Image
Image

กรอกลับ
วงการดนตรีไทย
ในยุค 90s

90s is back!

เรื่อง : สกก์บงกช ขันทอง

Image

คงเป็นเรื่องชวนกร่อยไม่ใช่น้อย หากจะกล่าวถึงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ โดยไม่กล่าวถึงวงการเพลงไทย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่แสนเจริญงอกงาม

บทเพลงทุกแนวเปล่งแสงแห่งความหวัง สู่ผลลัพธ์ที่มาในรูปแบบเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลในอุตสาหกรรมจากปรากฏการณ์ล้านตลับ การก่อกำเนิดของศิลปินขวัญใจวัยรุ่น การสานต่อดนตรีร็อกอันร้อนแรงทั้งบนดินและใต้ดิน การถือกำเนิดดนตรีทางเลือกที่นำไปสู่การเติบโตของค่ายอิสระ การรับไม้ต่อจากศิลปินรุ่นใหญ่สู่แนวเพลงเพื่อชีวิตที่หลากหลาย รวมถึงวัฒนธรรมป็อปหลากรูปแบบที่คาบเกี่ยวระหว่างยุคแอนะล็อกที่จับต้องได้และดิจิทัลที่ยังอยู่ในช่วงหัดคลาน ทำให้ช่วงเวลาของทศวรรษนี้เป็นความทรงจำอันหอมหวานที่ไม่มีวันลืมเลือนได้ลง

ด้วยหน้ากระดาษอันจำกัด เราไม่อาจเล่าครอบคลุมวงการดนตรีจำนวนมหาศาลได้ครบหมด จึงขอคัดปรากฏการณ์อันน่าสนใจในช่วงรุ่งอรุณของโมงยามแห่งวงการดนตรี อันเป็นยุคสมัยสำคัญที่นักฟังเพลงไม่มีวันลืม

เรามากรอกลับไปสัมผัสเจ็ดปรากฏการณ์แห่งดนตรีไทยพร้อม ๆ กัน

หมายเหตุ : เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวของคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ จึงขอเลือกใช้ตัวเลขคริสต์ศักราชแทนพุทธศักราช

Image

การยืนหยัด
สู่ปรากฏการณ์ล้านตลับ
ของ GRAMMY

ค่ายแกรมมี่ (หรือ GMM ในปัจจุบัน) ถือเป็นผู้ปฏิวัติวงการดนตรีไทยให้กลายเป็นดนตรีป็อปอย่างแท้จริง จากการถือกำเนิดใน ค.ศ. ๑๙๘๓ ย่างก้าวสู่ยุค 90s ด้วยศิลปินในมือระดับแม่เหล็กมากมาย และขยายภาคธุรกิจบันเทิงครบวงจร จนกลายเป็นบริษัทบันเทิงที่ทรงอิทธิพลอย่างรุนแรงในทศวรรษนี้

แน่นอนว่าแม่เหล็กที่ดึงดูดนักฟังเพลงส่วนหนึ่งก็มีต้นทุน
มาจากยุค 80s นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์สตาร์ตลอดกาล  เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ที่ก้าวข้ามสู่ยุค 90s มาสร้างสถิติใหม่ผ่านอัลบัม บูมเมอแรง (๑๙๙๐) อัลบัมแรกที่ผ่านหลัก ๒.๕ ล้าน อย่างสมศักดิ์ศรี มีบทเพลงสุดฮิตตลอดกาลอย่าง “บูมเมอแรง” “คู่กัด” “เงียบ ๆ คนเดียว” “หมอกหรือควัน” และ “พักตรงนี้” สานต่อความสำเร็จด้วยอัลบัม พริกขี้หนู (๑๙๙๑) ในแฟชั่นแนวเร็กเก้อันแสบสัน พร้อมทั้งการเป็นพรีเซนเตอร์ให้ฟิล์มยี่ห้อดัง ที่ตอกย้ำความแรงจนทำให้อัลบัมชุดนี้มียอดขายถึง ๓.๕ ล้านตลับ

“พี่เบิร์ด” ในยุคนั้นไม่เพียงฟีเวอร์เฉพาะการเป็นนักร้อง
เท่านั้น แต่ยังข้ามไปดังในรูปแบบละคร คู่กรรม (๑๙๙๐) ในบทโกโบริ จนเกิดเป็นตำนานละครหลังข่าวที่เรตติงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมไปถึง วันนี้ที่รอคอย (๑๙๙๓) ก็ฮิตไม่แพ้กัน

