Image
Image
90s is back!
เรื่อง : ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ทุกวันนี้หากนึกอยากดูหนังสักเรื่องนั้นเหมือนจะเป็นสิ่งแสนสะดวกง่ายดาย ใครที่ใช้บริการสตรีมมิงเมื่อกดใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องเล่นสื่อดิจิทัลก็มีหนังให้ดูนับพันเรื่อง เลือกเปิดฟรีทีวีก็มีช่องฉายหนังและซีรีส์ให้ชมเกือบตลอดทั้งวัน หรืออยากจะดูหนังนอกบ้านก็มีหนังหลายเรื่องให้เราเลือกซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชันแล้วเข้าชมในโรงที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นไม่มีในยุค 90s แต่อย่างใด...

ย้อนไปเมื่อครั้งอดีต วันที่ความบันเทิงจากสื่อต่าง ๆ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านยังไม่มีทางเลือกให้มากนัก...ย่านพื้นที่ชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ มักมีโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่พร้อมป้ายโฆษณาขนาดใหญ่วาดด้วยมือ ดึงดูดสายตาให้สนใจชมหนังหลากรส รวมถึงรถแห่ประชาสัมพันธ์จูงใจให้คนอยากดูหนังโปรแกรมใหม่ ๆ อีกด้วย

มิหนำซ้ำเราอาจยังตื่นเต้นกับเพียงแค่โฆษณากรอบเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์ที่เขียนคำโปรยดึงดูด และหากอยากรู้ว่าหนังเรื่องไหนได้รับความสนใจ พื้นที่ด้านล่างของหน้าดังกล่าวจะมีรอบฉายของโรงหนังแต่ละแห่งให้ลุ้นรอบฉายทั้งที่อาจไม่ได้มีโอกาสดูเลยก็มี

ที่โรงภาพยนตร์ มักตกแต่งโอ่โถง มีบันไดขนาดใหญ่ ผนังมีโชว์การ์ดและโปสเตอร์โปรแกรมหนังเรื่องถัดไปในตู้โชว์ตัดกับผ้ากำมะหยี่สีแดงเข้ม ไม่ไกลจากทางเข้าชมคือซุ้มขายป็อปคอร์น ขนมขบเคี้ยว และน้ำอัดลม

เมื่อเข้าโรงหนัง...ที่นั่งเบาะหนังนุ่มสบาย เครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ และทันทีที่หนังฉายผ่านจอสีขาวกลางความมืด เราก็ราวกับเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่งที่คนดูพร้อมจะหัวเราะไปกับความตลกขบขัน นิ่งงันไปกับเรื่องสะเทือนใจ ส่งเสียงกรี๊ดไปกับเหตุการณ์ตื่นเต้นที่ในชีวิตจริงไม่เคยประสบพบเจอ

โรงหนังจึงนับเป็นพื้นที่ปลดปล่อยอารมณ์ของคนทุกเพศทุกวัย เป็นสถานความบันเทิงราคาถูกของคนในยุคนั้น ที่มีราคาค่าเข้าชมเพียง ๒๕-๔๐ บาท

หลายคนมีความทรงจำในทุกช่วงเวลา ทั้งบรรยากาศคึกคัก วัยเด็กที่โรงเรียนพามาชมหนังรอบพิเศษในช่วงกลางวัน และการเตร็ดเตร่ของกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงานยามค่ำคืนกับการดูหนังรอบดึก เห็นป้ายไฟสีเหลืองระยิบระยับประดับประดาตัดกับแสงไฟสีแดงของชื่อหนัง ซึ่งอาจล่วงเลยการฉายไปถึงเที่ยงคืนในรอบมิดไนต์…

นี่คือเรื่องราวของหนังยุค 90s ที่มีทั้งช่วงที่ได้รับความนิยมช่วงค่อย ๆ จืดจางหาย และการมาของสิ่งใหม่ที่รุ่งโรจน์แทนที่
Image
ภาพ : หอสมุดแห่งชาติ
ยุคทอง
หนังฮ่องกง

