Image
90s is back!
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ทุกคนมีรอยทรงจำต่อยุคสมัยที่เติบโตแล้วแทนที่จะเก็บไว้ในไดอารีส่วนตัว หลายคนเลือกแปรรูปมันออกมา / หลายปีนี้จึงเห็นชาวฟรีแลนซ์เปิดร้านขาย-ผลิตเทปคาสเซ็ตที่ทำขึ้นใหม่ให้นักสะสมได้สนุกกับคอลเลกชันร่วมสมัยของศิลปินในวันวาน /มนุษย์เงินเดือนใช้นอกเวลางานสร้างสังคมออนไลน์ให้ผู้คนทั่วสารทิศที่คิดถึงข้าวของและเรื่องราวจากยุค 90s ได้มีพื้นที่ปันความทรงจำ ค่ายหนังยุค 2010s จำลองบรรยากาศปี ๒๕๔๒ ที่ทั่วโลกตระหนกปัญหา Y2K ปลุกหัวใจคนรุ่นเก่า-ใหม่ให้เต้นเร่าอีกครั้งกับประสบการณ์ร่วม / ถ้าสิ่งที่หวนกลับมาไม่ได้มีเพียงใครบางคน เพลงบางบท ของบางสิ่งแต่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต จะเป็นอย่างไร
Image
Image
กรอสู่ 90s
วันที่เทปคาสเซ็ตกลายมาเป็นวัตถุแห่งกระแส

ชีวิตก็ rewind-forward กรอกลับหลังไปหน้า

“ช่วงปี ๒๕๓๓-๒๕๔๒ ผมเรียนชั้นประถมฯ-มัธยมฯ บ้านอยู่พระประแดง นั่งรถเมล์ไปเรียนหนังสือแถวบางรัก พอโรงเรียนเลิกจะไป Tower Records แทบทุกเย็น หมดเงินกับที่นี่เยอะ แต่มีความสุขมาก”

ณัฐพล สว่างตระกูล
 พาย้อนอาณาจักรเสียงเพลงที่มีหลายสาขาในห้างสรรพสินค้า ทั้งเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (เซ็นทรัลเวิลด์), เอ็มโพเรียม, สยาม ฯลฯ ไม่มีวันใดร้างวัยรุ่นเมืองหลวงยืนใส่เฮดโฟนเสพเพลงที่ใช่ของศิลปินที่ชอบ และไม่ว่า Tower Records จะจัดอันดับแนะนำอัลบัมใดขายดี คอเพลงก็พร้อมเชื่อ

“ช่วงเตรียมเอนท์ ผมไปติวที่ ม. ศิลปากร จะแวะร้าน น้อง ท่าพระจันทร์ พี่นก-ร้าน น้อง ชอบส่งเทปดี ๆ ให้ฟัง ซึ่งไม่ได้หาซื้อง่าย แล้วมันดันถูกจริตผมมาก รู้สึกว่าของเก่าก็เจ๋งนี่ไม่เห็นต้องฟังแต่อัลบัมใหม่เลย”

ครั้นสอบติดสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิ่งได้แวะเวียนผูกพันกับร้าน น้อง หมุดหมายที่ศิลปินมักมาโปรโมตอัลบัมออกใหม่แจกลายเซ็นให้แฟนเพลง

“ช่วงเรียนมหา’ลัยเป็นยุคปลายของเทป ซีดีออกกันมากแต่มีราคาแพง มีอัลบัมหนึ่งผมอยากได้ แต่ไม่มีเงินซื้อ ซีดีราคา ๔๐๐ กว่าบาทและผมยังไม่มีเครื่องเล่นด้วย ก็อาศัยร้านน้อง นี่ละที่ยังขายเทปอยู่”

หลังเรียนจบได้ทำงานประจำสายแฟชั่นเป็นดีไซเนอร์อยู่นับสิบปีกระทั่งถึงจุดเปลี่ยน

“ตอนเป็นผู้ช่วยร้าน แผ่นเสียง ได้ความรู้การสะสมจากพี่ที่นั่นซึ่งมีเพื่อน ๆ เป็นนักสะสม บางคนก็สะสมโมเดล ผมสนใจว่าพวกเขาหาเงินจากไหนมาซื้อ เขาก็สอนแก่นการสะสมว่าต้องซื้อ-ขาย หารายได้จากมัน แล้วสอนวิธีเก็งกำไร  ผมเริ่มศึกษาจริงจังพร้อมสะสมเทปจากที่มีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง เจ้าของร้าน แผ่นเสียง แบ่งพื้นที่เล็ก ๆ ในร้านให้ลองขาย สักพักก็ทำให้ร้านเขาแน่นเพราะคนสนใจเทปเยอะ ผมจึงย้ายออกไปเช่าชั้น ๒ ของร้านอาหารแถวซอยอารีย์ เปิดร้านเทปที่มีคาเฟ่และบาร์”

