ฤดูปูแป้นดอง
ของดีบางปะกง
ไทยเจริญรส
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ช่วงใกล้วันออกพรรษา ในคืนที่น้ำทะเลหนุนสูงเอ่อขึ้นมาตามแนวป่าชายเลนปากแม่น้ำ คนท้องถิ่นจะรับรู้ด้วยภูมิปัญญาว่าปูแป้นนับหมื่น ๆ ตัวจะอาศัยจังหวะที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุดแล้วลดต่ำลงตามธรรมชาติ ออกเดินทางตามกระแสน้ำ มุ่งหน้าไปยังปากอ่าวเพื่อวางไข่ในทะเล...
ชั่วพริบตา รวดเร็วจนมองตามแทบไม่ทัน กระบวนการทำ “ปูแป้นดอง” เกิดขึ้นและเสร็จสิ้น
ประสิทธิ์ ลิ้มซิม หรือ “ไต๋น้อง” คนเรือ ชาวประมง เกษตรกร คนสวนผู้คร่ำหวอดและช่ำชองแห่งบ้านเขาดิน ใช้จานตักปูแป้นที่กำลังกระดุกกระดิกในกะละมังมาครึ่งค่อนจาน เทสัตว์แปดขากับอีกหนึ่งคู่หน้าเป็นก้ามลงในโหลแก้วใส เปิดฝาน้ำปลาขวดเล็กเทตามลงไป
แม้ว่าปูตัวที่อยู่ด้านบนจะพยายามดิ้นตะเกียกตะกาย แต่สุดท้ายแล้วทุกตัวต่างสงบนิ่งอยู่ในโหลดองน้ำปลา
ทุกอย่างเกิดขึ้นในชั่วเวลาไม่กี่วินาที ริมตลิ่งคลองอ้อมน้อย ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ผืนป่าชายเลนยังคงอุดมสมบูรณ์ หนาแน่นด้วยดงแสม ลำพู คั่นสลับกับดงจาก พื้นดินเจิ่งนองด้วยน้ำที่กำลังเอ่อล้น ก่อนจะลดลงตามธรรมชาติของนิเวศใกล้ปากอ่าวไทย
นี่คือบ้านหลังใหญ่ของปูแป้น สัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่ในรอบปีจะเผยโฉมให้เห็นเพียงครั้งเดียว
เมื่อถึงช่วงเวลานั้นพ่อแม่ปูแป้นจะทิ้งตัวล่องลอยไปกับสายน้ำ ชาวบ้านพากันพายเรือออกมาช้อนจับปูด้วยสวิงหรือแม้แต่มือเปล่า ๆ ฉวยหยิบขึ้นจากน้ำทีละตัว วาระพิเศษที่เฝ้ารอจะเกิดขึ้นในช่วงไม่เกิน ๓-๔ วัน
ก่อนจะจบลงด้วยการนำมาดองน้ำปลาใส่โหลในชั่วไม่กี่วินาทีเท่านั้น !
