Image

สรุปรวบรวม : ศรัณย์ ทองปาน

ครึ่งแรกของทศวรรษ ๑๙๙๐ (ปี ๒๕๓๓-๒๕๔๒) เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนเป็นที่คาดหมายกันว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว”  เป็น “เสือตัวใหม่” ทางเศรษฐกิจ หรือ “เสือตัวที่ ๕ ของเอเชีย” (ต่อจากสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง) ในไม่ช้า

ความเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยุคนั้นเป็นผลพวงจากความเฟื่องฟูของตลาดเงินตลาดทุนโลก และการขยายตัวของการลงทุนข้ามพรมแดน ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นในทศวรรษ ๑๙๘๐

ขณะนั้นมีความใฝ่ฝันกันว่าการเปิดให้มีกิจการวิเทศธนกิจ
ขึ้นในประเทศ คือขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค

กิจการวิเทศธนกิจหมายถึงธุรกิจการเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ การรับฝากเงินหรือกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ การให้กู้ยืมเงินเป็นเงินตราต่างประเทศในประเทศ
ไทยและต่างประเทศ การซื้อขายปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่ไม่ใช่เงินบาท การค้ำประกันหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศกับบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ การจัดหาเงินกู้ที่มีแหล่งที่มาจากต่างประเทศ หรือการเป็นผู้จัดการในการจัดกู้ ฯลฯ

ในปี ๒๕๓๖ กระทรวงการคลัง สมัยนายธารินทร์ นิมมาน
เหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ มีนโยบายอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศเปิดดำเนินธุรกิจวิเทศธนกิจในประเทศไทยได้ เรียกกันว่า BIBF (Bangkok International Banking Facilities) โดยธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มดำเนินธุรกิจวิเทศธนกิจเป็นแห่งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ 

หลังจากนั้น ช่วงปี ๒๕๓๗-๒๕๓๘ จึงมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศ ผ่านธนาคารพาณิชย์และกิจการวิเทศธนกิจเข้าสู่ประเทศไทยปริมาณมหาศาล เงินทุนเหล่านี้ถูกนำมาปล่อยกู้ เนื่องจากขาดแคลนเงินออมภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศต่ำกว่าดอกเบี้ยภายในประเทศมาก ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศถูกกำหนดไว้ให้คงที่ คือ ๑ ดอลลาร์สหรัฐต่อ ๒๕ บาทมาเนิ่นนาน

พร้อมกันนั้นเงินทุนต่างประเทศอีกไม่น้อยยังทะลักเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ นำไปสู่การเก็งกำไรที่ดินและโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ๆ ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

แม้นักเศรษฐศาสตร์จะพยายามส่งสัญญาณว่าทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นล้วนเป็นภาพลวงตาของ “ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่” (economic bubble) เมื่อราคาทรัพย์สิน หลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ถูก “ปั่น” ให้มีมูลค่าเกินความเป็นจริง แต่กลับแทบไม่ได้รับความใส่ใจ  ด้วยว่าสังคมไทยกำลังล่องลอยอยู่ในบรรยากาศชื่นมื่นแห่งความมั่งคั่งและความหวัง

ตั้งแต่ทศวรรษก่อนหน้า ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เริ่มปรับโฉมเข้าสู่ยุคใหม่ เช่นการเกิดขึ้นของเซ็นทรัล ลาดพร้าว 
(ปี ๒๕๒๔), มาบุญครอง (ปี ๒๕๒๘ ปัจจุบันคือ MBK) และเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปี ๒๕๓๒ ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์) ยิ่งเมื่อถึงทศวรรษ ๑๙๙๐ สาขาใหม่ ๆ ของห้างเริ่มผุดขึ้นตามพื้นที่ปริมณฑลกรุงเทพฯ รองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองที่แผ่ออกไปทุกทิศทุกทาง เช่น เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี (ปี ๒๕๓๔) ติดตามมาด้วยเดอะมอลล์ บางแคและบางกะปิในปีต่อมา (ปี ๒๕๓๕) ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี (ปี ๒๕๓๘) และฟิวเจอร์พาร์ค บางแค (ปี ๒๕๓๘ ปัจจุบันคือซีคอน บางแค) บิ๊กคิงส์ บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี (ปี ๒๕๓๙ ปัจจุบันปิดร้าง)

วิถีชีวิตของคนเมืองที่ถูกนำเสนอผ่านหน้าสื่อเต็มไปด้วยการปรุงแต่งรสนิยมอย่างหรูเลิศวิไล มีคอลัมน์แนะนำไวน์ 
ต่างประเทศราคาขวดละเป็นหมื่นเป็นแสนบาทตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน  มีการสะสมงานศิลปะเพื่อเก็งกำไร ถึงระดับที่แม้ตัวศิลปินยังเป็นเพียงนักศึกษาศิลปะปีต้น ๆ แต่หากดู “มีแวว” ก็เริ่มมีคนจับจองผลงานกันไว้ล่วงหน้าแล้ว การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ อย่างไปสิงคโปร์เพื่อชม การแสดงละครเพลง Les Misérables (เหยื่ออธรรม)  หรือชมนิทรรศการศิลปะระดับโลก กลายเป็นเรื่องปรกติ

