน้ำหนักทั้งตัวไว้กับข้อมือและหัวไหล่ บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นและสภาพความแข็งแรงของร่างกาย อมรเทพ (แววแสง) อุ่นใจ หรือหมู นักยิมนาสติกที่โด่งดังถึงขีดสุดในยุค 90s 

ยิมนาสติกเป็นกีฬาที่แสดงสมรรถภาพความ
แข็งแกร่ง แคล่วคล่องว่องไว สอดประสานกับความ
อ่อนตัวผ่านท่วงท่าอันงดงาม ซึ่งสำหรับคนไทยกับกีฬายิมนาสติก ดูจะเป็นกีฬาที่ห่างไกลการติดตาม 
เว้นเสียแต่ว่าจะมี “ความหวัง” บังเกิดขึ้น...

ความจริงก่อนติดทีมชาติชุดใหญ่ อมรเทพเคยผ่านการแข่งขันมาแล้วหลายระดับ ตั้งแต่กีฬานักเรียน ซีเกมส์ ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ชิงชนะเลิศมหาวิทยาลัยโลก รวมถึงแพนแปซิฟิกเกมส์...รายการหลังสุดนี้เองที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมาอยู่ในฐานะนักยิมนาสติกไทยคนแรกที่คว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันที่มีคู่แข่งระดับเขี้ยวลากดินจากกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งสหรัฐฯ และแคนาดา

ไม่กี่ปีต่อมา อมรเทพก็ตอกย้ำความสามารถจนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ด้วยการคว้าเหรียญทอง ๕ เหรียญจากซีเกมส์ ครั้งที่ ๑๘ ที่เชียงใหม่ ตามมาติด ๆ ด้วยเหรียญทองจากเอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๑๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เขาไม่ได้มีชื่อเสียงแค่ในหมู่แฟนกีฬายิมนาสติกเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป 

หากยังจำกันได้ อมรเทพเป็นนักกีฬาพูดน้อย นิ่งสงบ วัยเด็กเขาเติบโตจากครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างอัตคัดในชุมชนแฟลตดินแดง แวดล้อมด้วยเพื่อนติดยาเสพติด  นอกจากความเป็นเลิศทางการกีฬาที่นำพาความสำเร็จมาให้ คนไทยยุค 90s ยังมีโอกาสได้รับรู้ว่าด้วยการฝึกซ้อมระดับถวายชีวิตให้กับยิมนาสติกเปลี่ยนชีวิตเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เมื่อประสบความสำเร็จถึงขีดสุด เขาขอเปลี่ยนนามสกุลจาก “แววแสง” เป็นนามสกุลเดียวกับดอกเตอร์จักรชัย อุ่นใจ ผู้จัดการทีมยิมนาสติก ที่เขาประกาศเกียรติคุณให้เป็นพ่อคนใหม่ เพื่อทดแทนบุญคุณและน้ำใจ

“แทมมี่”-แทมมารีน

ผู้จุดไฟฝันนักเทนนิส
หญิงไทยอันดับ ๑

ในยุค 90s คอกีฬาส่วนหนึ่งยังมีความเชื่อว่ากีฬาเทนนิสไม่เหมาะกับคนเอเชียตัวเล็ก ๆ อย่างเรา แต่นักหวดลูกสักหลาดจากตะวันออกหลายคนก็ไม่ย่อท้อ ก้าวลงสนามพยายามตีลูกสู้กับฝรั่งตัวโต ๆ  หนึ่งในนั้นคือนักเทนนิสหญิงจากเมืองไทย แทมมี่-แทมมารีน ธนสุกาญจน์

เรื่องราวของแทมมี่จุดไฟฝัน เป็นประกายความหวัง สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ และเยาวชนไทยหลายคนในยุคนั้น  ตั้งแต่เรื่องเล่าเมื่อคราวแทมมี่ยังใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกากับครอบครัว  ระหว่างนั่งดูถ่ายทอดสดนัดชิงยูเอสโอเพนอยู่ที่บ้านกับแม่ แทมมี่ในวัย ๓ ขวบพูดว่า “สักวันหนูจะทำให้ได้...หนูจะเอาโทรฟี (ถ้วยรางวัล) มาใส่ลูกอม”
Image
ปี ๒๕๔๑ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ อันดับโลกของแทมมี่อยู่ที่ ๓๗-๓๘ ถือเป็นนักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ ๒ ของเอเชีย ในยุค 90s นี้ เธอผ่านเข้าถึงรอบ ๔ รายการแกรนด์สแลม คือ ออสเตรเลียนโอเพน ในปี ๒๕๔๑ และเข้ารอบรองชนะเลิศโตโยต้าปริ๊นเซสคัพ ที่มีมือ “ทอปเท็น” ของโลกเข้าร่วมแข่งขัน ช่วงรอยต่อระหว่างยุค 90s กับยุค 2000s แทมมี่ยังคงทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านเข้ารอบสี่รายการวิมเบิลดันติดต่อกันถึง ๕ ปี 

