พลเรียน 90s
มานะ มานี, แก้ว กล้า
และการสอบเอนทรานซ์
อันตึงเครียด
90s is back!
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
เยาวชนที่เติบโตในคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ (ปี ๒๕๓๓-๒๕๔๓) จะอยู่ในช่วงแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ ๖ (ประกาศใช้ปี ๒๕๒๐) และแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ ๗ (ประกาศใช้ปี ๒๕๓๕) ผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในระยะสองแผนนี้คือ ชั้นประถมศึกษาลดจาก ป. ๑-ป. ๗ เหลือ ป. ๑-ป. ๖ ขณะที่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น ๑ ปี จากเดิมสิ้นสุดแค่ชั้น มศ. ๕ ก็มาสิ้นสุดที่ ม. ๖
สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเรียนในชั้นเรียนยุค 90s คือ หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓) และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช ๒๕๒๔ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓) ซึ่งถูกสร้างเป็นเนื้อหาในวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา และสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) แต่แบบเรียนที่เด็กยุค 90s จดจำได้มากที่สุดคือแบบเรียนภาษาไทย
มานะ มานี ในอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง
เด็กยุค 90s ในช่วงต้นและกลาง เรียกแบบเรียนภาษาไทยอย่างลำลองว่า “มานะ มานี”
“มานะ มานี” เป็นชื่อตัวละครหลักในหนังสือเรียนภาษาไทยที่ใช้ในระดับ ป. ๑-ป. ๖
แบบเรียนมีลักษณะเป็นตอนต่อเนื่อง เล่าถึงเรื่องราวในอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ตัวละครเหล่านี้อาศัยและเติบโตไปพร้อมกับนักเรียนที่ได้อ่าน
“มานี” และพี่ชายคือ “มานะ” เติบโตไปพร้อมกับเพื่อนในชุมชนคือ ปิติ ชูใจ เพชร วีระ สมคิด ดวงแก้ว จันทร มีผู้อบรมคือ ครูไพลิน บิดา มารดา ย่า ป้า น้า อา ฯลฯ พวกเขายังมีสัตว์เลี้ยง เช่น เจ้าโต (สุนัขของมานี), เจ้าแก้ว (นกของมานะ มานี), สีเทา (แมวของชูใจ), เจ้าแก่ (ม้าของปิติ), เจ้าจ๋อ (ลิงของวีระ) คอยสร้างสีสัน
ตลอดการเรียน ๖ ปีในระดับประถมฯ นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวของตัวละครเหล่านี้ไปพร้อมกับการจำศัพท์ภาษาไทย การสะกดคำ การปลูกฝังความเป็นพลเมืองของรัฐไทยผ่านคำพูดของครูไพลิน เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยผ่านเหตุการณ์ในโรงเรียน ในชีวิตประจำวัน ก่อนจะแยกย้ายไปเมื่อจบชั้น ป. ๖ พร้อมกับตัวละครในเนื้อเรื่อง
หลายปีต่อมา มีการเปิดเผยว่าผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการวางโครงเรื่องคือ รัชนี ศรีไพรวรรณ ข้าราชการครูที่เข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการจัดทำแบบเรียนภาษาไทยที่เริ่มทดลองใช้ครั้งแรกในปี ๒๕๑๙ ในบางโรงเรียน ก่อนจะกลายเป็นตำราเรียนหลักในยุค 90s
รัชนีระบุว่า การสร้างตัวละครเหล่านี้ได้แนวคิดมาจากชีวิตวัยเด็กนำมาผสมกับเรื่องราวที่รับรู้ภายหลัง การให้ตัวละครหลักเป็นเด็กเพื่อนักเรียนเข้าถึงง่าย ให้มีสัตว์เลี้ยงเพื่อให้เกิดความสนุก ใช้หลักการฝึกฝนการอ่านแฝงเข้ามาในตัวบทผ่านการตั้งชื่อ เช่น ใช้ชื่อตัวละครขึ้นด้วย “ม” เพราะคำแรกที่เด็ก ๆ พูดได้คือ “แม่” วางจำนวนคำศัพท์ภาษาไทยที่เด็กแต่ละช่วงวัยควรมีในคลังคำใส่เอาไว้ในท้ายบทแต่ละบท
