Image

ทีวียุค 90s

90s is back!

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์

รายการทีวีในยุค 90s (ปี ๒๕๓๓-๒๕๔๒) ในช่วงต้นไม่ได้ออกอากาศตลอด ๒๔ ชั่วโมง ส่วนมากเริ่มเวลา ๑๖.๐๐ น. และปิดสถานี ๒๔.๐๐ น. บางสถานีก็แพร่ภาพแค่ช่วงเย็นไปจนถึง ๒๑.๐๐ น. เท่านั้น โดยในวันหยุดสุดสัปดาห์ตารางการออกอากาศจะยาวนานกว่า

วัยรุ่นต้นยุค 90s จะจำได้ว่า หากตื่นมาต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลางดึกจะไม่มีรายการทีวีให้ดู เพราะถ้ากดเปิดทีวีที่เป็น “ตู้สี่เหลี่ยมหนา จอโค้งมน” จะพบหน้าจอเป็นภาพกราฟิกที่เต็มไปด้วยการไล่สีหลากสี ตรงกลางเป็นรูปวงกลม รอบ ๆ เป็นตารางสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ พร้อมกับเสียง “ต๊อดดดดด” ยาว เปลี่ยนไปช่องอื่นก็จะพบว่ากลายเป็นภาพเม็ดทรายดำขาวละเอียดยิบพร้อมกับเสียง “ซ่า”  กราฟิกที่ว่าคือ “ภาพทดสอบ PM5544” ในระบบ PAL (ระบบสีในโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก) พัฒนาโดยบริษัท Philips Electronics โดยบนจอทีวีจะมีเส้นแนวนอน ๖๒๕ เส้น แนวตั้ง ๕๗๖ เส้น (เทียบเท่า ๐.๔๔ เมกะพิกเซล) ฉายภาพ ๒๕ ภาพต่อวินาที ซึ่งไทยเริ่มใช้ระบบนี้มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ ๑๙๘๐  ส่วนสถานีในระบบอื่นที่ปิดช่องแล้ว จอก็จะกลายเป็นเม็ดทรายพร้อมเสียงซ่าไป

ต้นยุค 90s (ปี ๒๕๓๓-๒๕๓๘) ฟรีทีวีในประเทศไทยประกอบด้วย ไทยทีวีสีช่อง ๓, สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ (ททบ. ๕), สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗, สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๙ อสมท สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ (สทท. ๑๑) โดยคนทั่วไปเรียกติดปากว่า “๓ ๕ ๗ ๙ และ ๑๑” เป็น “ทีวีกระแสหลัก”

เมื่อเข้าสู่กลางยุค 90s หลายสถานีก็เริ่มออกอากาศ ๒๔ ชั่วโมง

Image

Image

Image

หากเปิดทีวีช่วงเช้าตรู่ ถ้าเป็นวันหยุด หมุน (ทีวีสมัยก่อนเปลี่ยนช่องด้วยการหมุนปุ่ม) ไปที่ช่อง ๓ จะเจอรายการ “ทุ่งแสงตะวัน” นำเสนอเด็กเล่าเรื่องของตนเองกับสิ่งแวดล้อม มีพิธีกรหลักคือนก-นิรมล เมธีสุวกุล  เปลี่ยนไปช่อง ๙ จะพบ “ข่าวรับอรุณ” ผู้ประกาศข่าวหลักคือดอกเตอร์สมเกียรติ อ่อนวิมล จากนั้นต่อด้วยรายการ “ช่อง ๙ การ์ตูน” มี “น้าต๋อย เซมเบ้” (นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์) แนะนำการ์ตูนส่งตรงจากญี่ปุ่น ที่ช่อง ๙ นำเข้ามาฉายให้น้อง ๆ หนู ๆ ดูในช่วงเช้า

ใครไม่ติดการ์ตูนหมุนไปที่ช่อง ๕ จะพบกับรายการ 
“สโมสรผึ้งน้อย” ที่เปิดเวทีให้เยาวชนมาแสดงความสามารถในฐานะสมาชิก “สโมสรผึ้งน้อย”  บิดไปที่ช่อง ๗ จะพบกับ “เจ้าขุนทอง” รายการสำหรับเด็กที่ใช้หุ่นมือรูปสัตว์ (นำโดยเจ้าขุนทอง) เดินเรื่อง มีเนื้อเพลง อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน... ที่ติดหูวัยรุ่นฟันน้ำนม