ภาพที่คุ้นเคยคือแทมมี่เป็นตัวแทนคนไทยลงแข่งกับมือระดับโลกหลายรายการ  ความสำเร็จของนักเทนนิสหญิงในยุคนั้นทำให้คนไทยหันมามองกีฬาเทนนิส พ่อแม่ผู้ปกครองส่งเสริมให้เด็ก ๆ ถือแร็กเกตหวดลูกเทนนิสแบบพี่แทมมี่บ้าง ทั้งด้วยความคาดหวังว่าวันหนึ่งจะให้เป็นนักกีฬาเทนนิสอาชีพแบบพี่แทมมี่ หรือแม้แต่ตีเพื่อออกกำลังกาย

สำหรับวงการเทนนิสหญิงของไทย ปรากฏการณ์แทมมี่เป็นความทรงจำงดงามในยุค 90s ก้าวย่างของเธอเป็นแนวทางให้คนรุ่นใหม่หันมาตีเทนนิส และเริ่มมีความหวังกับทีมชาติ
Image

ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร 

เงือกสาวเจ้าสระ ราชินีท่ากบ

ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร หรืออาย เป็นนักกีฬาว่ายน้ำหญิงทีมชาติไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ รับใช้ชาติยาวนาน ๑๔ ปีในช่วงปลายยุค 80s ถึงยุค 90s เฉพาะเหรียญทองซีเกมส์เธอคว้ามาได้ถึง ๗ เหรียญ แบ่งเป็น ๑ เหรียญทองจากผลัดผสม กับอีก ๖ เหรียญทองจากท่ากบที่เธอช่ำชองและทำให้เธอกลายเป็นราชินีเจ้าสระ ยืนยันด้วยการกวาดเหรียญทองว่ายกบระยะ ๑๐๐ และ ๒๐๐ เมตร ติดต่อกันในซีเกมส์สามสมัย

ยุค 90s เธอคว้ามาได้ ๓ เหรียญทองจากซีเกมส์ครั้งที่ ๑๖ ในปี ๒๕๓๔ ที่ฟิลิปปินส์

ศรสวรรค์แบกความหวังของคนไทยในกีฬาว่ายน้ำมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ต่อมาก็เริ่มมีเงือกสาว-ฉลามหนุ่มดาวรุ่งก้าวขึ้นมาติดทีมชาติ 

ในปี ๒๕๓๕ ทีมนักว่ายน้ำไทยผ่านรอบคัดเลือกเข้าไปแข่งในโอลิมปิกอีกครั้งในรอบ ๑๖ ปี โดยมีศรสวรรค์เป็นรุ่นพี่เดินนำน้อง ๆ  ผลคือเธอว่ายท่ากบเข้าป้ายเป็นอันดับที่ ๓๑ ในระยะ ๑๐๐ เมตร และอันดับที่ ๓๐ ในระยะ ๒๐๐ เมตร

ช่วงรอยต่อปี ๒๕๓๓-๒๕๓๔ แฟนกีฬายังได้เห็นเงือกสาวคนนี้ในแง่มุมใหม่ ด้วยฐานะนางเอกมิวสิกวิดีโอเพลง “อย่ายอมแพ้” ของนักร้องวัยรุ่นชื่อดัง ที่มีเนื้อร้องติดปากทั่วบ้านทั่วเมืองว่า ขออย่ายอมแพ้...อย่าอ่อนแอแม้จะร้องไห้...

บทบาทการแสดงที่เธอรับเล่น ก็เป็นนักกีฬาว่ายน้ำผู้มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้นั่นเอง

ศรสวรรค์เลิกเล่นทีมชาติในปี ๒๕๓๗ หลังกลับมาจากเอเชียนเกมส์ที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น  หลังจากนั้นเธอผันตัวมาเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาทางช่อง ๗ สี ตามคำชวนของ เอกชัย นพจินดา รวมทั้งเป็นพิธีกรรายการกีฬา เพลง วาไรตี

ทุกวันนี้แฟนกีฬาก็ยังพบหน้าเธอได้ในรายการ “สปอร์ตแฟน Online” ทางช่องยูทูบ, เฟซบุ๊ก Ch7HD Sports และรายการ “สนามข่าวกีฬา” ทางช่อง 7HD ทุกวันพุธ

