Image
90s is back!
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ถ้าไม่นับความสัมพันธ์เด็กแฝดและรักแรกประสาวัยรุ่น เธอกับฉันกับฉัน น่าสนใจตรงบันทึกกรุงเทพฯ ควบคู่วิถีอีสานของชาวชุมชนริมน้ำโขง นครพนม ปี ๒๕๔๒ ช่วงที่ทั่วโลกต่างพูดถึง “Y2K” ตามข่าวสารผ่านโทรทัศน์ อ่านหนังสือทำนาย แล้วหาวิธีป้องกันตามข่าวลือ สอดแทรกวิถีประจำวันของผู้คนผ่าน gadget ประดามีสะท้อนยุคเริ่มไฮเทค 

วันวานของพวกเธอก็เลยเกี่ยวข้องกับพวกฉันทำนองนี้...

Image
Image
Image
Image
Image
Image
เด็กเมือง 90s
ภาพยนตร์เปิดเรื่องด้วยไลฟ์สไตล์ของเด็กเมืองยุค 90s

วันหยุดสะพายเป้ Outdoor ไปห้างสรรพสินค้า กินบุฟเฟต์บาร์บีคิวปิ้งย่างสัญชาติญี่ปุ่นที่ร้าน DAIDOMON ไทยเริ่มมีสาขาที่สยามสแควร์ซอย ๓ กับซอย ๕ แล้วปี ๒๕๓๒ ก็เพิ่มสาขาเอกมัยและเดอะมอลล์ งามวงศ์วานในปีถัด ๆ กันมาอิ่มแล้วดูภาพยนตร์ นางนาก นำแสดงโดย ทราย เจริญปุระ และ วินัย ไกรบุตร ที่ฉายปี ๒๕๔๒ โกยรายได้ ๑๔๙.๖ ล้านบาท  90s เป็นยุคที่หนังไทยเฟื่องฟูสุดขีด

“มันเป็นหนังที่เราใส่ความชอบและประสบการณ์ที่เคยร่วมในวัยเด็กของเราลงไป”

วรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ แฝดหญิง-ผู้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์เปรยแนวคิดในวันแถลงข่าวเปิดตัวภาพยนตร์ที่ตึก GMM Grammy ด้วยเหตุนั้นเนื้อหาจึงแฝงรายละเอียดกุ๊กกิ๊กจากมุมมองของเด็กสาว อย่างบรรยากาศก่อนปิดเทอม ที่นอกจากนักเรียนสอบตกในแต่ละวิชาจะได้รับโอกาสสอบซ่อม ยังเป็นช่วงเวลาเผยความในใจแก่คนที่แอบชอบก่อนจะไม่เจอหน้ากันอีกครึ่งเดือน นับเดือน

“อะ...มี พี่เอามาให้ครับ”

เห็นสาวรุ่นน้องที่หมายตาเดินผ่านสนามกีฬา หนุ่มรุ่นพี่ก็รีบไปหยิบ “ขวดโหลใส่อมยิ้ม” ส่งให้ ชวนอมยิ้มตามเมื่อนึกย้อนกลับยุค 90s ที่วัยรุ่นฮิตบอกความรู้สึกกันด้วยของขวัญในโหลแก้วอย่างดาวกระดาษ นกกระเรียนพับ ดอกไม้แห้ง ฯลฯ ทั้งที่ทำด้วยมือและซื้อด้วยใจจากร้านกิฟต์ช็อป บ้างแนบไปกับ “บัตรจีบ” “บัตรขอเป็นเพื่อน” ฯลฯ ไอเท็มของคนขี้อายที่ไม่กล้าพูด แต่อยากสารภาพความในใจ
Image
ระหว่างวันก็หยิบ “ทามาก็อตจิ” เอเลียนจิ๋วที่กำเนิดจากไข่ใบเล็กมาเล่นแก้เหงา