ในช่วงพฤศจิกายน ๒๕๑๙ รัฐบาลไทยยุค ธานินทร์ กรัยวิเชียร ประกาศขึ้นภาษีการนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์จากต่างประเทศ จากเมตรละ ๒.๒๐ บาท เป็น ๓๐ บาท จนผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ทั้งเจ็ดบริษัทของสหรัฐอเมริกาโต้ตอบด้วยการบอยคอตไม่นำหนังเข้าฉายจนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๓ นี่คือปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดภาพยนตร์ในยุคนั้น ไม่ได้ถูกครองพื้นที่ด้วยหนังฮอลลีวูดเหมือนกับอีกหลายประเทศ

แม้ผ่านพ้นช่วงการบอยคอตจากค่ายหนังฮอลลีวูดไปแล้ว แต่ภาษีฟิล์มของหนังจากอเมริกาก็ยังคิดในราคาสูง ทำให้มีการคัดหนังที่มาลงโปรแกรมฉายน้อย กลายเป็นเวลาทองของหนังอเมริกาจากค่ายเล็กและหนังจากประเทศอื่นที่ยังมีพื้นที่การฉายไม่ได้น้อยหน้ากัน

ช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นยุคทองของหนังจากเกาะฮ่องกง ซึ่งเริ่มเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชียตั้งแต่ยุค 80s หนังถูกผลิตออกมามาก มีหลากหลายแนวให้คนดูเลือกชม ทั้งหนังกำลังภายใน รัก ตลก แอ็กชัน สยองขวัญ ฯลฯ จนชื่อของดาราอย่าง เฉินหลง โจวเหวินฟะ หลิวเต๋อหัว โจวซิงฉือ หลินชิงเสีย หวังจู่เสียน ฯลฯ เป็นที่รู้จักสำหรับคอหนังบ้านเราเป็นอย่างดี และบ้านเรายังมีนิตยสารที่นำเสนอข่าวสาร เฉพาะวงการบันเทิงฮ่องกงอีกด้วย

จุดเด่นของหนังฮ่องกงยุคนั้นมีทั้งการเริ่มใช้เทคนิคพิเศษเข้ามาในหนังกำลังภายใน คิวบู๊อันน่าทึ่ง บทหักเหลี่ยมเฉือนคม และเน้นย้ำคุณธรรมน้ำมิตรในโลกของแก๊งอันธพาล โดยยังรวมถึงสีสันจากการเป็นหนังพากย์ไทย สอดแทรกมุกตลกที่คนดูบ้านเราเข้าใจได้ง่ายกว่าต้นฉบับ รวมถึงการคิดชื่อไทยที่ดึงดูดสร้างเอกลักษณ์ บางเรื่องใช้คำเดิมประกอบการตั้งชื่อหนังที่มีตัวเอกเดิมเพื่อให้คนจดจำได้ทันทีว่านักแสดงคนไหนเล่น เช่น โจวซิงฉือ ใช้คำว่า “คนเล็ก” เช่น คนเล็กนักเรียนโต (ค.ศ. ๑๙๙๑), คนเล็กกุ๊กเทวดา (ค.ศ. ๑๙๙๖), คนเล็กไม่เกรงใจนรก (ค.ศ. ๑๙๙๙) ฯลฯ หรือ เฉินหลง ใช้คำว่า “ฟัด” เช่น ใหญ่ฟัดใหญ่ (ค.ศ. ๑๙๙๐), ใหญ่ฟัดโลก (ค.ศ. ๑๙๙๕), ใหญ่เต็มฟัด (ค.ศ. ๑๙๙๘) เป็นต้น