ปี ๒๕๖๓ ศรสวรรค์ในวัย ๔๘ ปี สร้างความฮือฮาให้แฟนกีฬายุค 90s ด้วยการหวนกลับมาลงสระอีกครั้งในการแข่งขันรายการไทยแลนด์ โอเพ่น มาสเตอร์เกมส์ ครั้งที่ ๑ ซึ่งถือเป็นรายการกีฬาชิงแชมป์โลกสำหรับผู้สูงอายุ  เธอค่อย ๆ เรียกความฟิตกลับมา พยายามดึงสโตรก วาดแขนอันงดงามด้วยท่วงท่าที่เคยทำเป็นประจำสมัยรุ่งโรจน์

ผลคือเธอคว้าเหรียญทองว่ายกบ ๕๐ เมตรหญิง รุ่นอายุ ๔๕-๔๙ ปี โดยทำเวลา ๓๙.๖๑ วินาที และทำเวลา ๓๘.๓๖ วินาที รุ่นอายุ ๕๐-๕๔ ปี ในอีก ๒ ปีต่อมา

เหนือสิ่งอื่นใด การหวนกลับมาลงสระของเธอสร้างรอยยิ้ม ความภูมิใจ เรียกความทรงจำอันงดงามถึงเงือกสาวเจ้าสระของแฟนกีฬายุค 90s ให้กลับมาแจ่มชัดอีกครั้ง
Image

ต้องจ่ายเงินถึงได้ดูกีฬา
การเข้ามาของ “เพย์ทีวี”

ยุค 90s เป็นครั้งแรกที่คนไทยได้ทำความรู้จักกับระบบโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก หรือเรียกว่า pay TV การดูทีวีแบบต้องจ่ายเงิน หลังจากที่คุ้นเคยกับ free TV ช่อง ๓ ๕ ๗ ๙ และ ๑๑ มานาน

สมัยนั้นการติดตามผลการแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกจะต้องรอดูข่าวภาคค่ำหรือข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ วันรุ่งขึ้น ถ้าอยากดูการแข่งขันแบบเต็มแมตช์โดยทั่วไปก็เป็น “เทปบันทึก” ไม่ใช่ “ถ่ายทอดสด”

pay TV
 เข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมการรับชมกีฬา ให้สามารถดูรายการกีฬาดัง ๆ ในต่างประเทศ เช่น ฟุตบอลอังกฤษยุคที่เชียร์แมนฯ ยูฯ, ลิเวอร์พูล, แบล็กเบิร์นฯ, นิวคาสเซิล ฯลฯ บาสเกตบอลเอ็นบีเอยุคที่มีนักยัดห่วงซูเปอร์สตาร์อย่าง ไมเคิล จอร์แดน  เมจิก จอห์นสัน  สโมสรดังอย่างชิคาโก บูลส์ หรือรายการอเมริกันฟุตบอล NFL มวยปล้ำ WWE ฯลฯ  

เริ่มต้นจากไอบีซี (IBC) เคเบิลทีวีรายแรก ๆ ของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลูกค้าค่ายนี้ต้องติดตั้งจานดาวเทียมบนหลังคาบ้าน ฐานลูกค้าอยู่ในต่างจังหวัด  ตามมาด้วยยูทีวี (UTV) ของบริษัท ยูทีวี เคเบิล เน็ทเวอร์ค จำกัด (มหาชน) ที่ชูจุดขายไฟเบอร์ออปติกหรือเทคโนโลยีใยแก้วนำแสง ภาพคมชัดแม้วันที่ฝนตก ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  นอกจากสองเจ้าหลักแล้วยังมีไทยสกายทีวี (Thai Sky TV) ของบริษัทสยามบรอดแคสติ้ง จำกัด

ด้วยความสดใหม่ ยังมีรายการหลากหลาย ทั้งสารคดี ภาพยนตร์ รายการเพลง การ์ตูน ข่าว นับร้อยช่อง pay TV จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนหลักร้อยถึงหลักพันบาทที่งอกขึ้นมาใหม่ในครอบครัวชนชั้นกลาง

๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ  วิกฤตต้มยำกุ้ง รวมถึงอีกหลายปัจจัย เช่นการที่เจ้าของค่ายต้องทุ่มเงินในการประมูลลิขสิทธิ์เพื่อให้ได้รายการคุณภาพจากต่างประเทศ จึงเกิดการลงนามเพื่อควบรวมธุรกิจระหว่าง IBC กับ UTV กลายเป็นชื่อใหม่ UBC ที่อยู่ในความทรงจำของคนรักกีฬายุค 90s 

