Image
กลิ่นศิลป์ 90s
ตะวัน วัตุยา
90s is back!
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ตะวัน วัตุยา ใช้เวลาช่วงปี ๒๕๓๓-๒๕๔๒ ไปกับการศึกษา-ร่างโครงชีวิตถูกผิดมากกว่าผูกติดจิตรกรรม หลายช่วงชีวิตหยาบ ๆ กลับเป็นวัตถุดิบสำคัญที่มีส่วนให้ปัจจุบันยืนเด่นในสากลจากแนวทาง pop art ที่สะท้อนสังคม ผู้คน การเมืองและเล่นกับความรู้สึกในเรื่องที่พูดยาก
Image
กลิ่นสีและกาวแป้ง
เด็กอาชีวศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนปลายยุค 90s ที่ฝันเป็นจิตรกร ลองว่าอ่านหนังสือ กลิ่นสีและกาวแป้ง ที่ปี ๒๕๓๑-๒๕๓๒ “เปี๊ยก โปสเตอร์” นำมาสร้างภาพยนตร์ให้ได้เห็นบรรยากาศนักเรียนศิลปะในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรที่รวมคนหลายประเภทไว้ ดูสนุก ๆ ตลก เท่ ๆ น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ฝันอยากเรียนที่เดียวกับตัวละคร

เวลานั้นตะวันเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป (ยกฐานะจาก “โรงเรียนศิลปศึกษา” ให้เป็นโรงเรียนเตรียมของ ม. ศิลปากร โดย ศิลป์ พีระศรี บุกเบิกนำศาสตร์ตะวันตกมาสอนจนเกิดงานศิลปะไทยสมัยใหม่)

“ช่างศิลปมีฐานะเหมือน ม. ปลาย เรียน ๓ ปีจบ ปวช. ก็หางานเป็นฝ่ายศิลป์ในองค์กรต่าง ๆ ได้ ถ้าเรียนต่ออีก ๒ ปีจบ ปวส. ก็เพิ่มทางเลือกในบริษัทดี ๆ  ส่วนคนที่จะนำวุฒิ ปวช. ไปสอบ ม. ศิลปากร จะหาที่ติว จับกลุ่มกับเพื่อนฝึกเขียนรูปหรือที่คณะจิตรกรรมฯ-ศิลปากรก็มีรุ่นพี่หาเงินเข้าคณะเปิดคอร์สติว ๑๐ วัน ดีตรงที่ราคาถูกและเราจะได้เห็นฝีมือคู่ต่อสู้ด้วย ก็พวกเด็กที่มาติวนี่ละ

“เวลานั้นที่เปิดสอนคณะวิจิตรศิลป์จะมีวิทยาลัยเพาะช่าง จุฬาฯ  ม. เชียงใหม่ แต่อันดับ ๑ ที่เด็กฝันคือคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม. ศิลปากร เพราะเป็นสถาบันที่ผลิตศิลปินมากสุด

“รุ่นที่เราเอนท์มีคนสมัครพันกว่าแล้วรับ ๔๐ คน อีก ๑๐ กว่าคนเป็นโควตาต่างจังหวัด ไม่ต้องเอนท์  การสอบเต็มไปด้วยคนที่มาแก้มือเป็นรอบที่ ๒ ที่ ๓  มีคนอยากเข้าศิลปากรมากขนาดจบ ปวช. แล้วยังเอนท์ไม่ติดก็เรียน ปวส. ไปก่อน  เรามีเพื่อนคนหนึ่งจบ ม. ๖ แล้วและพยายามสอบศิลปากรแต่ยังไม่ได้จึงสอบเข้าช่างศิลปเพื่อหาที่เรียนฆ่าเวลาแล้วพยายามเอนท์ใหม่ทุกปี กระทั่งวันที่เราเรียนศิลปากรปี ๔ เขาถึงสอบติดมาเป็นรุ่นน้องปี ๑ ใช้เวลาสอบถึง ๑๐ ครั้ง ไม่เคยหยุดเลย”
Image
“รูปสไตล์ที่เราวาดยังไม่มีใครจำกัดความ เรียกรวมไปว่าเพนติง คนไม่ชอบก็บอกว่าเลอะเทอะ กลุ่มอนุรักษนิยมบอกเป็นภาพประกอบ ไม่ใช่ art  การเล่นสีฉูดฉาดแบบ pop art ถือว่าไม่ใช่ art ในยุคนั้น”
เกียรติศิลป์
ศิลปินที่อยากแจ้งเกิดต้องสร้างประวัติด้วยรางวัล เมื่อชนะจะมีสื่อมวลชนเขียนข่าวเป็นโอกาสให้ซื้อตัดใส่กรอบเก็บใส่แฟ้มรวบรวมงานไปเสนอหอศิลป์ แต่ลือกันว่าเวทีส่วนใหญ่ผูกขาดตั้งแต่หน่วยงานที่จัด ไม่เพียงดันแนวคิดแสวงหาความเป็นไทย บันดาลใจจากศาสนา ท้องถิ่นนิยม ฯลฯ แม้เริ่มมีธุรกิจเอกชนกลุ่มสถาบันการเงินมาเพิ่มพื้นที่ แต่ก็เพียงสนับสนุนเงินให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ คณะกรรมการตัดสินก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดสรรในหมู่คนรักใคร่ ไปจนรสนิยมตัดสินรางวัลก็ไม่พ้นมอบให้ลูกศิษย์คนโปรด