หนึ่งในผลงานที่นับเป็นภาพจำของหนังฮ่องกงยุคนี้คือ ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ (A Moment of Romance) ในปี ๒๕๓๓  เรื่องราวความรักแสนรันทดระหว่างหนุ่มแก๊งอันธพาลกับลูกสาวเศรษฐี ทั้งที่เริ่มต้นเป็นเพียงหนังที่ทางค่ายนนทนันท์ซื้อมาฉายคั่นโปรแกรมก่อนหนังฮ่องกงฟอร์มใหญ่กว่า แต่กลับสร้างความประทับใจให้คนดู ไม่ว่าจะเป็นเพลงประกอบบุคลิกผมแสกกลาง เครื่องแต่งกายเสื้อแจ็กเกตหนังกับแว่นกันแดดเรย์แบน มอเตอร์ไซค์ซูซูกิของอาหวอตัวเอกของเรื่องกลายเป็นภาพจำและแฟชั่นที่วัยรุ่นไทยเลียนแบบ จนหนังเรื่องนี้ต้องนำกลับมาฉายอีกครั้งในปี ๒๕๓๔

ทั้งนี้ค่ายนนทนันท์ยังโฆษณาว่าการฉายรอบที่ ๒ นั้น หนังทำรายได้ ๑๗ ล้านบาท ลบสถิติภาพยนตร์จีนทุกเรื่องที่เคยฉายในไทย สถิติยังบันทึกไว้อีกด้วยว่ามีแฟนภาพยนตร์สร้างประวัติการณ์ชมภาพยนตร์เรื่องนี้คนเดียวถึง ๓๐ รอบ
Image
กระโปรงบาน
ขาสั้น

“กับเธอ กับฉัน กับวัยมันส์ ๆ ของเด็กขาสั้น กระโปรงบาน พวกเราไปมันส์ด้วยกัน O.K. นะ !”

“ถ้าคุณดูหนังเรื่องนี้ คุณจะไม่มีอาการเม้ง, อะเฟรด, ชึ่ลมึล สักกะติ๊ดนึง”

“อยากรู้มั้ย ‘สบิ๊วบิ่ว’ แปลว่าอะไร ถ้าอยากรู้นะ จะบอกให้”

บางส่วนจากคำในโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์เรื่อง กระโปรงบานขาสั้น (ปี ๒๕๓๖)
ยุค 90s คือยุคเปลี่ยนผ่านจากหนังรักสำหรับคนวัยทำงานไปสู่การผลิตงานสำหรับวัยเรียน ต่อยอดจากความสำเร็จหนังแนวนี้ของผู้กำกับภาพยนตร์ “ศุภักษร” ในช่วงปลายยุค 80s จนกลายเป็นกลุ่มก้อนหนังที่เรียกว่ายุคหนังกระโปรงบานขาสั้นเนื่องจากเน้นผู้ชมที่อยู่ในระดับมัธยมศึกษา

หนังแนวเอาใจวัยรุ่นถูกผลิตมาให้ชมตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (ปี ๒๕๓๔), อนึ่งคิดถึงพอสังเขป (ปี ๒๕๓๕), กระโปรงบานขาสั้น (ปี ๒๕๓๖), ตุ๊ ต๊ะ ต๋อม แต๋ม สุภาพบุรุษตัว ต (ปี ๒๕๓๗), แบบว่าโลกนี้มีน้ำเต้าหู้และครูระเบียบ (ปี ๒๕๓๗), โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (ปี ๒๕๓๘), จักรยานสีแดง (ปี ๒๕๔๐) ฯลฯ ซึ่งยังทำให้เป็นยุคที่ปั้นดาราวัยรุ่นโลดแล่นในวงการบันเทิงสร้างผลงานอื่น ๆ ทั้งงานเพลง โฆษณา และละครโทรทัศน์อีกหลายเรื่อง ตั้งแต่มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์, เต๋า-สมชาย เข็มกลัด, หนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์, ธรรม์ โทณะวณิก, เล็ก-ศรัณย์ สาครสิน, ต่าย-สายธาร นิยมการณ์, ธัญญ่า-ธัญญาเรศ รามณรงค์ ฯลฯ