นอกกรุงเทพฯ ออกไป ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจไทย
ในภูมิภาคปรากฏชัดเจนจากสถิติยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศต่อปี จากหลัก ๒ แสนคันเมื่อปี ๒๕๓๔ ขึ้นเป็น  ๓ แสนคันในปี ๒๕๓๕ ไต่ขึ้นสู่ ๔ แสนคันช่วงปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ แล้วทะลุ ๕ แสนคันได้เป็นครั้งแรกในปี ๒๕๓๘ ก่อนเข้าใกล้ ๖ แสนคันในปี ๒๕๓๙

Image

ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่จบสิ้นลงอย่างกะทันหันในปี ๒๕๔๐ ทิ้งไว้เพียงซากโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหลายแห่งต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะได้ก่อสร้างต่อ ขณะที่บางแห่งยังคงถูกทิ้งร้างมาจนบัดนี้

แต่แล้วเมื่อถึงครึ่งแรกของปี ๒๕๔๐ ไทยต้องเผชิญกับการโจมตีค่าเงินบาทจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ทุนสำรองของประเทศเพื่อการนี้ไปจนเกือบหมดสิ้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการไว้ได้

๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท คือเปลี่ยนจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (managed float) เงินบาทอ่อนค่าลงทันที จาก ๒๕ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เป็น ๓๒ บาทในชั่วข้ามคืน

นับแต่วันนั้นประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

มาตรการสารพัดอย่างที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาไม่บรรลุผล  สุดท้ายเดือนต่อมา สิงหาคม ๒๕๔๐  
ประเทศไทยจึงต้องขอเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) ซึ่งมาพร้อมเงื่อนไขการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากมาย

ธนาคารและสถาบันการเงินหลายสิบแห่งของคนไทยถูกขายทอดตลาด เปลี่ยนมือ เปลี่ยนชื่อ แล้วสุดท้ายควบรวม

เข้ากับธนาคารอื่น ๆ จนสาบสูญชื่อเสียงเรียงนามไปตลอดกาล เช่น ธนาคารนครธน ธนาคารกรุงเทพพณิชยการ ธนาคารศรีนคร ธนาคารไทยทนุ ธนาคารสหธนาคาร ฯลฯ

พนักงานบริษัทจำนวนมากต้องตกงาน หรือถูกลดเวลาทำงาน ลดเงินเดือน โบนัสปีละ ๘ เดือน ๑๐ เดือน กลายเป็นเรื่องของอดีตที่ไม่มีวันหวนคืน  เจ้าของกิจการระดับร้อยล้านพันล้านต้องสิ้นเนื้อประดาตัว  เกิดมหกรรม “เปิดท้ายขายของ” หรือ “ตลาดคนเคยรวย” ขึ้นทุกมุมเมือง ความทุกข์ยาก สิ้นหวัง หดหู่ แผ่ขยายปกคลุมสังคมไทย

Image

สภาพเช่นนี้เองคือบริบทแห่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ที่ว่า

“...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน  แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชู
ตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง...”

ขณะเดียวกันหลังจาก “ลอยตัว” ค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ เงิน ๑ ดอลลาร์สหรัฐที่เคยใช้เงินไทยแลก ๒๕ บาท ถีบตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนทำสถิติใหม่ อ่อนตัวต่ำสุด
ที่ระดับ ๕๖ บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อถึงเดือนมกราคม ๒๕๔๑ 

เท่ากับว่าหนี้สินต่างประเทศของบริษัทและกิจการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเท่าตัว ตัวอย่างเช่นหนี้สินจำนวน ๑ พันล้านบาท ทวีคูณเป็นกว่า ๒ พันล้านบาท ภายในเวลาเพียง ๖ เดือน


ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากที่เคยร้อนแรง ทำสถิติสูงขึ้นไปเกิน ๑,๔๐๐ จุดในเดือนมกราคม ๒๕๓๙ แต่เมื่อถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๑ กลับตกลงเหลือเพียง ๒๐๗ จุด

เช่นเดียวกับยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จากเกือบ

๖ แสนคันเมื่อปี ๒๕๓๙ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐ อำนาจการซื้อของประชาชนหายวับไปทันที ยอดขายรถยนต์ ปีนั้นเหลือเพียง ๓ แสนคัน

ยิ่งเมื่อถึงปี ๒๕๔๑ ก็ลดลงไปอีกกว่าครึ่ง คือไม่ถึง 
๑.๕ แสนคันด้วยซ้ำ

หากแต่สภาวะที่เงินบาทอ่อนตัวเช่นนี้กลับส่งผลดีสำหรับการส่งออก เพราะเท่ากับว่าสินค้าจากประเทศไทยราคาถูกลงในตลาดโลก ขณะที่เงินตราต่างประเทศที่ได้รับคืนมากลับมีมูลค่าสูงเมื่อคิดเป็นเงินไทย  ดังนั้นแม้ลูกค้าในประเทศจะหายไป แต่ยอดส่งออกรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย จากจำนวนเพียง ๑.๔ หมื่นคันในปี ๒๕๓๙ จึงเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ กลายเป็นกว่า ๔ หมื่นคันในปี ๒๕๔๐


เมื่อถึงปี ๒๕๔๒ ยอดส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยสามารถถีบตัวทะลุหลักแสนคันได้เป็นครั้งแรก

นั่นคือแม้ในท่ามกลาง “วิกฤต” ยังมี “โอกาส” ใหม่ ๆ สำหรับประเทศไทยด้วยเช่นกัน