ไต๋น้องโชว์ปูแป้นดอง ของอร่อยที่ทำง่ายเสร็จไว ใช้น้ำปลายี่ห้ออะไรก็ได้ แต่ความง่ายนี้ต้องรอนาน เพราะปูแป้นจะออกมาให้จับแค่ไม่กี่วันในรอบปี ที่สำคัญคือเมนูปูแป้นอาจหายไป หากขุมอาหารอย่างริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงกลายเป็นดงโรงงานอุตสาหกรรม
พายเรือลำเล็กออกไปใช้สวิงช้อนปูแป้น ไม่นานก็ได้เต็มกะละมัง แต่ในรอบ ๑ ปี จะมีเพียง ๓-๔ วันเท่านั้น ที่เกษตรกรบ้านเขาดินจะจับปูแป้นมาดองได้
การรอคอย
การทำปูดองเป็นการถนอมอาหาร โดยนำปูดิบมาล้างทำความสะอาด หมักกับเกลือหรือน้ำปลาปิดฝาภาชนะให้แน่น วางทิ้งไว้ตั้งแต่ ๓-๔ ชั่วโมง จนถึง ๓-๗ วัน กว่าจะได้ปูดองที่มีรสเค็มตามต้องการมีกลิ่นหอมจากการหมัก พร้อมนำไปประกอบอาหาร ในเมืองไทยนิยมนำมาเป็นส่วนผสมปรุงรสส้มตำ ยำผลไม้ รวมทั้งอาหารอื่น ๆ เช่นปูหลน
โดยทั่วไปแล้วปูที่นำมาดองมักจะเป็นปูแสมหรือไม่ก็ปูนา ปูแสม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ปูเค็ม” มีกระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่โค้งมนมาก ก้ามใหญ่แข็งแรงสีบานเย็นอมม่วง ชนิดที่นิยมจับมาดองและได้รับความนิยมในตลาดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sesarma mederi ชอบขุดรูอยู่อาศัยตามป่าชายเลน ปากแม่น้ำ ป่าแสม ป่าโกงกาง ตามดินโคลน โพรงหิน หรือหาดทราย
ส่วนปูนาเป็นปูน้ำจืด มักขุดรูอยู่ตามคันนาในนาข้าว บ้างก็อาศัยในที่ลุ่มน้ำขัง พื้นที่ชุ่มน้ำ คันคู คันคลอง ผิวกระดองมีลักษณะโค้งนูน เรียบ มัน
เมื่อเทียบกับปูแสมและปูนา ปูแป้นซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Varuna litterata กลับเป็นที่รู้จักน้อยกว่าเพราะหากินยาก มีจำนวนน้อย แถมในรอบ ๑ ปีจะมีให้จับกินแค่ช่วงเดียวเท่านั้น
ว่ากันว่าช่วงใกล้วันออกพรรษา ในคืนที่น้ำทะเลหนุนสูงเอ่อตามแนวป่าชายเลนปากแม่น้ำ ตามพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงครามในภาคกลาง ฉะเชิงเทรา เรื่อยไปจนถึงภาคตะวันออก แถบจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด คนท้องถิ่นจะรับรู้ด้วยภูมิปัญญาว่าปูแป้นนับหมื่น ๆ ตัวจะอาศัยจังหวะที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุดแล้วลดต่ำลงตามธรรมชาติ ออกเดินทางตามกระแสน้ำ มุ่งหน้าไปยังปากอ่าวเพื่อวางไข่ในทะเล
กลางเดือนกันยายน ๒๕๖๕ เราติดต่อไปหา “ไต๋น้อง” เพราะได้ยินว่าปูแป้นเริ่มออกแล้ว
บ้านของไต๋น้องตั้งอยู่ริมคลองอ้อมน้อยที่ไหลไปออกแม่น้ำบางปะกง
ไต๋น้องเล่าว่าในอดีตคลองอ้อมน้อยเคยเป็นแม่น้ำบางปะกงสายหลัก แต่หลังจากการขุดคลองลัดเพื่อร่นระยะทางเดินเรือตรงช่วงโค้งกระเพาะหมูของแม่น้ำ นานวันเข้าแม่น้ำบางปะกงสายเก่าก็ค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพ แคบลงจนกลายเป็นคลองอ้อมน้อย ขณะที่คลองลัดตัดใหม่ถูกสายน้ำเซาะจนขยายขนาดกลายเป็นแม่น้ำบางปะกงในปัจจุบัน