เป็นของเล่นพกพารูปทรงและขนาดเท่าฟองไข่ไก่ที่บริษัทบันไดในประเทศญี่ปุ่นผลิต-จำหน่ายครั้งแรกปี ๒๕๓๙ ฮิตในหมู่เด็กหญิงอย่างเร็วช่วงปลาย 90s (ปีแรกขายได้ ๔ แสนเครื่อง ปีถัดมาเพิ่มเป็น ๑๐ ล้านเครื่อง ส่งให้ปีนั้น อากิ ไมตะ กับ อากิฮิโระ โยโกอิ ผู้คิดค้น ได้รางวัล Ig Nobel Prize สาขาเศรษฐศาสตร์) ความสุขอยู่ตรงผู้เล่นเฝ้าดูว่าสัตว์มีชีวิตอย่างไรผ่านระบบวัดความหิว วัดความสุข วัดการฝึกเพื่อประเมินสุขภาพกาย-ใจ โดยมีด่านให้ผู้เล่นป้อนอาหาร เล่นเกมกับสัตว์ หรือกดตัวเลือก “ดุ” สัตว์บ้างเพื่ออบรม ถ้าดูแลดีทามาก็อตจิจะโตเต็มวัย ฉลาด มีความสุข ถ้าละเลยสัตว์เลี้ยงจะป่วยให้ต้องคอยป้อนยาหรือตาย

ในไทยเริ่มฮิตปี ๒๕๔๐ ไล่ตามเพจเจอร์ นาฬิกา G-Shock และ Baby-G เด็กสาวที่พกทามาก็อตจิห้อยกระเป๋านักเรียนยิ่งดูป็อป แลกกับการตื่นเต้นทุกครั้งที่มันร้องหิวข้าวในชั่วโมงเรียน

แม้ เธอกับฉันกับฉัน ไม่ได้บอกว่าเด็ก ๆ อยู่โรงเรียนอะไร แต่เดาได้ว่าตั้งอยู่เส้นทางผ่านของรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทหรือไม่ก็สายสีลมที่เพิ่งสร้างเสร็จปี ๒๕๔๒ ถือเป็นรถไฟฟ้ายกระดับสายแรกของไทย

จากประโยคของ “ยู” ที่พูดกับพ่อแม่ “ที่นี่มีรถไฟฟ้าแล้ว หนูอยากนั่งรถไฟฟ้าไปโรงเรียน” 
Image
บ้านนอก
90s

เราไม่อาจย้อนชีวิตสู่อดีตได้จริง แต่จัดการได้ด้วยจินตนาการสร้างสรรค์

“หนังเรื่องนี้มีความกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ถ้าทำในกรุงเทพฯ คงยาก โชคดีที่เมืองนครพนมเหมือนหยุดเวลาไว้ ยังมีสถาปัตยกรรมแบบเก่าที่ผสมเวียดนาม จีน พื้นเมือง พอเซตให้เป็น ค.ศ. ๑๙๙๙ ทุกซีนจึงยิ่งดูมีชีวิต”

วรรณแวว-แวววรรณ สองผู้กำกับแฝดผลัดกันเล่าผลัดกันเสริมเบื้องหลัง

กึ่งเก่าที่ว่าหมายรวมถึงเสน่ห์เสียงพิณ-เครื่องดนตรีอีสานคล้ายกีตาร์ขนาดเล็ก แง่การตลาดน่าจะคว้าใจผู้ชมวัยรุ่นให้ตื่นตางานภาพย้อนยุค บรรยากาศอบอุ่นของทุ่งนา ชุมชนริมน้ำโขง พายเรือในบึงบัว กินไส้กรอกอีสาน หัดขี่มอเตอร์ไซค์ เดตแรกที่งานวัด ฯลฯ ผู้ใหญ่ได้ขบคิดกับสารที่ซ่อนในหนังผลพวงคือรู้สึกอยากตามหาไอเท็มแต่ละฉากซึ่งอาจซุกอยู่มุมใดของบ้านออกมาปัดฝุ่นใช้งาน อย่างนิตยสารวัยรุ่นยุคทองของวงการบันเทิงที่แฟนคลับคอยว่าแต่ละเดือนไอดอลที่ชอบจะขึ้นปกเล่มไหน ใส่เสื้อผ้าถ่ายแฟชั่นอย่างไร สัมภาษณ์เรื่องอะไร ฯลฯ ยังชวนคิดถึงช่วงเปิดเทปคาสเซ็ตจากวิทยุ National RXFM15 สีแดง โดยเฉพาะเพลงฮิต “ผ้าเช็ดหน้า” ของเจ้าแม่สายเดี่ยว โบ-จอยซ์ ไทรอัมพ์ส คิงดอม

