Image
Image

คิ ด - c o o l

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

สังคมไทยยุค 90s เต็มไปด้วยความ “คูล เจแปน” ระบบการศึกษาในโรงเรียนรัฐที่เด็กศิลป์ภาษาเคยเลือกได้เพียงฝรั่งเศสหรือเยอรมันก็มีแผนการเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่ม เวลานั้นอุตสาหกรรมวัฒนธรรมญี่ปุ่นนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ไทยก็รับทั้งเกม การ์ตูน เพลงเจ-ป็อป สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เสียงริงโทนโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

หนึ่งในกิจกรรมฮิตแห่งยุคคือ “ถ่ายรูปจากตู้สติกเกอร์”

ทุกอย่างเริ่มใน ค.ศ. ๑๙๙๕ เมื่อบริษัทแอตลัส (Atlus Co., Ltd.) ผู้ผลิต-จำหน่ายวิดีโอเกมสัญชาติญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวผุดตู้สติกเกอร์ในย่านศูนย์การค้าและถนนสายชอปปิงของวัยรุ่นอย่างฮาราจูกุ ย่านเกมเซ็นเตอร์-พื้นที่ของเหล่าเด็กชายจึงถึงกาลแบ่งให้ลูกค้ากลุ่มเด็กสาวคาวาอี้ (ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อบญี่ปุ่น)

ช่วงแรกยังเป็นการถ่ายรูปธรรมดา ต่อมาบางร้านก็ดึงดูดโดยมีชุดคอสเพลย์ให้ลูกค้ายืมเล่น ช่วงที่นิยมถึงขีดสุดตู้สติกเกอร์ไม่เพียงมีกรอบลายให้เลือกสารพัด ทั้งการ์ตูนฮิต รูปคนดังให้แฟนคลับได้เสมือนถ่ายรูปคู่ ยังพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนฉากหลัง ใส่ฟิลเตอร์ตกแต่งไม่จำกัด เขียนถ้อยคำพิเศษไว้บนรูป ฯลฯ

วันที่ตู้ถ่ายรูปสติกเกอร์เดินทางถึงไทยจึงเป็นสิ่งบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงปรี๊ดในหมู่นักเรียนหญิงที่กรี๊ดวัฒนธรรมญี่ปุ่น หลังเลิกเรียน-วันหยุดต้องนัดเพื่อนฝูงไปห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งรวมแฟชั่นอย่างสยามสแควร์เพื่อเสพกิจกรรมคาวาอี้

Image

ความสนุกเริ่มตั้งแต่การอดทนรอคิวกว่าจะได้สุมหัวเลือกกรอบ ราคามีตั้งแต่หลักสิบจน ๑๐๐ กว่าบาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบ ขนาดของรูป จำนวนภาพ-จำนวนแอ็กชัน (บางตู้มีให้เลือกหลายสิบแอ็กชัน) หากถ่ายเป็นกลุ่มใหญ่ต้องสร้างสรรค์
วิธีรวมพลให้จุคนได้ครบในตู้แคบ รูปที่ออกมาจึงเรียกเสียงเฮฮาได้เสมอ เพราะต้องมีบางคนที่เผลอและไม่อาจแก้ไขหรือลบทิ้ง

บ้างสะสมใส่อัลบัม ตกแต่งสมุดไดอะรีติดของรักของหวง พกในกระเป๋าสตางค์ แลกกับเพื่อน ๆ (และคนที่แอบชอบ) การวางองค์ประกอบชีวิตในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงมีความหมายต่อความทรงจำยาวนาน

บ่อยครั้งสติกเกอร์แผ่นจิ๋วยังทำหน้าที่เป็นสื่อสร้างสัมพันธ์ให้ใครบางคน