แสงจากไฟฉายคาดศีรษะสาดจับลงไปบนคลองอ้อมน้อยท่ามกลางความมืดมิด สอดส่องมองหาปูแป้นที่ลอยตามน้ำมาเป็นฝูงใหญ่
ทุกวันนี้พื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำบางปะกงและคลองอ้อมน้อยยังคงเต็มไปด้วยดงแสม ลำพู และจาก ผืนดินชุ่มฉ่ำตามระบบนิเวศสามน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย และมีน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติใกล้ปากอ่าวไทย ถึงแม้จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นตามแนวแม่น้ำ มีการขยับขยายของชุมชนเมืองในย่านบางปะกง แต่พื้นที่แถบนี้ยังคงเป็นบ้านอันอุดมสมบูรณ์ของปูแป้น…สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่จะเผยโฉมให้เห็นให้ผู้คนจับมาทำอาหารได้เพียงไม่กี่วันในรอบปี
ณ บ้านริมคลอง ไต๋น้องยกกะละมังปูแป้นออกมาให้เห็นกับตา และบอกว่าถ้าคืนนี้โชคดี ฝนไม่ตก ก็จะออกไปจับอีก
“ปูแป้นกับปูแสมต่างกันยังไงครับ ?” เราเอ่ยปากถาม
“อย่างแรกเลยนะคือสี ปูแสมจะออกสีดำ ๆ และตัวจะแข็ง ส่วนปูแป้นตัวจะแบน ๆ รูปร่างป้านเป็นแป้น ๆ เขาเลยเรียกว่าปูแป้น หรือแถวเมืองจันท์เขาเรียกว่าปูใบไม้”
ปูแป้นมีขนาดลำตัวประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร ตัวเล็กกว่าปูแสม แต่กระดองบาง ใต้กระดองและเปลือกอ่อนเต็มไปด้วยเนื้อปูที่มากกว่า และมีมันปูสีเหลืองส้มมาก โดยเฉพาะปูตัวเมีย
“แล้วปูแป้นอาศัยอยู่ที่ไหนครับ ?”
“ตามนาข้าว ป่าชายเลน พอถึงช่วงกันยาฯ-ตุลาฯ-พฤศจิกาฯ ก็จะเป็นฤดูที่มัน ‘ล้างไข่’ พ่อแม่ปูที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะผสมพันธุ์และวางไข่ในทะเลปากอ่าว ชาวบ้านจะคอยสังเกตว่าปีนี้ปูแป้นเริ่มมาหรือยัง หลังจากนั้นก็รอช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุด ส่วนใหญ่จะใกล้ออกพรรษาหรือเทศกาลกินเจ คืนนั้นปูแป้นจะใช้ช่วงน้ำลงลอยตามกระแสน้ำ เกาะกิ่งไม้บ้าง กอผักตบชวาบ้าง สลับกับว่ายเองบ้างไปออกแม่น้ำใหญ่ ไปหาที่วางไข่ในทะเล วางไข่เสร็จก็กลับมาอาศัยอยู่ในป่าชายเลน ลูกปูแป้นก็เหมือนกัน หลังจากเกิดแล้วก็จะว่ายน้ำกลับมาหากินอยู่ในป่าชายเลน”
ไต๋น้องอธิบายว่าการจับปูแป้นคือการพายเรือลำเล็กไปลอยลำอยู่กลางคลอง อย่างบริเวณที่เขาออกไปจับปูแป้นก็คือริมตลิ่งหน้าบ้านนั่นเอง จากนั้นคอยใช้สวิงช้อนปูแป้นที่ลอยตามน้ำมา หรือบางทีก็ใช้มือเปล่า ๆ ฉวยคว้ากอผักตบชวา เศษไม้ เศษใบไม้ต่าง ๆ แล้วหยิบปูแป้นที่โดยสารมากับของเหล่านั้นมาใส่กะละมัง
“คืนนี้เราจะได้จับปูแป้นกันไหม ?”
