Image
หาวเพราะอะไรแน่ ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
เมื่อเห็นคนอื่นหาว ก็มีแนวโน้มสูงมากที่เราจะหาวตามไปด้วย โดยเฉพาะถ้าคืนก่อนนอนไม่พอ ราวกับการหาวเป็นโรคติดต่อแบบหนึ่ง
สมมุติฐานหนึ่งที่ใช้อธิบายก็คือ เราอาจจะหาวจากการที่สมองมีออกซิเจนไม่พอ และการหาวช่วยเพิ่มออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว  อย่างไรก็ตามเรื่องนี้อาจจะไม่จริง ดังที่จะได้กล่าวต่อไป

มาดูกันก่อนว่าการหาวเกิดจากอะไรกันแน่ ? “ติดต่อ” กันได้ขนาดไหน ? และมีประวัติศาสตร์เชิงชีววิทยาเก่าแก่เพียงใด ?

การหาวเป็นอาการหายใจแบบอัตโน-มัติที่มีการอ้าขากรรไกรกว้าง หายใจลึกและยาว ก่อนกล้ามเนื้อจะหดตัวและหายใจออก ตามด้วยการปิดปาก  อาการที่ว่านี้ไม่ได้เกิดกับมนุษย์เท่านั้น สัตว์สารพัดชนิดก็หาวด้วยเช่นกัน ไล่ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน ไปยันปลา ! 

นักวิจัยค้นพบว่าปลากัดไทยอ้าปากกว้างพ่นฟองอากาศออกมา คล้ายกับการหาวในคนเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ของการหาวฝังอยู่ในพันธุกรรมของสัตว์ต่าง ๆ นานนับหลายร้อยล้านปีมาแล้ว เวลาพบหลักฐานเช่นนี้ นักชีววิทยาก็มักจะมองในแง่มุมวิวัฒนา-การว่า การหาวคงต้องมีประโยชน์สักอย่างหนึ่งแน่ จึงได้รับการคัดสรรเก็บเอาไว้

นักวิจัยในประเทศแอฟริกาใต้ทดลองกับเด็ก ๕๖ คน มีช่วงอายุตั้งแต่ ๓-๑๖ ปี โดยให้เด็ก ๆ ดูภาพวีดิทัศน์ของคนที่หาวและคนที่อ้าปากกว้างเฉย ๆ  สิ่งที่พบก็คือเด็ก ๆ หาวตาม

ขณะที่เด็กอายุ ๘ ขวบขึ้นไปจะหาวเฉพาะเวลาเห็นคนหาวแต่เด็กที่อายุน้อยกว่านั้นจะหาวทั้งเมื่อเห็นภาพคนหาวและคนอ้าปาก แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เด็กเล็กก็ยังมี “โปรแกรม” การเลียนแบบการหาวอยู่ในหัวแล้ว แม้จะไม่แม่นยำเท่ากับเด็กที่โตถึงระดับหนึ่งก็ตาม

แต่ที่น่าสนใจสุด ๆ ก็คือ มีหลักฐานว่าเด็กในครรภ์มารดาก็หาวได้ !

แม้ว่าจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าการหาวของเด็กในครรภ์สัมพันธ์กับร่างกายของแม่ และทำให้หาวตามไปด้วยหรือไม่ (หรือในทางกลับกันจริงหรือไม่)

สัตว์ต่าง ๆ มีรายละเอียดการหาวแตกต่างกัน ในมนุษย์การหาวมักกินเวลาราว ๕-๖ วินาที แต่ในสัตว์อื่นอาจหาวสั้นหรือยาวกว่านี้ได้  มีงานวิจัยใน ค.ศ. ๒๐๒๑ โดยนักวิจัยจากหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา พบความสัมพันธ์ระหว่างช่วงระยะเวลาในการหาวแต่ละครั้งกับขนาดของสมองและจำนวนเซลล์ประสาทในสมอง

เมื่อนักวิจัยศึกษาภาพวีดิทัศน์ ๑,๒๙๑ คลิปของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกที่แตกต่างกันรวม ๑๐๑ ชนิด ทำให้พบว่าเฉลี่ยแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหาวนาน ๓.๔ วินาที ขณะที่นกซึ่งมีขนาดสมองเล็กกว่าโดยเฉลี่ยแล้วหาวสั้น ๆ เพียง ๑.๔๖ วินาที

กลับมาที่คำถามว่า เราหาวทำไม ?