แล้วตั้งชื่อ ร้านเทป (Cassette Shop) ง่าย ๆ เช่นเดียวกับจุดเริ่มบันดาลใจ
Image
สะสาง-สะสม
สามปีที่แล้วตรงกับช่วงโควิด-๑๙ ระลอกแรก

ทั้งคนตกงานและ work from home พากันจัดบ้านแล้วเจอเทปคาสเซ็ต

“พอเสิร์ชตลาดออนไลน์เห็นคนถามหาเทปของศิลปินคนนั้นคนนี้ ซึ่งคนทำงานยุคนี้ก็อยู่ในยุคเทป หลายคนจึงนำที่สะสมมาขาย ยิ่งทำให้กระแสเทปกลับมา  ผมชอบไปแย่งซื้อกับคนอื่น ไม่ทันก็ไม่เป็นไร ยินดีกับเขาด้วยซ้ำที่ขายออกเร็ว มันอาจทำให้เขาไปหาของมาปล่อยเพิ่มและเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่มีเทปในบ้านอยากเอาออกมาขายในตลาดออนไลน์ผลัดกันซื้อ-ขายจะช่วยกระตุ้นให้แวดวงนักสะสมยั่งยืน”

เพราะความนิยมมาพร้อมเทรนด์ ทำคนเดียวไม่มีทางสร้างเทรนด์ได้

“ที่ร้านผมขายเทปเก่าราคาตั้งแต่หลักสิบไปจนหลายพัน วงพราวอยู่ที่หลักพัน, ซิลลี่ ฟูลส์ หรือพาราด็อกซ์ อัลบัมหายากสูงถึงสี่ห้าพัน ที่ขายดีจะเป็นยุค 90s ทั้งไทยและฝรั่งกับแนวป็อปยุค 2000s ของค่ายโดโจ ซิตี้ อย่างนีซ หรือ ไทรอัมพ์ส คิงดอม รายได้ช่วงโควิดทำให้ผมย้ายจากที่เดิมไปเช่าที่ในโรงแรมแถวเจริญนครได้ เป็นร้านขนาดใหญ่มาก ๖๐๐ ตารางเมตร เปิดเป็นบาร์และร้านอาหารที่ตกแต่งโดยใช้เทปเป็นสิ่งดึงดูด  อยู่ที่นั่น ๒ ปี หมดสัญญาก็ย้ายกลับมาหาที่ตั้งข้างร้าน แผ่นเสียง”

รวมระยะบรรเลงเพลงจากจุดเริ่มและกลับสู่ซอยประดิพัทธ์ ๑๙ นับ ๕ ปี

“ทุกวันนี้มีหลายร้านที่ขายเทปแบบมีหน้าร้าน น้อง ท่าพระจันทร์ก็ยังอยู่ตรงท่าเรือแถมใหญ่ขึ้น ตึกแดงที่จตุจักรก็มีร้านหนึ่ง แต่เน้นขายเทป ไม่ได้สร้างสังคมให้นักสะสมแบบที่นี่  ผมอยากทำ ร้านเทป ให้ครบมิติ เอื้อความสะดวกให้นักสะสมและผู้สนใจเสพไลฟ์สไตล์ มีพื้นที่แลกเปลี่ยน-นั่งฟังเทป นอกจากเทปจึงขายเครื่องเล่นด้วย มีลูกค้าตั้งแต่ ม. ต้น จนวัยหลังเกษียณ  ถ้าเป็นเด็กผมจะชวนคุยก่อนว่าเคยเห็นเทปไหม มีเครื่องเล่นหรือยัง บางคนไม่รู้ว่าวอล์กแมนใช้อย่างไร คิดว่าชาร์จด้วย USB เขาถาม ‘ที่ชาร์จอยู่ไหน’ มีคนซื้อเครื่องไปแล้วใช้ไม่ได้ ผมถาม ‘ใส่ถ่านหรือยัง’ เขาตอบ ‘ต้องใส่ด้วยหรือ’ ไม่รู้จักถ่านไฟฉาย บางคนก็ไม่กล้ากดปุ่มต่าง ๆ บนวอล์กแมน กลัวเทปพัง ผมจะเชียร์ให้กดทุกปุ่ม อย่าไปกดตัวสีแดงที่เป็นปุ่มอัดเป็นพอ”
Image
หลากมุมของ ร้านเทป ออกแบบให้แผงเทปมีลักษณะแตกต่าง เปิดโอกาสให้ลูกค้าสนุกกับการไล่หาอัลบัมตามชั้นตั้งพื้น แขวนผนัง บนโต๊ะ อัดเรียงในกล่องใหญ่ ง่ายสุดคือถามจากเจ้าของผู้คัดสรรสินค้า