Image

 ช่วงบ่ายไปจนถึงช่วงค่ำ ทีวีจะถูกยึดครองโดยผู้ใหญ่ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ราว ๑๓.๐๐ น. รายการที่คนดูคุ้นเคยคือ “ฝันที่เป็นจริง” ทางช่อง ๓ ดำเนินรายการโดย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ โดยนำเรื่องราวของคนที่เผชิญกับความยากจน ซึ่งได้รับคัดเลือกจากจดหมายที่เขียนส่งเข้ามาเล่าเรื่องราวให้ทางรายการ โดยนำมาทำเป็นละครสั้นจำลองชีวิตจริง ก่อนจะมีช่วงพูดคุยกับเจ้าของเรื่องตัวจริง พิธีกรจะเรียกน้ำตาผู้ชมในช่วงนี้ด้วยคำถามบีบหัวใจประกอบกับปฏิกิริยาที่น่าสงสารของเจ้าของเรื่องราว แล้วมอบรถเข็น อุปกรณ์ค้าขาย พร้อมกับผงซักฟอกยี่ห้อหนึ่ง (ผู้สนับสนุนหลักของรายการ) ซึ่งกลายเป็นภาพจำของคนดู

ที่ช่อง ๕ มีรายการ “ระเบิดเถิดเทิง” เริ่มแรกเป็นเกมโชว์ จากนั้นพัฒนาเป็นซิตคอม (สถานการณ์จำลอง) ในชุมชนเถิดเทิง และมีเกมโชว์ท้ายรายการ มีตั๊ก-มยุรา เศวตศิลา เป็นผู้ดำเนินรายการหลัก (ก่อนยุติการออกอากาศเหลือแต่ซิตคอมอย่างเดียว)

พอใกล้ช่วงเย็นราว ๑๖.๐๐ น. มีรายการ “กระจกหกด้าน” (ช่อง ๗) สารคดีสั้นที่เพลงเปิดรายการและเสียงบรรยายของสุชาดี มณีวงศ์ เป็นเอกลักษณ์ติดหูผู้ชม

ตกค่ำ หลังข่าวภาคค่ำ ข่าวในพระราชสำนัก สิ่งที่คนมีทีวีในบ้านรอคอยคือละครหลังข่าว ในยุคนั้นนางเอกที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือกบ-สุวนันท์ คงยิ่ง และช่องที่กวาดเรตติงสูงสุดคือช่อง ๗

Image

Image

ละครทีวีที่อยู่ในความทรงจำมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะละครหลังข่าววันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ที่ดังระดับปรากฏการณ์มีไม่กี่เรื่อง เช่น คู่กรรม (ปี ๒๕๓๓) ดัดแปลงจากนิยายของ “ทมยันตี” ออกอากาศทางช่อง ๗ นำแสดงโดยเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ และกวาง-กมลชนก โกมลฐิติ เรื่องราวความรักระหว่าง “โกโบริ” ทหารญี่ปุ่นที่มาประจำการในไทยกับหญิงชาวไทย “อังศุมาลิน” มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ละครเรื่องนี้ได้เรตติงสูงสุดในประวัติศาสตร์ละครไทย (เรตติง ๔๐) โดยมีประโยคทิ้งท้ายจากฉากจบที่พระเอกกล่าวกับนางเอกก่อนสิ้นใจว่า “ผมจะไปรอคุณที่ทางช้างเผือก” และมีท่อนฮิตในบทเพลงประกอบว่า วิญญาณฉันรอที่ทางช้างเผือกที่คนจำนวนมากจดจำได้ดี

ดาวพระศุกร์ (ปี ๒๕๓๗) ดัดแปลงจากนิยายของ 
“ข. อักษราพันธ์” ออกอากาศทางช่อง ๗ คู่พระคู่นางคือหนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์ และกบ-สุวนันท์ คงยิ่ง ว่าด้วยเรื่อง “ดาวพระศุกร์” ซึ่งถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลตั้งแต่เป็นทารก ต่อมาถูกรับเลี้ยงโดยต้องอยู่กับแม่เลี้ยงใจร้าย ในที่สุดก็หนีออกจากบ้านและเผชิญชีวิตยากลำบาก ก่อนจะพบพระเอก (ภาคย์) และครอบครัวจริงในท้ายสุด ละครเรื่องนี้มีเรตติงรองจาก “คู่กรรม”

ทัดดาวบุษยา (ปี ๒๕๔๐) ดัดแปลงจากนิยายของ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ นำแสดงโดยเอก-เอกรัตน์ สารสุข และกบ-สุวนันท์ คงยิ่ง ทางช่อง ๗  เรื่องของ “ทัดดาว” ที่เติบโตมาโดยแม่สอนให้เกลียดทุกคนใน “บ้านบุษยา” ต่อมาแม่ติดการพนัน เธอถูกบังคับแต่งงานจึงหนีออกจากบ้าน ต่อมาทราบความจริงเกี่ยวกับบิดาที่เสียชีวิต ทัดดาวต้องการเรียกร้องสิทธิ์ในบ้านคืนจึงปลอมตัวเป็นคนรับใช้ผู้ชายชื่อ “สุทัศน์” และต้องทำงานกับ “เจ้ายอดขวัญ” ชายที่เธอเกลียด (ลูกชายเจ้าพัฒนาที่เธอถูกบังคับให้แต่งงาน) ก่อนที่จะกลายเป็นความรักในที่สุด