ถึงวันนี้ UBC ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อและโครงสร้างทางธุรกิจใหม่กลายมาเป็นทรูวิชั่นส์ (TrueVisions) ผู้ให้บริการสตรีมมิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
Image
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
๑๐
เจ้าภาพ “บางกอกเกมส์” 
เอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๑๓ 

บางกอกเกมส์” เป็นชื่อเรียกขานมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๑๓ จัดขึ้นระหว่าง ๖-๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่ประเทศไทยสนามกีฬาหลักตั้งอยู่ที่ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งเจ้าภาพเนรมิตขึ้นสำหรับเอเชียนเกมส์ครั้งนี้โดยเฉพาะรวมทั้งใช้สนามราชมังคลากีฬาสถาน และอินดอร์สเตเดียม ศูนย์กีฬาหัวหมาก สำหรับบางชนิดกีฬา 

หลายคนน่าจะยังจำได้ว่าเรามี “ช้างไชโย” เป็นสัญลักษณ์ หรือ “มาสคอต” ประจำการแข่งขัน มี “Friendship Beyond Frontiers” หรือ “มิตรภาพไร้พรมแดน” เป็นดั่งคำขวัญหรือเจตนารมณ์

นับเป็นเอเชียนส์เกมส์ครั้งที่ ๔ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพถึงแม้จะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำถึงขีดสุด  

การต้อนรับนักกีฬาเกือบหมื่นคนจาก ๔๑ ชาติในทวีปเอเชีย กองทัพสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่อีกหลายพัน รัฐบาลไทยต้องประกาศให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งปิดชั่วคราว-เร่งสร้างทางด่วนสายใหม่สองสาย-ร้านอาหารและตลาดสดถูกตรวจสอบคุณภาพ ความสะอาด และราคาของอาหาร-คนจรจัด คนขอทาน เด็กเร่ร่อน เด็กขายพวงมาลัยถูกนำตัวออกจากสี่แยกและถนนสายสำคัญ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องจัดทำแผนรับมือการก่อการร้ายสากล ชุดควบคุมฝูงชนถูกเรียกตัวมาฝึกอบรมเป็นกรณีพิเศษ ฯลฯ

ถึงช่วงแข่งขัน พิธีเปิดและพิธีปิดที่สร้างสรรค์โดยบริษัทเจเอสแอล จำกัด ใช้นักแสดงทั้งเด็กและผู้ใหญ่นับพันคนก็งดงามและสร้างความประทับใจให้ผู้ชม แม้ว่าจะถูกหั่นงบประมาณสำหรับการแสดงลงถึงครึ่งหนึ่งก็ตาม

ด้านความสำเร็จทัพนักกีฬาไทยกวาดมาได้ถึง ๒๔ เหรียญทอง ๒๖ เหรียญเงิน และ ๔๐ เหรียญทองแดง จาก ๑๒ ชนิดกีฬา ประสบความสำเร็จมากกว่าเอเชียนเกมส์ทุกครั้งที่ผ่านมา 
และเป็นสถิติยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้  
ขอขอบคุณ
คุณ JACKIE-อดิสรณ์ พึ่งยา

เอกสารประกอบการเขียน
กุลธิดา สามะพุทธิ. “อีกหนึ่งความทรงจำของการเป็น ‘เจ้าภาพ’”. สารคดี, ฉบับที่ ๑๖๗ มกราคม ๒๕๔๒. 

ยอดชาย ขันธะชวนะ. (๒๕๕๐). ย.โย่ง ในความทรงจำ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : บริษัท กิเลนการพิมพ์ จำกัด.

รัชพล ภู่โอบอ้อม และ พศิน ภู่โอบอ้อม. (๒๕๖๐). ตำนานไทยทอร์นาโด ต๋อง ศิษย์ฉ่อย. นนทบุรี : บริษัท รุ่งแสงทอง พริ๊นติ้ง จำกัด.

วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์. “๙ กีฬาความหวัง บางกอกเกมส์ สื่อกลาง มิตรภาพไร้พรมแดน”. สารคดี, ฉบับที่ ๑๖๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๑.

วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์. “เวลาที่ล่วงผ่านกับพิธีการเอเชียนเกมส์”. สารคดี, ฉบับที่ ๑๖๗ มกราคม ๒๕๔๒. 

วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์. “สมรักษ์ คำสิงห์ วีรบุรุษโอลิมปิกตลอดกาล”. สารคดี, ฉบับที่ ๑๓๙ กันยายน ๒๕๓๙.