ผมถามด้วยความไม่มั่นใจ นอกจากเรื่องเล่าที่ฟังดูเหลือเชื่อแล้ว ช่างภาพย่อมต้องการถ่ายภาพ แต่ในเวลานั้นฝนเข้าพรรษาตั้งเค้าบนท้องฟ้ามาแต่ไกล
ไต๋น้องเปรยว่าเป็นเรื่องที่แล้วแต่โชคชะตา
“ขึ้นอยู่กับฟ้าฝนด้วยว่าจะตกหรือเปล่า ถ้าฝนตกหนักก็ยาก ครั้งหนึ่งเคยมีฟ้าผ่า ผมกางอวนอยู่ในคลอง ลูกยังเล็ก ๆ ฟ้าผ่าลงมะขามเทศต้นใหญ่ อยู่ห่างกันไม่เท่าไร เข็ดเลย ตั้งแต่นั้นมาก็ต้องระวัง”
ปูแป้นมีขนาดลำตัวประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร แม้ตัวจะเล็กแต่กระดองบาง ผู้ที่เคยกินต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติดี ถ้าไม่นำมาดองก็นึ่งหรือต้ม จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ด
นาขาวังกับป่าชายเลน
ช่วงเข้าพรรษา ออกพรรษา เทศกาลกินเจ เรื่อยไปถึงปลายปี ระดับน้ำในคลองอ้อมน้อยจะลดลงตอนกลางคืน น้ำขึ้นตอนกลางวัน แต่พอพ้นปีใหม่ เข้าช่วงตรุษจีน เดือนสาม จึงจะสลับมาแห้งตอนกลางวัน ขึ้นตอนกลางคืน หมุนเวียนไปตามวัฏจักร ซึ่งในช่วงที่น้ำแห้งตอนกลางวันก็จะไม่พบปูแป้นแล้ว
ระหว่างรอน้ำลงตอนกลางคืน ไต๋น้องออกไปดูสัตว์น้ำที่ดักไว้ในนาหลังบ้าน บ้านของไต๋น้องตั้งอยู่ริมคลอง มีท่าเรือเล็ก ๆ ที่คนในชุมชนใช้จอดเรือร่วมกัน ลึกเข้ามาเป็นทุ่งนาโล่งกว้าง มองผ่าน ๆ ก็เหมือนท้องนาทั่วไป แต่คนแถวนี้เรียก “นาขาวัง”
นาขาวังเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้านเขาดิน ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมน้ำบางปะกง ห่างจากชายฝั่งอ่าวไทยประมาณ ๒๐ กิโลเมตรตามลำน้ำ เป็นภูมิปัญญาการทำนาปีที่มีเอกลักษณ์
จุดเด่นของนาขาวังคือการขุดร่องลึกไว้รอบนาข้าว
เพจ “บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต” อธิบายความหมายของนาขาวังว่าเป็นการทำนาร่วมกับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่เดียวกัน ด้วยการขุดคูน้ำลึกประมาณ ๗๐ เซนติเมตรล้อมรอบแปลงนา ในนาปลูกข้าว ในคูน้ำเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เกษตรกรจะทำนาขาวังช่วงน้ำจืด พอถึงช่วงน้ำเค็มก็หันมาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแทน
การเกษตรทั้งสองวิถีจะแบ่งเวลากันคนละครึ่ง คือช่วงน้ำจืด ๖ เดือนทำนาปี อีก ๖ เดือนที่เหลือเป็นหน้าน้ำเค็ม-น้ำกร่อย จะปล่อยน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเข้านามาเลี้ยงกุ้ง ปู และปลา
การขุดคูนาไว้ล้อมรอบแปลงนาช่วยทำให้พื้นนาแห้งได้ดีกว่าเมื่อถึงเวลาใกล้จะเกี่ยวข้าว ข้าวที่เก็บเกี่ยวจะมีความชื้นต่ำ เป็นการเพิ่มคุณภาพให้ข้าวอีกทางหนึ่ง การขุดคูรอบนายังมีส่วนสำคัญที่ช่วยจัดการเรื่องความเค็มที่ตกค้างในดิน เพราะตามปรกติแล้วน้ำเค็มจะอยู่ต่ำกว่าน้ำจืด เมื่อเปิดให้น้ำจืดเข้ามาล้างดิน ความเค็มที่ตกค้างจะไหลมารวมในพื้นที่ต่ำกว่าก็คือในคู พอเปิดให้น้ำออก ความเค็มก็จะออกตามไปด้วย