ศิลปินอีกคู่ที่คงคอนเซปต์ “จิ๊กโก๋อกหัก” มาตั้งแต่ยุค 80s 
เมื่อข้ามเข้ายุค 90s ก็ยังได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงไม่เสื่อมคลาย ได้แก่ อัสนี-วสันต์ โชติกุล อัลบัม สับปะรด (๑๙๙๐), รุ้งกินน้ำ (๑๙๙๓) และ บางอ้อ (๑๙๙๗) ทั้งเพลงสนุกและเพลงช้าเรียกศรัทธาจากแฟนเพลงได้อย่างทรงพลังเช่นเคย แถมอัสนียังเปิดค่ายเพลงที่ชื่อ More Music ค่ายลูกใต้ชายคาแกรมมี่ ส่งไม้ต่อแห่งตำนานให้กับ Loso, Silly Fools ในกาลต่อมาอีกด้วย

ด้านวงดนตรีนูโว วงน้องใหม่เมื่อปลายยุค 80s ก็เสริม
ความนิยมต่อมา ผ่านอัลบัมชุดที่ ๒ บุญคุณปูดำ (๑๙๙๐) และเสริมความเข้มข้นของดนตรีร็อกด้วย สุด ๆ ไปเลย…ซิ (๑๙๙๑) ก่อนจะพักวงด้วยอัลบัม O2 (๑๙๙๒) ทั้งสามอัลบัมในยุค 90s ล้วนได้รับการตอบรับจากแฟน ๆ อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นการผสมผสานแนวทางการขายทั้งหน้าตาและฝีมือได้อย่างลงตัว

โมเดลนี้ถูกใช้อีกครั้งกับอินคา วงโฟล์กร็อกที่วางอัตลักษณ์
เป็นหนุ่มผมยาวทั้งวง เปิดตัวด้วยอัลบัม คนล่าฝัน (๑๙๙๑) ผ่านล้านตลับอย่างง่ายดาย แต่น่าเสียดายที่ทัศนคติของวงไม่ตรงกัน มีการเปลี่ยนแปลงจนเหลือเพียงสามคน ทำให้อัลบัม ตามรอยตะวัน (๑๙๙๓) ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

ฟากป็อปแดนซ์ มีศิลปินมากมายในย่านอโศกตบเท้าสร้างสีสัน ไม่ว่าจะเป็นราชินีป็อปแดนซ์ คริสติน่า อากีล่าร์ ที่อัลบัมชุดแรก นินจา (๑๙๙๐) สร้างความเกรียวกราวผ่านดนตรีเต้นรำสมัยนิยม ด้วยเพลงจังหวะสนุก ๆ อย่าง “พลิกล็อค” “ประวัติศาสตร์” รวมไปถึงชุดต่อ ๆ มา ก็ทำให้ฟลอร์ลุกเป็นไฟ พร้อมทั้งสร้างปรากฏการณ์ล้านตลับแทบทุกชุดในทศวรรษนั้น

เจ เจตริน น้องชายโจ นูโว จากอัลบัมแรก จ เ-ะ บ (๑๙๙๑) 
ก็แจ้งเกิดด้วยท่าเต้นกวน ๆ หมาเกาหู จากเพลง “ฝากเลี้ยง” ก่อนจะดังตามสมัยนิยมด้วยการนำดนตรีแรปในยุคนั้นมาใส่สำเนียงไทยในอัลบัมชุดที่ ๒ 108-1009 (๑๙๙๓) เพลง “ยุ่งน่า” ถือเป็นต้นตระกูลของดนตรีแรปในยุคนั้นเลยก็ว่าได้

เราต้องไม่ลืมสาวน้อยมหัศจรรย์ ทาทา ยัง สาวน้อยแสนซน
ที่โดดเด่นทั้งบทเพลงและแฟชั่นที่วัยรุ่นแต่งตัวตามกันเป็นทิวแถว ด้วยอัลบัม อมิตา ทาทา ยัง (๑๙๙๕) และการจับคู่จิ้นกับมอส ปฏิภาณ จากหนัง จักรยานสีแดง ก็ช่วยเสริมภาพลักษณ์วัยรุ่นยุค 90s อย่างเด่นชัด

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศิลปินมากมายในตึกแกรมมี่
ที่โดดเด่นในยุค 90s

นอกจากนั้นยังมี ใหม่ เจริญปุระ นักแสดงที่ผันตัวมาเป็น
ศิลปิน, แอม เสาวลักษณ์ จากป็อปไอดอลวง สาว สาว สาว ในทศวรรษที่แล้ว สู่สาวแกร่งที่เขียนเพลงช้ำรักได้โดนใจ, บิลลี่ โอแกน ก็หยิบความเข้มมาเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ, โบ สุนิตา หญิงสาวที่ขายน้ำเสียงมากกว่าภาพลักษณ์ก็สามารถผ่านล้านตลับอย่างง่ายดาย