คำตอบอาจจะน่าผิดหวังอยู่บ้าง เรายังตอบได้ไม่ชัดเจนนักว่าทำไม สาเหตุหลักก็คือทดสอบยาก เพราะมันเกิดขึ้นอย่างไม่อาจควบคุมได้ แม้ว่าเราอาจจะตั้งใจทำสิ่งที่คล้ายกับการหาวได้ แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะส่งผลแตกต่างจากการหาวตามธรรมชาติหรือไม่
Image
แต่กระนั้นก็มีคนพยายามทำวิจัยเรื่องการหาวอยู่บ้าง มีรายงานวิจัยหลายร้อยฉบับเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถสรุปเหตุผลที่เราหาวได้แน่นอน แต่ก็ทำให้ได้สมมุติฐานที่น่าสนใจหลายสมมุติฐาน หนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ การหาวทำให้สมองเย็นลง !

โดยปรกติแล้วอุณหภูมิรอบตัวเราจะเย็นกว่าอุณหภูมิของร่างกาย การหาวจึงอาจมีส่วนทำให้ลดอุณหภูมิได้บ้าง และยังอาจกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ข้อสังเกตหนึ่งที่อาจช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ได้คือ เราหาวบ่อยขึ้นในฤดูหนาว

สมมุติฐานต่อมาก็คือ การหาวอาจกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว หายจากอาการง่วงเหงาหาวนอน หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงสถานะของจิตใจ เช่นจากความเฉื่อยชาเป็นกระฉับกระเฉงมากขึ้น เรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายสามารถกระตุ้นจิตใจได้นี่ เป็นเรื่องที่รู้กันดีเรื่องหนึ่ง คำแนะนำสำหรับคนที่จิตใจห่อเหี่ยว นอกจากการนอนหลับพักผ่อนแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แนะนำให้ทำกัน

อีกสมมุติฐานมีว่าการหาวเกี่ยวข้องกับความดันในช่องหู ซึ่งช่วยอธิบายทางอ้อมว่า เมื่อเห็นคนหาวเราจึงหาวตาม เพราะอยู่ในสภาวะแวดล้อมคล้าย ๆ กัน จึงกระตุ้นได้โดยง่าย

คราวนี้ก็มาถึงสมมุติฐานยอดนิยมข้อที่ว่าการหาวช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด แต่มีงานวิจัยตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๗ ที่พิสูจน์ว่าเรื่องนี้น่าจะไม่จริง เพราะหาหลักฐานชัดเจนใด ๆ มาสนับสนุนไม่ได้เลย

คราวนี้มาดูเรื่องที่ว่า การหาวนั้นติดต่อกันได้ดีแค่ไหน และเพราะอะไร ?

จากการศึกษาภาพวีดิทัศน์ของพวกวานรต่าง ๆ เช่น ชิมแปนซี บาบูน โบโนโบ พบว่าพวกมันหาวถี่กว่าเราเสียอีก แม้ว่าจะมีขนาดสมองเล็กกว่าก็ตาม  มีการศึกษาใน ค.ศ. ๒๐๐๙ ที่ได้ผลลัพธ์น่าสนใจคือ สุนัขหาวเมื่อเห็นคนหาว แต่กลับไม่หาวเมื่อเห็นสุนัขตัวอื่นหาว
Image
Image
การทดลองในสุนัข ๑๕ ตัวดังกล่าว ทำให้รู้ว่าสุนัขหาวเพราะโดนกระตุ้นจากการมองแบบนี้ น้อยกว่าในลิงและคนด้วย อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ในคนนี่ไม่จำเป็น