“บี-น้ำทิพย์เหรอ เพิ่งขายไป ทำไมถึงชอบล่ะ”

เล่าสู่กันฟังว่าเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนมัธยมฯ ปลาย เธอเซ็นชื่อบนปกเทปอัลบัมแรกให้ แต่ทำหาย

“ทุกคนต่างมีเรื่องราวของการตามหาบางสิ่งเสมอ เด็กที่มาจะหาเพลงยุค 80s อย่างอัลบัมของแจ้-ดนุพล, ชรัส เฟื่องอารมย์ อาจเพราะเคยได้ยินพ่อแม่เปิดฟัง ส่วนผู้ใหญ่จะมาตามหาอัลบัมที่ตนเองเคยมี”

แล้วชิ้นส่วนความทรงจำยุคที่วัฒนธรรมการฟังเพลงใหม่ของศิลปินโปรดต้องทุ่มเทก็ผุดพราย

“สมัยเด็ก ๆ พี่สาวคนโตชอบฟังเพลงไทย และนักแสดงที่ชอบคือตั้ว-ศรัณยู พอตั้วออกอัลบัมเพลงเขาก็หาซื้อ เพราะใคร ๆ บอกว่าหายาก ชวนผมซึ่งน่าจะ ป. ๔ นั่งรถเมล์จากบ้านที่พระประแดงไปร้าน น้อง พอไม่มีก็ถ่อไปหาต่อที่สยามทั้ง โดเรมี, ดีเจสยาม, แมงป่อง, อิมเมจิ้น สุดท้ายถอดใจ
Image
กลับบ้าน แวะร้านขายเทปเล็ก ๆ ปากซอย ถามคนขายแบบไม่คาดหวังเพราะร้านใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ ยังไม่มี เขาตอบ ‘มีครับ’  มันคือยุคที่สนุกมากนะการตามล่าสิ่งที่อยากได้โดยไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าที่ไหนจะมีขาย ฟังปากต่อปากแล้ววัดดวงว่าไปถึงแล้วจะมีไหม  ร้านหน้าปากซอยนี่ก็เจ๋งนะ ผมเคยหาอัลบัมของ X Japan เขาบอก ‘มีแต่ผีนะ ๓๐ บาท’ แล้วก้มหยิบลังใต้โต๊ะออกมา ทั้งลังมีแต่เทปผีของพวกศิลปินร็อก ยุคนั้นคนฮิตซื้อเทปลิขสิทธิ์ก๊อปขาย”

สมัยที่ข้าวราดแกงสองอย่างในโรงอาหารยังจานละ ๑๒-๑๕ บาท เทปราคาต่ำสุด ๘๐ บาท นักสะสมจึงสรรหาสารพัดวิธีรักษาเทปยืด-ยาน บางคนแช่ตู้เย็นระบายความร้อน ซุกในถังข้าวสารดูดความชื้น

“ถ้าเทปยานเพราะถูกแดดผมจะกรอเทปไปต้นม้วนสองสามรอบ จนความร้อนคลายแถบแม่เหล็กหายเหนียว เทปยืดก็กรอไปมาห้าหกครั้ง ส่วนเทปที่ฝุ่นจับพอใส่เครื่องเล่นแล้วกินเส้นเทปจนพันกันก็ดึงเส้นเทปออกจากตลับ หนีบทิชชูขณะกดเครื่องกรอเทปแบบเปิดฝาให้เส้นเทปเคลื่อนผ่านทิชชูเป็นการเช็ดฝุ่น”

ถึงจุดหนึ่งนักสะสมอาจมีช่วงเบื่อ เจ้าของร้านแนะว่าเก็บไว้ก่อน อย่าเพิ่งตัดสินใจขายทิ้ง

“บางทีอีก ๕-๖ ปี อาจกลับมาสนใจมันอีก แล้วเมื่อนั้นจะรู้สึกดีกับสิ่งที่เคยมียิ่งกว่าเดิม”
Image
ลายเซ็นบนปกเทปของศิลปินโปรดคือที่สุดแห่งความทรงจำของแฟนเพลงอัลบัมจากอะคูสติกคอนเสิร์ตอันปลั๊ก (ปลักหลุด) ปี ๒๕๓๖
แอนะล็อก 2020s
“ตอนเริ่มเปิด ร้านเทป ผมศึกษาตลาดทั่วโลกไปด้วย เห็นที่เมืองนอกนำอัลบัมเก่ามาผลิตใหม่ไม่ต่างจากแผ่นเสียง จุดประกายให้ผมสนใจเป็นผู้ผลิตเทปยุคใหม่บ้าง แล้วเริ่มซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของมาทำ”