“ถึงหนูจะเกิดไม่ทันสมัยที่เพลงดัง แต่ยุคนี้ก็ยังแมสอยู่ พี่โบพี่จ๊อยซ์ยังสวยเหมือนในเอ็มวีเป๊ะเลย”

ใบปอ-ธิติยา จิระพรศิลป์ “ยู-มี” แฝดผู้สมมุติตนเป็นศิลปินดูโอ คนหนึ่งคือโบอีกคนเป็นจอยซ์เช่นเดียวกับเด็กสาวยุคนั้น คิดไม่ต่างกับโทนี่-อันโทนี่ บุยเซอเรท์ รับบท “หมาก” รักแรกของแฝด

“ผมรู้จักเพลง ‘ผ้าเช็ดหน้า’ เพราะเคยฟังกับแม่ เขาเป็น FC พี่โบพี่จอยซ์ ผมชอบเนื้อหาเพลงมาก ๆ มันเป็นการจีบกันในแบบที่วัยรุ่นสมัยนี้เขาไม่ใช้ แต่ก็เป็นมุกความรักที่โรแมนติกน่าเอาไปใช้ดีนะ”
Image
Image
ปี ๒๕๔๒ รายการเพลงและเวทีคอนเสิร์ตต้องปรากฏไทรอัมพ์ส คิงดอม พร้อมสไตล์การแต่งตัวที่ขายความน่ารักปนเซ็กซี่ เป็นแฟชั่นที่หมู่เด็กสยามในกรุงและวัยรุ่นต่างจังหวัดผู้ตามกระแสต้องเลียนแบบตั้งแต่ทรงผมจดรองเท้าส้นตึกแนว
สปอร์ตี้ราวหลุดจากนิตยสารคาวาอี้ของวัยรุ่นญี่ปุ่นย่านฮาราจูกุ

“ปลื้มมากเลยที่ เธอกับฉันกับฉัน เลือกเพลงนี้มาใช้ประกอบภาพยนตร์ ทำให้เรารู้สึกว่าเพลงมันยังทำหน้าที่ของมันอยู่มันยังมีชีวิตอยู่ และทำให้เด็ก ๆ ในเรื่องมีความสุข”

โบ-สุรัตนาวี สุวิพร ศิลปินผู้นำแฟชั่นสายเดี่ยว-กางเกงขาสั้น สะท้อนความเห็นร่วมกับจอยซ์-กรภัสสรณ์ รัตนเมธานนท์ ศิลปินผู้นำแฟชั่นเกาะอก-กระโปรงยาว

“ชอบที่มีการคัฟเวอร์เพลงนี้ใหม่ ใช้ภาษาอีสานเข้าไปแรปในบางท่อนและออกมาน่ารักมาก ชาวอีสานจะได้นำท่อนนี้ไปร้องกันอย่างสนุกสนาน”

และทันทีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าโรง ชาวกรุงส่วนหนึ่งจึงได้เข้าใจว่าสภาพสังคมของต่างจังหวัดเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนเป็นอย่างไร…เสน่ห์บ้านนอกไม่จำเป็นต้องตอกย้ำแต่ความโลว์เทคอย่างเดียว
ฟองสบู่แตก 
สาแหรกขาด

เด็กมักร้องไห้ในสิ่งที่อยากได้ 
ผู้ใหญ่มักร้องไห้ในสิ่งที่เสียไป

เธอกับฉันกับฉัน ไม่ได้ย้อนถึงปี ๒๕๔๐ แต่คนที่ทัน “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ย่อมเชื่อมโยงเสียงทะเลาะกันของพ่อแม่ ประกอบกับซีนที่พ่อลูกเล่นกันอย่างมีความสุขแล้วถูกกระตุกด้วยเสียงกดกริ่ง-ตะโกนทวงหนี้จากรั้วบ้าน พ่อให้ลูกรีบปิดม่าน ปิดพัดลม ปิดไฟ ออกไปโกหกว่าพ่อไปต่างจังหวัด แม่โกรธพ่อมาก 

จะไม่ลืมที่เรามีกันและกันในวันนี้ จะไม่ลืมเวลาความสุขที่เราเคยร่วมมี ต่อจากนี้ไม่ว่าชีวิตจะพบใครคนไหน แต่ว่าฉันจะมีเธออยู่เสมอในหัวใจ จะเก็บไว้...