แม้จะถูกมองว่าเป็นงานเบาสมอง ขายมุกตลกและดาราเป็นหลัก หากงานกลุ่มนี้ก็มีผู้สร้างนำเสนอเรื่องราวสะท้อนปัญหาสังคมสอดแทรกลงไป หลายเรื่องได้รับการตอบรับที่ดี เช่น เวลาในขวดแก้ว (ปี ๒๕๓๔), เร็วกว่าใจไกลเกินฝัน (ปี ๒๕๓๕), เสียดาย (ปี ๒๕๓๗)
Image
บุญชู 
หนุ่มคนซื่อ

ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายของหนังไทยยุคนั้นคือวัยรุ่น หนังที่เสมือนเป็นกึ่ง ๆ ภาคตรงข้าม แต่กลับประสบความสำเร็จสร้างออกมาหลายภาคติดต่อกันคือหนังชุด “บุญชู” จากบริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด

บุญชู บ้านโข้ง เด็กหนุ่มจากสุพรรณบุรีที่เข้ามาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ มีบุคลิกเป็นคนซื่อ พูดเหน่อ ทำให้เขาต้องเผชิญกับการถูกหลอกและเอารัดเอาเปรียบ ผ่านความผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง แต่ยังคงมองโลกในแง่ดี เป็นที่รักของหลายคน และได้มิตรภาพจากกลุ่มเพื่อน ๆ เอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง จนเรียนจบเข้าสู่วัยทำงาน และสร้างครอบครัว

ตั้งแต่ภาคแรก บุญชู ผู้น่ารัก (ปี ๒๕๓๑) จนถึงภาคสุดท้าย บุญชู ๘ เพื่อเธอ (ปี ๒๕๓๘) โดยเฉพาะ บุญชู ๗ รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ (ปี ๒๕๓๖) ที่ทำรายได้สูงถึง ๓๒ ล้านบาท สร้างชื่อให้ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์มือทองในยุคนั้น

บทบาทการแสดงในหนังชุดนี้กลายเป็นภาพจำยุคหนึ่งของสันติสุข พรหมศิริ  นอกจากนี้ยังอาจนับได้ว่าเขาและจินตหรา สุขพัฒน์ คือดาราคู่ขวัญทำเงินคู่สุดท้ายในจอเงิน

ความเป็นหนังตลกเบาสมองและจังหวะปล่อยมุกที่แม่นยำของทีมนักแสดงคือปัจจัยที่ทำให้หนังชุดนี้ประสบความสำเร็จ

อาจกล่าวได้ว่าหนังไทยจำนวนมากในยุค 90s ทั้งหนังกลุ่มกระโปรงบานขาสั้น บุญชู และหนังตลกเบาสมองอีกหลายเรื่องกลายเป็นภาพจำ เช่น ฉลุย โครงการ ๒ (ปี ๒๕๓๓), โก๊ะจ๋า ป่านะโก๊ะ (ปี ๒๕๓๔), วิ่งหน้าตั้งก็ยังรักเธอ (ปี ๒๕๓๕), สติแตก สุดขั้วโลก (ปี ๒๕๓๘) ฯลฯ หลายเรื่องทำเงินมากกว่า ๑๐ ล้านบาท

แต่แม้ว่ายุค 90s จะยังมีการสร้างหนังอีกหลากหลายแนวก็ไม่ได้รับประกันว่าจะทำเงินเช่นเดียวกับหนังกลุ่มนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนักของวงการหนังไทยที่เริ่มไม่ได้รับความนิยมเหมือนก่อน ดังเช่นบทสัมภาษณ์สั้น ๆ ของ สรพงษ์ ชาตรี พระเอกหนังไทยชื่อดังในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๖ ว่า

“ผมเองก็ไม่รู้ว่าหนังไทยมันจะกลับมาคึกคักอีกเมื่อไหร่ ก็ต้องรอดูกันต่อไปอย่างนี้แหละ  สำหรับส่วนตัวผมแล้วจะให้ไปรับเล่นหนังวัยรุ่นคงไม่ได้หรอกครับ เรามันเลยวัยแล้วคงจะรับเล่นเฉพาะหนังที่มีคุณภาพเท่านั้น”
Image
Image
การบุกของฮอลลีวูด
และมัลติเพล็กซ์

“I'm the king of the world !”