ไต๋น้องออกเดินนำหน้า มุ่งไปทางนาขาวังหลังบ้าน อธิบายความหมายของการทำนาลักษณะนี้ให้เราเข้าใจง่าย ๆ ว่า
“ผืนนาจะเรียบเสมอกัน แต่ขอบแต่ละด้านจะขุดเป็นร่องลึกปล่อยน้ำขัง จากนั้นก็แล้วแต่เราว่าจะปล่อยอะไรลงไปเลี้ยงจะเป็นกุ้งก้ามกราม ปูทะเล หรือปลาก็ได้ ข้อดีคือเวลาเราเลี้ยงอะไรแล้วพื้นนาแห้ง พวกสัตว์ก็ยังลงไปหลบร้อนอยู่ในร่องลึกหรือวังได้ นี่ละที่เรียกว่านาขาวัง ของดีบ้านเขาดิน” การทำนาปีหมายความว่าในรอบ ๑ ปีชาวนาจะปลูกข้าวได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เป็นวิถีเกษตรแบบเดิมที่ไม่พึ่งพิงระบบชลประทานสมัยใหม่ ถึงแม้นาจะอยู่ใกล้แม่น้ำ แต่ก็ไม่อุปโภคน้ำเกินตัวไม่ทำร้ายผืนดินเกินขนาด
ทุกวันนี้บ้านเขาดินเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมปทุมธานีที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศคุณภาพที่ได้ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำนาเพียงปีละครั้ง และการมีคันนาห่างกันทำให้แทบไม่มีข้าวพันธุ์อื่นปะปน
เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตได้จะขายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี จากนั้นทางศูนย์จะนำไปจำหน่ายต่อให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ
เมื่อถึงช่วงที่น้ำเปลี่ยนเป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย เกษตรกรจะเปลี่ยนมาเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ปูทะเล
ไต๋น้องเล่าว่าการจับปูทะเลในนาขาวังมีหลายวิธี อาจจะใช้ลอบดัก หรือใช้ตะขอเกี่ยวล้วงสำรวจตามรูปู ถ้าในรูมีปูตะขอจะเคาะโดนกระดองปู ได้ยินเสียงดังก๊อก ๆ ก็ค่อยเกี่ยวเอาตัวปูขึ้นมาแล้วใช้มือจับ
เกษตรกรบางรายอาจปล่อยลูกกุ้งกุลาดำลงไปนับแสนตัว กุ้งหลายหมื่นตัว รวมถึงลูกปูทะเลหลายร้อยตัวลงไปในนาขาวัง หมั่นเปิดน้ำเข้าออกนาทุกวัน ให้สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ หาอาหารกินตามธรรมชาติ การมีน้ำเข้าน้ำออกทำให้ดินมีแร่ธาตุอาหาร ขณะเดียวกันกุ้ง ปู หอย ก็ช่วยย่อยตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวให้กลายเป็นปุ๋ย มีปุ๋ยธรรมชาติเกิดขึ้นมากมาย นาของไต๋น้องเองก็ใช้ปุ๋ยเคมีน้อยมาก
“ผมเน้นมานาน เพราะเลี้ยงปูเลี้ยงกุ้งในนาด้วย ของที่แรง ๆ ที่ฉีดแล้วตายเราห้าม ถ้าฉีดแล้วมีสารเคมีตกค้าง จะเลี้ยงอะไรก็เลี้ยงไม่ได้” ประโยคเดียวกันนี้เอง เขาใช้อธิบายพวกรับจ้างฉีดสารเคมีตามนาข้าว
เหตุผลที่ภูมิปัญญานาขาวังไม่แพร่หลายในพื้นที่อื่น ๆ คาดว่าเป็นเพราะการทำนาแบบนี้จะเกิดได้ในพื้นที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์และมีน้ำขึ้นลงหมุนเวียนตลอดเวลา