แกรมมี่ในยุค 90s ถือเป็นค่ายเพลงแถวหน้าของวงการ 
ที่ผสานทั้งศิลปินระดับแม่เหล็ก และพร้อมต้อนรับศิลปินหน้าใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งและเต็มไปด้วยสีสันที่น่าจับตา

ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

Image

RS คลุกวงใน
เข้าถึงใจวัยรุ่นยุค 90s

ในช่วงยุค 80s ของ Rose Sound หรือที่รู้จักกันในนาม RS
ยุคบุกเบิก เริ่มต้นจากการทำเพลงป็อปตามสมัยนิยม มีวงดัง ๆ อย่างคีรีบูน ฟรุตตี้ บรั่นดี เรนโบว์ จนลุแก่ช่วงเวลาที่แนวเพลงแปรผกผันตามยุคสมัย RS ในยุค 90s ก็ยังคงครองใจนักฟังเพลงกลุ่มวัยรุ่นเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือกลายเป็นยุคสมัยคลาสสิกของค่ายนี้และเป็นที่จดจำไปตลอดกาล

เริ่มต้นด้วยการผลักดันเด็กหนุ่มที่ชื่อ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ออกผลงานชิ้นแรกในชื่อ สัมผัสทัช (๑๙๙๐) และในปีต่อมาแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในอัลบัมชุดที่ ๒ ทัช ธันเดอร์ (๑๙๙๑) จนเพลง “เท้าไฟ” กระหึ่มในทุกสถานบันเทิง 

การออกผลงานในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันของทัช จากค่ายอาร์เอส และเจ จากค่ายแกรมมี่ ก็ถูกจับมาเป็นศิลปินคู่แข่งที่ทำเพลงแย่งฐานแฟนคลับกันอย่างร้อนแรงในยุคนั้น

ความนิยมที่มีต่อทัชนั้นท่วมท้น ค่ายอาร์เอส (ที่ ณ ขณะนั้นใช้ชื่อว่า RS Promotion 1992) เล็งเห็นว่าตลาดวัยรุ่นเข้าถึงได้ง่ายและมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง ค่ายจึงปฏิวัติวงการ ด้วยการเข็นศิลปินวัยรุ่นออกมาไม่ขาดสาย 

เริ่มต้นด้วยบอยสเก๊าท์ สามหนุ่มวัยรุ่นที่มีคาแรกเตอร์แตกต่าง แต่สร้างปรากฏการณ์เสียงกรี๊ดได้อย่างกระหึ่มเมืองในอัลบัม ไว้ลายไม่ใช่เล่น (๑๙๙๓), เต๋า สมชาย จากนักแสดง
ขวัญใจวัยรุ่นสู่การเป็นนักร้องสุดห้าว ด้วยอัลบัม เต๋าหัวโจก (๑๙๙๓) และสร้างคู่จิ้นคู่ใหม่ร่วมกับนุ๊ก สุทธิดา, แร็พเตอร์ คู่หูอายุน้อย ทำดนตรีแรปตามสมัยนิยมในยุคนั้น, ลิฟท์กะออยคู่หูคู่กวน กับแฟชั่นเสื้อเอวลอย และเพลง “รมณ์บ่จอย” ที่ฮิตกันทั้งบ้านทั้งเมือง, โดม-ปกรณ์ ลัม นักแสดงและนายแบบสุดหล่อ กับเพลงที่เจือกลิ่นอายดนตรีอิเล็กทรอนิกตามสมัยนิยม, บาซู วงทรีโอป็อปแดนซ์กับเพลงฮิตติดหูและท่าเต้นที่คนเต้นตามกันทั้งประเทศ

แต่ศิลปินที่เป็นที่จดจำและเรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมหาศาลก็คือเจมส์ เรืองศักดิ์ อัลบัม ได้เวลา...เจมส์ (๑๙๙๕) สร้างชื่อให้หนุ่มน้อยหน้าตี๋และทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักทั้งบ้านทั้งเมือง ที่เปรี้ยงที่สุดจนทำให้ยอดขายพุ่งกระฉูดคือ อัลบัมชุดที่ ๒ ไซเรนเลิฟ (๑๙๙๗) มีเพลงระดับเมกะฮิต อย่าง “ไซเรนเลิฟ” “ข้าวมันไก่” “ไม่อาจเปลี่ยนใจ” เป็นเพลงชาติของชาววัยรุ่นในยุคนั้น

