Image
ผู้ก่อตั้งสถาบันกวดวิชาสังคม-ภาษาไทย Da’vance
ความทรงจำแสนงาม
ถึงนักเรียนรุ่น “เตาถ่าน”
“อาจารย์ปิง ดาว้องก์” :
ปิง เจริญศิริวัฒน์
90s is back!
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เราชูวิชาภาษาไทย วิชาสังคมศึกษาเพราะจบมัธยมฯ มาจากสายศิลป์ ทั้งที่จริงเราเด่นมากเรื่องคณิตศาสตร์ เคยได้คะแนนสูงที่สุดในประเทศ  วิชาคณิตศาสตร์เราก็ได้คะแนนมากที่สุดในโรงเรียน เคยเป็นตัวแทนตอบปัญหาคณิตศาสตร์ที่ปรกติจะไม่มีเด็กสายศิลป์เป็นตัวแทน จนครูบางท่านมองว่าเราน่าจะไปสายวิทย์จะมีอนาคตกว่า เราเข้าใจความปรารถนาดีของครู แต่ก็คิดว่าสักวันจะทำให้เห็นว่าสายศิลป์มีอะไรที่ดีเหมือนกัน 
“คนเราต้องเปลี่ยนมุมมองบ้าง เราจึงเลือกเน้นสอนภาษาไทย สังคม เน้นชูวิชานี้ มองว่าคณิตศาสตร์มีความต้องการสูง เดี๋ยวก็มีคนสอน เราต้องการทำเป็นอาชีพและเปลี่ยนภาพที่คนมองเด็กเรียนสายศิลป์ และนี่คือสิ่งที่เรารัก สองวิชานี้เราสอนเองมาตลอดส่วนวิชาอื่นเราก็รับคนมาช่วย เราจะดูว่าเขามีความเป็นครูแค่ไหน บางคนติดต่อมาที่ Da’vance เสนอตัวสอนเพราะอยากให้มีคนรู้จักมาก แต่เป็นคนละทางกับเรา
Image
“เราคิดตลอดว่าอาชีพที่คนยกมือไหว้ในสังคมไทยคือ ครู แพทย์ ซึ่งหน้าที่นี้เดิมเป็นของพระ เวลาหาครูมาสอน จึงต้องหาคนที่มีจรรยาบรรณ เวลาคนเรียกติวเตอร์ก็สะดุ้งเข้าใจความหมายที่คนเรียกพูด แต่เรารู้สึกว่าชอบคำว่า ‘ครู’ มากกว่า  ครูในระบบมีข้อเสียคือมีงานเอกสาร สำหรับเราเราชอบสอนก็จบ ไม่ต้องไปอธิบายเป็นเอกสารว่าเพราะอะไร งานในระบบจึงไม่เหมาะกับเรา

“เป็นคนที่เวลาคุยแล้วจะชอบเฮฮา วิชาการตลอดไม่ได้ ที่คนจำได้ว่าสอนสนุก มันฮาได้ส่วนหนึ่งเพราะนักเรียนที่มาเรียนเขาเป็นคนน่ารัก  ยุค 90s ยังไม่ใช่ยุคที่ Da’vance เติบโตมากที่สุด ช่วงที่คนมาเรียนมากที่สุดอยู่ประมาณปี ๒๕๕๒/ค.ศ. ๒๐๐๙ นึกย้อนไปในยุค 90s ช่องว่างระหว่างวัยของผู้สอนกับคนเรียนจะน้อยกว่านี้ เด็กรุ่นนั้นเฮี้ยวกว่านี้ แซวกันเก่ง เป็นรุ่นที่ในครอบครัวมีพี่น้องหลายคน การแข่งขันเรื่องการเรียนสูง มักติดใช้ของแบรนด์เนม เสื้อต้อง MOSCHINO รองเท้าต้อง GAP 
Image
Image
“รุ่น 90s เป็นรุ่นเรียนแบบเตาถ่าน คือค่อยๆ ร้อน มีเวลาที่จะฟังข้อมูล เราค่อยๆ สอนทำให้เขาจำเนื้อหาได้ แต่รุ่นปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๖) เป็นรุ่นไมโครเวฟ ต้องเร็ว กระชับเนื้อหาที่สอนจาก ๑๐ ประโยคเหลือ ๗ ประโยค ทำให้สนุก ไม่เครียด มีคำติดปากว่าต้อง ‘ต๊าช’ ที่แปลว่าโดน (โดนใจ) เลิศ ปัง มาจากคำภาษาอังกฤษว่า touch เพราะเขาไม่มีเวลามาก  รุ่น 90s เล่าเรื่องพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ มีพระมเหสีกี่องค์ เด็กสนุกมาก ถึงไม่ได้ออกสอบแต่ก็มัน