เปิดเพลง (“กันและกัน”-ไทรอัมพ์ส คิงดอม) ให้ดังกลบเสียงทะเลาะของพ่อแม่คือวิธีที่เด็กแฝดเลือก

“ตั้งแต่อ่านบทก็หลงรัก ไม่เจอมู้ดแบบนี้นานมากแล้ว เป็นหนังรักที่ไม่ใช่แค่เรื่องของวัยรุ่นกุ๊กกิ๊ก แต่มีบรรยากาศละเมียดละไมหลากหลายแนวในตัวเอง และมีความเข้มข้นของสัมพันธภาพครอบครัว”

โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล เผยความรู้สึกต่อภาพยนตร์ที่ตนรับเป็นผู้อำนวยการสร้าง

ขณะที่กระแต-ศุภักษร ไชยมงคล รับบทแม่ของยู-มี สะท้อนความเป็นแม่ชนชั้นรากหญ้าผู้มีพื้นเพจากต่างจังหวัดแล้วมาค้นหาชีวิต-สร้างครอบครัวที่กรุงเทพฯ กระทั่งวันที่ล้มเหลวจึงกลับบ้าน

“หลายฉากในเรื่องทำให้ ‘อิน’ หนักมากโดยเฉพาะการเป็นแม่ยุค Y2K ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตเจอวิกฤตให้แก้หลายอย่าง ไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนปิดเทอมจึงต้องพาลูก ๆ ไปฝากเลี้ยงที่บ้านคุณยาย”
องค์ประกอบต่าง ๆ ของหนังไม่ได้เสนอประเด็นหนักหน่วง แต่อารมณ์ของตัวละครล้วนประกอบขึ้นจากเศษเสี้ยวความทุกข์ของคนที่ประสบภาวะฟองสบู่แตก ภาพรวมของสถานการณ์ยุคนั้นมีข่าวรายวัน ทั้งการลาออกจากตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ไปจนการฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่าง ๆ สะท้อนการแก้ปัญหาของประชาชนตาดำ ๆ ที่เผชิญเคราะห์กรรมแบบไม่ทันตั้งตัว ผุดกระแสเปิดท้ายขายของเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจที่พังทลายเช่นเดียวกับการเกิด “ตลาดนัดคนเคยรวย” บางคนที่ขายรถขายบ้านหาเงินใช้หนี้ผ่านมาจนทุกวันนี้ก็ไม่อาจมีรถ-บ้านใหม่ได้อีกเลย

“ยู มี ป๊าขอโทษนะลูกที่ป๊ารักษาครอบครัวเราไว้ไม่ได้”

ประโยคง่าย ๆ จากตัวละครเฉือนอารมณ์ผู้เคยร่วมสังคมเวลาเดียวกันมาได้อย่างคมคาย เป็นการเสียดสีที่เข้าใจง่ายและ “เซฟ” กว่าวิพากษ์ความล้มเหลวของรัฐบาลแบบตรง ๆ 

สภาพแวดล้อมที่ประสบวัยเด็กย่อมส่งผลให้เติบโตเป็นคนบางแบบ

พ่อแม่อยู่กับลูกไปไม่ได้ตลอด แต่อ้อมกอดจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
ขวัญกระจาย
Y2K

ในวิกฤต คนที่ไม่จำนนต่อโชคชะตา
จะมองเห็นโอกาส

“ป๊ากำลังลงทุนธุรกิจใหม่แล้วนะ ขายดีแน่ ๆ เป็น ‘การ์ด Y2K’ จากจีน ใส่ในคอมพิวเตอร์จะแก้ให้ใช้งานต่อได้ ถึงจะเป็นปี ๒๐๐๐ แล้วก็เถอะ ถ้าป๊าขายได้เงินมาเยอะ ๆ จะพาพวกหนูไปทะเลกันดีไหม”

คือบทสนทนาวันที่พ่อกับลูกแฝดอยู่ห่างกันคนละจังหวัดผ่านเครื่องโทรศัพท์บ้านที่กดสปีกเกอร์โฟนเพื่อสนทนากันได้หลายคนโดยไม่ต้องยกหูโทรศัพท์
Image
เวลานั้นทั่วโลกวิตกว่าจะเกิดปัญหา Y2K และเสพข้อมูลด้วยภาวะอันสับสน สะท้อนผ่านพฤติกรรมตื่นตูมของเด็กแฝดที่เชื่อเรื่องชะตาโลก ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๐ จากคำทำนายของนอสตราดามุสที่เขียนในลักษณะโคลงกวี แม้ตีความไม่เข้าใจก็ยังวิ่งไปร้านค้าเพื่อกักตุนของกินของใช้สารพัด