“ตอนเรียนปี ๒ ปี ๓ เห็นรุ่นพี่ส่งก็ส่งบ้าง การประกวดส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นในศิลปากร แค่ยกงานจากห้องเรียนไปส่งที่ตึกหอศิลป์  สมัยนั้นมีเวทีประกวดเป็นสิบรายการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ส่ง แต่ยากที่หน้าใหม่จะได้รางวัล งานที่เขาต้องการมักมีรูปแบบ semi-abstract กึ่งนามธรรมที่ดูรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ดูทำยาก ใช้เวลาทำนาน จัดวางองค์ประกอบตามสูตร งานแบบของเราที่ไม่ได้เดินตามกรอบนั้นอย่างรูปคนเปลือย เขียนตัวหนังสือลงไป หรือเลียนแบบรูปในสื่อสิ่งพิมพ์ ถึงเวลาก็แค่เดินไปเก็บงานที่ส่งกลับคืน”
Image
ศิลปะนอกบรรทัด
คริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ ศิลปินไทยยังนิยมผลิตงาน modern แม้ศิลปินรุ่นใหม่ก็เพิ่งนิยม post-modern ขณะที่สังคมบันเทิง-โฆษณาเริ่มสนุกกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และให้ความสำคัญกับงาน conceptual มากขึ้น

“คณะจิตรกรรมฯ-ศิลปากรเพิ่งเริ่มมีจุดเปลี่ยนเมื่อมีคนได้ทุนไปเรียนอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ นำวิทยาการใหม่ ๆ มาปรับเปลี่ยนแนวทางสอนให้ลูกศิษย์ เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะที่สุดแล้วมีคนวาดรูปเก่งตั้งมากที่ไม่ได้เป็นศิลปินเพราะติดกับฝีมือวาดรูปเกินไป ซึ่งศิลปะสมัยใหม่ไม่สามารถพึ่งการวาดรูปอย่างเดียวได้ ต้องใช้ทั้งความรู้และความคิดสร้างสรรค์ เวลานั้นสังคมโลกมีงานศิลปะที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ อารมณ์ ความไม่เหมือนจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัดว่าคืออะไร คำว่า contemporary ก็เพิ่งมีหลัง ค.ศ. ๒๐๐๐ หลังจากที่ผู้คนตกผลึกแล้ว แต่ก่อนหน้าคนที่ชอบติดตามข่าวจากนิตยสารศิลปะเมืองนอกก็จะพอรับรู้แล้วว่ามันเริ่มมีกระแสใหม่เกิดขึ้น

“รูปสไตล์ที่เราวาดจึงยังไม่มีใครจำกัดความ เรียกรวมไปว่าเพนติง คนไม่ชอบก็บอกว่าเลอะเทอะ กลุ่มอนุรักษนิยมบอกเป็นภาพประกอบ ไม่ใช่ art  การเล่นสีฉูดฉาดแบบ pop art  ในยุคนี้ถือว่าไม่ใช่ art ในยุคนั้น รูปที่วาดคล้ายการ์ตูนก็ไม่ยอมรับเป็นศิลปะ ไม่ต้องพูดถึง street art เป็นสิ่งที่โดนดูถูกเลยละ”

วันที่รั้วศิลปากรและเวทีศิลปกรรมยังไม่มีบรรทัดฐานสำหรับสิ่งที่ไม่ได้รับความนิยม ศิลปินหัวขบถจึงพากันมองหาเส้นทางใหม่ เรียนแค่พอผ่านแล้วทำงานในแบบที่อยากทำ เพื่อให้เกียรติอิสระทางปัญญา
Play & Learn
จนเพลิน

ถึงค่าเทอมไม่ได้แพง แต่เด็กจิตรกรรมก็ต้องซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสี กระดาษ ผ้าใบแคนวาส ฯลฯ แม้มีหลายเกรดต่างราคาให้เลือกตามเหมาะสม แต่ก็ต้องวางแผนการใช้จ่ายให้ดี