แจ็ก ดอว์สัน จากภาพยนตร์ Titanic (ค.ศ. ๑๙๙๗)

...แล้วก็มาถึงวันที่หนังฮอลลีวูดกลายเป็น king of the world อย่างไม่มีอะไรต้านอยู่

ความโรยราของโรงภาพยนตร์ยุคเก่า รวมถึงปัญหาของโรงแบบใหม่อย่างมินิเทียเตอร์ที่เริ่มเปิดแทนโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ตามตลาดและห้างสรรพสินค้าที่มักขาดระบบความปลอดภัยที่ดีทำให้เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง เริ่มปรากฏชัดเมื่อสื่อวิดีโอได้รับความนิยม แม้ภาพจากม้วนวิดีโอเหล่านั้นจะไม่ได้คมชัด หากก็รับชมหนังที่บ้านได้ เกิดร้านเช่าวิดีโอในละแวกต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีหนังให้เลือกชมมากกว่าในโรงหนัง

แล้วยุค 90s ก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น

ปี ๒๕๓๖ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน เจรจาด้านการค้ากับไทย โดยยกประเด็นการเก็บภาษีนำเข้าภาพยนตร์ที่มีราคาสูงของไทยเมื่อเทียบกับในภูมิภาคเอเชีย จนทางรัฐบาลไทยตัดสินใจลดภาษีฟิล์มจากเมตรละ ๓๐ บาท เหลือเพียงเมตรละ ๑๐ บาท ในเดือนตุลาคมปีนั้น

ต่อมา ๑๗ มิถุนายน ๒๕๓๗ มีการเปิดตัวโรงภาพยนตร์ อีจีวี ที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์ปาร์ค บางแค ซึ่งนับเป็นโรงหนังมัลติเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้การชมภาพยนตร์ ทั้งการตกแต่งโรงอย่างมีระดับระบบภาพและเสียงที่คมชัด ก่อนจะขยายสาขาอย่างรวดเร็วทุกภูมิภาค

หากพิจารณาจากในจังหวัดใหญ่อื่น ๆ ก็จะเริ่มพบการปรับตัวสร้างโรงภาพยนตร์ในลักษณะนี้เช่นกัน ที่แม้อาจจะไม่ต้องตรงมาตรฐานของโรงมัลติเพล็กซ์ แต่ก็ค่อย ๆ มาแทนที่โรงยุคเก่ามากขึ้น เช่น โรงภาพยนตร์เนวาด้า จังหวัดอุบลราชธานี

พร้อมกันกับที่หนังฮอลลีวูดสร้างกระแสความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ  มี Jurassic Park (ค.ศ. ๑๙๙๓) เป็นหนังที่สร้างความตื่นตาตื่นใจในสมัยนั้นจากการเนรมิตสัตว์โลกล้านปีอย่างไดโนเสาร์ให้กลับมามีชีวิตสมจริง จนทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์กว่า ๗๐ ล้านบาท
Image
Image
การนำเข้าหนังฮอลลีวูดเพิ่มมากขึ้นจากราคาภาษีที่ลดลง ทั้งยังมีข้อได้เปรียบจากการเป็นภาพยนตร์ที่ทุนสร้างสูงกว่าประเทศอื่น เต็มไปด้วยเทคนิคพิเศษด้านภาพและเสียง จึงมีหนังเหล่านี้ทำเงินอย่างต่อเนื่องหลังการนำเข้ามาฉายชนโรงพร้อมกับที่สหรัฐอเมริกามากขึ้น เช่น Independence Day (ค.ศ. ๑๙๙๖), Anaconda (ค.ศ. ๑๙๙๗), Armageddon (ค.ศ. ๑๙๙๘) ฯลฯ 