ต้องเห็นคนอื่นหาว แค่อ่านหรือคิดเกี่ยวกับการหาวก็พอจะทำให้หาวได้แล้ว  ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมก็หาวไปหลายรอบเต็มทีแล้วเช่นกัน (ฮา)

สำหรับสมมุติฐานที่ใช้อธิบายเรื่องการติดต่อกันได้ของการหาวก็มีอยู่หลายสมมุติฐาน แต่ก็อีหรอบเดียวกับคำอธิบาย เรื่องสาเหตุของการหาวที่ยังไม่อาจฟันธงได้แน่ชัดว่าสมมุติฐานใดถูกต้องที่สุด

บทความปริทัศน์ (review) ชิ้นหนึ่งที่ลงในวารสาร Neuroscience Biobehavioral Reviews ใน ค.ศ. ๒๐๑๐ ให้ข้อมูลไว้ดังนี้ สมมุติฐานแรกอ้างอิงเหตุผล ทางสังคม กล่าวคือเราใช้การหาวแสดงถึงอาการเบื่อหน่ายหรือเหน็ดเหนื่อย หากสังเกตเห็นว่าใครในการประชุมรู้สึกเบื่อหน่าย เราก็อาจจะเสียสมาธิจดจ่อ จนร่างกายไม่กดยั้งการหาวไว้อีกต่อไป

การสแกนสมองด้วยวิธี MRI ทำให้รู้ว่า การเห็นภาพคนอื่นหาวไปกระตุ้นสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการเลียนแบบความเห็นอกเห็นใจ และพฤติกรรมเชิงสังคมต่าง ๆ

ยังมีสมมุติฐานที่ระบุว่า การหาวมีประโยชน์ในเชิงวิวัฒนาการ คือแสดงว่าคนผู้นั้นอาจจะเตรียมพร้อมเข้านอน ซึ่งส่อนัยว่ามีความปลอดภัยพอที่คนอื่นในกลุ่มจะเข้านอนด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันดูเหมือนสมมุติฐานต่าง ๆ ทางสรีรวิทยาจะได้รับความเชื่อถือน้อยลงเพราะเมื่อทดลองแล้วมักจะไม่พบหลักฐานสนับสนุน สวนทางกับเหตุผลทางสังคมและการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง เราหาวง่ายขึ้นเมื่อเห็นคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวหาว หากเทียบกับเห็นคนอื่น ๆ ที่เราไม่รู้จักหาว

การหาวจึงอาจเกิดขึ้นเพราะเราเป็นสัตว์สังคม มากกว่าเพราะเราอดนอนหรือขาดออกซิเจน

ขอปิดท้ายด้วยเรื่องแปลก ๆ สองสามเรื่องเกี่ยวกับการหาว

สมองเราตีความเรื่องการหาวได้ยอดเยี่ยมมาก การเห็นภาพคนหาวแบบปรกติ แบบเอียงตะแคง หรือแบบกลับหัว ก็กระตุ้นให้รู้สึกอยากหาวตามได้ทั้งนั้น สมองเราไม่แคร์ใด ๆ อิทธิพลภาพการหาวทรงพลังมากจริง ๆ

เด็ดไม่แพ้กันคือ แม้แต่คนตาบอดหากได้ยินเสียงคนหาว ก็กระตุ้นให้หาวตามได้
สุดท้าย มีนักวิทยาศาสตร์ขี้เล่นลองจับภาพใบหน้าคนหาวมาสังเกตดูรายละเอียด พบว่าแยกไม่ออกจากภาพใบหน้าตอนคนกำลังสุขสุดยอดเวลามีเพศสัมพันธ์เลย !