วันวานของ
จานเพลง
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ก่อนยุค 90s โลกแห่งคลื่นเสียง
เคยสั่นสะเทือนด้วยแผ่นไวนิล
นับแต่มี “กองโฆษณาการ” (ก่อนยกฐานะสู่ “สำนักงานโฆษณาการ” “กรมโฆษณาการ” และ “กรมประชาสัมพันธ์”) องค์กรผลิตสื่อโสตทัศน์เก่าแก่ที่รัฐใช้กระจายข่าวการเมืองยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะเดียวกันก็มีภารกิจส่งความบันเทิงแก่ประชาชน มีวงดนตรีเล่นสดสลับเปิดแผ่นเสียงจากทั่วโลก
ครั้นสร่างนิยม เครื่องมือผลิตสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เอกสารประชาสัมพันธ์ในยุคแรก อย่างหนังสือคู่มือพลเมือง กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ไมโครโฟน เครื่องขยายเสียง เครื่องเล่นและแผ่นเสียง กลายเป็นของเก่าที่ถูกละเลย บ้างแตก หัก บิดงอ กรมประชาสัมพันธ์จึงรวบรวมสิ่งของและแผ่นเสียงที่เหลือนับแสนตามสถานีวิทยุทั่วประเทศของกรมมาปัดฝุ่นรักษาในพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์
แล้วล่าสุดพฤษภาคม ๒๕๖๕ ก็เปิดอย่างเป็นทางการพร้อมห้องสมุดแผ่นเสียง แม้พื้นที่จำกัดไม่อาจอวดโฉมหมด แต่เท่าที่ได้ก็มากกว่า ๔ หมื่นแผ่น มีทั้ง “แผ่นครั่ง” (แผ่นเสียงยุคแรกของสยาม หนา หนัก ตกแตก) บันทึกเพลงไทยเดิมเพลงชาติสยาม (เพลงชาติไทยเวอร์ชันแรก) แต่โดยมากเป็น “แผ่นไวนิล” (พลาสติกคุณภาพดี บาง เบา แตกยาก) ให้คุณภาพเสียงทุ้มนุ่มลุ่มลึก ลดเสียงรบกวนจากหัวเข็ม และบรรจุเพลงได้มากกว่าแผ่นครั่ง เป็นคลังที่รวมเพลงระดับตำนานไว้ ทั้งไทยเดิม ลูกทุ่ง ไทยสากล และสากล ที่ชาวยุค 70s-90s คุ้นหู อย่างสุนทราภรณ์, สุรพล สมบัติเจริญ, เอลวิส เพรสลีย์, เดอะ บีเทิลส์ ฯลฯ
ฐานะห้องสมุดแผ่นเสียงแห่งเดียวในไทยทั้งที การสร้างพื้นที่ขับคลอจิตวิญญาณจึงสำคัญ
“เครื่องเล่นแผ่นเสียง” ตั้งแต่รุ่นลำโพงแตรขนาดใหญ่ และแบบที่ยังใช้มือหมุนเล่นแผ่นเสียง รวมถึงเครื่องเล่นสมัยใหม่ ได้รับการจัดแสดงและเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเลือกแผ่นของศิลปินโปรดมาเปิดฟังในห้องที่ตกแต่งเลียนแบบมุมรับแขกย้อนยุค เอื้อให้สัมผัสรสสุนทรียะแห่งวันวานด้วยอารมณ์ผ่อนคลาย
แต่ละวันแบ่งการเข้าชมสี่รอบ รอบละ ๒ ชั่วโมง เพื่อผลัดกันเต็มอิ่มกับเสน่ห์ vintage audio ที่กำลังจับใจคนยุคใหม่ ผู้หลงใหลโลกของการเล่นแผ่นเสียงมากกว่าเพียงฟังเสียง เสพกระบวนการทางอารมณ์ตั้งแต่หยิบแผ่นออกจากซอง บรรจงวางแผ่นลงบนเทิร์น-เทเบิล แล้ววางหัวเข็มลงบนแผ่นอย่างนุ่มนวล ไปจนกระบวนการเก็บรักษาแผ่นเสียงอย่างถูกวิธีเพื่อถนอมอายุการใช้งาน
ไทยเลิกผลิตแผ่นเสียงแบบอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เมื่อแถบบันทึกเสียงตลับเทปเป็นที่นิยม ต่อด้วยการแทนที่ของแผ่นซีดี และพัฒนาจนยุคที่ฟังเพลงได้ง่ายผ่านระบบสตรีมมิงบนมือถือ แม้ปี ๒๕๕๐ ค่ายเพลงในไทยจะปลุกกระแสให้แผ่นเสียงเป็นที่นิยมอีกโดยสั่งจำนวนจำกัดจากต่างประเทศ ทว่าหลายต่อหลายแผ่นรุ่นเก่าหายากราคาแพงก็ยังเป็นของดีที่ผู้นิยมความประณีตถวิลหา และพบที่นี่
ซุกอยู่ตรงไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดูู
สุวรรณี ฉายะรถี
นักประชาสัมพันธ์ พิพิธภัณฑ์
และหอจดหมายเหตุ
กรมประชาสัมพันธ์
“เดิมเราคาดว่าผู้มาใช้บริการคงเป็นแฟนเพลงยุคเก่าอยากมาซึมซับบรรยากาศที่เคยคุ้น กลายเป็นว่าส่วนใหญ่กลับเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่เกิดไม่ทันเทปคาสเซ็ตด้วยซ้ำ อาจเพราะมีสื่อมวลชนเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี ติ๊กต็อก ซึ่งเป็นสังคมคนรุ่นใหม่ พอเห็นรีวิวก็ตามมาสัมผัส มีทั้งคนที่มาเพื่อถ่ายรูปหรือขอฟังเพลงลูกทุ่งจากแผ่นเสียงสักครั้ง ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ เพราะเราอยากให้เขาได้ประสบการณ์ใหม่และความประทับใจที่ดีกลับไปมากกว่า แค่ตื่นเต้นว่าสิ่งของในยุคเก่ามีวิธีใช้งานที่น่าสนใจ มีเสน่ห์อย่างไร หรืออยากพาพ่อแม่มาสัมผัสบ้างก็ชื่นใจแล้ว อนาคตเราอยากเพิ่มพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนเพื่อดึงดูดคนที่เคยมาแล้วให้กลับมาอีก จะได้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต”
พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ
กรมประชาสัมพันธ์
๙ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระรามที่ ๖ แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์
เวลา ๑๐.๐๐-๑๕.๐๐ น.
และต้องติดต่อล่วงหน้า
โทร. ๐-๒๖๑๘-๒๓๒๓
ต่อ ๒๒๑๒, ๒๒๑๔