รัชนีใช้เวลาเขียนเรื่องถึง ๙ ปี โดยทำออกมาทีละบท ปรับเปลี่ยนรายละเอียดจากความเห็นของที่ปรึกษา เช่น แฝงเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น ให้ชูใจเก็บดอกไม้ที่ตกตามพื้นมาทัดหูแทนที่จะเด็ดดอกไม้ แฝงสัจธรรมชีวิตผ่านการให้ตัวละครอย่างเจ้าแก่ (ม้าของปิติ) ตาย มีเจ้านิล ม้าตัวใหม่มาแทน สร้างตัวละครอย่าง “อาทวีป” เกษตรอำเภอ เพื่อแฝงเรื่องความสำคัญของการทำเกษตรในฐานะ “...อาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษเรา เรารอดมาได้เพราะการเกษตร ไม่ใช่เพราะทำโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นมีที่ดินขุดบ่อเลี้ยงปลาก็เอาปลาไปขาย...เพียงแค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว”
มานี มานะ กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปี ๒๕๔๔ เมื่ออาจารย์รัชนีแต่งเรื่องตอนต่อจากบทจบในชั้น ป. ๖ ลงนิตยสาร a day (ฉบับที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๔) ชื่อว่า “แล้ว...เราก็ได้พบกัน” ทำให้เด็กยุค 90s ซึ่งขณะนั้นส่วนหนึ่งเริ่มทำงาน อีกส่วนหนึ่งกำลังเรียนระดับมหาวิทยาลัย กลับมาพบกับตอนต่อของเรื่องในวัยเด็กอีกครั้ง
แก้ว กล้า :
ภาพจำรถไฟและปูเสฉวน
หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา เริ่มใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศในปี ๒๕๓๕ (ใช้มาจนถึงปี ๒๕๕๔) มีชื่อเรียกในหมู่คนเรียนแบบลำลองอันมีที่มาจากเนื้อหาในบทที่มีฉากตาของแก้วกับกล้านั่งรถไฟมาหาทั้งสองคนว่า “แก้ว กล้า ตามา ตามารถไฟ” และ “แก้ว กล้า เจ้าหมาดำ” ตามตัวละครหลัก
ด้วยข้อจำกัดของเวลา เราไม่สามารถค้นหาผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการแต่งหนังสือภาษาไทยชุดนี้ได้ แต่เป็นที่แน่นอนว่าในแง่ของตัวบทแตกต่างจาก “มานะ มานี” ค่อนข้างมาก เพราะแต่ละบทแยกขาดจากกัน มีลักษณะเป็นเรื่องสั้นจบในตัวเอง แต่จะมีจุดเชื่อมกับตอนอื่นซ่อนอยู่
ผู้ใช้แบบเรียนภาษาไทยรุ่นนี้จะพบว่ามีการแทรกปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติในตัวบทเป็นระยะ เช่น บทหนึ่งมีฉากปูเสฉวนชื่อป้อมที่ต้องหาเศษสิ่งของที่มนุษย์ทิ้งมาแทนเปลือกหอยที่ไม่สามารถหาได้อีก นอกนั้นก็เป็นการแทรกวรรณคดีวรรณกรรมสำคัญลงไป ก่อนจะขมวดปิดบทในชั้น ป. ๖ ด้วยการค้นหาเส้นทางชีวิตของตัวละครเมื่อกำลังจะเรียนจบ
ภาพเมืองไทย
ในแบบเรียน
ขณะที่แบบเรียนที่ส่งผลถึงการรับรู้เรื่องราวของสังคมรอบตัวมากที่สุดคือหนังสือเรียนสังคมศึกษาในระดับมัธยมศึกษาชุดประเทศของเรา ที่ไล่รหัสตั้งแต่ ส ๑๐๑-ส ๖๐๖ ตั้งแต่ ม. ๑-ม. ๖ โดยหนังสือเรียนชุดนี้สร้างการรับรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ จากมุมมองของส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) และให้บทบาทของอาณาจักรเพื่อนบ้านข้างเคียงในฐานะรอง
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ เคยวิจารณ์แบบเรียนในยุคนี้ไว้ว่า เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ในอุดมคติของชาติไทย โดยเปรียบเป็นหมู่บ้านที่คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นราบคาบไม่มีความขัดแย้ง มีความหลากหลายแต่กลมกลืนภายใต้ “การนำของข้าราชการที่มีประสิทธิภาพ”
ภาพเมืองไทยในแบบเรียนยังเป็นหนึ่งเดียวกันจนเกินจริง ยังไม่นับว่ามีการปลูกฝังความสามัคคี ขัดแย้งได้แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พูดถึงการรักษาความลับของชาติที่ดูจะไกลตัวเยาวชน การสอนนี้จึงไม่ใช่การป้องกันความลับ แต่เป็นการปลูกฝัง “ให้มองโลกจากชาติที่เป็น ‘พวกเรา’ ซึ่งกำลังต่อสู้กับศัตรูที่เป็น ‘พวกเขา’ เท่านั้น”
รัฐพยายามปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับพลเมืองว่าการแบ่งงานกันทำคือเรื่องของบุญคุณ มิใช่หน้าที่ เช่น การทำนาก็ทำเพื่อเลี้ยงพลเมืองให้พอกิน “ความเสียเปรียบของชาวนาในการผลิตข้าวก็ไร้ความหมาย อย่างน้อยเขาก็ดูเหมือนมีบุญคุณท่วมหัวคนอื่น ๆ ทั้งหมด การทวงถามค่าตอบแทนที่สูงขึ้นจากการผลิตของชาวนาจึงดูเหมือนเป็นการละเมิดมารยาทของกลุ่มเครือญาติที่พึงปฏิบัติ...”