ไต๋น้องให้ความเห็นว่าน่าจะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยว
“นาขาวังอยู่ห่างจากน้ำก็ทำยาก เพราะไม่มีน้ำหมุนเวียนของเราอยู่ติดน้ำติดทะเลแบบนี้ ง่ายสบาย ถ่ายน้ำคล่อง มีน้ำขึ้นน้ำลง อุณหภูมิของเราก็ดี ก็ทำได้”
ระบบน้ำที่สัมพันธ์กับคลองอ้อมน้อยซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำบางปะกง มีการปล่อยน้ำเข้าน้ำออกแทบทุกวันยังทำให้เกิดผลพลอยได้ เช่น หอยกะพง รวมทั้งปูแป้น ที่ติดมากับน้ำ ในแต่ละปีเกษตรกรจะพบเห็นปูแป้นเป็นแห่งแรก ๆ ในนาข้าว จากจำนวนน้อย ๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มขึ้นมาก เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้จะถึงฤดูปูแป้นแล้ว
บ้านเกิดของไต๋น้องอยู่ที่อำเภอบ้านโพธิ์ ห่างจากตรงนี้ขึ้นไปอีก ๑๐ กว่ากิโลเมตรตามลำน้ำ บ้านเกิดอยู่บนแม่น้ำสายเดียวกัน มีป่าชายเลนเหมือนกัน เมื่อก่อนครอบครัวทำสวนมะพร้าว อ้อย มันสำปะหลังก่อนจะย้ายถิ่นฐานมาเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ทำประมง เพาะเลี้ยงปลากะพง กุ้งก้ามกราม สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ในนาขาวังมาตลอดทั้งชีวิต
นอกจากรายได้หลักแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นวาระสำคัญประจำปี คือการกลับมาของปูแป้น
ไต๋น้องเล่าว่าปูแป้นสด ๆ ล้างทำความสะอาดแล้ว ขายเป็นรายได้เสริมประจำปีได้ถึงกิโลกรัมละประมาณ ๒๐๐-๒๕๐ บาท
“บางคืนที่ปูออกมาก ๆ ได้เป็น ๒๐-๓๐ กิโลเลยนะ”
คำนวณแล้วตกไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท แลกกับการทำงานไม่ถึงครึ่งคืน
“บางคืนก็ได้ ๒ ตัน...แต่ต้องรวมน้ำหนักดินที่ติดมาด้วยนะ” ลูกแม่น้ำบางปะกงหัวเราะอย่างมีอารมณ์ขัน
“ผู้คนที่นี่ยังหาอยู่หากินกับป่าชายเลน หลายบ้านตัดใบจากและทำตับจากขาย อยู่ที่นี่มันเงียบดีนะ ไม่วุ่นวาย ไม่ต้องใช้อะไรมากมายเลยด้วย”
เขตเศรษฐกิจ
“น้ำไม่สะอาดเหมือนเมื่อก่อน ไม่เต็มร้อย เพราะโรงงานเริ่มเยอะ”
“หิ่งห้อยเท่าเดิมไหม มันก็พูดยากนะ แต่เมื่อก่อนเยอะกว่านี้มาก ต้นหนึ่งมีหลายร้อยตัว สว่างวาบลงถึงน้ำ ตอนนี้ก็ยังพอได้เห็นบ้าง แต่ไม่ทุกที่นะ ก็จะมีจุดที่เกาะ”
หลายเสียงในท้องถิ่นให้ความเห็นถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนไป
ไต๋น้องเองก็มองเห็นเช่นกัน
“เดี๋ยวนี้โรงงานขึ้นเยอะ เวลาฝนตกระบายน้ำมาทีก็ตายทั้งแม่น้ำ”
เขาเล่าถึงเหตุการณ์กุ้งแม่น้ำตายเป็นเบือพร้อม ๆ กัน คาดว่าเกิดจากการขาดออกซิเจนในน้ำอย่างรุนแรง
บ่อยครั้งที่ปลา สัตว์น้ำหลากหลายชนิดที่เลี้ยงอยู่ในกระชังริมแม่น้ำบางปะกง ตายลงคราวละมาก ๆ ปลากะพงตัวใหญ่ ๆ ขนาด ๔-๕ กิโลกรัม ปลากระเบนน้ำหนักตัวกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม ลอยตายอย่างลึกลับ มีทั้งที่เป็นข่าวและไม่ปรากฏเป็นข่าว