Image

สไตล์อันจัดจ้าน คาแรกเตอร์อันโดดเด่น แพ็กเกจของเทปคาสเซ็ตที่ไม่เหมือนกับค่ายไหน และเพลงที่ติดหู ทำให้อาร์เอสกลายเป็นค่ายที่ยึดหัวใจวัยรุ่นไว้อย่างเหนียวแน่น พิสูจน์ได้จากการออกอัลบัมฉลองล้านตลับอยู่บ่อย ๆ (อัลบัมฉลองล้านตลับคือการรีแพ็กเกจจิงใหม่ เพิ่มเพลงสองถึงสามเพลง ทำเพื่อเอาใจแฟนเพลงที่รักและชอบในตัวศิลปินนั้นโดยเฉพาะ)

อาร์เอสสตาร์คลับ กลายเป็นนิตยสารที่สะสมฐานแฟนคลับที่วัยรุ่นทุกคนยื้อแย่งเพื่อที่จะได้มาครอบครอง  ค่ายอาร์เอสยังจับธุรกิจหนัง เพื่อเสริมส่งศิลปินให้มีบทบาทและภาพจำมากกว่าการเป็นนักร้องได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ถึงจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าศิลปินบางคนไม่น่าจะมาเป็นนักร้องได้ หรือการเน้นขายหน้าตามากกว่าฝีมือ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป บทเพลงของอาร์เอสยังคงข้ามผ่านเหนือกาลเวลา สังเกตได้จากเมื่อมีคอนเสิร์ตรียูเนียนเมื่อไร ตั๋วคอนเสิร์ตก็ขายเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็วแทบทุกครั้ง

Image

Bakery Music
ค่ายเพลงยกระดับมาตรฐาน
เพลงไทย

แม้ว่าแกรมมี่-อาร์เอส จะยึดหัวหาดครองตลาดวงการดนตรีเกินครึ่ง แต่ยุค 90s ก็มีอีกค่ายหนึ่งที่ถือกำเนิดและเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญแห่งวงการดนตรีในไทยได้อย่างไม่น่าเชื่อ นั่นก็คือค่ายขนมปังดนตรี Bakery Music นั่นเอง

เด็กหนุ่มไฟแรงทั้งสามที่มีความชอบในแนวดนตรีแตกต่างกัน อันได้แก่ บอย โกสิยพงษ์, สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์และสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ก่อตั้งค่ายดนตรีเบเกอรี่มิวสิค เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๓ และปล่อยผลงานของโมเดิร์นด็อกเป็นชุดแรก ด้วยความแตกต่างทั้งแนวดนตรีและภาพลักษณ์ขบถที่ไม่ซ้ำทางตลาดดนตรีในยุคนั้น ทำให้โมเดิร์นด็อกและค่ายเบเกอรี่ฯ กลายเป็นที่สนใจในหมู่วัยรุ่นนักฟังเพลงที่โหยหาความแปลกใหม่ได้อยู่หมัด

ผลงานต่อมาของ บอย โกสิยพงษ์ กับอัลบัม Rhythm &  Boyd (๑๙๙๕) ก็แหวกตลาดอีกครั้งด้วยงาน R&B ที่แหวกตลาดดนตรีเช่นกัน เพียงแค่สองอัลบัม ค่ายเบเกอรี่ฯ ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว และให้กำเนิดศิลปินที่ฉีกภาพลักษณ์จากสมัยนิยมในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น โจอี้ บอย ที่ทำงานเพลงสไตล์แรปพันธุ์แท้, P.O.P วงป็อปร็อกที่มีเนื้อหาโดนใจ, Pause วงร็อกที่เริ่มต้นจากงานสไตล์ฟังก์ ก่อนจะคลี่คลายกลายเป็นวงทำเพลงละมุนที่มีเพลงโดน ๆ อย่าง “ที่ว่าง” “รักเธอทั้งหมดของหัวใจ” “ดาว” และ “ความลับ” อรอรีย์ สาวกรันจ์กับเพลงร็อกสุดหนักแน่น, Yokee Playboy เพลงสไตล์ไซคีเดลิกสุดเย้ายวนกวนบาทา รวมไปถึงเพลงนุ่มซึ้งจาก ธีร์ ไชยเดช และเพลงโซลสุดซึ้งของ Soul After Six 

นอกจากเพลงสายคุณภาพสำหรับนักฟังเพลงตัวจริงแล้ว  เพลงสำหรับวัยรุ่นก็เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของวงการเพลงไทย การเปิดค่ายลูกอย่าง Dojo City ที่มุ่งหวังนำเสนอบทเพลงจากนักร้องหญิงน่ารักวัยทีน สอดคล้องกับช่วงเวลาบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป จากต่างประเทศที่กำลังอยู่ในกระแส