สิ่งที่อาจารย์นิธิสงสัยคือนักเรียนที่ใช้แบบเรียนนี้ “จะมองการเรียกร้องค่าแรงของกรรมกร การประท้วงของชาวนาเพื่อปกป้องผืนนาของตนจากการทำนาเกลือ การเรียกร้องประกันราคาพืชผลของเกษตรกร ฯลฯ ว่าอย่างไร” โดยจะมองว่าทำให้แตกสามัคคี นำเอาความลับของชาติออกประจานหรือไม่
การสอบเอนทรานซ์
ยุค 90s ยังเป็นยุคที่ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกกันทั่วไปว่าสอบเอนทรานซ์ อยู่ใต้ระบบการสอบกลางที่ดูแลโดย “ทบวงมหาวิทยาลัย” หน่วยงานระดับกระทรวงที่ดูแลการศึกษาระดับอุดมศึกษายุคนั้น
ระหว่างปี ๒๕๓๓-๒๕๔๒ ผู้สอบจะสอบตามวิชาที่เลือกในสนามสอบกลาง โดยเลือกอันดับคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการศึกษา ๖ อันดับ (ต่อมาเหลือ ๔ อันดับในช่วงปลายยุค 90s ) ตัวตัดสินคือช่วงคะแนนสูงสุด-ต่ำสุดของแต่ละคณะและมหาวิทยาลัยซึ่งแต่ละปีจะไม่เท่ากัน
ในปีสุดท้ายของทศวรรษคือ ๒๕๔๓ ระบบการสอบเปลี่ยนมาเป็นระบบ UCAS ใช้คะแนนเฉลี่ยของการเรียนในระดับ ม. ปลาย ร้อยละ ๑๐ ผลการสอบวิชาหลักและวิชาเฉพาะ (เรียกว่า “สอบวัดความรู้” จำนวนวิชาที่ต้องสอบแตกต่างกันตามแต่ละเงื่อนไขของคณะนั้น ๆ) ร้อยละ ๙๐ โดยใน ๑ ปี จะจัดสอบสองครั้ง (วิชาหลัก/เฉพาะ) และจะใช้คะแนนครั้งที่มากที่สุดเพื่อยื่นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
ต้นยุค 90s ยังคงมีบรรยากาศ “คืนจุดเทียน” ที่ผู้สอบจะเอาเทียนและไฟฉายส่องบอร์ดประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสอบเข้าทุกมหาวิทยาลัย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะนำมาติดตั้งที่สนามกีฬาจารุเสถียร (สนามจุ๊บ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่สนามกีฬาภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ราว ๒๒.๐๐ น. ก่อนวันประกาศจริง บรรยากาศจะมีทั้งคนที่สมหวังและผิดหวัง
ส่วนช่องทางอื่นในการทราบผลสอบคือหนังสือพิมพ์ โดยบางหัวอย่าง วัฏจักร จะออกฉบับพิเศษประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านโดยเฉพาะ ทั้งนี้ในช่วงสุดท้ายยุค 90s การทราบผลยังทำผ่านเว็บไซต์ของทบวงมหาวิทยาลัยอีกด้วย
เรียนกวดวิชา
การเดิมพันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุค 90s ยังทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา/เก็งข้อสอบ เติบโตราวดอกเห็ดโดยกระจุกตัวในย่านวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์ มีพื้นที่ส่วนที่แยกออกมาคือย่านถนนงามวงศ์วาน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า วงเวียนใหญ่ วิสุทธิกษัตริย์ ฯลฯ
สถานที่หนึ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์คือ “อาคารวรรณสรณ์” สูง ๑๖ ชั้น ย่านพญาไท ที่ได้รับฉายาในหมู่เด็กว่า “อุ๊แลนด์” อันเนื่องมาจากอุ๊-อุไรวรรณ ศิวะกุล เจ้าของโรงเรียนกวดวิชา “เคมี อ.อุ๊” เป็นผู้ลงทุนสร้างอาคารแห่งนี้ แล้วก็มีโรงเรียนกวดวิชามารวมกันในพื้นที่กว่า ๒๐ โรงเรียน