สายโลหิต (ปี ๒๕๓๘) ดัดแปลงจากนิยายของ “โสภาค สุวรรณ” ฉายทางช่อง ๗ นำแสดงโดยหนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์และกบ-สุวนันท์ คงยิ่ง  ละครอิงประวัติศาสตร์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เรื่องระหว่าง “ขุนไกร” (ศรราม) นายทหารเอก กับ “ดาวเรือง” แม่หญิงคนงามของอยุธยา ที่พบรักฝ่าฟันอุปสรรคจนได้ครองคู่กันมาจนถึงยุคกรุงธนบุรี ละครทีวีซึ่งมีกลิ่นอายชาตินิยมชัดเจนเรื่องนี้ได้รับความนิยมสูงมาก จนต่อมามีการนำมาฉายซ้ำอีกในปี ๒๕๔๒, ๒๕๔๗ และ ๒๕๕๙

Image

Image

Image

สำหรับคนไม่ดูละครหลังข่าว อาจบิดไปที่ช่อง ๕ ดู “มาตามนัด” รายการเกมโชว์ที่มีผู้แข่งขันสัปดาห์ละห้าคน จากคนในวงการบันเทิงและทางบ้าน แข่งขันเป็นรอบทั้งหมด ๓ วัน เพื่อหาผู้ชนะผ่านการตอบคำถาม ทายปัญหา และเสี่ยงดวงด้วยเกมแบบต่าง ๆ  ทั้งนี้ช่วงปี ๒๕๒๙-๒๕๓๖ พิธีกรคู่ที่ประสบความสำเร็จของรายการคือ เศรษฐา ศิระฉายา และ ญาณี จงวิสุทธิ์ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของรายการ

โดยมากละครและเกมโชว์หลังข่าวมีเวลาออกอากาศราว ๑.๔๕ ชั่วโมง หลังรายการจบเด็ก ๆ จะถูกบังคับให้เข้านอน

Image

ถัดจากนี้จะเป็นรายการที่ผ่อนคลายความเครียดของผู้ใหญ่ ถ้าเป็นวันธรรมดา ช่วง ๓ หรือ ๔ ทุ่ม ทางช่อง ๓ จะมีรายการ “Jukebox Game” รายการเกมโชว์ที่นำเพลงมาเป็นโจทย์ ดำเนินรายการโดยไก่-สมพล ปิยะพงศ์สิริ และตุ๊ก-ญาณี จงวิสุทธิ์  ทางช่อง ๗ มีรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” เกมโชว์ วาไรตีโชว์ โดยในยุคนั้นดำเนินรายการโดย ตั๊ก-มยุรา เศวตศิลา และ ปัญญา นิรันดร์กุล ได้รับความนิยมไม่แพ้เกมโชว์รายการอื่น

เปิดช่อง ๕ ดึกวันพฤหัสบดีจะพบกับรายการ “เจาะใจ” นำบุคคลที่มีชื่อเสียงมาสนทนากันในหลายประเด็น  ในช่องเดียวกัน ดึกวันศุกร์จะพบรายการ “ชมรมขนหัวลุก Friday” วาไรตีทอล์กโชว์เขย่าขวัญที่เล่าประสบการณ์ผีจากแขกรับเชิญ ช่วงปี ๒๕๓๘-๒๕๔๐ รายการนี้มีพิธีกรคู่คือตั๊ก-มยุรา เศวตศิลา และ ธงชัย ประสงค์สันติ เอกลักษณ์รายการคือสร้างบรรยากาศสยองขวัญด้วยเพลงที่มีเสียงผู้หญิงโหยหวน มีปรากฏการณ์แปลกประหลาดในห้องส่งให้ตกใจเป็นระยะระหว่างแขกรับเชิญเล่าเรื่อง