“ถ้าโลกแตกขึ้นมาจริง ๆ ยูอยากทำอะไร”

“เราแค่อยากให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ขนาดแค่กินข้าวยังไม่ค่อยกินพร้อมกันสี่คนเลย”

บทสนทนาของเด็กหนุ่มสาว สะท้อนใจผู้ที่กำลังประสบชะตากรรมบีบหัวใจบางอย่างแต่ไม่อาจเลือกทางเดิน ทว่านาทีที่ไม่อาจเลี่ยง สิ่งที่เข้มแข็ง กล้าหาญ และเข้าใจโลกที่สุดกลับเป็นหัวใจเด็ก

วันที่ครอบครัวได้กินข้าวพร้อมหน้า คือวันที่พ่อแม่ตัดสินใจบอกลูกถึงสถานภาพใหม่ทางครอบครัว พ่อยื่นโทรศัพท์มือถือ Nokia 3210 ที่เพิ่งออก ค.ศ. ๑๙๙๙ หน้าจอยังเป็นขาวดำแต่คุณสมบัติล้ำเพราะไม่ต้องมีเสาอากาศนอกตัวเครื่องและมาพร้อมเกมงูสุดฮิต เป็นรุ่นที่ขายดีในประวัติศาสตร์

“มีการ์ด Y2K ด้วยนะ ยังไงปี ๒๐๐๐ ก็ใช้ได้แน่นอน จะได้เอาไว้โทร. หาป๊าบ้างเวลาอยู่กับแม่”

“ถ้าคืนนี้โลกไม่แตก ป๊าซื้ออีกเครื่องเลยนะ พวกหนูตัดสินใจแล้ว มีจะไปอยู่กับแม่ หนูจะอยู่กับป๊า”

แล้วเมื่อฝุ่นที่เปื้อนชีวิตเริ่มจางทางออกก็ปรากฏ คืนวันสิ้นปี ๒๕๔๒ เด็กแฝดพากันไปนั่งบนกำแพงริมสนามหญ้าท้ายซอยบ้านที่ชอบชวนกันไปพักใจเวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน แต่คืนนี้เพื่อรอดูพลุเคานต์ดาวน์

เอาเข้าจริงที่ฝูงชนทั่วโลกมโนภาพล้วนผ่านพ้นเที่ยงคืนด้วยดี มีบางประเทศเท่านั้นที่เกิดเทคโนโลยีติดขัดช่วงเวลาสั้นๆ วิกิพีเดียบันทึก “ปัญหาปี ๒๐๐๐” น่าสนใจหลายอย่างบริษัทเอ็นทีที โมบาย คอมมูนิเคชัน เน็ตเวิร์ก ผู้ให้บริการ
โทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของญี่ปุ่นพบว่ามือถือบางรุ่นลบข้อความใหม่ที่ได้รับแทนที่จะเป็นข้อความเก่าเนื่องจากหน่วยความจำเต็ม (โอย...เอ็นดูคนรักส่ง SMS อวยพรปีใหม่จีบกันนะ) ยังมีเรื่องของทารกคนแรกในเดนมาร์กที่เกิด ๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๐ ถูกบันทึกว่ามีอายุ ๑๐๐ ปี ! เช่นเดียวกับร้านวิดีโอในรัฐนิวยอร์กคิดค่าปรับ ๙๑,๒๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ระบุว่าเช่าเทปค้างชำระ ๑๐๐ ปี !
สิ่งที่เรียนรู้จาก เธอกับฉันกับฉัน คงไม่ใช่แค่สังคมวัยเด็กในแบบตน แต่หมายรวมถึงข้อคิดจากทัศนคติที่ดีในการรับมือภาวะอันเลวร้าย ต่อให้เวลาขยันเดินอยู่ทุกวินาทีโดยไม่สนว่าโลกจะเกิดอะไรขึ้น

๕...๔...๓...๒...๑...แฮปปี้นิวเยียร์ !