ตั้งต้นที่ทวน-ทวนทอง นิยมชาติ วงเดย์ ทริปเปอร์ กับเล็ก-สุรชัย กิจเกษมสิน วงพราว

“เป็นการนำเพลงเดิมมาเล่นสดและอัดเสียงใหม่ที่บ้านผมแล้วเอาไปมิกซ์เข้าระบบซาวนด์ ให้ศิลปินแต่ละคนอยู่คนละหน้าเทป หน้า A สีดำคือเพลงร็อก-อะคูสติกโดยพี่ทวน หน้า B สีขาวเป็นเพลงโฟล์กใส ๆ โดยพี่เล็ก ปกเทปก็ทำใหม่ มีสกรีนรูปบนตลับ ซึ่งสมัยก่อนไม่นิยม แต่ยุคนี้ทำได้ ผมก็นำมาใช้ หรือการเลือกกล่องเทปสีเหลืองนีออน สมัยก่อนทำแต่แบบใส สีเทาหรือสีดำ  กลางยุค 80s เริ่มมีกล่องสีสัน แต่ก็ไม่มีเฉดสีเฟี้ยวฟ้าวแบบนี้ มันเป็นแฟชั่นปลายยุค 90s  ผมอยากให้มีลูกเล่นเท่ ๆ ในผลงานชิ้นเดโม”
Image
Image
เสร็จแล้วส่งผลิตที่แคนาดา ๓๐๐ ตลับ ตั้งราคา ๖๙๐ บาท จะคืนทุนต้องขายหมด

“แต่ถึงขาดทุนก็ไม่กังวล เพราะมันคืองานศิลปะของผมราคามันผ่านการคิดถี่ถ้วนว่าเงินจำนวนนั้นเกิดรายได้ให้ใครเท่าไร ทั้งศิลปิน คนทำการตลาด พ่อค้าคนกลาง และนักสะสมที่ซื้อไว้เก็ง”

เขาให้ดูอัลบัม ทิงนองนอย ของโมเดิร์นด็อก ปกรูปหินตาหินยายชูเด่นริมหาดละไมบนเกาะสมุยที่เคยคุ้นในทรงจัตุรัสกลายเป็นอาร์ตเวิร์กใหม่ทรงผืนผ้าของปกที่ระบุการผลิต “2019 made in Canada”

“มันเคยผลิตแต่รูปแบบซีดี แนวทางของผมจะทำเฉพาะที่ไม่เคยเป็นเทปให้เป็นเทปยุคปัจจุบันที่มีเรื่องราวต่างออกไป การผลิตของสะสมมันสนุกตรงนี้ พอเปลี่ยนอาร์ตเวิร์กก็เปลี่ยนคุณค่า ผมผลิตเทปด้วยโครงสร้างเดียวกับ ‘ของสะสมยุคใหม่’ ตีเลขจำนวนไว้บนสินค้าให้เป็น limited edition หากผลิตซ้ำก็สลักทับไว้ เช่น ผลิต ๓๐๐ ม้วน ก็ระบุ ‘X/๓๐๐’ เพื่อสร้างคุณค่าต่อการสะสมและเก็งกำไร คนที่สะสมอาจไม่ได้รอขายหรอก แต่พวกเขาจะรู้สึกดีว่าตอนนี้กำไรแล้ว เหมือนคนซื้อทองคำมาเก็บนั่นละ”

หลายปีนี้ตรา ร้านเทป ปรากฏบนสันปกหลายสิบอัลบัมอย่างอภิรมย์, รัสมี อีสานโซล, Portrait, Balloon Boy ฯลฯ ก่อนสั่งผลิต ๑-๒ เดือน จะเปิดพรีออร์เดอร์ทางเฟซบุ๊กเพจ “Cassette Shop” บางอัลบัมขายดีขนาดว่าตั้งใจไว้ ๖๐๐ ตลับ กลับขายหมดใน ๑๐ นาที จึงต้องผลิตจำนวนนับพัน
.
.
.
คำเตือน !
ท่ามกลางผู้คนที่ฟังเพลงจากการสตรีมมิงผ่านโทรศัพท์มือถือ

คาสเซ็ตสักตลับจากเครื่องเล่นเทปอาจทำให้ใจสั่นโดยไม่รู้ตัว