ขณะที่หนังไทย-หนังฮ่องกงก็ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา

โดยเฉพาะกับภาพยนตร์ไทยในขณะนั้นที่ส่วนใหญ่ยังถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มม. และเป็นการพากย์เสียงทับ จึงถูกเปรียบเทียบด้านคุณภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนังที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าสัญญาณความนิยมของหนังฮอลลีวูด พุ่งมาถึงจุดสูงสุดคือ Titanic (ค.ศ. ๑๙๙๗) ที่สร้างจากโศกนาฏกรรมเรือสำราญ อาร์เอ็มเอส ไททานิก ล่มใน ค.ศ. ๑๙๑๒ พร้อม ๆ ไปกับเรื่องราวความรักต่างชนชั้นของแจ็คและโรส ซึ่งทำรายได้กว่า ๒๑๓ ล้านบาท จนกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลในขณะนั้นสวนทางกับหนังไทยที่สร้างน้อยลงเรื่อย ๆ โดยในปี ๒๕๔๓ มีการผลิตหนังออกมาเพียงเก้าเรื่อง กอปรกับการเสียชีวิตของนักแสดงวัยรุ่นชื่อดังในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันอย่าง ธรรม์ โทณะวณิิก, จอห์น ดีแลน และ ศรัณย์ สาครสิน จึงเสมือนเป็นการปิดฉากหนังไทยยุค 90s ไปโดยปริยาย

หากในช่วงท้ายของยุคนี้ หนังไทยก็มีความเปลี่ยนแปลงที่กลายเป็นแรงกระเพื่อมให้วงการอีกครั้งด้วย ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง (ปี ๒๕๔๐) และ นางนาก (ปี ๒๕๔๒) จากบริษัทไทเอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร และทีมงานหน้าใหม่ที่เคยทำงานวงการโฆษณา สร้างสรรค์ผลงานที่มีความแปลกแตกต่างจากหนังไทยในยุคนั้น

มองย้อนกลับไปที่โรงภาพยนตร์โรงใหญ่หลายแห่งนั้น แม้ไม่ใช่พื้นที่อันชวนอภิรมย์นัก ทั้งกลิ่นบุหรี่ กลิ่นเหม็นอับจนฝังแน่นตามกาลเวลา หรือความเงียบเหงาอันแสนเศร้าในช่วงท้ายในโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีคนดู...ยิ่งเมื่อเทียบกับความโอ่อ่า สวยสะอาดตาของโรงแบบมัลติเพล็กซ์ในห้างสรรพสินค้าอันเย็นสบาย ภาพที่ฉายเองหรือก็ไม่ได้มีความคมชัด แตกพร่าเป็นเส้น ๆ จากฟิล์มที่เกิดริ้วรอยจากการฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เสียงจากลำโพงนั้นหรือก็อาจดังติด ๆ ดับ ๆ ตามกาลเวลา เช่นเดียวกับภาพไร้ความคมชัดของวิดีโอจากร้านเช่าละแวกบ้าน...แต่มันกลับเป็นอดีตอันรื่นรมย์เสมอเมื่อหวนนึกถึง
เพราะความสุขและภาพจำบางอย่างก็ไม่อาจสัมผัสได้จากปัจจุบันและในชีวิตจริง...
Image
ขอขอบคุณ
โปสเตอร์หนังจาก Win Poster

อ้างอิง
ธนาทิพ ฉัตรภูติ. (๒๕๔๗). ตำนานโรงหนัง. กรุงเทพฯ : เวลาดี. มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์. The Darkest Age of Hollywood Movie in Thailand. Filmax. ๔(๕๐), น. ๑๐๕-๑๒๓.

“รอหนังไทยเฟื่อง ‘สรพงศ์’ ฝันค้าง”. ไทยรัฐ. ๕ กันยายน ๒๕๓๖, น. ๒๒.

“อู๋ม่งต๊ะ รับตุ๊กตาทอง ‘นนทนันท์’ ฉลองฉาย ‘ผู้หญิงข้าฯ’ ใหม่อีกครั้ง”. ไทยรัฐ. ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๔, น. ๒๒.

“อวตาร” ทำลายสถิติหนังเทศ ทำรายได้สูงสุดในเมืองไทย. (๒๕๕๓). สืบค้นจาก https://www.ryt9.com/s/prg/784169