ครูสอนพิเศษเหล่านี้มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ ๓ หมื่นไปจนถึง ๕ แสนบาท แล้วแต่ว่ามีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเพียงใด ในขณะที่นักเรียนต้องใช้เงินราว ๑ แสนบาท หากต้องการเตรียมสอบเอนท์ ด้วยการลงทะเบียนเรียนพิเศษกับโรงเรียนเหล่านี้แบบเต็มที่ตลอด ๓ ปีของชีวิต ม. ปลาย
คอร์สบางคอร์สที่สอนโดยครูมีชื่อเสียง เด็ก ๆ ต้องแย่งกันลงทะเบียนเรียน บางครั้งผู้ปกครองถึงกับกระทบกระทั่งกันที่เคาน์เตอร์ธนาคาร เพราะปัญหาเรื่องการโอนเงินค่าลงเรียนคิวก่อนหลังที่พนักงานธนาคารทำให้ได้ไม่รวดเร็วพอจนกระทบกับการลงทะเบียนเรียน (ในยุคที่แอปพลิเคชันธนาคารยังไม่เกิด)
อาจารย์สอนพิเศษท่านหนึ่งระบุว่ายุค 90s ถือเป็นยุค “ขาขึ้น” ของโรงเรียนกวดวิชา ด้วยมีอัตราการเกิดสูง การแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยก็มีอัตราสูงมาก เด็ก ๆ ในยุคนั้นเข้ามาเรียนในห้องสอนสดของโรงเรียนครั้งหนึ่ง ๆ เป็นหลักร้อยคน ต่อมาต้องขยายห้องถ่ายทอดสด ห้องฉาย DVD ฯลฯ เพื่อรองรับความต้องการ
สำหรับเด็กวัยรุ่นยุค 90s การไปเรียนกวดวิชานอกจากไปรับเอาเทคนิคพิชิตการสอบเอนท์ ยังเป็นการพบปะสังสรรค์กัน ไม่ว่าจะโรงเรียนเดียวกันหรือต่างโรงเรียน บางคนได้แฟนจากการเรียนพิเศษเสียด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าเป็นการ “เข้าสังคม” ชนิดหนึ่งของลูกหลานชนชั้นกลางในเมือง
อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามเล่าว่า สมัยที่เธอเป็นวัยรุ่นยุค 90s เธอเป็นเด็กต่างจังหวัด สิ่งที่เธอกับเพื่อน ๆ ทำคือ พอปิดเทอมจะลงมาเช่าหอพักในกรุงเทพฯ เพื่อเรียนพิเศษกับสถาบันกวดวิชาและอาจารย์ชื่อดังเหล่านี้ย่านสยามสแควร์ “เพราะเทคนิคการจำเนื้อหาเทคนิคการทำข้อสอบ บรรยากาศการมาสังสรรค์กับเพื่อนต่างโรงเรียน หาไม่ได้จากห้องเรียนและครูในระบบโรงเรียนปรกติ”
แน่นอนว่าด้วยระบบนี้ผู้เสียเปรียบที่สุดคือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเข้าไม่ถึงแหล่งเตรียมความรู้ดังกล่าว
เอกสารประกอบการเขียน
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (๒๕๓๘). ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์. กรุงเทพฯ : มติชน.
ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๓). หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เล่ม ๒ ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา
สุวรรณา เปรมโสตร์. “โรงเรียนกวดวิชา ปัจจัยที่ห้าของครอบครัวยุคใหม่”. สารคดี. ๒๘๔, ตุลาคม ๒๕๖๑.
สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สถาบันภาษาไทย. (๒๕๖๕). หนังสืออ่านเพิ่มเติม มานะ มานี ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของ สกสค.
The Normal Hero. (๒๕๖๔). รัชนี ศรีไพรวรรณ : กว่าจะเป็น มานะ มานี ปิติ ชูใจ วีระ สมคิด ดวงแก้ว เพชร จันทร. สืบค้นจาก https://www.thenormalhero.co/ratchanee/