ช่วงเวลานั้น Dojo City จึงยึดหัวหาดบทเพลงวัยรุ่นเซ็นเตอร์พอยท์กันอย่างเอิกเกริก ทั้ง Niece, Triumphs Kingdom, Project H ที่มาพร้อมการก่อตั้งนิตยสาร Katch จนเกิดเป็นเทรนด์สำคัญคาบเกี่ยวไปถึงทศวรรษใหม่และกลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ Y2K ที่กลับมาฮิตอีกครั้งในยุคนี้

ความแตกต่างอาจจะสร้างภาพลักษณ์ให้ค่ายดนตรีนี้เป็นที่กล่าวขวัญในวงการ แต่การทำธุรกิจในช่วงเวลาที่ทั้งสามมีความเป็นศิลปินและยังไม่ประสาในการทำธุรกิจ ทำให้เบเกอรี่มิวสิคไม่ได้ไปต่อในทศวรรษต่อไป

ถึงอย่างไรก็ตามเบเกอรี่มิวสิคก็ได้สร้างบุคลากรทางดนตรีที่มีชื่อเสียง และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันดนตรีไทยสายคุณภาพจวบจนปัจจุบัน

Image

Image

Alternative
ดนตรีทางเลือก และการผุดขึ้น
ของค่ายเพลงอิสระ

ยุค 90s ฟากฝั่งตะวันตกได้ทำความรู้จักดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ซึ่งเป็นคำจำกัดความถึงทางเลือกเพื่อให้คนฟังมีชอยส์ที่แตกต่าง หัวหอกสำคัญคือวง Nirvana ที่พาดนตรีแนวกรันจ์เขย่าใจคนฟังทั่วทั้งโลก

ในไทยเอง ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟถือกำเนิดช่วง ค.ศ. ๑๙๙๔ พร้อมการก่อเกิดของค่ายเบเกอรี่ฯ โดยโมเดิร์นด็อกได้รีเซตวงการดนตรีไทยสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

พร้อมกันนั้นวง Crub ก็ทำดนตรีสำเนียงอังกฤษวางขายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แม้ดนตรีจะแปร่งหูไปสักหน่อย เมื่อเทียบกับวงโมเดิร์นด็อก แต่วง Crub ก็เป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์หน้าแรก ๆ ของวงการอัลเทอร์เนทีฟไทย

ในปีต่อมา แนวดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ (ที่คนไทยให้คำจำกัดความเป็นดนตรีชวนโดด) ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด จากการคลอดผลงานของศิลปินมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นออดี้ กับเพลง “เคย” ที่โด่งดังพร้อมอิมเมจศิลปินหัวทอง, ป้าง นครินทร์ อดีตคู่หูวงไฮดร้า กับอัลบัม ไข้ป้าง มีเพลง “สบายดี” พากันโดดทั้งเมือง, The Must สายเบื้องหลังที่มาเบื้องหน้าทำเพลงดัง “๒ ทาง”, พราว วงดนตรีจากลาดกระบังที่มีเพลง “เธอคือความฝัน” เป็นเพลงอมตะตลอดกาล, สี่เต่าเธอทำเพลงบริตป็อปยียวนกวนเวที และ Smile Buffalo เพลง “ดีเกินไป” ก็เป็นเพลงชวนโดดอันโด่งดัง

ศิลปินที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมาจากต่างค่าย นับเป็นช่วงเริ่มต้นของการก่อเกิดค่ายอิสระมากมายเป็นประวัติการณ์ หลุดจากการผูกขาดของค่ายเมนสตรีมอย่างค่ายแกรมมี่และอาร์เอสที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน 

ช่วงนี้มีค่ายต่างประเทศที่มาลองตลาดในไทย อันได้แก่ Sony Music Thailand, ค่าย Eminer ที่มาจาก EMI ค่าย Warner, ค่าย Polygram, ค่าย BMG  ขณะเดียวกัน มีส่วนหนึ่งมาจากนักดนตรีที่เรียนรู้การทำงานจากค่ายใหญ่ ก็ระดมทุนกันเปิดค่าย ไม่ว่าจะเป็น Eastern Sky, Boop Records, M Square, Stone Entertainment รวมไปถึง Bakery Music ที่เป็นต้นธารของดนตรีนอกกระแส

รูปแบบของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟไทยจะเริ่มต้นวางขายด้วยซิงเกิลหรืออีพี (extended play) เพื่อทดลองตลาด หากเพลงฮิตก็ค่อยทำอัลบัมเต็มออกขาย

สิ่งที่ผลักดันให้วงการดนตรีอัลเทอร์เนทีฟโด่งดังคือคลื่นวิทยุอย่าง Hot Wave ที่นำทีมโดย ยุทธนา บุญอ้อม ส่วนรายการโทรทัศน์ก็จะเป็นรายการ “ทไวไลท์โชว์” ที่เปิดโอกาสให้วงดนตรีหน้าใหม่ได้โชว์ฝีไม้ลายมือในช่วงโชว์ออฟ จนทำให้วัฒนธรรมอัลเทอร์เนทีฟเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง กระทั่งค่ายใหญ่อย่างแกรมมี่เองก็ยังแตกหน่อมีค่ายลูกอย่าง More Music เพื่อรองรับศิลปินอิสระ

ทว่าการไหลบ่าของศิลปินทางเลือกมากมายก็มีผลเสียจากหลายวงที่ไม่มีสื่อโปรโมต ทำให้ออกอัลบัมได้เพียงอัลบัมเดียวก็เลิกราจากวงการ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้ค่ายเพลงล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่กล้าทำเพลงอิสระและไม่ต้องหวังค่ายใหญ่อีกต่อไป

Image

Image

ร็อกจัดหนัก
ใต้ดินผยองเดช

ยุค 90s ถือเป็นยุคทองของดนตรีร็อก จากการกรุยทางของวงดนตรีอย่างไมโคร, ร็อคเคสตร้า, ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ จากยุค 80s  พอล่วงเลยมายุค 90s ช่วงต้นทศวรรษดนตรีร็อกยังคงยึดหัวหาดตลาดดนตรีอยู่

เริ่มที่ฟากแกรมมี่ อำพล ลำพูน ตัดสินใจแยกจากวงไมโครมาเป็นศิลปินเดี่ยว มีวลี “ขอมือขวาหน่อย” โด่งดังจนถึงทุกวันนี้, Y Not 7 วงร็อกที่มาในกระแสดนตรีอัลเทอร์ฯ เฟื่องฟู, โลโซ วงดนตรีสามชิ้น ศิลปินเบอร์แรกของค่าย More Music กับอัลบัมชุดแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของร็อกสตาร์ที่ชื่อเสก โลโซ, Fly วงร็อกต้อนรับยุค Y2K กับนักร้องนำที่มีเอกลักษณ์และการร้องไม่เหมือนใคร รวมไปถึงปลายยุค 90s
แกรมมี่ก็เปิดบ้านต้อนรับวงที่กลายเป็นตำนานในทศวรรษต่อมาอย่าง Silly Fools

ส่วนฟากอาร์เอสนั้น เปิดทศวรรษด้วยวง Hi-Rock วงฮาร์ดร็อกแฮร์แบนด์ที่มีน้ำเสียงแตกต่างจากวงร็อกทั่วไป มีเป้เป็นนักร้องนำ, เจี๊ยบ-พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร ทำเพลงแนวโปรเกรสซีฟร็อกได้อย่างน่าทึ่ง ต่อมาทั้งสอง เป้-เจี๊ยบ ก็ออกโปรเจกต์ในนาม ร็อกอำพัน นำเพลงยุคก่อนมาทำใหม่ในสไตล์ร็อก, เสือ ธนพล มาพร้อมสไตล์ร็อกที่จริงใจ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือวงหินเหล็กไฟ นำทีมโดยโป่ง ปฐมพงศ์ อดีตนักร้องนำวงดิ โอฬารฯ ที่ฟอร์มวงใหม่จนกลายเป็นตำนานแห่งร็อกฟากฝั่งลาดพร้าว โดยคอนเสิร์ต ช็อต ชาร์จ ช็อค คือหน้าประวัติศาสตร์สำคัญแห่งร็อกคอนเสิร์ตเมืองไทย

ยุค 90s ไม่ได้เป็นช่วงเรืองรองของดนตรีร็อกเมนสตรีมเท่านั้น แต่วงการร็อกใต้ดินก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เมื่อกระแสโลกเสรีค่อย ๆ มายังประเทศไทย ดนตรีสายเมทัลหนัก ๆ ก็กล้าที่จะล้ำเส้นศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็น Heavy Mod กับอัลบัม Rate X ห้ามออกอากาศอันลือลั่นไปด้วยสำเนียงกีตาร์และบทเพลงเนื้อหาดุดันในแบบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในแผ่นดินไทย, ดอนผีบิน สปีดเมทัลสุดโหดกับอัลบัม เส้นทางสายมรณะ และวงซีเปีย กับมินิอัลบัมแต่โหดเดือดจนไม่มีสถานีวิทยุไหนกล้าเปิด อย่างเพลง “เกลียดตุ๊ด”