“มันน็อกน้ำ เห็นลอยเยอะ น่าสงสาร แต่ก็ไม่ได้เป็นทั้งแม่น้ำ เฉพาะโซนบ้านเราโซนเดียว เลยขึ้นไปทางโน้นก็ไม่ตาย ก็ไม่รู้ว่าทำไม น้ำเสียออกมาจากไหนก็รู้ ๆ กันอยู่”
ล่าสุดมีการผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor - EEC) ในพื้นที่สามจังหวัดภาคตะวันออก มีการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ให้สอดรับกับนโยบายอีอีซีนำมาใช้แทนที่ผังเมืองเดิม เกิดการปรับประเภทผังเมืองจากโซนสีเขียว คือ ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม เป็นโซนสีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ยิ่งทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา รุกล้ำกล้ำกรายพื้นที่ทางการเกษตรเข้ามาประชิดแหล่งน้ำและที่อยู่อาศัย
บ้านเขาดินเป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งยกเลิกผังเมืองเดิม มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรชั้นดีที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงผู้คนมากมาย
อาจไม่ใช่เรื่องผิดของโรงงานที่มาตั้งอยู่ตรงนี้เสียทีเดียว แต่ควรตั้งคำถามกับการแก้กฎหมาย
“พูดไปก็อย่างว่า อย่าไปพูดมันเลย สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนหมดแหละ กุ้งปลาก็หายหมด สมัยก่อนราคาถูกนะ แต่หาได้เยอะ ปลาท้องกิ่วเมื่อก่อนกิโลหนึ่งแค่ ๓๕-๔๐ บาท ผมวางเบ็ดวันหนึ่งได้แล้วครึ่งลำเรือ ๔๐-๕๐ กิโล มาตอนนี้ราคาสูงนะ ตกกิโลละ ๓๐๐ บาท แต่มันหาไม่ได้แล้ว มันสูญเพราะสิ่งแวดล้อมเสียหาย”
ใต้กระดองและเปลือกอ่อนคือมันปููสีเหลืองส้ม มีมากในปููแป้นตัวเมีย
สายน้ำแปรผัน
ไม่มีฝนตกในยามค่ำ คำอธิษฐานเป็นจริง
ราว ๓ ทุ่มเศษ สายน้ำไหลย้อนกลับอย่างเชี่ยวกราก ทวนทิศทางจากตอนเย็น
เมื่อยืนมองบนตลิ่ง จากที่เคยเห็นกระแสน้ำไหลจากขวาไปซ้าย คือมวลน้ำจากแม่น้ำบางปะกงไหลบ่าเข้าไปหล่อเลี้ยงเติมน้ำให้กับคลองอ้อมน้อย กลับกลายเป็นน้ำในคลองอ้อมน้อยไหลออกสู่แม่น้ำบางปะกง
ไต๋น้องยืนมองเสาไม้ริมคลอง คะเนด้วยสายตา เมื่อเห็นรอยน้ำลดลงไม่ต่ำกว่า ๓ นิ้วแล้ว ก็คว้าไฟฉายคาดศีรษะเดินไปทางท่าเรือ พายเรือออกกลางคลอง เกี่ยวเรือเข้ากับเชือกที่ขึงขวางคลองไว้
เรือน้อยลอยลำต้านทานสายน้ำไหล
แสงจากไฟฉายที่หน้าผากสาดจับบนผิวน้ำ ส่องสว่าง ท่ามกลางความมืดมิดของรัตติกาล
การรอคอยสิ้นสุดลง
บนท้องฟ้า นาน ๆ ครั้งจะเห็นค้างคาวบินโฉบไปมา
ไต๋น้องยังคงง่วนอยู่กับการจับปูแป้น ช้อนสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ขึ้นจากน้ำ
ตัวที่ ๑...๑๐...๒๐...๑๐๐...๒๐๐...๓๐๐...
ภายในช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งคืน
ปูแป้นจะยังมีให้จับมาดองไม่มีวันหมดสิ้น ตราบเท่าที่บ้านเขาดินยังไม่กลายเป็นดงโรงงานอุตสาหกรรม