“วัน ๆ กินอะไรก็ได้ถูก ๆ แล้วเก็บเงินซื้อสี เด็กวาดรูปเก่งหลายคนไม่เรียนเพนต์เพราะไม่มีเงิน หันไปเรียนปั้นเพราะใช้ดินฟรี ปูนก็เบิกของมหา’ลัยได้  ยุคที่วงการบันเทิงวงการโฆษณาบูม เด็กจิตรกรรมพากันไปหาเงินสนุกสนาน ช่วงเรียนปี ๒ ปี ๓ เรามีรายได้จากการทำภาพประกอบให้นิตยสาร Image ผู้หญิงวันนี้ เปรียว แพรวสุดสัปดาห์ และอีกหลายหัว เป็นยุคทองของสิ่งพิมพ์ เจ้าของธุรกิจที่ไม่อยากใช้รูปสุ่มสี่สุ่มห้าเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์จะจ้างนักวาดภาพประกอบ ให้รูปละ ๗๐๐-๑,๐๐๐ บาท  Image ให้สูงถึง ๑,๕๐๐ บาท แนวที่เราทำมีทั้งวาดการ์ตูนและงานคอลลาจ ผลงานเยอะ จนจัดนิทรรศการ Illustration Show ค.ศ. ๑๙๙๕ ที่ The Art Corner โรงละครกรุงเทพ ได้ทั้งที่ยังเรียนไม่จบเลย”
Image
นักศึกษาตกรุ่น
โชคดีที่การศึกษาภาคบังคับสาขาศิลปะยังเป็นหลักสูตร ๕ ปี ให้เก็บหน่วยกิตครบเกณฑ์ใน ๑๐ ปี

“เราใช้เวลา ๘ ปีครึ่ง เพราะดรอปเรียนอยู่สองหน ครั้งหนึ่งตอนเพื่อนขึ้นปี ๕ ไปทำตามฝันวัยเด็กที่สนใจวงการบันเทิง อยากเป็นผู้กำกับหนัง แต่มหา’ลัยไทยยังสอนแต่ทฤษฎี ที่มีโรงถ่ายมีอุปกรณ์ภาคสนามก็ ‘เทคโนฯ ลาดกระบัง’ แต่เพิ่งเปิดยังไม่เห็นความชัดเจน พอมีโอกาสเลยสมัครเป็นฝ่ายศิลป์กับรายการทีวีแห่งหนึ่งทางช่อง ๙ ทำหน้าที่จัดฉาก เตรียมอุปกรณ์มีรับจ็อบเป็นครีเอทีฟค่ายเพลงสโตนเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ให้หนังบ้าง จนเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกก็หันมาเรียนต่อ แล้วดรอปไปทำงานอีกครั้งช่วงปีที่ ๗ สอนวาดภาพสีน้ำ สีน้ำมัน อยู่ที่ Art House ตรงสยามสแควร์กับที่ Hobby House แถวพร้อมพงษ์ จนรุ่นน้องคณะโบราณคดีได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนเราในวิชาสุดท้าย เทอมแรกของปีที่ ๙

“ก่อนจบนักศึกษาต้องส่งงานชุด Terminal เพื่อขอทำวิทยานิพนธ์ คนที่เข้าเรียนปรกติอาจารย์จะบังคับให้ทำงานเป็นชุดอยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าเรียนจึงไม่มี ตัดสินใจไปอยู่บ้านคนรู้จักที่ต่างจังหวัด บังคับให้ตัวเองทำงานเร่งด่วนหกถึงเจ็ดชิ้น เป็นการวาดรูปจากแมกกาซีน เอาฟิกเกอร์จากรูปหนึ่งมาใส่กับแบ็กกราวนด์อีกรูป คล้ายงานคอลลาจที่เคยทำให้นิตยสารแต่ไม่ได้ตัดแปะจริง แค่ใช้เทคนิคคอลลาจในการเพนติง”

ที่สุดจึงได้จัดแสดงผลงานและรวมอยู่ในหนังสือนิทรรศการศิลปนิพนธ์ ๒๕๔๒ ของนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย...เป็นคนสุดท้ายของเล่มตามลำดับนักศึกษาที่เข้ามาก่อนและจบหลังสุดในรุ่นนั้น
Image
โบ-จอยซ์ ไทรอัมพ์ส คิงดอม (ออกอัลบัมแรกปี ๒๕๔๒) วาดโดยตะวัน ปี ๒๕๔๒
ผู้หญิง...วันนี้
“ผู้หญิง...วันนี้ (Today’s woman)” คือชื่อโครงการศิลปนิพนธ์ของตะวัน

CLAUDIA เป็นชื่อภาพ-วัยรุ่นสาวบนรูปสีอะคริลิกฉูดฉาด แต่งกายแฟชั่นยั่วล้อแสงนีออนเล่นกับความไม่สมจริงของโลกราตรีริมถนนในเมือง ภาพขนาด ๑๗๕ x ๑๒๕ เซนติเมตร สะท้อนพฤติกรรมที่เปิดรับค่านิยมแปลกใหม่ หากศิลปะเป็นบันทึกยุคสมัย งานชิ้นนี้ก็น่าสนใจตรงปลาย 90s สังคมฝรั่งกำลังผลิตศัพท์ “feminism” เรียกร้องให้ยอมรับความคิดความสามารถของสตรีที่สปอตไลต์ส่องไม่ถึง