กล่าวได้ว่ายุค 90s เป็นยุคเริ่มต้นของซีนดนตรีใต้ดินที่แสดงออกถึงความรุนแรงและเปิดกว้างทางความคิด ในยุคสมัยที่เมืองไทยค่อย ๆ เปิดกว้างทางด้านการแสดงออกอย่างสุดขั้ว

Image

Image

ลูกทุ่งฮิตเป็นพิเศษ

ยุค 80s เป็นยุคทองของเพลงลูกทุ่ง แต่เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ดนตรีแนวนี้แม้ไม่อาจจะฮิตเปรี้ยงปร้างได้เท่ายุคก่อน แต่มีสิ่งที่น่าบันทึกมากมาย

หลังจากราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ยึดครองความนิยมในยุค 80s และในช่วงต้นยุค 90s เธอตรวจพบเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองหรือโรคเอสแอลอีจนจากไปอย่างสงบใน ค.ศ. ๑๙๙๒ วงการดนตรีลูกทุ่งก็เกิดสุญญากาศที่ไร้คนสานต่อ จนค่ายนิธิทัศน์เปิดโปรเจกต์ที่ชื่อ “ซูเปอร์ฮิต” นำเพลงลูกทุ่งคลาสสิกมาทำเป็นเวอร์ชันแดนซ์ นำทีมโดย ดอน สอนระเบียบ ทำให้วงการลูกทุ่งครึกครื้นขึ้นอีกครั้ง

ด้านแกรมมี่ เปิดทศวรรษด้วยอัลบัม แม่ไม้เพลงไทย นำเพลงลูกกรุงกลับมาทำใหม่ แล้วพบว่าตลาดลูกทุ่งลูกกรุงมีฐานแฟนเพลงมากมายทั่วประเทศ จึงเกิดค่ายแกรมมี่โกลด์ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยได้ก๊อท จักรพันธ์ ประเดิมค่าย ทำให้ภาพลักษณ์เจ้าชายเพลงลูกทุ่งติดตัวก๊อทไปตลอดกาล 

ในปีต่อมา ศิลปินขวัญใจคนรากหญ้า ไมค์ ภิรมย์พร ปล่อยอัลบัม ยาใจคนจน ให้กำลังใจคนใช้แรงงานที่กำลังยากลำบากในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

ค่ายอาร์เอส แม้จะเริ่มต้นช้ากว่า แต่อัลบัมเพลงประกอบละคร มนต์รักลูกทุ่ง ที่ฮิตทั้งบ้านทั้งเมือง ก็ทำให้เฮียฮ้อมีโครงการทำค่ายเพลงลูกทุ่งบ้าง จนเกิดเป็นค่ายอาร์สยามในทศวรรษต่อมา

นอกจากนั้นยุค 90s ยังเป็นยุคที่แจ้งเกิดศิลปินลูกทุ่งมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยิ่งยง ยอดบัวงาม กับบทเพลง “สมศรี ๑๙๙๒” ที่ดังและแจ้งเกิดยิ่งยงอย่างเต็มตัว เช่นเดียวกันกับ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ที่อัลบัมชุดที่ ๒ สั่งนาง (๑๙๙๖) โด่งดังด้วยสไตล์การร้องเอื้อนเสียงที่ไม่เหมือนใคร, รุ่ง สุริยา กับท่าเต้นติงนังอันแสนน่ารัก, ไชยา มิตรชัย พระเอกลิเกหน้าสวยที่จับไมค์ร้องเพลง ด้วยอัลบัม ไม่ธรรมดา ที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ

ฟากฝั่งศิลปินหญิง อาภาพร นครสวรรค์ ได้รับการคาดหวังว่าจะมาเป็นพุ่มพวงคนต่อไป ด้วยคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นและเพลงชวนคึกอย่าง “เลิกแล้วค่ะ” (๑๙๙๗) และ “ชอบไหม” (๑๙๙๘) ก็ทำให้อาภาพรเป็นศิลปินคิวทองที่งานวัดงานบุญแห่จองกันแน่น, เช่นเดียวกันกับสาวเสียงพิณ จินตหรา พูนลาภที่ออกผลงานอย่างต่อเนื่อง บทเพลงช้า ๆ ซึ้ง ๆ “น้ำตาสาววาริน” (๑๙๙๙) ก็ส่งต่อให้เธอเป็นศิลปินดังข้ามทศวรรษจวบจนปัจจุบัน, ลูกนก สุภาพร พาเพลง “คุณลำใย” (๑๙๙๙) ให้ฮิตเปรี้ยงปร้างทั่วทั้งประเทศ และที่ขาดไม่ได้ ยุ้ย ญาติเยอะที่ถูกขนานนามว่าพุ่มพวงจูเนียร์ ก็ได้ออกซีรีส์อัลบัม ยุ้ยเป็นสาวแล้ว (๑๙๙๕) มีเพลงสนุก ๆ ไม่ว่าจะเป็น “วันแรกเจอเลย” “เลิกเมียบอกมา” และ “เต็มเหนี่ยว” 