ทางช่อง ๗ ดึกวันพฤหัสบดีมีรายการต้นตำรับทอล์กโชว์ “สี่ทุ่มสแควร์” ดำเนินรายการโดย วิทวัส สุนทรวิเนตร์ [ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๖) เปลี่ยนชื่อเป็นวิทวัจน์] มีพิธีกรผู้ช่วยคือ “เด๋อ ดอกสะเดา” และ ดวงตา ตุงคะมณี เน้นความสดในการสัมภาษณ์คนมีชื่อเสียง เป็นรายการแรก (ก่อน “เจาะใจ”) ที่นำเสนอชีวิตหลังกล้องของดารา แบ่งเป็นหลายช่วงคือ ช่วงสัมภาษณ์และช่วงปกิณกะ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการอยู่ตลอดเวลา ช่วงที่ได้รับความนิยมสูงนอกจากการสัมภาษณ์ เช่น “โฮมวิดีโอ” ซึ่งซื้อฟุตเทจวิดีโอส่วนตัว (ในยุคที่คนทั่วไปยังเข้าไม่ถึงกล้องวิดีโอซึ่งมีราคาแพงและไม่มีกล้องในโทรศัพท์มือถือ) ของชาวต่างประเทศ

ทั้งนี้ยังมีรายการทีวีอีกหลายรายการที่อยู่ในความทรงจำของวัยรุ่นยุค 90s

Image

Image

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป รายการทีวีบางรายการ เช่น “ฝันที่เป็นจริง” ก็ถูกตั้งคำถามจากงานค้นคว้าของนักวิชาการในปัจจุบันโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยนำเสนอในงาน “Doc+Talk ครั้งที่ ๕ : Poverty, Inc.” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อธันวาคม ๒๕๕๙ ว่า บางทีความจนก็กลายเป็น “สินค้า” และในสังคมที่เป็นทุนนิยมต้องมีคนจน เนื่องจากเป็นความสุข (pleasure) บางอย่างสำหรับคนรวยที่จะให้ทาน สาเหตุของความจนยังเกิดจากปัญหาทั้งในระดับตัวบุคคล โครงสร้างวัฒนธรรม โดยยังปรากฏอุตสาหกรรมผลิต “ความยากจน” ที่ทำให้รัฐ NGO มีงานทำ ธุรกิจได้ทำกิจกรรม CSR คนดังในสังคมได้ทำบุญเพื่อได้รับชื่อเสียงมากขึ้น

กรณีละครเรตติงสูงอย่าง คู่กรรม ยุพา คลังสุวรรณ ผู้เขียน ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี ระบุว่า “โกโบริ” ในคู่กรรมนั้นไม่ได้สะท้อนความเป็นญี่ปุ่น แต่กลับสร้างความรู้สึกดีให้คนญี่ปุ่น เพราะ “สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก” ให้ญี่ปุ่นแทนที่จะเป็นฆาตกรสงคราม จนญี่ปุ่นสนับสนุนการวิจัยละครเรื่องนี้  คนญี่ปุ่นยังมองว่าถ้าโกโบริมีตัวตนจะเป็น “ผู้ทรยศ” ตามค่านิยมญี่ปุ่น จากการช่วยคนไทยหลายเรื่องในละคร

วรรณะ หนูหมื่น จากภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ยังนำเสนอในบทความ “นัยการข่มขืนในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทย : วิพากษ์ผลการศึกษาด้วยวิธีวิทยาแบบโครงสร้าง” ว่ากรณีละคร คู่กรรม กับ ดาวพระศุกร์ ถูกมองว่ามีนัยกล่าวถึงการข่มขืน (นางเอกถูกพระเอกขืนใจ) โดย “ลบล้างความเป็นอาชญากรรมทางเพศ” ทั้งผู้ถูกกระทำยัง “ได้รางวัล” จากตัวบทที่ดำเนินต่อไปและยังคงสะท้อนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่อยู่

Image

บางที เมื่อรำลึกถึงรายการโทรทัศน์ในยุค 90s นอกจากสุขใจเพราะเป็นความทรงจำในวัยเยาว์แล้ว เราอาจต้องทบทวน “บทเรียน” จากเนื้อหาทีวีในยุคดังกล่าวบางรายการซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกับแนวคิด “วัยรุ่นยุค 90s” 

ซึ่งกลายมาเป็น “ผู้ใหญ่” ในคริสต์ทศวรรษ ๒๐๒๐ (ปี ๒๕๖๓-๒๕๗๒) ด้วย  

เอกสารประกอบการเขียน
วรรณะ หนูหมื่น. (๒๕๕๖). “นัยการข่มขืนในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทย : วิพากษ์ผลการศึกษาด้วยวิธีวิทยาแบบโครงสร้าง”. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ๑๔ (๒), มกราคม-มิถุนายน.

ยุพา คลังสุวรรณ. (๒๕๔๗). ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี
กรุงเทพฯ : มติชน.

Doc+Talk5 : Poverty, Inc. บริษัทนี้มีความจนมาขาย. (๒๕๖๔). สืบ
ค้นจาก https://www.sdgmove.com/2016/12/24/doctalk5-poverty-inc