Image

Image

ท้ายครัว

เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย

คงต้องมีอายุมากๆ หน่อยก่อนกระมังครับ...เราจึงค่อยเห็นว่า กลางเดือนกุมภาฯ ช่วงวันวาเลนไทน์นั้นยังมีดอกไม้อื่นๆ นอกจากดอกกุหลาบ เบ่งบานอยู่ด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ “ดอกงิ้ว” ที่คนไทยอาจนึกกระหวัดไปถึงทุรกรรมหลังความตาย และหนามแหลมๆ บนลำต้นของมัน มากกว่าดอกสีส้มสวยๆ นั้นนะครับ...หุหุ

Image

งิ้วจะบานดอกเต็มต้นเหมือนไฟลุกโพลงเป็นหย่อมๆ ในป่าในทุ่งโดยเฉพาะริมถนนทั่วประเทศ ดอกงิ้วดอกหนาซึ่งมีก้านเกสรเป็นพวงพู่จะร่วงเต็มพื้นให้เห็นในภาคอื่นที่ไม่ใช่ภาคเหนือ เพราะคนเหนือมีกับข้าวที่ใช้เกสรดอกงิ้วแห้งปรุงหลายอย่าง เช่น น้ำเงี้ยวขนมจีน และแกงดอกงิ้ว หรือจะต้มน้ำดื่มเป็นชาก็ยังได้ พวกเขาจึงเก็บดอกของมันกลับบ้านไปในฐานะวัตถุดิบอาหารอย่างแสนจะคุ้มค่า

ส่วนดอกงิ้วภาคอื่นๆ นั้นล้วนร่วงหล่นแห้งเปื่อยอยู่โคนต้น...จะนับเป็นความสวยงามที่สูญเปล่าทางอาหารได้ไหมนะ?

Image

ขอเล่าประสบการณ์ของตัวเองก็แล้วกัน ผมจอดจักรยานใต้ต้นงิ้วริมน้ำป่าสักในเขตลพบุรี แล้วขึ้นปีนต้น... เอ๊ยไม่ใช่ๆๆ แล้วนั่งลงค่อยๆ เลือกดอกร่วงใหม่สวยๆ ปลิดกลีบดอก ตัดข่ริบปลายเกสร เอาแต่พวงช่อ ได้มากพอแล้วก็ใส่เป้จักรยานกลับมาใส่กระจาดผึ่งแดดสัก ๑ วัน จนแห้งดี

จะมาชวนทำ “พะโล้เนื้อวัวใส่ดอกงิ้ว” สูตรเครื่องเทศแบบยูนนานครับ...ใส่ไข่ต้มด้วยต้มชิ้นเนื้อวัวติดมันในหม้อน้ำเดือด ใส่เครื่องเทศที่คนครัวย่านหุบเขาเหนือล้านนาใช้กันตัวสำคัญเช่น ลูกกระวานดำ ลูกเร่ว ดอกจันทน์ ใบเบย์ แล้วก็เหล้าจีนเยอะๆ ส่วนที่คุ้นหน่อยก็พริกไทยดำ เม็ดกำจัด พริกแห้งเม็ดใหญ่ หัวกระเทียม ขิงแก่ ขมิ้นชันนิดนึงแถมผักใส่ข้าวแดง (อังขัก) ของคนจีนแคะแต่งสีด้วย ทยอยปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำหวาน-ดำเค็ม เกลือ น้ำตาลปี๊บ คอยเติมน้ำ ต้มไปสัก ๑ ชั่วโมง จึงใส่ดอกงิ้วที่ผึ่งแดดไว้นั้น

Image

ต้มต่ออีกราว ๑ ชั่วโมง หรือดูจนทั้งเนื้อวัวและดอกงิ้วเปื่อยพอดีๆ ชิมรสเค็มรสหวานที่ชอบโรยผักชีหั่น ตักใส่ชามมากินได้แล้วครับ ถ้ามีน้ำส้มพริกดองบดสักถ้วยก็ยิ่งเด็ด...

Image

เวลาเห็นดอกงิ้วร่วงทิ้งไปเปล่าๆ แล้วมันเสียดายความอร่อยกรุบๆ ที่ซับน้ำแกงได้ดี มีรสฝาดมันอ่อนๆ ใครคิดกับข้าวงิ้วๆ แนวใหม่ล้ำๆ ได้ เล่าสู่กันฟังบ้างสิครับ

เรามากินดอกงิ้วกันเถอะ...