ลูกทุ่งยุค 90s คงขาดสีสันถ้าไม่กล่าวถึงค่ายเพลงโฟร์เอสที่ในโฆษณาจะมีลุงชินใส่แว่นเรย์แบนและทิ้งท้ายด้วยสโลแกน “โฟร์เอสสร้างสรรค์ เพลงดีมีคุณภาพ...อีกแล้วครับท่าน”

Image

Image

เพื่อชีวิต
กับการเปลี่ยนแปลง
ครั้งสำคัญ

คาราบาวทำให้ยุค 80s กลายเป็นยุคทองของดนตรีเพื่อชีวิตแต่เมื่อโลกหมุนมายังยุค 90s แม้จะเริ่มต้นด้วยข่าวไม่สู้ดีถึงจุดสิ้นสุดของวงคาราบาวยุคคลาสสิกใน ค.ศ. ๑๙๘๙ แต่ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ คาราบาวที่เหลือสมาชิกสี่คนออกอัลบัมชุดที่ ๑๐ ห้ามจอดควาย ต่อมา ยืนยง โอภากุล ก็ยังคงสถานะของวงคาราบาวไปเรื่อย ๆ โดยทำอัลบัมเฉลี่ยปีละชุดอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานกลุ่มงานเดี่ยว  ส่วนสมาชิกคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น ปรีชา ชนะภัย, เทียรี่ เมฆวัฒนา ต่างก็แยกย้ายกันทำงานเดี่ยวของตน ก่อนที่จะรวมตัวกันในทศวรรษต่อมา

แต่ยุค 90s ศิลปินเพื่อชีวิตที่ดังสุดกลับเป็น พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ที่อัลบัมชุดแรกไม่ได้โด่งดังมากมาย แต่อัลบัมชุดต่อมา เสือตัวที่ ๑๑ (๑๙๙๐) กลับค่อย ๆ สะสมแฟนคลับ จนกลายเป็นศิลปินเพื่อชีวิตเพียงคนเดียวที่นิตยสาร The Boy เคยจัดอันดับให้เขาติด ๑ ใน ๑๐ Top Ten Boy

นอกจากนั้นยังมี พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ที่ให้กำเนิดเพลงสามช่าสนุก ๆ ตลอดยุค 90s ไม่ว่าจะเป็น “ตังเก” (๑๙๙๐), “ต้นขับขี่” (๑๙๙๒) และเพลงซึ้ง ๆ ให้สมกับเป็นกวีศรีชาวไร่

ส่วนวงเพื่อชีวิตหน้าใหม่แห่งยุค 90s ก็มีวงมาลีฮวนน่า กับอัลบัมชุดแรก บุปผาชน (๑๙๙๔) กับบทเพลง “ลมเพลมพัด” “หัวใจพรือโฉ้” และ “เรือรักกระดาษ” อันโด่งดัง

ยุคนี้ยังมีวงฌามา กับเพลง “สาวเทคนิค” (๑๙๙๖) เพลงน่ารักติดหูที่ดังมาก ๆ ในหมู่คนฟังเพลงเพื่อชีวิต

แม้ในยุค 90s จะเกิดเหตุวิปโยคทางการเมืองครั้งใหญ่อย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (๑๙๙๒) แต่เพลงเพื่อชีวิตก็ไม่ได้มีมนตร์ขลังดังเช่นอดีตที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของสังคมที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้เพลงเพื่อชีวิตเป็นเพียงหนึ่งในแนวเพลงที่ฟังเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ไม่ได้ขับเคลื่อนสังคมดังเช่นแต่ก่อน

ทั้งหมดนี้คือเจ็ดปรากฏการณ์แห่งวงการเพลงไทยยุค 90s จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการเพลงไทย และเป็นการเริ่มต้นกรุยทางให้ดนตรียุคใหม่ที่ทรงอิทธิพลในยุคปัจจุบัน