ในไทยหากไม่รวมนักร้อง-นักแสดง (ที่ก็ถูกมองว่าเต้นกินรำกิน) จะจิตรกร สถาปนิก นักเขียน นักข่าว นักออกแบบ ก็ยังเป็นพื้นที่ผู้ชายมากกว่า แม้แต่ “โครงการศิลปินแห่งชาติ” ที่มอบรางวัลแก่ศิลปินทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ ช่วงปี ๒๕๓๓-๒๕๔๒ ยังปรากฏชื่อผู้หญิงแค่ ๒๓ ราย (จากผู้รับรางวัล ๘๖ ราย) เป็นสาขาศิลปะการแสดง ๒๐ ราย (นาฏศิลป์) และสาขาวรรณศิลป์ ๓ ราย ส่วนสาขาทัศนศิลป์ (ทั้งวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์) ไม่เคยมีผู้หญิงได้รับเลือกเลย

“เคยได้ยินว่ารุ่นก่อน ๆ มีผู้หญิงเรียนจิตรกรรมน้อยมาก ยุคคุณสุวรรณี สุคนธา ที่เขียนนิยาย เรื่องของน้ำพุ น่าจะมีผู้หญิงเรียน ๒-๓ คน คิดดูสิสมัยที่สังคมยังให้โอกาสผู้หญิงเรียนหนังสือน้อย แต่เขาเลือกเรียนจิตรกรรมฯ-ศิลปากร ต้องเก่งและแข็งแกร่งมากนะ มาถึงรุ่นเรามีนักศึกษา ๕๐ กว่าคน เป็นผู้หญิง ๑๔ คน ก็ยังถือว่าน้อย ครอบครัวคงไม่สนับสนุนด้วย แกลเลอรีก็ยังมีน้อย ทางรอดคือต้องเป็นอาจารย์หรือส่งงานประกวดให้ได้รางวัลถึงจะมีคนยอมรับเพื่อนผู้หญิงรุ่นเราที่มีชื่อเสียงก็น่าจะแค่ นริศรา เพียรวิมังสา” 
คลาวเดีย จักรพันธุ์ (เริ่มมีผลงานทางโทรทัศน์ ปี ๒๕๓๔ ขณะอายุ ๑๒ ปี) วาดโดยตะวัน ปี ๒๕๔๒
จุดยืนศิลปิน-นักสะสม
สิ่งที่เป็นหลักประกันชีวิตของคนทำงานศิลปะคือจุดยืนที่ชัดเจน

“อาชีพศิลปินวัดผลไม่ได้ใน ๕-๑๐ ปีหรอก ต้องดูไป ๒๐-๓๐ ปี  หลังเรียนจบเรามีโอกาสได้ขายงานชุดที่ต้องส่งก่อนทีซิสให้เจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ซึ่งต่อมาเขาขยายกิจการและวางแผนทำห้องโชว์รูมที่ประดับผนังด้วยงานศิลปะจึงชวนให้นำงานไปโชว์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ solo แล้วก็มีคนไม่ยอมรับการโชว์ เพราะยึดติดว่าศิลปะต้องแสดงในแกลเลอรี ซึ่งงานที่จะมีโอกาสอยู่ในนั้นก็มักเป็นของศิลปินที่มีชื่อเสียง

“แต่เราเคยอ่านบทสัมภาษณ์ ‘ไดสุเกะ’ นักสะสมระดับโลก ชาวญี่ปุ่นซึ่งสะสมงานของเราด้วย เขานัดผู้มาสัมภาษณ์โดยใช้ฉากนิทรรศการที่แสดงงานเราอยู่ในโตเกียว เล่าว่าตนไม่ได้มีเงินเยอะ แต่มีสายตาที่คมและสะสมมาแล้ว ๓๐ ปี แนวคิดตั้งแต่ยุคนั้นคือไม่ได้สนใจงานที่ป็อปปูลาร์ในวันนี้แล้วจะอยู่แค่ ๕-๑๐ ปี แต่เลือกงานที่น่าจะอยู่ไปอีก ๕๐ ปี เรื่องแบบนี้เขาไม่ได้คิดเอง แต่เกิดจากการศึกษาให้มากและชมงานในสถานที่ดี ๆ อย่าง Biennale หรือ Documenta งานแสดงศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญของโลก 
“เพราะจำเป็นต้องรู้จักประวัติศาสตร์ศิลป์และต้องรู้ว่าโลกจะเคลื่อนไปทางไหน”
...