“ทุกวันนี้เด็กที่มาเรียนกลับเกรงใจเรามากขึ้นเพราะช่วงวัย ส่วนมากเป็นลูกคนเดียว เน้นกิน แต่งตัวสบายๆ แต่ความสนุกยังเหมือนเดิม (หัวเราะ)  ตอนนี้การแข่งขันเหลือแค่ในบางคณะค่านิยมการเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเมืองก็ลดลงมาก คนย้ายไปอยู่ชานเมือง พ่อแม่ก็ส่งลูกเรียนในโรงเรียนแถบนั้น
Image
“ไม่คิดว่าที่เราทำไปจะแย่งซีนครูในโรงเรียน คนที่ไม่รู้จักเราเจอตัวจริงก็จะเข้าใจ ที่ไปโรดโชว์ในหลายโรงเรียนก็ไม่มีปัญหากับครูในระบบปรกติเลย ครูบางคนลูกเขาก็มาเรียนกับเรา โรงเรียนปรกติกับเรา นี่คือคนละระบบ ให้เราไปทำแบบครูในระบบก็ทำไม่ได้

“เราจำลูกศิษย์หลายคนในยุค 90s ได้ ที่เป็นดาราคือ บีม ดีทูบี (กวี ตันจรารักษ์) บ้านนี้เขามาเรียนกับเราทั้งบ้าน  พิมพ์ (พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร) เด็กโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ที่ทำวงซาซ่า ตอนมาเรียนเขาไม่ได้คุยกับเรา ยิ้มให้กัน คนเรียนเยอะ มีวันหนึ่งเราไปเดินสยาม เขามาคุยกับเรา บอกหนูกำลังจะออกเทปฝากบอกน้องๆ ที่ Da’vance ด้วย  เพชรจ้า (วิเชียร กุศลมโนมัย) ที่เป็นดีเจและพิธีกร สมัยก่อนเขาเรียบร้อยมาก  แนน (ปิยะดา จิระพจชพร) นักแสดง สมัยนั้นเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์แทบไม่พูด ฯลฯ ต่อมาคนเหล่านี้อยู่ในวงการบันเทิง เก่งมาก

“ตอนนี้ระบบออนไลน์เข้ามามีบทบาทมาก เด็กต่างจังหวัดไม่สะดวกนั่งรถมาเรียนก็เรียนผ่านระบบอื่นได้ ระบบออนไลน์จะเรียนดึกๆ ก็ได้ ดูได้ ๒๔ ชั่วโมง ที่เราพบตอนนี้คือเด็กมาเรียนช่วงหลัง ๒๑.๐๐ น. ไปจนถึง ๐๓.๐๐ น. บางคนก็ตาปรือมาเรียน แต่เราดีใจที่เขาอยู่กับเราในระบบออนไลน์ ไม่ไปผับ บาร์ (หัวเราะ) ยุคนี้ปัญหาเรื่องแย่งลงทะเบียนถ้าไม่ใช่ห้องสอนสดลดลงมากแล้ว สาขาเราก็มีมาก ลงทะเบียนผ่านสาขา 7-11 ได้ตลอดเวลา
Image
“อัตราการเกิดที่ลดลงของคนไทยส่งผลกับเราโดยตรง แน่นอนว่ารวมไปถึงโรงเรียนในระบบด้วย เด็กสมัยใหม่ผู้ปกครองก็นิยมส่งเข้าโรงเรียนนานาชาติ จำนวนลดลงตั้งแต่ปี ๒๕๕๕/ค.ศ.๒๐๑๒ เป็นต้นมา ส่วนตัวคิดว่าดีใจ มันทำให้ห้องเรียนไม่แออัดเกินไปห้องหนึ่ง เคยมี ๖๐๐ คนมาแล้ว ทำให้เราคุยได้ไม่ทั่วถึง

“เราเห็นระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยจากแบบสอบครั้งเดียวเป็นสองครั้ง (ระบบ UCAS ปี ๒๕๔๒) จากนั้นก็มาระบบแอด-มิชชัน มีสอบโอเน็ต เอเน็ต และให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีสอบตรงมีการเก็บค่าสอบ อย่างเช่นคนละ ๑,๐๐๐ บาท สอบ ๘ หมื่นคนก็ ๘๐ ล้านบาท ระบบนี้ถ้ามหาวิทยาลัยเอาเงินที่ได้มาคืนให้นักศึกษา ทำประโยชน์ เราก็เห็นด้วย แต่สงสารเด็กบางคนที่ไม่มีเงินสมัครสอบหลายที่ มีเด็กมาปรึกษาเยอะมากหลังจากระบบสอบเป็นแบบนี้ (ซึ่งปัจจุบันระบบสอบก็ปรับเป็นแบบสอบครั้งเดียว ใช้คะแนนได้ทุกที่แล้ว เรียกว่า TCAS)
Image
“ที่ Da’vance ก็พยายามให้ทุนในการเรียนพิเศษ  ทุกวันนี้ยังไม่มีความคิดเรื่องเกษียณ อนาคตของ Da’vance ๑๐ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรคงตอบยาก เพราะขนาดแผนพัฒนาเศรษฐกิจเขายังทำแค่ระยะ ๕ ปี คิดแค่ตอนนี้ทำงานเพื่อช่วยคนที่เรียน ลองคิดดูว่าถ้าอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องจะเป็นทุกข์ขนาดไหน ถ้ามีคนมาชี้ทางก็ง่ายขึ้น มันคือความสุขที่เราได้ทำงานนี้”